พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 6 มีนาคม 2567
ชีวิตเปรียบเหมือนการเดินทาง เราจึงมีคำว่า ดำเนินชีวิต ‘ดำเนิน’ มาจากคำว่า เดิน นั่นเอง
ทีนี้ในการเดินทางมันก็ต้องมีเป้าหมาย มีเป้าหมายไม่พอ มันต้องมีการเดินไปข้างหน้าเพื่อไปถึงจุดหมาย จะเดินไปข้างหน้าได้ก็ต้องมีเรี่ยวมีแรง มีกำลังที่จะผลัก พาชีวิต เวลาชีวิตไปข้างหน้าเขาเรียกว่า ‘เจริญก้าวหน้า’ ไม่ว่าจุดหมายนั้นจะได้แก่อะไรก็ตาม ความสุข ความสงบ ความพ้นทุกข์ เราก็ต้องมีกำลัง มีเรี่ยวแรงในการพาตัวเองไปข้างหน้า
แต่ว่าเท่านี้ไม่พอ มันมีสิ่งหนึ่งที่สำคัญในการที่เราจะไปถึงจุดหมายปลายทางได้ นอกจากเรี่ยวแรงกำลังวังชาแล้ว สิ่งนั้นก็คือ ความสมดุล
หากว่าเราเดินไปข้างหน้าด้วยขาทั้งสองข้าง มันต้องมีความสมดุลระหว่างขาทั้งสองข้าง ถ้าขาหนึ่งสั้น ขาหนึ่งยาว การเดินนั้นก็ลำบาก กะโผลกกะเผลก และที่จริงแล้วเราจะเดินไปถึงเป้าหมายได้ก็ต้องสามารถเลี้ยงตัวให้อยู่บนความสมดุลระหว่างขาทั้งสองข้าง
หรือแม้แต่จะนั่งรถเพื่อไปสู่จุดหมาย เดี๋ยวนี้เรามีเครื่องทุ่นแรง มีพาหนะ รถนั้นก็ต้องมีความสมดุล รถที่ไม่มีความสมดุลระหว่างล้อหน้ากับล้อหลังหรือว่าล้อซ้ายล้อขวา มันก็ไปถึงที่หมายลำบาก โดยเฉพาะถ้าเกิดทางไม่ใช่เป็นทางตรง อย่างที่เขาเรียกว่า ปรับศูนย์ถ่วง รถต้องปรับศูนย์ถ่วงก็เพื่อให้เกิดความสมดุล
และนอกจากความสมดุลระหว่างซีกซ้ายกับซีกขวา ระหว่างหน้ากับหลังแล้ว มันก็ต้องมีความสมดุลระหว่าง ‘แรงผลัก’ ไปข้างหน้าซึ่งอาศัยคันเร่ง กับ ‘แรงดึง’ หรือชะลอซึ่งต้องอาศัยเบรก รถที่มีแต่คันเร่งแต่ไม่มีเบรกมันก็อันตราย อาจจะไม่ถึงจุดหมายปลายทาง
โดยเฉพาะถ้าเกิดว่าทางนี้มันเป็นทางที่ขรุขระ เป็นทางโค้ง ถ้าไม่มีเบรก มีแต่คันเร่ง แม้จะมีเรี่ยวมีแรง มีพลัง เร็วขนาด 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ถ้าไม่มีเบรกก็อาจจะไม่ถึง อันนี้ก็เป็นเรื่องของความสมดุลระหว่างแรงผลักไปข้างหน้า กับแรงดึง แรงหยุด แรงชะลอ หรือความสมดุลระหว่างคันเร่งกับเบรก
ชีวิตเรา ดูให้ดี ๆ มันต้องอาศัยความสมดุลมากทีเดียว ยกตัวอย่างง่าย ๆ ความสมดุลระหว่างการทำงานกับการพักผ่อน ทำแต่งานแต่ว่าไม่รู้จักพักหรือพักไม่พอ มันก็ไปได้ไม่ตลอด
