พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 17 มกราคม 2568
มีครอบครัวหนึ่ง อยู่ด้วยกันมี พ่อ แม่ แล้วก็ลูกสาว 4 คน ฐานะไม่ค่อยดี แต่พ่อแม่ก็สอนลูกให้รักสามัคคีกัน ลูกก็อายุยังไม่มาก คนโตอายุ 13, 14 ปี แล้วก็คนเล็ก 9 ขวบ 10 ขวบ
ทั้งบ้านนี้มีจานกระเบื้องอยู่ 6-7 ใบ ก็เรียกว่าพอใช้พอกินกันทั้งบ้าน แต่ว่าก็ต้องเวียนกลับมาใช้ใหม่เรียกว่าทุกมื้อเลย วันหนึ่งขณะที่พี่สาวยกจานไปตักอาหาร ก็ไปเกิดกระแทกกับหม้อข้าว จานเลยบิ่นไปเล็กน้อย ตัวพี่สาวรู้สึกเสียใจเพราะว่าจานบิ่นก็ต้องเอามาใช้ซ้ำ บ้านยากจนจึงทิ้งไม่ได้
แม่ก็ปลอบใจลูกสาวว่า อย่าเสียใจไปเลย ถึงแม้บิ่น มันก็บิ่นเล็กน้อย ยังใช้ได้ แล้วก็เตือนให้ทีหลังระมัดระวัง นับแต่นั้นมาทุกวันก็จะต้องมีอย่างน้อยคนหนึ่งที่ได้จานบิ่น เพราะทั้งบ้านมีแค่นี้ 6 ใบ 7 ใบ เวลาใครได้จานบิ่นก็เสียใจบ่นว่าโชคไม่ดีเลย
พ่อเห็นก็รู้สึกเลยว่ามันเป็นการซ้ำเติมพี่สาวคนโตซึ่งทำให้จานบิ่น พี่สาวคนโตก็เรียกว่าทุกมื้อต้องเจอกับคำพูดของน้อง ๆ เมื่อได้จานบิ่น พ่อรับรู้ได้ถึงความรู้สึกของลูกสาวคนโต
วันหนึ่งน้องคนสุดท้องก็ได้จานบิ่นใบนั้น แต่ไม่ทันที่จะบ่นเลย พ่อก็พูดกล่าวแทรกตัดบทขึ้นมาว่า นับแต่นี้ไปใครที่ได้จานบิ่น คนที่เหลือในบ้านก็จะมาหอมแก้มคนนั้น แล้วพ่อก็ไม่ได้พูดอย่างเดียวทำด้วย ลุกไปหอมแก้มน้องคนสุดท้องที่ได้จานบิ่น แม่ ลูกสาวคนอื่นก็ทำตามไปรุมหอมแก้ม น้องสาวคนสุดท้องยิ้มเลย
นับแต่นั้นมาใครที่ได้จานบิ่นก็ไม่บ่นแล้ว จะรู้สึกว่าโชคดี เพราะว่าได้ทีไรคนอื่นในบ้านก็จะมาหอมแก้ม ทุกคนก็เลยอยากได้จานบิ่นแล้ว แต่ก่อนไม่อยากได้เพราะว่าเห็นว่าโชคไม่ดี แต่คราวนี้คอยลุ้นว่าจะได้จานบิ่นใบนั้นหรือเปล่า
ภายหลังเวลาคนไหนแบกเอาความทุกข์เข้ามาในบ้าน พี่น้องที่เหลือก็จะเอาจานบิ่นมาวางไว้ข้างหน้า แล้วก็พากันหอมแก้มคนนั้น ความทุกข์ที่มีอยู่ก็ละลายหายไปเลย จากหน้าบึ้งก็กลายเป็นรอยยิ้ม
เป็นเช่นนี้อยู่นานทีเดียว จนกระทั่งครอบครัวนี้ก็ฐานะดีขึ้น จานที่เคยใช้กันมาหลายปีมันก็เก่าแล้ว ร้าวด้วย บางจานก็เลยต้องปลดระวาง มีจานใหม่มาแทนที่ จานชุดใหม่ แต่ว่าความรักความกลมเกลียวของครอบครัวนี้ก็ยังดำรงอยู่
