พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมวันมาฆบูชา วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567
วันนี้สำคัญอย่างไร เชื่อว่าไม่มีใครในที่นี้ที่ไม่รู้ และที่จริงแล้วหลายคนมาที่นี่ก็เพราะรู้ว่าวันนี้เป็นวันมาฆบูชา เพราะถือว่าเป็นวันพิเศษที่ควรปลีกตัวเพื่อมาทำบุญ และมาฟังธรรม หรือว่าทำยิ่งกว่านั้นคือ ถือศีล 5 ถือศีล 8 แล้วก็ทำกรรมฐานด้วย
หลายคนย่อมรู้ว่าวันมาฆบูชาสำคัญอย่างไร มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น หลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้มาได้ 9 เดือน หรือว่าหลังจากที่พระองค์ได้แสดงปฐมเทศนา 7 เดือน มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นถึงเรียกว่าเป็นวันมาฆบูชา
หลายคนคงจำได้ตั้งแต่เรียนชั้นประถมแล้วว่า มาฆบูชาเกี่ยวโยงกับสิ่งที่เรียกว่าจาตุรงคสันนิบาตคือ การประชุมที่มีองค์ 4 หรือมีองค์ประกอบ 4 ประการเกิดขึ้นพร้อมกัน
1) เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวง 2) มีพระภิกษุ 1250 รูปมาประชุมพร้อมกันโดยไม่ได้นัดหมาย 3) ท่านเหล่านั้นล้วนแต่เป็นพระที่ได้รับการบวชจากพระพุทธเจ้าโดยตรง เรียกว่าเอหิภิกขุอุปสัมปทา และ 4) ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์
บางคนรู้เพิ่มไปอีกว่า ที่จริงมีอีกหลายรูปที่ไม่ได้มาประชุมในวันนั้น อย่างเช่น ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 แล้วก็พระยสะกับมิตรสหายบริวาร นับรวมกับปัญจวัคคีย์ด้วยก็ 60 รูป และยังมีพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร ภัททวัคคีย์ 30 รูป ก็ไม่ได้มา ซึ่งถ้ารวมกันแล้วนี้ก็มากทีเดียว แสดงถึงความเติบโตของสังฆะ เพียงแค่ไม่กี่เดือนหลังจากที่มีพระสงฆ์ ทำให้พระรัตนตรัยครบถ้วน ก็มีพระอรหันต์หรือพระอริยเจ้าถึง 1300-1400 รูปเลยทีเดียว
แต่ที่ควรรู้ยิ่งกว่านั้นว่า ธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงแสดงในวันนั้นคืออะไร หลายคนคงจะตอบว่า ก็คือโอวาทปาติโมกข์อย่างที่เพิ่งสวดไป หลายคนอาจจะจำแนกแจกแจงได้ว่า ธรรมะที่ประกอบกันเป็นโอวาทปาฎิโมกข์ได้แก่อะไรบ้าง เช่น การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ ซึ่งเป็น 3 ข้อแรกของโอวาทปาติโมกข์
แต่ถ้าเรารู้ถึงคุณค่าของธรรมที่พระองค์ทรงแสดงในวันนั้น ยังสำคัญกว่าที่พูดมาข้างต้นเสียอีก ถึงแม้เราจะลืมไปหรือไม่รู้ว่า มีจาตุรงคสันติบาตเกิดขึ้นในวันมาฆบูชา เราจะไม่รู้หรือลืมไปว่ามีพระอรหันต์ท่านใดบ้างที่ไม่ได้มาประชุมในวันนั้น หรือว่ามีท่านใดบ้างที่มาประชุมในวันนั้นบ้าง ก็ไม่เป็นไร
แต่ที่สำคัญคือว่าควรจะรู้ว่าธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงแสดงในวันนั้น มีความสำคัญอย่างไร ไม่ใช่แค่รู้ว่ามีอะไรบ้างเท่านั้น เพราะถ้ารู้ว่ามีอะไรบ้าง แต่ไม่รู้ว่าสำคัญอย่างไร ก็อาจจะไม่สนใจนำไปปฏิบัติ
