แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 9 มีนาคม 2567
[00:00] ชาวพุทธส่วนใหญ่ เมื่อนึกถึงพุทธศาสนา ก็มักจะนึกถึงบุญกุศล เพราะเชื่อว่าจะนำมาซึ่งโชคลาภ รวมทั้งพร 4 ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ เพราะฉะนั้นจึงขวนขวายในการทำบุญทำกุศล อะไรที่ทำแล้วได้บุญเยอะๆ ได้กุศลมากๆ ก็กระตือรือร้นที่จะทำนอกจากบุญกุศลแล้ว ก็มีอีกอย่างหนึ่งที่ชาวพุทธเราสนใจมากคือ มงคล โดยเฉพาะสิริมงคล เพราะเชื่อว่าจะมีอำนาจในการคุ้มครอง ปกป้องให้เราแคล้วคลาดจากอันตราย เพราะฉะนั้นอะไรที่จะทำให้เกิดสิริมงคลขึ้น ก็จะขวนขวายเดี๋ยวนี้มีต้นไม้มงคล สีมงคล เบอร์มงคล เบอร์นี้หมายเลขโทรศัพท์ หรือว่าทะเบียนรถ ขวนขวายมากอะไรที่เป็นมงคลก็ขวนขวายหมด ซื้อรถมา คันสีขาว แต่พอมีคนทักว่า สีขาวไม่ใช่สีมงคล มันต้องเขียว ทำอย่างไร ก็ต้องติดสติ๊กเกอร์บอกว่ารถคันนี้สีเขียว ทั้งๆ ที่ขาวทั้งคันเลย เพราะความเชื่อเรื่องมงคล สีมงคล รวมถึงวันมงคลด้วย จะทำอะไรก็ต้องดูก่อนว่าเป็นวันมงคลไหม หรือว่าเวลาเป็นฤกษ์มงคลหรือเปล่า
ที่จริงมงคลที่ว่านี้มันไม่ใช่มงคลในพระพุทธศาสนา แล้วก็ไม่ใช่มงคลอันประเสริฐ มงคลอันประเสริฐหรือที่เรียกว่า อุดมมงคล ในพระพุทธศาสนามี 38 ประการ ใน 38 ประการนี้ก็ไม่มีประเภทสีมงคล ดอกไม้มงคล เลขมงคลเลย เพราะว่ามงคลสูงสุดในพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องการกระทำ คือทำดี เมื่อทำดีมันก็เกิดมงคลขึ้น การทำดีก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร เพราะว่าอย่างน้อยๆ ถ้าเรารู้จักคบคน คบบัณฑิต ไม่คบคนพาล อันนี้ก็เป็นมงคลต่อชีวิตแล้ว บทสวดมงคลสูตรที่เราสวดกันเป็นประจำ ข้อแรกคือการไม่คบคนพาล เพียงแค่เราไม่คบคนพาล อันนี้ก็เป็นมงคลต่อชีวิตแล้ว มงคลที่พึงทำมีอีกเยอะ ในมงคล 38 มีข้อสุดท้ายซึ่งสำคัญมาก ท่านว่า
“จิตของผู้ใด อันโลกธรรมทั้งหลายถูกต้องแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว เป็นจิตไม่เศร้าโศก ไร้ธุลีกิเลส เป็นจิตเกษมสานต์ ข้อนี้เป็นมงคลอันสูงสุด”
[04:59] มงคลประการสุดท้ายนี้สำคัญมากทีเดียว เพราะว่าถ้าใครทำได้ เรียกว่าจะแคล้วคลาดจากความทุกข์เลย มีแต่ความเกษมสานต์ ซึ่งเป็นยอดปรารถนาของคนทั้งปวง มงคลข้อนี้ไม่จำเป็นต้องมีเงินเยอะๆ เป็นเศรษฐีมั่งคั่ง ไม่เลย! ถ้าหากว่าใครที่ได้ทำให้เกิดมงคลประการสุดท้าย ชีวิตจะไร้ทุกข์ แม้มันจะมีความผันผวนปรวนแปรใดๆ เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีใครหนีพ้น เช่น สูญเสียของรัก หรือว่าพรากจากคนรัก หรือว่าเจ็บป่วย ถูกต่อว่าด่าทอ ตกงาน หรือว่าถูกแก่งแย่งตำแหน่งหน้าที่ อย่างที่เขาเรียกว่าเสื่อมยศก็ไม่ทุกข์ มันจะมีอะไรที่ประเสริฐเท่านี้