ตอนหลังลูกสาวโตทำงานกันก็เรียกว่าฐานะดีขึ้น วันหนึ่งลูกสาวก็ชวนพ่อแม่ไปกินอาหาร ในภัตตาคาร พอฐานะดีแล้วกินอาหารในภัตตาคารบ้าง ตอนที่พนักงานมาเสิร์ฟเอาจานมาวาง ปรากฏว่าจานที่วางอยู่ข้างหน้าพ่อ มีรอยบิ่นเล็กน้อย พอลูก ๆ เห็น ลูกก็ลุกกันไปหอมแก้มพ่อ พ่อมีความสุข ลูก ๆ ก็มีความสุข แม่ด้วย
ครอบครัวนี้เราก็คงจะพอจะนึกออกแล้วว่า เขาจะมีความรักใคร่กลมเกลียวกันต่อไปอีกนานทีเดียว แม้บางคนไปมีครอบครัวแยกบ้านเรือนออกไป
เรื่องของครอบครัวนี้ชี้ให้เห็นวิธีการเลี้ยงลูกของผู้ที่เป็นพ่อเป็นแม่ เวลาลูกทำผิดพลาด ทำจานบิ่น แม่ก็ไม่ด่าไม่ว่าลูก แม้ว่าจานจะเป็นของหายากของบ้านนี้ ก็เข้าใจความรู้สึกของผู้ที่ทำให้จานบิ่น แทนที่จะว่าก็ปลอบใจ แล้วก็ไม่ลืมที่จะเตือนด้วยว่าให้ระมัดระวัง
ส่วนพ่อก็ฉลาด เวลาลูกคนไหนได้จานบิ่น เจ้าตัวนอกจากเสียใจแล้วก็ยังพลอยพูดให้คนอื่นเสียใจด้วย คนอื่นที่ว่านี้ก็คือคนที่ทำจานบิ่นนั่นแหละก็คือลูกสาวคนโต แล้วพ่อก็เลยหาอุบายเปลี่ยนคำบ่นต่อว่าเวลาได้จานบิ่น ให้กลายเป็นความชื่นชมยินดีทุกครั้งที่ได้ เพราะว่ามีคนอื่นในบ้านมาหอมแก้ม
ความกินแหนงแคลงใจที่อาจจะเกิดขึ้นเพราะจานบิ่นใบเดียว ก็กลายเป็นความรักความสามัคคีในบ้านหลังนี้ซึ่งแม้จะยากจนแต่ว่าก็มีความกลมเกลียวกัน ที่จริงเรื่องนี้ไม่ได้เพียงแต่ให้ข้อคิดสำหรับการเลี้ยงดูลูกเท่านั้น แต่ยังให้ข้อคิดเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตด้วย
เพราะว่าเรื่องนี้ชี้ให้เห็นเลยว่า อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นกับเรา เราจะชอบหรือไม่ชอบ เราจะยินดีหรือไม่ยินดี มันขึ้นอยู่กับว่าเราให้คุณค่าให้ความหมายกับสิ่งนั้นอย่างไร คนที่ได้จานบิ่น เขาไม่ชอบ เขาไม่ยินดี เพราะว่าความหมายที่ให้กับจานบิ่นก็คือว่ามันไม่สวย มันไม่ดี แต่พอให้คุณค่าหรือความหมายใหม่กับมันว่าใครได้นี่ ก็หมายถึงได้รับการหอมแก้มจากคนในบ้าน กลายเป็นตัวนำโชคไปแล้ว
จานบิ่นกลายเป็นตัวนำโชค ถึงตอนนี้ใคร ๆ ก็อยากได้แล้ว พ่อคนนี้แกมีอุบายทำให้สิ่งที่ลูกไม่ชอบกลายเป็นของชอบขึ้นมาด้วยการให้ค่าให้ความหมายใหม่ พอเอาความหมายใหม่มาผูกติดอยู่กับจาน จานบิ่นกลายเป็นดีไปเลย จากโชคร้ายกลายเป็นโชคดี
จริง ๆ ธรรมชาติของคนเราก็เป็นอย่างนี้ สิ่งที่เราชอบหรือไม่ชอบ ยินดีหรือยินร้าย เมื่อได้รับมันอยู่ที่ว่าเราให้ค่ากับมันอย่างไร ถ้าเราให้ค่าในทางลบ ได้มาเราก็ไม่ชอบ แต่ถ้าเราให้ค่าในทางบวก ได้มาเราก็ชอบ ยินดี
