พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 13 กรกฎาคม 2568
ใครที่ไปญี่ปุ่นโดยเฉพาะไปเยือนเมืองโตเกียวก็จะต้องได้ยินชื่อถิ่นหนึ่ง ละแวกหนึ่ง ชิบูยะ (Shibuya) ชิบูยะ ชินจูกุ (Shinjuku) พวกนี้เป็นชื่อที่คนไทยที่ไปญี่ปุ่นคุ้น และส่วนใหญ่ก็มักจะไปเยือนเพราะว่าเป็นย่านธุรกิจ เป็นย่านที่มีห้างสรรพสินค้าอย่างหรูเยอะแยะ แล้วก็มีสถานบันเทิงด้วย คนก็พลุกพล่านมาก ใครที่ไปโตเกียว ถ้าไม่ได้ไปชิบูยะ ชินจูกู บางคนก็รู้สึกว่ายังไปไม่ถึงโตเกียว
แต่ในชิบูยะมีสิ่งแปลกประหลาดอย่างหนึ่งสำหรับคนญี่ปุ่นหรือคนโตเกียว คือมีแผงลอยขายผักอยู่ไม่ไกลจากสถานีรถไฟเอบิซุ (Ebisu) เป็นเรื่องที่ประหลาดเพราะว่าแถวนั้นมีแต่ศูนย์การค้า หรือมิฉะนั้นก็ห้างสะดวกซื้อ ร้านสะดวกซื้อ ไม่อย่างนั้นก็เป็นพวกโรงแรม พวกตึกสูง ๆ แต่ว่ากลับมีแผงลอยอยู่ไม่ไกลจากสถานีรถไฟ
แผงลอยมาอยู่ในซอยเล็ก ๆ ผักที่เอามาขายก็เป็นผักที่สด ไม่มีข้ามวัน และแถมราคาถูก ถุงละ 100 เยน 100 เยนถ้าเทียบกับเมืองไทยก็ประมาณ 10 บาท ผัก แล้วยังมีข้าวโพด กล้วย ผลไม้ มะเขือเทศ มะเขือพวง แถมราคาถูกด้วย 100 เยน
นอกจากของดีราคาถูกแล้ว ที่แปลกอีกอย่างหนึ่งก็คือไม่มีคนขาย ใครที่ซื้อก็หยอดเหรียญ เป็นแผงลอยจริง ๆ เลย ถามว่าใครเป็นลูกค้า ลูกค้าก็เยอะด้วย วันละ 100 คนได้ ทุกวันก็เกลี้ยงแผง คนที่เป็นลูกค้าส่วนใหญ่ก็เป็นสาวพนักงานออฟฟิศ เป็นสาวออฟฟิศ แต่ว่ารายได้น้อย
ด้วยเหตุที่ว่าลูกค้าเหล่านี้แม้จะทำงานออฟฟิศแต่ว่ารายได้น้อย จึงเกิดร้านนี้ขึ้นมา เกิดแผงลอยนี้ขึ้นมา เจ้าของแผงชื่อ โทโมโกะ แกเป็นชาวสวน ปลูกผักเอง แล้วแกก็ปลูกผักโดยใช้ต้นทุนไม่แพง ต้นทุนไม่แพงก็คือว่าใช้ยาฆ่าแมลงน้อย ใช้ยากำจัดศัตรูพืชน้อย มันก็ลดต้นทุนไปเยอะ
เธออยากจะขายผักราคาถูกให้กับคนหนุ่มสาวที่มาทำงานในโตเกียว พื้นเพเธอก็น่าสนใจ แต่ก่อนสมัยที่ยังสาว เธอก็ทำงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รายได้ดีเพราะตอนนั้นญี่ปุ่นฟองสบู่ยังไม่แตก ตอนหลังพอเธอแต่งงานก็เปลี่ยนมาขายผักในโตเกียว รายได้ก็พอใช้ได้ถึงแม้ว่าจะน้อยกว่าอาชีพพนักงานบริษัทอสังหาริมทรัพย์
