พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 5 มีนาคม 2567
เมื่อเช้าเราได้ฟังเสียงเทศน์ของหลวงพ่อคำเขียน ท่านแนะนำการปฏิบัติ การเจริญสติ มีประโยคหนึ่งบอกว่า เวลามีอะไรเกิดขึ้นกับใจก็อย่าไปยุ่งกับมัน หมายความว่าถ้าเผลอคิดขึ้นมา หรือลักคิด หรือมีอารมณ์เกิดขึ้น ก็ไม่ต้องทำอะไรกับมัน แค่รู้ซื่อ ๆ ไม่ต้องไปกดข่ม ไม่ต้องผลักไส พูดง่าย ๆ คือไม่ต้องยุ่งอะไรกับมันทั้งนั้น แค่เห็น ดูมันเฉย ๆ เท่านี้ก็พอแล้ว
การที่เราไม่ไปยุ่งอะไรกับความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้นมันน่าจะง่าย เราแค่ดูหรือว่าอยู่เฉย ๆ เห็นมัน มาแล้วก็ไป น่าจะทำได้ง่ายกว่าการเข้าไปยุ่งอะไรกับมัน แต่เอาเข้าจริง ๆ แล้วหลายคนจะพบว่า การอยู่เฉย ๆ ไม่ไปยุ่งอะไรกับมันเป็นเรื่องยาก
ส่วนใหญ่ก็อดไม่ได้ที่จะไปทำอะไรกับความคิดที่ฟุ้งขึ้นมา หรืออารมณ์ที่ผุดขึ้นมา เช่น ผลักไส กดข่ม หรือว่าเข้าไปยึด ไปยึดว่ามันเป็นเรา เป็นของเรา อย่างที่หลวงพ่อท่านใช้คำว่า เข้าไปเป็น แทนที่จะเห็น เห็นนี่มันไม่ต้องทำอะไรเลย แต่เข้าไปเป็นนี่มันก็คือ เข้าไปยุ่งกับมัน
ทำไมการไปยุ่งกับมันจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายกว่าการแค่รู้เฉย ๆ หรือว่ารู้ซื่อ ๆ ทำไมการไม่ไปยุ่งกับมันจึงเป็นเรื่องยากสำหรับนักปฏิบัติ อันนี้เป็นคำถามที่น่าคิด ทั้ง ๆ ที่การอยู่เฉย ๆ มันน่าจะง่ายกว่าการที่เข้าไปยุ่งอะไรกับสิ่งที่มันเกิดขึ้นในใจ แต่ก็เป็นกันส่วนใหญ่หรือแทบจะร้อยทั้งร้อย ก็เพราะว่ามันเป็นเรื่องยากที่ไม่ไปยุ่งกับมัน อาจจะเป็นเพราะว่าในชีวิตประจำวัน เราชอบไปยุ่งไปจัดการกับสิ่งต่าง ๆ
เริ่มตั้งแต่ข้าวของทรัพย์สมบัติ เวลาเรามีข้าวของเครื่องใช้เราก็เข้าไปจัดการ เช่น จัดไว้เป็นระเบียบ มีอาหารก็ต้องไปจัดการกับมัน ปรุงให้มันน่ากิน ได้อาหารมาแล้วก็ยังต้องเติมเครื่องปรุง ต้องจัดการกับรสชาติเพื่อให้มันถูกใจถูกปากเรา
เจอสิ่งของวางเกะกะไม่เป็นที่ก็ต้องไปจัดการวางให้เป็นระเบียบ มีขยะหรือเจอขยะในบ้านหรือนอกบ้านก็ต้องจัดการ เอามันไปทิ้ง ไม่ให้มันรกบ้าน มีรถก็จัดการกับรถ แต่งมันบ้าง หรือว่าเช็ดทำความสะอาดให้มันดูแวววาว ให้มันดูสวย