ยกตัวอย่างเช่นกางเกงยีน สมัยก่อนนี้ถ้ากางเกงยีนที่มันขาด มีรอยขาด โดยเฉพาะตรงหัวเข่าหรือตรงไหนก็ตาม ใครใส่แล้วก็รู้สึกอับอาย ถ้ามีก็ทิ้งเพราะว่าเราให้ค่าว่ามันเป็นกางเกงของพวกคนไม่มีสกุลรุนชาติ ของคนยากจน
แต่เดี๋ยวนี้ดารา ลูกเศรษฐี ก็พากันใส่กันกางเกงยีนแบบนี้ ใส่แล้วรู้สึกเท่ บางทีได้กางเกงยีนที่ดีมา ก็ต้องมากรีดให้มันขาด หรือมาทำให้สีจางลง ใส่แล้วก็มีความสุข เพราะอะไร เพราะเราไปให้ค่ากับมันว่าเป็นของเท่ เป็นของดี แถมราคาก็แพง
ก็เหมือนกันรอยสัก แต่ก่อนถ้าใครมีรอยสักอย่างสมัยเมื่อ 30-40 ปีก่อนก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่น่าอับอาย อาจจะโทษตัวเองว่ากูไม่น่าเลย ตอนที่ยังหนุ่มยังสาว ยังคะนอง ไปสักเรื่อยเปื่อย สักที่แขนบ้าง ข้อมือบ้าง เพื่อโชว์ ตอนหลังกลายเป็นสิ่งที่ไม่ดีไปแล้ว ใครเห็นเขาก็ดูถูกว่าไม่มีสกุลรุนชาติ หรือว่าเป็นพวกที่ฝักใฝ่ในแก๊งกลุ่มอันธพาล แต่ตอนนี้กลายเป็นของที่เท่ไปเสียแล้ว ต้องไปจ้างคนมาสักให้ เจ็บตัวก็ยอม ดีใจยินดีด้วยที่มีรอยสัก ยอมจ่ายราคาแพง ๆ กับรอยสัก มันเท่
อันนี้มันสะท้อนความจริงว่า อะไรก็ตามเมื่อเกิดขึ้นกับเรา เราจะชอบหรือไม่ชอบ ดีใจหรือไม่ดีใจ ยินดีหรือยินร้าย สุขหรือทุกข์ ไม่ใช่อยู่ที่สิ่งนั้นล้วน ๆ แต่มันอยู่ที่การให้ค่าของเราต่อสิ่งนั้น พูดอีกอย่างก็คือการให้ความหมาย ถ้าให้ความหมายในทางลบ เราก็ไม่อยากได้ รู้สึกอับอาย ไม่ชอบ เป็นทุกข์ ถ้าเราให้ความหมายในทางบวก ก็เกิดความยินดี ปลาบปลื้ม
แล้วเราลองมาไตร่ตรองดูว่าในชีวิตของเรานี้ เวลาเราเจออะไรแล้วก็เป็นทุกข์ มันไม่ได้ทุกข์เพราะสิ่งนั้น มันทุกข์เพราะเราไปให้ค่าในทางลบกับมัน พอเราเปลี่ยนมาให้ค่าในทางบวก เราไม่ทุกข์ อย่างคำต่อว่าด่าทอ ที่หลายคนไม่ชอบเพราะให้ค่าในทางลบ ยิ่งรวมทั้งคำตำหนิติเตียน แต่พอเราเปลี่ยนมุมมองให้ค่ากับมันในทางบวก ใจเรายอมรับมันได้
อย่างคุณเล็ก วิริยะพันธุ์ เจ้าของเมืองโบราณ ตอนนี้เสียชีวิตไปแล้ว แกเคยพูดว่า “วันไหนไม่ถูกตำหนิ วันนั้นเป็นอัปมงคล” แปลว่าอะไร แปลว่าวันไหนถูกตำหนิ วันนั้นเป็นมงคล คนอื่นให้ค่าว่าคำตำหนินั้นมันไม่ดีเป็นอัปมงคล แต่ว่าคุณเล็กให้ค่าในทางบวกว่า คำตำหนิคือมงคลเพราะมันมีประโยชน์
