PAGODA

  • Create an account
  • Forgot your username?
  • Forgot your password?
or

Connection

Your e-mail is required to ensure the proper functioning of the Website and its services and we make a commitment not to reveal it to third parties

  • หน้าแรก
  • ฐานข้อมูล
  • เสียง
  • วีดิทัศน์
  • E-Books
  • กิจกรรม
  • บทความ
PAGODA
  • หน้าแรก
  • ฐานข้อมูล
  • เสียง
  • วีดิทัศน์
  • E-Books
  • กิจกรรม
  • บทความ

เข้าสู่ระบบ / สมัครสมาชิก

เข้าสู่ระบบ

  • สมัครสมาชิก
  • ลืมชื่อผู้ใช้?
  • ลืมรหัสผ่าน?

Search

  • หน้าแรก
  • เสียง
  • พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
  • ทำบุญต้องรู้จักละ
ทำบุญต้องรู้จักละ รูปภาพ 1
  • Title
    ทำบุญต้องรู้จักละ
  • เสียง
  • 13676 ทำบุญต้องรู้จักละ /aj-visalo/2025-05-07-03-04-50.html
    Click to subscribe
    • Share
    • Tweet
    • Email
    • Share
    • Share

ผู้ให้ธรรม
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
วันที่นำเข้าข้อมูล
วันพุธ, 07 พฤษภาคม 2568
ชุด
ธรรมะสั้นๆ ก่อนอาหารเช้า 2568
  • แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]

  • Tags
    การปฏิบัติธรรม
  • พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 26 เมษายน 2568

    มีผู้ชายคนหนึ่งชอบทำบุญ โดยเฉพาะวันพระขาดไม่ได้ที่จะทำบุญ ใส่บาตร ถวายสังฆทาน แต่บ่อยครั้งก็ทำบุญหนัก ผู้ชายคนนี้เคยเล่าให้หลวงพ่อเฟื่อง โชติโก ฟัง หลวงพ่อเฟื่องถ้าท่านมีอายุถึงวันนี้ก็ 110 ปี ท่านมรณภาพไปเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ท่านมีลูกศิษย์ลูกหาเยอะ โยมคนนี้เล่าว่า เขาไปทำบุญสร้างโบสถ์ที่วัดนั้น สร้างเมรุที่วัดนี้ และสร้างกุฏิวิหารต่าง ๆ อีกหลายวัด หลวงพ่อเฟื่องฟังแล้วถามเขาประโยคเดียวว่า “แล้วทำไมไม่ทำที่ใจบ้างเล่า” ชายคนนั้นคงงง มีทำบุญที่ใจด้วยหรือ เพราะคนส่วนใหญ่ก็เช่นเดียวกับโยมคนนี้ที่ว่า พูดถึงการทำบุญแล้วก็คือการทำบุญสถานที่ โดยเฉพาะทำบุญด้วยการสร้างโน่นสร้างนี่ หรือมิเช่นนั้นก็ถวายอาหาร ถวายปัจจัย 4 ให้วัด ให้พระ ไม่เคยนึกเลยว่าทำบุญที่ใจก็มีด้วย

    ทำบุญที่ใจ คือ การฝึกจิตฝึกใจให้เป็นกุศล

    ที่จริงการทำบุญด้วยการใส่บาตร ถวายสังฆทานก็ทำให้ใจเป็นกุศลอยู่แล้ว แต่ว่ากุศลที่ใจจะอยู่ไม่นาน พอเจองานการก็เกิดความเครียดขึ้นมา เจอใครพูดไม่ถูกหูก็เกิดความขุ่นเคือง เจออากาศร้อนก็หงุดหงิด เจอรถติดก็จิตตก เรียกว่าความเป็นกุศลของใจอยู่ได้ไม่นาน แต่ว่าถ้าเราฝึกจิตฝึกใจ เจออะไรมากระทบ ใจก็ไม่กระเทือน ยังผ่องใสเบิกบาน แม้ว่าอากาศจะร้อน เสียงจะดัง คนจะทำตัวไม่น่ารัก การที่ใจจะเป็นบุญเป็นกุศลได้ ส่วนหนึ่งก็อาศัยการภาวนา หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การปฏิบัติธรรม

    มีลูกศิษย์หลวงพ่อเฟื่องอีกคนหนึ่ง เขาภาวนามาหลายปี แล้ววันหนึ่งมาพูดทำนองตัดพ้อกับหลวงพ่อเฟื่องว่า ”ผมภาวนามาหลายปีแล้วก็ยังอยู่กับที่ ยังไม่ได้อะไรขึ้นมาเลย” หลวงพ่อเฟื่องเลยบอกว่า “เขาภาวนาเพื่อให้ละนะ ไม่ใช่ภาวนาเพื่อจะเอา” ชายคนนั้นเวลาภาวนาจะเอา อาจจะเอาบุญ หรือว่าจะเอาความสงบ เอาคุณวิเศษ แต่ลืมไปว่าจริง ๆ ภาวนาเพื่อละ