ยิ่งมีบ้านก็ยิ่งต้องเข้าไปจัดการแต่งบ้านให้ดูดี มีต้นไม้ก็ไปจัดการกับต้นไม้ ปลูกให้เป็นแนวให้เป็นระเบียบ อันไหนที่มันขึ้นรกก็ต้องจัดการตัด ลิดกิ่ง เราใช้ชีวิตกับการจัดการสิ่งต่าง ๆ หรือเข้าไปยุ่งกับสิ่งต่าง ๆ ไม่ใช่แค่ข้าวของเครื่องใช้ แต่ยังรวมไปถึงเสื้อผ้าหน้าผม ก็ไม่ปล่อยให้มันไปเป็นธรรมชาติ จะไม่ไปยุ่งกับเสื้อผ้าหน้าผมนี่ก็ยาก ก็ไปยุ่งกับมัน ไปจัดการกับมัน
แล้วไหนงานการอีกล ก็ต้องจัดการกับงานการ อย่างน้อยก็ทำให้งานเสร็จตามกำหนด แต่ก่อนที่จะเสร็จก็ต้องจัดการให้งานนี้ออกมาดี ออกมาอย่างน้อยก็ใช้ได้ หรือยิ่งถ้าคนที่เป็นพวก perfectionist ต้องทำให้มันสมบูรณ์แบบที่สุดก็ต้องเข้าไปจัดการ เข้าไปยุ่งกับมัน ออกมาแล้วก็ยังไม่พอใจก็ต้องปรับเปลี่ยนแก้ไข
จัดการกับงานไม่พอ ยุ่งกับงานไม่พอก็ต้องมายุ่งกับคน เพื่อนร่วมงาน บางทีเขาผิดนัดก็ต้องไปจัดการ ทักท้วงติติง หรือว่าเขาทำงานไม่ค่อยรับผิดชอบก็ต้องเข้าไปยุ่งไปจัดการเพื่อให้เขารับผิดชอบ หรือว่าตกลงอะไรไปแล้วนี่ไม่ทำตามที่ตกลงก็ต้องไปจัดการ ชีวิตเรามันเต็มไปด้วยการจัดการ เข้าไปยุ่งกับสิ่งต่าง ๆ มากมาย
ยิ่งกว่านั้นบางทีก็ไปยุ่งกับเรื่องหรือกับคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรา เพื่อนบ้านแต่งตัวดูไม่น่ามอง ดูชะเวิบชะวาบ ก็อดรนทนไม่ได้ที่จะไปพูดไปยุ่งกับการแต่งตัวของเขา หรือบางทีเขาอาจจะชอบกินเหล้า สูบบุหรี่ คบผู้หญิงมากหน้าหลายตา ทั้งที่มันไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเราเลย แต่อดไม่ได้ที่จะเข้าไปยุ่ง อาจจะไม่ได้ยุ่งด้วยการไปจัดการให้เขาเป็นไปอย่างที่เราเห็นว่าถูกต้อง แต่ไปยุ่งด้วยสายตา
ไปยุ่งด้วยสายตา หรือไปยุ่งด้วยหู ยุ่งด้วยสายตาก็หมายความว่าไปสอดส่ายดูว่าเขาทำอะไร และจับจ้องมองเห็นแต่ความไม่ถูกต้อง ความผิดพลาดของเขา ความไม่เข้าท่าของเขา แล้วเป็นอย่างไร ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา บางทีก็อดรนทนไม่ได้ พูดตำหนิเขา พูดวิจารณ์เขา ทั้งที่มันก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเราเลย
หรือว่าเห็นคนบนท้องถนนหรือว่าคนที่เรารู้จักพบปะทั้งที่ไม่ได้ทำงานด้วยกัน แต่ก็อดยุ่งกับเขาไม่ได้เพราะเห็นเขาทำอะไรไม่เข้าท่า แม้กระทั่งอยู่ในวัดเห็นบางคนเขาไม่ปฏิบัติหรือไม่ขยันปฏิบัติเหมือนเรา ก็อดไม่ได้ที่จะพูดตำหนิ ไปยุ่งกับเขา ทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเราเลย เขาจะปฏิบัติหรือไม่ก็เป็นเรื่องของเขา แต่ว่าเราก็อดยุ่งไม่ได้ อาจจะไม่ได้ยุ่งด้วยคำพูด ด้วยการกระทำ แต่ไปยุ่งด้วยสายตา หรือไม่ก็ยุ่งด้วยใจก็คือบ่น วิพากษ์วิจารณ์
