พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 23 มิถุนายน 2568
มีเรื่องราวของผู้เฒ่าคนหนึ่ง หลายคนอ่านแล้วประทับใจ เรื่องนี้ถ้าตั้งชื่อคือ ชายชราผู้เปลี่ยนโลกด้วยไขควงหนึ่งอัน ชื่อเรื่องน่าสนใจ และน่าทึ่งด้วย เป็นเรื่องของชายวัยอายุ 79 เกือบ 80 แล้ว ชื่อ จอร์จ
จอร์จมีภรรยาชื่อ รูธ รูธเป็นคนที่เอื้อเฟื้อมากต่อเพื่อนบ้าน ใครที่มีของเสียหาย เช่น เสื้อผ้า อยากให้เธอเย็บซ่อม เธอก็รับทำให้ฟรี ๆ บางคนกรอบรูปหักมาให้เธอซ่อม เธอก็ซ่อมให้ บ้านเธอเลยมีของที่รอซ่อมเยอะ
แต่ตอนหลังรูธตาย จอร์จผู้เป็นสามีนึกถึงภรรยาแล้วอยากจะสานต่อสิ่งดี ๆ ที่ภรรยาทำคือ การซ่อมแซมของที่เสียหายให้กับเพื่อนบ้าน หรือแม้กระทั่งคนแปลกหน้า โดยไม่คิดเงิน
วันหนึ่งจอร์จเลยติดป้ายไว้ที่หน้าบ้าน เป็นป้ายทำมือ บอกว่า ใครที่มีของเสีย มาได้เลย จะซ่อมให้ฟรี ไม่คิดเงิน มีแต่กินน้ำชา และพูดคุยกันระหว่างที่รอการซ่อม เขียนทำนองนี้ หลายคนเห็นป้ายแล้วหัวเราะว่า เป็นไปได้อย่างไร ซ่อมฟรี ไม่มีใครทำให้หรอก ซ่อมฟรี ๆ
แต่ว่าวันหนึ่ง มีเด็กคนหนึ่งอายุ 8 ขวบ ลากรถ รถเป็นรถพลาสติก แต่ว่าล้อหายไปข้างหนึ่ง มาขอให้ปู่จอร์จซ่อมให้ ปู่จอร์จก็ซ่อมให้ วันต่อมาปรากฏว่ารถวิ่งได้ เพราะว่ามีล้อที่มาเป็นอะไหล่แทนคือฝาขวดพลาสติก ฝาพลาสติกทำแทนล้อได้ เด็กดีใจมาก รถคันโปรดแล่นได้อีกแล้ว
ทีแรกมีแค่ลูกค้าคนนี้ ซึ่งจะเรียกว่าเป็นลูกค้าก็ไม่ถูก เพราะเขาไม่ได้คิดเงิน แต่หลังจากที่เด็กคนนี้ลากรถไปบอกใครต่อใครว่าปู่จอร์จซ่อมให้ วันต่อมาก็มีแม่ม่ายเอานาฬิกาที่แตกมาให้ปู่จอร์จซ่อม
บอกว่า ช่วยซ่อมให้หน่อย เขาก็ซ่อมให้ วันรุ่งขึ้นแม่ม่ายมารับนาฬิกา ดีใจมาก เพราะเป็นของเก่าของแก่
เรื่องราวของปู่จอร์จเริ่มแพร่หลายไปในชุมชน ต่อมามีวัยรุ่นเอาเป้มาให้ปู่จอร์จซ่อม เพราะว่าเป้มีรูรั่ว ปู่จอร์จเขาซ่อมไม่เป็น แต่ว่ามีคนอาสามาช่วย เป็นช่างเย็บผ้าในชุมชนมาช่วยซ่อมให้
นับแต่นั้นมาก็มีใครต่อใครเอาของมาให้ปู่จอร์จซ่อมเยอะ บางทีก็ยางรถรั่ว ยางรถจักรยาน บางทีก็เป็นเก้าอี้ที่ขาหักหรือว่าขาเดี้ยง บางคนก็เอาไมโครเวฟที่เสียแล้วมาให้ซ่อม บางคนบอกว่า มาช่วยซ่อมเรซูเม่ได้ไหม เรซูเม่ คือ ประวัติสำหรับการทำงาน
ปรากฏว่าทั้งหมดนี้ปู่จอร์จเขารับหมด แต่ว่าเขาไม่ได้ทำคนเดียว ภายหลังมีช่างในชุมชนมาช่วยซ่อม ช่วยจัดการให้ มีทั้งช่างไฟฟ้า มีทั้งช่างเย็บผ้า แม้กระทั่งครูเกษียณแล้วก็มาช่วยซ่อมเรซูเม่ให้ เพราะว่าเป็นเรื่องของการใช้ความรู้ ซ่อมเรซูเม่ คือ ซ่อมประวัติการทำงานให้ดูดีขึ้น เรียบเรียงให้กระชับขึ้น