สมดุลนี้ไม่ได้แปลว่าครึ่ง ๆ 50-50 มันอาจจะหมายถึง 60 กับ 40 หรือ 70 กับ 30 ก็ได้ อย่างเช่นการทำงาน เราอาจจะทำงานวันละ 16 ชั่วโมง แต่เราก็จำเป็นต้องมีการพัก อย่าง 8 ชั่วโมงหรือน้อยกว่านั้นก็แล้วแต่
ทำงานแต่ไม่มีการหยุด การพักผ่อน ทำงานทั้ง 24 ชั่วโมง ก็อาจจะทำได้งานพอสมควร ทีแรกก็อาจจะได้งานมากกว่าคนที่พักหรือนอน 6 ชั่วโมง 7 ชั่วโมง แต่หลังจากผ่านไป 1 อาทิตย์ หรือผ่านไป 2 อาทิตย์ ทำงานโดยไม่พัก ไม่หลับไม่นอนเลย มันก็มีแต่คุณภาพของงานที่แย่ลง แถมปริมาณก็อาจจะน้อยลงด้วย
แต่ถ้ารู้จักพัก พักทุกวัน พักแต่พอดี ๆ ก็ทำให้มีเรี่ยวมีแรงทำได้ต่อเนื่อง ฉะนั้น ที่เราสามารถทำงานได้จนแก่จนชรา หรือบางคนชราแล้วก็ยังทำงานต่อ ทำงานต่อเนื่องไป 60-70 ปี เพราะว่าเรารู้จักพัก พักทุกวันก็ทำให้เรามีเรี่ยวมีแรงทำงานไปจนค่อนชีวิต
ในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่พักเลย หรือไม่มีความสมดุลระหว่างการทำงานกับการพัก ใหม่ ๆ ก็ได้งานเยอะ แต่ต่อไปมันก็มีแต่จะแย่ลง แล้วก็คงจะทำได้ไม่ถึง 4-5 เดือนก็หมดสภาพไปเสียแล้ว ฉะนั้น ทำงานโดยไม่พักก็ไม่ใช่
แต่ถ้าเอาแต่พัก เอาแต่นอน แต่ไม่ทำงาน มันก็ไม่ถูก เพราะว่าคนที่เอาแต่พัก เอาแต่เที่ยว หรือว่าเอาแต่อยู่เฉย ๆ แต่ว่าไม่ทำงานเลย สุดท้ายชีวิตก็หงอย ไม่มีชีวิตชีวา ไร้คุณค่า
อันนี้คือสมดุลที่ต้องมี และทุกคนก็ตระหนักดี
บางทีคำว่าพักนี้ก็รวมถึงการเล่นด้วย ทำงานแล้วก็ต้องรู้จักพัก พักนี้ไม่ได้แปลว่านอนอย่างเดียว อาจจะเล่น อาจจะผ่อนคลาย
ทีนี้ การทำงาน หรือการพัก เมื่อได้สมดุลก็ทำให้สุขภาพดี แต่สุขภาพที่ว่านี้มันก็มักจะหมายถึงสุขภาพกาย เราต้องคำนึงด้วยว่ามันต้องมีความสมดุลระหว่างกายกับใจด้วย
เดี๋ยวนี้เราดูแลกายมาก ให้ความสำคัญกับกายเยอะ เริ่มตั้งแต่การกิน หรือว่าการหาสิ่งมาปรนเปรอด้วยวัตถุสิ่งของ มันก็ล้วนแต่เป็นการปรนเปรอกาย เสื้อผ้า หน้า ผม รถยนต์ หรือว่าอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ มันก็เพื่อความสะดวกสบายของกาย ทำงานทั้งวันก็เพื่อจะได้มีเงินมาบำรุงหรือปรนเปรอกายทั้งทางตรงและทางอ้อม
