พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 2 พฤษภาคม 2568
เมื่อพูดถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลายคนก็ต้องนึกถึงฮิตเลอร์ ฮิตเลอร์เป็นผู้ที่ประกาศสงคราม ทำให้เกิดการสู้รบยืดเยื้อกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นมาเมื่อ 80 กว่าปีที่แล้ว นอกจากเป็นผู้ปลุกไฟสงครามแล้ว เขายังเป็นคนที่ริเริ่มดำเนินการให้มีการกวาดล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในเยอรมันและในประเทศยุโรปตะวันตก
อย่างที่เราทราบดี คนยิวก็ถูกฆ่าตายไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้ราว 6 ล้านคนได้ ตอนช่วงที่ยังไม่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้ มันก็มีการเริ่มกวาดล้างชาวยิวแล้ว เพราะว่าฮิตเลอร์เกลียดชาวยิวมาก ก่อนที่ฮิตเลอร์นี้จะบุกเข้าไปยึดโปแลนด์และเป็นที่มาของสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้ คนยิวในเยอรมันก็ถูกรังควาญ ถูกสังหารไปเยอะเลย
หลายคนก็อยู่ไม่ได้ต้องอพยพครอบครัวไปอยู่ประเทศใกล้เคียง เช่น เชคโกสโลวาเกีย โปแลนด์ ออสเตรีย ปรากฏว่าอยู่กันลำบากมาก เพราะว่าไม่ค่อยเป็นที่ต้อนรับของเจ้าบ้านเท่าไหร่ อยู่กันอย่างแออัดมาก แล้วก็น่าเป็นห่วงว่าอาจจะถูกกวาดล้างตามมาอีก
มีผู้ชายคนหนึ่งที่ประเทศอังกฤษชื่อ นิโคลัส วินสตัน แกได้ข่าวว่า มีผู้ลี้ภัยชาวยิวจำนวนมากมายอยู่กันอย่างแออัดเดือดร้อนมากที่หลายประเทศในยุโรป ก็มีเพื่อนชวนว่าลองมาดูว่าจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง แกก็เดินทางจากอังกฤษมาที่ประเทศเชคโกสโลวาเกียที่กรุงปราก ก็มาเห็นภาพที่สะเทือนใจมาก เห็นคนเขาอยู่กันอย่างแออัดยัดเยียด และที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือเด็ก
แกก็เลยตกลงกับเพื่อนว่า ทำยังไงเราจะหาทางช่วยเด็กเหล่านี้ให้อยู่รอดปลอดภัย ก็เลยเกิดความคิดว่า ควรจะอพยพเด็กเหล่านี้ไปอยู่ประเทศอื่น ไปที่ที่ปลอดภัยกว่า นิโคลัส วินสตันนี้ก็ติดต่อสถานทูตและรัฐบาลหลายประเทศในยุโรปในเวลานั้น เพื่อขอให้รับเด็กเหล่านี้ไปอยู่
ปรากฏว่าถูกปฏิเสธ มีแต่ประเทศสวีเดนที่รับได้บางส่วน ส่วนอังกฤษนี้ก็บอกว่ารับได้ แต่มีเงื่อนไขว่า จะต้องมีครอบครัวในอังกฤษแสดงตัวตนว่า พร้อมจะรับเอาเด็กเหล่านี้ไปอยู่ วินสตันก็เลยเดินทางกลับประเทศอังกฤษ ติดต่อหน่วยราชการต่างๆ เพื่อออกใบอนุญาตให้เด็กเหล่านี้เดินทางเข้าอังกฤษได้
ที่จริงเพียงแค่หาเด็กก็ยากอยู่แล้ว เพราะว่าต้องติดต่อครอบครัว ตอนที่เขาอยู่กรุงปรากนี้เขาก็ติดต่อครอบครัวเป็นร้อยๆ เลย ว่าจะอนุญาตให้ส่งลูกหลานตัวเองนี้ไปอยู่ประเทศอื่นไหม งานนี้ก็หนักอยู่แล้ว แต่มันยังไม่หนักเท่ากับตอนที่กลับไปอังกฤษ แล้วต้องติดต่อหน่วยราชการเพื่อขอให้ออกใบอนุญาตรับเด็กเหล่านี้เข้ามา