คนที่มีเงินเยอะๆ เป็นเศรษฐีหรือว่ามีอำนาจมหาศาล แม้จะมีอำนาจ มีบริษัทบริวารเยอะ แต่ที่จะไม่ทุกข์นั้น ไม่มี เพราะอย่างไรก็ต้องเจอกับความพลัดพรากสูญเสีย สูญเสียลูก สูญเสียคนรัก มีอนุสาวรีย์มากมายที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ของคนที่จักรพรรดิพระราชาทั้งหลายได้สูญเสียไป อย่างเช่น ทัชมาฮาล สร้างขึ้นโดยจักรพรรดิชาห์ชะฮัน (Shah Jahan) เป็นจักรพรรดิผู้มีอำนาจมาก สุดท้ายก็ต้องโศกเศร้า เพราะว่าสูญเสียราชินีคนโปรด มุมตาซ (Mumtaz)
มันเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครหนีพ้น ไม่ว่าจะร่ำรวยแค่ไหน ไม่ว่าจะจบปริญญาเอก ได้ปริญญากี่ใบ ไม่ว่ามีอำนาจวาสนาสูงเด่นเพียงใด การประสบกับสิ่งที่ไม่รัก พลัดพรากกับสิ่งที่รัก รวมทั้งปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น ซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์ตัวใหญ่ๆ 3 ประการคนเหล่านี้เจอทั้งนั้น แม้จะแวดล้อมไปด้วยสีมงคล ดอกไม้มงคล หรือประกอบกิจในวันมงคล ก็ยังต้องเจอกับเหตุการณ์เหล่านี้ ในทางตรงข้ามถ้าเราทำมงคลประการสุดท้ายในพุทธศาสนาที่ว่ามานั้นได้ ก็เรียกว่าพ้นจากความทุกข์เลย ไม่ใช่ว่าเพราะไม่เกิดความพลัดพรากสูญเสีย ไม่เกิดความแก่ชรา เจ็บป่วย ไม่ใช่! แต่เป็นเพราะว่าแม้เกิดขึ้นแล้ว ใจก็ไม่ทุกข์ อย่างที่ท่านใช้คำว่า
“โลกธรรมถูกต้องแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว”
[09:54] โลกธรรม มี 8 ประการ มีโลกธรรมฝ่ายบวกกับฝ่ายลบอย่างละ 4 ฝ่ายบวกก็มีได้ลาภ ได้ยศ ได้รับคำสรรเสริญ แล้วก็ได้สุข กับฝ่ายลบมีเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทาว่าร้าย แล้วก็ทุกข์ ที่คนไม่ปรารถนาก็คือโลกธรรมฝ่ายลบ แต่ไม่ว่าจะหลีกเลี่ยงอย่างไร ก็ต้องเจอ แล้วคนส่วนใหญ่เจอแล้วทุกข์ แต่ว่าผู้ที่ได้เข้าถึงมงคลประการสุดท้าย แม้โลกธรรมถูกต้องแล้วก็ไม่หวั่นไหว โดยเฉพาะโลกธรรมฝ่ายลบ แม้เจอ จิตใจก็ไม่หวั่นไหวใจกระเพื่อม คือไม่ทุกข์ นี่คือสิ่งที่เราควรจะให้ความใส่ใจมากที่สุด เพราะเป็นหลักประกันของความสุขอย่างแท้จริง จะว่าไปแล้ว มงคลนี้เป็นอุดมคติสูงสุดของชาวพุทธ เมื่อได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธแล้ว ต้องรู้จักเอาอุดมคติที่ว่าเป็นจุดหมายสูงสุดของชีวิต ไม่ใช่คิดแต่จะทำบุญเพื่อหวังรวย อยากจะให้พระอวยพรว่ารวยๆ เอาความรวยเป็นจุดหมายสูงสุดของชีวิต เอาความมั่งคั่ง เอายศ ทรัพย์ อำนาจ เป็นจุดหมายสูงสุดของชีวิต อย่างที่คนจำนวนมากปรารถนา
