พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเช้าวันเข้าพรรษา วันที่ 11 กรกฎาคม 2568
วันนี้เป็นวันเข้าพรรษา แล้วยังเป็นวันแรกของเทศกาลเข้าพรรษา เมื่อวานนี้ก็เป็นวันอาสาฬหบูชา ถ้าเทียบกันแล้ววันเข้าพรรษาจะไม่ค่อยโดดเด่นเท่ากับวันอาสาฬหบูชา วันอาสาฬหบูชา กำหนดให้เป็นวันหยุดทั้งของราชการและเอกชน แต่วันเข้าพรรษา หยุดแต่ของราชการ ส่วนเอกชนส่วนใหญ่ไม่ใช่วันหยุด ถ้าจะหยุดต้องหยุดเอง
แล้ววันอาสาฬหบูชานี่ก็มีสีสัน ผู้คนพากันเข้าวัดทั้งวันเลย รวมทั้งแต่งตัวสวยๆ ไปเวียนเทียนพร้อมดอกไม้ธูปเทียน สื่อก็ลงข่าว เกี่ยวกับวันอาสาฬหบูชามากมาย ขณะที่วันเข้าพรรษาไม่ค่อยมีสีสัน ไม่ค่อยเป็นข่าวเท่าไหร่ ส่วนหนึ่งเพราะเข้าใจกันว่า วันเข้าพรรษาเป็นเรื่องของพระ เรื่องของนักบวช ต่างจากวันอาสาฬหบูชาที่ถือว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องครอบคลุมพุทธบริษัท รวมทั้งฆราวาสด้วย
ที่จริงยังเข้าใจไม่ถูก ที่ไปนึกว่าวันเข้าพรรษา หรือเทศกาลเข้าพรรษานี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระเท่านั้น เพราะว่าเทศกาลเข้าพรรษา ถ้าพูดถึงความหมายแล้ว หมายถึงเทศกาลแห่งการทำบุญบำเพ็ญกุศล แต่พูดอย่างนี้ก็ยังแคบอยู่ เพราะว่าเวลาพูดถึงทำบุญบำเพ็ญกุศล เราก็นึกถึงวัด นึกถึงศาสนประเพณี นึกถึงพระ แต่จริงๆ แล้วเข้าพรรษาเหมือนเทศกาลแห่งการทำความดี
การทำให้เกิดความเจริญงอกงามกับชีวิต เรื่องความดี ความเจริญงอกงามของชีวิต เป็นเรื่องของทุกคน ไม่ได้จำกัดเฉพาะพระเท่านั้น มันเป็นเทศกาลแห่งการฝึกฝนพัฒนาตน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำ เรียกว่าตลอดชีวิตก็ว่าได้
เหมือนกับการเรียนรู้ เรามักจะได้ยินว่าการเรียนรู้เป็นสิ่งที่จะต้องทำตลอดชีวิต ไม่ใช่แค่เรียนเมื่อยังอยู่ในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ออกจากมหาวิทยาลัย จบการศึกษาแล้ว ไม่ใช่ว่าการเรียนรู้ก็สิ้นสุด การเรียนรู้เป็นสิ่งที่ต้องทำตลอดชีวิต
การฝึกฝนพัฒนาตนก็เหมือนกัน ต้องทำตลอดชีวิต ตราบใดที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ ถ้าเป็นพระอรหันต์ เขาเรียกว่าเป็นพระอเสขบุคคล แต่ถ้าต่ำกว่าพระอรหันต์เรียกว่าเป็นเสขบุคคล เสขบุคคลคือผู้ที่จะต้องศึกษา อันนี้รวมถึงปุถุชนด้วย ไม่ว่าจะจบปริญญาเอก หรือจบประโยค 9 ก็ยังต้องศึกษา ถ้ายังไม่ได้เป็นพระอรหันต์
ศึกษาในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการอ่านตำรับตำรา แต่หมายถึงการฝึกฝนตน เสขะแปลว่าสิกขา หรือศึกษา ศึกษา ภาษาไทยความหมายก็แคบ แต่เสขะหรือสิกขาในภาษาบาลี ความหมายกว้าง ทั้งๆ ที่มันก็เกี่ยวเนื่องกัน สิกขาเป็นภาษาบาลี ศึกษาเป็นภาษาสันสกฤต