ความสำคัญของโอวาทปาฎิโมกข์ บางท่านบอกว่าเป็นหัวใจของพุทธศาสนา โดยเฉพาะในส่วนที่เรียกว่าจริยธรรม
ธรรมในพุทธศาสนานี้มี 2 ส่วน ส่วนแรกคือ สัจธรรม สัจธรรมที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบแจ่มแจ้งจนตรัสรู้อันได้แก่ กฎที่เราเรียกว่าไตรลักษณ์ รวมไปถึงปฏิจจสมุปบาท นี้คือสัจธรรมความจริง อีกส่วนหนึ่งคือ จริยธรรม เป็นข้อปฏิบัติโดยอาศัยสัจธรรมหรืออิงอาศัยความจริง
ส่วนที่เรียกว่าหัวใจพุทธศาสนาฝ่ายจริยธรรม ก็อย่างที่พูดไป การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ ซึ่งบางทีเราก็เรียกสั้นๆ ว่า เว้นชั่ว ทำดี แล้วก็ทำจิต ซึ่งบางคนอาจจะนึกได้แค่สอง คือ ละชั่ว ทำดี ละยังไม่ค่อยดีเท่าไร มันต้องเว้นเลย ละแปลว่า เคยทำ แล้วก็ละ แต่เว้นคือไม่เกี่ยวข้องเลย พูดง่ายๆว่า เว้นชั่ว ทำดี แล้วก็ทำจิต
แต่จริงๆ แล้ว ความสำคัญของโอวาทปาฎิโมกข์มีมากกว่านั้นอีก จะเรียกว่าเป็นแผนที่สู่ชีวิตอันประเสริฐก็ได้ หรือจะเป็นคำสอนเพื่อชีวิตอันประเสริฐก็ได้ เพราะว่าในโอวาทปาฏิโมกข์ พระองค์แสดงให้เห็นถึงจุดหมายของชีวิตที่เราควรจะไปให้ถึง หรือคำนึงอยู่เสมอ นั่นคือนิพพาน
นิพพานคือ ความพ้นทุกข์ เพราะเห็นแจ้งในสัจธรรม อย่างที่พระพุทธองค์ตรัสในโอวาทปาฎิโมกข์ว่า “ผู้รู้ทั้งหลายกล่าวพระนิพพานว่า เป็นธรรมอันยิ่ง” อันนี้คือการกำหนดจุดหมายของชีวิต หรือที่เรียกว่าอุดมคติของชีวิต เราชาวพุทธควรจะน้อมนำเอานิพพานเป็นอุดมคติของชีวิตถ้าปรารถนาชีวิตอันประเสริฐ
พอกำหนดจุดหมายแล้ว หรืออุดมคติของชีวิตแล้ว วิธีการหรือหนทางไปสู่ชีวิตอันประเสริฐคือนิพพาน นั่นก็คือสิ่งที่พระองค์แจกแจง แล้วไม่ใช่มีแค่ 3 แต่เป็น 6 ซึ่งครอบคลุมสิ่งสำคัญ องค์ประกอบสำคัญในชีวิตของเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผู้คนที่แวดล้อม หรือว่าการเกี่ยวข้องกับสิ่งเสพ สิ่งบริโภค การรู้จักเลือกเฟ้นสถานที่
แล้วก็การเกี่ยวข้องกับกฎระเบียบ อย่างเช่น วิธีปฏิบัติต่อผู้คนที่เกี่ยวข้อง อย่างต่ำคือ ไม่พูดร้าย ไม่ทำร้าย จะเป็นใครก็ตาม ไม่ใช่เฉพาะคนที่เรารัก คนที่อยู่ใกล้ชิด แม้กระทั่งคนที่คิดไม่ดี พูดไม่ดี ทำไม่ดีกับเรา พระพุทธเจ้าก็สอน ให้พึงไม่พูดร้าย ไม่ทำร้าย ไม่ใช่เพื่อเขาแต่เพื่อเราด้วย
เพราะว่าถ้าพูดร้าย ทำร้าย ก็เท่ากับเราได้สร้างบาปกรรมขึ้นมา แล้วเราก็ต้องรับกรรมที่ทำ ไม่ว่ากรรมนั้นจะทำกับใคร ทำกับคนดีหรือคนชั่ว แต่ถ้าเป็นกรรมชั่วแล้ว เราก็ต้องรับที่เราเรียกว่าวิบาก อันนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับคนเป็นหลักการพื้นฐานเลย ไม่พูดร้ายและไม่ทำร้าย