ปรากฏว่าในที่สุดบ้านของปู่จอร์จก็คึกคัก มีทั้งคนที่เอาของมาซ่อม และมีทั้งช่างที่รับอาสาช่วยซ่อมให้ ระหว่างที่ซ่อม บางคนก็นั่งคุยกันระหว่างลูกค้า หรือคนที่เอาของมาซ่อมกับช่าง เกิดความมีชีวิตชีวาขึ้นมา ปู่จอร์จเขาแค่เอาน้ำชามาเสิร์ฟ
ปรากฏว่าตอนหลังเริ่มมีปัญหา นายกเทศมนตรีบอกว่า บ้านของจอร์จเอามาทำเป็นสถานที่รับซ่อมข้าวของเครื่องใช้ไม่ได้ มันผิดกฎของชุมชน ผิดกฎหมายผังเมือง กฎหมายผังเมืองเขาจะกำหนดว่าที่ใดเป็นเขตที่ใช้อาศัย ห้ามทำกิจการต่าง ๆ ถ้าจะซ่อมก็ให้ไปที่อื่น ไม่ใช่มาซ่อมกันตรงนี้
ปรากฏว่าชาวบ้านมาประท้วงกันใหญ่ 40-50 คนมายืนอยู่บนลานสนามหญ้าหน้าบ้านของจอร์จ ถือป้ายว่า เปลี่ยนกฎหมายเถิด เราแค่อยากจะซ่อมข้าวของเครื่องใช้ บางคนเขาเขียนว่า ซ่อมฟรีผิดกฎหมายตรงไหน และแต่ละคนก็เอาข้าวของเครื่องใช้ที่เสียมาเป็นหลักฐานด้วย
แต่นายกเทศมนตรีไม่ยอม ไม่เปลี่ยนกฎหมาย สุดท้ายต้องย้ายที่ซ่อม ซึ่งตอนนั้นติดป้ายไว้แล้วว่าเป็น ศูนย์ของรูธ Ruth’s Hub รูธ เป็นชื่อของภรรยา เปลี่ยนศูนย์ซ่อมจากบ้านจอร์จไปเป็นอาคารเก่า ๆ อาคารหนึ่ง คนช่วยออกเงินเป็นค่าเช่า และคนก็มาช่วยกันซ่อมตกแต่งสถานที่ให้เป็นที่ที่เหมาะกับการซ่อมแซมข้าวของเครื่องใช้
ปรากฏว่านับแต่นั้นมา อาคารเก่าหลังนั้นกลับมีชีวิตชีวาขึ้นมา คนยิ่งมามากกว่าเดิม คนในชุมชน คนในเมืองมากัน มีทั้งคนที่เอาของมาซ่อม บางทีก็เป็นชายหนุ่มที่เสื้อผ้าเกิดขาดขึ้นมา บางคนก็เอาพวกเครื่องใช้ไฟฟ้า หม้อต้มน้ำมาให้ซ่อม และมีช่างมาช่วยซ่อมด้วย
และตอนหลังช่างไม่ได้มาซ่อมเฉย ๆ มาสอนด้วย สอนเด็กให้รู้วิธีการต่อท่อประปา อันนี้เป็นช่างประปา วัยรุ่นที่เคยเอาเป้มาให้ช่างมาเย็บซ่อมก็เริ่มเรียนวิธีการซ่อมเสื้อผ้าด้วยตัวเอง เกิดการร่วมมือ เกิดการพบปะสังสรรค์กัน
ในแง่ของเศรษฐกิจ ปรากฏว่าขยะลดลงไป 30 เปอร์เซ็นต์ และคนมีรายจ่ายน้อยลง เพราะว่าแต่ก่อนเวลาอะไรเสียก็ทิ้งแล้วซื้อใหม่ ทิ้งก็กลายเป็นขยะ ซื้อใหม่ก็ทำให้เปลืองเงิน แต่ปรากฏว่าพอมีกิจการของจอร์จขึ้นมา ขยะลดลง 30 เปอร์เซ็นต์ เพราะคนไม่ทิ้งข้าวของแล้ว กลับมาซ่อมกลับมาแซมใหม่ หรือไม่ก็รีไซเคิล รายจ่ายของชาวบ้านก็น้อยลง เศรษฐกิจก็ดีขึ้น
และที่สำคัญคือว่าเมืองมีชีวิตชีวามากขึ้น แต่ก่อนต่างคนต่างอยู่ ตอนนี้เริ่มมาพบปะสังสรรค์กัน มาคุยมาสนทนากัน เดิมทีแค่มารอของซ่อม ตอนหลัง อย่ารอเปล่า ๆ เลย คุยกันดีกว่า และตอนหลังก็ไม่ได้แค่คุย มีการสอนวิธีการซ่อมเครื่องไฟฟ้า วิธีการเย็บผ้า
ตอนหลังปรากฏว่ากิจการขยายไปเมืองอื่นด้วย เพราะเมืองอื่นเขาเห็นว่า เราทำได้ เพียงแต่ว่าขอให้มีศูนย์กลางที่คนที่เกษียณแล้ว คนแก่คนชราที่มีฝีมือมาซ่อม
ดีกับคนแก่ด้วย เพราะคนแก่บางทีอยู่ว่าง ๆ เปล่า ๆ ไม่มีอะไรทำ ความรู้มี แต่ว่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ ก็ได้มาทำงานที่ศูนย์ที่ว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ของจอร์จ หรือว่าศูนย์ที่อื่น
