แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มีวิธีหลายอย่างที่ทำให้ชีวิตของเรา เข้าถึงภาวะที่เป็นสุขที่ชื่นบานได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง หรือไปข้องแวะกับสิ่งร้อนแรง หรือว่าสัมผัสร้อนแรงเหล่านั้น การมาอยู่กับธรรมชาติ ก็เป็นปัจจัยเบื้องต้น ในการที่จะทำให้เรา ได้ประสบสัมผัสกับภาวะเช่นนั้นได้ การที่คณะทำงานอาสามาเลือกที่จะมาอยู่ มาสัมผัสในสถานที่หรือในอารามที่เป็นป่า ที่เป็นธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นที่นี่ก็ดี หรือว่าที่สวนโมกข์ก็ดี ดังที่เคยจัดมาแต่ครั้งก่อนๆ ก็คงจะมีความหมายอยู่ในตัวว่า ในเบื้องต้นเนี่ย ธรรมชาติที่เป็นป่าเขา ที่เป็นสิ่งดั้งเดิมของมันเองเนี่ย จะช่วยทำให้เราเนี่ยได้กลับเข้ามาแสวงหา ได้กลับเข้ามารู้จักตัวเราเอง ได้กลับเข้ามาประสบสัมผัสกับภาวะที่สงบเย็น เช่นเดียวกับที่ธรรมชาติเป็น เช่นเดียวกับที่ธรรมชาติได้มีอยู่ อันนี้เป็นเบื้องต้น ดังที่พวกเราเมื่อมาในช่วง 2 วันและ 2 คืนนี้ บางคนก็คงจะรู้สึกว่าธรรมชาตินั้นเนี่ยได้ให้อะไรแก่เราหลายอย่าง โดยเฉพาะให้ความสงบเย็น ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติที่เป็นภูเขา ป่าไม้ ลำธาร แสงเงินแสงทอง แล้วก็สายหมอกที่อ้อยอิ่งอยู่เหนือน้ำ สิ่งนี้เนี่ยช่วยทำให้เราได้มีจิตใจที่สงบ เยือกเย็น แล้วก็เป็นสุขมากขึ้น
ธรรมชาติโดยตัวมันเอง มันก็เอื้อให้เราเกิดความรู้สึกเช่นนี้อยู่แล้ว แต่เมื่อเรามาที่นี่เนี่ย เราก็คงจะรู้สึกอีกเช่นกันว่า ความสงบ ความเย็นเหล่านี้เนี่ย มันเกิดขึ้นแก่เราเฉพาะตอนกลางวัน แต่ถ้าเป็นตอนกลางคืน โดยเฉพาะต้องอยู่ในป่า อยู่ในกุฏิคนเดียว ความรู้สึกก็แปรเปลี่ยนไป ความสงบก็กลายเป็นความเสียวสยองขึ้นมา ความวิเวกก็กลายเป็นความวังเวงน่ากลัวขึ้นมา อันนี้ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่สอนเราได้เหมือนกันว่า จริงๆแล้วเนี่ย ความรู้สึกต่างๆ ซึ่งในกรณีนี้คือเป็นทุกขเวทนาเนี่ย หรือเป็นความปรุงแต่งที่ทำให้เราเกิดความเศร้าหมองในจิตใจขึ้นมา เพราะความกลัวก็ดี ความเสียวสยองก็ดีเนี่ย จริงๆ แล้วถ้าพิจารณาดีๆ มันไม่ใช่เกิดจากตัวธรรมชาติ แต่มันเกิดจากจิตของเรานั้นปรุงแต่ง เพราะเมื่อวานนี้ เนี่ยเราไปดูธรรมชาติ เราก็ไม่เห็นอะไร ไปเที่ยวในป่าเราก็ไม่เห็นอะไร ไม่มีสิงสาราสัตว์ที่น่ากลัว เราก็ไม่ได้เจองูสักตัว แต่ว่าพอถึงตอนกลางคืน เราจะรู้สึกว่ามันมีทุกสิ่งทุกอย่างที่เรากลัวประดังประเดเข้ามา อยู่ในป่า อยู่รอบๆ กุฏิเรา สิ่งที่เรากลัว มันจะมาเยือนเราในตอนนั้น อันนี้เป็นเพราะว่าจิตของเรานั่นเอง แต่ตัวธรรมชาตินั้นเนี่ย ก็ไม่มีอะไร
เราได้ประจักษ์อยู่แล้วเมื่อตอนกลางวัน เมื่อวานนี้ ว่าจริงๆ มันไม่มีอะไร มันก็มีแต่สีเขียวสด แล้วก็ให้ความสงบร่มเย็นแก่เรา ถ้าเราสัมผัสกับภาวะของธรรมชาติ ในสภาพแบบนี้เนี่ย เราก็จะรู้สึกสงบ เราก็จะรู้สึกผ่องใส รู้สึกเบาสบาย อันนี้ก็เป็นหรรษาอย่างแรกที่เราน่าจะได้จากการมาที่นี่ คือการได้ประสบสัมผัสกับธรรมชาติ แต่เท่านั้นก็คงจะยังไม่พอ ธรรมชาติที่เราเห็นเป็นรูปธรรม เป็นต้นไม้ เป็นป่าเขา เป็นแสงเงินแสงทอง ซึ่งสัมผัสได้โดยอายตนทั้งห้า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เหล่านี้เนี่ย ยังเป็นธรรมชาติเบื้องต้น มันยังมีสิ่งที่ลึกไปกว่านั้น ที่เราจะสามารถประสบสัมผัสได้ อันนั้นก็คือตัวกฎธรรมชาติ เราพยายามมองลึกไปจากภาวะที่เป็นรูปธรรม มองให้เห็นถึงนามธรรม คือตัวกฎธรรมชาติ