หรือเหมือนกับบัตรสนเท่ห์ที่โยมคนหนึ่งเขียนหย่อนลงไปในบาตรของพระอาจารย์ทองรัตน์ซึ่งเป็นศิษย์ของหลวงปู่มั่น ใคร ๆ เวลาได้บัตรสนเท่ห์จะรู้สึกแย่ เป็นทุกข์มากยิ่งเมื่อได้อ่าน แต่พระอาจารย์ทองรัตน์กลับยินดีเลย ไปบอกลูกเณรให้มาอ่าน เพราะว่านี่คืออมฤตธรรม แล้วก็บอกว่าคนที่หย่อนบัตรสนเท่ห์ใส่บาตรให้ท่าน เขาเป็นเทวดา
บอกว่ามาอ่านเร็ว อมฤตธรรมจากเทวดา ท่านเอามาให้เมื่อเช้านี้ แล้วก็บอกเณรอีกว่า โอ นี่มันแสดงสอนโลกธรรม เคยได้ยินแต่ว่าโลกธรรม 8 เป็นยังไง แต่วันนี้ได้มาเห็นของจริง ของดีแท้ ๆ เก็บไว้นะใต้ฐานพระ อย่าไปทิ้งนะ
อันนี้ก็เป็นการสอนเณรว่า คำตำหนินี่มันมีประโยชน์ มันมีคุณค่า คนเราไปให้ค่าในทางลบกับคำตำหนิหรือบัตรสนเท่ห์ แต่ว่าท่านให้ความหมายใหม่ว่ามันเป็นอมฤตธรรมจากเทวดา สอนเณรด้วยแล้วก็เชื่อว่าท่านเองก็เข้าใจในเรื่องนี้
คนเราต้องฉลาด ให้เรารู้ว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นเมื่อเราเจออะไรก็ตาม มันไม่ใช่เพราะสิ่งนั้นโดยตัวมันเอง แต่เป็นเพราะเราไปให้ค่าในทางลบกับมัน ถ้าเราเปลี่ยนมาให้ค่าในทางบวก มันก็ไม่ทุกข์ กลับยินดี
เวลาเจอรถติดหรือเจอไฟแดง คนขับรถจะรู้สึกหงุดหงิดมากเพราะว่าหมายถึงเสียเวลา แต่ถ้าไปมองมันในมุมใหม่ว่า ไฟแดงนี่มันมาบอกให้เราหยุดฟุ้ง หยุดหลง มันไม่ใช่แค่หยุดรถแล้วเสียเวลา แต่มันมาสอนมาบอกเราว่าให้หยุด หยุดฟุ้ง หยุดหลง กลับมารู้เนื้อรู้ตัว กลายเป็นของดีไปเลย เวลาเจอไฟแดงเราก็จะไม่หงุดหงิดแล้ว เราก็จะรู้สึกว่าเป็นของดี มาสอนให้เรารู้เนื้อรู้ตัว มีสติ แม้จะเสียเวลาแต่ว่าได้ธรรมะซึ่งมีค่ากว่า
เช่นกันเวลาของหาย เงินหาย ทรัพย์หาย เราก็เป็นทุกข์เพราะเราไปให้ค่ากับมันว่าหมายถึงความสูญเสีย แต่ถ้าเรามองว่าที่จริงเราได้ เราได้ธรรมะ ได้เรียนรู้สัจธรรมว่าอะไร ๆ ก็ไม่เที่ยง มีกับหมด ได้กับเสีย เป็นของคู่กัน นี่มิจฉาชีพมาสอนเรา ก็เป็นอมฤตธรรมจากเทวดาอีกแบบหนึ่ง ก็มาสอนเราว่าทรัพย์สมบัติที่มีมันอยู่กับเราเพียงแค่ชั่วคราว แล้วพอมันอยู่กับเราเพียงแค่ชั่วคราวก็แสดงว่ามันไม่ใช่ของเราอย่างแท้จริง มันไม่ใช่แค่อนิจจัง มันเป็นอนัตตาด้วย
สิ่งที่ครูบาอาจารย์สอนเราก็ไม่ซึ้งหรือไม่เห็นจริง แต่พอมิจฉาชีพเขามาแฮ็กเอาเงินเราไป เขากำลังเป็นอาจารย์สอนธรรมให้กับเรา อย่างนี้เรียกว่าได้ ไม่ใช่เสีย แต่ว่ากิเลสหรือตัวอัตตาก็จะงอแง โวยวาย ตีโพยตีพาย เพราะมันอยากได้มาก อยากมีเยอะ ๆ มันหลงยึดหลงติด