    ละอย่างแรกคือ ละความอยาก อยากได้โน่นอยากได้นี่ ถ้าเป็นคนธรรมดาก็อยากได้โชคได้ลาภ อยากได้ความร่ำรวย อยากถูกหวยรวยเบอร์ ถ้าเป็นคนอีกระดับหนึ่งก็อยากจะได้ความสำเร็จ หรือถ้าเป็นนักปฏิบัติธรรมก็อยากจะได้รับความสงบ บางคนอยากจะเห็นสีเห็นแสง ถ้ายังมีความอยาก เรียกว่ายังภาวนาไม่ถูกต้อง ภาวนาเพื่อละ

    ที่จริงการทำบุญก็เหมือนกัน ทำบุญเพื่อละ หลายคนทำบุญไม่เป็น ทำบุญแล้วคิดจะเอา อยากได้โน่นอยากได้นี่ อยากได้โชคอยากได้ลาภ อยากได้ความมั่งคั่งร่ำรวย อยากอายุยืน ซึ่งกลายเป็นการเพิ่ม เพิ่มกิเลส ถ้าทำบุญเป็นมันจะลด มันจะละ ลดความตระหนี่ ละความอยากได้ อยากได้อะไรสารพัดตามวิสัยชาวโลกอันนี้เป็นเรื่องของคนทั่วไป แต่คนที่เข้าหาศาสนาจนกระทั่งมีใจใฝ่ทำบุญต้องรู้จักทำบุญเพื่อละ ละความตระหนี่ ละความอยาก มุ่งประโยชน์ต่อผู้ที่รับ อยากจะให้อย่างเดียวเลย ไม่ใช่อยากจะเอาเข้าตัว

    นอกจากละความอยากได้โน่นได้นี่แล้ว อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคือ ละความยึด ยึดอะไร ยึดว่าเป็นเจ้าของสิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือละความเป็นเจ้าของ ของที่ถวายเมื่อถวายแล้วหรือเมื่อให้ไปแล้วต้องหมดความเป็นเจ้าของหรือปล่อยวางความเป็นเจ้าของ แต่หลายคนเวลาทำบุญยังยึดว่าเป็นเจ้าของสิ่งที่ถวายอยู่ เวลาถวายอาหารให้หลวงพ่อก็คอยดูว่าหลวงพ่อจะฉันอาหารของเราไหม เวลาถวายรองเท้าให้หลวงปู่ก็ดูว่าหลวงปู่จะใส่รองเท้าของเราไหม เวลาถวายจีวรให้กับหลวงตาก็ดูว่าหลวงตาจะครองจีวรของเราไหม ให้สังเกตว่ายังมีความเป็นเจ้าของอยู่ อาหารของเรา รองเท้าของเรา จีวรของเรา มันมีความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของอยู่ เรียกว่าให้แบบยังมีเยื่อใย ไม่ได้ให้แบบสะเด็ดน้ำ ถ้าให้จริง ๆ ต้องให้แบบไม่มีเยื่อใย ไม่มีความเป็นเจ้าของที่ค้างคาอยู่

    ทีนี้ พอมีความเป็นเจ้าของ มันเกิดปัญหาอะไร มันเกิดความทุกข์ไง หลวงพ่อไม่ฉันอาหารของเรา อุตส่าห์ไปซื้อมาจากที่ไกล แพงก็แพง อร่อยก็อร่อย ไม่ฉันของเรา ไปให้พระรูปอื่นฉันแทน หรือว่ารองเท้า รองเท้าก็ตั้งใจซื้อมาอย่างดี แต่ท่านไม่สวมรองเท้าของเราเลย จีวรก็จีวรเนื้อดี แต่หลวงตาไม่ครองจีวรของเราเลย เกิดความทุกข์ขึ้นมา

    ถ้าให้แล้วยังทุกข์แปลว่าผิดแล้ว เพราะว่าถ้าไม่ใช่มีความอยากก็ยังมีความยึดว่าเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ

    ถ้าจะให้อย่างแท้จริง ต้องละ ละความเป็นเจ้าของ ของที่เราถวายพอถวายแล้วไม่ใช่ของเราแล้ว เป็นของหลวงพ่อ หลวงปู่ หลวงตาไปแล้ว ท่านจะใช้หรือไม่ใช้ ท่านจะฉันหรือไม่ฉัน เป็นเรื่องของท่าน ไม่ใช่ว่าถ้าท่านใช้ ท่านฉัน เราจึงจะได้บุญเยอะ อันนี้เป็นความเข้าใจที่ผิด ท่านจะฉันหรือไม่ฉัน ท่านจะใช้หรือไม่ใช้ ครองหรือไม่ครอง เราก็ได้บุญอยู่แล้ว ได้บุญตั้งแต่คิดที่จะถวาย และขวนขวายไปหามา และถวาย ระหว่างที่ถวายก็ถวายด้วยใจที่ผ่องใสเบิกบาน ไม่ได้คิดกังวลเรื่องลูก เรื่องงาน เรื่องหนี้เรื่องสิน อย่างนี้เรียกว่าได้บุญแล้ว ยิ่งละความเป็นเจ้าของ ยิ่งได้บุญใหญ่

