PAGODA

  • Create an account
  • Forgot your username?
  • Forgot your password?
or

Connection

Your e-mail is required to ensure the proper functioning of the Website and its services and we make a commitment not to reveal it to third parties

  • หน้าแรก
  • ฐานข้อมูล
  • เสียง
  • วีดิทัศน์
  • E-Books
  • กิจกรรม
  • บทความ
PAGODA
  • หน้าแรก
  • ฐานข้อมูล
  • เสียง
  • วีดิทัศน์
  • E-Books
  • กิจกรรม
  • บทความ

เข้าสู่ระบบ / สมัครสมาชิก

เข้าสู่ระบบ

  • สมัครสมาชิก
  • ลืมชื่อผู้ใช้?
  • ลืมรหัสผ่าน?

Search

  • หน้าแรก
  • เสียง
  • พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
  • สดชื่นชั่วคราว ห่อเหี่ยวยาวนาน
สดชื่นชั่วคราว ห่อเหี่ยวยาวนาน รูปภาพ 1
  • Title
    สดชื่นชั่วคราว ห่อเหี่ยวยาวนาน
  • เสียง
  • 12737 สดชื่นชั่วคราว ห่อเหี่ยวยาวนาน /aj-visalo/23-2.html
    Click to subscribe
    • Share
    • Tweet
    • Email
    • Share
    • Share

ผู้ให้ธรรม
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
วันที่นำเข้าข้อมูล
วันพุธ, 03 เมษายน 2567
วัด/สถานที่บรรยายธรรม
วัดป่าสุคะโต
ชุด
ธรรมะสั้นๆ ก่อนอาหารเช้า 2567
  • แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]

  • พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 6 มีนาคม 2567

    มีสารอาหารชนิดหนึ่งที่คนทุกชาติทุกภาษาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันนี้ติดใจหรือถึงขั้นหลงใหลเลย นั่นก็คือ น้ำตาล มนุษย์เรานี้มีสัญชาตญาณตั้งแต่เกิดเลยก็ว่าได้คือ ชอบของหวานเพราะมันมีน้ำตาล ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าน้ำตาลเป็นสารที่ให้พลังงานที่จำเป็นกับร่างกาย มนุษย์เราก็เลยมีสัญชาตญาณตั้งแต่เล็กแรกเกิดเลย อะไรที่หวาน ก็จะชอบมากเพื่อจะได้หาน้ำตาลมาเติมพลังงานให้กับร่างกาย

    แต่ว่าน้ำตาลไม่ได้แค่มีประโยชน์กับร่างกาย มันมีผลต่อจิตใจด้วย อย่างเวลาเราเครียดหรือเวลาเรารู้สึกห่อเหี่ยวรู้สึกท้อ ถ้าได้กินน้ำตาลหรือกินของหวาน เราจะรู้สึกเลยว่ามันสุขสดชื่นขึ้น ความห่อเหี่ยวลดลง พูดง่าย ๆ คือมีอารมณ์ดี และน้ำตาลสมัยนี้มันละเอียดมาก เพราะฉะนั้นมันก็สามารถจะส่งผลต่อจิตใจของเราได้อย่างรวดเร็ว ทำให้อารมณ์ดีได้เร็วเลยแต่ว่าข้อเสียก็คือว่า อะไรก็ตามที่ขึ้นเร็ว มันก็ลงเร็ว น้ำตาลในเลือดของเรานี้มันจะจางหายไปอย่างรวดเร็ว อารมณ์ดีก็ประมาณสัก 20 นาที หลังจากนั้นก็กลับมาเหมือนเดิม คือห่อเหี่ยวหรือว่ารู้สึกเครียด

    ทำอย่างไรจะให้อารมณ์ดีกลับไปเหมือนเดิม ก็ต้องกินน้ำตาลเข้าไปอีก เพราะฉะนั้นหลายคนที่ใช้ของหวานเพื่อคลายความเครียดจะพบว่าขาดน้ำตาลไม่ได้ ขาดของหวานไม่ได้ เครียดเมื่อไหร่ก็กิน กินเสร็จอารมณ์ดีสักพักเดี๋ยวก็ห่อเหี่ยวใหม่ ก็ต้องกินของหวานเข้าไปอีก พฤติกรรมคล้าย ๆ กับเสพติด แพทย์จำนวนมากก็เลยจัดว่า น้ำตาลเป็นสารเสพติดชนิดหนึ่ง ขนาดนั้นเลยคือขาดไม่ได้ เพราะว่ามันช่วยทำให้อารมณ์ดี แต่ก็อารมณ์ดีประเดี๋ยวประด๋าวไม่ถึง 20 นาที พอน้ำตาลหายไปจากกระแสเลือดก็ต้องเติมเข้าไปใหม่ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าน้ำตาลมีผลต่อสารชนิดหนึ่งคือสารสื่อประสาทชื่อว่าโดปามีน เป็นสารแห่งความสุข พอน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด ก็จะทำให้โดปามีนนี้หลั่งออกมา แต่ว่ามันก็หลั่งมาไม่นาน พอน้ำตาลจางหายไปจากกระแสเลือด โดปามีนก็หมด แล้วก็กลับมาเครียดเหมือนเดิม กลับมาเบื่อ กลับมาท้อ กลับมาเซ็ง ก็ต้องโด๊บเข้าไปอีก อันนั้นก็เป็นผลที่เรารับรู้ได้ใช้เวลาไม่นาน

