พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 9 มกราคม 2568
มีกวีนักปราชญ์ชาวเปอร์เซีย เมื่อ 800 ปีก่อน ชื่อรูมี (Rumi) รูมีนอกจากเป็นกวีที่ประพันธ์บทกวีที่ไพเราะแล้ว ยังให้ข้อคิดที่ลึกซึ้ง เรียกว่าลุ่มลึกมาก มีประโยคหนึ่งของรูมีบอกว่า จงปกป้องตัวเองจากความคิดของเธอ
หลายคนอ่านแล้วก็งงนะ ทำไมต้องปกป้องด้วย ความคิดมันดีไม่ใช่หรือ ทำไมต้องปกป้องตัวเองจากความคิดของเรา แต่ถ้าหากว่าใครที่ปฏิบัติ เจริญสติตามแนวทางพุทธศาสนาก็จะเข้าใจ คือตระหนักว่าคนเราทุกข์เพราะความคิด
ความคิดที่อยู่ในหัวของเรานี้แหละ จะเรียกว่าทุกข์เพราะความคิดของเราก็ได้ แต่ถ้าดูให้ดีๆ มันก็ไม่ใช่ความคิดของเรา แต่ว่าเพื่อความเข้าใจให้ง่ายก็พูดว่า ทุกวันนี้คนเราทุกข์ก็เพราะความคิดของเรา ซึ่งมักจะถูกชักใย ผลักดันด้วยอารมณ์หรือกิเลส
คนทุกวันนี้เครียด กลุ้ม เศร้า โกรธ คับแค้น ก็เพราะความคิดที่มีอยู่ในหัว หรือความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจ อันนี้ก็ถือว่าเป็นอันตรายอย่างหนึ่งของคนสมัยนี้
พระพุทธเจ้าตรัสว่าอันตรายมีอยู่สองประเภท อันตรายที่เปิดเผย กับอันตรายที่ปกปิด อันตรายที่เปิดเผย ได้แก่ งูเงี้ยวเขี้ยวขอ สัตว์ร้าย ศาสตราวุธ แผ่นดินไหว ภัยธรรมชาติ เชื้อโรค สมัยนี้ก็ต้องรวมไปถึงแก๊งมิจฉาชีพ หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ด้วย เพราะถึงแม้จะไม่ได้ทำร้ายทางกาย แต่ว่าก็สามารถสร้างความเดือดร้อนทางด้านทรัพย์สินเงินทองได้ อันนี้ก็เรียกว่าเป็นอันตรายที่เปิดเผย หรืออันตรายที่เห็นได้ด้วยตา
อันตรายอีกชนิดหนึ่งคือ อันตรายที่ปกปิด ท่านหมายถึงกิเลส ความถือตัว ตัณหา มานะ ความโกรธ ความอิจฉา ความน้อยเนื้อต่ำใจ พวกนี้ปรุงแต่งความคิดที่รบกวนจิตใจของเรา
คนเราทุกวันนี้มีความสามารถในการป้องกันภัยจากภายนอก หรืออันตรายที่เปิดเผย เรามีกำแพงรั้วแน่นหนาป้องกันผู้ร้าย เรามีตำรวจ เรามีระบบต่างๆ เพื่อป้องกันภัยจากผู้ร้าย เรามีสวัสดิภาพมากขึ้นกว่าแต่ก่อน มีระบบสาธารณสุขที่ช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อโรคมาทำร้ายร่างกายของเรา เรามีกลไกมาตรการต่างๆ มากมายที่ป้องกันอันตรายที่เปิดเผย
