พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 20 มกราคม 2568
ช่วงนี้ตอนเช้าๆ หรือสายๆ บางทีเราจะเห็นกิ้งก่าบ้าง จิ้งเหลนบ้าง หรือถ้าเป็นที่เปลี่ยวๆ ก็จะเห็นงูมานอนผึ่งแดด บนถนนบ้าง บนสะพานบ้าง ที่สัตว์เหล่านี้มาผึ่งแดดเพราะอะไร ก็เพื่อให้ตัวมีความอบอุ่น
สัตว์เหล่านี้หรือเรียกว่าสัตว์เลือดเย็น ต้องอาศัยความร้อนจากแสงแดด หรือจากดวงอาทิตย์มาทำให้ตัวหายหนาว ซึ่งอันนี้ต่างจากมนุษย์ มนุษย์เราไม่จำเป็นต้องมาผึ่งแดดก็ได้ เพราะว่าความอบอุ่นของร่างกายเราสามารถผลิตได้ เพราะเราเป็นสัตว์เลือดอุ่น
สัตว์เลือดอุ่นก็หมายถึงสัตว์ที่ร่างกายสามารถจะผลิตความอบอุ่นให้กับตัวเองได้ แม้ว่าบางช่วงอากาศจะหนาว แต่มนุษย์เราก็ไม่จำเป็นต้องไปผึ่งแดดเพื่อสู้กับความหนาว เพราะว่าบางที่บางแห่งมันไม่มีแดดเลย แต่มนุษย์เราก็ฝ่าความหนาวมาได้ เพียงแต่ใส่เสื้อผ้าหนาๆ หรือว่าห่มผ้าหนาๆ ก็ทำให้ร่างกายเราอบอุ่น
เวลาเราห่มผ้าหนาๆ แล้วเรารู้สึกอบอุ่น เราก็พูดว่าเสื้อผ้า ผ้าห่มทำให้ร่างกายเราอบอุ่น แต่พอพูดแบบนี้หลายคนก็เข้าใจไปว่าความอบอุ่นมันมาจากผ้าห่ม ที่จริงไม่ใช่ ความอบอุ่นก็มาจากร่างกายของเรา เพียงแต่ผ้าไม่ว่าจะเป็นผ้าห่มหรือเสื้อหนาวเก็บกักความอบอุ่นในร่างกายเราเอาไว้ ไม่ให้กระจายออกไปข้างนอก
ความอบอุ่นจากร่างกายเราพอถูกกักไว้ มันก็มากพอที่จะทำให้เรารู้สึกอบอุ่นได้ แม้ข้างนอกจะหนาว ความอบอุ่นนี้ร่างกายเราสามารถจะสร้างขึ้นได้โดยที่ไม่ต้องอาศัยแสงแดด ไม่ต้องไปผึ่งแดดเราก็ทำให้ร่างกายอบอุ่นได้
ร่างกายเราสร้างความอบอุ่นได้ฉันใด จิตใจเราก็สามารถจะสร้างความสุขได้ฉันนั้น มนุษย์เราไม่ต้องไปหาความอบอุ่นจากข้างนอก จากดวงอาทิตย์ จากแสงแดดฉันใด เราก็ไม่จำเป็นต้องไปหาความสุขจากภายนอกก็ได้
แต่ว่าคนจำนวนมากไม่รู้ความจริงข้อนี้ ไปคิดว่าความสุขจะได้มาก็ต้องไปแสวงหาจากสิ่งภายนอก แสวงหาด้วยการกิน ดื่ม เที่ยว เล่น ช็อป ดูหนัง ฟังเพลง หรือการมีการครอบครอง คิดว่าวัตถุสิ่งเสพเหล่านั้นจะให้ความสุขกับเราได้
มันก็ให้ได้แต่ว่าเป็นความสุขที่ฉาบฉวย มาเร็วแล้วก็ไปเร็ว จะให้มีความสุขอย่างนั้นไปเรื่อยๆ ก็ต้องมีเยอะๆ มีมากๆ แต่ก่อนตอนที่ไม่มีเงิน มีร้อยบาทก็ดีใจมีความสุข แต่พอมีแล้วก็อยากได้เพิ่มขึ้น จากร้อยเป็นพัน จากพันเป็นหมื่น จากหมื่นเป็นแสน จากแสนเป็นล้าน มีล้านแล้วทีแรกก็ดีใจ แต่ตอนหลังก็เฉยๆ ก็ต้องไปหาเพิ่มมา เป็นสิบล้าน ร้อยล้าน ถึงจะมีความสุข