เราก็จะได้เห็นหลายอย่าง ซึ่งเป็นคุณประโยชน์แก่ชีวิตของเรา ยกตัวอย่างเช่น เราไปเที่ยวในป่า เราก็คงจะเห็นความสัมพันธ์ระหว่าง น้ำ ดิน และก็อากาศ นี่เป็นความสัมพันธ์อย่างแรก เป็นกฎธรรมชาติที่เราจะได้แลเห็น ว่ามันต้องพึ่งพาอาศัยกันอย่างมาก และมันเกี่ยวข้องกันเป็นเหตุปัจจัยกันเป็นลูกโซ่ เป็นห่วงโซ่ ซึ่งไม่สามารถจะมองข้ามได้ ยกตัวอย่างเช่น ดินเนี่ยมันจะเจริญ จะอุดมสมบูรณ์ได้เนี่ยต้องอาศัยน้ำอาศัยความชุ่มชื้น จนกระทั่งทำให้เกิดมีต้นไม้ขึ้นมา และเมื่อมีต้นไม้เกิดขึ้น ก็ก่อให้เกิดปุ๋ยจากใบไม้ หรือจากแร่ธาตุต่างๆ ที่รากดูดซึมมาจากดินส่วนล่างขึ้นมา ก็ทำให้หน้าดินนั้นมีความอุดมสมบูรณ์ เมื่อดินมีความอุดมสมบูรณ์แล้วก็ช่วยเป็นการซับน้ำ ช่วยรักษาน้ำอนุรักษ์ไปในตัว ดินเนี่ยเกิดจากความหล่อเลี้ยงของน้ำและน้ำในที่สุดก็ได้รับการหล่อเลี้ยงจากดิน แล้วทั้งหมดนี้ก็มีผลโยงไปถึงอากาศ เพราะว่าถ้ามีน้ำสมบูรณ์ มีดินดี จนกระทั่งทำให้เกิดป่าเขียวชอุ่มขึ้นมา ก็ช่วยทำให้มีฝนตก หรือทำให้อากาศนั้นมีความชื้นพอสมควร ไม่แห้งเกินไป ไม่ชื้นจนเกินไป แล้วปัจจุบันนี้เราก็เห็นได้ว่าอากาศที่เสียหรือว่าชั้นบรรยากาศที่กำลังจะถูกทำลายไปนั้นเนี่ยมีผลจากป่ามาก คือการที่ป่าถูกทำลาย เวลานี้ก็กำลังเป็นที่ห่วงกังวลกันอยู่ว่า ในเมื่อป่าถูกทำลายไปแล้วเนี่ย มันก็มีผลทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในโลก มีมากขึ้นเรื่อยๆ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหล่านี้มันเกิดขึ้นมาจากโรงงานอุตสาหกรรม จากรถยนต์ เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้วมันก็ลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศแล้วก็ปกคลุมโลก คล้ายๆ เป็นเรือนกระจก ความร้อนซึ่งมาจากดวงอาทิตย์ เวลาแสงแดดมันผ่านกลุ่มแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์มายังโลกได้ เสร็จแล้วพอกลายเป็นความร้อนกระทบกลับไปยังชั้นบรรยากาศ ปรากฏว่า ความร้อนนั้น ไม่สามารถจะออกไป ไม่สามารถทะลุจากชั้นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และชั้นก๊าซอื่นๆ ซึ่งมันเป็นตัวเก็บกักความร้อน เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ทำให้โลกเนี่ยร้อนขึ้นๆๆเมื่อเป็นเช่นนั้นก็ทำให้ชั้นบรรยากาศแปรปรวนมากขึ้น ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ผิดเวลาบ้าง หรือทำให้เกิดน้ำท่วมมากขึ้น เพราะว่าความร้อนจากชั้นบรรยากาศ อันนี้มันก็เป็นตัวชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างดิน น้ำ และอากาศ ความเป็นปกติสุขเหล่านี้เนี่ย มันจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะความสัมพันธ์กันที่เกื้อกูลกัน
คราวนี้ถ้าเรารู้เหตุปัจจัยเหล่านี้เนี่ย รู้กฏธรรมชาติความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันเหล่านี้เนี่ย เราก็จะสามารถเอากฎเหล่านี้เนี่ยมาใช้ประยุกต์ใช้ เพื่อทำให้เรามีความสุขในชีวิต เกิดความหรรษาชื่นบานในชีวิตได้ เช่น ก็ทำให้เรารู้จักสงวนรักษาธรรมชาติไว้ รู้จักสงวนรักษาหน้าดินไว้ รักษาป่าเขา ไม่มีการทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากในชั้นบรรยากาศ หรือว่าไม่ใช้สิ่งต่างๆ ซึ่งมันอาจจะทำให้บรรยากาศเสียไป
ถ้าเรารู้จักใช้กฎธรรมชาติเหล่านี้เนี่ย ชีวิตเราก็มีความสุข ไม่เฉพาะชีวิตเราเท่านั้นที่มีความสุข คนอื่นด้วย สังคมแวดล้อม หรือว่าคนทั้งประเทศหรือคนทั้งโลกก็จะมีความสุข เพราะว่าระบบนิเวศวิทยานั้นเป็นปกติสุข ซึ่งเรารู้จักทำให้เกิดปกติสุขได้ เพราะว่าเราอาศัยกฎธรรมชาติ เราเข้าใจกฎธรรมชาตินั่นเอง อันนี้เราก็จะเห็นได้ว่า ความหรรษาชื่นบานของคนเรานั้นเนี่ยยังสามารถเกิดขึ้นได้ ไม่เฉพาะเกิดจากการสัมผัสธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นมาจากการที่เรามีสติปัญญา จนกระทั่งเข้าใจ ล่วงรู้ถึงกฎธรรมชาติ เช่นกฎที่ว่าด้วยความเกี่ยวเนื่องเป็นเหตุเป็นปัจจัยกัน ของดิน น้ำ อากาศ รวมทั้งความเป็นเหตุเป็นปัจจัยกันของสัตว์ ต้นไม้ แบคทีเรีย แล้วก็หนอนในดิน อันนี้ก็เป็นสิ่งซึ่งเราจะสามารถเรียนรู้ได้ แบบเมื่อวานนี้ก็ได้เคยชี้ให้เห็นว่า ต้นไม้ต้นหนึ่งเนี่ย มันก็มีสิ่งมีชีวิตอยู่อาศัยไม่น้อย เป็นสิบๆ ชนิด ไม่ว่าจะเป็นแมลงหรือว่าเป็นเชื้อรา หรือแม้กระทั่งเป็นสัตว์ใหญ่ เช่น นก หรือว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น หนู หรือว่าเก้ง กวาง เหล่านั้นเนี่ย มันอาศัยพึ่งพิงกับต้นไม้ชนิดหนึ่งชนิดหนึ่งอยู่ ต้นไม้ชนิดหนึ่งเนี่ยก็มีสิ่งมีชีวิตเกือบ 30 ชนิดเนี่ยพึ่งพิงอาศัยอยู่ ถ้าเรารู้กฎธรรมชาติเช่นนี้เนี่ยเราก็เอามาประยุกต์ใช้ ทำให้ชีวิตของเรามีความสุขได้ เพราะว่าชีวิตของเราก็ขึ้นอยู่กับสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตเหล่านี้เหมือนกัน