วันหนึ่งเธอเจอลูกค้าคนหนึ่งเป็นขาประจำ ลูกค้าบอกว่า ต่อไปนี้ฉันคงจะมาได้แค่เดือนละครั้ง อ้าวทำไมล่ะ ตอนนี้เงินเดือนฉันมีน้อยมากเลย เพราะตอนนั้นญี่ปุ่นเศรษฐกิจเริ่มตกแล้ว ฟองสบู่แตก พอเธอรู้ว่ารายได้ของลูกค้าคนนี้มันต่ำมาก เธอตกใจ แล้วเธอก็เลยรู้ว่าเดี๋ยวนี้คนที่ทำงานในญี่ปุ่นโดยเฉพาะในโตเกียว รายได้น้อยมาก เธอนึกถึงคนเหล่านี้ก็เลยอยากจะหาผักราคาถูก ๆ มาให้
ตอนหลังเธอก็เลยตัดสินใจไปปลูกผักเองเลย เพราะเธอก็มีพื้นเพทำสวน ครอบครัวก็เป็นชาวนาชาวไร่ สวนของเธออยู่ไกลจากโตเกียว 2 ชั่วโมงได้ เพราะว่าถ้าใกล้โตเกียวที่ดินมันแพง เธอก็พาครอบครัว พาลูกซึ่งยังเล็กไปอยู่ต่างจังหวัด มันดีด้วย ดีต่อสุขภาพ แล้วก็ทำสวน เป็นสวนผักประเภทว่าผักอินทรีย์เลยทีเดียว เพราะมันช่วยลดต้นทุนและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ
ทุกวันเธอก็ขับรถ 2 ชั่วโมง เอาผักที่จะปลูกเองไปขาย แต่เพื่อจะลดต้นทุนก็เลยไม่มีพนักงานขาย ญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีห้าง จะซื้ออะไรต้องไปซื้อห้างหรือไม่ก็ร้านสะดวกซื้อ แต่ว่าที่ชิบูยะมีร้านเดียวที่เป็นเพิง เป็นแผงลอย และลูกค้าก็ต้องบริการตัวเอง ช่วยลดต้นทุนไปได้เยอะ
แล้วลูกค้าหลายคนก็ชอบเพราะว่ารายได้น้อย ถ้าไปซื้อของตามห้าง ตามร้านสะดวกซื้อนี่มันแพง มาซื้อที่แผงลอยของเธอนี่มันถูก ของก็ดี อร่อย หลายคนก็สามารถจะดำรงชีวิตอยู่ได้ในกรุงโตเกียว
ความริเริ่มของโทโมโกะนี้น่าสนใจ เธอนึกถึงคนอื่นที่เขาเดือดร้อน ขายผักอยู่ดี ๆ พอลูกค้ามาบอกว่าเดี๋ยวนี้เงินเดือนน้อย แทนที่เธอจะนึกถึงลูกค้าคนอื่น ๆ ที่เขายังพอมีรายได้มาซื้อของของเธอ เธอกลับนึกถึงคนเหล่านี้ แล้วก็เลยเปลี่ยนชีวิตเลย มาอยู่ต่างจังหวัด ปลูกผัก ก็ยอมเหนื่อย เพราะว่าแต่ก่อนตอนที่เธอเป็นสาว เงินหาได้ง่ายมาก แต่ว่าตอนนี้เธอต้องมาเหนื่อยกับการปลูกผัก
แต่เธอก็ภูมิใจเพราะว่าผักที่เธอปลูก มันไม่เพียงแต่ลดรายจ่ายของผู้คน แต่ยังช่วยบำรุงสุขภาพและแถมให้กำลังใจด้วย เพราะว่าแผงของเธอ เธอจะเขียนข้อความเอาไว้ ข้อความให้กำลังใจลูกค้า บอกว่าฉันอยู่เคียงข้างพวกเธอ อย่ากังวล อย่าวิตก สู้ ๆ หลายคนมาซื้อผักนอกจากจะจ่ายไม่แพงแล้วยังได้กำลังใจ ได้ผักกลับไปปรุงอาหารที่บ้านให้แม่ให้พ่อแล้ว ก็รู้สึกประทับใจด้วย