สุดท้ายก็ต้องดิ้นรนหามาไม่หยุดหย่อน ไม่งั้นความสุขก็จะจางคลายไป ถ้าไม่หามาเยอะๆ มากๆ ก็ต้องหาสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ ฟังเพลงก็มีความสุขแต่ว่าถ้าฟังเพลงเดิมมันก็เบื่อในที่สุด ก็ต้องฟังเพลงใหม่ ดูหนังก็เหมือนกัน หนังเรื่องไหนสนุกตื่นเต้นติดใจ ดูไปสิบเที่ยว ร้อยเที่ยว ความสนุกก็จางคลาย ก็ต้องดูเรื่องใหม่
ของกินก็เหมือนกัน กินอะไรที่อร่อย ถ้ากินไปบ่อยๆ กินไปนานๆ มันก็ไม่อร่อยเหมือนเดิมแล้ว ก็ต้องไปหาอะไรที่แปลกใหม่ ไม่งั้นเขาเรียกว่าจำเจ
ความสุขของคนทุกวันนี้มันสวนทาง หรือว่าตรงข้ามกับคำว่าจำเจ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าความจำเจเป็นปฏิปักษ์กับความสุขของคนในยุคนี้ ไม่เฉพาะความจำเจ รวมถึงความซ้ำเดิม หรือว่าซ้ำซาก มันต้องมีอะไรใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ
แม้กระทั่งคู่รักอยู่ไปนานๆ ก็เบื่อ ก็ต้องเปลี่ยนใหม่ หาคนใหม่ ทั้งที่คนเดิมกว่าจะได้มาเป็นคู่รักก็เรียกว่าเลือดตาแทบกระเด็น ก็ดีใจที่ได้มาเป็นคู่รักคู่ครอง แต่พออยู่ไปนานๆ เบื่อแล้ว ต้องหาคนใหม่ แล้วก็หาไปเรื่อยๆ
สุขได้มาก็จริง แต่ก็ต้องเจอความทุกข์ที่ติดตามมา บางทีทุกข์มากกว่าสุขเสียอีก อย่างคนที่ไปแย่ง หรือไปชิงเอาคนอื่นมาเป็นคู่รักของตัวอย่างไม่ถูกทำนองครองธรรมนี้ ก็อาจจะได้ความสุขชั่วคราว แต่ว่าต้องเจอความทุกข์ บางทีถึงตายเลย ถูกอีกฝ่ายเขาแก้แค้นเพราะไปแย่งคนรักของเขา หรือบางทีถูกคู่ครองตัวเองที่ทำร้ายเพราะว่าเจ็บแค้นที่ปันใจไปให้คนอื่น เรียกว่าสุขเจือไปด้วยทุกข์ ไม่ใช่สุขที่แท้
ที่จริงแล้วใจเราสามารถจะสร้างความสุขให้กับเราได้ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า เราสามารถพบสุขได้ที่กลางใจของตัว
เวลาพูดถึงความสุข คนหลายคนก็นึกถึงการแสวงหา ซึ่งมันบ่งบอกว่าเป็นสุขที่อยู่ภายนอก แต่จริงๆ แล้วความสุขนี้มันไม่ต้องแสวงหาก็ได้ เพราะมีอยู่แล้วในใจของเรา อยู่ที่ว่าจะพบจะเจอหรือเปล่า
มีคนจำนวนไม่น้อยที่แม้จะไม่มีวัตถุสิ่งเสพมาก ชีวิตก็ดูเหมือนธรรมดาๆ น่าเบื่อ วันๆ หนึ่งก็ไม่ได้มีสิ่งเสพมาบำรุงบำเรอ แต่ก็มีความสุข
อย่างหลวงปู่ หลวงตา หลวงพ่อจำนวนมากที่ท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ชีวิตของท่านแต่ละวันก็ไม่มีอะไรที่ตื่นเต้นหวือหวา โทรศัพท์ก็ไม่มี โทรทัศน์ก็ไม่เคยดู วัตถุสิ่งเสพก็ไม่มีอะไร มีแต่บริขาร 8 แต่ท่านมีความสุขมาก เพราะอะไร เพราะท่านเข้าถึงความสุขภายใน ความสุขจากใจ
พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า ผู้มีปัญญาแม้ประสบทุกข์ก็ยังหาสุขพบ ประสบทุกข์นี้ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บป่วย ความสูญเสีย ความพลัดพราก ความแก่ชรา หรืออาจจะรวมถึงความยากไร้ แต่ทำไมจึงหาสุขพบ
เพราะว่าสุขที่ท่านพบเป็นสุขที่อยู่ภายใน เป็นสุขที่สัมผัสด้วยใจ เป็นสุขที่เกิดขึ้นที่ใจ ซึ่งไม่ใช่จำเพาะพระอรหันต์หรือพระอริยเจ้าเท่านั้น ที่จะสามารถพบสุขท่ามกลางความทุกข์ได้ ปุถุชนก็สามารถพบสุขได้ แม้ว่าร่างกายจะป่วย แม้ว่าจะพิการแต่ว่าสามารถเข้าถึงความสุขภายใน อันนี้มันเป็นความจริงที่คนมองข้ามไปหรือไม่รู้ว่า ความสุขไม่ต้องไปแสวงหาจากข้างนอกหรอก มันพบได้ที่กลางใจเรา
ในสมัยพุทธกาลมีพระรูปหนึ่งชื่อพระภัททิยะ ตอนก่อนบวชเป็นพระราชา มีทรัพย์ศฤงคารมากมาย มีบริษัทบริวารเยอะ มีปราสาทราชวังอยู่อย่างหรูหรา แต่พอมาบวชแล้วก็ต้องทิ้งทุกอย่าง อยู่ป่า นอนใต้โคนไม้ ฉันมื้อเดียว
เดิมทีก็ไม่ได้มีศรัทธาในพระศาสนา แต่ว่าคนในวงศ์ตระกูลก็อยากจะให้บวช เพราะว่าพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นศากยวงศ์บวชแล้ว ก็ควรจะมีผู้อื่นในตระกูลศากยวงศ์บวชตามด้วย พระภัททิยะก็เลยบวช ไม่ได้บวชเพราะศรัทธา แต่ว่าเพราะว่าชื่อเสียงวงศ์ตระกูลมากดดันให้ต้องบวช
แต่บวชแล้วก็ปฏิบัติจริงจังจนกระทั่งได้เข้าถึงธรรม มีวันหนึ่งขณะที่นั่งอยู่ในป่า ท่านก็รำพึง สุขหนอ สุขหนอ คนที่ผ่านมาเห็นได้ยิน ก็คิดว่าท่านรำพึงถึงความสุขสมัยที่ยังเป็นฆราวาส ไปทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็เลยเรียกพระภัททิยะมา แล้วก็สอบถามว่าพูดอย่างนี้จริงไหม ท่านบอกว่าจริง
ทำไมถึงพูด ทำไมถึงรำพึงเช่นนั้น ท่านบอกว่าตอนที่เป็นฆราวาสเป็นพระราชานี้ แม้จะมีทรัพย์สินศฤงคารมากมาย มีบริษัทบริวารเยอะ แต่ก็ไม่มีความสุขเลย อยู่ด้วยความหวาดกลัว วิตกกังวลว่าจะมีคนมาแย่งชิงราชสมบัติ ต้องพะวงถึงภัยที่จะเกิดขึ้นกับแว่นแคว้น กับเมืองที่พระองค์ปกครอง แม้จะมีความสะดวกสบายมีความสุข ก็ไม่ได้สุขจริง จนกระทั่งได้มาบวช ไม่มีวัตถุสิ่งเสพอะไรเลย อยู่อย่างเรียบง่าย แต่ก็มีความสุขอย่างยิ่ง
อันนี้ก็เป็นประจักษ์พยานว่า ความสุขไม่ได้เกิดจากสิ่งเสพ หรือไม่จำเป็นต้องอาศัยวัตถุสิ่งเสพมาปรนเปรอ แต่เป็นความสุขที่เข้าถึงได้ด้วยใจ หรือเป็นความสุขที่ออกมาจากใจ ความสุขที่ว่านี้คือความสงบ ไม่ใช่สงบจากความคิดเท่านั้น แต่สงบจากกิเลส จึงไม่มีความทุกข์มารบกวน