แต่ว่าเรามักจะละเลยใจ แม้แต่พักผ่อนมันก็พักแต่กาย หลายคนพักแต่กายแต่ว่าใจไม่ได้พักด้วย กลางคืนก็ฝัน ฟุ้งเลย อาบน้ำก็อาบ ก็ชำระแต่กาย แต่เราไม่ค่อยสนใจชำระใจ เติมอาหารให้กาย แต่เราก็มองข้ามอาหารใจ เราอาจจะเห็นความสำคัญของการออกกำลังกายดี แต่ว่ามักจะมองข้ามการเติมกำลังให้กับใจ
ลองไตร่ตรองดู ชีวิตเรามีความสมดุลระหว่างร่างกายกับใจแค่ไหน ส่วนใหญ่ก็จะพบว่ามันไม่สมดุลหรอก ไปให้น้ำหนักกับกายมาก แต่ว่าใจมองข้ามไป แม้กระทั่งใจ มันก็ต้องอาศัยความสมดุลระหว่าง ‘ความคิดหรือเหตุผล’ กับ ‘อารมณ์และความรู้สึก’ หรือเราอุปมาเหมือนกับ ‘สมอง’ กับ ‘หัวใจ’
เดี๋ยวนี้เราไปเน้นเรื่องสมองมาก เด็กนักเรียนตัวเล็ก ๆ ขนาดอนุบาล เราก็ยัดความรู้ให้กับเด็ก ก็เป็นการพัฒนาสมองให้เด็กมีความรู้เยอะ ๆ ตั้งแต่การเรียนภาษา การรู้เลขคณิต เราเน้นเรื่องการให้ความรู้บำรุงสมองของเด็ก แต่ว่าเราละเลยเรื่องการพัฒนาใจหรืออารมณ์ความรู้สึก
ถ้าเป็นเมื่อก่อนหรือแม้กระทั่งประเทศที่เขาเจริญแล้ว เด็กเล็ก ๆ อนุบาลนี้เขาจะไม่ค่อยเรียนหนังสือมาก แต่เขาจะให้เล่นเพื่อเป็นการพัฒนาอารมณ์ เป็นการพัฒนาความรู้สึก เรื่องวิชาความรู้ วิชาการเอาไว้ทีหลัง อันนี้เพราะว่าเห็นความสำคัญของอารมณ์ความรู้สึก
แต่ว่าบ้านเราไปเน้นเรื่องการพัฒนาสมองด้วยการยัดความรู้ ยัดไปเยอะ ๆ แล้วเด็กก็รู้เยอะ แต่ว่าจิตใจอ่อนแอ รู้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี รู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร แต่ว่าจิตใจไม่มีกำลัง ไม่สามารถที่จะหักห้ามใจ สิ่งที่ไม่ดี รู้ว่าไม่ดี แต่หากห้ามใจไม่ได้ สิ่งที่ดีแต่ก็ไม่มีเรี่ยวแรงจะทำ อย่างที่เขาพูดว่า ดีชั่วรู้หมด แต่อดใจไม่ได้
แล้วมันไม่ใช่เป็นเฉพาะกับเด็ก ผู้ใหญ่ก็เป็น รู้เยอะ รู้มาก แต่ว่าไม่สามารถบังคับใจให้ทำสิ่งที่รู้ว่าควร รู้ว่าเล่นเกมมาก ๆ ไม่ดี แต่ห้ามไม่ได้ รู้ว่าเหล้าบุหรี่ไม่ดี แต่ห้ามใจไม่ได้ การพนันไม่ดี รู้ แต่ก็อดใจไม่ได้ นี่เรียกว่าเป็นเพราะว่าจิตใจถูกละเลย ไม่ได้รับการพัฒนา ทำให้จิตใจไม่เข้มแข็ง หรือว่าบางทีจิตใจก็ป่วยด้วยโรคต่าง ๆ โรคเครียด โรคซึมเศร้า ความรู้เยอะ แต่ว่าไม่มีเรี่ยวไม่มีแรง เพราะใจมันห่อเหี่ยว ซึมเศร้า
อันนี้ก็เรียกว่าไม่มีความสมดุลระหว่างสมองกับหัวใจ ความสมดุลระหว่างเหตุผลความรู้กับอารมณ์ความรู้สึกมันเสียไป ฉะนั้น คนเรามันต้องอาศัยความสมดุลระหว่างสมองกับหัวใจ