เทศกาลแห่งการฝึกฝนพัฒนาตน จึงเป็นเทศกาลสำหรับชาวพุทธทุกคน ไม่เว้นแม้กระทั่งฆราวาส ไม่ใช่เป็นเรื่องของพระเท่านั้น และพัฒนาตนก็เป็นเรื่องของการทำความดี เรื่องของการพัฒนาจิตให้เข้าถึงสัจจธรรม อย่างที่พูดไปเมื่อวาน
ที่จริงการทำบุญหรือการบำเพ็ญบุญ ความหมายมันก็ครอบคลุมไปถึงเรื่องของการภาวนา การฝึกฝนพัฒนาตน การฝึกจิตให้เข้าถึงสัจธรรมของชีวิต แต่เดี๋ยวนี้เราเข้าใจว่า บุญเป็นเรื่องของการให้ทานเท่านั้น ก็เลยไปเข้าใจว่าเทศกาลเข้าพรรษาคือเทศกาลของการเข้าวัด แล้วก็ทำบุญให้ทาน ถ้าเกี่ยวข้องกับฆราวาส
แต่ที่จริงไม่ใช่ สำหรับฆราวาสกับพระเหมือนกันหมด ก็คือว่าเป็นเทศกาลของการฝึกฝนพัฒนาตน เพื่อให้เกิดความเจริญงอกงาม พูดภาษาวัดเราก็เรียกว่าบำเพ็ญบุญ ทำบุญบำเพ็ญกุศล แต่พูดภาษาสมัยใหม่คือการทำความดี เป็นเทศกาลของการทำความดี เป็นเทศกาลของการฝึกฝนตน ซึ่งมีสองด้าน คือ
ด้านแรก ด้านลดหรือละสิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่เป็นโทษ พฤติกรรมของเราหลายอย่างก่อให้เกิดโทษกับร่างกายและจิตใจของเรา ในช่วงเข้าพรรษาตลอด 3 เดือน ก็ควรใช้โอกาสนี้ ลด ละ หรือเลิกได้ยิ่งดี
การลด การละที่เกี่ยวกับการเสพ การเสพหลายอย่าง ก่อให้เกิดโทษกับร่างกายของเรา เช่น บุหรี่ ยาเสพติด เหล้า แต่หลายคนแม้จะไม่ได้แตะบุหรี่ จะไม่กินเหล้า แต่ว่าอาจจะเสพติดอบายมุขอย่างอื่น ซึ่งทำให้ชีวิตแย่ สุขภาพแย่ เช่น ติดกาแฟ หรือบางทีก็ติดของหวาน มัน เค็ม จนกระทั่งป่วยเป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจก็กำเริบ ใช้โอกาสเข้าพรรษานี้ลด ละ ถ้ายังละไม่ได้ก็ลด พวกของที่เป็นโทษกับร่างกายในระยะยาว
แล้วการเสพ เดี๋ยวนี้ก็รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีซึ่งปรนเปรอเราทางตา ทางหู ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม เล่นโซเชียลมีเดีย พวกนี้ถ้าทำเป็นครั้งคราวนิดๆ หน่อยๆ ก็ไม่เท่าไหร่ แต่พอเผลอปุ๊บเดียว กลายเป็นการเสพติดเลย
ในช่วงเข้าพรรษา น่าจะใช้โอกาสนี้ลด ถ้ายังละไม่ได้ เช่น อาจจะงดดูหนัง งดดูซีรีส์ตลอดพรรษา อาจจะงดฟังเพลง หรืองดเล่นเกม ส่วนโซเชียลมีเดียก็อาจจะงดเฉพาะวันพระ ถ้าเป็นวันธรรมดาก็งดตั้งแต่ 6 โมงเย็นเป็นต้นไป หรือบางคนอาจจะบอกว่างดทั้งพรรษาเลยก็ได้
แล้วเราจะพบว่า ขาดมันก็ไม่ตาย แล้วก็ชีวิตเราอาจจะโปร่งเบาขึ้น เพราะว่าพวกโซเชียลมีเดียมันมาเมื่อไม่ถึง 20 ปีมานี้เอง ก่อนหน้านี้เราก็อยู่ได้โดยที่ไม่มีมัน รวมทั้งโทรศัพท์มือถือ แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นว่าเราเป็นทาสมันแล้ว ถ้าเราลองฝึกลดหรือละบ้างก็จะดี