แต่อันตรายที่ปกปิด ไม่มีอะไรที่จะช่วยเราได้ดีกว่าสติ ความรู้สึกตัว เพราะถ้าไม่มีสติ ไม่มีความรู้สึกตัว ความคิดอารมณ์ต่างๆ ก็สามารถจะจู่โจม เข้ามาทำร้ายจิตใจของเรา เผาลนใจ กรีดแทงใจ หรือว่าบีบคั้นใจให้เกิดความทุกข์ เกิดความโกรธ เกิดความเศร้า เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ เกิดความเครียดกลัดกลุ้ม หนักอกหนักใจ จนกระทั่งถ้าไม่เจ็บป่วย ถ้าไม่เส้นเลือดในสมองแตก หรือว่าเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ทำให้หัวใจวาย ก็ทำให้ซึมเศร้า
หรือมิฉะนั้นก็คลุ้มคลั่งจนฆ่าตัวตาย หรือหนักกว่านั้นก็คือไปฆ่าคนอื่นให้ตายเพราะความโกรธแค้น อันนี้ก็เป็นเพราะเราไม่มีสิ่งที่จะช่วยปกป้องใจ ให้ปลอดภัยจากความคิดและอารมณ์ที่เป็นอกุศลเหล่านั้น
คนเราจะทำชั่ว คดโกงทุจริต มันก็เพราะความคิดนะ รวมทั้งความอยาก อยากมีอยากได้ รู้สึกด้อย มีแค่ความอยากมันไม่พอ ก็ต้องคิดหาทางสนองความอยากให้สำเร็จ และบางทีอารมณ์เหล่านี้ก็ท่วมท้นใจจนบงการให้เราต้องทำในสิ่งที่ก่อความเดือดร้อนเสียหายแก่คนอื่น แล้วก็สร้างความเดือดเนื้อร้อนใจ หรือสร้างภัยอันตรายให้กับตัวเอง อันนี้ในกรณีที่มีความโลภ มีความโกรธอย่างรุนแรง
ใครบางคนเวลาไปทำร้ายผู้อื่นด้วยอารมณ์ทางเพศ เกิดราคะอย่างรุนแรง เราก็เรียกว่าเขาหน้ามืด หรือใครที่โกรธแค้น จนกระทั่งทำร้ายผู้คน กราดยิง คนล้มตายกันเยอะแยะ อันนี้เราก็เรียกว่าบ้าคลั่งขาดสติ
ทั้งหมดนี้มันก็เป็นเพราะว่าเราไม่มีสติมากพอ ที่จะปกป้องจิตใจให้พ้นจากการครอบงำ หรือว่าย่ำยีของอารมณ์และความคิดเหล่านั้น เวลาเราบอกว่าคนๆ นี้คลุ้มคลั่ง คนๆ นี้หน้ามืด คนๆ นี้สติแตกเนี่ย มันบ่งชี้เลยเป็นเพราะว่าคนๆ นั้นขาดสติ
ถ้าเขามีสติมากพอ ความอยาก อารมณ์ ความคิด ไม่ว่าจะเป็นราคะ โลภะ โทสะ คับแค้น พยาบาท ก็ครอบงำจิตไม่ได้ เรียกว่าจิตใจเรามีเครื่องป้องกัน
เพราะฉะนั้นใจของเรานี้ถ้าไม่มีเครื่องป้องกันอันตรายที่ปกปิดหรือว่าความคิดและอารมณ์ที่เป็นอกุศล เราก็จมดิ่งอยู่ในความทุกข์ หรือบางทีก็ถลำเข้าไปสู่ทางต่ำ ทำให้ชีวิตนี้ย่ำแย่
จริงๆ ความคิดหรืออารมณ์มีประโยชน์ คนเราต้องอาศัยความคิดในการแก้ปัญหา อาศัยความคิดในการนำพาชีวิตให้เจริญงอกงาม เวลามีปัญหาเรื่องอาชีพการงาน ปัญหาเรื่องสุขภาพ ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ เราก็ต้องใช้ความคิดในการแก้ จะใช้อารมณ์อย่างเดียวไม่พอ แม้ว่าจะเป็นอารมณ์ที่ดี คือเมตตากรุณา เห็นอกเห็นใจ ถ้าหากว่าใช้แต่อารมณ์ แต่ไม่ใช้ความคิด สิ่งที่ทำไปก็อาจจะเกิดปัญหาได้
