พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 7 เมษายน 2568
ถอยหลังไปสักประมาณ 80 กว่าปีที่แล้ว ตอนที่ท่านอาจารย์พุทธทาสก่อตั้งสวนโมกขพลาราม ที่ จ.สุราษฏร์ ใหม่ๆ ท่านต้องทำอะไรเองแทบทุกอย่าง เวลาจะสร้างกุฏิ ท่านก็ลงมือเอง ไสไม้ แล้วก็ตีฝา กุฏิทั้งหลังนี่ท่านลงมือเองหมด
นอกจากการก่อสร้างกุฏิแล้ว บางครั้งท่านก็ทำอาหาร ไม่ได้ฉันเอง แต่ว่าเลี้ยงพระ เพราะว่าบางช่วงมีงานก่อสร้าง มีพระมาช่วย ท่านก็ลงมือเป็นพ่อครัวเอง จริงๆ ท่านก็ทำอาหารมาตั้งแต่สมัยเป็นเด็กแล้ว พอเป็นพระก็ยังไม่ทิ้ง เมื่อถึงคราวจำเป็น ท่านเป็นคนประเภทที่ว่าทำอะไรต้องทำให้ดี ดีที่สุด ซึ่งจะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องจับหลักได้
ท่านปรุงอาหารก็ปรุงอร่อย ทั้งแกงหรือว่าขนม แล้วท่านก็พบว่าอาหารไทย ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม มันจะมีอยู่ 3 ส่วนใหญ่ๆ เสมอ อย่างแรกท่านเรียกว่าสิ่งที่ถูกแกง เช่น ผัก ปลา เนื้อ อย่างที่สอง เครื่องแกง จะว่าไปเครื่องแกงก็เหมือนเป็นสิ่งที่ปรุงรสชาติให้อร่อย แล้วก็อย่างที่สาม สิ่งละลายเครื่องแกง ซึ่งก็ได้แก่กะทิ เป็นต้น
ท่านบอกว่าทำอาหารมาเยอะ ท่านจับหลักได้ก็มี 3 อย่างเท่านี้ องค์ประกอบ 3 ส่วน รวมทั้งขนมด้วย ขนมก็มีแป้งเป็นตัวหลัก น้ำตาลคือเครื่องปรุง ส่วนกะทิก็เป็นตัวละลาย เพื่อให้น้ำตาลซึมเข้าไปในเนื้อแป้ง นี่คือสิ่งที่ท่านจับหลักได้
เพราะฉะนั้นไม่ว่าท่านทำอะไร สิ่งหนึ่งที่ท่านจะต้องใส่ใจคือ จับหลักให้ได้ ว่าการทำสิ่งนั้นมีหลักว่าอย่างไร คนเราถ้าจับหลักได้ ไม่ว่าทำอะไรก็ไม่ใช่เรื่องยาก
เวลาเราเรียนคณิตศาสตร์ พีชคณิต เรขาคณิต หรือว่าเรียนภาษาอังกฤษ ภาษาไทย วิชาพวกนี้ก็มีหลักอยู่ พอเราจับหลักได้มันก็ไม่ยาก แต่ถ้าจับหลักไม่ได้ ก็ต้องใช้วิธีการท่องเอาหรือว่าเลียนแบบ แล้วมันก็เลยไปติดอยู่ที่รูปแบบ พอจะยักเยื้องก็ทำไม่เป็นแล้ว
การที่คนเราจะจับหลักอะไรได้ ก็ต้องอาศัยปัญญา หรือความเข้าใจ
ธรรมะก็เหมือนกัน ถ้าเราจะปฏิบัติธรรม ก็ต้องจับหลักให้ได้ ถึงแม้ว่าธรรมะหรือว่าคำสอนทางพุทธศาสนาที่เรียกว่าพุทธธรรม จะมีมากมายก่ายกองบางท่านก็บอกว่ามี 84,000 พระธรรมขันธ์ แต่ถ้าเราจับหลักได้ ก็จะพบว่าจริงๆ ก็มีแค่ 2 ส่วนเท่านั้น
