PAGODA
  • หน้าแรก
  • ฐานข้อมูล
  • เสียง
  • วีดิทัศน์
  • E-Books
  • กิจกรรม
  • บทความ
PAGODA
  • หน้าแรก
  • ฐานข้อมูล
  • เสียง
  • วีดิทัศน์
  • E-Books
  • กิจกรรม
  • บทความ

Search

  • หน้าแรก
  • เสียง
  • พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
  • เจตนาดีอย่างเดียวยังไม่พอ
เจตนาดีอย่างเดียวยังไม่พอ รูปภาพ 1
  • Title
    เจตนาดีอย่างเดียวยังไม่พอ
  • เสียง
  • 13985 เจตนาดีอย่างเดียวยังไม่พอ /aj-visalo/2025-07-08-04-12-15.html
    Click to subscribe
    • Share
    • Tweet
    • Email
    • Share
    • Share

ผู้ให้ธรรม
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
วันที่นำเข้าข้อมูล
วันอังคาร, 08 กรกฎาคม 2568
ชุด
ธรรมะสั้นๆ ก่อนอาหารเช้า 2568
  • แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]

  • พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้า วันที่ 4 กรกฎาคม 2568
    ที่ประเทศเกาหลีใต้มีสัตว์ชนิดหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมมากนั่นคือหมา หรือสุนัข มีการเลี้ยงหมามากมาย แต่ไม่ได้เลี้ยงหมาเป็นเพื่อนเท่านั้น เลี้ยงหมาเป็นเพื่อนหรือเพื่อใช้งานก็มีอยู่ แต่จำนวนมากหรือกว่าครึ่ง เลี้ยงเพื่อกิน
    คนเกาหลีนิยมกินเนื้อหมามาก กินกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันจนกระทั่งต้องมีฟาร์มเลี้ยงหมา มี 1,500 ฟาร์ม เลี้ยงเพื่อฆ่าเป็นเนื้อให้คนกิน รวมประมาณ 500,000 ตัว ปรากฏว่าสมาคมสงเคราะห์สัตว์และประชาชนจำนวนมากรณรงค์เพื่อห้ามการกินเนื้อหมาหรือห้ามขายเนื้อหมา
    แต่จะห้ามกินนั้นห้ามยาก ห้ามขายยังพอจะห้ามได้ ผลักดันมาจนเมื่อปีที่แล้วรัฐบาลออกกฏหมายห้ามขายเนื้อหมาเพื่อบริโภค และให้เวลา 3 ปี คือ 2570 ต้องยุติอย่าเด็ดขาด ซึ่งรวมถึงการเลี้ยงหมาเพื่อการบริโภคด้วย
    ปรากฏว่าฟาร์มเลี้ยงหมาจำนวนมากเดือดร้อนเลย เพราะหมาเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของผู้คนจำนวนมาก หลายคนก็ไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อมาทำฟาร์มหมา เพื่อหาอาหารมาเลี้ยงหมา แต่พอรัฐบาลมีกฎหมายแบบนี้ขึ้นมา ฟาร์มหมาจำนวนมากต้องปิดตัว เริ่มทยอยปิด ตอนนี้ปิดไปแล้วเกือบ 600 ฟาร์ม
    ปัญหาก็คือว่าไม่ใช่แค่คนจำนวนมากที่เดือดร้อน คนตกงานจากการปิดฟาร์มหมา ขาดรายได้ไม่มีเงินจ่ายหนี้สิน หมาก็เดือดร้อนด้วย เพราะพอปิดฟาร์มหมาแล้ว จะทำอย่างไรกับหมา บางฟาร์มมีหมาตั้ง 600 ตัว พอปิดหมาก็ถูกทิ้ง เดือดร้อนต้องหาที่อยู่ให้หมาเหล่านี้
    สมาคมสงเคราะห์หมาก็พากันรับหมาเหล่านี้ไปเลี้ยง ปรากฏว่ารับได้ไม่เท่าไหร่ก็เต็ม แน่น มีสมาคมหนึ่งรับเลี้ยงหมาที่ถูกปล่อยทิ้งถูกทรมานทำมา 10 ปีแล้ว รับหมาไปได้แค่ 2,500 ตัวเท่านั้นเอง นี่ขนาด 10 ปียังได้ไม่ถึง 1% ของหมาที่กำลังจะถูกปล่อยเกาะ ก็มีการรณรงค์ให้คนรับหมาไปเลี้ยง แต่ก็ได้ไม่เท่าไหร่