นี่คือความเข้าใจ หรือว่าประโยชน์สุขที่เราได้จากการเข้าใจกฎธรรมชาติ การที่เรารู้จักแต่ธรรมชาติอย่างเดียวไม่พอ การที่เราประสบสัมผัสกับทะเล ภูเขา แม่น้ำ มันให้ความสุขกับเรายังไม่พอ เรายังอาศัยความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎธรรมชาติเหล่านั้นมาใช้ได้ แต่กฎธรรมชาติเหล่านี้เนี่ย ยังเป็นกฎธรรมชาติในส่วนทางวัตถุอยู่ ยังเป็นส่วนทางวัตถุที่ให้ความสุขแก่เราในทางความเป็นอยู่ ในทางกายภาพ เรายังมีความสุขอีกแบบหนึ่ง คือความสุขทางใจ หรือความหรรษาทางใจ ซึ่งเกิดเนื่องจากความรู้ความเข้าใจกฏธรรมชาติฝ่ายนามธรรม หรือความรู้ความเข้าใจในส่วนที่เป็นเรื่องของชีวิต
เมื่อกี้ที่เราสวดมาเนี่ยสวดทำวัตรเช้า จริงๆ แล้วอันนั้นเรากำลังสาธยาย ว่าด้วยกฎความเป็นจริงของชีวิตทั้งชีวิต เช่น ชาติปิทุกขา ชราปิทุกขา มรณาปิทุกขา ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ ความคับแค้นใจ ความไม่สบายใจเหล่านี้ก็เป็นทุกข์ จริงๆ แล้วเนี่ยถือว่า ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์ ความประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นนั่นก็เป็นทุกข์ อันนี้คือตัวกฎธรรมชาติ ซึ่งประสบแก่เราในชีวิตประจำวัน
จริงๆ แล้วหมอดูเวลาเขาจะทำนายอะไร เขาก็อาศัยกฎนี้แหละมาทำนายเรา มีหลวงพ่อรูปหนึ่งท่านก็เป็นพระ ความจริงท่านก็ไม่ได้มีความรู้เชี่ยวชาญในเรื่องของหมอดูหรอก แต่ว่าเป็นที่ขึ้นชื่อลือชาในหมู่ชาวบ้านรอบๆ ข้างว่า ท่านเก่งในเรื่องการดูหมอ ท่านบอกว่า จริงๆ ท่านก็ไม่ได้เก่งเรื่องอะไรหรอกท่านอาศัยอาศัยคำสอนของพระพุทธเจ้าจากคำทำวัตรเช้านี่แหละว่าคนเราเนี่ยมีความทุกข์เพราะเหตุใด ก็มีความทุกข์เพราะ 2-3 อย่างเท่านั้นเอง คือ ประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก พลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ และคนที่มาหาหมอดูเนี่ยก็มักเป็นผู้ที่มีทุกข์มาก่อน ก็เลยมาหา และทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้นเนี่ยมันก็แน่นอนว่าเกิดจากเหตุ 3 ประการนี้ทั้งนั้น ไม่เป็นอื่นไปได้ เพราะฉะนั้นเวลาท่านเดา เวลาเข้ามาหาท่าน ท่านก็บอกว่า ว่าไงเป็นทุกข์เรื่องอะไรหรอ เจอสิ่งที่ไม่สบายใจใช่ไหม ท่านก็ถามว่าอย่างนี้ ก็ถูกอยู่แล้ว เพราะคนที่เข้ามาหาหมอดูก็ต้องเป็นทุกข์ และเป็นทุกข์ก็ต้องเป็นทุกข์เพราะ 3 อย่างนี้ อันนี้คือกฎธรรมชาติ ซึ่งถ้าเรารู้แล้วเนี่ย เราก็จะสามารถที่จะนำมาใช้ ทำให้ชีวิตนี่เป็นสุขได้
คนก็สงสัยว่า เอ๊ะ! จะเป็นสุขได้ไง เพราะว่าเรื่องที่พูดมาเมื่อกี้เหมือนเรื่องของทุกข์ทั้งนั้นเลย จนกระทั่งเข้าใจว่า พระพุทธเจ้านั้นสอนแต่เรื่องทุกข์ บทสวดมนต์เมื่อเช้านี้เนี่ยมีแต่เรื่องทุกข์ทั้งนั้น เกิดก็เป็นทุกข์ แก่ก็เป็นทุกข์ ตายก็เป็นทุกข์ มีแต่คำว่าทุกข์ทุกข์ เต็มไปหมด แล้วมันจะทำให้เราเกิดความสุขได้อย่างไร อันนี้ก็ต้องเข้าใจว่า ความทุกข์เหล่านั้นเนี่ยที่ได้พูด ได้สอน ได้กล่าวในคำสอนพระพุทธเจ้านั้นเนี่ยเป็นการพูดเบื้องต้นเท่านั้นเอง คือการชี้ให้เห็นถึงความเป็นจริงของชีวิตในส่วนแรกก่อน ในส่วนซึ่งทุกคนต้องประสบ