เราทุกคนก็สามารถจะเข้าถึงความสุขชนิดนี้ได้ เพราะว่ามันอยู่ที่กลางใจของเรา แต่ว่าความสุขที่ว่านี้ไม่สามารถจะโผล่ออกมาหรือปรากฏให้เรารับรู้ได้ เพราะว่าถูกครอบเอาไว้ด้วยกิเลส จิตที่ถูกครอบด้วยกิเลส หรือว่าถูกครอบด้วยความหลง
มันก็เหมือนกับฝาที่ปิดกั้นไม่ให้ความสุขที่อยู่ส่วนลึกของใจออกมาได้ ออกมาสู่การรับรู้ของเรา ต่อเมื่อเอาความหลงออกไปจากใจ หรือว่าขจัดกิเลสออกไปจากใจ ความเห็นแก่ตัวออกไป แม้จะไม่หมดก็ให้บรรเทาเบาบางลง ความสุขที่อยู่กลางใจก็ค่อยๆ ซึมเข้ามาสู่การรับรู้ของเรา
ที่เรามาปฏิบัติธรรมก็เพื่อเหตุนี้ ก็เพื่อให้สิ่งที่ปิดกั้นความสุขจากภายในบรรเทาเบาบางลง ทำให้ความสุขจากกลางใจปรากฏสู่การรับรู้ของเราได้ เวลาเราเจริญสติ เวลาเราทำความรู้สึกตัว มันก็เป็นช่วงเวลาที่จิตจะปลอดพ้นจากความหลง กิเลสก็มิอาจครอบงำได้ ไม่ใช่ว่ากิเลสจะหายไป กิเลสก็ยังอยู่ แต่ว่ามันไม่มารบกวนรังควาน
ก็คงเหมือนกับพระอาทิตย์ที่เคยถูกเมฆบดบัง แต่พอเมฆจางคลายไป ดวงอาทิตย์ก็สว่างไสว พระพุทธเจ้าตรัสว่า จิตของเราก็เป็นเช่นนั้นแหละ คือจิตประภัสสรสว่างไสว แต่ว่าหมองไปเพราะว่ามีกิเลสจรเข้ามาบดบัง
เพราะฉะนั้นปุถุชนกิเลสก็ยังมีอยู่ หรือมีโอกาสที่จะมาครอบงำจิต แต่ว่าในยามที่ใจเรามีสติ มีความรู้สึกตัว มันก็เหมือนกับเมฆที่ถูกลมพัด ไม่บดบังดวงอาทิตย์ ประภัสสรของจิตก็คือนำความสุขมาให้ หรือดึงความสุขจากใจมาสู่การรับรู้ของเรา
แม้ว่ากิเลสยังมีอยู่ แต่ถ้าหากว่าทำให้กิเลสหมดไป ไม่มีที่ตั้ง เพราะไม่มีความยึดติด ไม่มีความหลง ยึดว่ามีกู หรือยึดติดในตัวกู ของกู ความสุขก็จะปรากฏสู่การรับรู้ของเราได้อย่างต่อเนื่อง
เราควรมารู้จักกับความสุขชนิดนี้ แม้ว่ายังมีความคิด ความฟุ้งซ่าน ความเห็นแก่ตัวอยู่ แต่ถ้าเราทำความรู้สึกตัว เจริญสติให้สติ ความรู้สึกตัวนั้น ครองจิตครองใจ ไม่เปิดช่องให้ความหลงมาครอบงำ หรือความเห็นแก่ตัวเกิดขึ้น เราก็สามารถสัมผัสกับความสุขจากภายในได้
แล้วยิ่งสัมผัสได้มากเท่าไร ความโหยหาปรารถนาความสุขจากภายนอกมันก็จะเบาบางลง ที่เคยหลงยึด เคยติดสิ่งเสพ ไม่ว่าทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย มันก็จะเบาบาง ถึงจุดหนึ่งเงินก็ไม่มีความหมาย
