พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 7 มีนาคม 2567
เวลาเราทำวัตรสวดมนต์เสร็จให้ลองสังเกตดูว่า ใจเราเป็นอย่างไร ถามใจตัวเองดูว่า ใจเราโปร่งโล่งเบาสบายหรือว่ามีความหงุดหงิด มีความกังวลเจือปนอยู่ อันนี้เป็นวิธีการตรวจสอบว่า เราสวดมนต์เราปฏิบัติถูกหรือเปล่า
ปฏิบัติถูกไม่ได้หมายความว่าสวดได้ถูกต้องชัดเจน ชัดถ้อยชัดคำ ไม่ผิดวรรคผิดตอนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงว่าใจเราอยู่กับการสวดมนต์หรือเปล่า ถ้าใจเราอยู่กับการสวดมนต์ มันจะไม่มีความรู้สึกกังวล หงุดหงิด ขุ่นมัว เจือปนอยู่เลย เพราะมันไม่มีเหตุที่จะต้องหงุดหงิด ขุ่นมัว วิตกกังวลอยู่แล้ว
บทสวดมนต์แต่ละคำล้วนแต่จรรโลงใจ ให้ผ่อนคลาย หรือว่าให้น้อมนำไปในทางที่เป็นกุศล ไม่มีข้อความหรือถ้อยคำใดที่จะทำให้เราคิดลบ คิดร้าย หรือว่าคิดในทางอกุศลได้เลย
แต่ถ้าหากว่าเราสวดแล้ว ไม่ว่าจะสวดเสร็จหรือว่ากำลังสวดอยู่ มาใคร่ครวญดูว่ามันมีความรู้สึกขุ่นมัว วิตกกังวล หงุดหงิด เศร้าหมอง ถ้าเกิดขึ้นแสดงว่าใจเราไม่ได้อยู่กับการสวดมนต์แล้ว ตอนนั้นใจเราอาจจะคิดไปถึงคนที่บ้าน ใจเราลอยไหลไปที่ทำงาน หรือว่าหวนไปนึกถึงเหตุการณ์ในอดีตที่สร้างความทุกข์ ความเจ็บปวด หรือไม่เช่นนั้นก็ไปนึกถึงภาพอนาคต งานการ ผู้คน นึกแล้วก็ไม่ได้นึกเปล่า ๆ ปรุงแต่งไปในทางลบทางร้าย ทำให้เกิดความวิตกกังวล ความเครียดขึ้นมา
ลองสังเกตดู หลายคนหรือว่าส่วนใหญ่เวลาสวดมนต์มันจะมีบางช่วง บางขณะ หรือว่าเกือบตลอดการสวดมนต์ที่ใจไม่ได้อยู่กับการสวดมนต์ ใจไม่ได้อยู่ที่หอไตร หรือว่าอยู่ต่อหน้าพระพุทธรูปด้วยซ้ำ ถ้าไม่ไปคิดถึงงาน ก็ไปคิดถึงคน
งานอาจจะเป็นงานที่เรารักเรา หวงแหน หรือที่เรารับผิดชอบที่มันคั่งค้างหรือค้างคา พอนึกแล้วก็ทำให้เกิดความกังวล หรือว่านึกถึงใครบางคนที่เรารัก ห่วงใย ก็เกิดความวิตก เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูก หรือใครบางคนที่เราไม่ชอบ คิดแล้วก็เกิดความหงุดหงิด ขุ่นมัว ถ้าใจมันไม่ไปคิดถึงเรื่องเหล่านี้มันไม่มีความหงุดหงิด ความขุ่นมัว หรือความวิตกกังวล
หรือไม่ ก็อาจไปคิดถึงทรัพย์สมบัติ รถที่เพิ่งผ่านการเฉี่ยวชน หรือว่าโทรศัพท์ที่มันเกิดเสียขึ้นมาหรือบางทีหายไปเลย พอนึกถึงแล้วใจไม่ได้อยู่การสวดมนต์แล้ว มันก็จะนึกถึงว่า ข้อมูลข่าวสารที่เก็บอยู่ในโทรศัพท์จะทำยังไงดี คิดเตลิดเปิดเปิงไปไกล