ส่วนแรกเราเรียกว่าสัจธรรม คำสอนของพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับสัจธรรม ก็เช่นเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปฏิจจสมุปบาท พวกนี้เป็นเรื่องสัจธรรม คือความจริงที่ไม่จำกัดกาล อีกส่วนหนึ่งคือจริยธรรม ก็เป็นข้อปฏิบัติโดยอาศัยสัจธรรมเป็นพื้นฐาน
อริยมรรคมีองค์ 8 สาระก็คือจริยธรรม คือข้อปฏิบัติ แล้วข้อปฏิบัติหรือจริยธรรม ถ้าสรุปย่อๆ หรือถ้าเราจับหลักได้ก็มีแค่ 2 อย่าง อันแรกคือทำกิจ อันที่สองคือทำจิต
เราลองดูในโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งมี 3 ข้อ หนึ่ง การละชั่วหรือเว้นชั่ว สอง การทำดี และสาม การทำจิตให้บริสุทธิ์ จาก 3 ก็สรุปเหลือ 2 ก็คือ ทำกิจกับทำจิต ทำกิจก็คือเรื่องการทำความดี การทำอะไรให้มันถูกกับกรณี ถูกกาลเทศะ ถูกกรณี เรียกว่าเป็นการทำกิจ
ในเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา ศีลคือเรื่องการทำกิจ ส่วนสมาธิ ปัญญาคือการทำจิต และในเรื่องทาน ศีล ภาวนา ก็เช่นกันสรุปได้ว่า ทำกิจคือการให้ทาน การรักษาศีล ส่วนภาวนาคือการทำจิต
ฉะนั้นถ้าเราจับหลักได้ การปฏิบัติก็จะเป็นเรื่องง่าย หรือว่าทำให้การปฏิบัติของเราครอบคลุม ถ้าเราจับหลักไม่ได้ ก็อาจจะสุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง เช่น ไปเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนาคือการทำจิต ทำจิตคือปล่อยวาง ปล่อยวางคือไม่ทำอะไรเลย ที่จริงไม่ใช่ การปล่อยวางก็เป็นเรื่องของการทำจิต ส่วนการทำกิจก็ยังต้องทำอยู่
อีกกลุ่มหนึ่งก็ประเภทว่าทำแต่กิจ แต่ว่าไม่ทำจิต พอทำไป ๆ ก็ทำให้เกิดความผิดพลาดคลาดเคลื่อนขึ้น เพราะว่าไม่ได้ทำจิต ถ้าเราทำจิตเป็น จะช่วยสนับสนุน หรือช่วยกำกับการทำกิจ เช่น เวลาขับรถ ถ้าเราไม่ทำจิตเลย ก็จะใจลอย บางทีไปไม่ถึงเป้าหมาย ถึงเวลาเลี้ยวก็ไม่เลี้ยวเพราะใจลอย หนักกว่านั้นคือเกิดอุบัติเหตุ เพราะว่าไม่มีสติกับการขับรถ
เพราะฉะนั้นการทำจิตสำคัญมาก เวลาเราทำกิจหรือทำอะไรก็ตาม ต้องไม่ทิ้งการทำจิต ไม่เช่นนั้นมันก็ทำผิดทำพลาด แค่เราลงบันได นี่เรียกว่าเป็นการทำกิจพื้นๆ เพื่อที่เราจะกลับไปกุฏิที่พัก ถ้าเราไม่ทำจิตคือไม่มีสติ ก็อาจจะไปไม่ถึงที่หมาย เพราะว่าตกบันไดเสียก่อน หรือว่าหกล้มคว่ำคะมำหงาย อันนี้เรียกว่าต้องรู้จักทำจิตเพื่อไปกำกับการทำกิจ
