แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 8 มีนาคม 2567
คนเรามีช่วงชีวิตที่แตกต่างกันตามอายุตามวัย ตอนที่ยังเป็นเด็ก เป็นหนุ่มเป็นสาว เขาเรียกว่าเป็นวัยของการศึกษา พอเป็นผู้ใหญ่ก็เรียกว่าเป็นวัยสร้างเนื้อสร้างตัว สร้างครอบครัว จนกระทั่งเกษียณก็เข้าถึงวัยของการพักผ่อนอยู่กับลูกกับหลาน แต่เดี๋ยวนี้ใครที่มีชีวิตจนถึงวัยเกษียณ เขาถือว่านับแต่นี้ไปก็เป็นช่วงเวลาของการใช้ชีวิตให้มันคุ้มค่า มองว่าที่ผ่านมาไม่ค่อยได้ใช้ชีวิตเท่าไหร่ สร้างเนื้อสร้างตัว สร้างครอบครัวก็จริง มีเงินหาเงินได้ก็ไม่ค่อยได้ใช้เงิน เพราะฉะนั้นก็ถึงเวลาที่จะใช้เงิน แล้วก็ถึงเวลาของการใช้ชีวิต และเมื่อใช้ชีวิตแล้ว ก็ต้องใช้ให้มันคุ้มค่าซึ่งก็หมายถึงการเที่ยวเตร่ เพราะว่าจำนวนไม่น้อยมองว่าช่วงเวลาที่จะท่องเที่ยว เจอสิ่งแปลกหูแปลกตา ได้ผจญภัยตามสถานที่ต่างๆ เวลามันเหลือน้อยแล้ว กำลังวังชาก็ถดถอย อันนี้เป็นค่านิยมของคนที่มีอายุ
บางทียังไม่ทันถึงวัยเกษียณเลย ก็คิดว่า “ไม่ต้องทำมาหากินแล้ว ตอนนี้เรามาใช้ชีวิตให้มันคุ้มค่าดีกว่า” เพราะอะไร เพราะไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไหร่ หลายคนเห็นเพื่อนหรือคนรู้จักตายขณะที่ยังหนุ่มยังสาว หรือขณะที่ยังไม่ทันแก่ชรา ในขณะที่คนที่เริ่มเป็น สว. ก็รู้สึกด้วยตัวเองว่า กำลังวังชาก็ถดถอยแล้ว ในขณะที่ยังมีกำลังวังชาก็หาความสุขดีกว่า ด้วยการไม่ใช่แค่กินดื่มแต่รวมถึงเที่ยว ยิ่งคนเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีลูกมีหลาน ก็เหมือนกับไม่มีภาระก็เที่ยวได้เต็มที่ การเที่ยวจึงกลายเป็นจุดหมายของผู้คน เป็นวิธีใช้ชีวิตสำหรับคนเราในยุคปัจจุบัน ซึ่งเรามักจะได้ยินคำว่า “ใช้ชีวิตให้คุ้มค่า” ก็คือใช้เงินรวมทั้งกำลังวังชาที่มีอยู่เพื่อการหาความสุข ความสนุกสนานใส่ตัวอย่างเต็มที่ เพราะว่าโอกาสที่จะทำแบบนี้มันน้อยลงไปเรื่อยๆ พอแก่ตัวลงไปมากๆ แล้วจะเที่ยวหาความสุข หาสิ่งเสพมาปรนเปรอก็ยากแล้ว เพราะฉะนั้นขณะที่มีเวลาก็ต้องรีบทำ เหมือนกับสำนวนที่ว่า น้ำขึ้นให้รีบตัก แต่ที่จริงมันไม่ใช่น้ำขึ้น น้ำกำลังจะลงต้องรีบตัก
[05:26] ที่จริงการหาความสุขวันนี้ มันก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เสียหายอะไร แต่ว่าเราก็อย่าลืมความสุขในวันหน้าด้วย หรืออย่างน้อยก็ต้องเตรียมรับมือกับความทุกข์ในวันหน้าที่จะเกิดขึ้น หรือที่รอเราอยู่ ถ้าเรามัวแต่ใช้เวลา ใช้กำลังวังชา ในการหาความสุขเพียงเพื่อวันนี้ แล้วเกิดวันหน้ายังไม่ตาย ตอนนั้นอะไรที่จะทำให้เรามีความสุข ในวันที่แก่ชรา ในวันที่ไม่สามารถจะท่องเที่ยวไปไหนมาไหนได้
คนเรามีทรัพยากรอะไรก็ตาม ก็ไม่ควรใช้เพื่อความสุขในวันนี้เท่านั้น แม้กระทั่งเงินทอง ทรัพย์สมบัติ
