พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 18 มกราคม 2568
อากาศหนาว ๆ แบบนี้ หลายคนคงอยากจะให้อากาศอุ่นขึ้นแต่ไม่ว่าเราจะอยากเพียงใดมันก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความอยากของเรา อากาศหน้าหนาวแบบนี้แทนที่เราจะปล่อยใจให้ทุกข์ จะดีกว่าถ้าเรามาเรียนรู้ว่ามันมีหลายสิ่งหลายอย่างในโลกนี้ในชีวิตนี้ที่เราไม่สามารถควบคุมบังคับบัญชาได้
และสิ่งหนึ่งสิ่งนั้นก็คือ อากาศ ไม่ว่าจะเป็นความหนาวความร้อนเราควบคุมไม่ได้เลย
แล้วมันก็ไม่ใช่แค่มีสิ่งเดียวที่เราควบคุมไม่ได้ มีเยอะไปหมดจนเรียกได้ว่าทุกอย่างเลยก็ว่าได้ ไม่อยู่ในวิสัยที่เราจะควบคุมได้ แม้กระทั่งร่างกายหรือจิตใจของเรา มันก็ไม่ได้อยู่ในอำนาจของเราล้วน ๆ
เราอยากจะให้ร่างกายแข็งแรง มีกำลังวังชา แต่มันก็เจ็บป่วยไม่มีเรี่ยวไม่มีแรง เราอยากให้ใจสงบ แต่มันก็คิดฟุ้งซ่าน นี่คือสิ่งหนึ่งที่เราควรจะเรียนรู้จากอะไรต่ออะไรที่เกิดขึ้นกับตัวเรา รวมทั้งความหนาวที่กำลังเกิดขึ้นกับเราในขณะนี้
ในเมื่อเราควบคุมดินฟ้าอากาศไม่ได้ ถึงเวลามันจะหนาวก็หนาว ฉะนั้นแทนที่เราจะปล่อยใจให้ทุกข์ เราก็ต้องหาทางป้องกัน ป้องกันไม่ให้ความหนาวก่อปัญหาให้กับเรา เราควบคุมไม่ให้ความหนาวเกิดขึ้นกับเราไม่ได้ แต่เราก็ยังสามารถที่จะทำอะไรบางอย่างได้เพื่อป้องกันไม่ให้ความหนาวสร้างปัญหาหรือสร้างความทุกข์ให้กับเรา เช่น ปิดประตูหน้าต่าง
หรือว่าสร้างฉนวน เวลาสร้างบ้านก็บุฉนวนให้มันหนา ๆ สำหรับรับมือกับความหนาว แต่มันก็เป็นปัญหาอีกนั่นแหละ เพราะพอถึงเวลาหน้าร้อนก็กลับเป็นร้อนอ้าวขึ้นมา บางคนก็ติดเครื่องทำความร้อน ฮีตเตอร์ อันนี้ก็เป็นการป้องกันไม่ให้ความหนาวมาก่อปัญหากับเรา
แต่ไม่ว่าเราจะพยายามอย่างไร บางครั้งมันก็ยังหนาวอยู่ เราก็ยังสามารถทำอะไรบางอย่างเพื่อแก้ไขได้ ถึงแม้ในบ้านยังหนาว ในที่พักยังหนาวแต่ว่าเราก็ห่มผ้าให้พอเพียง ป้องกันความหนาวไม่ให้เกิดขึ้น หรือก่อปัญหาให้กับเราไม่ได้ เราก็สามารถจะบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นให้มันเบาบางลงได้ ใส่เสื้อผ้าให้พอเพียง