บางคนก็บอกว่า ขอบคุณคุณมากเลย ฉันมีกำลังใจเดินหน้าต่อไปได้เพราะคุณ บางคนก็บอกว่าคุณนี่เหมือนแม่คนที่สองของฉันเลย ขอบคุณมาก ๆ เธอเห็นข้อความนี้ก็เกิดกำลังใจ ร้านของเธอมันก็เลยเป็นสื่อระหว่างผู้ปลูกหรือผู้ผลิตกับลูกค้า
เดี๋ยวนี้หาได้ยากในญี่ปุ่น แม้กระทั่งในเมืองไทยเดี๋ยวนี้มันต้องมีตัวกลางแล้ว แต่ว่าแผงลอยของเธอมันเป็น เรียกว่านอกจากสื่อกลางระหว่างผู้ซื้อกับผู้ผลิตแล้ว มันยังเป็นการให้กำลังใจกันด้วย
ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า เงินที่ลูกค้าแต่ละคนหยอดใส่กระป๋อง 100 เยนบ้าง 200 เยนบ้าง 300 เยนบ้าง มันไม่มีคนเอาไป ทั้งที่ไม่มีใครเฝ้าเลย แสดงว่าความความซื่อสัตย์ของคนญี่ปุ่นนี่มันก็ยังดำรงอยู่ เพราะเดี๋ยวนี้ก็เป็นที่รู้กันว่าที่ไหน ๆ ความซื่อสัตย์มันมีน้อยลง ลูกค้าบางคนก็เอาของฟรีไป ไม่จ่ายเงิน
แต่ว่าแผงลอยของโทโมโกะนี่บางคนให้มากกว่า 100 เยน เพราะรู้ว่าอาหารหรือผักเธอมันถูก แล้วก็รู้เจตนาของเธอว่าเธอไม่ได้ทำเพื่อกำไร แต่ทำเพื่อช่วยเหลือคนที่รายได้น้อยโดยเฉพาะคนหนุ่มคนสาว อยากช่วยเหลือคนเหล่านี้ ไม่ใช่แค่ช่วยด้านเศรษฐกิจแต่ช่วยให้กำลังใจด้วย
คนก็ซื่อสัตย์ ซื้อแล้วก็จ่ายเงิน ส่วนมิจฉาชีพที่จะมาลักเอากระป๋องเธอไป เท่าที่รู้ก็ไม่มี อันนี้ก็เป็นเรื่องแปลก และที่จริงบ้านที่อนุญาตให้เธอมาตั้งแผงลอยนี้ก็น่านับถือ เพราะว่าเขาคงไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย แต่ว่าก็อยากจะช่วย ๆ กัน เป็นสังคมแห่งการแบ่งปัน ซึ่งยังมีอยู่แม้กระทั่งในเมืองใหญ่อย่างโตเกียว จนมีบางคนบอกว่าแผงลอยนี่คือโอเอซิส Oasis
คนเราทำความดีเราทำความดีได้หลายแบบ นอกจากเป็นจิตอาสาแล้วเราก็ยังสามารถจะทำความดีได้ด้วยการนำของราคาถูกมาขาย เป็นกำลังใจ แทนที่จะแจกฟรี ๆ ซึ่งก็แจกฟรี ๆ ก็ได้แต่ว่ามันไม่ยั่งยืน เธอก็เอามาขาย มีรายได้ก็เอามาหมุนเวียน ช่วยเหลือคนที่เขาลำบากต่อไปได้เรื่อย ๆ
อันนี้ก็เรียกว่าเป็นการเติมกำลังใจให้ผู้คนว่า มันยังมีคนที่มีน้ำใจแบบนี้ ทำให้จิตใจที่แห้งผากสำหรับคนที่อยู่ในเมืองรู้สึกมีความชุ่มชื่นในจิตใจ และนี่เป็นสิ่งดี ๆ ที่น่าจะมีเยอะ ๆ ในสังคมปัจจุบัน.