แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้า วันที่ 25 เมษายน 2568
ที่ประเทศอินเดียมีลิงแสมฝูงหนึ่ง มันอยู่ในเมือง เดี๋ยวนี้ลิงที่อยู่ในเมืองใหญ่ ๆ ก็มีเยอะ อย่างลิงแสมที่ลพบุรีก็เป็นพันธุ์เดียวกับลิงแสมกลุ่มที่พูดถึงนี้ ลิงแสมนั้นมันจะมีลำดับชั้น มีชั้นสูง ชั้นต่ำ มีการจัดลำดับชั้นคล้าย ๆ คนเรา มีลิงแสมชั้นต่ำหรือระดับต่ำตัวหนึ่งเป็นตัวเมีย มันมีลูกเล็กกำลังน่ารัก แต่ปรากฏว่ามีลิงแสมตัวเมียอีกตัวหนึ่ง อยู่ลำดับชั้นที่สูงกว่า เรียกว่าเป็นเมียหัวหน้าฝูงก็ว่าได้ ลิงแสมตัวนี้ไม่มีลูกแต่อยากมีลูกมาก เป็นสัญชาตญาณของตัวเมีย ทำยังไงจึงจะมีลูกได้ ลิงตัวนี้ก็ใช้วิธีง่าย ๆ คือไปลักขโมยลูกของลิงแสมอีกตัวหนึ่งซึ่งเป็นตัวระดับต่ำกว่า
พอตัวที่เป็นแม่เผลอ ลิงตัวที่อยากได้ลูก ก็ไปลักเอามา ตัวลูกก็ร้องทีแรกก็นึกว่าเป็นแค่ล้อเล่น ปรากฏว่าพอลูกถูกพรากออกจากแม่ก็ร้อง ตัวที่เป็นแม่ก็พยายามจะไปตามลูกกลับมา แต่ว่าตัวที่ลักขโมยก็ไม่ยอมให้ แถมอุ้มเด็กขึ้นไปบนสะพานที่มีส่วนบนที่สูง และอุ้มเด็กหนีแม่ตัวจริง แม่ตัวจริงก็ไล่ตามด้วยความรักลูก ยิ่งเห็นลูกร้องยิ่งทนไม่ได้ แต่ตามไปเท่าไหร่ ๆ ตัวที่ลักพาเด็กก็หนี จนกระทั่งไปอยู่บนราวสะพานซึ่งอยู่สูง ตัวแม่นั้นแย่งเท่าไหร่ก็แย่งไม่ได้ เพราะตัวลักขโมยหนีอยู่เรื่อย ตอนหลังก็มาตามทัน แต่ตัวที่ลักพาไปก็ไม่ยอมคืนให้
ครั้นตัวแม่จะกัด จะสู้ จะทำร้ายตัวที่ลักขโมยลูกของตัวไป ก็ไม่กล้าทำ เพราะถ้าขืนทำ ลูกน้องของเมียหัวหน้าฝูงก็จะมาทำร้ายเพราะลิงระดับสูง มีลูกน้องเยอะ ตัวแม่ทำไงก็แย่งลูกไม่สำเร็จ และคงกลัวด้วย ขืนใช้กำลังแย่งลูก เผื่อลูกพลัดตกจากมือของตัวที่ลักขโมย ตกลงจากราวสะพานก็อาจจะตายได้ จะกัดจะสู้ก็กลัวว่าลูกน้องของตัวที่ลักขโมยจะรุมสกรัมเล่นงานตัวเอง ทำยังไงดี ตอนนี้แหละที่ลิงตัวแม่เริ่มใช้ความคิด จะใช้แต่สัญชาตญาณอย่างเดียวไม่พอ จะเข้าไปแย่งเข้าไปสู้มันก็เกิดผลเสีย แล้วลิงตัวแม่ก็คิดออก ปีนไปหาหัวหน้าฝูงซึ่งเป็นตัวผู้ ไปหาทำไม เพื่อไปหาเหาให้ ลิงนั้นเขาจะชอบเวลาที่มีตัวอื่นมาหาเหาให้ และก็เป็นวิธีการที่จะผูกมิตรคืนดีกันเวลาลิงทะเลาะกัน ไม่ว่าจะเป็นระหว่างตัวผู้กับตัวผู้ หรือตัวเมียกับตัวเมีย หรือตัวผู้กับตัวเมีย
