PAGODA
  • หน้าแรก
  • ฐานข้อมูล
  • เสียง
  • วีดิทัศน์
  • E-Books
  • กิจกรรม
  • บทความ
PAGODA
  • หน้าแรก
  • ฐานข้อมูล
  • เสียง
  • วีดิทัศน์
  • E-Books
  • กิจกรรม
  • บทความ

Search

  • หน้าแรก
  • เสียง
  • พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
  • เรื่องดี ๆ จากญี่ปุ่นและสิงคโปร์
เรื่องดี ๆ จากญี่ปุ่นและสิงคโปร์ รูปภาพ 1
  • Title
    เรื่องดี ๆ จากญี่ปุ่นและสิงคโปร์
  • เสียง
  • 13987 เรื่องดี ๆ จากญี่ปุ่นและสิงคโปร์ /aj-visalo/2025-07-08-04-15-44.html
    Click to subscribe
    • Share
    • Tweet
    • Email
    • Share
    • Share

ผู้ให้ธรรม
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
วันที่นำเข้าข้อมูล
วันอังคาร, 08 กรกฎาคม 2568
ชุด
ธรรมะสั้นๆ ก่อนอาหารเช้า 2568
  • แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]

  • พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 6 กรกฎาคม 2568
    ใครที่ไปประเทศญี่ปุ่นถ้าตื่นเช้าจะสังเกตเห็นเด็กเดินกันเป็นกลุ่มเลย แล้วทุกคนก็สวมหมวกแล้วก็สะพายเป้ เด็กเหล่านี้ไปไหน ไปโรงเรียน ตอนเย็น ๆ หรือบ่ายแก่ ๆ ก็จะเห็นเด็กกลุ่มนี้เดินกลับมาจากโรงเรียน คนญี่ปุ่นเขาจะให้เด็กนักเรียนเดินไปโรงเรียนเพราะว่าโรงเรียนก็อยู่ใกล้บ้าน ใกล้บ้านนี่ไม่ใช่ 500 เมตรหรือ 1 กม. อาจจะ 3 กม. ก็ได้ เขาก็มีระเบียบหรือกฎว่านักเรียนต้องไปเรียนโรงเรียนใกล้บ้าน
    อันนี้ก็ทำได้เพราะว่ามาตรฐานของโรงเรียนมันใกล้เคียงกัน ไม่เหมือนเมืองไทย มาตรฐานของโรงเรียนนี้จะแตกต่างกันมาก ผู้ปกครองก็อยากให้ลูกเรียนสวนกุหลาบ สาธิตฯ ก็พยายามให้ลูกมาเรียนอยู่โรงเรียนนี้ บางทีต้องเดินทางไกล ๆ ก็ต้องใช้รถ รถส่วนตัวบ้าง รถไฟฟ้าบาง
    แต่ญี่ปุ่นถ้าเป็นเด็กประถมเดินไปโรงเรียนเพราะโรงเรียนอยู่ใกล้บ้าน แล้วพ่อแม่ก็ไม่ไปส่ง พ่อแม่ไม่ไปส่ง ซึ่งก็ช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดได้เยอะเลย โรงเรียนก็ไม่มีปัญหาเรื่องที่จอดรถ
    และที่สำคัญคือเด็กเขาจะไปกันเป็นกลุ่ม เริ่มจากคนแรกที่อยู่ไกลสุดก็จะเดินไปเรียกเพื่อนระหว่างทาง เพื่อนก็ต้องเตรียมพร้อม พอมีเพื่อนเรียกคราวนี้ก็ต้องออกมาแล้ว ทำให้เด็กฝึกนิสัยตื่นแต่เช้า ถ้าเป็นเมืองไทยอาจจะงอแง พ่อแม่บางคนก็ต้องปลุกปล้ำลูกเพื่อให้ตื่นแต่เช้าไปเรียนหนังสือ