คำสอนที่เกี่ยวกับสิ่งเสพ ก็คือว่าให้รู้จักประมาณในการบริโภค คือรู้จักความพอดี สิ่งที่เราบริโภคแม้จะเป็นไปเพื่อการยังชีวิตให้อยู่รอด หรือเพื่อสร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรงก็ตาม ถ้าไม่รู้จักประมาณก็เดือดร้อน อย่างเช่น น้ำตาล ไขมัน มันเป็นการเติมพลังให้กับร่างกายของเรา ร่างกายเราต้องการน้ำตาล ต้องการไขมัน แต่ถ้าเรากินหวานมาก กินไขมันมาก ก็จะกลายเป็นโทษกับร่างกาย เกิดโรคหัวใจ โรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดสมอง มะเร็งสารพัด
เดี๋ยวนี้พอเรามีความรู้มากขึ้น เราก็พบไปเรื่อยๆ แม้กระทั่งสิ่งที่หมอเคยบอกว่าดี แต่ถ้ากินมากไปก็กลายเป็นไม่ดี อย่างเช่น วิตามินบี เขาเพิ่งค้นพบว่า ถ้ากินมากไป มันจะทำให้เกิดความหลงลืมเพิ่มขึ้นในหมู่คนแก่
หรือว่าไขมันดีที่เขาเรียกว่าเอชดีแอล HDL แต่ก่อนเราได้รับคำบอกเล่าว่ากินมากๆ ดี ที่ควรกินน้อยคือไขมันเลวแอลดีแอล LDL แต่เดี๋ยวนี้ก็เริ่มสงสัยแล้วว่าถ้ากิน HDL เกินขีด มันก็จะกลายเป็นผลเสีย ถึงแม้จะช่วยลดไขมันในหลอดเลือด แต่มันก็ทำให้เกิดโทษอย่างอื่นได้ เกิดปัญหากับสมอง ล่าสุดวิตามินบี 3 แต่ก่อนเราคิดว่ากินเยอะๆ ดี แต่เดี๋ยวนี้พบว่าจะทำให้เกิดปัญหากับคนในวัยชราได้ ถ้ากินแบบไม่รู้จักความพอดีก็กลายเป็นโทษ
ฉะนั้นการรู้จักประมาณในการบริโภคสำคัญ ไม่ใช่เฉพาะของที่กินทางปาก รวมทั้งการเสพทางตา ทางหูด้วย บริโภคผ่านโทรศัพท์มือถือมากๆ เข้าก็แย่เหมือนกัน นอกจากนั้น การเกี่ยวข้องสถานที่ พระพุทธเจ้าก็สอนให้รู้จักนอนและนั่งในที่สงัด ที่ๆ สงัดไม่มีเสียงรบกวน ไม่ใช่แค่เสียงรบกวนอย่างเดียว บางทีก็แสงรบกวนด้วย
เดี๋ยวนี้เที่ยงคืนก็ยังไม่หลับ เพราะว่าทำโน่นทำนี่ แสงที่ต้องใช้ในการทำงานก็ทำให้การนอนกลายเป็นปัญหาขึ้นมา ในเรื่องของกฎระเบียบพระพุทธเจ้าบอกว่า ให้สำรวมในปาติโมกข์ ปาติโมกข์นี้หมายถึงกฎระเบียบ พระก็มีกฎระเบียบคือปาติโมกข์ โยมก็มีกฎระเบียบอาจจะเรียกชื่ออื่น ก็ต้องรู้จักสำรวมหรือรักษา
ชีวิตคนเราต้องเกี่ยวข้องกับ 4 อย่าง คน สถานที่ สิ่งเสพสิ่งบริโภค และกฎระเบียบ แต่อีกอันหนึ่งที่สำคัญมากคือ ใจ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสเป็นข้อสุดท้ายในโอวาทปาฏิโมกข์ว่า การประกอบหรือการทำจิตให้ยิ่ง การทำจิตให้ยิ่งหมายความว่าการรู้จักฝึกฝนอบรมจิต เพราะถ้าจิตเราไม่อบรม มันก็จะกลายเป็นโทษ หรือบางคนหนักกว่านั้น แทนที่จะอบรมกลับเสี้ยมสอน เสี้ยมสอนให้จิตคิดชั่วหรือว่ามุ่งปรนเปรอตามใจกิเลส จิตนั้นก็กลายเป็นอันตรายต่อเราได้
การทำจิตให้ยิ่งจึงเป็นสิ่งสำคัญ สำคัญตรงที่ว่า เมื่อเรารู้ว่า อะไรดี อะไรที่เป็นประโยชน์ อะไรเป็นสิ่งที่ถูกต้อง อะไรที่พึงประสงค์ เราก็ควรที่จะแสวงหาสิ่งนั้น จะแสวงหาสิ่งนั้นได้ก็ต้องอาศัยความเพียร เราก็ต้องฝึกจิตให้มีความเพียร เพื่อจะได้บรรลุถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ ชีวิตคนเรามีสิ่งที่พึงเข้าถึงเพราะเป็นสิ่งดีงาม หรือเพราะเป็นประโยชน์ ใหม่ๆ หรือเริ่มต้นก็จะเป็นประโยชน์ทางโลก