ปรารถนาดีอยากจะช่วยผู้อื่น แต่ว่าไม่ใคร่ครวญให้ดี แทนที่จะช่วยเขากลับกลายเป็นสร้างปัญหาให้เขา เหมือนกับพ่อแม่ที่ปรารถนาดีกับลูก แต่ว่าสอนลูกไม่เป็น แนะนำลูกไม่ถูก ลูกแทนที่จะกลายเป็นคนเข้มแข็งกลับกลายเป็นคนอ่อนแอ หรือมิฉะนั้นก็ถูกตามใจจนเสียคน เราต้องใช้ความคิดใช้ความรู้ ความคิดมันก็มีประโยชน์ แต่ว่าถ้าเราปล่อยให้ความคิดมันมาเป็นนายเรา เราแย่นะ
ความคิดเป็นบ่าวที่ดี แต่เป็นนายที่เลว คนเราถ้าทำตามความคิดทุกอย่างนี้แย่ เพราะว่ามันมีทั้งความคิดที่ดีและความคิดที่ไม่ดี แม้กระทั่งความคิดที่ดีก็ต้องรู้จักพิจารณาด้วย เพราะว่าแม้มันจะดีแต่ถ้าเกิดว่าขาดสติ เกิดความยึดมั่นถือมั่นในความคิดเหล่านั้น มันก็เกิดปัญหาขึ้นมาได้
เช่น อะไรที่ดีเราก็พยายามบังคับ หรือว่าคาดคั้น กดดันให้คนอื่นเขาทำเหมือนเรา คิดเหมือนเรา เพราะเห็นว่าเป็นของดี ก็เกิดปัญหา เหมือนกับพ่อแม่ที่คาดคั้นลูก บังคับลูกให้มานั่งสมาธิ หรือครูก็พยายามกดดันคาดคั้นให้นักเรียนมานั่งสมาธิ หรือแม้แต่เป็นจิตอาสา แต่ว่าความปรารถนาดี หรือแม้กระทั่งความคิดที่ดี มันก็อาจจะทำให้เด็กเกิดอาการต่อต้าน
เด็กหลายคนเกลียดการนั่งสมาธิ เพราะว่าถูกครูบังคับ โดยเฉพาะเด็กที่เกเร เด็กที่มาสาย เด็กที่ไม่ทำการบ้าน ครูก็มักจะใช้วิธีบังคับให้มานั่งสมาธิ กลายเป็นว่าการนั่งสมาธิคือการลงโทษ แทนที่จะเป็นของดีกลับกลายเป็นการลงโทษ เด็กก็รู้สึกว่าไม่อยากนั่งสมาธิ เกลียดด้วย เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่เหมาะกับคนที่สมควรถูกลงโทษ คนเกเร
อย่างนี้เรียกว่าปรารถนาดี ความคิดดี เจตนาดี แต่ว่าพอไปยึดมั่นถือมั่นกับความคิดหรือความดีนั้น มันก็เกิดปัญหา แม้กระทั่งสิ่งที่ถูก ถ้ายึดมั่นถือมั่นก็กลายเป็นผิดได้
หลวงพ่อเฟื่อง โชติโก ท่านบอกว่า ความเห็นของเราแม้จะถูกแต่ถ้ายึดเข้าไว้มันก็ผิด เพราะว่าพอเรายึดว่าความเห็นของเราถูกต้อง ใครที่คิดไม่เหมือนเราก็แสดงว่าคนนั้นผิด ต่อไปแทนที่จะเห็นเป็นคนผิดก็กลายเป็นคนไม่ดีไปเลย หรือกลายเป็นคนชั่วไปเลย พอเป็นคนชั่วก็ต้องกำจัดออกไป เกิดขึ้นมาตลอด
แต่ถ้าเกิดมีสติขึ้นมา ก็จะทำให้เราไม่หลงยึดมั่นในความคิด แม้ว่าจะดีก็ตาม หรือว่าไม่จมดิ่งอยู่กับสิ่งเหล่านั้น มันทำให้เกิดความยับยั้งชั่งใจ
จิตใจของคนเรานี้จำเป็นต้องมีสองอย่าง หนึ่ง ตัวกระตุ้น กระตุ้นให้ลงไม้ลงมือ ให้ขยันขันแข็ง มีความเพียร อีกส่วนหนึ่งก็คือ เป็นตัวเบรก เหมือนกับรถ รถก็มีทั้งคันเร่งแล้วก็มีทั้งเบรก คันเร่งกับเบรกนี้มันคนละระบบ คนละตัว คนละกลไก