    ตอนนี้ก็เลยมีปัญหาว่าหมาจำนวนเป็น 100,000 กำลังจะถูกลอยแพ ยิ่งถ้าถึงปี 2570 ฟาร์มหมาทั้งประเทศปิดหมดเลย แล้วหมาจะทำอย่างไร เพราะพอมีกฎหมายแบบนี้คนก็เริ่มกินหมาน้อยลง พอคนกินหมาน้อยลงจะทำอย่างไร หมาก็ไม่มีที่ไป
    ตอนนี้กำลังคิดว่าเมื่อถึงปี 2570 ถ้าฟาร์มหมาปิดหมดเลยก็จะมีหมาจำนวนหลายหมื่นถูกลอยแพ ซึ่งทำไม่ได้ จะปล่อยให้ออกมาเพ่นพ่านตามท้องถนนไม่ได้ ถ้าไม่มีใครรับไปเลี้ยงก็ต้องทำการุณยฆาต กลายเป็นเรื่องใหญ่เลย
    เดิมทีออกกฏหมายเพื่อสวัสดิภาพของหมา เพื่อให้หมาไม่ถูกฆ่าเพื่อเป็นอาหาร รณรงค์เพื่อสิทธิของหมาโดยแท้ แต่ไปๆมาๆกลับกลายเป็นว่าอาจจะต้องมีการทำการุณยฆาตหมา
    เรียกว่าสวนทางกับความมุ่งหมายของคนที่รณรงค์ให้มีกฎหมายนี้ อยากให้หมาอยู่สุขสบายไม่ต้องถูกเลี้ยงอย่างทรมานและถูกฆ่าเพื่อเป็นเนื้อ ไปๆมาๆกลับกลายเป็นว่ามันกำลังจะถูกฆ่าเพราะไม่มีใครเลี้ยง เลี้ยงไปก็ไม่ได้ประโยชน์ เลี้ยงไปแล้วขายไม่ได้เพราะกฎหมายห้าม
    แล้วใครจะเลี้ยง จะเลี้ยงเป็นเพื่อนก็มีคนไม่น้อยที่รังเกียจหมาที่เขาเพาะเพื่อเป็นเนื้อ เพราะเป็นหมาที่ถือว่าไม่มีคุณภาพ ส่วนคนที่ไม่รังเกียจจะเอาหมาพวกนี้มาเลี้ยง ก็มีจำนวนไม่มาก รับไปเลี้ยงก็ไม่พอ มีจำนวนไม่ถึง 1%
    เพราะฉะนั้นหมาเป็นแสนๆนี้ในอนาคตก็จะกลายเป็นว่าอาจจะถูกการุณยฆาต สวนทางกับความต้องการของพวกที่รักสัตว์รักหมา
    เรื่องนี้ก็เป็นอุทาหรณ์สอนใจว่ามาตรการอะไรก็ตาม แม้จะทำด้วยเจตนาอันดี แต่ถ้าไม่คิดให้ถ้วนถี่รอบคอบ กลับกลายเป็นการเกิดผลตรงข้าม อยากจะช่วยหมากลับกลายเป็นเร่งให้หมาตายเร็วขึ้น อย่างนี้ก็เป็นบทเรียนที่เกิดขึ้นบ่อยๆ กฎหมายมาตรการต่างๆที่ออกมาเพื่อความหวังดีแต่ผลกลับตรงกันข้าม
    เมื่อ 100 ปีก่อนอินเดียมีงูเห่ามาก ผู้ปกครองคืออังกฤษก็ออกมาตรการรับซื้องูเห่า อย่างนี้ก็เป็นการตั้งใจว่าจะส่งเสริมให้ชาวบ้านไปจับงูเห่าที่เพ่นพ่าน เป็นวิธีการกำจัดงูเห่าแบบหนึ่งด้วยการชักชวนให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม
    เพราะถ้าชาวบ้านจับงูเห่าได้ ก็ได้เงิน คิดว่าจะทำให้งูเห่าลดน้อยถอยลงไป ที่ไหนได้งูเห่ากลับเพิ่มมากขึ้น เพราะชาวบ้านพอเห็นว่าขายงูเห่าได้ ก็เลยเพาะเลี้ยงงูเห่าเสียเลย งูเห่าก็เลยมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก
    ตอนหลังรัฐบาลรู้ว่ามาตรการนี้ไม่ช่วยลดงูเห่าแต่กลับเพิ่มจำนวนงูเห่า ก็เลยบอกว่าไม่ซื้อแล้ว ไม่ซื้องูเห่า ปรากฏว่าพอขายงูเห่าไม่ได้ชาวบ้านก็ปล่อย เลี้ยงงูเห่ามาเป็น 100 ตัวขายไม่ได้จะเลี้ยงไปทำไม เปลืองอาหารเปลืองเงิน
    ปรากฏว่างูเห่าเลยเพ่นพ่านหนักกว่าเดิม กลายเป็นว่าออกกฎหมายไม่ได้คิดถี่ถ้วน พอจะเลิกก็ไม่ได้คิดให้ถี่ถ้วนเหมือนกัน เลยสร้างปัญหา