พระพุทธเจ้าจะไม่สอนในสิ่งซึ่งทุกคนไม่เคยประสบมาก่อน แต่จะพูดเบื้องต้น ในเรื่องสิ่งที่ทุกคนได้ประสบมา อันนั้นก็คือความทุกข์ ทุกข์เป็นสิ่งที่กำหนดรู้ ที่หลวงพ่อท่านได้พูดไว้เมื่อวานนี้ ทุกข์เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ควรจะเอา เมื่อเราเกิดทุกข์ขึ้นมาเราควรกำหนดรู้ว่ามันคืออะไร มันเป็นอย่างไร ต้องกำหนดรู้ แต่เวลานี้เราส่วนใหญ่เมื่อเกิดความทุกข์ขึ้นมา เราก็หมายเอา หมายเป็น ว่านี่เป็นของเรา ว่านี่เป็นตัวของเรา เมื่อมีมีดบาดมือ บาดนิ้ว เราก็จะรู้สึกว่าเราเจ็บ แทนที่จะรู้สึกว่ามันบาดนิ้ว เราก็รู้สึกว่ามันบาดตัวเรา เราไม่ได้นึกไปว่ามันบาดนิ้ว ไม่ได้นึกว่ามันบาดเนื้อของเรา แต่มันบาดตัวเรา หรือมันบาดมือของเรา มันบาดนิ้วของเรา มันจะมีคำว่าของเรา ตัวเราอยู่เสมอ คือหมายยึด หมายเอา หมายเป็นว่าทุกข์นี้เป็นของเรา เป็นตัวเป็นตนของเรา แต่ไม่ได้กำหนดรู้ว่าทุกข์มันเกิดขึ้นแล้ว ถ้ากำหนดรู้เท่านั้นเนี่ย เราก็จะมีโอกาสที่จะแสวงหา พิจารณาต่อไปว่าความทุกข์มันเกิดขึ้นมาจากอะไร
ก็คือเรื่องของสมุทัย ซึ่งอันนี้ก็เป็นเรื่องที่ได้สอนไว้ ได้กล่าวไว้ ในคำทำวัตรเช้าเมื่อกี้นี้ แล้วก็แสวงหาความทุกข์ หาเหตุแห่งทุกข์ แล้วก็สามารถแก้ไขได้ ความสุขความชื่นบานของชีวิตมันจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะตรงนี้แหละ คือเราเข้าใจธรรมชาติในส่วนที่ว่าด้วยการเกิดทุกข์และการดับทุกข์ และทุกข์ส่วนใหญ่ของเรา หรือว่าทุกข์เกือบทั้งหมดของเราเนี่ย เกิดขึ้นเนี่ยเป็นเพราะว่าตัวเราเป็นเหตุปัจจัยสำคัญมาก พูดง่ายๆ ก็คือว่า ตัวความคิดของเรานี่แหละ การปรุงแต่งของเรานี่ทำให้เกิดความทุกข์ เราปรุงแต่งในเรื่องของอดีต เราปรุงแต่งในเรื่องของปัจจุบัน เราเอาความทุกข์ในอดีตมาคิด เราเอาความกังวล อุปสรรคที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมาคิด คิดต่างๆ นานา ก็เลยทำให้เกิดความทุกข์ขึ้น เมื่อมีสิ่งซึ่งไม่เป็นที่น่าพอใจมากระทบกับเรา แทนที่เราจะนึก จะมองว่าสิ่งนั้นเนี่ยเป็นสิ่งที่มาฝึกเรา มาทำให้เราเข้มแข็ง เรากลับนึกโทษตัวเราเองว่าทำไมเราถึงซวยแบบนี้ ทำไมถึงต้องมาเจอเรื่องแบบนี้ ทำไมถึงต้องมาตกร่อง หลงกล มาคณะธรรมหรรษาแบบนี้ ไปเที่ยวที่อื่นก็ได้ ทำไมต้องมาหลงเชื่อเขา ทำไมต้องมาเจอกับความยากลำบาก เจอฝน เจอแดด อะไรต่างๆ นี่คิดไปอย่างนั้น แต่ถ้าเรามองหรือคิดไปอีกแบบนึงว่า นี่เป็นการฝึกให้เราได้มาอยู่กับความยากลำบาก หรือได้มีโอกาสมาเผชิญ ได้เจอกับกัลยาณมิตรต่างๆ การได้มาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ชวนให้เราฝึกตนให้เข้มแข็งขึ้น
ถ้ามองแบบนี้เนี่ยเราก็จะมีความสุข แต่ถ้ามองในทางตรงกันข้ามแบบที่พูดเมื่อกี้นี้ก็เป็นความทุกข์ อันนี้ก็เห็นได้ว่าเนี่ยมันทุกข์มันเกิดขึ้นจากตัวเองแท้ๆ หรือเวลาเราอยู่ในป่าในกุฏิคนเดียว เมื่อวานนี้ก็ดีหรือเมื่อวานซืนก็ดี เราจะเห็นได้ชัดเจนว่าไอ้ตัวทุกข์เนี่ยมันเกิดขึ้นเพราะตัวเราเป็นตัวที่สำคัญ ข้างนอกไม่มีอะไร แต่ข้างในเนี่ยเรามีสิ่งซึ่งกลัว แล้วสิ่งที่เรากลัวมันก็ปรุงแต่งว่าให้เห็นเป็นจริงเป็นจังว่าข้างนอกมันมีสิ่งนั้นจริงๆ หรือว่าข้างในมันอาจจะมีสิ่งที่ไม่น่าดู ไม่น่าชมเกิดขึ้น คือความคิดของเรานั่นเองเป็นตัวหลอกหลอนให้เรากลัวให้เรากลัวโน่นกลัวนี่ แต่ถ้าเราลองสังเกตดูนะว่า ถ้าเกิดมีบางช่วงซึ่งเราคิดไปถึงเรื่องอื่น คิดไปถึงบ้าน คิดไปถึงสิ่งที่เราพอใจ คิดไปถึงคนที่เรารัก คนที่เราพอใจ ชั่วขณะนั้นเนี่ยความกลัวมันหายไปเลย ความกลัวมันหายไป แต่พอเราเลิกคิดความกลัวก็กลับเข้ามาใหม่ อันนี้ก็เห็นได้ชัดว่าจริงๆ แล้วมันอยู่ที่ตัวเรา อยู่ที่จิตใจของเรา ถ้าเราคิดไปในทางที่ไม่ทำให้เรากลัว มันก็ไม่กลัว ถ้าเราไม่คิดถึงสิ่งซึ่งน่ากลัวเราก็ไม่กลัว แต่เมื่อไรที่เราคิดถึงสิ่งซึ่งเรากลัวอยู่แล้วหรือสิ่งซึ่งน่ากลัวเนี่ย ความกลัวก็เกิดขึ้นมาทันที อันนี้มันอยู่ที่ตัวเราแท้ๆ ขอให้เราพิจารณาตรงนี้ให้ดีให้ชัดเจน