สมัยนี้เงินมีความหมายมากสำหรับผู้คนเพราะว่ามันเป็นที่มาของวัตถุสิ่งเสพ ต้องมีวัตถุสิ่งเสพเท่านั้นจึงจะมีความสุข ก็เลยต้องใช้เงิน แต่มีเงินเท่าไรก็ยังไม่พอ ก็ต้องหามาให้ได้เยอะๆ สุดท้ายก็ต้องโกงต้องทุจริต แล้วเดี๋ยวนี้วัตถุสิ่งเสพที่ปรนเปรอความสุขก็มีมากมายทั้งหนัง ทั้งเพลง ทั้งเกม ที่มันมาทำให้เกิดการเสพติดขึ้นมา จนไม่มีโอกาสที่จะได้สัมผัสกับความสุขที่อยู่กลางใจ
จริงๆ แล้วถ้าหากว่าเราได้รักษาความรู้สึกตัวให้เกิดขึ้นกับใจของเรา มันไม่เพียงแต่ทำให้ความสุขจากกลางใจออกมาสู่การรับรู้ของเรา หรือทำให้มีความสุขมาหล่อเลี้ยงใจเท่านั้น แต่ยังทำให้ใจเราเปิดกว้างพร้อมรับความสุขจากภายนอกได้ด้วย ความสุขจากภายในคือความสงบ จิตก็รับรู้ได้ ความสุขจากภายนอกที่เป็นความสงบละเมียดละไม ใจก็รับรู้ได้ เพราะว่าใจโล่งเปิดกว้าง
เหมือนแก้วที่ไม่มีน้ำ หรือแก้วว่างก็พร้อมที่จะรองรับน้ำใสได้เต็มที่ แต่ถ้าแก้วมันมีน้ำขุ่นอยู่แล้วครึ่งแก้วก็ดี เต็มแก้วก็ดี เติมน้ำใสลงไปก็ล้นหมด จิตที่จมดิ่งอยู่ในความคิด หรือว่ามีอารมณ์อกุศลพอกพูนครอบงำ เพราะว่าใจไหลไปอดีต ลอยไปอนาคต อารมณ์อกุศล เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล ความรู้สึกผิด ความกลัว ความคับแค้น มันสะสมอยู่ในใจ ก็เหมือนกับแก้วที่มีน้ำขุ่น เติมน้ำใสน้ำบริสุทธิ์จากภายนอก ลงไปก็ล้นออกหมด แต่ถ้าทำใจให้ว่างเราก็เติมน้ำบริสุทธิ์ได้
มีชายหนุ่มคนหนึ่งเพิ่งสนใจการปฏิบัติ การปฏิบัติที่ว่านี้เป็นการปฏิบัติแบบเซน ก็ภาวนาเต็มวันเลย ภาวนาทั้งวันเสร็จแล้ว พอตอนเย็นก็เป็นช่วงสอบอารมณ์ ถ้าพูดแบบบ้านเราคือสอบอารมณ์ แกก็เข้าไปในห้องที่อาจารย์นั่งรออยู่ พอเข้าไปในห้องก็เห็นอาจารย์นั่งอย่างสงบ
แกก็มานั่งอยู่ข้างหน้าอาจารย์ แล้วในความรู้สึกนั้น บรรยากาศมันค่อนข้างอึดอัดเพราะว่าอาจารย์ก็เงียบ ตัวชายหนุ่มคนนี้ก็ไม่รู้จะพูดอะไร เพราะไม่เคยมีประสบการณ์แบบนี้ พอเงียบไปสักพักอาจารย์ก็ถามว่า มีอะไรจะบอกเล่าไหม
ชายหนุ่มคนนี้ทีแรกก็คิดว่าจะพูดอะไรก็ได้ แต่ว่าคำถามของอาจารย์คงไม่ใช่ว่าจะตอบเรื่อยเปื่อย จะตอบยังไงดีมันถึงจะถูกต้อง จะถามเรื่องแนวทางการปฏิบัติ หรือจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติดีหรือเปล่า หรือจะเอาเรื่องราวของตัวที่ผ่านพ้นมาตลอดทั้งวัน มาเล่ามาคุยมาบอก
ก็คิดอยู่พักใหญ่ อาจารย์ถามแล้วก็ยังตอบไม่ได้ เพราะว่าใช้ความคิด สรรหาคำพูดที่จะมาตอบอาจารย์แล้ว มันต้องเป็นคำตอบที่เข้าท่าด้วย แต่พอถึงจุดหนึ่งหลังจากที่อึดอัดมาพักหนึ่ง แกก็กลับมาตามลมหายใจ อยู่กับความรู้สึกตัว วางความคิดที่จะตอบอาจารย์ให้มันเข้าท่า