แต่ขณะเดียวกัน เวลาเราทำกิจก็ให้เชื่อมโยงกับการทำจิต หมายความว่าทำการงานอะไรก็ตาม ให้มันสนับสนุนการทำจิตไม่ว่าจะเป็น กินข้าว อาบน้ำ ถูฟัน ล้างหน้า พวกนี้เป็นการทำกิจพื้นฐาน แต่ก็เอามาใช้สนับสนุนการทำจิตได้ คือเอามาใช้ในการเจริญสติ ถ้าเรารู้จักเชื่อมโยงการทำกิจกับการทำจิตด้วยกัน เวลาทำอะไรมันก็ทำได้ถูกต้อง แล้วก็ทำได้ต่อเนื่อง
แต่ถ้าหากว่าเราแยกจากกัน ทำกิจแต่ไม่ทำจิต ก็อาจจะทำผิดทำพลาด หรือบางทีแม้แต่จะทำบุญทำกุศล จะออกโรงทาน ซึ่งเป็นการทำกิจที่ดี แต่ว่าไม่ทำจิต ไม่รู้จักคุมจิตให้มีสติ ไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจ ก็อาจจะกลายเป็นการทะเลาะวิวาทกับคนที่มาเปิดโรงทานใกล้ ๆ กัน แทนที่จะได้บุญก็ได้บาป นี่เรียกว่าการทำกิจไม่เกิดประโยชน์อย่างที่ต้องการ เพราะว่าไม่ได้ทำจิต
แต่ถ้าทำจิตอย่างเดียว ไม่ทำกิจ ก็ไม่ถูก เวลามีปัญหาอะไร เอะอะก็จะทำจิตอย่างเดียว เช่น ไม่สบาย ก็ควรจะไปหาหมอ หรือว่าดูแลสุขภาพให้ดี พักผ่อนให้พอเพียง กินอาหารให้ถูกสุขลักษณะ นี่เรียกว่าเป็นการทำกิจ แต่บางคนพอบอกเจ็บป่วย ฉันปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้นฉันก็ทำจิตอย่างเดียว คือปล่อยวาง ไม่ไปหาหมอ ไม่ดูแลรักษาตัวเอง อันนี้ก็ไม่ถูก
หรือเวลาบ้านหลังคารั่ว ท่อแตก มีปัญหาก็ต้องแก้ ต้องลงไม้ลงมือ ถ้าไม่แก้เอง ไม่ซ่อมเอง ก็ไปติดต่อช่างให้มาช่วยซ่อม นี่เป็นเรื่องการทำกิจ แต่บางคนบอกว่าพุทธศาสนาสอนให้ทำจิต เพราะฉะนั้นหลังคาจะรั่ว ท่อจะแตกอย่างไร ปล่อยวางอย่างเดียว อันนี้ไม่ถูก
หลวงพ่อชาท่านเคยเล่าว่า วัดหนองป่าพงสมัยก่อน กุฏิก็ทำง่ายๆ หลังคามุงแฝก มีช่วงหนึ่งฝนตกชุกมาก บางช่วงฝนก็แรง มีกุฏิหนึ่งโดนลมพัดแหว่งไปครึ่งหนึ่ง เพราะเป็นหลังคามุงแฝก มันโหว่ไปครึ่งหนึ่ง แต่พระที่อยู่ในกุฏินั้นก็ไม่ทำอะไร ปล่อยให้ฝนรั่ว
ผ่านไปอาทิตย์หนึ่งแล้ว หลวงพ่อชาก็เลยถามพระรูปนั้นว่ากุฏิเป็นอย่างไร ซ่อมหรือยัง พระรูปนั้นก็บอกยังไม่ได้ซ่อม ท่านบอกว่าท่านกำลังฝึกความไม่ยึดมั่นถือมั่น หรือพูดง่ายๆ ฝึกปล่อยวาง
หลวงพ่อชาก็เลยบอกว่า นี่เป็นการฝึกไม่ยึดมั่นถือมั่นโดยไม่ใช้ปัญญา มันไม่ต่างจากการวางเฉยของควาย พระรูปนี้ไปเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมคือการฝึกจิต หรือการทำจิตอย่างเดียว เพราะฉะนั้นมีปัญหาอะไรก็ปล่อยวาง