เมื่อพิจารณาตรงนี้แล้ว เราก็จะรู้กฎธรรมชาติข้อหนึ่งว่า จริงๆ แล้วเนี่ยตัวเรานี่แหละเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดทุกข์อย่างมาก ตัวอุปาทาน ตัวปรุงแต่งในตัวเรา นี่คือกฎธรรมชาติสำคัญข้อหนึ่งที่ขอให้ได้ตระหนักเอาไว้ ถ้าเรารู้แค่นี้แล้วเนี่ยมันจะช่วยเราได้มาก จะช่วยทำให้เราเริ่มคลำทางสู่วิถีทางดับทุกข์ที่ถูกต้อง ถ้าเราไม่ตระหนักอันนี้เนี่ย เรานึกกลัวไปสิ่งต่างๆ นานา แล้วไปนึกโทษสิ่งแวดล้อมเนี่ย เราก็จะไม่ได้เข้าใจอะไรมากนัก แต่ถ้าเราเริ่มประสบ สัมผัส และพบเห็นว่า ไอ้ตัวเรานี้เองเป็นตัวปรุงแต่ง ทำให้เราเกิดความกลัวขึ้น รวมทั้งทำให้เกิดความทุกข์ส่วนอื่นๆ ขึ้น ความเหงา ความเซ็ง ความท้อแท้ ความผิดหวัง ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ มันเกิดขึ้นจากตัวเราเป็นสำคัญ คนอื่นสิ่งอื่นภายนอกเป็นเหตุปัจจัยส่วนรองมาเท่านั้นเอง เมื่อเรารู้แค่นี้ เราก็จะเริ่มคลำทาง เริ่มแก้ที่ตัวเราเป็นเบื้องต้น แสวงหาหนทางว่าทำยังไงเราถึงจะเอาชนะ หรือควบคุมความคิดของเราได้
ความคิดของเราเนี่ยเวลานี้มันปรุงแต่งจนกระทั่งเราไม่สามารถจะควบคุมได้ มันไปโน่นมันไปนี่จนกระทั่งนอนไม่หลับ จะห้ามมันก็ห้ามไม่ได้ จะหยุดมันก็หยุดไม่ได้ แต่ถ้าเราเริ่มรู้จัก เราก็เริ่มพยายามที่จะหาทางหยุดมัน แต่การหยุดมันเนี่ย ถ้าหยุดไม่ถูกต้อง มันก็เป็นความทุกข์ เช่น เวลามีความทุกข์เกิดขึ้น จิตปรุงแต่งเราพยายามห้ามห้ามจิตไม่ให้คิด พยายามเบรกมันไว้ กดมันไว้ ถ้าทำเช่นนี้เนี่ย ชีวิตก็มีแต่ความทุกข์ มีแต่ความเครียด คนที่มาปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อเทียน หรือมาปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อคำเขียน บางทีไม่เข้าใจตรงนี้ ไปนึกว่าไปห้ามความคิด ไปหยุดความคิดเอาไว้ คิดเมื่อไรก็พยายามเบรกมัน พยายามหยุดมัน พยายามกดมัน ก็เกิดเป็นความทุกข์ขึ้น เครียด หายใจไม่ค่อยถนัด แล้วก็ปวดหัวขึ้นมาหรือบางทีหายใจไม่เป็นไม่เป็นจังหวะ หรือบางทีก็เจ็บแขน เจ็บโน่นเจ็บนี่ มีอาการต่างๆ กัน บางทียกมือแล้วปรากฏว่าเอามือลงไม่ได้ เกิดนิมิตขึ้นมา เพราะไม่เข้าใจตรงนี้ แต่ถ้าเรารู้วิธีในการในการจัดการกับความคิด คือ ใช้ตัวสติเนี่ยเข้ามากำหนดรู้ เข้ามารู้ตัวความคิด ความคิดนั้นมันก็จะสลายมันก็จะละลายไปเอง เป็นธรรมชาติของมันเอง แต่ถ้าเราพยายามไปห้าม ไปกด ไปทุบมันอันนี้เราเองจะเป็นทุกข์ นี่เป็นนี่เป็นความรู้อีกข้อหนึ่งหรือเรียกว่าเป็นกฎธรรมชาติอีกข้อหนึ่ง ซึ่งจำเป็นสำหรับการปฏิบัติธรรม จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิต และสิ่งนี้เนี่ยสามารถที่จะเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เอาไปใช้กับงานกับการได้
ธรรมหรรษา หรือความรู้ความเข้าใจในเรื่องของธรรมชาติ หรือเรื่องการปฏิบัติธรรม มันไม่ใช่เป็นเรื่องของความหรรษาที่เกิดขึ้นเฉพาะเวลาอยู่ในวัด หรือเฉพาะเวลาอยู่ในลานจงกรม หรือเฉพาะเวลาอยู่บนอาสนะสำหรับการทำสมาธิ หรือการสร้างจังหวะเท่านั้น แม้กระทั่งอยู่ในที่ทำงาน แม้กระทั่งอยู่บนรถเมล์ อยู่ในเมือง อยู่ในบ้าน หรือว่าอยู่หน้าเครื่องคำนวณ อยู่หน้าโต๊ะพิมพ์ดีด เราก็สามารถที่จะมีความหรรษา ความชื่นบาน ความอาจหาญร่าเริงในธรรมะได้เหมือนกัน ไม่พึงที่จะเข้าใจไปว่าความสุขความชื่นบานนั้นเกิดขึ้นได้เฉพาะเวลามาปฏิบัติธรรมหรือเวลาเกี่ยวข้องกับธรรมะเท่านั้น
ธรรมหรรษา ธรรมเนี่ยมันมี 2 อย่าง ธ-รร-ม คือ ธรรมะ แล้วก็ ท สระ-อำ ทำยังไงเราถึงจะเปลี่ยนหรือทำให้ธรรมหรรษานั้นกลายเป็น ทำ แล้วหรรษาขึ้นมา ทำงานแล้วเกิดมีความหรรษาขึ้นมา ไม่ใช่ว่าปฏิบัติธรรมแล้วหรรษานะ แต่ว่าพอทำงานแล้วไม่หรรษา อันนี้ก็แสดงว่าปฏิบัติธรรมยังไม่ถูกต้อง ยังคลาดเคลื่อนอยู่เราต้องขยายจากการปฏิบัติธรรมแล้วหรรษาเนี่ยให้เป็นทำงานแล้วเกิดหรรษาขึ้นมาให้ได้ ซึ่งอันนี้เนี่ยเป็นเรื่องจำเป็น วันนี้เราก็จะกลับบ้านจะกลับไปสู่ที่ทำงาน กลับไปเจอกับเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างานคนใหม่ อาจจะเป็นคนที่ 5 ที่เราจะต้องเจอในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมา หรือว่าต้องไปเจอกับเพื่อนอีกต่างๆ มากมาย