    แต่ที่ญี่ปุ่นถ้าตื่นสายมันก็เป็นภาระกับเพื่อน เพื่อนก็ต้องรอ บางทีเพื่อนมารอกัน 10 กว่าคน มารอคนเดียวเพราะตื่นสายก็เป็นเรื่องที่เสียหายต่อส่วนรวม มันก็บังคับให้เด็กต้องตื่นแต่เช้า เตรียมพร้อม เวลาเพื่อน ๆ มาถึงหน้าบ้านก็จะได้ออกไปสมทบกับคณะ แล้วก็เดินต่อไปเรื่อย ๆ
    มันก็ทำให้เกิดความสมานสามัคคีกันด้วย ไม่ใช่ต่างคนต่างไปโรงเรียน ต้องไปด้วยกัน เกาะกลุ่มด้วยกัน ก็ทำให้ทุกคนต้องมีระเบียบ ตื่นเช้า ไม่ตื่นสายเพราะตื่นสายก็ทำให้เพื่อนคนอื่นเป็นสิบรอ
    แล้วพวกนี้ก็จะช่วย เวลาข้ามถนนก็จะมีรุ่นพี่คอยอำนวยการข้ามถนนสำหรับรุ่นน้องเด็ก ๆ อนุบาล อันนี้ก็เรียกว่าเป็นภาพที่คนไปญี่ปุ่นจะเห็น โดยเฉพาะถ้าเกิดไปพักอยู่กับบ้านคนญี่ปุ่นก็จะรู้เลยว่าเวลากี่โมงแล้ว เพราะเด็กตัวเล็ก ๆ ก็จะมาเรียกเด็กในบ้านให้ออกไปได้แล้ว
    ขากลับก็เหมือนกัน ก็เดินกลับ แล้วก็ไม่ใช่ว่าสบายเพราะว่าทางก็ไกล 3 กม.นี่บางแห่ง ตอนเช้ายังไม่เท่าไหร่ ตอนบ่ายอาจจะอากาศจะร้อน เดิน 3 กม 45 นาที แต่พ่อแม่ก็ยอม ยอมให้ลูกลำบากแบบนั้นเพื่อจะได้ฝึกให้ลูกมีความอดทนเข้มแข็ง พึ่งตนเอง
    แต่ว่าบางแห่งเขาก็มีน้ำใจเอื้อเฟื้อ อย่างมีเมืองหนึ่ง นักเรียนประถมเดินกลับบ้านตอนประมาณบ่ายสาม แดดร้อนเลย โดยเฉพาะช่วงกรกฎาคม สิงหาคม แดดร้อนมาก เขาก็จะเอาน้ำเย็น ๆ มาวางไว้หน้าโรงงานหรือระหว่างทาง เขาจะให้พนักงานเตรียมเลย เอาน้ำเย็น ๆ ใส่ตู้ แล้วเอาเครื่องกดน้ำเย็น ๆ มาวางไว้ที่หน้าร้าน ที่หน้าบริษัท
    เด็กก็ดีใจ อากาศร้อน ๆ มีน้ำเย็น ๆ ดื่ม เขาไม่ได้วางตู้อย่างเดียว เขามีพนักงานคอยอำนวยความสะดวกด้วย อันนี้ก็เรียกว่าเป็นความเอื้อเฟื้อของคนญี่ปุ่นที่เขาอยากจะอุปถัมภ์ช่วยเหลือเด็กนักเรียน ไม่ใช่ว่าไม่เอาใจใส่ หรือนิ่งดูดาย อันนี้ก็เรียกว่าเป็นการประสานกันระหว่างความเมตตากับความมีระเบียบ
    เมืองไทยแต่ก่อนก็เหมือนกัน ตามหมู่บ้านก็จะมีโอ่งน้ำเย็น ๆ ให้คนที่เดินผ่านได้ดื่มน้ำ แต่เดี๋ยวนี้เราไม่เห็นแล้ว โอ่งน้ำหน้าบ้าน สมัยอาตมายังเด็ก ๆ ยังเห็น ในชนบทแต่ละบ้านนี่ก็มีโอ่งน้ำ มีตุ่มน้ำดื่มเย็น ๆ บางทีก็ลอยมะลิด้วย อันนี้แสดงถึงความมีน้ำใจ หายไปจากเมืองไทยแล้ว แต่ไม่น่าเชื่อประเทศญี่ปุ่นก็ยังมีอยู่