ซึ่งสุดท้ายมันก็ไม่ได้เป็นผลดีกับเราเลย เพราะว่ามันทำให้เราทุกข์ ทำให้เราหงุดหงิด อันนี้ก็เป็นสิ่งที่มันหล่อหลอมนิสัยที่ชอบไปยุ่ง ชอบไปจัดการกับอะไรต่ออะไรมากมาย ทั้งที่มันก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเรา ที่ไม่เกี่ยวข้องก็มี ที่เกี่ยวข้องก็มี แต่ที่ไม่เกี่ยวข้องก็อดไปยุ่งไม่ได้ ยุ่งแล้วก็ทุกข์
แต่มันก็มีเหตุผลที่มักจะมีข้ออ้างว่า ก็เขาทำไม่ถูก ก็ต้องคิดก่อนว่าเขาทำไม่ถูกต้องหรือว่าเขาทำไม่ถูกใจเรากันแน่ เรามักจะมีข้ออ้างว่าที่เราบ่นหรือว่าที่เราไปวุ่นวายกับเขาทั้งที่ไม่เกี่ยวอะไรกับเรา ก็เพราะเขาทำอะไรไม่ถูกต้อง เพื่อนบ้านเขาคบผู้หญิงมากหน้าหลายตา มันจะดีได้อย่างไร มันถูกต้องได้อย่างไร อดบ่นไม่ได้ อดโวยวายไม่ได้
เรายุ่งกับอะไรต่ออะไรมากมาย กับผู้คน โดยอ้างว่าเพราะมันไม่ถูกต้อง แต่บางทีมันเป็นเพราะไม่ถูกใจเราต่างหาก แล้วบางครั้งในความไม่ถูกต้องกับความไม่ถูกใจ เส้นแบ่งมันก็บางมาก เวลาเห็นใครทำอะไรไม่ถูกต้องในแบบของเรา ตามความคิดของเรา มันก็กลายเป็นไม่ถูกใจไปทันที
หรือถึงแม้ว่ามันจะเป็นความไม่ถูกต้อง จริง ๆ ล้วน ๆ แต่ว่าเราก็มักจะลืมไปว่าเราทำใจให้ถูกต้องหรือเปล่า หากผู้คนทุกวันนี้ไปยุ่งกับสิ่งต่าง ๆ เพราะเห็นว่ามันไม่ถูกต้อง แต่ลืมดูแลใจของตัวเองให้ถูกต้องหรือว่าดูแลตนให้ถูกต้อง
ลืมดูแลใจของตัวให้ถูกต้องหมายความว่าอย่างไร ก็หมายความว่า ปล่อยให้ใจมันเต็มไปด้วยความโกรธ ความเกลียด ความเครียด เห็นแต่ความไม่ถูกต้องของคนนั้นคนนี้รอบตัว แต่ลืมมามองตนว่า ใจของเรามันกำลังจะไม่ถูกต้องแล้ว
พอใจไม่ถูกต้องมันก็เผลอพูด แล้วทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เช่น โวยวาย ต่อว่า ด่าทอเขา บางทีก็กลายเป็นว่าทำความไม่ถูกต้องยิ่งกว่า
พอเรามีนิสัยแบบนี้ สะสมแบบนี้มากขึ้น ๆ การที่จะมาปฏิบัติแล้วก็ไม่ไปยุ่งอะไรกับความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้น มันจึงกลายเป็นเรื่องยาก เพราะเราหล่อหลอมตัวเองหรือสร้างนิสัยในการไปยุ่งไปจัดการกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมากมาย
เมื่อเป็นเช่นนั้น ครั้นจะไม่ไปจัดการอะไรกับความคิด อารมณ์ที่มันเกิดขึ้นในใจมันก็อดไม่ได้ บ่อยครั้งก็รู้สึกว่ามันคิดไม่ถูก ความคิดแบบนี้มันไม่ดี หรือบางทีก็คิดว่าไม่ควรจะคิดเพราะว่าเรามาปฏิบัติ มันไม่ถูกต้อง หรือบางทีก็ไปให้ค่ากับความคิดต่าง ๆ ว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ดี ความฟุ้งซ่านไม่ดี เพราะฉะนั้นต้องไปจัดการกับมัน
จัดการกับมันอย่างไร ก็คือว่าไปกดข่มมัน ก็เลยกลายเป็นว่า ที่หลวงพ่อบอกว่าอย่าไปยุ่งกับมัน นักปฏิบัติหลายคนก็เลยบอกว่ามันทำยากที่บอกว่าไม่น่าที่จะเข้าไปยุ่งกับความคิดและอารมณ์ต่าง ๆ ถ้าไม่ไปจัดการกับความคิดและอารมณ์ด้วยการกดข่ม ผลักไสมัน ก็ไปพยายามบังคับจิตไม่ให้คิด บังคับจิตไม่ให้มีอารมณ์ต่าง ๆ
พอไปยุ่งกับความคิดและอารมณ์ แล้วก็ไปยุ่งกับจิต ไปบังคับจิต ก็เลยเกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา เกิดความเครียด เกิดความหงุดหงิด เกิดความขุ่นเคืองคับแค้น สุดท้ายการปฏิบัติก็ไม่ก้าวหน้า
ฉะนั้นถ้าเราจะปฏิบัติ แล้วทำตามที่หลวงพ่อคำเขียนท่านแนะนำ คือว่าอย่าไปยุ่งกับมัน ตราบใดที่เราชอบไปยุ่งไปจัดการกับสิ่งต่าง ๆ นอกตัว บางทีก็ไม่ได้ยุ่งด้วยการกระทำ แต่ไปยุ่งด้วยสายตา ไปยุ่งด้วยคำวิพากษ์วิจารณ์ในใจบ้าง มันก็ทำให้กลายเป็นเรื่องยาก
เราจะแค่รู้ซื่อ ๆ รู้เฉย ๆ เวลามันมีความคิดมีอารมณ์เกิดขึ้น บางทีเราก็ต้องหัดสร้างนิสัยที่จะไม่ไปยุ่งกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว แค่ดูมันเฉย ๆ ถ้าเราฝึกแบบนี้บ้างหรือทำแบบนี้บ้างกับสิ่งรอบตัว มันก็จะกลายเป็นเรื่องง่าย ถ้าหากว่าเราจะทำอย่างนั้นบ้างกับความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจหรือกับใจของเรา
ฉะนั้นการปฏิบัติที่หลวงพ่อเทียนหลวงพ่อคำเขียนท่านสอน พื้นฐานคือการที่เราอนุญาตให้ความคิดและอารมณ์ต่าง ๆ มันเกิดขึ้นได้ ไม่ได้ไปกีดขวาง ไม่ได้ไปห้ามมัน แล้วก็ไม่ได้ไปตัดสินว่าอย่างนี้ดีอย่างนี้ไม่ดี คิดดีเอาคิดชั่วหรือคิดไม่ดี ไม่เอา อย่างนั้นไม่ใช่
หลวงพ่อคำเขียนบอก "คิดดีก็ช่าง คิดไม่ดีก็ช่าง" คือไม่ไปยุ่งกับมัน คิดดีก็ไม่ได้ไปหลงใหลเคลิ้มคล้อยกับมัน คิดไม่ดีก็ไม่ไปราวีกับมัน หรือไม่ไปเสียอกเสียใจว่า ทำไมเราถึงคิดไม่ดีแบบนั้น ช่างมันไปเลย อันนี้ก็เป็นวิธีที่จะทำให้เราไม่ไปยุ่งกับความคิดและอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เป็นเพียงแค่เฝ้าดูหรือว่ารู้ซื่อ ๆ อย่างที่มันเป็น โดยที่ไม่คิดที่จะไปบังคับให้มันเป็นอย่างที่ควรจะเป็น