คนแก่ แม่ม่ายที่เหงาก็เริ่มมีชีวิตชีวา เพราะว่ามีอะไรให้ทำ พ่อเลี้ยงเดี่ยวซึ่งอยู่คนเดียวเริ่มมีกิจกรรมปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ปรากฏว่ากิจกรรมของศูนย์แบบศูนย์ของจอร์จแพร่กระจายไปหลายเมือง
อันนี้เป็นเรื่องราวที่คนอ่านแล้วเกิดความประทับใจ
มีนักเขียนคนหนึ่งชื่อ นิ้วกลม เขาอ่านดูและดูภาพแล้วสงสัยว่า นี่เรื่องจริงหรือเปล่า เริ่มต้นจากการแปลเรื่องราวทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษ และให้ ChatGPT ตอบมาว่า มีที่มาที่ไหนบ้าง
ปรากฏว่าเรื่องนี้กระจายไปทั่ว โดยเฉพาะทางเฟซบุ๊ก และ LinkedIn ในต่างประเทศ ถามว่าที่มามาจากใคร ChatGPT ตอบได้หมด ซึ่งทำให้มีข้อสงสัยว่ามันเป็นเรื่องที่กุขึ้นมาหรือเปล่า
เอาภาพลุงจอร์จที่ทำท่าเหมือนกับเจียระไนเพชร ไม่ใช่เป็นช่างซ่อมด้วยไขควงเลย เอาไปให้ ChatGPT เช็คว่าที่มาของภาพนี้มาได้อย่างไร และให้ Google เช่น Google Lens วิเคราะห์ภาพนี้หน่อยว่า ภาพนี้ถ่ายขึ้นมาเจาะจง หรือเป็นภาพสต็อก
ได้คำตอบว่าเป็นภาพสต็อก คือภาพที่เก็บไว้ในคลังให้ใครที่สนใจมาซื้อเอาไปใช้ได้
ถามต่อไปอีก ถาม Google Search ว่า ที่มาของภาพนี้อยู่ที่ไหน ปรากฏว่ากระจายไปทั่ว พูดง่าย ๆ คือเป็นภาพโหล เลยสงสัยว่ามันเป็นภาพที่ AI สร้างขึ้นมาหรือเปล่า
ตอนนี้สรุปว่า เรื่องราวของลุงจอร์จกับภาพที่ประกอบสงสัยว่าจะเป็นการยกเมฆ แต่งขึ้นมา และเอาภาพสต็อกอะไรจากที่ไหนไม่รู้มาประกอบ และคนก็หลงเชื่อว่าเป็นความจริง แต่ว่าสุดท้ายก็พิสูจน์ว่ามันมีแนวโน้มจะเป็นเรื่องที่เฟคขึ้นมา ทั้งเรื่องและภาพ
แต่ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่ไม่จริง แต่ว่าเรื่องราวของลุงจอร์จน่าประทับใจ ซึ่ง ทำให้คนเกิดแรงบันดาลใจได้ สามารถเอาความคิดของลุงจอร์จไปทำให้เป็นจริงได้
เพราะฉะนั้น มันจริงหรือไม่จริง นั่นก็เรื่องหนึ่ง แต่ว่ามันก็ให้ไอเดีย และแรงบันดาลใจให้กับคน แต่ขณะเดียวกันก็เตือนใจเราว่า เดี๋ยวนี้อะไร ๆ ที่แพร่ทางเฟซบุ๊ก เราอย่าเพิ่งเชื่อง่าย ๆ แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ดีก็ตาม อย่างน้อยเราต้องรู้ก่อนว่าเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องหลอก และเดี๋ยวนี้มีเยอะมาก
เพราะฉะนั้น เขาตั้งข้อสังเกตว่า เวลาเจอเรื่องทำนองนี้ ให้เอ๊ะไว้ก่อน อย่าเพิ่งเชื่อ อย่าเพิ่งเออออ เอ๊ะไว้ก่อน แล้วมันเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องเท็จก็ค่อยว่ากันอีกที ส่วนสาระสำคัญของเรื่องที่แต่งขึ้นมาก็ยังมีอยู่ ซึ่งเอามาเป็นแรงบันดาลใจได้.