สมอง เดี๋ยวนี้อาจจะอยู่ในระดับอุดม แต่หัวใจอยู่ระดับประถมหรืออนุบาล คนสมัยก่อนสมองอาจจะอยู่ในระดับมัธยม คือไม่ได้รู้มาก เรียนจบก็แค่ ป.4 สมองอยู่ในระดับประถม แต่จิตใจก็อาจจะอยู่ในระดับมัธยม คือมีวุฒิภาวะ มีความอดทนอดกลั้น มีเมตตากรุณา ซึ่งมันดีกว่าประเภทสมองอุดม แต่หัวใจอยู่ระดับประถมหรืออนุบาล
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากว่าพัฒนาแต่อารมณ์ความรู้สึก หัวสมองไม่พัฒนาด้วย มันก็มีปัญหาเหมือนกัน อย่างคนที่มีเมตตากรุณามาก ๆ แต่ถ้าหากว่าเขาไม่มีปัญญา เขาก็อาจจะถูกหลอก เพราะใคร ๆ ก็เห็นว่า เออ เป็นคนใจดี เลยมาหลอกเอาเงินไป เจ้าตัวก็ไม่รู้ หรือเจ้าตัวอาจจะไม่เห็นว่าการที่เอาแต่ให้ ๆ ๆ เมื่อมีคนมาขอ ให้ด้วยความปรารถนาดี แต่ให้ ๆ อย่างนี้ไปเรื่อย ๆ มันก็จะเป็นการทำร้ายอีกฝ่ายหนึ่ง
เหมือนกับแม่ที่ตามใจลูกด้วยความเมตตาสงสาร ไม่ได้ใช้ปัญญาไตร่ตรองว่าการทำอย่างนั้นมันจะเป็นผลเสียต่อลูกอย่างไรบ้าง อันนี้ก็ทำให้ลูกกลายเป็นเด็กที่อ่อนแอหรือว่าเสียผู้เสียคนเพราะว่าไม่รู้จักคำว่าผิดหวัง หรือว่าถูกตามใจจนกลายเป็นคนเห็นแก่ตัว
ส่วนคนที่มีเมตตากรุณามาก ให้ ๆ จนหมดตัวก็แย่เหมือนกัน อันนี้ก็เรียกว่าไม่มีความสมดุลระหว่างสมองกับหัวใจ
หรือบางคนศรัทธามาก ศรัทธาก็เป็นเรื่องของอารมณ์ ศรัทธาพระบางรูป ศรัทธาครูบาอาจารย์บางท่าน ก็ทุ่มสุดตัวโดยที่ไม่ได้พิจารณาด้วยเหตุด้วยผลว่า เป็นคนดีจริงไหม เป็นพระแท้หรือเปล่า ที่ไปเข้าใจว่าเป็นพระอรหันต์ สุดท้ายก็พบว่าเป็นมิจฉาชีพ เป็นพระทุศีล อันนี้เรียกว่ากลายเป็นคนงมงายได้ ศรัทธามาก ๆ แต่ว่าไม่มีปัญญาก็นำไปสู่ความงมงาย
ฉะนั้น ความสมดุลระหว่างสมองกับหัวใจนี้ก็สำคัญ ระหว่าง ‘เหตุผล ความคิด ความรู้’ กับ ‘อารมณ์ ความรู้สึก’ มันต้องช่วยถ่วงดุลกัน
ทีนี้ นอกจากสมดุลระหว่างสมองกับหัวใจแล้ว ยังมีสมดุลอีกหลายอย่าง เช่น ‘รู้นอก’ กับ ‘รู้ใน’ หรือจะบอกว่ารู้โลกภายนอกเยอะนั้นมันก็ดี เป็นการรู้ได้โดยอาศัยวิชาการ การเรียน การอ่าน การฟัง แต่ว่ารู้นอกไม่พอ ต้องรู้ในด้วย รู้ในคือ รู้ทันความคิด รู้ทันอารมณ์ความรู้สึก หรือรู้จักตนเอง รู้นอกส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของการอาศัยสมอง แต่ว่ารู้ในมันต้องอาศัยการพัฒนาจิต