เวลาไปกราบพระ ก็อธิษฐานขอให้ได้สิ่งเหล่านี้ อันนั้นมันไม่ใช่จุดหมายสูงสุดของชีวิตอันประเสริฐ ที่ชาวพุทธควรจะมุ่งหมาย อุดมคติสูงสุดของชาวพุทธก็คือ เมื่อโลกธรรมถูกต้องแล้ว จิตไม่หวั่นไหว ใจไม่กระเพื่อม คือไม่ทุกข์นั่นเอง และนี่ก็คือจุดหมายของผู้ที่เรียกตัวว่าเป็นนักปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมของเรา ควรจะเป็นการปฏิบัติเพื่อให้ไปถึงจุดนี้ ไม่ใช่เพื่อให้ใจสงบ แต่ว่าแม้เจอความไม่สงบ เจอความว้าวุ่นวุ่นวาย ใจก็ยังเป็นปกติได้ นักปฏิบัติหลักธรรมหลายคน มาวัดก็เพื่ออยากเจอความสงบ อยากเจอสิ่งที่ถูกใจ ซึ่งอาจจะแตกต่างจากคนข้างนอก คนข้างนอกสิ่งที่ถูกใจก็คือรูป รส กลิ่น เสียง ที่เอร็ดอร่อย น่าพอใจ คนที่ปฏิบัติธรรม หรือว่ามาปฏิบัติธรรม ส่วนใหญ่ก็ไม่ปรารถนาสิ่งเหล่านี้เท่าใดแล้ว ไม่ได้สนใจเรื่องยศทรัพย์อำนาจ แต่อยากได้สิ่งที่ดีกว่านั้น คือความสงบในจิตใจ
แต่พอเจอสิ่งที่ไม่ถูกใจเข้า กระเพื่อมเลย เจอเสียงดัง เจอคนนินทาว่าร้าย เจอคนทำอะไรที่ไม่ถูกใจ ใจกระเพื่อมเลย อันนี้ถือว่ายังไปไม่ถึงจุดหมายที่ชาวพุทธเราควรจะยึดถือเอาไว้ แล้วถ้าเราคิดถือว่านี่เป็นจุดหมายของชีวิต เราก็ย่อมรู้ว่าเวลาเจอเสียงดังแล้วใจกระเพื่อม เวลาเจอคนนินทาแล้วหงุดหงิดหัวเสีย อันนี้แสดงว่าเรายังปฏิบัติได้ไม่ดีพอ ก็ไม่เป็นไร ถ้าหากเราตั้งใจว่า เราจะฝึกจิตฝึกใจชนิดที่ว่าแม้จะเจอเสียงดัง เจอคนนินทาว่าร้าย เจอความเจ็บความป่วย จิตใจก็ยังเป็นปกติได้ ทำไม่ได้ ไม่เป็นไร แต่ว่าขอให้รู้ว่าอะไรคือจุดหมายสูงสุดที่เรายึดถือ ไม่ใช่ว่าพอเจอเสียงดัง เจอคนนินทาว่าร้าย เจอคนทำอะไรไม่ถูกใจซึ่งทางพระเราเรียกว่า อนิฏฐารมณ์ ก็หงุดหงิดหัวเสีย แล้วก็คิดแต่จะไปโทษคนนั้นคนนี้ แทนที่จะมองว่าเป็นเพราะเรายังฝึกได้ไม่ดีพอ
[15:59] ถ้าหากว่าการที่เราเป็นทุกข์ เพราะเจออนิฏฐารมณ์เจอโลกธรรมฝ่ายลบแล้ว ถ้าเรามองว่า “นี่แสดงว่าเรายังปฏิบัติได้ไม่มากพอ” พูดง่ายๆ คือสอบตก แต่มันก็ยังดี ที่ทำให้รู้ว่าเราต้องเพียรมากขึ้น แต่ถ้าไปมองไปโทษคนนั้นคนนี้ว่า “เขาทำให้เราทุกข์” อย่างนี้เรียกว่าวางใจผิดแล้ว ที่วางใจผิดเพราะว่าอะไร เพราะว่าไม่ได้เอาการฝึกจิตให้พัฒนา เป็นจุดมุ่งหมายของชีวิต พัฒนาอย่างไร พัฒนาก็คือว่า เมื่อเจอโลกธรรมฝ่ายลบแล้ว ใจไม่หวั่นไหว เจออนิฏฐารมณ์ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส แม้กระทั่งธรรมารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจ ก็ไม่หวั่นไหว การที่จิตใจ เมื่อเจอโลกธรรมฝ่ายลบแล้วไม่หวั่นไหว ยังเป็นจิตเกษมสานต์ มันไม่ใช่เป็นเรื่องเลื่อนลอย มันไม่ใช่เป็นอุดมคติที่เป็นไปไม่ได้ เวลาพูดถึงอุดมคติ เราก็มักจะคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ แต่อุดมคติในที่นี้เป็นไปได้ เพราะมีผู้คนมากมายที่ได้ทำจนสำเร็จที่เราเรียกว่าพระอรหันต์ทั้งหลาย ยังไม่นับพระพุทธเจ้า