นอกจากนั้นก็ยังต้องติดต่อครอบครัวในอังกฤษว่า มีครอบครัวไหนบ้างที่เขาพร้อมจะรับเด็กเหล่านี้ ใช้เวลามากทีเดียว ตอนหลังเขาเห็นว่าเวลามันน่าจะไม่ทันการณ์เพราะว่าสงครามใกล้จะเกิดแล้ว ถ้าเกิดสงครามขึ้นมาเด็กเหล่านี้ไม่มีทางที่จะเดินทางข้ามประเทศได้เลย ก็เร่งรีบประกาศทางหนังสือพิมพ์ว่ามีครอบครัวไหนที่พร้อมจะรับเด็กจากประเทศเยอรมัน จากประเทศเชคโกหรือว่าประเทศโปแลนด์นี้รับไปเป็นบุตรบุญธรรมบ้าง
เท่านี้ไม่พอยังต้องหาเงินอีก หาเงินเพื่อมาเป็นค่ามัดจำ เพราะว่าจะอนุมัติเด็กแต่ละคนเข้ามาในอังกฤษได้ต้องมีค่ามัดจำเพื่อสำหรับเป็นค่าเดินทางส่งกลับ มัดจำเด็กคนละ 50 ปอนด์ ถ้าคิดเป็นเงินสมัยนี้ก็ 2 หมื่นกว่าบาท
นิโคลัส วินสตันซึ่งมีอาชีพเป็นนายหน้าค้าหุ้นด้วยวัย 30 กว่าๆ นี้ทำงานหนักมาก ทั้งหาเงิน ทั้งติดต่อหน่วยราชการ ทั้งติดต่อสื่อมวลชน ทำงานเช้าจรดบ่าย พอเย็นก็มาทำงานสงเคราะห์ช่วยเหลือเด็กเหล่านี้
ปรากฎว่าในที่สุดนี้แผนที่วางไว้ก็สำเร็จไปได้เยอะ มีครอบครัวหลายร้อยครอบครัวพร้อมจะรับเด็กที่เป็นชาวยิวเหล่านี้ และก็ติดต่อหาเงินมาเป็นค่าเดินทาง พาเด็กเหล่านี้ข้ามประเทศจากกรุงปราก เช็คโกสโลวาเกียไปอังกฤษ ติดต่อรถไฟได้หลายขบวนเลย
ตั้งแต่มีนาคม 2482 จนถึงสิงหาคม 2482 นี้ ในช่วงเวลา 5 เดือนนี้ขนเด็กไปได้ 669 คน เที่ยวสุดท้ายนี้คือกำหนดว่าจะออกเดินทาง1 กันยา 2482 ปรากฏว่าฮิตเลอร์บุกโปแลนด์เสียก่อน เกิดสงครามขึ้น เด็กขบวนรถสุดท้ายไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ น่าเสียดายมาก เพราะว่าพวกที่ย้ายประเทศไปไม่ได้นี้ส่วนใหญ่ก็ตาย ตายในค่ายกักกัน เรียกว่า ค่ายเอาชวิทซ์ในโปแลนด์
เด็ก 669 คนที่มีชีวิตรอดมาได้ พอสงครามเกิดขึ้น นิโคลัส วินสตันก็ทำงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในยุโรป เรียกว่าชีวิตเขานี้ทำงานเพื่อผู้อื่นมาโดยตลอดเลย จนกระทั่งสงครามสงบ และทั้งหมดนี้ก็ไม่เป็นข่าว
เวลาผ่านไป 40 ปีเด็กเหล่านี้ได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีอาชีพการงานที่มั่นคง ในขณะที่ญาติพี่น้องจำนวนไม่น้อยที่ตกค้างอยู่ที่ยุโรป เยอรมันก็ดี เชคโกสโลวาเกียก็ดี โปแลนด์ก็ดี ตายกันหมด แต่ว่าเด็ก 669 คนนี้อยู่รอดปลอดภัยและได้รับการเลี้ยงดูจากครอบครัวบุญธรรมนี้ได้ดีมาก และส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถจะติดต่อนิโคลัส วินสตันได้ เพราะว่าพอเขาช่วยคนเหล่านี้เสร็จ เขาก็เก็บตัวทำมาหากินตามปกติเมื่อสงครามเลิก