อันนี้พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ ธรรมะที่ชื่อว่า โภควิภาค พระพุทธเจ้าก็สอนว่า ทรัพย์ที่หามาได้ส่วนหนึ่งก็เลี้ยงตนให้มีความสุข อันนี้เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องเสียหายที่เราจะใช้เงินที่มีอยู่เพื่อเลี้ยงตัวเองให้มีความสุข แล้วก็เลี้ยงผู้อื่นให้มีความสุขด้วย เช่น ลูก หลาน ครอบครัว แต่ไม่พอเท่านั้น ต้องรู้จักแบ่งเงินไว้ส่วนหนึ่งเพื่อเก็บไว้ใช้ในยามจำเป็น แล้วก็เอาเงินอีกส่วนหนึ่งเพื่อลงทุนประกอบกิจการงาน การเก็บเงินไว้ใช้ในยามจำเป็นก็ดี หรือว่าการเอาเงินไปลงทุนเพื่อประกอบการงานก็ดี มันเป็นเรื่องของการวางแผนสำหรับอนาคต เพราะว่าในอนาคตก็ไม่รู้ว่ามีเหตุที่จำเป็นต้องใช้เงินแค่ไหน อาจจะเจ็บป่วย หรือว่าอาจจะส่งเสริมการศึกษาของลูก หรือว่าอาจจะต่อเติมขยายบ้าน อันนี้เป็นเรื่องอนาคตที่เกิดขึ้นได้ รวมทั้งการเอาเงินไปลงทุนเพื่อประโยชน์ในวันข้างหน้า อันนั้นเป็นเรื่องของเงิน เป็นเรื่องทรัพย์สมบัติที่เราต้องคำนึง ชีวิตก็เช่นเดียวกัน ในขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่ก็ไม่ควรใช้ชีวิตเพื่อความสุขในวันนี้เท่านั้น แต่ควรใช้ชีวิตนี้เพื่อความสุขในวันหน้าด้วย หรือเอาชีวิตนี้มาใช้เพื่อการสะสม สร้างต้นทุนสำหรับใช้ในวันข้างหน้า
คนที่คิดว่าวันนี้เป็นวันที่ฉันต้องใช้ชีวิตให้คุ้มค่า เพราะฉะนั้นเที่ยวให้เต็มที่ เป็นคนที่คิดแค่ความสุขในวันนี้ แต่ไม่ได้คิดถึงวันหน้าว่า ถ้าเรายังมีชีวิตต่อไปก็ควรมีโอกาสได้รับความสุขในวันหน้า หรืออย่างน้อยก็สามารถจะรับมือกับความทุกข์ที่รออยู่ในวันหน้าได้ นั่นก็หมายความว่าแทนที่จะเอาเวลาและกำลังวังชา เพื่อการเสพสุขในวันนี้ เพื่อการเที่ยวเตร่ให้เต็มที่ ก็ควรเผื่อเวลา เผื่อกำลังวังชาในการสร้างต้นทุนสำหรับอนาคต อันนั้นได้แก่อะไร มันไม่ใช่แค่การเก็บเงินเอาไว้เพื่อใช้ในยามแก่ชรา หรือเก็บเงินเอาไว้เพื่อใช้ในยามที่เจ็บป่วย แต่ว่ารวมไปถึงการเอาเวลาและกำลังวังชาที่มีอยู่นี้เพื่อการฝึกจิตฝึกใจให้มีต้นทุน แต่ไม่ใช่เป็นต้นทุนธรรมดา แต่เป็นต้นทุนทางธรรมเพื่อจะใช้รับมือกับชีวิตในวันข้างหน้า ซึ่งมันก็มีความผันผวนปรวนแปรหลายอย่าง เช่น ความเจ็บป่วย หรือว่าความแก่ชรา
[11:34] คนที่คิดแต่ใช้ชีวิตให้คุ้มค่าในวันนี้ หาความสุขในวันนี้ให้มากที่สุด เคยคิดบ้างหรือไม่ว่าเวลาแก่ชราไปไหนมาไหนไม่ได้ จะอยู่กับความแก่ชราได้อย่างไรด้วยใจที่ไม่ทุกข์ หรือว่าจะมีความสุขในวัยชรา แม้จะไม่มีโอกาสไปเที่ยวเตร่ ไม่มีโอกาสไปเสพสุขอย่างที่เคยทำในวัยหนุ่มสาว แล้วถึงเวลาที่เจ็บป่วย เรามีต้นทุนอะไรบ้างที่จะรับมือกับความเจ็บป่วย ไม่ใช่เฉพาะความเจ็บป่วยทางกาย