แต่ว่าบ่อยครั้งพยายามทำแล้ว ป้องกันก็แล้ว แก้ไขก็แล้ว แต่ว่ามันก็ยังเป็นปัญหาเกิดขึ้นกับเราอยู่ดี ฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำคือ ทำใจ ทำใจในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าปลงอย่างเดียว แต่หมายถึงว่ายอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าเรายอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าความหนาวที่อยู่รอบตัว หรือความรู้สึกหนาวที่เกิดขึ้นกับกาย ไม่บ่น ไม่โวยวาย ไม่ตีโพยตีพาย มันก็จะช่วยลดความทุกข์ไปได้เยอะ
หลายคน ความทุกข์ก้อนใหญ่ไม่ได้เกิดจากความหนาวแต่เกิดจากใจที่มันยอมรับไม่ได้ ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ ทำไมมันหนาวเหลือเกิน ไม่ตีโพยตีพาย คร่ำครวญ อันนี้แหละที่เป็นตัวสร้างความทุกข์ให้กับเรายิ่งกว่าความหนาวของอากาศ หรือความรู้สึกหนาวที่เกิดขึ้นกับกาย
ถ้าไม่อยากซ้ำเติมเพิ่มทุกข์ให้กับตัวเองก็ยอมรับมันเสีย ว่า เออ มันเกิดขึ้นแล้ว ป่วยการที่จะบ่นโวยวายตีโพยตีพาย แต่บางทีมันก็ยังบ่น มันก็ยังโวยวายเพราะว่าใจมันไม่ได้อยู่ในอำนาจของเรา รู้ว่าไม่ควรบ่น ไม่ควรโวยวาย ไม่ควรตีโพยตีพาย แต่มันก็ยังบ่น มีอาการหงุดหงิดเกิดขึ้น
สิ่งที่เราทำได้คือเห็นมัน อะไรที่เห็นมัน ก็คือตาใน ได้แก่สติ เราห้ามไม่ให้มันบ่นโวยวาย ไม่ตีโพยตีพายไม่ได้ สั่งให้มันหยุดมันก็ไม่หยุด แต่ว่าเราทำได้อย่างหนึ่งก็คือ เห็นมัน เห็นอาการโวยวาย ตีโพยตีพายที่เกิดขึ้นในใจ อันนี้ช่วยได้เยอะ
เพราะว่าพออาการโวยวายตีโพยตีพายถูกเห็น มันก็จะสงบ เพราะว่ามันเกิดขึ้นได้เนื่องจากความหลง ความหลงเป็นตัวปรุงให้มันบ่นโวยวายตีโพยตีพาย หลงปรุงตัวกูขึ้นมาเป็นผู้ทุกข์ผู้หนาว มันก็เลยยิ่งโวยวายเข้าไปใหญ่ แต่พอเรามีสติ มีความรู้สึกตัว ความหลงมันหาย อาการบ่นโวยวายตีโพยตีพายก็ดับไปด้วย เพราะมันเหมือนกับไฟที่อยู่ได้เพราะออกซิเจน พอไม่มีออกซิเจนมันก็ดับ
นี่คือเหตุผลว่าทำไมพอมีสติเห็นอาการโวยวายตีโพยตีพาย มันก็จะดับลงไป ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เป็นข้อดีที่ว่าเราได้เอาสติมาใช้ทำงาน เพราะไม่เอาสติมาทำงานมันก็เฉื่อยชา หรือว่าไม่ค่อยมีกำลัง ไม่ค่อยมีเรี่ยวมีแรง ก็เหมือนกับกล้ามเนื้อต้องใช้งานอยู่บ่อย ๆ จึงจะมีกำลัง สมองก็เหมือนกัน สมองถ้าไม่ใช้ก็เฉื่อย กลายเป็นขี้เลื่อยไป
คนแก่สมองก็เสื่อมอยู่แล้ว ถ้าไม่ใช้สมองเลยในการทำกิจกรรมต่าง ๆ สมองก็ยิ่งเสื่อมเร็ว แต่ถ้าใช้สมองทำนั่นทำนี่บ้าง หรือว่าเล่นปริศนาอักษรไขว้ก็ยังดี เดี๋ยวนี้เขาก็มีการส่งเสริมคนแก่ให้เล่นให้ทำกิจกรรม เอาต่อตัว ชิ้นส่วนต่าง ๆ มาต่อให้เป็นภาพ ก็เรียกว่าเป็นการลับสมอง ทำให้สมองไม่เสื่อมเร็ว