    มีมาตรการหลายอย่างที่เจตนาดีแต่ผลออกมาตรงข้าม ที่อิสราเอลมีโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่ง มีเงื่อนไข มีข้อกำหนด มีระเบียบว่า ถึงเวลานักเรียนเลิก ผู้ปกครองต้องมารับลูกเอง โรงเรียนเลิกบ่าย 3 แต่ปรากฏว่ามีผู้ปกครองหลายคนไม่มารับตามเวลาหรือมาสาย
    เดือดร้อนครูต้องคอยเฝ้าคอยส่งเด็กให้ผู้ปกครองมารับไป เป็นอย่างนี้มากเข้าๆ บ่อยเข้าๆ เดือดร้อนทั้งเด็กต้องคอยพ่อคอยแม่ เดือดร้อนทั้งครูต้องคอยรอผู้ปกครองมารับลูก โรงเรียนก็เลยมีมาตรการปรับ ผู้ปกครองคนไหนมาสายไม่มารับลูกตามเวลาคือบ่าย 3 ก็ถูกปรับ ก็ปรับเยอะนะเดือนละเป็น 100
    ปรากฏว่าแทนที่ผู้ปกครองจะมารับลูกตรงเวลามากขึ้น แทนที่ผู้ปกครองจะมาสายน้อยลง กลับกลายเป็นว่าผู้ปกครองมาสายมากขึ้น แทนที่จะมารับลูกบ่าย 3 ก็บ่าย 4 โมง หรือบางทีก็ 5 โมงเย็น ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
    เพราะผู้ปกครองเห็นว่าการจ่ายเงินเป็นการซื้อสิทธิ์มาสายได้ ผู้ปกครองก็มีสิทธิ์มาสายได้เพราะจ่ายเงินแล้ว โรงเรียนคิดว่าเป็นค่าปรับของพ่อแม่ที่รับลูกช้า แต่ผู้ปกครองกลับมองว่าเป็นการซื้อสิทธิ์และกลุ่มนี้ก็มีฐานะดี มีธุรกิจมาก
    คนพวกนี้คิดว่าถ้ามารับลูกช้าสักชั่วโมง 2 ชั่วโมงจะเป็นไรไป เพราะทำงานเพิ่ม 2 ชั่วโมงรายได้เยอะ คุ้ม มารับลูกช้าแต่ได้เงินเพิ่มขึ้นหลายพันหรือเป็น 10,000 เพราะฉะนั้นก็ถือว่าตัวเองมีสิทธิ์มาสายเพราะจ่ายเงินแล้ว ปรากฏว่าสุดท้ายโรงเรียนก็ต้องเลิกมาตรการนี้เพราะว่าเกิดผลตรงกันข้ามกับที่หวัง
    เวลาทำมาตรการหรือกฎหมายอะไรมาคนมักจะทำด้วยความปรารถนาดีแต่คิดชั้นเดียว พอคิดชั้นเดียวผลก็เลยออกมาตรงกันข้าม เช่น ระยะหลังมีหลายมหาวิทยาลัยอาจารย์ต้องทำงานวิจัย เพื่อส่งเสริมให้อาจารย์หาความรู้มากขึ้น มีการให้รางวัลอาจารย์ที่มีผลงานวิจัยและตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำวารสารต่างประเทศ จะได้รับค่าตอบแทน
    ปรากฏว่าอาจารย์จำนวนมากแทนที่จะทำงานวิจัยกลับไปซื้องานวิจัย หรือจ้างคนมาทำงานวิจัย แล้วก็หาที่ตีพิมพ์ จ่ายเงินเพื่อให้วารสารนี้ตีพิมพ์เพื่อตัวเองจะได้ผลตอบแทนจากมหาวิทยาลัย
    กลายเป็นว่าแทนที่อาจารย์จะขวนขวายในการทำงานวิจัย มีความรู้มาสอนนักศึกษา กลับไม่มีความรู้เลย เพราะว่าเอาเวลาไปซื้องานวิจัย กับไปหาช่องทางตีพิมพ์ ซึ่งกลายเป็นการทุจริตทางวิชาการที่เลวร้ายมาก
    เดี๋ยวนี้เป็นกันมาก มหาวิทยาลัยเต็มไปด้วยอาจารย์ที่ไปลอกงานวิจัยและไปจ้างวารสารให้ตีพิมพ์ เรียกว่ามาตรการดี เจตนาดี แต่ผลตรงกันข้าม เพราะฉะนั้นเวลาทำอะไร ออกมาตรการหรือกฎหมายอะไร คนมักจะคิดว่าจะแก้ปัญหาได้ แต่ถ้าคิดชั้นเดียวมันก็ทำให้เกิดผลตรงข้าม
    เพราะฉะนั้นเจตนาดีอย่างเดียวไม่พอต้องใช้ปัญญา ต้องคิดให้ถี่ถ้วนด้วย.

logo

  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อเรา
  • จดหมายข่าว
  • Privacy Policy
  • Terms of Service