ความคิดบางอย่างไม่ถูกต้อง ก็ดูมัน ไม่ไปยุ่ง ไม่ไปจัดการอะไรกับมัน อารมณ์บางอย่างไม่ถูกต้อง หมายความว่ามันเป็นอารมณ์อกุศล ก็ไม่ไปยุ่งกับมัน ก็แค่ดูมันเฉย ๆ เหมือนกับเราดูกระแสน้ำที่ไหล
อย่างเวลาเรานั่งอยู่ริมตลิ่งแล้วดูกระแสน้ำที่ไหล อะไรที่ไหลมากับกระแสน้ำ จะเป็นกอผักตบหรือซากหมาเน่า ก็แค่ดูมันเฉย ๆ ไม่ไปทำอะไรกับมัน ไม่ไปเอาไม้เขี่ยมัน หรือว่าจะมีเรือสำราญแล่นผ่านมาก็ไม่ได้หลงใหลอยากจะว่ายขึ้นเรือเพื่อจะได้ไปเที่ยว ก็แค่ดูมันเฉย ๆ ไม่ว่าอะไรที่ผ่านมาก็ปล่อยให้มันผ่านไป
แต่ว่าใหม่ ๆ มันยาก เพราะว่าเราใช้ชีวิตสะสมนิสัยที่จะไปยุ่งไปจัดการกับสิ่งต่าง ๆ ทั้งที่จำเป็น แล้วก็ที่ไม่จำเป็น
บางอย่างก็จำเป็น เรามีข้าวของเครื่องใช้ก็ต้องจัดการวางให้มันเป็นระเบียบ แก้วน้ำจานชามก็ต้องวางให้เป็นระเบียบ ต้องจัดการ มีขยะตามที่ต่าง ๆ ต้องเก็บ แล้วก็ไปทิ้งถังขยะ นี่ก็เป็นการจัดการที่ต้องยุ่งต้องเกี่ยวเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย เสื้อผ้าหน้าผมบางทีก็ต้องจัดการ ไม่ใช่ปล่อยปละให้ผมกระเซิง
แต่ว่าอะไรที่ไม่จำเป็น ก็ไม่ต้องไปยุ่งไปจัดการมาก เพราะไม่อย่างนั้นถึงเวลาที่จะมาดูแลหรือให้มาเรียนรู้การฝึกจิตฝึกใจของเรามันจะกลายเป็นเรื่องยาก เพราะว่าอดไม่ได้ที่จะเข้าไปยุ่ง เข้าไปจัดการ
ถ้าเราสังเกตจะพบว่ายิ่งไปยุ่ง เข้าไปจัดการกับความคิดและอารมณ์ต่าง ๆ มันยิ่งเครียด มีความโกรธเกิดขึ้น กดข่มมัน ไม่ใช่ว่ามันจะหาย อย่างมากมันก็แค่หลบในแล้วก็โผล่ขึ้นมายามที่เราเผลอ คือถ้าเรากดข่มมันไปนาน ๆ มันเก็บกดมาก ๆ เข้า มันก็รอวันระเบิด อย่างบางคนปรี๊ดแตก ทั้ง ๆ ที่สิ่งที่กระทบนี่เล็กน้อยมาก
ที่ปรี๊ดแตกก็เพราะว่า ความโกรธ ความเครียดมันสะสมนาน พออะไรมากระทบเบา ๆ มันก็ระเบิด อันนี้ก็เพราะว่าไปกดข่มมัน แต่ถ้าเราเรียนรู้ที่จะดูมันเฉย ๆ ไม่ไปยุ่งกับมัน อารมณ์พวกนี้มันก็จะค่อย ๆ จางคลายไป
และการที่เราเรียนรู้ที่จะไม่ยุ่งกับความคิดและอารมณ์ เหล่านี้มันมีประโยชน์มาก ต่อไปเราก็เอาไปใช้กับสิ่งที่มากระทบ เช่น เสียง แม้มันจะเป็นเสียงดัง หรือว่าเสียงที่ไม่ถูกกาลเทศะ เช่น เสียงโทรศัพท์ เสียงหมาเห่า เสียงคนพูดคุย จริง ๆ แล้วมันก็ไม่ได้สร้างความทุกข์ใจให้กับเราเท่าไหร่ แต่ที่เราทุกข์ใจหงุดหงิดเพราะอะไร ก็เพราะใจมันไปยุ่งกับเสียงนั้น เช่น ไปกดข่ม ไปราวีกับเสียงนั้น