แต่ว่าความทุกข์ทางใจด้วย คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้คิดถึงตรงนี้เท่าไหร่ ยิ่งเมื่อถึงเวลาที่กำลังจะตาย ช่วงเวลาที่กำลังจะหมดลม แล้วก็รู้แน่ว่าจะต้องตายแน่ๆ เคยคิดไหมว่ามีต้นทุนอะไรบ้าง หรือมีสิ่งใดบ้างที่จะช่วยทำให้เราสามารถรับมือกับความตายได้ด้วยใจที่สงบ หมายความว่า เมื่อรู้ว่าจะต้องพลัดพรากจากคนรัก พลัดพรากจากทุกสิ่งทุกอย่างที่รู้จักและคุ้นเคย พลัดพรากจากโลกที่อยู่กับมันมาตลอดทั้งชีวิต รวมทั้งพลัดพรากจากร่างกายอันนี้ ได้เตรียมใจไว้บ้างหรือไม่เพื่อที่จะพลัดพรากจากสิ่งเหล่านี้ไปด้วยใจที่ไม่ทุกข์ ไม่ทุรนทุราย ไม่กระสับกระส่าย หรือตื่นตระหนก
คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้คิดตรงนี้เท่าไหร่ แม้ว่าเดี๋ยวนี้จะมีความคิดหรือความตระหนักว่า อยู่ไปไม่นานก็ต้องตาย แต่แทนที่จะทำให้เกิดความไม่ประมาทในชีวิต กลับคิดแต่ในแง่ว่าขณะที่ยังมีลมหายใจอยู่ก็ต้องเสพสุขให้เต็มที่ เพราะว่าตายไปแล้วก็ไม่ได้เสพสุขมันมีห้างบางห้างถึงกับเขียน เป็นห้างในเมืองไทยด้วยเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า Life is short. Let’s shopping. ชีวิตนี้สั้น เรามาช้อปกันให้กระจุยดีกว่า ก็มาจากความคิดที่ว่าในเมื่อจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นานก็เสพสุขให้เต็มที่ หรือว่าสมัยนี้เราใช้คำว่า “ใช้ชีวิตให้คุ้มค่า” แทนที่จะนึกว่า เมื่อเราจะต้องตาย เราจะเตรียมตัวเตรียมใจอย่างไรในการรับมือกับความตาย รวมทั้งรู้จักใช้เวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดนี้ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าที่สุด ไม่ใช่เพื่อหาความสุขให้เต็มที่ ที่จริงถ้าคนเราทุกคนตายเหมือนกับปิดสวิตช์ คือ ไม่ต้องเจ็บ ไม่ต้องป่วยอะไรเลย อยู่ดีๆ ก็หมดลมไปเลย มันก็น่าจะใช้ชีวิตที่มีอยู่เพื่อการเสพสุข แต่ว่าคนเราส่วนใหญ่ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ เราไม่ได้ตายแบบกระทันหันหรือแบบปิดสวิตช์ มันต้องผ่านความแก่ชรา ร่างกายเริ่มเข้าสู่ภาวะทุพพลภาพ หัวใจ ปอด ทำงานไม่ได้เหมือนเมื่อก่อน กินอาหารก็กินได้ไม่ค่อยถนัด จะเดินเหินก็ลำบาก สุดท้ายก็เดินไม่ค่อยไหว ต้องนั่ง แล้วจากนั่งก็เป็นนอน สุดท้ายก็ติดเตียง แล้วความเจ็บป่วยก็ตามมา