สติก็เหมือนกัน ถ้าไม่ได้ใช้ หรือใช้ไม่บ่อย มันก็เฉื่อยชา แต่พอมันมีปัญหาเกิดขึ้น จะเป็นความหนาว ความร้อน หรือว่าปัญหาอื่น ๆ เช่น เจอรถติด เจออุปสรรค เจอสิ่งที่ไม่ชอบ ถ้าปล่อยใจไปตามความเคยชิน มันก็จะบ่นโวยวายตีโพยตีพาย หงุดหงิด
แต่ถ้าเกิดว่าเราไม่ทำตามความเคยชินอันเดิม เราก็เอาสติมาดู เห็นอาการโวยวายตีโพยตีพาย สติเราก็เติบโตขึ้นมา กลายเป็นว่าความหนาวที่เกิดขึ้นนั้นเป็นของดี
อะไรเกิดขึ้นกับเรามันก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าเราเกี่ยวข้องกับมันอย่างไร อันนี้มันเป็นเรื่องสำคัญเลย เป็นงานของนักปฏิบัติธรรมเลยทีเดียว สิ่งที่เป็นเครื่องชี้วัดความก้าวหน้าของการปฏิบัติ หรือสิ่งที่เป็นตัวบ่งชี้ความเป็นนักปฏิบัติธรรมก็คือว่า อะไรเกิดขึ้นกับเรา กับชีวิตของเรา กับจิตใจของเรา กับร่างกาย กับทรัพย์สินเงินทองของเรา หรือแม้กระทั่งกับคนรักของเรา อะไรเกิดขึ้นก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าเราปฏิบัติหรือเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นอย่างไร
ในทางโลกเขาก็ปรารถนาอยากจะให้มีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นกับชีวิตของเรา มีความสุขความเจริญ มีทรัพย์สินเงินทอง มีความมั่งคั่ง มีความสำเร็จ แต่ในทางธรรม ความก้าวหน้าไม่ได้อยู่ที่ว่ามีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับชีวิตของเรา แต่วัดกันตรงที่ว่าเราปฏิบัติกับสิ่งเหล่านั้นอย่างไร
ในทางโลกมีเงินมีทองร่ำรวยแล้วถือว่าเป็นความสำเร็จของชีวิต ในทางธรรมยังพูดอย่างนั้นไม่ได้ อยู่ที่ว่าปฏิบัติกับทรัพย์สินเงินทองหรือว่าความสำเร็จเหล่านั้นอย่างไร
มีเงินทองมากมาย ร่ำรวยมหาศาลแต่ว่าไม่เอาไปใช้เพื่อเลี้ยงตัวให้มีความสุข หรือว่าเลี้ยงตัวให้มีความสุขแต่ว่าไม่ได้ไปช่วยให้คนอื่นมีความสุข เช่น คนในครอบครัว หรือว่าเพื่อนฝูงมิตรสหาย รวมทั้งเอาเงินนั้นไปทำประโยชน์ส่วนรวม ก็ถือว่าไม่ถูกต้อง
หรือแม้ทำแล้วแต่ว่าจิตใจก็ยังมีความยึดติด ยึดติดในทรัพย์ หมกมุ่น สยบมัวเมา อันนี้ก็ถือว่าไม่ใช่เป็นความก้าวหน้าหรือความสำเร็จในทางธรรม
ต่อเมื่อทำใจหรือฝึกจิตให้เห็นว่าทรัพย์สินเงินทองเหล่านี้ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะยึดติดถือมั่นได้ แล้วก็ไม่หลงมัวเมาจนตกเป็นทาสของมัน ตรงที่ต่างหากที่เป็นสิ่งที่วัดความก้าวหน้าของการปฏิบัติ