มีคราหนึ่งหลวงพ่อชาท่านพาญาติโยมนั่งสมาธิ ตอนนั้นท่านอยู่ที่ประเทศอังกฤษ เจ้าภาพนิมนต์ให้ท่านพำนักอยู่ที่วิหารกลางกรุงลอนดอน ละแวกนั้นมีผับมีบาร์ กลางค่ำกลางคืนก็จะมีการร้องรำทำเพลงเล่นดนตรี ดิสโก้กำลังเป็นที่นิยมในสมัยนั้น
ตกช่วงเย็น ๆ ค่ำ ๆ หลวงพ่อท่านพาพระและโยมนั่งสมาธิ ซึ่งก็เป็นเวลาเดียวกับที่ผับบาร์เหล่านั้นเล่นดนตรี ระหว่างที่พระนั่งสมาธิก็มีเสียงดังจากผับบาร์ พระหลายรูปโยมหลายคนก็นั่งสมาธิไม่เป็นสุข แต่หลวงพ่อชานั่งสงบมาก พอนั่งสมาธิเสร็จ เจ้าภาพก็มาหาหลวงพ่อ แล้วบอกขอโทษที่เสียงดนตรีรบกวนการนั่งสมาธิ
หลวงพ่อท่านยิ้ม “โยมไปคิดว่าเสียงดนตรีรบกวนเรา ที่จริงเราต่างหากที่ไปรบกวนเสียงดนตรี” ท่านกำลังจะบอกว่าอะไร ท่านกำลังจะบอกว่า ที่โยมเขาหงุดหงิดเพราะว่าใจเขาไปทะเลาะกับเสียงดนตรี
ก็คือที่หงุดหงิดเพราะว่าใจไปยุ่งกับเสียงนั้น ถ้าใจไม่ยุ่งกับเสียงนั้นมันก็ไม่หงุดหงิด จิตก็ยังสงบได้ แม้เสียงจะเข้ามา เข้าหูซ้ายมันก็ทะลุหูขวา แม้ได้ยินเสียงแต่ว่าใจก็ไม่กระเพื่อมเพราะว่าไม่ไปยุ่งกับเสียง แต่ที่หงุดหงิดก็เพราะใจไปยุ่งกับเสียง ถ้าใจไม่ยุ่งมันก็ไม่ทุกข์ ไม่หงุดหงิด
คำว่าไม่ยุ่ง มันไม่ได้ใช้กับความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจในระหว่างการปฏิบัติเท่านั้น ในชีวิตจริงการที่เราไม่ไปยุ่งกับสิ่งที่มากระทบ เช่น เสียง จะเป็นเสียงดนตรี เสียงริงโทน หรือเสียงอะไรก็แล้วแต่ มันก็ช่วยทำให้ใจไม่ทุกข์ได้
ที่จริงไม่ใช่เฉพาะเสียงที่มากระทบหูเท่านั้น อากาศร้อนลมหนาวก็เหมือนกัน เมื่อมันเกิดความร้อนความหนาว เกิดทุกขเวทนาขึ้นกับกาย ถ้าใจไม่ไปยุ่งกับมัน มันก็ไม่ทุกข์มาก ก็มีแต่กายที่ทุกข์ ทุกข์เพราะความร้อนความหนาว แต่ว่าใจไม่ได้ทุกข์ด้วย ใจก็ยังเป็นปกติอยู่ได้ถ้าไม่ไปยุ่งกับมัน แล้วมันไม่ใช่แค่ทุกขเวทนาที่เกิดจากความร้อนความหนาว แม้ทุกขเวทนาที่เกิดจากเหตุอื่นถ้าใจไม่ไปยุ่งกับมัน มันก็ทุกข์น้อย
มีคุณยายคนหนึ่งเกิดหกล้มแล้วแขนหัก คุณยายสติดีทำธุระเสร็จก่อนถึงค่อยไปโรงพยาบาล มีลูกสะใภ้ตามไปด้วย ไปถึงโรงพยาบาลหมอจะจัดกระดูก กระดูกที่หักนี่มันต้องจัดให้เข้าที่ก่อน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สามารถสร้างความเจ็บปวดได้ ทีแรกหมอจะฉีดยาชา คุณยายปฏิเสธ หมอก็ไม่ว่าอะไร เดิมที่หมอจะทำก็เป็นขั้นตอนก่อนที่จะใส่เฝือก