อันนี้ก็เป็นตัวอย่าง สิ่งที่เราน่าจะลดหรือละได้ในช่วงเข้าพรรษา ซึ่งรวมไปถึงอบายมุขแบบใหม่ อบายมุขแบบเก่าหลายคนไม่ข้องเกี่ยวแล้ว กินเหล้า เที่ยวกลางคืน เล่นการพนัน แต่ว่าติดอบายมุขแบบใหม่ อันนี้ก็ต้องฝึก ใช้โอกาสเข้าพรรษาฝึกลดหรือละ
ในขณะเดียวกันก็ทำความดี ทำสิ่งดีๆ ให้เพิ่มมากขึ้น เช่น ออกกำลังกาย แต่ก่อนนี้ไม่ค่อยได้วิ่ง ไม่ค่อยได้เดิน ก็ออกกำลังกายให้มากขึ้น ที่เคยนอนดึกก็ นอนให้เร็วขึ้น ที่เคยตื่นสายก็ตื่นให้เร็วขึ้น อาจจะตั้งใจว่า จะให้ทานทุกวัน หรืออย่างน้อยวันพระ
รวมไปถึงการทำวัตรสวดมนต์ นั่งสมาธิ หลายคนก็ตั้งใจว่า เข้าพรรษาจะนั่งสมาธิ สวดมนต์ อันนี้ก็ดี หรือว่าการเป็นจิตอาสา การทำดีหลายอย่างมันไม่ต้องอิงศาสนา ไม่ต้องอิงประเพณี ไม่ใช่ว่าจะต้องให้ทานที่วัด จะต้องใส่บาตรเท่านั้น การทำความดีหลายอย่างไม่อิงประเพณี แต่เป็นความดีที่ควรทำ เพราะทำให้เกิดความเจริญงอกงาม
ตั้งใจเลย เข้าพรรษา เราจะลด ละ อย่าง 2 อย่าง แล้วก็ทำความดีสักอย่าง 2 อย่าง ไม่ต้องเยอะ เพราะถ้าเยอะแล้วทำไม่ได้ ไม่มีประโยชน์ แต่ถ้าเราตั้งใจว่าจะทำแค่อย่าง 2 อย่าง ทั้งลด ละ แล้วก็เพิ่ม ก็มีโอกาสที่จะทำได้ทุกวัน
แล้วไม่ต้องตั้งเป้าสูง เอาเป้าที่มันง่ายๆ เป็นไปได้ เช่น ออกกำลังกาย เดิน วิ่ง 10 นาที เล่นโยคะ 10 นาที นั่งสมาธิ 10 นาที ไม่ใช่ว่าจะนั่งสมาธิทีเดียวหนึ่งชั่วโมง ตั้งเป้าไว้สูงแต่ว่า ทำไม่ได้ทุกวัน ขาดๆ หายๆ สู้ตั้งเป้าไว้เล็กน้อย นิดหน่อย แต่ทำได้ต่อเนื่องทุกวัน สำคัญกว่า
ที่สำคัญคือ ตั้งใจทำอะไรแล้วอย่าเก็บงำไว้คนเดียว บอกเพื่อนๆ ด้วย บอกคนอื่นด้วย บอกคนในบ้านด้วย ให้เขารับรู้ จะได้เป็นกำลังใจ จะได้คอยท้วงติง เวลาเราขี้เกียจ หรือลืมก็จะไดัเตือนเราได้ หรือให้กำลังใจเรา รวมทั้งเขาจะได้ร่วมอนุโมทนาด้วย
มันก็เหมือนกับการรับศีล คนไทยสมัยก่อนตามประเพณีก็จะรับศีลท่ามกลางผู้คน เป็นการประกาศให้ใครๆ รู้ว่า ฉันรับศีล ฉันสมาทานศีล 5 อันนี้เป็นการประกาศให้หมู่คณะรับทราบ จะได้ร่วมสนับสนุน ให้การสมาทานนี้เป็นไปได้ตลอดและต่อเนื่อง
การทำความดีในเทศกาลเข้าพรรษาก็เหมือนกัน ตั้งใจว่าจะลดกาแฟหรือจะเลิกกาแฟ นี่ก็ควรจะบอกให้เพื่อนๆ รู้ทางไลน์ก็ได้ คนในบ้านก็ได้ เขาจะได้ร่วมเป็นกำลังใจ อนุโมทนา แล้วก็คอยท้วงติงเรา คอยเตือนเราเวลาเราเผลอ ไม่อย่างนั้นกิเลสก็จะทำให้เราเลิกทำ มีข้ออ้างมากมายที่จะไม่ทำ สุดท้ายก็ทำไม่ได้
นี่แหละคือการฝึกฝนพัฒนาตนตามหลักไตรสิกขา ซึ่งควรทำตลอด ทำทุกวันตลอดพรรษานี้ แล้วความสุขความเจริญ ความโปร่งใสเบาสบายทั้งกายและใจก็จะเกิดขึ้นกับเรา