ฉะนั้น ถ้าเรารู้แต่ข้างนอก แต่เราไม่รู้ใน ไม่รู้ใจของตัวเอง อาจจะโดนกิเลสหลอกให้เราหลงผิดได้ คนที่มีความรู้เยอะ แต่สุดท้ายก็โดนกิเลสหลอก หรือว่าไม่รู้จักจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกของตัว เวลามีความโศกความเศร้า ความผิดหวัง ก็ไม่รู้ทัน ปล่อยให้ความโศกความเศร้ามันมาครอบงำ จนบางทีกลายเป็นโรคซึมเศร้า หรือว่าหดหู่ ท้อแท้ ทำร้ายตัวเอง แบบนี้ก็มีเยอะ
เดี๋ยวนี้รู้นอกเยอะ แต่ไม่ค่อยรู้ใน คือไม่ค่อยรู้ทันอารมณ์ความรู้สึก อย่าว่าแต่รู้ทันเลย แค่จะบอกว่าตอนนี้รู้สึกอย่างไร เฉย ๆ เบื่อหน่าย เซ็ง หดหู่ ห่อเหี่ยว ซึมเศร้า ดีใจ สดชื่นเบิกบาน หลายคนตอบไม่ได้ บอกไม่ได้ว่าเป็นอารมณ์ชนิดใด อันนี้เพราะว่ารู้แต่ข้างนอก แต่ว่าไม่ค่อยรู้ใน คือรู้ใจ
สมดุลระหว่าง ‘งานภายนอก’ กับ ‘งานภายใน’ ก็เหมือนกัน คนเราจะทำแต่งานภายนอกอย่างเดียวไม่ได้ มันต้องทำงานภายใน มีงานการ ความรับผิดชอบมากมาย แต่ว่าไม่ได้ฝึกใจให้รู้จักอดทนอดกลั้น หรือว่าไม่รู้จักฝึกใจให้มีความเข้มแข็งมั่นคง พอเจอปัญหาเจอคำวิพากษ์วิจารณ์ เจอคนกลั่นแกล้ง เจอคนที่มุ่งร้าย หมายเอาผลงาน ก็เสียศูนย์ไปเลย หรือไม่ก็เกิดความคับแค้น
มีคนจำนวนมากที่ได้ตำแหน่งสูง ๆ ประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน แต่เวลาเจอความผันผวนปรวนแปรเกิดขึ้น บ้านถูกยึด หรือว่าธุรกิจ อย่าว่าแต่ล้มละลายเลย แค่ได้กำไรน้อย จากเคยกำไรหมื่นล้านเหลือห้าพันล้าน บางทีเสียศูนย์เลย
มีอาสาสมัครที่คอยรับฟังเรื่องราวของคนที่กลุ้มอกกลุ้มใจ มาบ่น มาระบายทางโทรศัพท์ หลายคนก็คิดค่าตัวตาย และที่คิดฆ่าตัวตายมันไม่ได้มีเฉพาะคนที่ผิดหวังในความรัก มีรายหนึ่งเป็นนักธุรกิจใหญ่เขาเครียดมาก ไม่ใช่ว่าขาดทุน ล้มละลาย แต่เป็นเพราะว่าธุรกิจเคยได้กำไรหมื่นล้าน แต่ว่าปีนี้ได้กำไรห้าพันล้าน ทนไม่ไหว เสียศูนย์เลย คิดฆ่าตัวตาย
อันนี้ก็เรียกว่าทำแต่งานภายนอก แต่ว่าไม่ได้ทำงานภายใน คือไม่ได้สนใจฝึกใจให้มีความเข้มแข็งมั่นคงให้มีความรู้เข้าใจในธรรมดาของชีวิตว่า มันมีความผันผวนปรวนแปร มีขึ้นมีลง มีได้มีเสีย ซึ่งอันนี้ก็สัมพันธ์กับการรู้นอกและรู้ใน ถ้ารู้นอกอย่างเดียว รู้ในบกพร่อง ก็มีปัญหา