ถ้าเรานับผู้ที่พิสูจน์มงคลประการสุดท้ายนั้นว่าเป็นไปได้ เมื่อโลกธรรมถูกต้องแล้ว จิตไม่หวั่นไหว ใจไม่กระเพื่อม ยังเป็นจิตเกษมสานต์ ที่เป็นไปได้เพราะอะไร เพราะเราไร้ธุลีกิเลส เพราะว่ามีปัญญา แจ่มแจ้งจนเห็นสัจธรรมความจริงว่า มันไม่มีอะไรที่ยึดมั่นถือมั่นได้ ไม่มีอะไรที่ยึดว่าเป็นตัวเป็นตน ไม่มีแม้กระทั่งตัวกู ที่จะยึดให้เป็นจริงเป็นจังได้ ถ้าฝึกจิตให้มีปัญญาถึงขั้นนี้ ไม่ว่าเจอทุกข์อะไร มันก็มีแต่ความทุกข์ แต่ไม่มีผู้ทุกข์ เวลาเจ็บ เวลาป่วย มันมีแต่กายที่ป่วย แต่ว่าใจไม่ได้ทุกข์ด้วย เพราะว่ามันไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่ากูป่วย กูป่วย
[19:13] อย่างอาจารย์กำพล ท่านก็ทุกข์มาหลายปี 10 ปี เพราะว่าพิการ ตั้งแต่คอลงมา รักษาไม่ได้ มีชีวิตเหมือนกับรอคอยความตาย แต่พอท่านได้ปฏิบัติธรรม เจริญสติ เข้าใจ เห็นรูปนาม ท่านก็เลยบอกว่า “จิตเราออกจากความทุกข์เลย” เพราะอะไร เพราะรู้ว่าที่พิการคือกายพิการ ไม่ใช่กูพิการ แต่ก่อนไปคิดว่า “กูพิการ” แต่พอปฏิบัติธรรม ก็รู้ว่ามันไม่มีกู มันมีแต่รูปกับนาม มันไม่มีกูทุกข์ มันมีแต่รูปทุกข์กับนามทุกข์ และที่นามทุกข์ เพราะไปยึดว่า “รูปนี้เป็นของกู” พอเกิดความสำคัญมั่นหมายว่ากูพิการขึ้นมา ใจมันก็ทุกข์เลย แต่พอปฏิบัติแล้ว เห็นว่ามันไม่มีอะไรเลย นอกจากรูปกับนาม ไม่มีตัวกูอยู่ในรูปในนาม แล้วก็พ้นจากรูปนาม ก็ “ไม่มีตัวกู” เพราะฉะนั้นเวลาพิการ มันก็มีแต่กายพิการ แต่ว่าใจไม่ได้พิการด้วย ถึงตรงนี้ จิตเราออกจากความทุกข์ เพราะว่าเราออกจากความพิการไปแล้ว
แต่ถึงแม้ว่าเรายังไม่มีปัญญาเห็นถึงขั้นนั้น เราก็ยังสามารถจะทำอย่างอื่นได้ เมื่อเจอโลกธรรมฝ่ายลบแล้ว ใจไม่ทุกข์ จิตไม่หวั่นไหว เช่น เมื่อเจอเสียงดัง เจอรูป รส กลิ่น ที่ไม่น่าพอใจ แทนที่จะผลักไส ก็ยอมรับมัน หรือไม่ไปยุ่งกับมัน อย่างที่พูดไปเมื่อ 2 วันก่อน เจอเสียงดังก็ไม่ไปยุ่งกับมัน ปล่อยให้มันเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา แทนที่จะกักเก็บเอาไว้ในหัว ปล่อยมันไป ถ้าเสียงดังมันเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา มันจะทุกข์ได้อย่างไร ไม่ใช่เสียงดังอย่างเดียว เสียงด่าว่า เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ไม่ไปยึดไว้ในใจ พระพุทธเจ้าเคยตรัสสอนพระนันทิยะ แล้วพระนันทิยะภายหลังก็มาสอนพระโมคคัลลาซึ่งบวชใหม่ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าสอนว่า เมื่อเจออารมณ์ที่พอใจก็ดี ไม่น่าพอใจก็ดี ก็อย่ายึดเอาไว้ ให้ปล่อยให้วาง“เจอเสียงด่าว่า ก็ให้วางเป็นกองๆ ไว้บนบก อย่าเอาลงน้ำ เจอเสียงด่าว่าในน้ำ ก็วางกองไว้ในน้ำ อย่าเอาขึ้นบก เจอเสียงด่าว่าในสาวัตถีในเมือง ก็วางกองไว้ในเมือง อย่าเอาติดตัวไว้ไปเชตะวัน”
สำหรับคนที่ยังมีความมั่นหมายว่า นี่เป็นเสียงด่า แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่ทำได้ คือ วางมันลง ไม่เก็บเอามาคิดนั่นเอง
ความสูญเสีย ความพลัดพราก ก็เหมือนกัน แม้มันจะเกิดขึ้น แต่ไม่ไปเก็บเอามาคิด วางมันลง ใจก็ไม่ทุกข์แม้ว่ายังติดสมมติ ติดสมมติในคำสรรเสริญ ในคำนินทา แต่ถ้าหากว่ารู้จักวาง ไม่เก็บเอามาคิด จะทำอย่างนี้ได้ต้องมีสติ ถึงแม้ปัญญายังไม่แก่กล้า จนกระทั่งถอนออกจากความยึดมั่นในสมมุติ ยังติดในสมมติสัจจะ แต่ว่าถ้ายังมีสติ มันก็ยังรู้ว่าหลง รู้ว่ายึด พอรู้ว่าหลง รู้ว่ายึด มันก็ปล่อยวาง อันนี้คือสิ่งที่เราทำได้ จะให้ชีวิตของคนเรา มันปลอดโปร่ง ราบรื่น ปราศจากโลกธรรมฝ่ายลบ คือมีแต่ได้-ไม่มีเสีย มีแต่เจอ-ไม่มีจาก มีแต่พบ-ไม่มีพราก มันเป็นไปไม่ได้ ชีวิตคนเรามันไม่ได้ว่าจะราบรื่นเสมอไป บางช่วงบางตอนมันก็อาจจะมีหลุมมีบ่อ มีก้อนหินระเกะระกะวางขวางทาง หรือวางระเกะระกะอยู่บนถนน บางทีก็มีเศษแก้วหรือมีกองขี้หมา แต่ไม่ใช่ว่ามีสิ่งเหล่านี้แล้ว เราจะต้องทุกข์เสมอไป
[25:04] ถ้าเราไม่ไปเดินเตะก้อนหิน ถ้าเราไม่ไปเดินเหยียบขี้หมา ถ้าเราไม่เอามือไปแปะป่ายไปถูกหนามหรือไม่ไปเผลอให้หนามมันเกี่ยว เราจะเจ็บเราจะทุกข์ไหม มีก้อนหินถ้าเราไม่ไปแบก มันจะทุกข์ไหม มีก้อนหิน มีขี้หมา มีเศษแก้ว อยู่บนถนน ไม่ได้แปลว่าเราจะทุกข์เสมอไป ถ้าเรารู้จักเลี่ยง ไม่เดินเหยียบ ไม่เดินเตะ สิ่งเหล่านี้ มันก็เหมือนโลกธรรมฝ่ายลบ ที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเรา หรือผ่านเข้ามาในชีวิตของเรา ไม่ใช่ว่ามันเกิดขึ้นแล้ว เราจะต้องทุกข์เสมอไป คนส่วนใหญ่ ได้แต่วิงวอนร้องขอ อธิษฐานว่า ขออย่าได้มีสิ่งนี้เกิดขึ้นกับเรา เหมือนกับวิงวอนร้องขออธิษฐานว่า ขอให้ถนนของเราโล่ง ไม่มีเศษแก้ว ไม่มีกองขี้หมา ไม่มีหินอยู่บนถนน เพราะคิดว่าถ้าไม่มีแล้ว เราจะไม่ทุกข์ แต่ที่จริงแล้ว ถึงมี เราไม่จำเป็นต้องทุกข์ก็ได้ ถ้าเราระมัดระวังในการเดิน ไม่เดินเตะก้อนหิน ไม่เดินเตะหนาม ไม่เหยียบขี้หมา แล้วก็ไม่ไปแบกก้อนหินเล่น