ทำยังไงจะทำให้ความหรรษาที่เราได้จากที่นี่เนี่ยมันขยายไปสู่ที่ทำงานได้ ทำงานแล้วมันมีความหรรษาขึ้นมา อันนี้เป็นเรื่องซึ่งท้าทาย ที่ต้องอาศัยศิลปะมาก นี่คือเรื่องศิลปะแล้วล่ะ ถ้าเราทำงาน ทำงานโดยที่ไม่รู้จักศิลปะ ทำงานไปอย่างซื่อๆ ไปทำงานไปอย่างแกนๆ มันก็ไม่มีความสุข ไม่มีความชื่นบาน ถ้าเราทำงานแล้วเราคิดปรุงแต่งว่าทำอย่างไรเราถึงจะเก่งกว่าเขา ทำอย่างไรเราถึงจะเหนือกว่าเขา อันนี้ก็เรียกว่าเป็นการทำงานอย่างไม่มีศิลปะ การทำงานอย่างมีศิลปะเป็นเรื่องซึ่งอาศัยความจัดเจน ความเข้าใจเกี่ยวกับจิตใจอยู่พอสมควร
ก็เคยมีคนนึงเนี่ยหมออุดมศิลป์ ศรีแสงนาม พวกเราคงรู้จักกันดี ก็เคยเคยเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนเมื่อ 10 กว่าปีก่อนเนี่ย แกเป็นคนซึ่งมีความทะเยอทะยาน อยากจะไต่เต้าเอาดีในเรื่องของการทำธุรกิจ แล้วก็มีความเครียดมากเพราะว่าต้องชิงดีชิงเด่น ต้องทำงานหนัก จนกระทั้งป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหารเป็นโรคหัวใจ วันหนึ่งเนี่ยก็ลงมาลงมาข้างล่าง ก็ไปเจอกับแขกซึ่งเป็นจราจรในบริษัทฯ ของหมออุดมศิลป์ คือ หมออุดมศิลป์ ทำธุรกิจด้วย มีแขกคนนึงเนี่ยแกเป็นคนซึ่งอยู่ทำงานเป็นจราจรให้กับบริษัท เพราะว่ามีรถลูกค้าเนี่ยมาจอดเยอะมาก แล้วแขกคนนั้นก็มีความสุขมาก เวลาโบกไม้ ชี้ไม้ชี้มือให้รถเข้า รถออก เวลาเป่านกหวีดนี่แกมีความสุข แล้วแกก็ทำอย่างงี้มาเป็นสิบๆ ปีแล้ว หมออุดมศิลป์ก็เลยถามว่า เอ๊ะ!บังทำไมถึงมีความสุขได้เนี่ย ทั้งๆ ที่เงินเดือนก็ไม่มากเท่าไหร่ แล้วก็ตำแหน่งก็เป็นตำแหน่งเรียกว่าเป็นกรรมกรจับกัง บังแกก็บอกว่าเนี่ยผมเป็นจราจรเนี่ยมันมีความสุขใจ เพราะว่าไม่ว่ารถเบนซ์หรือว่า รถฮอนด้าซีวิคอะไรต่างๆหรือว่า รถคันใหญ่คันโตไม่ว่าจะมาจากไหนเนี่ยเขาก็ต้องมาเชื่อผม ผมชี้ไปทางนั้นเขาก็ต้องไปทางนั้น ผมชี้ซ้ายเขาก็ต้องไปทางซ้าย ผมชี้ขวาเขาก็ต้องไปทางขวา ไม่ว่าจะใหญ่มาจากไหนเขาก็ต้องมาฟังผมหมด อันนี้เป็นการคิดเป็นความรู้สึกที่ทำให้แกมีความสุขเพราะว่าทำให้รู้สึกว่าทำให้ชีวิตแกมีความหมายแล้วก็รู้สึกว่างานที่แกทำมีความหมายสำหรับแกด้วย นี่คือการตั้งจิต คือการมีศิลปะในการมองงาน ทั้งๆ ที่เป็นงานที่จิ๊บจ๊อยที่เราดูแล้วไม่มีความสำคัญเลย แต่แกมีท่าทีในการมองที่ถูกต้อง เรียกว่าเป็นอุบายในการมองที่ทำให้มีความสุขกับการทำงานได้
แต่เวลานี้คนเราไม่มีอุบายในการทำงาน เราคิดแต่อยากจะเด่นอยากจะดัง อยากจะให้งานนั้นมาสนองอัตตาของเรา จนกระทั่งงานนั้นกลายเป็นเจ้านายของเรา ทำงานแล้วไม่มีความสุขแต่ก็ไม่อยากจะทิ้งงาน เพราะว่าทิ้งแล้วเนี่ยมันก็ทำให้เราขาดฐานะ ขาดยศ ขาดตำแหน่ง เรากลับกลายเป็นคนใช้ของงานนั้น งานมันมีอำนาจเหนือเรา แต่สำหรับบังเนี่ย งานนี้เป็นความสุขมากเลย เพราะแกมีอุบายในการมอง อุบายในการมองชีวิต อุบายในการมองงาน อันนี้คือศิลปะซึ่งไม่มีใครสอนกันได้ เราต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจของตัวเราเราถึงจะสอนได้
ศิลปะนี้มีอีกหลายอย่าง แต่อย่างน้อยเนี่ยเราต้องรู้จักตั้งคำถามกับชีวิตก่อน ต้องมีศิลปะในการตั้งคำถามกับชีวิต อันนี้เป็นเบื้องต้นเลย ถ้าเราไม่มีศิลปะในการตั้งคำถามกับชีวิตเนี่ยชีวิตจะมีความเศร้าหมองมาก เมื่อกี้เราทำวัตรเช้า จะมีคำถามข้อหนึ่งไม่รู้เราจะสังเกตหรือเปล่า มีคำถามข้อหนึ่งซึ่งตั้งคำถามแก่เรา ทำไฉนเราจึงจะทำที่สุดแห่งกองทุกข์นี้ได้ นี่คือคำถาม ซึ่งบทสวดมนต์ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีคำถามแบบนี้เท่าไหร่ แต่ทำวัตรเช้าจะมีคำถามข้อนี้ นี่คือศิลปะในการตั้งคำถามกับชีวิต คนเราถ้าตั้งคำถามกับชีวิตไม่ถูกต้องเนี่ย ชีวิตจะเป็นทุกข์ไปตลอด เช่น ถ้าเราไม่ได้ตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรเราจึงจะทำที่สุดแห่งกองทุกข์ได้ เราไปตั้งคำถามว่าทำอย่างไรเราจึงจะเป็นที่สุดหรือว่าเหนือสุดกว่าคนอื่นได้ ทำอย่างไรเราถึงจะรวยสุด ทำอย่างไรเราถึงจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่เหนือคนอื่นได้ ถ้าคิดแบบนี้ชีวิตจะมีแต่ความทุกข์มาก ชีวิตจะมีความทุกข์มากหรือว่าถ้าเกิดว่าเราตั้งคำถามว่าชีวิตเวลาเราจะทำงานอะไรก็ตาม เราจะตั้งคำถามว่าฉันจะได้อะไรทำแล้วฉันจะได้อะไร ถ้าตั้งคำถามยังงี้เนี่ยชีวิตก็มีแต่ความทุกข์ แล้วเวลานี้คนตั้งคำถามแบบนี้มาก