ทำจิตนี่ ปล่อยวางนั่นดีแล้ว แต่ก็ต้องทำกิจด้วย คือมีปัญหาก็ต้องซ่อม หลังคาก็ต้องซ่อม นี่เรียกว่าทำกิจควบคู่กับการทำจิต
เวลาสิ่งแวดล้อมเสียหาย ป่าถูกทำลาย เราก็มีหน้าที่ที่จะช่วยฟื้นฟูป่า แต่บางคนบอกว่าป่าถูกทำลายก็ต้องปล่อยวาง เพราะมันไม่ใช่ของเรา การปล่อยวาง ใจไม่ทุกข์ เพราะเห็นว่าไม่ใช่ของเรานี่ถูกแล้ว แต่ว่ามันก็ต้องลงมือช่วยทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น ด้วยการปลูกป่า ปลูกต้นไม้ เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มีความสงัดร่มรื่น ไม่ใช่ว่าทำจิตอย่างเดียว ไม่ทำกิจ
เมื่อ 20-30 ปีก่อนเคยมีไฟไหม้ที่วัดป่าสุคะโต พระหลายรูปช่วยกันไปดับไฟ มีพระรูปหนึ่งไม่ไป ท่านบอกว่าป่าไม่ใช่ของเรา ท่านฝึกปล่อยวาง ที่ว่าปล่อยวางว่าป่าไม่ใช่ของเรา ไฟไหม้แต่ว่าใจไม่ทุกข์ ไม่โมโห ไม่แค้นเคืองคนที่มาจุดไฟ อันนี้ถูกต้องแล้ว แต่ก็ต้องไปดับด้วย ต้องทำจิตและทำกิจควบคู่กัน
อันนี้คนศึกษาพุทธศาสนาไม่เข้าใจ จับหลักไม่เป็น จับหลักไม่ถูก เพราะคิดว่าท่านสอนให้ทำจิตอย่างเดียว มีปัญหาอะไรก็ปล่อยวางอย่างเดียว การปล่อยวางนี่มันดีแล้ว ไม่ทุกข์ ไม่วิตกกังวลดีแล้ว แต่ก็ต้องลงมือแก้ไข
คนส่วนใหญ่มักจะมีอาการสุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง สนใจธรรมะก็เอาแต่ทำจิต แต่ไม่ทำกิจ คนไม่สนใจธรรมะก็ทำกิจ แต่ไม่ทำจิต หรือแม้กระทั่งสนใจธรรมะแต่ว่าก็อาจจะไม่ค่อยใส่ใจการทำจิตเท่าไหร่ เวลามีปัญหาก็คิดแต่จะไปจัดการกับคนนั้นคนนี้
เวลาจะแนะนำติเตียนใคร ถูกแล้วที่เราควรจะแนะนำ ไม่ควรนิ่งเฉยแต่ก็ควรทำจิตให้ไม่โกรธ ไม่โมโห ทำจิตให้มีเมตตากรุณา คือพอไม่ทำอะไร ก็ปล่อยวางอย่างเดียว แต่พอจะทำก็ไม่ได้ทำจิต
อย่างที่เคยเล่า เห็นศีลจาริณีบวชใหม่ อายุ 15-16 ยืนดื่มน้ำ แม่ชีเห็นก็ไม่พอใจ เดินเข้าไปตบหลัง ทุบหลังศีลจาริณี บอกว่าทำไมยืนดื่มน้ำ ทำไมไม่นั่งลง อันนี้เรียกว่าทำกิจ แต่ไม่ทำจิต
ทำกิจคือแนะนำตักเตือน แต่ไม่ทำจิตคือไม่ควบคุมใจ ปล่อยให้ความโกรธครอบงำ การทำกิจนั้นก็เลยเป็นการสร้างปัญหา เพราะมันเป็นการใช้ความรุนแรง แทนที่จะพูดด้วยเมตตา ก็กลายเป็นการใช้กำลังทุบหลัง อันนี้เรียกว่าการทำกิจบกพร่อง เพราะว่าไม่ทำจิต