ลองถามตัวเราเองเวลาสวดมนต์ใจเราอยู่ที่ไหน ตัวอยู่ที่หอไตรก็จริงแต่ใจจะอยู่ที่อื่น นึกถึงงาน นึกถึงคน นึกถึงข้าวของทรัพย์สมบัติ แล้วถ้าใจไม่ได้ไหลไปอดีตก็ไปลอยไปอยู่กับอนาคต และสุดท้ายก็จมเข้าไปในอารมณ์ หงุดหงิด กังวล ขุ่นมัว
มันเป็นช่วงเวลาที่ใจเราจะไหลลอยไป ออกไปข้างนอก ไม่ได้อยู่กับเนื้อกับตัวได้ง่ายมาก โดยเฉพาะคนที่สวดมนต์เป็นประจำจนท่องได้ เวลาสวดมนต์ปากก็ว่าไปแต่ใจไม่รู้อยู่ไหน แล้วบางทีใจมันรู้สึกเบื่อด้วย เบื่อการสวดมนต์ สวดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ใจไม่ชอบ ไม่ค่อยชอบอะไรที่ซ้ำซากจำเจ มันไม่มีรสไม่มีชาติ มันไม่ใช่สิ่งเร้าที่จะดึงดูดใจให้ไปจดจ่อได้ มันก็ไหลไปหาสิ่งที่มีรสมีชาติมากกว่า
รสชาติไม่ได้หมายถึงเฉพาะรสชาติที่ทำให้สุขทำให้ยินดีอย่างเดียว ความหงุดหงิด ความกังวล ความวิตก ความเศร้า มันก็มีรสชาติที่สามารถจะผูกจิตให้จมหรือหลงไปได้ พูดง่าย ๆ คือว่าความหลงมันก็สามารถจะมีแรงดึงดูดให้ใจไปจม ยิ่งสวดมนต์ได้คล่องใจก็ยิ่งหลุดยิ่งลอยได้ง่าย เพราะว่ามันท่องได้แล้ว
ไม่เหมือนคนที่อ่านหนังสือ คนที่อ่านหนังสือเพราะว่ายังสวดมนต์ไม่ค่อยได้ ใจเขาก็อยู่กับการสวดมนต์ได้ง่ายกว่า ตาก็จับจ้องข้อความในหนังสือ แล้วต้องใส่ใจ จึงจะสวดได้คล้องจองกับหมู่คณะ ถ้าไม่ใส่ใจเดี๋ยวก็สวดผิดสวดถูก ไม่เหมือนกับคนที่สวดมนต์จนคล่องแม้ใจลอยแต่ว่ามันก็ยังสวดได้ถูก เพราะอะไร เพราะมันเป็นอัตโนมัติ
อะไรก็ตามที่เราทำเป็นอัตโนมัติ ไม่ใช่เฉพาะสวดมนต์อย่างเดียว ขับรถก็เหมือนกัน ถ้าขับรถจากที่ทำงานกลับบ้านหรือว่าจากบ้านไปที่ทำงาน ถ้าขับบนเส้นทางที่เราคุ้นเคย ใจมันลอยง่ายมาก ถามว่าขับถึงที่หมายไหม ก็ถึง แต่ไม่ใช่เพราะว่ามีสติมีความรู้สึกตัว แต่เพราะว่าใจมันลอย ระบบต่าง ๆ ในร่างกายตั้งแต่สมองไปจนถึงมือ เท้า มันจำได้ขึ้นใจจนเป็นอัตโนมัติแล้ว ใจลอยแต่ว่ายังสามารถขับรถถูกทางแล้วถึงที่หมายได้ เพราะว่าทำเป็นนิสัยแล้ว
เวลาเราสวดมนต์ เราสวดมนต์จนเป็นนิสัย จนกระทั่งสวดได้คล่องแคล่ว ใจมันยิ่งลอยเข้าไปใหญ่ แล้วพอใจลอยแล้วมันก็เกิดอารมณ์ตามมา หงุดหงิด กังวล วิตก ขุ่นมัว บางทีใจไม่ได้ไหลไปไกล มันก็อาจจะไปจดจ่ออยู่กับเสียงบางเสียงที่อยู่ใกล้ ๆ เพราะว่าเป็นเสียงที่ไม่เข้าจังหวะ
หลายคนสวดมนต์ไป แทนที่ใจจะน้อมนึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ใจก็ไปจดจ่ออยู่กับคนข้าง ๆ หรือคนใกล้ ๆ ที่เขาสวดไม่เข้าจังหวะกับเรา เสียงสูงเสียงต่ำไม่เข้ากัน แล้วบางทีเราก็อดรำคาญไม่ได้ หงุดหงิดรำคาญ ว่าทำไมถึงสวดแบบนั้น
พอยิ่งหงุดหงิด ยิ่งรำคาญ ใจก็ยิ่งไปจดจ่ออยู่กับต้นเสียง หรือคนที่สวดแบบนั้น ก็เลยเกิดความหงุดหงิดขึ้นมา อันนี้เรียกว่าไม่มีสติกับการสวดมนต์ ปากก็พร่ำสาธยายไป แต่ใจมันไปอยู่กับสิ่งอื่นแล้ว
เราต้องใช้เวลาตรวจสอบไตร่ตรองว่า เราสวดมนต์ได้ถูกหรือเปล่าแม้จะสวดมาเป็นปี ๆ หรือสวดมาเป็น 10 ปี มันก็ไม่ได้แปลว่าเราสวดมนต์ได้ถูกต้อง แม้ว่าจะเอ่ยข้อความได้ถูกต้อง แต่ว่าใจไม่ถูกต้องตามไปด้วย หากใจอยู่กับการสวดมนต์อันนี้จึงจะเรียกว่าวางใจได้ถูกต้อง
ซึ่งก็ยากที่คนเราจะมีสติอยู่กับการสวดมนต์ไปตลอดเวลา ก็มีบ้างหรือก็มีบ่อยที่ไหล ถ้าไม่ไปนึกถึงคนนั้นคนนี้ ไปนึกถึงสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไปนึกถึงงานที่ค้างคาอยู่ ก็ไปจดจ่อไปเพ่งจ้องอยู่กับคนที่อยู่กำลังสวดมนต์ ไม่เข้าจังหวะกับเรา บางทีเสียงก็แหลม บางทีเสียงก็แปร่งออกมา แล้วก็ไปจดจ่อตรงนั้น อันนี้เขาเรียกว่าวางใจไม่ถูก
แต่ขณะเดียวกันให้เราลองสังเกต คือช่วงเวลาที่เราจะได้ฝึกสติ แล้วก็เรียนรู้ ทำความเข้าใจ คุ้นเคยกับความรู้สึกตัว ให้เราลองสังเกตต่อไปด้วย ไม่ใช่สังเกตเฉพาะว่ามีอารมณ์ ความรู้สึกอะไร หรือใจมันลอยไปไหน ให้สังเกตว่าเวลาใจมันลอย มันจะไม่ได้ลอยไปจนสุดจนจบการสวดมนต์ พอเวลาไปถึงจุดหนึ่งเราจะเกิดได้สติขึ้นมา ไม่ว่าจะคิดเรื่องงาน นึกถึงคนที่บ้าน นึกถึงทรัพย์สมบัติ
แม้ว่าใจจะลอยไป แต่ถึงจุดหนึ่งมันจะได้สติขึ้นมา สติมันจะทำงาน แล้วมันจะเห็นภาวะที่หลวงพ่อคำเขียนเรียกว่า จ๊ะเอ๋กับความคิด มันเห็นความคิดที่กำลังลอย พอมันคิดไปอาจจะสุดความคิดแล้ว มันเกิดได้สติขึ้นมา ตอนนั้นสติมันจะเกิดอาการ ‘จ๊ะเอ๋ความคิด’ คือเห็นความคิดขึ้นมา
และสิ่งที่จะตามมาก็คือ การกลับมารู้เนื้อรู้ตัว กลับมารู้สึกตัว ภาวะที่เราได้เห็นความคิดมันเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเอง มันไม่ได้เกิดจากการจงใจ ซึ่งมันต่างจากเวลาเราคิด เผลอคิดไป แล้วก็ไปห้ามความคิด
บางคนตั้งใจปฏิบัติจะคอยดักจ้องความคิด แล้วพอเผลอคิดไปได้สักพัก พอเห็นความคิด พอรู้ว่าคิด มันจะไปเบรก ไปห้าม อันนั้นมันไม่ใช่ภาวะที่เรียกว่าจ๊ะเอ๋ความคิด หรือว่าเห็นความคิด