    ความเป็นเจ้าของมักจะทำให้คนมีความทุกข์ บางทีไม่ใช่แค่ทุกข์ในภพนี้ บางทีอาจจะทุกข์ในภพหน้าก็ได้ มีโยมคนหนึ่งไปทำบุญที่วัดกลางชูศรีถวายหลวงปู่บุดดา ถวายเสร็จคงจะอธิษฐานยาวเลย พอถวายเสร็จ หลวงปู่ก็ยื่นกระป๋องแป้ง บอกว่าช่วยไปโรยหมาขี้เรื้อนตัวหนึ่งหน่อย แล้วท่านก็ชี้ไปให้ดู และท่านบอกว่า หมาขี้เรื้อนตัวนี้เคยสร้างวัดมาก่อน เขาเคยเป็นเจ้าของวัด หวงวัดมาก เป็นหมาแล้วใครมาทำสกปรกก็จะเห่า โยมคนนั้นฟังแล้วอึ้งเลย หมาตัวนี้เคยเป็นเจ้าของวัด เคยสร้างวัด สร้างวัดเรียกว่าเป็นบุญ ต้องใช้เงินมากมายทีเดียว แต่แทนที่จะไปสวรรค์กลับกลายมาเป็นหมา เพราะอะไร เพราะยังยึดว่าเป็นวัดของฉัน

    ตอนที่ถวาย ตอนที่ทำบุญก็ วัดของกู ๆ พอจะตายยังคิดว่า วัดของกู ห่วงว่าวัดของกูจะไม่มีใครดูแล เจ้าอาวาสจะไม่ดูแลให้ดีเท่าที่ควร ห่วงวัด เพราะว่าไปยึดว่า วัดของกู พอตายแล้วได้เฝ้าวัดสมใจ เป็นหมา แถมเป็นหมาขี้เรื้อนเสียอีก อันนี้ทำให้โยมเขาได้คิดเลย ทำบุญต้องละ ยึดว่าเป็น ของกู ๆ ไม่ได้ แม้กระทั่งสร้างวัด สร้างวัดดีแล้ว แต่ว่าถ้าไปยึดว่า วัดของกู ๆ ทุกข์เลย วัดของกูยังไม่มีโบสถ์เลย วัดอื่นเขามีโบสถ์ไปแล้วเรียบร้อย วัดของกูโบสถ์เล็ก สู้วัดอื่นไม่ได้ หมู่บ้านข้าง ๆ วัดเขามีโบสถ์ใหญ่ สวย ทุกข์เลย หรือบางทีก็ไม่พอใจเจ้าอาวาส ปล่อยให้ใบไม้หล่นเกลื่อนกลาด หรือบางทีก็ไม่พอใจที่ไม่ยอมสร้างที่จอดรถสักที เพราะเจ้าอาวาสรักต้นไม้ ไม่ตัดต้นไม้เพื่อสร้างที่จอดรถ ไม่พอใจ ไปต่อว่าเจ้าอาวาส ด้วยความสำคัญมั่นหมายว่า นี่คือวัดของกู ๆ ตอนที่ยังไม่ตายก็ทุกข์ เพราะว่าวัดของกูไม่เป็นไปอย่างที่กูคิด เลยไปเจ้ากี้เจ้าการกับเจ้าอาวาส ไปบ่น ไปต่อว่า เพราะว่าท่านบริหารวัดไม่ถูกใจตัวเอง ยังคิดว่านี่เป็น วัดของกู ๆ ก่อนตายก็ห่วงวัด วัดของกูจะเป็นอย่างไรถ้าไม่มีกูอยู่คอยดูแล ห่วงวัด พอตายปุ๊บได้เฝ้าวัดเลย เป็นหมาวัด

    อันนี้เป็นข้อเตือนใจ ถ้าทำบุญแล้วไม่ละ ไม่วางความเป็นเจ้าของ นอกจากจะไม่มีความสุขแล้ว บางทีไปแล้วยังไปไม่ดีเสียอีก เพราะฉะนั้น การทำบุญต้องทำให้เป็น ประการแรกคือ อย่าไปทำบุญเฉพาะที่โน่นที่นี่ ทำบุญที่ใจด้วย แล้วทำบุญที่ใจความหมายหนึ่งคือการละ ละความอยากได้โน่นได้นี่ ละความเป็นเจ้าของ หรือพูดอย่างคือ ละวางผล

    ทำเท่าไรก็พอใจเท่านั้น ผลไม่ได้อย่างที่ต้องการก็ปล่อยวาง เพราะมันไม่ใช่ของเรา ถ้าเราวางใจอย่างนี้ได้จะได้บุญมากเลย แม้ว่าจะไม่อยากได้แต่ก็ได้เอง เพราะวางใจถูก เป็นกุศล.

logo

  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อเรา
  • จดหมายข่าว
  • Privacy Policy
  • Terms of Service