พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 22 มิถุนายน 2568
มีอาจารย์ชาวอเมริกันคนหนึ่งพูดถึงพ่อของตัวเองว่า เป็นคนที่ร่าเริง มีชีวิตชีวา และเป็นคนที่รักครอบครัวมาก เขาชอบเล่าเรื่องอะไรต่าง ๆ ให้ลูกฟัง ความใกล้ชิดระหว่างพ่อกับลูกมีมาก และเขาได้อะไรดี ๆ จากพ่อเยอะ รวมทั้งจากแม่ด้วย เขาบอกว่าเขาเหมือนคนถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 ในเรื่องที่เกี่ยวกับพ่อแม่
พ่อของเขาตอนที่เสียชีวิตอายุประมาณสัก 80 ตอนนั้นเขาอายุ 40 กว่าแล้ว เมื่อจัดงานศพพ่อเรียบร้อย เขาก็ไปเคลียร์ทรัพย์สมบัติของพ่อ รวมทั้งเคลียร์เอกสารต่าง ๆ ที่พ่อเก็บเอาไว้ ระหว่างที่เคลียร์เอกสาร เขาเจอจดหมายฉบับหนึ่ง กระดาษกรอบแล้ว เพราะว่าเขียนมา 60 ปีแล้ว เป็นจดหมายประกาศเกียรติคุณจากกองทัพ
พ่อเขาเคยเป็นพลทหาร และไปเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 จดหมายประกาศเกียรติคุณพูดถึงพ่อของเขาว่า ตอนที่เป็นพลทหาร ระหว่างไปปฏิบัติการที่เยอรมัน ก่อนที่เยอรมันจะถูกยึดครอง ปรากฏว่ากองร้อยของพ่อเขาโดนกองทัพเยอรมันถล่มด้วยปืนใหญ่ พ่อของเขาชื่อพลทหารเพาช์ เพื่อนของพ่อเขาตายทันที 8 คน บาดเจ็บอีกหลายคน
ในจดหมายนั้นระบุว่า พลทหารเพาช์กระโดดจากที่กำบังออกไปช่วยเพื่อนที่บาดเจ็บทั้ง ๆ ที่ถูกกระหน่ำด้วยปืนใหญ่ โดยที่เจ้าตัวไม่หวั่นเกรงหรือห่วงใยความปลอดภัยของตัวเลย และพลทหารเพาช์ก็ดูแลรักษาผู้บาดเจ็บเป็นอย่างดี จนกระทั่งสามารถจะเคลื่อนย้ายทั้งหมดสู่ที่ปลอดภัยได้ เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้พลทหารเพาจ์ได้รับเหรียญกล้าหาญ
ผู้เป็นลูกอ่านจดหมายนี้ด้วยความประหลาดใจ เพราะว่าพ่อกับเขาคุ้นกันมาก สนิทกันมาก มีเรื่องอะไรพ่อก็เล่าให้เขาฟัง แต่ว่าพ่อไม่เคยปริปากพูดเรื่องนี้เลย เป็นวีรกรรมของพ่อที่ทำให้ได้รับเหรียญกล้าหาญ
หลายคนมีความลับ ความลับที่เป็นเรื่องที่ไม่ดีที่ปกปิดเอาไว้ และพ่อของเขาก็มีความลับ แต่เป็นความลับที่เป็นวีรกรรม เป็นความกล้าหาญ แต่ว่าไม่เคยแพร่งพรายให้ภรรยาและลูกทราบเลย จนกระทั่งลูกมาพบความจริงด้วยตัวเองตอนที่มาค้นเอกสาร มันทำให้เขาศรัทธานับถือพ่อมาก