ที่น่าทึ่งก็คือ เขาไม่เคยบอกใครเลยว่า เขาได้ทำอะไรบ้างในช่วงที่ก่อนจะเกิดสงคราม ได้ช่วยเด็กเหล่านี้อย่างไรบ้าง ไม่มีใครรู้เพราะเขาบอกว่าสิ่งที่เขาทำมันไม่ค่อยสำคัญเท่าไหร่ อีกอย่างหนึ่งก็คือมีคนที่เสี่ยงกว่าเขามากกว่าและมีอีกเยอะเลย พวกที่ทำงานช่วยเด็กในโปแลนด์ ในเชคโกสโลวาเกียนี้ พวกเขาเสี่ยงกว่า เพราะว่าถ้ารัฐบาลรู้หรือว่าถ้าฝ่ายเยอรมันรู้เข้าก็คงจะไม่รอด
สำหรับนิโคลัส วินสตัน ตลอดเวลา 40 ปีหลังสงครามโลกนี้ เขาไม่เคยประกาศวีรกรรมของเขาให้ใครรู้เลยว่า เขาทำอะไรบ้าง เขาเป็นคนที่น่าทึ่งมาก แต่เรื่องมาแดงเอาก็ตอนที่มีเด็กที่โตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่อายุ 50 แล้ว มีสถานภาพที่มั่นคง จำได้ว่ามีผู้ชายใจดีคนหนึ่งชื่อ นิโคลัส วินสตัน ช่วยเขาให้รอดปลอดภัย ก็เลยมีการตามหา พอรู้แล้ว ก็ยังไม่บอกว่าจะสดุดีเขาอย่างไรบ้าง
แต่ก็มีคนออกอุบายว่า ให้เชิญเขาไปดูรายการ เขาก็ยินดีจะไปชมรายการการแสดงทางเวที ปรากฏว่าคนที่มาร่วมชมรายการนั้น ที่มาอยู่ในห้องประชุมนั้นก็คือ อดีตเด็กเหล่านี้ที่เขาเคยช่วย ผู้จัดถามคนที่มาในห้องประชุมว่า มีคนไหนบ้างที่เคยได้รับการช่วยชีวิตจากวินสตัน ก็แทบทั้งห้องเลย นิโคลัส วินสตันตกใจมาก เพราะไม่คิดว่าจะมีเซอร์ไพรส์แบบนี้ หลายคนก็เข้ามากอดเขา เข้ามาขอบคุณเขามากเลยที่มาช่วยชีวิตเขา
อันนี้เป็นเรื่องของคนที่น่าทึ่ง เพราะว่าเสียสละ ไม่ใช่เงินทองอย่างเดียว เสียสละ เสี่ยงชีวิตโดยที่ไม่คิดจะประกาศวีรกรรมของเขาให้ใครรู้เลย มันเป็นความสำเร็จแต่เขาก็ไม่แพร่งพรายให้ใครรู้ เขามีความกล้า มีความเสียสละ และสิ่งหนึ่งที่เขามีคือ เขามีความถ่อมตัวมาก
หลายคนนี้เพียงแค่ช่วยหมาช่วยแมว ก็อดไม่ได้ที่จะประกาศให้โลกรู้ว่า ฉันนี้ช่วยชีวิตหนึ่ง ยิ่งสมัยนี้มี Facebook ก็ยิ่งอยากจะประกาศให้โลกรู้ว่า ฉันทำอะไรไป มีความดีอะไรบ้าง แม้จะเล็กน้อย
แต่คนอย่างนิโคลัส วินสตันนี้ ซึ่งมีมาก ทำความดีเสียสละ แต่ถ่อมตัว ไม่คุยโวโอ้อวด เก็บตัว ภูมิใจในชีวิตของตัวเองแค่นี้ก็พอแล้ว อันนี้ก็เรียกว่าเป็นบุคคลที่หาได้ยากมาก และคนเหล่านี้นับวันจะหาได้ยาก เพราะว่าเดี๋ยวนี้ใครทำอะไรก็อยากจะอวดทั้งนั้น แม้จะไม่มีดีก็อวดอย่างอื่นแทน ก็เลยหาคนที่ถ่อมตัว ที่ไม่ยอมเปิดเผยความดีของตัวนับวันจะยาก
ซึ่งส่วนนี้ก็มีประโยชน์ เพราะมันดีกับเราเอง มันช่วยทำให้เราเป็นคนที่มีความสุขง่าย ไม่ต้องมีใครชื่นชมสรรเสริญเราก็มีความสุข ไม่ต้องหาแสงก็ได้ เดี๋ยวนี้คนวิ่งหาแสงกันเยอะ ถ้าไม่มีแสงก็จะมีความทุกข์มาก ทั้งๆ ที่น่าจะมีความสุขได้ เพราะว่าได้ทำความดีเป็นที่น่าภาคภูมิใจแก่ตัวเอง.