ฉะนั้นเวลาที่เราเห็นความคิด หรือสติเห็นความคิด จ๊ะเอ๋ความคิด มันเป็นภาวะที่เราควรจะจดจำเอาไว้ เพราะว่ามันจะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า เราปฏิบัติถูกหรือเปล่า
เพราะว่าถ้าเราใช้วิธีการไปห้ามความคิด ไปตัดความคิด ความคิดมันจะเกิดภาวะอีกแบบหนึ่งซึ่งไม่ใช่ภาวะที่สบาย ถ้าเราจ๊ะเอ๋ความคิด ความคิดมันจะค่อย ๆ จางหายไป ทำบ่อย ๆ ก็ไม่เกิดความรู้สึกเครียด ไม่เหมือนกับการไปห้ามความคิดไปตัดความคิดทำบ่อย ๆ มันจะแน่นหน้าอก ปวดหัว
เพราะว่าในช่วงที่ไปตัดความคิดไปห้ามความคิดมันจะกลั้นหายใจ แล้วคนเราถ้ากลั้นหายใจบ่อย ๆ มันก็จะเกิดความเครียด หรือว่าเกิดความรู้สึกแน่นหน้าอกขึ้นมา
แต่ถ้าเห็นความคิดหรือใจเห็นความคิดมันเป็นภาวะที่สบาย ๆ มันเกิดขึ้นเองไม่ได้เกิดจากการไปจ้องความคิด แล้วถ้าเราเจอแบบนี้บ่อย ๆ มันก็คือภาวะที่น่าจดจำ เพื่อที่จะได้มาชี้ มาตรวจสอบว่าไอ้ที่เราปฏิบัติ ในขณะที่เราปฏิบัติในรูปแบบมันทำถูกต้องไหม
ให้เราสังเกตว่ามันเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเอง ไม่ได้เกิดจากความจงใจ สติทำงานของเขาเอง ถามว่าเขามาได้อย่างไร ตอบไม่ได้ แต่เรารู้ว่าถ้าเราทำบ่อย ๆ ทำบ่อย ๆ ภาวะที่สติกลับมาหรือว่ามาทำงาน มันจะเกิดขึ้น บ่อยขึ้น ๆ ๆ
แล้วเราต้องตระหนักว่า สติ เวลาใจเราลอยแล้วมันเกิดรู้สึก นึกขึ้นมาได้ รู้สึกตัวขึ้นมา มันเกิดขึ้นเอง และเราก็ไม่สามารถจะควบคุมบังคับอะไรได้ นอกจากเปิดโอกาสให้เขาได้เกิดขึ้นบ่อย ๆ เกิดขึ้นบ่อย ๆ เพราะว่าถ้าเกิดขึ้นบ่อย ๆ มันก็เกิดขึ้นไวขึ้น ๆ ถี่ขึ้น ๆ
แล้วให้สังเกตอีกอย่างหนึ่งว่า พอได้สติแล้วใจมันจะกลับมาเลย กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว กลับมาอยู่กับปัจจุบัน ถ้าหากว่าใจไหลไปที่บ้านมันจะกลับมาที่หอไตร มันจะกลับมาอยู่กับการสวดมนต์ ที่หลวงพ่อคำเขียนบอกว่า การปฏิบัติคือการกลับมา ก็คืออันนี้ ท่านบอกว่ามันเก่งตรงที่กลับมา ให้เราเข้าใจ ให้เราเห็นภาวะที่มันกลับมา ๆ
แล้วสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อกลับมาคืออะไร ก็คือความรู้สึกตัว ความรู้สึกเบาสบาย ความรู้สึกโปร่งโล่ง ไม่เหมือนกับตอนที่ใจมันไปอยู่กับงานที่นึกเอาไว้ ที่ค้างคาไว้ ไปอยู่กับคนที่กำลังห่วงใย มันจะมีความวิตกกังวล มันจะมีความเครียด แต่พอใจกลับมาอยู่กับการสวดมนต์มันจะรู้สึกเบา นั่นก็คือภาวะของความรู้สึกตัว