แต่ใจเรานี้ ตัวเร่งกับตัวชะลอ หรือตัวยับยั้งชั่งใจ หรือตัวเบรกนี้ มันอยู่ในสิ่งเดียวกันคือสติ เวลาเราเกียจคร้านขึ้นมา เช่น ได้เวลาทำวัตร ไม่อยากลุก มันงัวเงีย ถ้ามีสติก็จะเกิดความกระฉับกระเฉงขึ้นมา ลุกขึ้นมาเตรียมตัวไปทำวัตร ล้างหน้าถูฟัน อันนี้เพราะมีสติเป็นตัวกระตุ้น
แต่บางครั้งเราเกิดอารมณ์ที่รุนแรง ไม่ว่าจะเป็นเพราะอำนาจของความโลภ ความอยาก หรือความโกรธ เวลามีตัณหาหรือโลภะ มันอยากจะถลาเข้าหา เวลาเกิดความโกรธก็อยากจะเข้าไปผลักไส ซึ่งก็อันตราย แต่ถ้ามีสติก็ยับยั้งชั่งใจ จะด่าเขาก็ยับยั้งชั่งใจไว้ได้ หรือว่าจะซื้อจะกิน เห็นของอร่อย กินแล้วกินอีกๆ จนกระทั่งร่างกายแย่เพราะเบาหวาน โรคหัวใจ ไขมันเยอะ
สติเป็นตัวเบรกว่า อย่าทำตามอารมณ์มาก เวลามีความคิดขึ้นมา ความคิดที่ดี สติก็เป็นตัวผลักให้ทำตามความคิดนั้น แต่พอมันเลยเถิดไป สติก็เป็นตัวชะลอ จริงๆ ชีวิตของเรา ไม่ว่ากายหรือใจ ก็ต้องการสองสิ่งนี้ควบคู่กัน คือตัวเร่งตัวกระตุ้น กับตัวชะลอ
ร่างกายเรานี้เป็นตัวอย่างที่ดีมาก จะว่าไปน่าอัศจรรย์มาก อย่างเช่น เวลาเราหิวก็จะมีสารกระตุ้นให้เราอยากกิน เรียกว่าฮอร์โมน ฮอร์โมนที่ชื่อว่า เกรลิน (Ghrelin) พอร่างกายเราเริ่มไม่มีเรี่ยวไม่มีแรง หรือว่าน้ำตาลลด มันต้องการอาหารเพื่อเพิ่มพลังงาน ก็จะมีฮอร์โมนหลั่งออกมา
เกรลินทำให้อยากกิน แต่พอกินเยอะๆ มันเริ่มอิ่มแล้ว น้ำตาลในเลือดเริ่มสูงขึ้นแล้ว ไขมันก็เริ่มเพิ่มปริมาณมาก ได้เวลาต้องหยุดแล้ว มันก็จะมีฮอร์โมนอีกตัวชื่อ เลปติน (Leptin) มาเบรก มาชะลอ ทำให้ไม่อยากกินแล้ว เราสังเกตไหมเวลาเรากินอิ่มๆ ตอนที่ยังไม่อิ่มหรือตอนหิวมันอยากกิน แต่พอเริ่มจะอิ่มแล้ว ไม่อยากกินแล้ว อันนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องของใจ ไม่ใช่เป็นเรื่องของท้อง แต่ว่าเป็นเรื่องของฮอร์โมน เพราะมีฮอร์โมนสองตัวทำงานช่วยกัน ตัวเร่งในยามหิวก็กินเยอะๆ เกิดความอยากกิน พอกินมากๆ ก็ได้เวลาหยุดแล้ว มันก็จะมีตัวชะลอ
เดี๋ยวนี้เขาพบว่า มีกลไกที่ยิ่งกว่านั้น อย่างเช่น เขาพบว่าน้ำตาลไขมัน เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อร่างกาย ในธรรมชาติจะมีน้ำตาลและไขมันน้อย ในธรรมชาติไม่ใช่ในตลาด ในธรรมชาติหลายร้อยปีก่อน กว่าจะมีผลไม้สดๆ ผลไม้สุกกินนี้ มันหายาก เนื้อสัตว์ก็หายาก แต่ว่าน้ำตาลและไขมันเป็นสิ่งจำเป็น มันก็จะมีตัวกระตุ้นให้เราอยากกิน พอเรากินน้ำตาล พอกินไขมัน ก็จะมีสารความสุขหลั่งออกมา โดพามีน (dopamine) ทำให้เราอยากกินน้ำตาล อยากกินของหวาน อยากกินไขมัน