    อันนี้ก็เรียกว่ามันเป็นบรรยากาศที่ดีมาก ในด้านหนึ่งก็เห็นความเป็นระเบียบของเด็กนักเรียน ความอดทน รวมทั้งความเสียสละของพ่อแม่ ขณะเดียวกันก็เห็นความเอื้อเฟื้อของผู้ใหญ่ ถ้าเรามีการเชื่อมโยงกัน ประสานกันระหว่างความมีระเบียบวินัยกับความเมตตาอย่างพอเหมาะพอดีนี่มันก็เป็นภาพที่น่าดู
    ที่ประเทศสิงคโปร์ก็เหมือนกัน ประเทศสิงคโปร์ ความเมตตากรุณาของผู้ใหญ่นี่เขาก็แสดงออกในอีกแบบหนึ่ง มีเด็กไทยเล่าว่าเคยไปเรียนที่สิงคโปร์ ไปเรียนได้ไม่ถึงเดือน ภาษายังไม่คล่องเลย วันหนึ่งครูก็บอกว่าจะให้ทำบททดสอบ จะให้มีการสอบ ไม่ได้บอกล่วงหน้า อันนี้ก็เป็นสไตล์ของเขาเพื่อดูว่าเด็กมีความรู้มากแค่ไหน
    ครูก็แจกกระดาษกรอกคำตอบให้กับนักเรียน แล้วก็ให้เวลาหนึ่งชั่วโมง หรือ 45 นาที พอหมดเวลาครูก็บอกว่าวางปากกาลง แล้วครูก็เริ่มเก็บกระดาษคำตอบ นักเรียนไทยคนนี้แกชื่อด้า แกไม่ค่อยรู้ธรรมเนียมหรือไม่รู้จักระเบียบวัฒนธรรมของที่นี่ ตอนที่ครูมาเก็บกระดาษคำตอบแกก็ไม่ได้วางกันปากกาลง ทั้งที่ครูบอกว่าให้วางปากกาลง
    อันนี้ก็เป็นวิธีป้องกันการทุจริต เพราะว่าถ้าไม่วางปากกานี่เด็กนักเรียนก็ยังสามารถที่จะเติมคำตอบ เอาเปรียบคนอื่นคนที่ถูกเก็บกระดาษก่อนนี่ก็ไม่มีโอกาส ไม่มีเวลาเพิ่มเติมที่จะเติมคำตอบ เพราะฉะนั้นเพื่อให้เกิดความยุติธรรมก็ต้องวางปากกาลงทุกคน แต่ด้าแกบอกว่าตอนที่อยู่เมืองไทย เธอไม่เคยวางปากกา เราจะวางปากกาก็ต่อเมื่อครูเก็บกระดาษคำตอบเสร็จแล้ว เราถึงค่อยวางปากกา
    เพราะฉะนั้นเธอไม่ได้วางปากกาตอนที่ครูจะมาเก็บกระดาษคำตอบ พอครูดึงกระดาษคำตอบจากมือของด้า เห็นด้ายังไม่วางปากกา ครูก็เอาปากกาสีแดง ๆ เขียนกลม ๆ เลข 0 ตรงหัวกระดาษ แปลว่าได้ 0 ศูนย์เฉยเลย เพียงเพราะว่าไม่วางปากกา
    ด้าทีแรกก็คิดว่าครูคงไม่เอาจริง เพราะว่าในเมืองไทยคุยกันได้ เพราะฉะนั้นพอพักเรียน พอหยุดพักแกก็ไปหาครู บอกว่า ครูเอาจริงหรือ แกจะต่อรองว่า หนูอยู่เมืองไทยมานานเพิ่งมาสิงคโปร์ได้ไม่กี่เดือน ยังไม่รู้ระเบียบ ครูจะให้ 0 เชียวหรือ ครูบอกแน่นอน เพราะเธอไม่ทำตามระเบียบ
    แล้วครูก็บอกว่าประเทศเราประเทศนี้สร้างชาติด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ถ้าใครที่ไม่แสดงถึงความซื่อสัตย์สุจริตก็ถือว่ามีโทษ ด้าบอกว่า ผิดนิดเดียวเอง ไม่ได้วางปากกา ไม่ได้ไปแอบดูคำตอบของใครที่ไหน ครูก็บอกว่าคนเราถ้าผิดนิดเดียวต่อไปมันก็จะผิดมากขึ้น เรื่องแค่นี้เธอยังไม่ซื่อสัตย์สุจริตเลย ต่อไปเธอก็จะทุจริตหนักกว่านี้ สุดท้ายครูไม่ยอม ยังให้ 0 กับด้า