ประโยชน์ทางโลกก็อย่างเช่น การมีสุขภาพดี การมีงานที่มั่นคง การมีครอบครัวที่อบอุ่น การมีสุขภาพดี คือสิ่งที่พึงประสงค์ที่ช่วยทำให้ชีวิตมีความสุข แล้วก็เป็นปัจจัยในการพาชีวิตเข้าสู่ความสุข หรือสิ่งดีงาม หรือความประเสริฐที่ยิ่งกว่านั้น จะทำอย่างนั้นได้ก็ต้องมีความพากเพียรพยายาม
ฉะนั้นการฝึกจิตในอีกด้านหนึ่งก็คือการฝึกจิตให้มีความเพียร ให้มีกำลังในการขับเคลื่อนชีวิตให้ได้เข้าถึงสิ่งที่พึงปรารถนา เริ่มจากสิ่งที่เป็นประโยชน์ทางโลก งานการหรืออาชีพที่มั่นคง ครอบครัวที่อบอุ่น สุขภาพที่ดี หรือว่าการมีเกียรติยศ มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ
และการที่เราจะมีกำลังเพื่อบรรลุถึงสิ่งเหล่านี้ได้ ก็ต้องอาศัยคุณสมบัติทางจิต หรือเราเรียกว่าคุณธรรมหลายอย่างเช่น ความเพียรพยายาม การรู้จักอดออม การรู้จักหาข้อมูล อย่างเช่น ธรรมะสำหรับพ่อค้าวาณิช พระพุทธเจ้าท่านยังบอกเลยมี 3 ประการที่เป็นพื้นฐาน ก็คือรู้จักสินค้าที่จะไปขาย รู้จักตลาดที่จะนำเอาสินค้านั้นไปขาย แล้วก็รู้จักแหล่งเงินทุน เราก็ต้องมีสิ่งเหล่านี้ เพื่อที่จะช่วยให้เราได้บรรลุถึงสิ่งที่ประสงค์ โดยเฉพาะเป็นสิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์
แต่ว่าจะฝึกจิตเท่านั้นยังไม่พอ อีกด้านหนึ่งเราต้องฝึกจิตให้มีกำลังขับเคลื่อนชีวิต เพื่อจะได้บรรลุถึงความสำเร็จ หรือว่าบรรลุถึงสิ่งที่ต้องการ แต่ว่ามันไม่ใช่ว่าทุกอย่างที่เราปรารถนา ทุกอย่างที่เราแสวงหามันจะสำเร็จได้ แม้เราจะเพียรพยายามแล้วก็ตาม เพราะว่าโลกนี้มันไม่ได้อยู่ในอำนาจของเรา มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับความตั้งใจของเรา มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับความอยากของเรา แล้วมันก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเพียรพยายามของเราเท่านั้น
บางอย่างแม้เราจะเพียรพยายามเท่าไรมันก็ไม่สำเร็จ เพราะว่าเหตุปัจจัยไม่อำนวย ทำงานทำการทุกคนก็อยากได้ความสำเร็จ แต่ก็มักจะเจอกับความไม่สำเร็จ หรือความล้มเหลว อยากจะมีครอบครัวที่อบอุ่น อยากจะดูแลใส่ใจคนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นคนรักพ่อแม่ลูกหลาน แต่ว่าบางครั้งมันก็ไม่เป็นไปดั่งใจ เขาไม่อยากอยู่กับเรา เขาอยากมีวิถึชีวิตของเขาเอง หรือบางทีเขาก็ล้มหายตายจากไป
เราอยากจะมีสุขภาพดี เราออกกำลังกาย เราคุมอาหาร เราพักผ่อนนอนหลับพอเพียง กินอาหารสุขภาพ ไม่กินตามใจปาก เพื่ออะไร เพื่อมีสุขภาพดี เพื่อมีชีวิตยืนยาว แต่บางครั้งแม้จะพยายามถึงขนาดนั้น ก็เกิดความเจ็บความป่วยขึ้น
เพราะฉะนั้นลำพังแค่มีความเพียรพยายาม เพื่อขับเคลื่อนชีวิตให้เข้าถึงสิ่งที่ต้องการ เพื่อจะได้ประสบความสำเร็จอย่างที่หวังมันไม่พอ ยังต้องฝึกจิตให้พร้อมที่จะเผชิญกับสิ่งที่มันไม่เป็นไปดั่งใจด้วย เมื่อเจอความล้มเหลว ทำอย่างไรจึงจะยอมรับมันได้ด้วยใจที่ไม่ทุกข์