จนกระทั่งคุณหมอประเวศ ท่านบอกว่าเป็นคำถามซึ่งน่าเกลียดที่สุดเท่าที่เคยเจอมาในชีวิต เพราะว่าเวลานี้จะไปถามใครจะไปชักชวนใครให้มาทำอะไร คนมักจะถามว่าทำแล้วฉันได้อะไร คือมองออกไปในสิ่งที่อยากจะได้อยู่เสมอ ในขณะที่คำถามที่เมื่อกี้ เราได้พูดจากการทำวัตรเช้าเนี่ย คือ ทำไฉนจึงจะทำที่สุดแห่งกองทุกข์นี้ได้ คือไม่สนใจว่าจะได้ แต่สนใจว่าจะทำอย่างไรไอ้คำว่าได้กับคำว่าทำเนี่ย มันต่างกัน ฉันจะได้อะไรเนี่ยคือสนใจที่จะได้ไม่สนใจที่จะทำแต่ถ้าเราตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรถึงจะทำที่สุดแห่งกองทุกข์นี้ได้เนี่ย เป็นการตั้งคำถามว่า ฉันจะทำอย่างไร ฉันจะปฏิบัติอย่างไร ฉันจะเริ่มต้นอย่างไร อันนี้เป็นการทำให้เราเกิดความอยากจะลงมือทำ อยากจะลงมือปฏิบัติให้มันเกิดผลกับชีวิตจริงๆ
การตั้งคำถามเป็นเรื่องสำคัญมาก ปีที่แล้วเนี่ยตอนที่อาตมาก็นั่งอยู่ข้างล่าง มีคราวหนึ่งมีชาวบ้านมาหา มีชาวบ้านมาเที่ยวที่นี่แหละจากข้างล่าง เขามาเห็นศาลานี้ เขาก็บอกโอ!เขาอุทานว่า ใหญ่โตเหลือเกินเสร็จแล้วก็ถามว่า นี่ใครมาช่วยสร้างให้เนี่ยเราก็บอกว่า ก็ทางวัดกับชาวบ้าน หลวงพ่อช่วยกันสร้างมาหลายปี เขาก็ถามต่อไปว่า เอาเงินใครมาสร้าง คือ จะสังเกตนะว่า คือ อาตมาพอฟังแล้วเนี่ยก็สังเกตขึ้นมาทันทีว่า เอ๊ะ! คำถามนี้เป็นคำถามที่แปลก เพราะสมัยก่อนเนี่ยถ้าชาวบ้านเขามา เขาจะไม่ถามว่า ศาลานี้ใครมาช่วยสร้างให้ แต่เขาจะถามว่า ศาลานี้สร้างกันใช้เวลานานเท่าไร ลำบากไหมในการสร้าง คือเขาจะไม่มองไปที่คนอื่น จะไม่ถามว่าใครมาช่วยสร้างให้ จะเอาเงินที่ไหนมาสร้าง เพราะเขารู้อยู่แล้วว่าของพวกนี้เนี่ยเป็นสิ่งซึ่งชาวบ้านจะมาสร้างกันเอง แต่สมัยนี้เนี่ยเวลาเขาจะทำอะไรขึ้นมาเขาจะนึกถึงว่าจะมีรัฐบาลมาช่วยสร้างให้รึเปล่าจะเอาเงินจากรัฐบาลเอาเงินจากอำเภอ จากจังหวัดที่ไหนมาสร้าง แต่ไม่ได้คิดว่าชาวบ้านหรือพวกเราเนี่ยจะช่วยกันสร้างกันเอง ก็จะไม่ตั้งคำถามนี้แล้ว แต่เขาจะคิดว่าทำยังไงจึงจะเอาเงินจากที่อื่นมาสร้าง ทำยังไงถึงจะไปดึงงบ ไปดึงเครื่องไม้เครื่องมือจากหน่วยงานอื่นมาสร้าง คือมองไปนอกตัวตลอดเวลา ไม่ได้คิดที่จะพึ่งตนเอง
ถ้าเราตั้งคำถามแบบนี้เนี่ย มันมีส่วนทำให้การใช้ชีวิตของเรานี่ผันแปรไปด้วย เพราะถ้าเราตั้งคำถามผิด เราก็จะเป็นคนที่พึ่งตนเองไม่ได้ คอยแต่จะหาให้คนอื่นมาช่วย หาคนอื่นให้มาแก้ไขปัญหาให้เรา อันนี้คือศิลปะในการตั้งคำถามอย่างที่พูดไว้เมื่อกี้นี้ ถ้าเราตั้งคำถามว่าฉันช่วยแล้วเนี่ย จะใช้เวลานานเท่าไหร่ ช่วยแล้วเนี่ย ทำยังไงถึงจะแก้ปัญหานี้ได้ คือเปลี่ยนคำถามเสียใหม่ ไม่ได้คิดว่า คนอื่นจะมาช่วยสร้าง แต่คิดว่าเราจะช่วยกันสร้างได้อย่างไร หรือว่า มันจะมีคำถามอีกหลายอย่าง ซึ่งถ้าเรารู้จักตั้งคำถาม มันช่วยมาสอนเรานะ ช่วยเตือนเรานะ ว่าเราเองก็ยังต้องปรับปรุงตัว ต้องแก้ไข เพราะว่าทุกข์แค่นี้เรายังเอาชนะไม่ได้ เรายังมีความกังวล ความหมองอยู่อีกมาก อันนี้เนี่ยเป็นสิ่งซึ่งเราจะสามารถทำได้ เป็นศิลปะในการมองชีวิต ซึ่งทางพุทธศาสนาได้สอนมาก เวลาเราเกิดความโกรธ เราจะมีอุบายเราจะมีศิลปะในการขจัดความโกรธได้อย่างไร แล้วอุบายพวกนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยตัวสติมาก เพราะถ้าเราไม่มีสติ เวลามีอะไรมากระทบเราเนี่ย เราจะมีความโกรธ เราจะมีความหวั่นไหวเป็นเบื้องต้น พอเรามีความหวั่นไหวแล้วเนี่ย มันไม่มีปัญญาที่จะหาหนทางแก้ไขได้ ไม่มีอุบายในการแก้ไขได้ เพราะฉะนั้นสตินี่เป็นเรื่องสำคัญมากในการตั้งหลัก เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้เราตั้งหลัก แล้วก็เริ่มหาหนทางแก้ไขปัญหา