    แล้วมันยังมีผลกระทบอีกชนิดหนึ่งที่ส่ง ผลกว่าจะรู้ก็ใช้เวลานาน และก็เป็นผลที่น่ากลัวมาก เขาบอกว่าการกินน้ำตาลมาก ๆ นาน ๆ นี้มันมีผลต่อ โรคซึมเศร้า เขาพบว่าผู้ชาย 23% เลย หรือเกือบ 1 ใน 4 ที่กินของหวานมาก ๆ เป็นเวลา 5 ปีหรือมากกว่า 5 ปีขึ้นไปนี้จะมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้า ไม่น้อยเลยเกือบ 1 ใน 4 ของคนที่กินน้ำตาลมาก ๆ เกิน 5 ปีมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้า และโรคซึมเศร้านี้ก็รักษายาก เพิ่งมีการศึกษาพบว่า น้ำตาลที่เรากินเข้าไปจากอาหารหรือว่าจากเครื่องดื่มหรือจากการเติมน้ำตาลเยอะ ๆ นี้ มันมีผลต่อสารชนิดหนึ่งชื่อว่าสารนิวโรโทรฟิก สารนิวโรโทรฟิกนี้มีผลต่อสมอง เขาพบว่าถ้ากินน้ำตาลเยอะ ๆ จะทำให้สมองส่วนที่เรียกว่าฮิปโปแคมปัสนี้ฝ่อลง สมองส่วนนี้ทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำและการเรียนรู้ การรับรู้ เขาก็พบว่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้านั้น สมองส่วนนี้มันจะฝ่อชัดเจนกว่าคนปกติ และพบว่าการที่สมองตัวนี้มันฝ่อได้สัมพันธ์กับน้ำตาลที่เรากินเข้าไปเยอะ ๆ เวลานาน ๆ ไม่ใช่ประเดี๋ยวประด๋าว มันต้องหลายปี

    อีกอย่างหนึ่งก็พบว่าน้ำตาลเป็นสารประเภทคาร์โบไฮเดรต ซึ่งเวลาแปรรูปเป็นพลังงานจะก่อให้ เกิดการอักเสบ อักเสบก็ไม่มาก แต่ถ้าเป็นนาน ๆ บ่อย ๆ ระยะเวลายาวนานก็ทำให้เจ็บป่วย แล้วก็ทำให้เป็นโรคซึมเศร้าได้ แต่ทีนี้การอักเสบที่เกิดขึ้นตามเส้นเลือดตามผนังหลอดเลือดนี้ก่อให้เกิดโรคหลายอย่าง รวมทั้งโรคหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ แต่ว่าไม่ใช่แค่นั้น มันมีผลต่อการเกิดโรคซึมเศร้าด้วย เพราะว่าพบว่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้านี้ ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการที่มีภาวะอักเสบเกิดขึ้นบ่อย ๆ เป็นเวลานาน นี่ก็เป็นข้อมูลใหม่ที่ทำให้เราพบว่า

    ความหวานที่ทำให้จิตใจเราอารมณ์ดีนี้ มันก็ตามมาด้วยผลเสียมากมาย อารมณ์ดีประเดี๋ยวประด๋าว แต่ว่าอารมณ์หดหู่ตามมาหลังจากที่เสพน้ำตาลมาก ๆ

    อันนี้ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องโรคอ้วน โรคหัวใจที่เกิดจากการที่กินของหวานเยอะ ๆ รวมทั้งโรคที่เกี่ยวกับสมองด้วย เพราะว่าไขมันที่ไปเกาะตามผนังหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองหรือหัวใจนี้ ไขมันที่มันเกาะรวมทั้งลิ่มเลือดก็สัมพันธ์กับทั้งน้ำตาล แล้วก็ไขมันด้วย เพราะฉะนั้น เรื่องการกินของหวานนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก และเดี๋ยวนี้น้ำตาลเป็นของหาง่าย สมัยก่อนน้ำตาลหายาก แต่เดี๋ยวนี้น้ำตาลหาง่ายและราคาถูกและคนก็ติดน้ำตาลมาก 

    อาหารของบ้านเราแทบจะทุกชนิดเลยต้องหวาน ส้มตำก็หวาน ก๋วยเตี๋ยวก็หวาน ขาหมูก็หวาน ยังไม่นับเครื่องดื่ม แค่น้ำอัดลม โค้ก เป๊บซี่นี้ขวดเล็ก ขวดเดียวก็มีน้ำตาลเกือบ 30-40 กรัมแล้ว ซึ่งเกินความต้องการของร่างกาย เพราะฉะนั้น ทุกวันนี้คนอ้วนก็ดี คนเป็นโรคซึมเศร้ามาก ๆ ก็ดี อาจจะเป็นเพราะว่ากินน้ำตาลเยอะก็ได้ แล้วพอติดแล้วนี้เลิกยากนะ แต่ถ้าไม่เลิกก็จะมีผลเสียระยะยาวทั้งต่อร่างกายและสุขภาพจิตด้วย อันนี้ก็ต้องระมัดระวังไว้

    ต้องกินอย่างมีสติ อย่ากินตามใจปาก กินเอาความอร่อยอย่างเดียวไม่ได้ ต้องใช้สติใช้ปัญญาในการพิจารณาเวลากินอาหารด้วย.

logo

  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อเรา
  • จดหมายข่าว
  • Privacy Policy
  • Terms of Service