เมื่อเจอความเจ็บป่วยทำยังไงเราถึงจะยอมรับมันได้โดยไม่ซ้ำเติมให้ใจพลอยป่วยไปด้วย ไม่ใช่แค่ป่วยกาย เมื่อคนที่เรารักเขาไม่เป็นไปดั่งใจหรือว่าเขาจากเราไป ไม่ว่าจากเป็นหรือจากตาย ทำยังไงเราจึงจะไม่เป็นทุกข์ ทำความดีแล้วแต่ไม่มีคนยกย่องสรรเสริญ แถมนินทาว่าร้าย ทำอย่างไรเราจึงจะเผชิญกับมันได้ด้วยใจที่สงบ อันนี้ก็คือสิ่งที่เราต้องคำนึงอยู่เสมอ และไม่มีอะไรดีกว่าการฝึกจิตเพื่อให้พร้อมยอมรับ หรือเผชิญกับสิ่งเหล่านี้ได้
การแสวงหาสิ่งที่พึงประสงค์ สิ่งดีงามเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ทำกัน แล้วก็หวังความสำเร็จ แต่ในเมื่อสิ่งที่เราหวังมันอาจจะไม่กลายเป็นจริงก็ได้ อันนี้คือความจริงของชีวิต ความจริงของโลกที่เราปฏิเสธไม่ได้ แล้วเราจะหวังแต่ความสำเร็จอย่างเดียวไม่พอ เราจะหวังแต่การมีสุขภาพดี มีครอบครัวที่อบอุ่น มีการงานที่มั่นคงอย่างเดียวไม่พอ แม้จะเพียรพยายามอย่างเต็มที่แล้วก็ยังไม่พอ
นั่นก็คือ ต้องฝึกจิตเพื่อที่จะเผชิญกับเหตุการณ์ที่ไม่เป็นดั่งใจ ตรงนี้แหละที่การทำจิตให้ยิ่ง มันมีความหมายครอบคลุมถึงตรงนี้ด้วย แต่ส่วนใหญ่ผู้คนมักจะมองข้าม
ผู้คนมักจะคิดแต่ว่า ทำยังไงฉันจึงจะสำเร็จ ทำยังไงฉันถึงจะรวย ทำยังไงฉันจะมีสุขภาพดี ทำยังไงฉันจะมีครอบครัวที่อบอุ่น ทำยังไงคนรักจึงจะอยู่กับฉัน แต่ว่าไม่ค่อยได้คิดว่า ถ้าการงานล้มเหลว ครอบครัวไม่อบอุ่นเหนียวแน่นอย่างที่หวัง หรือเมื่อเกิดความเจ็บความป่วย เกิดความพลัดพราก เราจะเผชิญกับมันอย่างไร เราจะยอมรับมันได้ด้วยใจที่ไม่ทุกข์ได้หรือเปล่า
การฝึกจิตหรือการปฏิบัติธรรมจะต้องคำนึงถึงตรงนี้ด้วย ไม่ใช่ว่าประโยชน์ทางโลกอย่างเดียว การมีงานการที่มั่นคง การประสบความสำเร็จในการทำงาน การมีครอบครัวที่อบอุ่น การมีสุขภาพดี แม้กระทั่งการฝึกจิต เช่น อยากจะปฏิบัติธรรมเพื่อให้ใจมีความสงบ ให้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ให้มีปัญญาแจ่มแจ้งในสัจธรรม การมีจุดมุ่งหมายดังกล่าวเป็นเรื่องดี
และดียิ่งขึ้นถ้าเกิดว่าเราเพียรพยายามเพื่อจะไปถึงตรงนั้นด้วย แต่ว่าถ้ามันไปไม่ถึง หรือมันยังไม่เกิดผลอย่างที่เราต้องการ หรือถึงเกิดแล้วแต่ไม่มากพออย่างที่ต้องการ เราควรจะทำอย่างไร คนส่วนใหญ่ไม่ได้คิดตรงนี้เลย คิดแต่ว่าจะสำเร็จ สำเร็จ หรือว่าถ้าปฏิบัติธรรมก็หวังว่าจะต้องสงบให้ได้ สงบให้ได้ แต่ถ้าหากมันไม่สำเร็จ มันไม่สงบล่ะ
การฝึกใจให้ยอมรับ หรือเผชิญกับสิ่งที่ไม่เป็นไปดั่งใจ มันเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง เวลาเราเจ็บป่วย ทำอย่างไรเราจะอยู่กับความเจ็บป่วยได้ด้วยใจที่ไม่ทุกข์ ก็ต้องยอมรับมัน เวลาคนที่เรารักล้มหายตายจากไป แม้เราพยายามที่จะดูแลเขา เยียวยารักษาก็ยังเต็มที่แล้ว แต่ว่าเขาก็ต้องไป เราต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับความจริงเหล่านี้ด้วย