หลายคนมีเงินมีทองแต่ว่าปล่อยให้เงินมาเป็นนายของตน อันนี้เป็นเพราะไปยึดว่า เงินเป็นของฉัน ยิ่งยึดมั่นว่าเป็นของฉันมากเท่าไหร่ ก็กลายเป็นของมันไปทันที เวลามันเสียหายหรือว่าถูกคนลักเอาไป ก็เสียใจ คร่ำครวญ หรือเวลาต้องสูญเสียทรัพย์ก็เป็นทุกข์อย่างยิ่ง อันนี้แหละคือวิถีของชาวโลกแต่ไม่ใช่ลักษณะของนักปฏิบัติ
มันไม่ใช่แค่เงินทองอย่างเดียว แม้กระทั่งความสุข ความราบรื่นในชีวิต ซึ่งก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่อาศัยเงินทอง แต่ต้องอาศัยการประพฤติปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง พูดง่าย ๆ คือมีธรรมะ
มีธรรมะก็จะช่วยทำให้ชีวิตนี้มีความสุข สุขทั้งกาย สุขทั้งใจ แล้วชีวิตก็มีความราบรื่น มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น แต่แม้จะมีสิ่งนี้เกิดขึ้นกับตน หรือกับชีวิตของเรา มันก็ยังพูดไม่ได้ว่าเรามีความก้าวหน้าในการปฏิบัติหรือเปล่า
เพราะแม้จะมีความสุข มีชีวิตที่ราบรื่น แม้จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะการมีศีลมีธรรม แต่ถ้าใจไปหลงยึดกับความสุข หลงยึดกับชีวิตที่ราบรื่น อันนี้ก็ถือว่าสอบตกได้ เพราะว่าถ้าหากว่าจิตยังมีความหลงยึดในสิ่งที่เกิดขึ้นแม้มันจะเป็นความสุข แต่ว่ามันก็ทำให้เกิดความประมาทได้เหมือนกัน ประมาทในแง่ที่ว่าไม่ได้ใช้สิ่งที่เกิดขึ้นในการพัฒนาตนให้มีความเจริญงอกงามในทางจิต
หลายคนพอชีวิตมีความสุข สงบราบรื่นก็เลยเฉื่อยเนือย เพลิดเพลินหลงใหลกับมัน แทนที่จะมองว่า ในเมื่อชีวิตเรามีความสุข มีชีวิตราบรื่น เราก็ต้องใช้โอกาสนี้ในการฝึกจิตฝึกใจให้พัฒนามากขึ้น แต่คนจำนวนมากพอชีวิตมีความสุขมีความราบรื่น อาจจะเป็นเพราะมีศีล 5 แต่ว่าหยุดเท่านั้น ไม่ใช้โอกาสที่มีความสุข ชีวิตราบรื่นนี้ในการฝึกฝนตนหรือพัฒนาจิตให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป
อย่างนี้เรียกว่าประมาท เรียกว่าเสียโอกาสในการที่จะฝึกฝนพัฒนาตน เพราะในทางพุทธศาสนา ความสุขไม่ได้เป็นจุดหมายของชีวิต สุขที่ใคร ๆ รู้จักกัน แต่มันเป็นแค่สิ่งอำนวยให้เกิดความสะดวกในการพัฒนาตน
อย่างมีคำสอนพระพุทธเจ้าตรัสว่า ศรัทธาทำให้เกิดปราโมทย์ ปราโมทย์คือความเบิกบานใจ ปราโมทย์ทำให้เกิดปีติ อิ่มเอิบใจ ปีติทำให้เกิดปัสสัทธิ ผ่อนคลายกายและใจ และทำให้เกิดสุข แต่จากสุขก็จะนำไปสู่สมาธิ หมายความว่า สุขเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เกิดสมาธิ เกิดความงอกงามทางจิต ไม่ใช่สุขแล้วก็สบาย ไม่ทำอะไร นั่งเล่นนอนเล่น