แล้วให้จดจำภาวะความรู้สึกตัวเอาไว้ เพราะว่าหลายคนปฏิบัติไป ปฏิบัติไป ก็ถามหาว่า ความรู้สึกตัวเป็นอย่างไร ความรู้สึกตัวเป็นอย่างไร ทั้งที่เจออยู่บ่อย ๆ บางคนก็บอกว่า ปฏิบัติมาทั้งวันรู้สึกตัวแค่ไม่กี่ครั้งเอง อันนี้แสดงว่าเข้าใจผิดแล้ว
ความรู้สึกตัวมันเกิดขึ้นกับเขานับครั้งไม่ถ้วน แต่เขาไม่คิดว่าภาวะความรู้สึกตัวนั่นคือความรู้สึกตัว เขาไปคิดว่าความรู้สึกตัวมันต้องเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ ความรู้สึกตัวที่แท้จริงเกิดขึ้นแล้วแต่มองไม่เห็นเพราะไปนึกวาดภาพว่ามันเป็นอีกแบบหนึ่ง
มันเป็นไปไม่ได้ คนธรรมดาที่จะบอกว่าปฏิบัติทั้งวันรู้สึกตัวแค่ไม่กี่ครั้ง เพราะว่าคนที่รู้สึกตัวไม่กี่ครั้งก็คือคนวิกลจริต คนที่คลุ้มคลั่ง หรือว่าเป็นคนที่ซึมเศร้าอย่างหนัก หากเป็นคนปกติแม้ไม่ปฏิบัติมันก็มีความรู้สึกตัวเกิดขึ้นบ่อย ๆ
แล้วยิ่งถ้าปฏิบัติด้วย ความรู้สึกตัวมันก็จะเกิดขึ้นบ่อย ๆ แต่ว่าไม่รู้ ไม่รู้ว่านั่นคือความรู้สึกตัว ขณะที่เราสวดมนต์ใจเราลอย แล้วมันเกิดรู้ตัวขึ้นมา แล้วกลับมาอยู่การสวดมนต์ เราจะประสบกับภาวะที่เรียกว่า ‘รู้สึกตัว’ และถ้าเราจดจำภาวะนั้นได้ ต่อไปเวลามันหลง เราก็จะเริ่มรู้ทันได้ไวว่า ‘หลง’
คนเราจะรู้ว่าหลง ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าสามารถแยกแยะ เห็นความแตกต่างชัดเจนระหว่างความหลงกับความรู้สึกตัว ถ้าเจอความรู้สึกตัวบ่อย ๆ เจอ เวลาหลงมันจะรู้ได้เร็วว่า มันกำลังหลงอยู่
เหมือนกับคนที่ไม่เคยเจอสีขาวเลย มันก็จะรู้สึกว่าสีดำเป็นเรื่องธรรมดา แต่พอเห็นสีขาวบ่อย ๆ แล้วจดจำสีขาวได้ พอมาเจอสีดำหรือสีเทาก็จะรู้ว่า มันคือดำ มันคือเทา มันไม่ใช่เป็นสีที่ปกติ
จะรู้จักความหลงได้ก็เพราะ ได้สัมผัสความรู้สึกตัวบ่อย ๆ และพอเราสัมผัสความรู้สึกตัวบ่อย ๆ เราก็จะรู้ชัดว่า ความหลงมันเป็นภาวะอย่างไร และถ้าเรารู้ชัดหรือจำได้ว่าความรู้สึกตัวเป็นอย่างไร ความหลงเป็นอย่างไร เวลาหลงมันจะรู้ตัวได้เร็วว่าหลง
การที่จิตมันจำได้ว่าความรู้สึกตัวเป็นอย่างไร ความหลงเป็นอย่างไร ที่จริงอันนี้ก็เป็นงานของสติเหมือนกัน สติคือความระลึกได้ มันจำได้ว่าความหลงภาวะเป็นอย่างนี้ ความรู้สึกตัวเป็นอย่างนี้