ปฏิบัติธรรมแล้วใจไม่สงบ มันคิดมาก มันมีความคิดเยอะเหลือเกิน ทำอย่างไร ก็ต้องยอมรับมันให้ได้ ตรงนี้ที่สติมีความสำคัญมาก เพราะถ้าเราไม่มีสติเราก็จะโวยวาย ตีโพยตีพาย คร่ำครวญเศร้าโศก สติเป็นเครื่องช่วยรักษาใจ ไม่ให้เป็นทุกข์เมื่อเจอความไม่สมหวัง
สติช่วยอย่างไร ช่วยด้วยการที่ทำให้เราเห็นความโศกความเศร้าที่เกิดขึ้น เห็นความผิดหวังที่เกิดขึ้น เห็นความโมโหโกรธาที่เกิดขึ้น เห็นความเสียใจ เมื่อเห็นแล้วจิตจะไม่ถลำเข้าไปยึด เข้าไปจมอยู่ในอารมณ์เหล่านั้น อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนใช้คำว่า เห็นอย่าเข้าไปเป็น
เห็นความทุกข์แต่ไม่เป็นผู้ทุกข์นี้ทำได้ เห็นความโกรธแต่ไม่เป็นผู้โกรธ เห็นความโศกเศร้าไม่เป็นผู้โศกเศร้านี้ทำได้ แล้วมันทำให้เราสามารถที่จะรักษาใจไม่ให้ทุกข์เมื่อเจอสิ่งที่ไม่สมหวัง เวลาตีโพยตีพายคร่ำครวญ สติจะช่วยให้เรารักษาใจให้เป็นปกติ ช่วยทำให้ใจเป็นกลางต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นกลางในที่นี้หมายความว่า ดีใจก็รู้ ไม่เพลิดเพลินกับสิ่งที่ทำให้ยินดี เวลาเจอสิ่งที่ไม่สมหวัง เจอความเสียใจก็รู้ ไม่ปล่อยใจให้จมดิ่งอยู่ในความเสียใจ
นอกจากสติแล้ว ปัญญานี้ก็ช่วยได้ ช่วยได้มากเลย เพราะถ้าเรามีความเข้าใจว่า อะไรมันก็ไม่เที่ยง เข้าใจกฎพระไตรลักษณ์ “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” รู้ว่าทุกอย่างมันไม่คงที่ไม่คงตัว และไม่สามารถจะยึดว่าเป็นเราเป็นของเรา ไม่สามารถจะยึดให้เป็นไปดั่งใจได้ เมื่อเกิดความผันผวนปรวนแปร ใจก็ไม่เป็นทุกข์ เพราะรู้อยู่แล้วว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง เห็นว่ามันเป็นธรรมดา
หรือแม้แต่ปัญญาที่เห็นว่า มีขึ้นก็มีลง มีสรรเสริญก็มีนินทา มีกับใด้ เจอกับจาก พบกับพรากเป็นของคู่กัน เพียงแค่เข้าใจความจริงที่ว่านั้น มันก็ทำให้เราเมื่อเวลาสมหวังก็ไม่ดีใจมาก เวลาผิดหวังก็ไม่เสียใจ เมื่อถึงคราวมีก็ไม่ยินดีมาก ดังนั้นเมื่อถึงคราวหมดก็ไม่เสียใจมาก
ตอนที่เจอกันก็ไม่ได้ดีใจจนหมดเนื้อหมดตัว เพราะฉะนั้นเมื่อจากกันก็ไม่ได้เศร้าเสียใจจนลืมเนื้อลืมตัว เวลาพบก็ไม่ได้ดีใจมาก เพราะฉะนั้นเวลาพรากก็ไม่ได้เสียใจมาก อันนี้มันทำให้เราสามารถที่จะเผชิญกับสิ่งที่ไม่สมหวัง ไม่เป็นไปดั่งใจได้ หรือแม้กระทั่งการที่เรามีปัญญาเห็นว่า ทุกข์ใจไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะว่าจะเศร้าโศกเสียใจยังไงก็ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น
เหมือนกับเราหงุดหงิดเวลารถติด แล้วถ้าเรามีปัญญาสักหน่อยจะพบว่า ไม่มีประโยชน์ที่จะหงุดหงิด หรือทำจิตให้ตก เพราะหงุดหงิดไปรถก็ไม่ได้เคลื่อนขยับเร็วขึ้น เวลาเจ็บป่วยโวยวายตีโพยตีพาย ก็ไม่มีประโยชน์เพราะมันไม่ได้ทำให้เราสุขภาพดีขึ้น หรือหายเจ็บหายป่วย อาจจะทำให้แย่ลงเสียด้วย