ช่วงนั้นพอดีมันเป็นหน้าหนาว แต่ว่าเริ่มที่จะมีนกมาออกหากิน แล้วจู่ๆ แกก็บอกอาจารย์ว่า นกกำลังร้องเพลงครับ อาจารย์นี้ยิ้มเลย อาจารย์พอใจคำตอบ
สิ่งที่ชายคนนั้นตอบ มันไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติเลย แต่มันสะท้อนจากผลของการปฏิบัติ ก็คือเมื่อปฏิบัติแล้วมีความรู้สึกตัว หรือในช่วงเวลานั้นจิตอยู่กับปัจจุบัน แทนที่จะครุ่นคิดหาคำตอบ จิตกลับวางความคิด วางคำตอบทุกอย่าง ทำใจให้เปิดโล่งด้วยความรู้สึกตัว ก็ได้ยินเสียงนกร้อง ก็เลยมาบอกอาจารย์ นกกำลังร้องเพลงครับ อาจารย์พอใจ ก็เท่านี้แหละ
เกือบสิบนาทีที่อยู่ต่อหน้าอาจารย์ ตอบแค่ไม่กี่คำ แต่ว่าเป็นคำตอบที่สะท้อนออกมาจากการปฏิบัติ การทำความรู้สึกตัว ทำจิตให้ว่างจากความคิด จนกระทั่งใจพร้อมที่จะเปิดรับ รับฟังหรือได้ยินความไพเราะของเสียงร้องของนก
การปฏิบัติจริงๆ มันก็มีเท่านี้ คือเพื่อให้ใจเปิดโล่ง ปลอดจากความคิด หรือถึงแม้จะมีความคิดเข้ามาเกี่ยวข้องกับมัน ก็ให้มันเกิดขึ้น แล้วก็ผ่านไป แต่บางคนคิดว่าการปฏิบัติมันต้องมีอะไรมากกว่านี้
เคยมีชายหนุ่มคนหนึ่งไปปฏิบัติกับอาจารย์ที่มีชื่อเสียงด้านการทำสมาธิภาวนา ชายหนุ่มคนนี้เรียกว่าไฟแรง ตอนที่มาใหม่ๆ มาได้ไม่กี่วันก็ตรงไปถามอาจารย์เลยว่า อาจารย์ ผมพึ่งมาใหม่ อยากให้อาจารย์ช่วยสอนเรื่องการปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรม
อาจารย์ก็ถามว่า กินข้าวเสร็จหรือยัง เสร็จแล้วครับ งั้นก็เอาจานข้าวไปล้างซะ ชายหนุ่มคนนั้นงงเลย ที่จริงอาจารย์กำลังสอนว่า การปฏิบัติก็คือการอยู่กับปัจจุบัน ทำหน้าที่จำเป็นต้องทำ แต่ว่าทำด้วยใจที่มีสติมีความรู้สึกตัว กินข้าวเสร็จก็ต้องล้างจาน อันนี้ก็เป็นหน้าที่
การปฏิบัติคือ การทำหน้าที่ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แล้วก็อยู่กับงานนั้น หรือทำใจให้เต็มร้อยกับสิ่งที่ทำ ทำด้วยความรู้สึกตัว เท่านี้แหละคือการปฏิบัติ
แต่ชายคนนี้ยังไม่เข้าใจ พอล้างจานเสร็จก็ไปหาอาจารย์ว่า ผมล้างจานเสร็จแล้วครับ อาจารย์ก็เลยถามว่า แล้วทำความสะอาดพื้นห้องหรือยัง ยังครับ งั้นก็ไปทำ ชายหนุ่มนี้ไม่เข้าใจ ทำไมอาจารย์ไม่สอนเรื่องการบรรลุธรรม
จริงๆ ท่านสอนแล้ว ก็คือให้มีสติอยู่กับปัจจุบัน ไม่ต้องไปสนใจกับสิ่งที่เป็นเรื่องของความคิด ทำอะไรก็ทำด้วยใจเต็มร้อย ทำด้วยความรู้สึกตัว นั่นแหละเป็นหนทางแห่งการบรรลุธรรม ซึ่งถ้าหากถึงจุดนั้น ความสุขจากภายในมันก็จะพรั่งพรูสู่การรับรู้ของจิตได้อย่างเต็มร้อย.