เมื่อเร็วๆ นี้มีสามเณรตื่นสาย ไม่ไปทำวัตร พระที่เป็นพี่เลี้ยงโมโหมาก เอาไม้ฟาด จนกระทั่งไม้หักเป็น 2 ท่อน การที่เตือนหรือแก้ปัญหาเณรตื่นสาย ไม่ทำวัตร เป็นเรื่องดี ไม่ควรจะปล่อยปละละเลย ถ้าปล่อยปละละเลยคือไม่ทำกิจ แต่ว่าเมื่อจะแนะนำตักเตือน หรือแก้ไขพฤติกรรมของเณร ก็ต้องทำจิตด้วย แต่พระนี่คิดแต่จะไปแก้คนอื่น แก้พฤติกรรมของเณร แต่ว่าไม่ได้ดูใจของตัว
อย่างที่เคยพูดหลายครั้งเวลาเห็นอะไรไม่ถูกต้อง อย่างแรกที่ต้องทำคือ ดูใจของเรา รักษาใจของเราให้ถูกต้องก่อน การรักษาใจของเราให้ถูกต้องก็เป็นการทำจิต คือให้มีสติ ไม่มีความโกรธ แล้วค่อยทำกิจก็คือ ไปจัดการแก้ไข ไปตักเตือน แนะนำ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
แม้กระทั่งในวงการพระ ในวงการนักปฏิบัติธรรม แม้ดูเหมือนว่าจะทำจิต แต่ถึงเวลาจะแก้ปัญหา ก็ทำแต่กิจ จิตไม่ทำ พระลงโทษสามเณรตื่นสายด้วยความโกรธ จนเป็นข่าวเลย อย่างนี้เรียกว่าทำกิจแต่ไม่ทำจิต เป็นเพราะว่าไม่เข้าใจสาระ หรือหัวใจของการปฏิบัติธรรมหรือหัวใจของธรรมะคือ การทำกิจและทำจิตควบคู่กัน
อันนี้มันก็เป็นประโยชน์และเป็นสิ่งจำเป็นด้วย สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการปฏิบัติธรรม แต่ว่าทำงานเพื่อส่วนรวม หรือว่าทำงานเพื่อทำให้สังคมน่าอยู่ ทำให้โลกนี้ดีขึ้น ทำงานอย่างมีอุดมคติ พวกนี้ก็ทำกิจอย่างเดียวแต่ลืมทำจิต พอไม่ได้ทำจิตเข้า พอเกิดอุปสรรค ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ก็ท้อแท้ หรือโมโห
บางคนเจออุปสรรคมากๆ ก็ซึมเศร้าไปเลย ไม่สามารถทำต่อไปได้ หรือบางคนก็ไม่รู้ทันกิเลส ปล่อยให้ อัตตาหรือโทสะครอบงำ ใครเห็นต่างก็จัดการ เล่นงาน ต้องการให้ตัวเองมีอำนาจ โดดเด่นเหนือคนอื่น กลายเป็นเล่นการเมืองเพื่อให้ตัวเองเด่นดัง หรือโดดเด่นขึ้นมา
ทีแรกก็ทำกิจแต่ว่าไม่ได้ทำจิต ก็เลยโดนกิเลส ความยึดติดในตัวตน มานะครอบงำ ก็เลยกลายเป็นว่าทำเพื่อตัวเอง อย่างนี้มีเยอะ เริ่มต้นจากการทำเพื่อผู้อื่น อันนี้เป็นการทำกิจที่ดี แต่สุดท้ายเป็นการทำเพื่อตัวเอง แล้วคนที่ยากไร้ก็ตกเป็นเครื่องมือ
แล้วพอไม่ได้ทำจิต การทำกิจก็บกพร่องไปด้วย กลายเป็นการผิดเพี้ยนไปเลย นี่เจอเยอะในวงการทางโลก ไม่ว่าจะเป็นวงการการเมือง หรือว่าวงราชการ หรือว่าวงการองค์กรสาธารณประโยชน์หรือ NGO พวกนี้เขามุ่งแต่ทำกิจ แต่ว่าเขาลืมทำจิต