การที่เราเห็นคุณเห็นโทษ เห็นประโยชน์และไม่ใช่ประโยชน์ ของอารมณ์ทางลบที่เกิดขึ้น หรือเห็นว่าการปฏิเสธไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นโทษ มันก็ช่วยเตือนใจให้เราวางใจเป็นปกติ หรือวางใจเป็นกลาง ซึ่งจะเอาปัญญามาใช้ได้อย่างเห็นผลก็ต้องมีสติ เพราะถ้าไม่มีสติมันก็ลืมหมด ลืมที่ครูบาอาจารย์สอนว่า โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า
ลืมไปว่า การทุกข์เมื่อเจอความพลัดพรากสูญเสีย มันคือการซ้ำเติมตัวเอง การโวยวายตีโพยตีพายเวลาเจ็บไข้ ก็คือการซ้ำเติมตัวเอง ครูบาอาจารย์สอนหรือเคยอ่านเคยเรียนมาจากคัมภีร์ เรียนมาเยอะอ่านมามาก แต่เวลาเกิดขึ้นจริงก็ลืมหมด เพราะขาดสติ แต่ถ้ามีสติก็อาจทำให้เราระลึกนึกถึงคำสอนที่ช่วยทำให้เราเกิดปัญญา และมีท่าทีที่ถูกต้องต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้
เพราะฉะนั้นเวลาพูดถึงการทำจิตให้ยิ่ง นอกจากจะหมายถึงการฝึกจิตให้มีวิริยะมีความเพียร มีศรัทธาเพื่อที่จะขับเคลื่อนชีวิตให้ได้เข้าถึงสิ่งที่พึงประสงค์ สิ่งที่เป็นประโยชน์แล้ว ถ้าเรารู้จักฝึกจิตให้รู้จักยับยั้งชั่งใจ หรือรู้จักเหนี่ยวรั้ง จนยอมรับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นแม้ไม่ถูกใจ แต่ว่าใจก็ไม่ทุกข์ สามารถที่จะวางใจเป็นกลางต่อความทุกข์ ต่อความพลัดพรากสูญเสีย ต่อความเจ็บป่วย หรือที่ทางพระเรียกว่าอนิฏฐารมณ์ได้
ถึงเวลาปฏิบัติธรรมถ้าใจไม่สงบก็อยู่กับความไม่สงบได้ ซึ่งอันนี้คือสิ่งที่นักปฏิบัติธรรมจำนวนมากทำได้ยาก เพราะว่าอยากจะหวังอยากจะได้แต่ความสงบ แต่พอไม่สงบขึ้นมา มีความคิดเกิดขึ้นก็หงุดหงิด กระสับกระส่าย อันนี้เป็นเพราะว่าการปฏิบัติของเรามันปฏิบัติไม่ครบถ้วน ปฏิบัติแต่เพียงว่าจะเอาให้ได้ๆ แต่ว่าไม่ได้ปฏิบัติถึงในระดับที่ว่า เมื่อไม่ได้ เราจะรักษาใจให้สงบได้อย่างไร
เดี๋ยวนี้เขามีหนังสือพูดถึงฮาวทู (How to) มากมาย ฮาวทูประสบความสำเร็จ แต่ว่าหนังสือประเภทที่ว่าฮาวทูในยามล้มเหลวไม่ค่อยพูดถึง ฮาวทูให้ชีวิตมีแต่ไต่สู่ความสำเร็จพูดกันเยอะ แต่ไม่ได้พูดถึงเวลาไม่สำเร็จจะรักษาใจอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนใน “การทำจิตให้ยิ่ง” เราต้องรู้จักฝึกจิตให้สามารถยอมรับสิ่งที่ไม่ถูกใจ สิ่งที่ไม่เป็นไปดั่งใจให้ได้ เพราะคือสิ่งที่เราต้องเผชิญอยู่เสมอ
ทั้งหมดนี้ก็คือสาระสำคัญของโอวาทปาติโมกข์อย่างที่อาตมาได้กล่าวไว้ นั่นก็คือแผนที่สู่ชีวิตอันประเสริฐ หรือว่าเป็นคำสอนเกี่ยวกับชีวิตอันประเสริฐ
ถ้าเราอยากจะมีชีวิตที่ประเสริฐ ก็ต้องทำความเข้าใจ ธรรมทั้ง 6 ประการในโอวาทปาฎิโมกข์ โดยเฉพาะข้อสุดท้ายแล้วก็นำมาปฏิบัติในชีวิตจริง เวลาเจอสิ่งที่ถูกใจก็ไม่ได้ดีใจมาก เพราะว่าเมื่อเจอสิ่งที่ไม่ถูกใจก็จะไม่ได้เสียใจ หรือปล่อยจิตให้ตก
วันนี้เราก็จะมาเวียนเทียนหลังจากการฟังธรรม เวียนเทียนที่วันนี้ เราจะเวียนเทียนด้วยกล้าไม้จะไม่ได้เวียนเทียนด้วยดอกไม้ธูปเทียนเหมือนก่อน เพราะว่าอยากจะให้เราได้ไม่เพียงแต่ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า และพระรัตนตรัย แต่ก็ให้สำนึกในบุญคุณของต้นไม้