แต่พอกินมากๆ มันเริ่มจะไม่ดี แล้วมันก็จะมีสารที่จะมาทำให้โดพามีนลดลง สารความสุขลดลงเพื่อที่เราจะได้ไม่กระหายในการกิน เพราะถ้ากินน้ำตาลเยอะๆ กินไขมันมากๆ ร่างกายแย่ มันก็มีอินซูลินหลั่งออกมา ทำให้โดพามีนค่อยๆ ลดปริมาณลง พอลดปริมาณลง ความสุขจากการกินน้ำตาล จากการกินไขมันก็ลดลง
แต่ว่าเดี๋ยวนี้อาหารที่เรากิน ขนมที่เรากินนี้ มันกระตุ้นโดพามีนออกมาอยู่เรื่อย จนกระทั่งเกิดอาการเสพติด ทีนี้แหละแย่แล้ว คนที่ติดน้ำตาล คนที่ติดของหวาน คนที่ติดไขมัน ชอบกินอะไรมันๆ พวกเนื้อ เพราะว่าติดโดพามีน สารแห่งความสุข กินแล้วมีความสุขก็เลยกินใหญ่ๆ กลไกธรรมชาติที่คอยจะชะลอโดพามีนให้มันลดลงก็เริ่มไม่ทำงานแล้ว
ภูมิคุ้มกันของร่างกายเราก็เหมือนกัน เวลามีเชื้อโรคเข้ามา มันก็มีตัวเร่งให้ภูมิคุ้มกันออกมาทำงาน มากินเชื้อโรค มาจัดการกับเชื้อโรค แต่ว่าถ้ามันขยันเกินไป เกิดปัญหา ภูมิคุ้มกันบางทีมันบ้าคลั่ง ก็เลยต้องมีตัวชะลอเรียกว่า suppresser คือตัวชะลอให้ตัวคุ้มกันนี้มันเพลาๆ หน่อย เพราะถ้าไม่เพลานี้ต่อไปมันจะไปเล่นงานเซลล์ในร่างกาย ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ โรคพุ่มพวง
คนที่เป็นโรคภูมิแพ้ หรือแพ้ภูมิ ก็เพราะว่ากลไกในการเบรกภูมิคุ้มกันมันเสียไป ก็เลยขยันทำงานเกินหน้าที่ ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าร่างกายคนเรานี้มีสองระบบอยู่ตลอดเวลา ที่ทำให้ร่างกายเราเป็นปกติ คือตัวเร่งกับตัวชะลอ
ใจเราก็เหมือนกัน ธรรมชาติก็ให้สติมา สติทำหน้าที่เป็นทั้งตัวเร่ง กระตุ้นให้เกิดความขยันหมั่นเพียร กระตือรือร้น ที่เรียกว่าไม่ประมาท ความไม่ประมาทซึ่งเป็นชื่อเรียกหนึ่งของสติ ก็คือตัวเร่งให้ขวนขวาย แต่ว่าถ้าขวนขวายมากไป หรือถ้ามีแต่ตัวเร่งอย่างเดียว มันไม่พอ มันต้องมีตัวชะลอ ตัวเบรก เพราะว่าบางครั้งเราเกิดอารมณ์ เช่น เกิดความอยาก เกิดความโกรธ หรือแม้กระทั่งขยันเกินเหตุ ต้องมีสติ สติเพื่อจะชะลอ เพื่อจะเบรก
ความคิดก็เหมือนกัน เวลาเรามีความคิดเยอะ ถ้ามีมันดี แต่ถ้ามีมากๆ ไม่ดี นอนไม่หลับ คนทุกวันนี้ฟุ้งซ่านมากเพราะว่ามันถูกกระตุ้นให้คิดๆๆๆ แต่ไม่ได้ถูกฝึกมาให้รู้จักวางความคิด เพราะฉะนั้นสติจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะถ้าเราไม่มีตัวชะลอความคิด แม้จะคิดดี คิดเรื่องงานเรื่องการ แต่ว่าพอมันคิดไม่หยุด นอนไม่หลับ ก็แย่เลย