เวลาเราทำวัตรสวดมนต์แม้ว่าใจเราไม่อยู่กับเนื้อกับตัว แต่ว่ามันก็สามารถสอนอะไรเราได้เยอะถ้าเรารู้จักใคร่ครวญ เช่นเดียวกันเวลาเราไปจดจ่ออยู่กับใครบางคนที่สวดมนต์ แล้วก็ชวนให้เรารู้สึกหงุดหงิด เพราะว่าเสียงหรือจังหวะไม่เข้ากัน เสียงดังบ้าง เสียงแปร่งบ้าง
ตอนที่ใจไปรู้สึกหงุดหงิด แล้วไปจดจ่ออยู่กับเสียงนั้น มันจะมีภาวะหนึ่งที่เกิดได้สติขึ้นมา แทนที่จะส่งจิตออกนอกไปที่คน ๆ นั้น ก็กลับมาอยู่กับการสวดมนต์ ภาวะตรงนั้นมันเกิดความรู้ตัวขึ้นมา เกิดความรู้ตัวว่าหลงไปแล้ว รู้ตัวว่าเผลอไปแล้ว ให้เราจดจำภาวะรู้ตัวนั้นเอาไว้เพราะว่าถ้าเราทำให้มันเกิดขึ้นบ่อย ๆ การปฏิบัติของเราก็จะก้าวหน้า
ที่ว่าทำให้มันเกิดขึ้นบ่อย ๆ หมายความว่า เราเปิดโอกาสให้มันเกิดขึ้นบ่อย ๆ ด้วยการทำบ่อย ๆ ทำเรื่อย ๆ ทำที่ว่านี้ไม่ใช่หมายถึงเฉพาะการทำในรูปแบบ แต่ว่าเราสามารถจะทำได้ในขณะที่กำลังสวดมนต์ หรือว่าทำกิจวัตรกิจกรรมอย่างอื่นก็ตาม
ข้อสำคัญก็คือว่า เวลาเราสวดมนต์ เราก็อย่าปล่อยใจสวดมนต์ไปตามความเคยชิน คือปล่อยใจลอย ให้เราตระหนักว่า นี้คือช่วงเวลาที่เราสามารถจะฝึกจิตให้เป็นกุศลได้ด้วยการมีสติ ด้วยความรู้สึกตัว
คนทุกวันนี้เห็นคุณค่าของการสวดมนต์ แต่เป็นการเห็นคุณค่าในแง่ที่ว่ามันทำให้เกิดความขลัง เกิดสิริมงคล แล้วก็คิดแต่เพียงว่าขอให้ได้สวด แล้วก็ไปสนใจแต่ว่าบทสวดไหนที่เขาว่าขลัง ที่จะมีอานุภาพมาก เช่น คาถาชินบัญชร หรือว่าบทสวดพุทธมังคลคาถา
ไปสนใจแต่บทสวดมนต์ที่เขาว่าขลัง บทพาหุงหรือว่าบทสวดพุทธมนต์ต่าง ๆ แต่ว่าไม่ค่อยได้สนใจท่าทีหรือการวางจิตวางใจในขณะที่สวดมนต์ เพราะฉะนั้นสวดมนต์ไป สวดไป ๆ แล้วใจลอย มันไม่ได้อะไรเลย แถมสวดไปใจหงุดหงิด สวดไปใจเกิดความเศร้า เกิดความวิตกกังวลด้วย อันนี้ก็ผิดแล้ว
ฉะนั้น เราต้องถามตัวเอง เราต้องมาตรวจสอบตัวเราเองว่า เวลาเราสวดมนต์ ใจเราเป็นอย่างไร สวดเสร็จถ้าใจเรายังเศร้าหมอง หงุดหงิด กังวล วิตก หรือขุ่นมัว แสดงว่าวางใจผิดแล้ว ที่สวด สวดไปเปล่า ๆ เสียเวลาไปเปล่า ๆ อาจจะเสียเวลาไปเปล่า ๆ ด้วยซ้ำ แต่ว่าใจไม่ได้พัฒนาเลย ไม่ได้พัฒนาหมายความว่าสติก็ไม่เติบโต สมาธิก็ไม่เกิด
ในทางตรงข้าม ถ้าหากว่าเราใช้โอกาสนี้ในการดูจิตดูใจ แล้วรู้จักทำให้สติเติบโตมากขึ้นด้วยการเอาใจมาอยู่กับปัจจุบัน หมั่นสังเกตภาวะจ๊ะเอ๋ความคิด หมั่นสังเกตจดจำภาวะรู้สึกตัวที่เกิดขึ้นได้ ถึงเวลาแม้เราจะไม่ได้ไปสวดมนต์ แต่ว่าเราไปเจอโน่นเจอ เจออะไรมากระทบ เราก็จะรู้สึกตัวได้ไว