เหล่านี้เป็นเรื่องสมดุล สมดุลในชีวิตที่ขาดไม่ได้ ซึ่งสมดุลที่ว่ามานี้แม้มีหลายคู่ แต่ตัวสำคัญที่จะช่วยทำให้ชีวิตมีความสมดุลในระดับต่าง ๆ อย่างที่เล่ามานั้น ตัวที่สำคัญมีตัวเดียว คือ ‘สติ’
ถ้าเรารู้จักเจริญสติ หมั่นเจริญสติอยู่เป็นนิจ มันจะได้อานิสงส์ในการฟื้นฟู สร้างความสมดุลให้เกิดกับชีวิตจิตใจได้เยอะแยะเลย ทำอย่างเดียวแต่ได้หลายอย่าง
เพราะว่าพอเราเจริญสติอย่างถูกต้อง ทำเป็นนิจ มันก็จะเกิดความสมดุลระหว่างกายกับใจ ระหว่างสมองกับหัวใจ ระหว่างงานภายนอกกับงานภายใน ระหว่างการรู้นอกกับรู้ใน ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างการทำงานกับการพักผ่อน เพราะสติทำให้เราไม่ใช้ชีวิตเหวี่ยงไปทางใดทางหนึ่ง ไปทางสุดโต่ง
เพราะเวลาเราเจริญสติ เราต้องรู้จักประคองใจให้อยู่ในความพอดีหรือความสมดุล อย่างเช่น ไม่เผลอ ไม่เพ่ง ถ้าเผลอ สติก็ไม่เติบโต ถ้าเอาแต่เพ่ง สติก็ไม่งอกงาม
เวลาเราเจริญสติ ต้องรู้จักรักษาใจให้อยู่ตรงทางสายกลาง ไม่เผลอ ไม่เพ่ง ซึ่งตรงนี้มันจะช่วยฝึกให้เรารู้จักจัดวางชีวิตให้เกิดความสมดุลระหว่างกายกับใจ งานภายนอก งานภายใน แล้วก็ระหว่างความสมดุลอย่างอื่นด้วย เช่น ‘ทำกิจ’ และ ‘ทำจิต’
เวลาเราทำงาน ทำกิจอย่างเดียวไม่พอ มันต้องทำจิตด้วย เพราะว่าถ้าทำกิจแต่ไม่ทำจิต มันก็เครียด ถูกความเครียดรุมเร้ากับการทำงาน เจออุปสรรค เจอปัญหาก็เกิดความหงุดหงิด เกิดความท้อแท้ เกิดความเบื่อหน่าย เกิดความห่อเหี่ยว นี่เพราะว่าทำกิจแต่ไม่ทำจิต
แล้วมันยังทำให้เกิดการสมดุลระหว่าง ‘ประโยชน์ตน’ กับ ‘ประโยชน์ท่าน’ ชีวิตคนเราต้องมี 2 อย่างคู่กันไป ประโยชน์ตน กับ ประโยชน์ท่าน
ประโยชน์ตนในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงความมั่งคั่งร่ำรวย ในเบื้องต้นก็อาจจะหมายถึงการมีสุขภาพดี การมีหน้าที่การงานมั่นคง มีครอบครัวที่อบอุ่น แต่ว่ามันไปมากกว่านั้น ก็คือการมีจิตใจที่สงบเย็น การมีจิตใจที่เป็นกุศล อันนี้แหละประโยชน์ตน ซึ่งมันจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการรู้จักบำเพ็ญประโยชน์ท่านด้วย คือการเอื้อเฟื้อช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น