ความสบายก็เหมือนกัน ความสบายเมื่อเกิดขึ้นแล้วไม่ว่าจะเป็นเพราะความพากเพียรในการทำมาหากินจนกระทั่งชีวิตเกิดความสบาย ปัจจัย 4 ก็พร้อมพรั่ง ลูกน้อง บริษัทบริวารก็เอื้อเฟื้อ สบายแล้วหยุดนิ่ง ไม่ใช้ประโยชน์จากมัน หรือว่ายังหลงติดในสิ่งนั้น มันก็ไม่ใช่วิสัยของนักปฏิบัติธรรม
คำสอนเรื่องสัปปายะ สัปปายะเป็นภาษาบาลี ภาษาไทยแปลว่าสบาย สบายในภาษาไทยพอเกิดขึ้นแล้ว คนก็มักจะเฉยเฉื่อยเนือยหยุดนิ่ง สบายแล้วไม่ต้องทำอะไรแล้ว แต่ว่าสัปปายะเป็นปัจจัยที่เอื้ออำนวยให้กับการปฏิบัติ
พุทธศาสนาพูดถึงสัปปายะเพื่อส่งเสริมการปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นสัปปายะในด้านของสถานที่ สัปปายะในด้านภูมิอากาศ สัปปายะในด้านสถานที่บิณฑบาต เรียกว่าโคจรสัปปายะ สัปปายะในเรื่องอาหาร ไม่ขาดแคลน สัปปายะในตัวบุคคล มีคนที่เป็นกัลยาณมิตรช่วยเหลือเอื้อเฟื้อ หรือว่าการพูดคุยที่สัปปายะ หรือแม้กระทั่งอิริยาบถที่สัปปายะ
พวกนี้ล้วนแต่เป็นไปเพื่อส่งเสริมการปฏิบัติ ไม่ใช่เป็นจุดมุ่งหมายในตัวมันเอง หลายคนจะมุ่งเอาความสุขความสบายเป็นจุดหมาย แต่พอได้มาแล้วก็ถือว่าจบแล้ว อันนี้เป็นความประมาท แล้วก็เสียโอกาสด้วย เสียโอกาสในการพัฒนาตน
ทำไมจึงเรียกว่าเป็นความประมาท ก็เพราะว่าความสุขความสบายพวกนี้มันไม่เที่ยง ถ้าเราไม่ใช้โอกาสนี้พัฒนาตน ก็เสี่ยงมากที่เราจะเจอความทุกข์เมื่อสิ่งนั้นมันแปรปรวนไป ความสงบความสุขความสบายเมื่อเกิดขึ้นแล้ว แม้จะเกิดจากความเพียรแต่ถ้าเราเกี่ยวข้องกับมันไม่ถูก ก็ทำให้การปฏิบัติเนิ่นช้า หรือว่าหน่วงเหนี่ยวการปฏิบัติ
สิ่งที่จะชี้วัดการเป็นนักปฏิบัติไม่ได้อยู่ที่ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับเรา แต่อยู่ที่ว่าเราปฏิบัติกับมันอย่างไร
แม้เรามีความสุข มีความสบาย มีความราบรื่น มันก็ยังไม่ใช่เป็นเครื่องหมายของการเป็นนักปฏิบัติ อยู่ที่ว่าเราเกี่ยวข้องกับมันอย่างไร ถ้าเพลินกับมัน สบายแล้วก็เฉย นั่งเล่น นอนเล่น อันนี้ไม่ใช่วิสัยของนักปฏิบัติ