เราก็เริ่มต้นหรือเราฝึกจากการที่เรามีสติเวลาสวดมนต์ และต่อไปเวลาเรากินข้าวเราก็มีสติ ใช้ท่าทีเดียวกันหรือใช้วิธีการวางใจเดียวกันกับการสวดมนต์ เวลาเราอาบน้ำเราก็อาบอย่างมีสติ แม้ใจลอย สักพักก็กลับมารู้เนื้อรู้ตัว จดจำความรู้สึกตัวได้ พอทำบ่อย ๆ มันจะหลงน้อยแต่ว่ารู้สึกตัวมาก
คราวนี้พอเรามีความรู้สึกตัวได้ไว ได้เร็ว เพราะว่าสติทำงานได้เร็ว ถึงเวลาเราไปเจออะไรกระทบ การกระทำคำพูดของใครบางคน หรือว่าเหตุการณ์บางอย่างที่เป็นโลกธรรมฝ่ายลบ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกต่อว่าด่าทอ
หรือเจอทุกขเวทนา เจออนิฏฐารมณ์ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่ไม่น่าพอใจ เจอรถติด หรือว่าเจอเพื่อนที่ไม่เป็นดั่งใจ เจอเหตุการณ์ต่าง ๆ ข้อมูลข่าวสารที่มันไม่ถูกใจ
พวกนี้ล้วนแต่เป็นสิ่งกระทบที่ทำให้ใจเกิดความทุกข์ เกิดอกุศลได้ในแต่ละวัน ๆ นับครั้งไม่ถ้วน แล้วเราก็จมอยู่ในอารมณ์ กว่าจะหลุดจากอารมณ์ หรือถอนจากอารมณ์นั้นก็นาน
แต่ถ้าเกิดว่าเราฝึกสติ ทั้งจากการสวดมนต์และจากการทำกิจต่าง ๆ ถึงเวลาเจอสิ่งกระทบเราก็จะรู้สึกตัวได้ไว เวลาโกรธ เวลาโมโหก็จะกลับมารู้เนื้อรู้ตัวได้ไว ที่เคยเตือนตนว่า “เวลาโมโหทีไรให้กลับมาตามหายใจ ให้กลับมาอยู่กับความรู้สึกตัว มันจะไม่ใช่แค่ความคิด แต่มันเป็นสิ่งที่สามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้จากการที่เราได้ฝึกการมีสติ ความรู้สึกตัวในชีวิตประจำวัน”
เพราะฉะนั้นคนที่แม้จะไม่ได้มาวัด มาปฏิบัติในรูปแบบ แต่ถ้าหากว่ารู้จักสวดมนต์อย่างถูกต้อง แล้วก็รวมไปถึงอาบน้ำ กินข้าว ถูฟัน อย่างมีสติ การที่จิตจะเป็นอิสระจากอารมณ์ต่าง ๆ เวลามีอะไรมากระทบ เจอสิ่งที่ไม่ถูกใจ ก็จะสามารถวางใจได้ถูกต้อง แล้วก็จะเกิดขึ้นได้ง่ายและเร็ว
อันนี้เขาเรียกว่าเป็นการทำให้การสวดมนต์ของเรามันมีคุณค่าขึ้นมา ไม่ใช่แค่สักแต่ว่าทำ หรือว่าจะกลายเป็นการเสียเวลาไปเปล่า ๆ โดยที่ไม่ค่อยได้อะไร มันก็ยังดี ดีกว่าเอาเวลาไปไถโทรศัพท์ หรือว่าไปปล่อยใจฟุ้งซ่าน หรือว่าไปคลุกคลีตีโมง ไปนินทาอะไรกัน หรือไปผิดศีล แต่ว่าเราสามารถทำให้มันดีกว่านี้ได้ถ้าหากว่าเรามีสติกับการสวดมนต์.