เมื่อเวลามีคนมาวิพากษ์วิจารณ์เรา ถ้าเราหวั่นไหว เราโกรธแค้น เราไม่พอใจไปกับการวิพากษ์วิจารณ์นั้นเนี่ยมันก็คิดปรุงแต่งไปต่างๆ นานา เช่น ปรุงแต่งว่าอีกแล้วนะ ว่าอีกแล้วนะ ไม่เคยหยุดเลย พี่ก็ว่า น้องก็ว่า เอ๊ะ! ทั้งบ้านนี่มันว่าเราหมดเลย ไม่เคยชมเราสักที คือปรุงแต่งไปในทางที่มันชวนให้เราโกรธ ให้เราทุกข์มากขึ้น แต่ถ้าเรามีสติเนี่ยไม่เกิดความทุกข์ ไม่หวั่นไหวมากเกินไป มันก็ช่วยทำให้เราตั้งหลักแล้วพิจารณาว่าเอ๊ะ! ที่เขาว่ามาเนี่ย มันอาจจะมีมูล มันอาจจะมีข้อเท็จจริงอยู่บ้าง หรือว่าถึงแม้ว่า เขาไม่มีมูล ไม่มีข้อเท็จจริง มันก็ช่วยเตือนเราว่า ช่วยให้เราระลึกถึงคำของพระพุทธเจ้าที่ว่า คนที่แม้เราจะทำถูกเพียงไรก็ตาม ก็ไม่พ้นจากคำนินทาว่ากล่าวได้ มันก็ช่วยเตือนเราว่า เออ!เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีใครที่จะรอดพ้นจากการติเตียน แม้อยู่เฉยๆ ก็มีคนว่า เดินก็มีคนว่า ไม่พูดเลยก็มีคนว่า พูดมากเกินไปก็มีคนว่า อันนี้เป็นพุทธพจน์ของพระพุทธเจ้าที่เตือน ซึ่งเราจะรู้สึกเช่นนี้ได้ก็เพราะเรามีสติ เกิดมีสัมมาสติขึ้นมา เกิดความระลึกถูกต้องขึ้นมา
จริงๆ แล้วเนี่ยสติมี 2 อย่าง คือสัมมาสติ และมิจฉาสติ มิจฉาสติคือการระลึกได้ในซึ่งสิ่งทำให้เกิดให้จิตเป็นอกุศล เช่น ที่พูดเมื่อกี้เนี่ยว่า เมื่อมีคนมาด่าว่าเรา เราก็เกิดมิจฉาสติขึ้นมาว่า เอ๊ะ!ทั้งบ้านทั้งตระกูลนี่ว่าเราตลอดเวลา เมื่อวานนี้ก็ว่า เมื่อวานซืนก็ว่า อันนี้คือความระลึกได้ ความระลึกได้แบบในทางที่ทำให้จิตเป็นอกุศล ความระลึกได้ในทางที่ทำให้จิตของเราแส่ส่าย เรียกว่า จิตหาเรื่อง เป็นมิจฉาสติ คราวนี้เราต้องเปลี่ยนใหม่ เป็นสัมมาสติ คือ สติปัฏฐาน คือ การรู้กาย รู้ใจ รู้เวทนา รู้ธรรม ถ้าเรามีสติปัฏฐาน หรือที่เรียกว่าเป็นสัมมาสติแล้วเนี่ยมันก็มีแต่จะหนุนส่งให้เราแก้ปัญหา แก้ทุกข์ในชีวิตของเราได้เรื่องนี้เนี่ยก็คงจะพูดกันได้อีกมาก
แต่ก็คิดว่าหลวงพ่อท่านก็ได้พูดมามากแล้ว รวมทั้งพระรูปอื่นๆ ท่านก็ได้พูดมา ซึ่งรวมลงที่ การชี้ให้เห็นความสำคัญของสติ แต่สติเนี่ยก็อย่างที่ว่าไว้แล้วว่า ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากาการนึกเอา มันต้องเกิดขึ้นจากการปฏิบัติ ธรรมธรรมหรรษาไม่ได้เกิดขึ้นจากการฟังธรรมอย่างเดียว ความสุข ความชื่นบานไม่ได้เกิดขึ้นจากการฟังธรรมอย่างเดียว แต่ยังเกิดขึ้นมาจากการปฏิบัติธรรม จนกระทั่งเข้าถึงธรรมะ คือว่าเป็นธรรมะจริงๆ แบบที่ท่านชาได้พูดว่าเนี่ย ต้องเป็นธรรมะจริงๆเราถึงจะมีความสุข จึงมีหรรษาได้ และเมื่อเราปฏิบัติธรรมอย่างมีความสุขแล้วเนี่ย ถ้าเราปฏิบัติธรรมอย่างถูกต้องเนี่ยเวลาเราทำงาน เราก็จะมีความหรรษาด้วย อันนี้ก็ขอให้เป็นข้อฝากไว้สำหรับพวกเราชาวคณะธรรมหรรษา ซึ่งจะเดินทางกลับไปเผชิญชีวิตในที่ทำงาน เผชิญชีวิตในบ้าน ซึ่งก็คงจะไม่ราบรื่น ไม่สะดวกตลอดไปนัก แต่ว่าถ้าเรามีศิลปะในการใช้ชีวิต ศิลปะในการตั้งคำถาม ศิลปะในการมองไม่ด้อยไปกว่าอาบัง ที่ยกตัวอย่างของหมออุดมศิลป์เนี่ย ก็จะทำให้เรามีความสุขความชื่นบาน และก็ความสุขความชื่นบานนั้นก็จะแผ่ไปถึงผู้ที่อยู่ใกล้เคียง เขาก็จะได้ความสงบ ความร่มรื่นใจจากเราไปด้วย สิ่งเหล่านี้มันสื่อกันได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องพูด แต่ว่าสัมผัสกันได้ เหมือนกับแสงเทียน ซึ่งเมื่อจุดไฟแล้ว ความสว่างไสวก็ตกกระทบไปถึงสิ่งต่างๆ รอบตัว เป็นความสงบเย็น เป็นความชื่นบาน ซึ่งทุกคนสามารถสัมผัสได้ ตราบใดที่มีใครคนใดคนหนึ่งมีความสุข มีความชื่นบานอย่างถูกต้อง เพราะการรู้ธรรมหรือการเข้าถึงธรรมะ
เพราะฉะนั้นเนี่ยก็ขอในโอกาสนี้ก็ขออำนวยพรให้ชาวคณะธรรมหรรษา รวมทั้งญาติโยมที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมที่นี่ ก็ขอให้เจริญก้าวหน้า มั่นคงในธรรมะ แล้วก็เข้าถึงความสงบเย็น จนกระทั่งบรรลุถึงสิ่งสูงสุดในชีวิตเท่าที่จะพึงแสวงหาได้ อันมีมรรคผลนิพพานเป็นเป้าหมาย ทุกกาลเทอญ