พ่อนอกจากกล้าหาญแล้ว ยังมีความถ่อมตัว ทำความดีสร้างวีรกรรมแล้วไม่อวด แม้กระทั่งกับลูก กับคนใกล้ตัว อาจจะเป็นเพราะพ่อคิดว่าเรื่องแบบนี้ใคร ๆ เขาก็ทำกัน ถ้าเป็นคนอื่นก็ต้องทำเหมือนกัน ไม่ใช่พ่อคนเดียว พ่ออาจจะอธิบายแบบนี้ก็ได้ เพราะนี่เป็นคำอธิบายของหลายคนที่เวลาทำความดี สร้างวีรกรรมแล้ว ไม่รู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองทำพิเศษ เลยไม่คิดที่จะโอ้อวด
ว่าไปแล้ว คนที่กล้าหาญมีน้อย แต่ที่น้อยยิ่งกว่าคือ ทำวีรกรรมแล้วไม่ประกาศ ไม่อวด อันนี้น้อยกว่า ซึ่งมันทำให้อาจารย์คนนี้เขานับถือพ่อมากว่า ทำความดีแล้วไม่ประกาศ ได้รางวัลแล้วไม่โอ้อวด แม้กระทั่งกับลูก คนแบบนี้มีเยอะ แต่ว่าเราไม่ค่อยรู้จัก
เคยเล่าไว้แล้วว่า เมื่อตอนก่อนจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 มีชาวอังกฤษคนหนึ่งชื่อ นิโคลัส วินตัน (Nicholas Winton) อายุแค่ 30 กว่า แต่ว่าสร้างวีรกรรมที่น่าทึ่งมากคือ ไปช่วยเด็กที่เป็นยิวในประเทศเชกโกสโลวาเกียถึง 669 คน ให้พ้นจากเงื้อมมือของนาซี เพราะตอนนั้นนาซีเริ่มเข้าไปมีอิทธิพลในเชกโกสโลวาเกียแล้ว และนาซีเกลียดชังคนยิวมาก
วินตันรู้แล้วว่า ถ้าขืนปล่อยเวลาให้เนิ่นนานออกไป เด็กจะเดือดร้อน แต่ตอนนั้นคงไม่คิดว่าเด็กชาวยิวจะถูกเข้าไปรมแก๊สในค่ายกักกัน ซึ่งมารู้ภายหลัง แต่เขาก็พยายามช่วยเด็ก ช่วยพ่อแม่ไม่ได้ แต่ช่วยเด็ก ให้เดินทางมาอยู่ที่อังกฤษได้
ใช้เวลามากในการติดต่อพ่อแม่ ในการรับตัวเด็ก ติดต่อราชการของอังกฤษเพื่อที่จะอนุญาตให้เด็กอพยพมาอยู่อังกฤษได้ ต้องมีเงินมีทองมากมาย เพื่อจะเป็นค่าประกันว่าเด็กโตแล้วจะออกจากอังกฤษไป แถมยังต้องไปหาผู้อุปถัมภ์อีก เพราะถ้าไม่มีผู้อุปถัมภ์ก็เด็กก็มาอยู่อังกฤษไม่ได้ เรียกว่าทุ่มเทมากเลย
และช่วยเด็กได้เกือบ 700 คน ก่อนที่เยอรมันจะบุกเชกโกสโลวาเกีย และทำให้พวกที่เป็นยิว ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือเด็ก หนีออกมาไม่ได้ และหลายคนก็ตายในค่ายกักกัน
วีรกรรมที่นิโคลัสทำ เขาไม่เคยเปิดเผยเลยเมื่อสำเร็จ ไม่เคยพูดให้ใครฟัง เพราะเขาคิดว่าคนที่เสี่ยงมากกว่าเขามีเยอะ สิ่งที่เขาทำไม่ได้สำคัญเท่าไรเลย แต่ตอนหลังความจริงก็ปรากฏ เพราะว่ามีคนไปขุดคุ้ยหลังจากเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว 40 ปี
อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าทึ่ง คนที่ยอมเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อช่วยเพื่อนมนุษย์ที่ตกทุกข์ได้ยาก แม้จะต่างชาติ ต่างภาษา ช่วยเสร็จแล้วก็เก็บเป็นความลับ ไม่แพร่งพราย ไม่ประกาศ ไม่โอ้อวด ทั้ง ๆ ที่เป็นวีรกรรมที่ใคร ๆ ก็ยกย่องสรรเสริญ
คนเดี๋ยวนี้เวลาทำความดีมักจะโอ้อวด หรือบางทีไม่ได้ทำความดีเลย แต่ก็มักจะหาอะไรโอ้อวด เรียกว่าเข้าหาแสง แต่ว่าจริง ๆ แล้ว การทำอย่างนี้ นอกจากทำให้อัตตาพองโตแล้ว ยังทำให้มีความทุกข์ได้ง่าย เพราะว่าพอทำความดีแล้วหวังคำชม แต่พอไม่มีคนชมก็ทุกข์ หรือถึงแม้จะมีคนชมแล้ว แต่พอเจอคำตำหนิ เจอคำวิพากษ์วิจารณ์ก็ทุกข์เหมือนกัน
คนสมัยนี้ทุกข์เพราะคำตำหนิมาก ทั้ง ๆ ที่ได้รับคำชม ได้รับคำสรรเสริญมาก แต่ว่าพอแม้จะมีคนสรรเสริญเป็นร้อย แต่พอมีคนหนึ่งตำหนิ ทุกข์มากเลย อันนี้เพราะอะไร อาจเป็นเพราะไปยึดติดกับคำชื่นชมสรรเสริญก็ได้
จริง ๆ คำชื่นชมสรรเสริญไม่ได้ทำให้เราทุกข์ถ้าเราไม่ไปยึดติดมัน แต่พอไปยึดติดเข้ามันก็ทุกข์เลย เวลาไม่มีคนชื่นชมสรรเสริญ หรือว่าหนักกว่านั้นคือ เวลามีคนตำหนิ เพราะว่าพอเรายึดติดในคำสรรเสริญแล้ว เราก็อยากได้ พอไม่ได้ขึ้นมา หรือว่าเจอตรงข้ามคือ เจอคำตำหนิ คำต่อว่า ทุกข์เลย
แต่ถ้าหากว่าเราลองฝึกใจไว้ว่า ทำความดีอย่างไร มากมายเพียงใด ก็ไม่คาดหวังคำสรรเสริญ หรือว่าแม้จะได้รับรางวัล ได้รับคำชื่นชม แต่ไม่คิดจะประกาศ อาจจะทำยาก แต่ว่ามันช่วยทำให้เรามีความสุขได้ง่าย
ถึงแม้จะทำไม่ได้ทุกครั้ง แต่อย่างน้อย มีคนชมสัก 10 ครั้ง ไม่อวดสัก 9 ตามวิสัยปุถุชนก็อวดบ้าง 1 ครั้ง เพราะว่าอวดแล้วมันปลื้ม แต่ว่าถ้าอวดทุกครั้ง มันทำให้กิเลสอัตตาพองโต และทำให้ไปคาดหวังผลจากความดี ทำความดีแล้วไม่มีคนเห็นก็ทุกข์ หรือว่าทำความดีแล้วไม่มีใครชื่นชมสรรเสริญก็ทุกข์ และยิ่งทุกข์เมื่อถูกตำหนิ
วิธีที่เราจะไม่ทุกข์เมื่อถูกตำหนิคือว่า เจอคำสรรเสริญแล้วเราไม่ได้ปลื้ม ไม่ได้ดีใจ เพราะถ้าเราปลื้ม ดีใจเวลามีคนสรรเสริญเรา เป็นธรรมดา เวลามีคนตำหนิ เราก็ย่อมเกิดความทุกข์
ถ้าไม่อยากทุกข์เพราะคำตำหนิ ซึ่งเป็นปัญหาของคนสมัยนี้มาก ก็อย่าไปอย่าไปเพลินกับคำสรรเสริญ หรือถึงจะเพลินก็อดกลั้นไว้ ไม่โอ้อวด อันนี้เป็นวิธีที่ช่วยทำให้เราทุกข์น้อยลงได้ในยุคที่เดี๋ยวนี้ใคร ๆ ก็เข้าหาแสงกันมากมาย.