ถ้าเป็นนักปฏิบัติก็จะต้องฝึก ใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาจิต พัฒนาตน จนจิตเป็นอิสระจากความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเหล่านั้น แม้จะเป็นสิ่งที่ดีแต่มันก็ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ เพราะถ้ายึดเมื่อไหร่ก็หลงเมื่อนั้น มันเป็นความประมาทเพราะว่าไม่ช้าก็เร็ว สิ่งเหล่านั้นก็จะเสื่อมสลายหายไป
และถ้ามันเสื่อมแล้วไม่ได้ฝึกจิตให้ดีพอ เช่น เข้าใจสัจธรรมความจริงว่ามันไม่เที่ยง มันต้องแปรปรวนไป หรือไม่รู้จักยกจิตให้อยู่เหนือสิ่งนั้น ไม่รู้จักฝึกสติให้เห็น รู้ทันความเศร้า ความเสียใจเมื่อสิ่งนั้นแปรผันแปรปรวนไป อันนี้เรียกว่าไม่ใช่วิสัยของนักปฏิบัติ
ตรงนี้เป็นสิ่งที่คนยังเข้าใจผิดกันเยอะ เวลาปฏิบัติก็คิดว่าปรารถนาความสงบ ความสงบเป็นเครื่องชี้วัดว่าเป็นนักภาวนา หรือว่าพอจิตใจโปร่งเบา มีความเห็นแก่ตัวน้อยลง ถือว่าเป็นนักภาวนาแล้ว มันก็ยังไม่ใช่ เพราะอะไรเกิดขึ้นกับเราไม่สำคัญเท่ากับว่าเราปฏิบัติกับมันอย่างไร เช่น เกิดความสงบแล้วเกิดความเพลินหลงติด อย่างนี้ไม่ดี ไม่ใช่วิสัยนักปฏิบัติ
แต่พอสงบแล้วใช้ความสงบเป็นสิ่งที่ฝึกให้จิตมีความก้าวหน้ามากขึ้น หรือเรียนรู้จากความสงบว่ามันก็ไม่เที่ยง ฉะนั้นพอจิตไม่สงบก็ไม่ทุกข์ เมื่อมีความคิดปรุงแต่ง มีความฟุ้งซ่านก็ไม่หงุดหงิด
อย่างที่ครูบาอาจารย์ก็พูดอยู่เสมอ สงบแต่หลงในความสงบ สู้มีความคิดมีความฟุ้งซ่านแต่รู้ทันไม่ได้ จิตสงบแต่ว่าหลงเพลินในความสงบ อันนี้ไม่ใช่วิสัยนักปฏิบัติ
ตรงข้ามแม้ว่ามันมีความฟุ้งแต่ว่าไม่ปล่อยให้มันบีบคั้นใจ มันฟุ้งก็ดูมัน แม้มันจะมีกิเลส มีราคะ มีโทสะเกิดขึ้น ก็ไม่ใช่สิ่งเสียหายถ้าเกิดว่าเราตั้งสติ ดูมัน เห็นมัน นอกจะไม่ปล่อยให้มันครอบงำใจจนเกิดความทุกข์แล้ว ก็ยังหาประโยชน์จากมัน คืออาศัยมันเป็นเครื่องฝึกสติ ให้สติได้มีความเชี่ยวชาญชำนาญ คล่องแคล่ว เพราะรู้ทัน รู้ทางของมัน รู้ว่ามันจะมาไม้ไหน มีอุบายอย่างไร
เพราะว่าคนเราถ้าจบมัธยม กิเลสมันก็จบมัธยมเหมือนกัน ถ้าเราจบปริญญาเอก กิเลสมันก็จบปริญญาเอกเหมือนกัน กิเลสในที่นี่รวมถึงความโลภ ความโกรธด้วย มันก็จบปริญญาเอกเหมือนกัน
ฉะนั้นการเรียนสูงมันไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะมีความก้าวหน้าในการปฏิบัติ หรือว่าจะดีกว่าคนอื่นเพราะว่าถึงแม้เรียนสูง ปริญญาเอก กิเลสมันก็ฉลาดระดับปริญญาเอกเหมือนกัน แล้วมันก็สามารถจะหลอกใจเราให้หลงได้ จนกว่าใจเราจะมีสติที่ชาญฉลาด รู้เท่าทัน รู้อุบาย 108 ของมัน