คนส่วนใหญ่จะต้องผ่านช่วงนี้ไปก่อนที่จะตาย ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ มันจะปิดสวิตช์ มันต้องผ่านช่วงของความทุพพลภาพ ความแก่ชรา ความเจ็บป่วย ซึ่งอาจจะกินเวลาเป็นปีๆ แล้วถ้าเกิดว่าขณะที่เรามีกำลังวังชาอยู่ เราใช้ไปเพื่อการเสพสุข เที่ยวเตร่สนุกสนาน โดยที่ไม่ได้สะสมทุนเอาไว้สำหรับในยามที่ต้องแก่ชรา เจ็บป่วย หรืออยู่สภาวะทุพพลภาพเลยนี้ จะเกิดอะไรขึ้น ก็จะเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน อย่างที่เกิดขึ้นกับคนจำนวนไม่น้อย ตอนที่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาวมีกำลังวังชา หรืออยู่ในวัยเกษียณก็เที่ยวเต็มที่ แต่พอเริ่มหมดสภาพ แก่หง่อม ต้องอยู่แต่ในบ้าน หรือสุดท้ายติดเตียง เขาทุกข์มาก เพราะว่าไม่เคยได้สะสมต้นทุนเอาไว้สำหรับการรับมือกับสภาพที่ว่านี้เลย หรืออาจจะสะสมเงินเอาไว้เพื่อการเยียวยารักษา เพื่อการจ้างคนมาดูแล หรือเพื่อที่จะได้ไปเช่าคอนโดสำหรับคนชรา แต่ต้นทุนทางจิตใจหรือต้นทุนทางธรรมะไม่ได้เตรียม ไม่ได้คิดเลย เพราะฉะนั้นจึงอยู่แบบทุกข์ทรมานมาก แล้วมันไม่ใช่แค่ทุกข์ทรมานแค่วันสองวัน เป็นปีๆ
[18:37] ความสุขสนุกสนานที่เคยมี เอามาใช้ที่จะช่วยให้ตัวเองคลายความทุกข์ไม่ได้เลย บางทีอาจจะเกิดความทุกข์ซ้ำเติมหนักขึ้นก็ได้ เช่น เวลาที่ป่วยหรือเวลาที่แก่ชรา แล้วนึกถึงความสุขที่ได้ไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ได้กินของอร่อย ได้ไปผจญภัยต่างๆ มากมาย มีสีสัน มีสิ่งเร้าใจ นึกไปก็จิตใจก็พลอยมีความสุข แต่พอย้อนกลับมาถึงปัจจุบัน โอย เราทำอย่างนี้ไม่ได้แล้ว วันคืนอันชื่นบาน พอนึกถึงแล้ว มันก็ทำให้ยอมรับความจริงในปัจจุบันไม่ได้ ก็กลายเป็นความทุกข์ กลายเป็นความอาลัย เพราะฉะนั้นในขณะที่ยังมีเรี่ยวมีแรง มีกำลังวังชา อย่ามัวแต่คิดถึงการหาความสุขมาปรนเปรอตนแค่วันนี้ ควรจะนึกถึงไปถึงเมื่อวันที่เราแก่ชรา เมื่อถึงวันที่เราเจ็บป่วย เรามีต้นทุนอะไรบ้าง ในทางธรรม ในทางจิตใจ ที่จะช่วยทำให้เราอยู่กับภาวะเช่นนั้นได้ด้วยใจที่ไม่ทุกข์ หรือดียิ่งกว่านั้นก็คือมีความสุข เป็นความสุขที่เกิดจากใจที่สงบ เป็นความสุขที่เกิดจากความภาคภูมิใจในชีวิตที่ผ่านมา เป็นความสุขเพราะว่ามีสมาธิ มีสติ มีธรรมะเป็นที่พึ่ง ต้องคิดตรงนี้เอาไว้
การที่เราจะนึกถึงความทุกข์ในวันหน้า และเกิดความขวนขวายเตรียมตัว แล้วก็เตรียมใจเพื่อจะรับมือกับเหตุการณ์เหล่านั้นในอนาคต มันไม่ได้เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับคำสอนในพุทธศาสนา
บางคนไปเข้าใจว่าพุทธศาสนาสอนแต่เรื่องของการอยู่กับปัจจุบัน แล้วก็ไปเข้าใจต่อไปว่าไม่คิดถึงอนาคต ไม่ใช่เลย! ที่จริงการเจริญมรณสติ มันก็เป็นการคิดถึงอนาคต แม้ยังหนุ่มยังสาว แม้ยังมีสุขภาพดี ก็ควรจะเจริญมรณสติ เพื่อจะได้เกิดความไม่ประมาทในชีวิต ไม่ใช่มัวแต่ใช้ชีวิตในการหาเงินหาทองหรือการเสพสุข ในแง่หนึ่งก็ทำให้เราใช้ชีวิตในปัจจุบันอย่างมีค่า แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นการเตรียมตัวให้เราพร้อมที่จะรับมือกับความตายในอนาคต รวมทั้งความทุกข์ที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้าด้วย