ซึ่งผลก็คือ สิ่งที่ทำนี่มันก็กลายเป็นการตอบสนองกิเลสส่วนตัว ทำเพื่อประโยชน์ตัวเอง มีการจัดการคนที่เห็นต่าง จนกระทั่งคนดีๆ เขาอยู่ไม่ได้ หรือไม่เช่นนั้นก็ท้อแท้ท้อถอย เพราะว่าไม่สามารถจะอดทนต่ออุปสรรคได้ ไม่สามารถจะวางใจถูก พองานล้มเหลว ก็รู้สึกว่าตัวเองล้มเหลวด้วย
หลวงพ่อคำเขียนท่านเคยบอกว่า งานที่ท่านทำเพื่อชาวบ้าน แม้งานล้มเหลว แต่ตัวท่านไม่ล้มเหลว ตัวท่านหมายความว่าจิตใจไม่ล้มเหลว นี่เป็นเพราะว่าท่านทำกิจด้วย ทำจิตด้วย
ถ้าเราไม่ทำจิต ทำแต่กิจ ทีแรกเจตนาดี แต่ว่าทำไป ๆ แล้วก็หมดสภาพ เสียศูนย์ เพราะงานล้มเหลว ก็เลยรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลว เกิดความทุกข์ แล้วก็มักจะเป็นแบบนี้คือ ทิ้ง ละ เลิกกลางทาง เลิกกลางคัน หรือไม่เช่นนั้นก็พาเข้ารกเข้าพงไป อันนี้เป็นเพราะว่าทำกิจ แต่ไม่ทำจิต
ไม่ว่าจะเป็นการทำกิจแต่ไม่ทำจิต หรือว่าทำแต่จิตแต่ไม่ทำกิจ ก็ไม่ดีทั้งนั้น ฉะนั้นถ้าเราจับหลักการปฏิบัติธรรมได้ หรือเข้าใจธรรมะ เราจะพบว่า จะทำอะไรต้องมี 2 อย่างควบคู่กันไปเสมอ ทำกิจด้วย ทำจิตด้วย ถ้าเราจับหลักนี้ได้ การทำงานก็เป็นการปฏิบัติธรรม
อย่างที่ท่านอาจารย์พุทธทาสพูดอยู่เสมอว่า การทำงานคือการปฏิบัติธรรม ทำงานนี่เป็นเรื่องการทำกิจ แต่ว่าก็เอามาใช้สนับสนุนการทำจิตด้วย ไม่ว่าทำอะไรก็ปฏิบัติธรรมได้ เจริญสติได้ ทำความรู้สึกตัวได้ นี่เรียกว่าเอาการทำกิจมาสนับสนุนการทำจิต
อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนพูดว่า นักปฏิบัติธรรมต้องฉวยโอกาส ไม่ว่าทำอะไร อยู่ที่ไหน ก็ปฏิบัติธรรมได้ทุกเมื่อ ฉะนั้นถ้าเราทำอย่างนี้ได้ อยู่ที่ไหนก็ปฏิบัติธรรมได้
เวลาเจอปัญหา เราก็เอาปัญหานั้นมาเป็นเครื่องฝึกจิตให้มีความอดทน หรือว่าให้มีจิตตั้งมั่นไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรค จิตไม่หวั่นไหว ใจไม่กระเพื่อม เมื่อเจออุปสรรค เมื่อเจอคำต่อว่าด่าทอ นี้เรียกว่าฝึกจิต หรือทำจิตท่ามกลางการทำจิต