อันนี้ยังไม่นับถึงความคิดที่ไม่ดีนะ หรือเสียงในหัว เดี๋ยวนี้มันมีหลายคนที่มีเสียงในหัว เสียงตำหนิตัวเอง หรือว่าเสียงก่นด่าครูบาอาจารย์ เสียงจ้วงจาบพระรัตนตรัย หลายคนเป็นทุกข์มาก เพราะว่าไม่มีวิธีการป้องกันเสียงเหล่านี้ หรือความคิดเหล่านี้ ไม่ให้มารบกวนจิตใจ
บางคนแย่เลย รู้สึกว่าตัวเองแย่ เลวมาก ทำไมถึงคิดไม่ดีกับพ่อแม่ ทำไมจ้วงจาบพระรัตนตรัย ลงโทษตัวเอง ฉันมันคนเลว บางคนคิดอยากจะฆ่าตัวตายเลย นี่เพราะว่าไม่รู้จักวิธีป้องกันจิตใจจากความคิดของตัวเอง
ฉะนั้นที่รูมีพูดนี้มันจริงเลย คนเราต้องรู้จักป้องกันตัวเองจากความคิดของตัว แต่ที่จริงถ้าเข้าใจ ถ้าปฏิบัติธรรมเจริญสติมากๆ ก็จะรู้ว่าความคิดพวกนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา จะไปคล้อยตามมันเพียงเพราะเชื่อว่าเป็นความคิดของเรานั้น เราก็ไม่แล้วที่จะไปหลงเชื่อมันต่อไป
เสียงที่จ้วงจาบครูบาอาจารย์ เสียงจ้วงจาบพระรัตนตรัยก็ไม่ใช่เสียงของเรา มันเป็นอีกอันหนึ่งเลย ถ้าเราเข้าใจก็จะพบว่าความคิดไม่ใช่เรา ความคิดไม่ใช่ของเรา เพราะฉะนั้นก็จะไม่ปล่อยให้มันมาทำร้ายจิตใจ หรือไม่ไปยึดมั่นถือมั่นกับมัน
อะไรที่จะทำให้เราเห็นว่า ความคิดไม่ใช่เรา ความคิดไม่ใช่ของเรา ก็สตินั่นแหละ เพราะสติมันช่วยทำให้เห็นความคิด และไม่ยึดความคิดว่าเป็นเรา ว่าเป็นของเรา ถ้าเราเผลอไปยึดว่าความคิดเป็นเรา เป็นของเราเมื่อไหร่ เราก็จะยึด แล้วก็เชื่อ แล้วก็ปล่อยให้มันครองจิตครองใจ เป็นจุดอ่อนของจิต ความคิดนี้มันจะเข้ามาทำร้ายเราได้ หรือว่าความคิดที่แย่ๆ หรืออารมณ์ที่แย่ๆ หรืออารมณ์อกุศล
ถ้าไปหลงคิดว่าเป็นเรา เป็นของเรา มันก็เลยจู่โจม ทะลุทะลวง ทำร้ายจิตใจเรา แต่ถ้าเห็นนะว่ามันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันเป็นสักแต่ว่านาม แต่ไม่ใช่เรา ก็ไม่ปล่อยให้มันเข้ามาทะลุทะลวงทำร้ายจิตใจได้
เพราะฉะนั้นทุกวันนี้คนเราจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีสติในการรักษาใจให้ปลอดภัยจากความคิดและอารมณ์ต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นในหัว มันเกิดขึ้นก็ต้องพิจารณาว่าดีไหม ไม่ใช่หลงเชื่อมันทุกอย่าง หรือแม้แต่ดีก็ไม่ไปหมกมุ่นจมดิ่ง หรือว่าไปเคลิ้มคล้อยมัน จนกระทั่งหมดเนื้อหมดตัว.