ตัวที่ต้องการคืนดีก็ไปหาเหาให้ ไปไซร้ตามเนื้อตามตัว ลิงที่ถูกไซร้หรือได้รับบริการก็ชอบ ที่เคยโกรธก็จะคืนดี แต่ในกรณีนี้ลิงตัวแม่ที่ถูกลักพาลูกไปก็ไม่ได้มีเรื่องมีราวอะไรกับหัวหน้าฝูง แต่เป็นอุบายของลิงตัวนี้ ไปไซร้ขน ไปหาเหา ต่อหน้าหรืออยู่ในสายตาของลิงที่ลักพาลูกของตัวไป การทำอย่างนี้เป็นเหมือนกับการเชิญชวน เชิญชวนให้ลิงตัวที่ลักลูกไป บอก มาสิ มาสิ มาทำอะไรดี ๆ ด้วยกัน สุดท้ายลิงที่ลักพาลูกไปทนไม่ได้ ก็ต้องมา แล้วก็มาช่วยกันหาเหาให้หัวหน้าฝูง พอทำอย่างนั้นเข้า มันก็ปล่อยลูก ปล่อยเด็กให้คืนสู่อ้อมอกของแม่ตัวจริง คล้าย ๆ กับว่า ยอมแล้ว ฉันไม่แกล้งเธอแล้ว อันนี้เป็นอุบาย อุบายของแม่ที่ใช้วิธีเรียกว่า สงบ นุ่มนวลหรือสันติวิธี จะไปแย่งลูกจากตัวที่ขโมยไป มันก็เสี่ยงจะเกิดเรื่องทะเลาะวิวาทกัน หรือหากทำลูกตกจากมือของตัวที่ลักพาไป เด็กก็อาจจะตกลงจากสะพานตาย ลิงตัวแม่นี้ก็ฉลาด รู้จักใช้วิธีที่นุ่มนวล รู้จักใช้สันติวิธีในการที่จะนำพาลูกกลับคืน อันนี้แสดงให้เห็นถึงความฉลาดของลิง มันไม่ได้มีแค่ความรักหรือแค่สัญชาตญาณรักลูก หรืออยากจะมีลูก แต่ยังมีปัญญา รู้วิธีที่จะแก้ปัญหาอย่างละมุนละม่อม ไม่ใช้กำลัง
และมันก็คิดว่าสัตว์นั้นอาศัยกฎป่า กฎป่าก็คือใครมีกำลังก็ชนะไป แต่จริง ๆ แล้วกฎป่าไม่ได้มีแค่การใช้กำลังเพื่อเอาชนะ แต่ยังมีการใช้วิธีที่ละมุนละม่อมในการบรรลุผลที่ต้องการ อยากได้ลูกคืนก็ไม่ต้องไปสู้รบตบมือกับตัวที่ลักพาไป ก็แค่ไปทำสิ่งดี ๆ กับตัวหัวหน้า ไปหาเหา ไปไซร้ขนให้ อาจจะเป็นเพราะว่าตัวที่ลักพาลูกไปนั้นอยากจะสนุกแบบนี้บ้าง ก็เลยเอาลูกมาคืน หรือไม่เช่นนั้นก็เกรงว่า ตอนนี้ลิงที่เป็นตัวแม่เขามีพวกแล้ว และพวกนี่ก็เป็นขาใหญ่ด้วย คือเป็นหัวหน้า ก็เลยต้องมาสร้างมิตรกับตัวหัวหน้าด้วย จะได้ไม่เจ็บตัว หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ก็เป็นวิธีที่ได้ผล โดยที่ไม่ต้องใช้กำลัง