ตัวที่ทุกข์นี่ไม่ใช่เรา แต่คือตัวกิเลส ตัวอัตตา เราก็ปล่อยมันทุกข์ไป ต้องให้มันทุกข์บ้างเรียกว่าทรมานมัน ไม่งั้นมันจะได้ใจ หรือว่ามีอำนาจครองจิตของใจของเรา มันทุกข์ก็ทุกข์ไป เราอย่าทุกข์ไปกับมัน แต่พอเราหลงเมื่อไหร่ พอมันทุกข์ เราก็ทุกข์ไปด้วย เรียกว่ามีผู้ทุกข์เกิดขึ้น
เวลาเจริญสติ หลายคนไม่ชอบความคิดที่มันผุดขึ้นมา จริง ๆ ตัวความคิดมันไม่ได้เสียหาย แต่ที่เราไม่ชอบเพราะเราไปให้ค่าในทางลบกับมันว่าไม่ดี ทำให้ไม่สงบ แต่ถ้าลองให้ค่าในทางบวกกับมันดู ว่าเขามาสอนให้เราได้เห็นว่าใจควบคุมไม่ได้ หรือทำให้เห็นว่า โอ้โหเรานี้หลงเยอะเหลือเกิน แต่ก่อนไม่เคยรู้ว่าจะหลงเยอะขนาดนี้ มันให้อะไรกับเรามากมายหลายอย่าง รวมทั้งฝึกสติให้กับใจของเราด้วย พอเราให้ความหมายในทางบวกกับมัน มันไม่ทุกข์เลย
อย่างที่หลวงพ่อเทียนบอกว่า ยิ่งคิดก็ยิ่งรู้ มันยิ่งคิด เราก็ยิ่งรู้ กลายเป็นของดีไปเลย อันนี้รวมถึงเหตุการณ์ในอดีตด้วย ความยากจน ความล้มเหลว เวลานึกถึงมันแล้วก็รู้สึกจิตใจห่อเหี่ยว ท้อแท้ บางทีน้อยเนื้อต่ำใจในโชคชะตา แต่พอเรามองมันอีกครั้งหนึ่งโดยการให้ความหมายใหม่กับมันว่า มันเป็นสิ่งที่ฝึกใจเราให้เข้มแข็ง มันทำให้เราได้เห็นความจริงของชีวิต มันได้ปลุกเอาความสามารถที่แฝงเร้นอยู่ในจิตใจของเราออกมา ถ้าไม่เจอมันก็จะไม่รู้ว่าเรามีความอดทน มีความเข้มแข็ง มีสติปัญญา ต้องขอบคุณ
หลายคนเคยคับแค้นใจกับประสบการณ์ในอดีต แต่พอเวลาผ่านไปหลายปี มองย้อนกลับมาเหตุการณ์เดียวกัน กลับซาบซึ้ง ขอบคุณ เพราะอะไร เพราะว่าเห็นคุณค่าของมัน หรือพูดอีกอย่างก็คือว่าให้ค่าหรือให้ความหมายใหม่กับมัน ไม่ได้มองว่ามันเป็นเรื่องเลวร้าย แต่มองว่ามันเป็นสิ่งที่ฝึกฝนให้เราแกร่งอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ถ้าไม่มีเหตุการณ์นั้นหรือถ้าไม่มีวันนั้น เราก็ไม่มีวันนี้ ก็ต้องขอบคุณ
แล้วต้องฉลาดในการจัดการ หรือในการรับมือกับสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต โดยตระหนักว่าเมื่อมันเกิดขึ้น เราจะสุขหรือทุกข์ไม่ใช่เพราะมัน แต่เพราะใจของเรานี้ไปให้ค่ากับมัน ถ้าเราให้ค่าในทางลบ เราก็ทุกข์ ถ้าเราให้ค่าในทางบวก เราก็ไม่ทุกข์ แถมจะมีความสุขหรือยินดีด้วยซ้ำ.