เพราะว่าเมื่อเราช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเกื้อกูลผู้อื่น มันก็ทำให้จิตใจเรามีความเห็นแก่ตัวน้อยลง มีความสุขมากขึ้น สุขที่ได้ทำความดี สุขที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น เกิดความภาคภูมิใจ รู้สึกชีวิตไม่ว่างเปล่า รู้สึกชีวิตมีคุณค่า
คนที่เอาแต่ทำประโยชน์ตน แสวงหาความสงบ ถ้าไม่รู้จักบำเพ็ญประโยชน์ท่าน บางทีกลายเป็นคนที่เห็นแก่ตัวได้ กลายเป็นคนที่หนีปัญหา คิดถึงแต่ตัวเอง พอคิดถึงแต่ตัวเองมาก ๆ เข้า การที่จะขัดเกลาจิตใจให้กิเลสน้อยลง ยึดติดถือมั่นในตัวตนน้อยลงมันก็ยาก
การช่วยเหลือผู้อื่น เสียสละเพื่อผู้อื่น ช่วยให้ผู้อื่นมีความสุข สุดท้ายความสุขก็ย้อนกลับมาที่ตัวเรา
แต่ถ้าหากว่าทำแต่ประโยชน์ท่าน ไม่รู้จักบำเพ็ญประโยชน์ตน ก็อาจจะเสียศูนย์ หมดไฟได้ง่าย คนที่ทำงานเพื่อผู้อื่น เป็นจิตอาสาก็ดี เป็นหมอก็ดี เป็นพยาบาลก็ดี หลายคนนี่หมดไฟไปเพราะว่าทำแต่ช่วยเหลือผู้อื่นแต่ว่าลืมที่จะรักษาใจให้สงบ
มันคล้าย ๆ กับพัดลม พัดลมเป่าให้คนที่อยู่ข้างหน้าเย็นสบาย แต่ตัวมันกลับร้อน แล้วขืนทำไปนาน ๆ เป็นวัน เป็นเดือน บางทีเครื่องก็ระเบิด เพราะว่าช่วยให้คนอื่นเย็นสบาย แต่ตัวมันกลับร้อน ฉะนั้น คนที่ทำแต่ประโยชน์ท่าน แต่ลืมประโยชน์ตน ก็จะเป็นอย่างนี้
แต่ถ้ามีสติ เจริญสติมันก็จะทำให้เกิดความสมดุล เวลาทำประโยชน์ตนมากเกินไป มันก็จะทักท้วงว่าให้รู้จักนึกถึงผู้อื่นบ้าง หรือเวลาทำอะไรเพื่อผู้อื่นก็มีสติ ไม่ทิ้งการรู้จักรักษาใจให้สงบ รู้จักการปล่อย การวาง อันนี้เรียกว่ามีความสมดุลระหว่างการทำกิจและการทำจิต
ฉะนั้น ถ้าอยากให้ชีวิตเรามีความสมดุลในหลายระดับอย่างที่ว่ามานี้ มันไม่ต้องทำอะไรมากมาย แค่เจริญสติ ให้มีสติ ให้มีความรู้สึกตัวอยู่เสมอ อย่างน้อย ๆ มันก็จะเกิดความเฉลียวใจว่าตอนนี้ชีวิตกำลังขาดความสมดุลไปแล้ว แล้วต้องกลับมาให้เกิดความสมดุลกับสิ่งที่ขาดไป
เพราะฉะนั้นการเจริญสตินั้นมันจึงเป็นการปฏิบัติที่คุ้มค่ามาก ทำอย่างเดียวแต่ได้ประโยชน์หลายอย่างทีเดียว แม้จะไม่ใช่ประโยชน์ที่เป็นตัวเงินทอง แต่มันก็ทำให้ชีวิตเราสามารถที่จะเดินหน้าไปสู่จุดหมายที่พึงประสงค์ได้ โดยเฉพาะจุดหมายที่เป็นกุศล.
...