เพราะว่าต้นไม้นี้มีส่วนในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่พระพุทธเจ้าองค์นี้เท่านั้น แต่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ทั้งในอดีตแล้วก็ในอนาคต ต้นมะม่วง ต้นมะพร้าว ต้นมะเดื่อ ต้นประดู่ ต้นสน หรือว่าต้นกากระทิง ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เคยเป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าในอดีตทรงประทับในคืนก่อนการตรัสรู้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่พุทธเจ้าทุกพระองค์ตรัสรู้ใต้ต้นไม้ รวมทั้งพระศรีอาริย์ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตก็มีการพยากรณ์ว่า พระองค์จะตรัสรู้ใต้ต้นกากระทิง
ต้นไม้นี้มีความสำคัญมากต่อการตรัสรู้ ไม่ใช่ของพระพุทธเจ้าในอดีตเท่านั้น รวมทั้งพระอรหันต์จำนวนไม่น้อย เพราะฉะนั้นเมื่อเราระลึกถึงพระพุทธเจ้าก็ขอให้ความระลึกถึงบุญคุณของต้นไม้ด้วย
และนอกจากระลึกถึงพระคุณของต้นไม้แล้วเราก็มาร่วมกันส่งเสริมธรรม ส่งเสริมธรรมด้วยการปลูกต้นไม้ ก็นำต้นไม้ที่เรามาเวียนเทียนนี้แหละนำไปปลูก นอกจากจะเป็นสิริมงคลแก่เรา แก่บ้านของเรา แล้วก็ยังเป็นการส่งเสริมธรรมตรงที่ว่า สถานที่ที่ร่มรื่นที่พระพุทธเจ้าเรียกว่ารมณีย์ จะเอื้อต่อการบำเพ็ญเพียร ต่อการประพฤติปฏิบัติธรรม วัดในสมัยพุทธกาลเขาเรียกว่าอาราม
อารามคือร่มรื่น ร่มรื่นเพราะมีความเป็นรมณีย์หรือว่ารมณียสถาน ฉะนั้นถ้าเราช่วยกันปลูกต้นไม้กันเยอะๆ ให้เกิดความร่มรื่น นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ช่วยลดมลภาวะ ยังเป็นการส่งเสริมสุขภาพจิต แล้วก็เกื้อกูลต่อการปฏิบัติธรรม ทำให้คนมีจิตใจสงบเย็น มีเมตตาแล้วก็เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมธรรมให้แผ่ขยายกว้างไกลออกไป
นอกจากวัดนี้แล้ว ยังมีอีกหลายวัดทั้งในกรุงเทพฯ และหลายจังหวัด มีการเวียนเทียนด้วยต้นไม้ ก็อยากจะชวนกันเวียนเทียนด้วยต้นไม้อยู่เป็นประจำ แล้วก็ไม่ใช่เวียนเทียนเปล่าๆ เอาต้นไม้ที่ถือประกอบการทักษิณาวัตร นำไปปลูกในที่ของตัวด้วย เพื่อให้มีพื้นที่สีเขียวมากๆ เพื่อให้ถิ่นรมณีย์แผ่กระจายจากวัดสู่เคหสถาน สู่ชุมชนต่อไป
ขออนุโมทนาทุกท่านที่ได้มาร่วมกัน มาบำเพ็ญบุญแล้วก็ฟังธรรมเนื่องในวันมาฆบูชา ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย อำนวยอวยพรให้ทุกท่านได้เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ขอให้มีจิตมุ่งมั่นในการบรรลุถึงพระนิพพาน อันเป็นอุดมคติสูงสุดของชาวพุทธ
ขอให้พรทั้ง 4 ประการนี้ เป็นพลวปัจจัยให้ทุกท่านได้มีความเพียรในการปฏิบัติธรรม ทั้งโดยทาน ศีล และภาวนา ให้มีสติรักษาใจ ให้มีปัญญานำพาชีวิตให้ก้าวข้ามผ่านทุกข์ ให้เข้าถึงความสุขเกษมสานต์ มีพระนิพพานเป็นที่หมายด้วยกันทุกคนเทอญ.