ฉะนั้นถ้าเราทำอย่างนี้ได้ ทำงานอะไรก็ได้ผล แล้วเจ้าตัวก็มีความสุขด้วย ไม่ใช่ทำไปทำไป งานออกมาดี แต่ว่าตัวเองท้อ หมดเรี่ยวหมดแรง หรือมิฉะนั้นก็ทำไป ๆ แทนที่จะทำเพื่อส่วนรวม ก็กลายเป็นการทำเพื่อตัวเอง ตัวเองก็ร่ำรวยมีเงินมีทอง แต่ว่าสิ่งที่เคยมุ่งมั่นปรารถนาว่าจะทำเพื่อช่วยเหลือสังคม เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น กลับกลายเป็นตรงกันข้าม
อาจารย์พุทธทาสเคยพูดอยู่เสมอว่า ชีวิตที่ดีคือชีวิตที่สงบเย็นและเป็นประโยชน์ อันนี้เป็นคำพูดที่เรียกว่าครอบคลุมทั้งการทำจิตและทำกิจ เพราะว่าสำหรับชาวพุทธ การทำจิตสุดท้ายคือเพื่อความสงบเย็น สงบเย็นคือสงบที่ใจโดยที่ไม่พึ่งอิงสิ่งแวดล้อม แม้จะอึกทึก พลุกพล่าน จอแจ เสียงดังอย่างไร คนจะไม่น่ารัก ทำตัวน่าระอา แต่ใจก็เป็นปกติ สงบเย็นได้ แม้กระทั่งมีสิ่งล่อเร้าเย้ายวนก็ไม่หวั่นไหว ใจไม่กระเพื่อม นี่คือสงบเย็น
แต่ว่าสงบเย็นอย่างเดียวไม่พอ ต้องเป็นประโยชน์ด้วย เป็นประโยชน์คือการทำกิจ ทำกิจเพื่อช่วยเหลือส่วนรวม ไม่ใช่เก็บตัวอยู่แต่ในป่า หรืออยู่ในวัด มุ่งมั่นให้จิตสงบเย็น แต่ว่าไม่คิดจะไปทำประโยชน์ให้กับส่วนรวม ไฟไหม้ก็ไม่สนใจถือว่าป่าไม่ใช่ของเรา ใครจะมาขโมยสมุนไพรในวัดก็ไม่กระตือรือร้นที่จะจัดการไล่ออกไป เพราะคิดว่าไม่ใช่ของเรา
อันนี้เรียกว่าทำจิตแต่ไม่ทำกิจ แล้วที่จริงก็ทำจิตไม่ถูกต้องด้วย เพราะว่าการทำจิต อย่างน้อยต้องมีความกตัญญูรู้คุณ หรือต้องมีความเมตตา กตัญญูรู้คุณต่อสิ่งแวดล้อม มีความเมตตาต่อสรรพสัตว์
ฉะนั้นมีใครมาทำลายป่า ถ้าเรามีเมตตาจริง เราก็จะไม่อยู่เฉย จะเข้าไปขับไล่ไม่ให้มาทำลายป่า ไม่ให้มาทำลายสัตว์ เราจะมีความกตัญญูต่อธรรมชาติ แล้วเราก็จะช่วยกันรักษาธรรมชาติให้ดี ความกตัญญูรู้คุณ ความเมตตาก็เป็นเรื่องการทำจิต ไม่ใช่แค่ปล่อยวางอย่างเดียว
แล้วคนไทยก็ไม่เข้าใจ ชาวพุทธก็ไม่เข้าใจ ไปเข้าใจว่าการปล่อยวางคือการวางเฉย ไม่ทำอะไร การวางเฉยไม่ทำอะไรนี่เป็นเรื่องการไม่ทำกิจ ซึ่งไม่ถูกต้อง การปล่อยวางถ้าเป็นการปล่อยวางที่ใจคือการทำจิตถูกต้องแล้ว แต่ว่าปล่อยวางแล้ว ไม่ใช่ว่านิ่งเฉย ปล่อยวางอย่างรับผิดชอบ คือสิ่งที่ครอบคลุมทั้งการทำจิตและการทำกิจ
ถ้าปล่อยวางแบบวางเฉย ไม่รับผิดชอบ อันนี้เรียกว่าทำจิตก็ผิด แล้วก็ละเลยเพิกเฉยไม่ทำกิจด้วย มันก็ไม่ได้เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนา ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ.