พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 6 เมษายน 2568
พวกเราที่สนใจการปฏิบัติธรรม ถ้าหากว่าไม่ใช่แค่สนใจเฉยๆ แต่ว่าลงมือปฏิบัติด้วย มันก็ต้องมีจุดหมายในการปฏิบัติ
ยิ่งคนที่ไม่ใช่แค่ปฏิบัติธรรมเฉยๆ แต่ว่าอยากจะเดินบนเส้นทางธรรม ก็ยิ่งต้องมีจุดหมายที่ชัดเจน เหมือนกับเราเดินทาง ถ้าไม่มีจุดหมายที่ชัดเจน มันก็ไม่ใช่เป็นการเดินทาง มันก็เป็นแค่การเถลไถล
คราวนี้พอเราคิดว่าเส้นทางนี้จะเป็นเส้นทางที่เราจะทุ่มเทชีวิตให้กับการปฏิบัติ ก็ต้องชัดเจนว่าเส้นทาง หรือว่าวิธีการที่เรานำมาใช้ จะพาเราไปถึงจุดหมายที่ต้องการได้
หลายคนสนใจธรรม แล้วก็ตั้งใจจะปฏิบัติธรรม แต่บางทีไม่มีจุดหมายที่ชัดเจนว่าปฏิบัติไปเพื่ออะไร หรือถึงแม้มีจุดหมายแต่ว่ามันก็เป็นจุดหมายที่ไม่ใช่สาระที่แท้ของการปฏิบัติ อย่างเช่นการให้ทาน การรักษาศีล
หลายคนก็คิดว่าให้ทานก็เพื่อจะได้ประสบความสุขความเจริญในชีวิต อานิสงส์แห่งบุญอำนวยให้มีความ เจริญก้าวหน้าในการทำงาน มีสุขภาพดี อันนั้นมันอาจจะเป็นอานิสงส์ แต่ว่ามันไม่ใช่จุดหมายที่เป็นตัวแท้ของการปฏิบัติ
เช่นเดียวกับการรักษาศีล บางคนก็คิดว่ารักษาศีลเพื่อจะได้ไปเกิดในสวรรค์เมื่อจากโลกนี้ไป ก็ไปหวังความสุขในชาติหน้า หรือบางทีก็ต้องการสร้างภาพให้คนเห็นว่าตัวเองเป็นนักปฏิบัติ เป็นคนมีศีล อันนี้มันก็ไม่ใช่จุดหมายที่เป็นตัวแท้ของการปฏิบัติ
อย่างเช่นการให้ทาน จุดหมายคือเพื่อละความตระหนี่ ลดความโลภ ละความยึดติดถือมั่นในทรัพย์ แล้วก็เพื่อจะได้ช่วยเหลือผู้ที่ต้องการทุนทรัพย์ อาจจะเป็นการช่วยเหลือผู้ที่ยากไร้ หรือว่าช่วยสงเคราะห์ส่วนรวม ก็เพื่อประโยชน์สุขของการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างราบรื่น
การรักษาศีลก็เหมือนกัน ก็เพื่อลดความโลภ ความโกรธ ความหลง หรืออย่างน้อยก็ควบคุมให้อยู่ในขอบเขต ไม่ใช่นำไปสู่การเบียดเบียนผู้อื่น และยิ่งลดความโลภ ความโกรธ ความหลงได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งช่วยเป็นฐานให้กับการพัฒนาด้านใน ไม่ว่าจะเป็นในระดับของสมาธิ หรือว่าการพัฒนาปัญญา
แล้วเมื่อเรารู้ชัดในเป้าหมายแล้ว ก็ต้องรู้ว่าวิธีการแต่ละวิธีจะพาไปสู่เป้าหมายที่ต้องการหรือเปล่า โดยเฉพาะเรื่องการภาวนาทางด้านจิต หรือที่เรียกว่า อธิจิตตสิกขา เพราะว่ามีเป้าหมายที่ค่อนข้างหลากหลาย
อย่างพูดถึงการฝึกจิตที่เรียกว่ากรรมฐาน ท่านก็ว่ามี 40 วิธี แล้วแต่ละวิธีก็มีเป้าหมายแตกต่างกัน ส่งเสริมคุณภาพจิตที่แตกต่างกัน บ้างก็ส่งเสริมเรื่องการเจริญศรัทธา เช่น พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ การระลึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อันนี้ก็มุ่งให้เกิดการเสริมศรัทธาในพระรัตนตรัย ให้มั่นคงเข้มแข็งขึ้น
อนุสติบางอย่างก็เป็นการทำให้จิตใจเกิดกุศล เช่น จาคานุสติ ระลึกถึงความดีที่ได้ทำ ที่เป็นการให้ทาน นึกถึงแล้วจิตใจก็ผ่องใสเบิกบาน บางอย่างก็เป็นเรื่องของการกระตุ้นให้เกิดความไม่ประมาท เรียกว่ามรณสติ หรือว่ามรณานุสติ
แต่ละวิธีมีวิธีการที่แตกต่างกันเพราะว่าจุดหมายที่มันแตกต่างกันด้วย การเจริญสติปัฏฐาน 4 ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของกรรมฐานในพุทธศาสนา ท่านก็เน้นเรื่องการให้อยู่กับปัจจุบัน รู้กายเคลื่อนไหว รู้ใจคิดนึก ที่มันเป็นปัจจุบันขณะ อะไรที่เกิดขึ้นกับกายในขณะนี้ก็รู้ อะไรที่เกิดขึ้นกับใจหรืออาการของใจในขณะนี้ก็รู้ จุดเน้นก็คือให้อยู่กับปัจจุบัน
แต่การภาวนาบางอย่าง ก็ไม่ใช่อยู่กับปัจจุบันทีเดียว แต่เป็นการนึกถึงอนาคต เช่น มรณสติ คือการระลึกถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเราในวันข้างหน้าที่ไม่มีใครหนีพ้น คือความตาย ตอนนี้ยังไม่ตาย อาจจะยังมีสุขภาพดี แต่ว่าวันหน้า ตายแน่ ฉะนั้นให้นึกถึงเอาไว้
อันนี้จะเรียกว่าไม่ได้อยู่กับปัจจุบันก็ได้ มองให้เห็นถึงความทุกข์ที่รออยู่ข้างหน้า แต่มันก็ช่วยทำให้หันมาให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตในปัจจุบัน แทนที่จะเอาแต่เที่ยวเล่นสนุกสนาน หรือเอาแต่ทำงานทำการ หวังจะสร้างเนื้อสร้างตัวให้เจริญ ใน 10-20 ปีข้างหน้า หรือว่าหวังจะเที่ยวสนุกสนานโดยที่ไม่รู้ หรือไม่ตระหนักว่าอาจจะตายวันนี้วันพรุ่งก็ได้
ฉะนั้นถ้าระลึกเอาไว้ ก็ช่วยทำให้ไม่ปล่อยชีวิตให้ไหลลอยไปกับเรื่องของความสนุกสนาน ความเพลิดเพลิน หรือว่าเอาแต่ทำมาหาเงิน จนลืมกิจที่ควรทำในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเรื่องของจุดมุ่งหมายของธรรมะหรือการปฏิบัติธรรม สำหรับคนที่ต้องการที่จะเดินบนเส้นทางธรรมนี้ก็ต้องมีจุดหมาย
การที่มีจุดกำหนดจุดหมายสำหรับเส้นทางชีวิต ก่อนที่เราจะมาเดินบนเส้นทางธรรม เราก็คงมีจุดหมายอยู่ชุดหนึ่งอยู่แล้ว นี้เรียกว่าเป็นเส้นทางของชีวิตทางโลก ก่อนที่เราจะมาสนใจธรรม มาปฏิบัติธรรมหรือมาเดินบนเส้นทางธรรม ทุกคนก็เคยมีจุดหมายทางโลก จุดหมายทางโลกได้แก่อะไร
ความมั่งคั่งร่ำรวย การมีชื่อเสียง การมีฐานะ ตำแหน่ง การมีครอบครัวที่อบอุ่น เหล่านี้เป็นจุดหมายทางโลก ก่อนที่เราจะมาสนใจธรรม เราทุกคนก็มีจุดหมายทางโลกทั้งนั้น จะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
พอเรามาปฏิบัติธรรม หลายคนก็อดไม่ได้ที่จะเอาจุดหมายทางโลกมาใช้กับจุดหมายทางธรรม เพราะความคุ้นเคยใช้ชีวิตทางโลกมา 20-30 ปี หรือบางคนนานกว่านั้น ตลอดเวลา 20-30 ปี หรือ 30-40 ปีก็เรียกว่ามุ่งมั่นจะประสบความสำเร็จในทางโลก
พอหันมาสนใจธรรม จนถึงขั้นมีศรัทธาจะมาก้าวเดินบนเส้นทางธรรม ก็อดไม่ได้ที่จะเอาวิธีคิดที่มุ่งความสำเร็จทางโลกมาใช้กับการดำเนินชีวิตบนเส้นทางธรรม เช่น เวลาเรามีจุดมุ่งหมายทางโลก เรามุ่งความสำเร็จทางโลก อดไม่ได้ที่จะต้องมีความยึดติด ยึดติดด้วยความหมายมั่นปั้นมือว่าจะบรรลุให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเงินทอง ฐานะ ตำแหน่ง ความสำเร็จ ชื่อเสียง อำนาจ บารมี
ความยึดติดมันก็มีประโยชน์ในการทำให้เรามีแรงขับเคลื่อน ในการก้าวไปข้างหน้า เพื่อที่จะได้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายทางโลก แต่พอพูดถึงยึดติด มันไม่ได้แค่ยึดติดในจุดมุ่งหมาย แต่รวมถึงยึดติดในหลายอย่าง เช่น ยึดติดในวิธีการ
พอเรามาปฏิบัติธรรม พอเรามาดำเนินชีวิตทางโลก เราก็เอานิสัยหรือท่าทีนี้มาใช้กับการปฏิบัติธรรมด้วย เช่น พอเรามาปฏิบัติธรรม มุ่งหวังความสงบ หวังความพ้นทุกข์ หวังให้ความเห็นแก่ตัวลดลง เราก็อดไม่ได้ที่จะเอาเป้าหมายเหล่านั้นมาเป็นเครื่องยึดติด มีความยึดติดในเป้าหมายนั้น
แล้วพอยึดติดแล้ว ก็ย่อมมีความพอใจ ไม่พอใจเกิดขึ้น อะไรที่มันสอดคล้องกับสิ่งที่เรามุ่งหวัง สิ่งที่เรายึดติด เราก็พอใจ ให้ค่าว่าดี อะไรที่มันไม่สอดคล้อง หรือสวนทางกับสิ่งที่เรามุ่งหวัง เราก็ว่ามันไม่ดี ไม่ถูกใจ เช่น คนที่ต้องการความสงบ พอมาปฏิบัติแล้วก็หวังความสงบ มุ่งมั่นให้ได้ความสงบ ก็เลยรู้สึกไม่ชอบความฟุ้งซ่าน ไม่ชอบความหงุดหงิด มันมีการเลือกที่รักมักที่ชัง
การที่เรามีความชอบ ไม่ชอบ อาจจะมีประโยชน์สำหรับการดำเนินชีวิตในทางโลก หรือการมุ่งความสำเร็จในทางโลก แต่ถ้าเราเอาท่าที นิสัยนี้ มาใช้กับการปฏิบัติธรรม บางทีมันเกิดปัญหา เพราะเวลาปฏิบัติธรรมให้จิตเกิดความสงบ แต่ว่ามันไม่สงบ มีความฟุ้งซ่านเกิดขึ้นมาในใจ ก็ทนไม่ได้ ยอมรับไม่ได้ เพราะว่ามันสวนทางกับสิ่งที่ยึดติด สวนทางกับสิ่งที่คาดหวัง
หลายคนปฏิบัติไป เจริญภาวนาไป ปรากฏว่ายิ่งทำยิ่งเครียด เพราะว่าความฟุ้งซ่านเกิดขึ้นไม่หยุด ที่จริงเป็นธรรมดาของการปฏิบัติ ของการฝึกจิต แต่ว่าพอไปยึดติดความสงบแล้ว ก็เกิดความรู้สึกลบต่อความฟุ้งซ่าน พอมีความฟุ้งซ่าน มีความคิดปรุงแต่งเกิดขึ้น ก็ไปผลักไส กดข่มมัน
แล้วยิ่งทำเช่นนั้น ก็หารู้ไม่ว่ามันเป็นการเพิ่มกำลังให้กับความฟุ้งซ่าน เป็นการต่ออายุให้กับความหงุดหงิด ยิ่งผลักไสมันยิ่งคงอยู่ เหมือนกับว่ายิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ อย่างวัยรุ่นนี่ ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ จิตเราก็เหมือนกัน
มันมีความฟุ้งซ่านเกิดขึ้น มีความหงุดหงิดเกิดขึ้น พอเราไปห้าม พยายามกดข่ม มันก็ยิ่งพยศ ยิ่งต่อต้าน ยิ่งเป็นการต่ออายุให้มัน ก็เลยกลายเป็นการสู้รบตบมือกับความคิดฟุ้งซ่าน แทนที่จะพบความสงบ กลับเกิดความว้าวุ่นในจิตใจ
บางคนทำไป ทำไป ก็ทนไม่ไหว ลืมตัว โมโหตัวเอง ทุบอกตัวเองบ้าง หรือไม่ก็เอารองเท้าแตะฟาดหัว ทําไมมันคิดมากเหลือเกิน บางคนกรีดร้อง เพราะว่าพยายามกดข่มความคิด พยายามกดข่มความฟุ้งซ่าน แต่ว่ามันไม่สําเร็จ เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะเอาวิธีคิด เอาวิธีการที่ใช้ในทางโลกมาใช้กับการปฏิบัติธรรม
วิธีการทางโลกบางอย่างมีประโยชน์สําหรับการปฏิบัติธรรม หรือการเข้าถึงความสําเร็จทางธรรม เช่น การที่เราจะพบความสําเร็จทางโลกได้ต้องมีความขยัน ความอดทน ซึ่งเป็นวิธีที่เป็นประโยชน์สําหรับการปฏิบัติธรรม แต่ว่าท่าทีบางอย่าง มันสวนทางกัน ความสําเร็จทางโลกต้องมีความยึดติด เวลาทําอะไรก็คิดถึงความสําเร็จอยู่ข้างหน้า
แต่เวลาเราปฏิบัติธรรม ถ้ามุ่งหวังความสําเร็จข้างหน้า มุ่งหวังความสงบ มุ่งหวังความพ้นทุกข์ หรือแม้แต่มุ่งหวังความรู้สึกตัว มันก็ทําให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาได้ เพราะว่าใจไม่อยู่กับปัจจุบัน เวลาปฏิบัติ เวลาเดินจงกรม เวลาสร้างจังหวะ ก็นึก ก็ชะเง้อคอ เหมือนกับมองสอดส่ายว่าเมื่อไหร่จะสงบ
แล้วทางโลกนี้ ก็ย่อมมีความคาดหวังว่าจะต้องบรรลุความสําเร็จ จะต้องประสบความสําเร็จ มันก็เลยบ่มเพาะความอยากได้ อยากได้ แต่ถ้าเราเอามาปฏิบัติธรรมแล้วมันมีความอยากได้นี้ มันยิ่งทําให้เนิ่นช้า หรือบางทีก็เข้ารกเข้าพงไปเลย
เคยมีลูกศิษย์หลวงพ่อเฟื่อง โชติโก หลวงพ่อเฟื่องท่านเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น ลูกศิษย์คนนั้นเป็นฆราวาส มาตัดพ้อกับหลวงพ่อเฟื่องว่าปฏิบัติธรรมมาตั้งนาน ยังไม่เห็นได้อะไรเลย หลวงพ่อท่านบอกว่า เราปฏิบัติเพื่อลดเพื่อละ ไม่ใช่เพื่อเอาเพื่อได้
คนที่มุ่งหวังความสําเร็จทางโลก ใจคิดแต่จะเอา ใจนึกถึงแต่จะได้ เพราะว่าความสําเร็จทางโลกมันต้องมีเยอะๆ ต้องได้มากๆ เงินทองก็ต้องมีเยอะๆ ชื่อเสียงเกียรติยศก็ต้องมีมากๆ ฐานะตําแหน่งก็ต้องมี ได้แล้วได้อีกไม่พอสักที
ฉะนั้น ถ้ามุ่งความสําเร็จทางโลกมีแต่บ่มเพาะจิตที่คิดจะเอา ใจที่อยากจะได้ พอหันมาปฏิบัติธรรม ก็มีความคิดแบบนี้อยู่ติดค้างมา เอามาใช้กับการปฏิบัติธรรม ก็เลยคิดแต่จะเอา คิดแต่จะได้ ทั้งที่การปฏิบัติธรรม หรือว่าจุดมุ่งหมายทางธรรม ก็เพื่อลดเพื่อละ ไม่ใช่เพื่อเอาเพื่อได้ มันต่างกันมากระหว่างจุดหมายทางโลกกับจุดหมายทางธรรม
จุดหมายทางโลกต้องมีเยอะๆ ได้มากๆ แต่จุดหมายทางธรรมมีแต่จะลดจะละ ไม่ใช่แค่ลดละสิ่งที่เป็นเงินทอง ชื่อเสียง ทรัพย์สมบัติ ฐานะตําแหน่งเท่านั้น แม้กระทั่งสิ่งที่เป็นนามธรรมนี่ก็ต้องลดละ เช่น ตัณหา ความเห็นแก่ตัว ความอยากได้
ชีวิตทางโลกมันสะสมนิสัยอยากได้ อยากมี อยากเอา คิดแต่จะเอา คิดแต่จะได้ แต่พอมาปฏิบัติธรรมนี้ต้องเปลี่ยนให้หมด มันสวนทางกันเลยคือว่าทําเพื่อลด ทําเพื่อละ ไม่ใช่เพื่อเอา
หลายคนจึงมีความทุกข์แล้วก็ท้อเวลาปฏิบัติธรรม เพราะว่าทําตั้งนานแล้วยังไม่เห็นได้อะไรเลย ทําบุญก็อยากได้บุญ ปฏิบัติธรรมก็อยากได้โน่น อยากได้ อย่างบางคนอยากเห็นสีเห็นแสง อยากได้ความสงบ แต่ที่จริงแล้วการปฏิบัติธรรมเพื่อรู้ อะไรเกิดขึ้นก็แค่รู้เฉยๆ สงบก็รู้ ไม่สงบก็รู้ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือว่า ยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้นด้วยใจที่เป็นกลาง ไม่มีการเลือกที่รักมักที่ชัง
ไม่ใช่ว่าปฏิบัติเพื่อจะเอาความสงบ ถ้าไม่สงบไม่เอา หรือว่าปฏิบัติด้วยใจที่อยากจะขับไล่ไสส่งความฟุ้งซ่าน เพราะมันขัดขวางความสงบ มันขัดขวางการได้มาซึ่งความสงบ มันมีการเลือกที่รักมักที่ชัง มีการให้ค่ากับสิ่งต่างๆ ว่าดี ไม่ดี ในทางโลกทําอย่างนั้นได้ แล้วมันอาจจะจําเป็นต้องทํา
แต่ว่าในทางธรรม ถ้าเราฝึกที่จะยอมรับสิ่งต่างๆ อย่างที่มันเป็น อะไรเกิดขึ้นก็ยอมรับ ไม่ยินดีไม่ยินร้าย ยอมรับด้วยใจที่เป็นกลาง แล้วเรียนรู้ที่จะลดที่จะละไปเรื่อยๆ ละการปรุงแต่ง ไม่มีการปรุงแต่งว่าดี ว่าไม่ดี
เพราะฉะนั้น อะไรเกิดขึ้นกับใจ อะไรเกิดขึ้นกับกาย จะว่าไปก็ดีทั้งนั้น เพราะมันมาฝึกจิตให้รู้ ทีแรกก็รู้ทัน รู้ทันความคิด รู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้น อันนี้เรียกว่าสติ ต่อไปมันรู้ความจริงของกายและใจ อันนี้เรียกว่าปัญญา
จากการรู้ตัว มาเป็นการรู้ความจริง จากสัมปชัญญะ มาเป็นการเจริญปัญญา
ฉะนั้น เวลาเราปฏิบัติธรรม ก็ต้องคอยสอดส่องดูว่าเราเอาวิธีการทางโลกมาใช้กับการปฏิบัติธรรมหรือเปล่า ที่จริงโลกกับธรรมมันไม่ได้แยกกัน การปฏิบัติธรรมก็เกื้อกูลต่อการใช้ชีวิตทางโลกได้ด้วย เพราะว่าถ้าใช้ชีวิตทางโลกโดยที่ไม่สนใจธรรม ไม่เห็นโทษของกิเลส ไม่เห็นโทษของตัณหา มานะ ทิฏฐิ ไม่รู้จักปล่อย ไม่รู้จักวางบ้าง มันก็ทุกข์มาก
หลายคนที่ใช้ชีวิตทางโลกมุ่งความสำเร็จทางโลก แล้วไม่สนใจธรรม ก็มีแต่จะประสบความทุกข์มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าจะให้ดี ก็วางใจให้ถูก ให้เห็นความจริงของกายและใจ แล้วก็นํามาใช้ปฏิบัติ การมุ่งความสําเร็จทางโลกต้องอาศัยการจัดการกับสิ่งภายนอก หลายคนเอาวิธีการทางโลกมาใช้กับวิธีการทางธรรมอีกอย่างหนึ่งก็คือ คิดแต่จะไปจัดการกับสิ่งภายนอก
เวลาใจทุกข์ก็คิดแต่จะไปจัดการกับสิ่งที่อยู่นอกตัว เสียงดัง หรือว่าการกระทําคําพูดที่ไม่ถูกใจของใครบางคน คิดแต่จะไปจัดการกับสิ่งเหล่านั้น อันนี้เป็นวิธีการทางโลก วิธีการทางโลกมันเน้นการจัดการกับคน จัดการกับสถานที่ จัดการกับสิ่งแวดล้อม
แต่ในทางธรรม มุ่งจัดการกับใจของตัว หลายคนแม้จะมาปฏิบัติธรรมแล้ว แต่เนื่องจากต้องการความสงบ แต่ว่ายังติดวิธีการทางโลกอยู่ ก็ไปจัดการกับสิ่งภายนอก จัดการให้สิ่งแวดล้อมไม่มีเสียงรบกวน จัดการกับผู้คนให้ทําตัวเรียบร้อย การกระทําคําพูดไม่ก่อปัญหา
แต่ที่จริงแล้วนั่นไม่ใช่วิธีการทางธรรม ทางธรรมคือมาจัดการที่ใจของเรา มาดูว่าใจเรามันมีอุปาทาน มีความยึดติดหรือเปล่า แต่ถ้าหากว่ายังมีความอยากได้ อยากได้ความสงบ มันก็อดไม่ได้ที่จะไปจัดการกับสิ่งภายนอก แต่ถ้าเรามุ่งลดละความยึดติดในใจ ยอมรับสิ่งต่างๆ อย่างที่มันเป็น เสียงดังก็ไม่ได้ทําให้ใจทุกข์ หรือว่าใครจะทําอะไร ก็สามารถจะวางใจไม่ทุกข์เพราะสิ่งเหล่านั้นได้
นี่คือจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติธรรม การใช้ชีวิตทางธรรมมันต้องมาถึงจุดนี้ เพราะไม่อย่างนั้นถึงแม้ว่าภายนอกดูเหมือนกับยังปฏิบัติธรรม แต่ว่าข้างในก็ยังใช้วิธีการเดียวกับวิธีทางโลก มันก็เลยสวนทางกัน แล้วสุดท้ายก็ไม่สามารถจะพบกับความสงบอย่างแท้จริง เพราะว่าไม่สามารถทำให้เกิดการลดการละขึ้นได้.