มันมีธรรมะหมวดหนึ่งชื่อว่า อนาคตภัย 5 ประการ พระพุทธเจ้าสอนพระสงฆ์สาวกให้ระลึกถึงอนาคต ว่าอาจจะมีภัยบางอย่างเกิดขึ้น เช่น วันข้างหน้าเราจะแก่ชรา ไม่มีกำลังวังชาเหมือนเมื่อก่อน หรือวันข้างหน้าเราจะเจ็บป่วย ถูกทุกขเวทนาบีบคั้น หรือวันข้างหน้าจะเกิดข้าวยากหมากแพง อาหารการกินลำบาก หรือวันข้างหน้าบ้านเมืองอาจจะวุ่นวายเกิดศึกสงคราม และหรือวันข้างหน้า สำนักหรือว่าวัดที่เราอยู่อาจจะมีความวุ่นวาย ทั้งหมดนี้ก็จะมีผลทำให้การปฏิบัติธรรม ไม่สามารถเกิดขึ้นได้หรือทำได้ไม่เต็มที่ เพราะฉะนั้นในขณะที่ยังมีกำลังวังชาอยู่ ขณะที่ยังมีสุขภาพดีอยู่ ขณะที่ยังมีอาหารการกิน ไม่เจอปัญหาข้าวยากหมากแพง ขณะที่บ้านเมืองยังมีความสงบสุข หมู่สงฆ์ยังสามัคคีกัน ต้องรีบทำความเพียรรวมทั้งตระเตรียมสะสมบุญ สะสมธรรม เพื่อไว้รับมือกับภัยที่จะเกิดขึ้น 5 ประการในวันข้างหน้าด้วย
อาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้ สำหรับภัยบางอย่าง เช่น ข้าวยากหมากแพง หรือการเกิดศึกสงคราม หรือว่าความวุ่นวายในสำนักจนกระทั่งหมู่สงฆ์ไม่เกิดความสามัคคี แต่บางอย่างมันเกิดขึ้นแน่ เช่น ความแก่ชรา แล้วก็ความเจ็บความป่วย ถ้าหากว่ายังไม่ด่วนตายเสียก่อน แล้วเดี๋ยวนี้ต่อไปข้าวยากหมากแพงก็อาจจะเกิดขึ้นในรูปที่เราอาจจะไม่เคยพบมาก่อน อย่างเช่นตอนนี้ปัญหาโลกร้อนมันเป็นวิกฤตแล้ว ความร้อนของโลก ความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ โรคระบาด ภัยแล้ง คลื่นความร้อน หรือว่าน้ำท่วมทะเลสูง พวกนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน อยู่ที่ว่าช้าหรือเร็ว เหล่านี้เป็นอนาคตภัยที่มันแน่นอนว่าจะต้องเกิด อยู่ที่ว่าเมื่อไหร่เท่านั้น ที่จริงตอนนี้มันก็เริ่มแสดงตัวอยู่แล้ว เช่น ความร้อนซึ่งทำให้เกิดไฟไหม้ไปทั่ว ฝุ่นพิษ PM 2.5 พวกนี้ก็คืออนาคตภัยที่พระพุทธเจ้าได้เตือนเอาไว้ เตือนเพื่ออะไร เพื่อจะได้ไม่มัวแต่หาความสุขเฉพาะหน้า หรือว่าปล่อยปละละเลยใช้ชีวิตไปวันๆ หนึ่ง
แต่เพื่อการเตรียมตัว สะสมต้นทุน จะเรียกว่าสะสมบุญก็อาจจะเข้าใจผิด ไปเข้าใจว่าหมายถึงการทำบุญเยอะๆ แต่ที่จริงแล้วมันหมายถึงการฝึกจิต ฝึกใจ หรือการฝึกต้นทุนทางธรรม พัฒนาคุณภาพจิต นี่คือสิ่งที่ทุกคนพึงตระหนัก และนอกจากการใช้เวลาและกำลังวังชาที่มีอยู่นี้ เพื่อการเตรียมตัวรับมือกับภัยในอนาคต อย่างที่ว่าโดยเฉพาะความแก่ชรา ความเจ็บป่วย หรือว่าความวุ่นวายของบ้านเมือง หรือระบบนิเวศ สิ่งที่เราต้องตระหนักก็คือว่า ในเมื่อเวลาเราเหลือน้อยลงไปทุกที เราควรใช้เวลาที่มีอยู่เพื่อการฝึกจิตฝึกใจ ไม่มัวแต่หาความสุขที่เป็นการปรนเปรอตนเท่านั้น และสิ่งหนึ่งที่เราควรจะใส่ใจก็คือว่า
ไม่มัวเสียเวลากับความทุกข์มาก
[26:57] มันมีเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเราในแต่ละวันๆ ที่ไม่ถูกใจเรา ที่ทำให้เราผิดหวัง แล้วทำให้เราเกิดความหงุดหงิด ความโกรธ ความไม่พอใจ ถ้าเรามัวแต่ปล่อยใจให้จมอยู่กับความทุกข์เหล่านั้น มันคือการปล่อยเวลาให้สูญไป ในเมื่อเวลาเราเหลือน้อยลงแล้ว ควรใช้เวลาที่มีอยู่ ไม่เพียงแค่สะสมต้นทุนทางธรรมเท่านั้น หรือว่าฝึกจิตฝึกใจเท่านั้น แต่ยังต้องรู้จักปล่อยรู้จักวางความทุกข์ ไม่มัวปล่อยใจให้จมอยู่กับความทุกข์ เพราะถ้าใจเราอยู่กับความทุกข์ มันก็คือความเสียเวลาอย่างยิ่ง ทุกวันนี้เราเสียเวลาให้กับความทุกข์ ให้กับความผิดหวัง ให้กับอนิฏฐารมณ์มากเหลือเกิน อนิฏฐารมณ์คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่ไม่น่าพอใจ ยิ่งแก่ตัวลงไป เวลาเหลือน้อยแล้ว มีอนิฏฐารมณ์ใดมากระทบ ก็ต้องปล่อยต้องวางมันบ้าง อย่าไปหงุดหงิดหัวเสียกับมันมาก เอาเวลามาเปิดรับความสุข ความสงบ เพื่อบำรุงจิตใจดีกว่า
ฉะนั้นถ้าคนเราตระหนักว่า เวลาเราเหลือน้อย เราก็จะเห็นความสำคัญของการที่ไม่ไปเสียเวลามากกับเรื่องราวต่างๆ ที่มันไม่เป็นเรื่องไม่เป็นราว ซึ่งแต่ก่อนตอนที่เรายังหนุ่มยังสาว เราก็จะพลอยหงุดหงิดหัวเสียกับมัน รถติดบ้าง ซื้อของไม่ได้ตามหน้าปกบ้าง หรือว่าไปกินอาหารแล้วมันไม่อร่อยสมราคาบ้าง แล้วมาหงุดหงิดหัวเสีย หรือใครมาส่งเสียงดัง เช่น เพื่อนบ้าน ก็ไปทะเลาะเบาะแว้งกับเขา แล้วก็ไปหงุดหงิดหัวเสียจนนอนไม่หลับ นี่คือการปล่อยเวลาให้สูญไปอย่างไม่คุ้มค่า ฉะนั้นถ้าในเมื่อเราต้องการใช้ชีวิตให้คุ้มค่า มันก็ควรรู้จักปล่อยวางเรื่องพวกนี้ ไม่ยอมเสียเวลาที่มีน้อยลงไปทุกทีกับเรื่องพวกนี้ แต่ใช้เวลาในการทำความดี สร้างบุญสร้างกุศล ใช้เวลาในการเปิดใจรับความสุข ชื่นชมสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ รวมทั้งใช้ชีวิตให้มีคุณค่า ใช้ชีวิตให้ดีที่สุด ด้วยการทำความดี สร้างบุญ สร้างกุศล ปฏิบัติธรรม ฝึกจิตฝึกใจ ซึ่งจะช่วยทำให้เรามีความสุขที่แท้จริง ไม่ใช่เฉพาะวันหน้าแต่รวมถึงวันนี้ด้วย เพราะถ้าเราฝึกปฏิบัติธรรมได้ดี เราจะปล่อยวางเรื่องไม่เป็นเรื่องได้ง่าย
ถึงแม้จะไม่ได้ไปเที่ยวที่ไหน เราก็มีความสุข อาจจะมีความสุขกว่าคนที่ไปเที่ยวตามที่ต่างๆ ไปเที่ยวตามที่ต่างๆ แต่ก็หัวเสียกลับมา เพราะไม่รู้จักปล่อยหรือไม่รู้จักวางใจ แต่ถึงแม้เราจะอยู่บ้าน แต่เราก็มีความสุขได้เพราะรู้จักวางใจ อันนี้เรียกว่า “ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า” เป็นการใช้ชีวิตที่ดีที่สุด ดีกว่าการ “ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า” อย่างที่พูดๆ กัน.