มันจะมาไม้ไหน บางทีก็อ้างธรรมะเพื่อจะสนองกิเลสของตัวก็มี มันฉลาดมากในการอ้างธรรมะเพื่อล่อให้เราหลงเชื่อ ทำตามอำนาจของมัน อ้างความถูกต้อง เพื่อที่เราจะได้จัดการกับคนที่คิดต่างจากเราเพราะว่ามันเป็นคนเลว ต้องจัดการมัน อันนี้กิเลสเป่าหูให้เราหลงเชื่อ
แต่ถ้าเกิดว่าเราใช้มันเอามาฝึกสติ เอามาเพิ่มพูนปัญญา อันนี้ดีกว่า ดีกว่าคนที่จิตสงบแล้วก็เพลินหลงอยู่กับความสงบ แล้วก็เกิดอัตตาหรือเกิดทิฐิมานะว่า ฉันประสบความสำเร็จในการปฏิบัติแล้ว ฉันก้าวหน้าในการปฏิบัติแล้ว
เพราะฉะนั้นไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นกับเรามันไม่สำคัญเลย มันอยู่ที่ว่าเราจะเกี่ยวข้องกับมันอย่างไร แม้มีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นกับเรา แต่ถ้าเกิดเราหลงเพลิน อันนี้เรียกว่าเราสอบตกในด้านการปฏิบัติ ถึงแม้ว่าทางโลกจะเรียกว่าประสบความสำเร็จ
แต่ถึงแม้เราเจอสิ่งแย่ ๆ เจออุปสรรค เจอความล้มเหลว เจอคำต่อว่าด่าทอ เจอความยากลำบาก เจอความร้อน เจอความหนาว แต่ว่าเราเกี่ยวข้องกับมันอย่างถูกต้อง ไม่หลง ไม่หลงจมอยู่ในความทุกข์ เอาแต่หงุดหงิด โวยวายตีโพยตีพาย มีสติเห็นมัน หรือว่ายกจิตเป็นอิสระจากมัน ไม่มีความยึดว่าเป็นกู เป็นของกู หนาวก็เห็นความหนาวแต่ว่าไม่มีผู้หนาว ร้อนก็เห็นความร้อนแต่ไม่มีผู้ร้อน ใครเขาต่อว่าด่าทอมา เสียงต่อว่าก็เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ไม่มีอัตตาเข้าไปยึดเข้าไปจับ
อันนี้ดีกว่าคนที่ได้รับแต่คำชื่นชมสรรเสริญแต่ก็หลงเพลินในสิ่งเหล่านั้น อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนพระนันทิยะว่า ผลแห่งความดีย่อมเป็นพิษจากผู้ไม่พิจารณา แล้วก็หลงใหลยึดติดในสิ่งนั้นจนประมาทมัวเมา ผลแห่งความดีในที่นี้ก็หมายถึงคำชื่นชมสรรเสริญ ใคร ๆ ก็ชอบ การได้รับการยกย่อง มีสถานภาพดีเรียกว่าเป็นผลแห่งความดี
แต่ถ้าหากว่าเพลิน หลงใหลในสิ่งนั้น อันนี้ไม่ดีเท่ากับคนที่ถูกต่อว่าด่าทอแต่ว่าจิตใจไม่หวั่นไหว หรือว่าแม้จะอยู่ในภาวะที่ต่ำต้อยแต่ว่าก็ไม่ได้ทุกข์ระทม เพราะรู้ว่ามันไม่ใช่สาระของชีวิต หรือเพราะไม่ได้ยึดติดถือมั่นในหน้าตา
ฉะนั้นเวลาเราปฏิบัติธรรม อย่าไปมัวสนใจว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับเรา แต่สนใจว่าเราทำอย่างไรกับมันดีกว่า เพราะนี่แหละเป็นเครื่องหมายของการเป็นนักปฏิบัติถ้าเราปฏิบัติถูก.