ระหว่างที่หมอจัดกระดูก ลูกสะใภ้เห็นเลยว่าคุณยายน่าจะมีอาการปวด แต่ยายก็ไม่ร้องไม่อะไรเลย เมื่อกลับไปถึงบ้าน ลูกสะใภ้ถามว่า คุณยายปวดมากไหม ทำไมคุณยายไม่ร้องเลยทั้งที่ไม่ได้ฉีดยาชา คุณยายบอกว่า มันก็เป็นสักว่าเวทนา เราก็แค่อย่าไปยุ่งกับมันเท่านั้นเอง
ไม่ไปยุ่งกับมันก็คือ ไม่ไปเอาใจจดจ่อกับมัน ไม่เอาใจไปผลักไสทุกขเวทนา คุณยายนี่จะเรียกว่าปฏิบัติธรรมได้สูง เมื่อมีทุกขเวทนา สิ่งที่เราควรทำคืออย่าไปยุ่งกับมัน ที่หลวงพ่อคำเขียนสอนว่าอย่าไปยุ่งกับอะไรที่มันเกิดขึ้นกับใจ ซึ่งหมายถึงความคิดและอารมณ์ ที่จริงแล้วมันก็เอามาใช้ได้เหมือนกัน วิธีนี้หลักการนี้
เมื่อมีทุกขเวทนาเกิดขึ้นกับกาย มีความเจ็บความปวดเกิดขึ้นกับกาย ใจก็อย่าไปยุ่งกับมัน แต่มันยากเพราะว่าคนส่วนใหญ่ถ้าไม่ได้ฝึกมา ใจมันก็อดไม่ได้ที่จะเข้าไปยุ่ง ไม่ใช่แค่ไปจดจ่อกับบริเวณที่เจ็บที่ปวด แต่ว่ายังมีอาการผลักไส ซึ่งยิ่งทำให้ปวดมากขึ้น คราวนี้ไม่ได้แค่ปวดกาย ใจก็ปวด ใจก็เป็นทุกข์
แต่คุณยายรู้เลยว่าถ้าใจไปยุ่งกับมัน มันจะทุกข์แต่กายเท่านั้น ท่านก็เลยไม่ไปยุ่งกับมัน ความเจ็บความป่วยจึงเป็นเรื่องที่ทนได้ ไม่ได้รุนแรง ถ้าเราลองฝึกอย่างนี้บ้างก็ดี ไม่ไปยุ่งกับความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เฉพาะในระหว่างปฏิบัติ แต่ในชีวิตประจำวัน แล้วก็ฝึกที่จะไม่ไปยุ่งกับทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นกับกาย
แต่จะทำอย่างนั้นได้นี่ ก็ต้องรู้จัก ต้องหัดไม่ไปยุ่งกับสิ่งนอกตัวที่มันไม่จำเป็น ซึ่งเราชอบจะไปยุ่ง ไปจัดการกับสิ่งต่าง ๆ นอกตัว ที่จำเป็นก็มี ที่ไม่จำเป็นก็เยอะ เพื่อนบ้านเขาจะทำอะไร ก็เป็นเรื่องของเขา เพื่อนนักปฏิบัติเขาจะไม่ปฏิบัติ ก็เป็นเรื่องของเขา ไม่ต้องไปยุ่ง ไปจัดการ รู้จักฝึกที่จะแค่รับรู้ หรือวางเฉยบ้าง
ถ้าเราฝึกแบบนี้จนเป็นนิสัย การที่น่าจะไม่ไปยุ่ง ไม่ไปจัดการกับความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ไปยุ่งกับทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นกับกาย ก็ทำได้ง่ายขึ้น มันก็เป็นการส่งเสริมการปฏิบัติที่ช่วยทำให้การปฏิบัติของเราก้าวหน้า.