    ด้าบอกว่านี่เป็นบทเรียนสำคัญเลยว่า ประเทศสิงคโปร์นี่เขาเคร่งครัดมาก เขาให้ความสำคัญกับความซื่อสัตย์มาก จริงอยู่ว่าด้าเขาไม่ได้ตั้งใจทุจริตหรือตั้งใจเอาเปรียบ แต่ว่าการที่แกไม่ทำตามระเบียบก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ของสิงคโปร์ สิงคโปร์ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก การปฏิบัติตามระเบียบ ผิดก็เป็นผิด ไม่มีการต่อรอง แล้วครูก็บกว่าถ้าเธอผิดนิดเดียวต่อไปเธอก็จะผิดหนักขึ้น
    อันนี้คือเหตุผลว่าทำไมสิงคโปร์จึงเป็นประเทศที่เจริญ แล้วคนก็มีความซื่อสัตย์สุจริตมาก เพราะว่าถูกสอนมาตั้งแต่เล็กให้ปฏิบัติตามระเบียบ ที่จริงครูเขาก็มีความเห็นใจ เดาได้ว่าครูก็เห็นใจด้า เด็กไทยเพิ่งมาเรียนไม่กี่เดือน ได้ 0 นี่ ครูก็คงจะไม่อยากทำอย่างนั้น แต่ว่าครูต้องการสอน สอนด้าให้รู้จักระเบียบ เพราะว่าต่อไปจะช่วยทำให้ชีวิตของเธอเจริญก้าวหน้าได้
    อันนี้ก็เป็นความเมตตาของครู แต่ว่าเมตตาของครูมันแสดงออกด้วยการสอนให้ลูกศิษย์ทำตามระเบียบ ไม่มีการบิดพลิ้ว ตรงแบบไม้บรรทัดเลย ซึ่งเมืองไทยนี่เราคิดว่าเมตตาก็ต้องแสดงออกด้วยการโอนอ่อนผ่อนตาม อย่าทำอย่างนั้นกับเด็กเลย ความเมตตาของครู ความเมตตาของพ่อแม่นี่มันแสดงออกมาคนละแบบ คนละจังหวะกับคนญี่ปุ่นหรือคนสิงคโปร์
    เมตตาก็สำคัญ กฎระเบียบก็สำคัญ แต่ว่าทำอย่างไรถึงจะให้มีความเมตตาควบคู่ไปกับการสอนให้มีระเบียบอย่างมีความสอดคล้องกัน ของไทยเรานี่เมตตาแบบพร่ำเพรื่อแล้วก็ไม่มีจังหวะ ก็ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาได้ แต่ของญี่ปุ่น สิงคโปร์ นี่เมตตาสำคัญแต่ว่าเขาแสดงออกในลักษณะที่แตกต่างกัน
    ครูก็เมตตาต่อด้า แต่ว่าเขารู้ว่าถ้าใจอ่อน ด้าก็จะไม่เติบโต แล้วปรากฏว่าด้าเขาก็บอกว่าได้บทเรียนที่สำคัญจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้ไม่ลืมเลย ทำอะไรก็จะไม่ให้ผิดพลาด เพราะถ้าผิดพลาดครั้งหนึ่งแล้วต่อไปก็จะผิดพลาดมากขึ้น จากเล็กกลายเป็นใหญ่ ก็ทำให้เกิดปัญหาในการทำงานและการดำเนินชีวิตได้.

logo

  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อเรา
  • จดหมายข่าว
  • Privacy Policy
  • Terms of Service