อันนี้ก็เหมือนกับว่า แม้ชีวิตเราจะต้องมีโลกธรรมฝ่ายลบ แต่ว่าใจไม่ทุกข์ก็ได้ ไม่ทุกข์ประการแรก เพราะมีปัญญา เมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด เพราะรู้ว่ามันไม่เที่ยง รู้ว่ามันเป็นทุกข์ รู้ว่ามันไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ถึงเวลาเสียมันไป มันก็ไม่ทุกข์ เพราะไม่ได้รู้สึกว่าของเรา ของเรา เมื่อไม่คิดว่าร่างกายนี้เป็นเรา เป็นของเรา พอมันเจ็บ มันป่วย มันก็ไม่ทุกข์ เพราะเห็นว่าเป็นแค่รูป เป็นแค่กองสังขาร แต่ตราบใดที่เรายังไม่มีปัญญาถึงขั้นนั้น อย่างน้อย ถ้าเรามีสติ เราก็รู้จักวางได้ อาจจะไม่ถึงกับวางร่างกาย วางทรัพย์สมบัติ วางคนรัก แต่อย่างน้อยก็รู้จักวางอารมณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อมีความสูญเสีย เช่น มีความเศร้าโศก มีความโกรธ มีอารมณ์เกิดขึ้นในใจ ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะทุกข์ทันที ใจจะเป็นทุกข์ก็ต่อเมื่อเข้าไปยึดอารมณ์เหล่านั้น หรือปล่อยให้อารมณ์เหล่านั้นเข้ามาเบียดบังจิตใจ แต่ถ้ามีสติ สติจะรักษาใจ ไม่ให้อารมณ์นั้นเข้ามาครอบงำ ย่ำยี หรือว่าบีฑาจิตใจได้
พูดง่ายๆ คือ แม้จะยังมีกองไฟ แต่ว่าก็ไม่โดดเข้าไปในกองไฟให้มันเผา รู้จักพาจิตออกห่างจากกองไฟ แม้จะมีก้อนหิน แต่ก็ไม่เดินเตะมัน นี่คือวิธีการรักษาใจ ไม่ให้อารมณ์ต่างๆ เข้ามาทำร้ายจิตใจ ถ้าทำอย่างนี้ได้ ใจก็ไม่ทุกข์
[29:03] เพราะฉะนั้นเมื่อเจอโลกธรรม จิตใจไม่หวั่นไหว มันทำได้ ที่จริงแล้วไม่ใช่โลกธรรมฝ่ายลบ โลกธรรมฝ่ายบวกก็เหมือนกัน เมื่อมันเกิดขึ้นก็อย่าไปเพลิดเพลินยินดีกับมัน ใครชมก็อย่าไปเคลิ้มคล้อย เวลาได้อะไรก็อย่าไปหลงใหลเพลิดเพลิน เพราะอะไร เพราะว่ามันไม่เที่ยง คำชมเมื่อสูญไป หรือมีคำด่ามาแทนที่ ถ้าเราดีใจในคำชม เราก็ทุกข์ในคำด่าว่า ถ้าเราเพลินในการมี ถึงเวลาเสีย เราก็ทุกข์ ถ้าจะให้จิตไม่หวั่นไหวเมื่อโลกธรรมฝ่ายลบ ก็อย่าไปยินดีเมื่อเจอโลกธรรมฝ่ายบวก เมื่อไม่ยินดีในโลกธรรมฝ่ายบวก ถ้ามันเปลี่ยนเป็นโลกธรรมฝ่ายลบ มันก็ไม่เกิดความยินร้าย นี่คือสิ่งที่เราฝึกได้ในชีวิตประจำวัน
ข้อสำคัญก็คือว่า เราต้องเอาสิ่งนี้เป็นจุดมุ่งหมายของชีวิต จิตของผู้ใดเมื่อโลกธรรมถูกต้องแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว เป็นจิตไม่เศร้าโศก ไร้ธุลีกิเลส เป็นจิตเกษมศานต์ มงคลสูงสุดประการสุดท้ายควรจะเป็นจุดหมายสำคัญของชีวิต แล้วก็เป็นจุดหมายสำคัญของการปฏิบัติของเรา ถ้ายังหวั่นไหวใจกระเพื่อมเพราะเจอโลกธรรมฝ่ายลบ แสดงว่าเรายังต้องฝึกต่อไป อย่าไปโทษคนนั้นคนนี้ แต่ให้รู้ว่า เป็นเพราะเรายังปฏิบัติได้ไม่ก้าวหน้าพอ แค่นี้มันก็ช่วยทำให้เราเกิดความเพียรในการปฏิบัติต่อไป แต่ถ้าเราไปโทษคนนั้นคนนี้ เราก็ไปไม่ถึงไหน.