นี่ขนาดสัตว์เดรัจฉานมันยังรู้วิธีที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยไม่ใช้กำลัง นับประสาอะไรกับมนุษย์ บางทีมนุษย์นั้นเวลามีอะไร อยากได้อะไร ก็นึกถึงแต่ใช้กำลัง เคยไปอบรมกับวิทยากรท่านหนึ่ง วิทยากรก็ให้พวกเรานั่งล้อมวงแล้วตัววิทยากรก็อยู่ตรงกลาง จู่ ๆ ก็ชูกำปั้นขึ้นมา บอกว่าใครที่จะทำให้กำปั้นของผมคลายออก ใครมีวิธีบ้าง ก็มีหลายคนเดินไปหาวิทยากรแล้วก็ไปแงะเอาที่นิ้ว เพื่อให้คลายนิ้วออก แต่ว่าวิทยากรก็แข็งแรงไม่ยอมคลายนิ้ว กำปั้นก็ยังมั่นคงอยู่ ใครต่อใครมาก็มาแงะนิ้ว มาแงะกำปั้นแต่ไม่สำเร็จ แต่มีคนหนึ่งเดินไปหาวิทยากรแล้วก็พนมมือไหว้ พอพนมมือไหว้เท่านั้นแหละ วิทยากรก็พนมมือไหว้ตอบ กำปั้นที่กำเอาไว้ก็เลยแบออกมา ปรากฏว่าสำเร็จ ใช้วิธีที่นุ่มนวลคือการไหว้
ตอนหลังก็มีบางคนใช้วิธีอื่น ยื่นแบงค์ให้ 10 บาท 20 บาท ให้วิทยากร วิทยากรก็คลายกำปั้นยื่นมือออกมารับเงินเลย ก็เป็นวิธีที่นุ่มนวลคือการให้ พอให้เท่านั้นแหละอีกฝ่ายหนึ่งก็รับ พอให้น้ำใจ ให้ไมตรี อีกฝ่ายหนึ่งก็ร่วมมือด้วย กำปั้นก็คลายออก ตอนหลังบางคนก็ใช้วิธียื่นมือเพื่อจับมือเขย่าหรือ shake hand แสดงความเป็นมิตร ก็ได้ผลเหมือนกัน วิทยากรก็คลายมือออก และวิทยากรก็บอกว่า เรื่องนี้มันสอนอะไร มันสอนว่า คนส่วนใหญ่เวลาอยากจะทำอะไร มักจะใช้กำลัง จะให้วิทยากรคลายกำปั้นก็ใช้กำลังมาแงะ แต่ว่าเราไม่ค่อยได้คิดถึงการใช้วิธีที่นุ่มนวลละมุนละม่อม หรือการใช้น้ำใจ เช่น การไหว้ การยื่นมือให้เพื่อเขย่ามือ หรือการยื่นแบงค์ให้ ยื่นของขวัญให้ ยื่นขนมให้ วิธีเหล่านี้คนรุ่นเราไม่ค่อยนึกเท่าไหร่ เพราะเรานึกถึงแต่ใช้กำลังอันนี้เป็นทัศนคติของคนสมัยนี้ ทำอะไรก็ใช้กำลัง มีปัญหาอะไรก็ต้องจัดการ ไม่ชอบใครก็ต้องเอาออกไป จัดการ แต่ไม่ได้คิดวิธีที่จะชนะใจเขา
กรณีอย่างลิงแสมตัวนี้ชี้ให้เห็นว่ามีหลายวิธีที่สามารถจะแก้ความขัดแย้งได้ โดยที่ไม่ต้องใช้กำลัง แต่ใช้ปัญญาหรือใช้น้ำใจ.