พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 8 มกราคม 2568
มีผู้หญิงคนหนึ่งอายุก็มากแล้ว เป็นโรคหัวใจต้องไปหาหมอเป็นประจำที่โรงพยาบาล หมอที่เธอไปหาเป็นคนที่ไม่ใช่มีความสามารถอย่างเดียว มีความเมตตากรุณา มีน้ำใจด้วย เวลาคนไข้มาหา หมอก็พูดคุยสนทนาทั้งเรื่องความเจ็บป่วยแล้วก็ให้กำลังใจ บางครั้งให้คำแนะนำต่าง ๆ เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่และการวางใจด้วย
ต่อมาหมอคนนี้ต้องย้ายไปที่โรงพยาบาลอื่น คนไข้หญิงคนนั้นก็เสียดาย อยากจะตามไปรักษากับหมอคนนี้อีก แต่ว่าไปไม่ได้ มันไกล สิ่งที่เธอทำก็คือ ทุกอาทิตย์เธอจะไปที่โรงพยาบาลเดิมนี้ ไม่ได้ไปหาหมอคนไหน แต่ว่าไปนั่งอยู่หน้าห้องตรวจของหมอคนเดิมคนนั้น หมอไม่อยู่แล้วแต่ว่าคนไข้ก็ยังไปนั่งอยู่หน้าห้องของหมอ ครั้งหนึ่งก็ชั่วโมงสองชั่วโมง แล้วก็กลับไป อาทิตย์หน้าก็มาใหม่
ถึงแม้ว่าเธอจะไม่ได้ยารักษาโรคหัวใจจากหมอคนเดิม แต่ว่าเธอก็รู้สึกดีขึ้น ดีขึ้นเพียงแค่เพราะว่าไปนั่งอยู่หน้าห้องตรวจของหมอคนเดิม เพราะว่าพออยู่หน้าห้องหมอคนนั้นแล้วก็นึกถึงความเมตตากรุณาที่ได้รับจากหมอ ระลึกถึงความรู้สึกดี ๆ ที่เกิดขึ้นจากการที่ได้สนทนากับหมอ แค่นี้ก็ทำให้เธอมีความสุขแล้ว มันเหมือนยา แต่ไม่ใช่ยาที่เป็นเม็ดที่เธอได้รับจากหมอ แต่มันเป็นยาทางใจซึ่งมีความสำคัญเหมือนกัน
ซึ่งก็เป็นวิธีการเยียวยารักษาตัวอย่างหนึ่งของคนไข้ อย่างผู้หญิงคนนี้มันเป็นการเยียวยาทางใจ หรือว่าเป็นการบำรุงจิตใจ พอนึกถึงความดี นึกถึงความเมตตาของหมอแล้วจิตใจก็สดชื่นมีความสุข ความสุขหรือความรู้สึกดี ๆ ที่เกิดขึ้นในใจ ก็ทำให้หัวใจของเธอหรือร่างกายของเธอดีขึ้นด้วย
นี้เป็นความจริงที่คนแต่ก่อนก็รู้กันมานานแล้ว แต่ว่าบางทีหมออาจจะมองไม่ค่อยเห็นเพราะคิดว่าที่รักษาคนป่วยได้ ก็เพราะว่าความสามารถทางด้านหัตการ ความรู้ทางด้านโรคภัยไข้เจ็บหรือว่ายาที่ให้ แต่ที่จริงแล้วความเมตตาของหมอ ความมีน้ำใจของหมอ ก็เป็นยาที่มีอานุภาพมาก
วิลเลียม เวลช์ ผู้ที่ถือว่าเป็นปูชนียบุคคลของการแพทย์ในอเมริกา เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งโรงพยาบาลจอห์นฮอปกินส์ในอเมริกา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงมากจนถึงทุกวันนี้ ตอนหลังเขาก็เป็นคณบดีคณะแพทย์ของจอห์นฮอปกินส์
แล้วก็ทำให้โรงพยาบาลจอห์นฮอปกินส์กลายเป็นโรงเรียนแพทย์ไปด้วย ซึ่งเป็นแนวคิดใหม่เมื่อร้อยปีที่แล้ว เพราะแต่ก่อนโรงพยาบาลไม่ได้ทำการสอนหรือทำการวิจัย เพราะไม่มีโรงเรียนแพทย์อยู่ด้วยกัน และยังเป็นผู้บุกเบิกการแพทย์แผนใหม่ด้วย
เวลช์ได้พูดถึงพ่อของเขา ซึ่งเป็นหมอด้วยว่า เวลาพ่อจะเข้าไปในห้องผู้ป่วย ผู้ป่วยจะรู้สึกดีขึ้นเลย พ่อยังไม่ทันทำอะไรเลยผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้นแล้ว
เขายังพูดถึงพ่ออีกว่า การที่พ่อสามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บของคนจำนวนมากได้ บ่อยครั้งไม่ใช่เพราะความสามารถทางการแพทย์ของหมอ แต่เพราะว่าความเมตตาของท่านที่มีต่อคนไข้ เพราะเพียงแค่คนไข้เห็นหน้าที่วอร์ดหรือหอผู้ป่วย คนไข้ก็รู้สึกดีขึ้นเลย
อันนี้เป็นอิทธิพลของใจที่มีต่อกาย กายกับใจสัมพันธ์กันมาก กายที่ไม่ดีก็ทำให้ใจหดหู่ห่อเหี่ยว แต่ในทางตรงข้ามใจที่ดีก็ทำให้ร่างกายก็ดีขึ้น เวลช์ก็ยังพูดถึงวิลเลียม ออสเลอร์ ซึ่งเป็นเพื่อน วิลเลียม ออสเลอร์ ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ร่วมก่อตั้งโรงพยาบาลจอห์นฮอปกินส์ พวกเขาเป็นสหายกัน แล้วมีชื่อเสียงมาก ออสเลอร์ถือว่าเป็นบิดาของการแพทย์แผนใหม่ ตอนหลังได้เป็นเซอร์
วิลเลียม เวลช์พูดถึงออสเลอร์ว่า ความสามารถในการรักษาเยียวยาผู้ป่วยของวิลเลียม ออสเลอร์ ที่จริงแล้วไม่ใช่เป็นเพราะความสามารถทางการแพทย์ แต่ว่าเป็นเพราะความมีน้ำใจ ความเมตตา ของออสเลอร์ ซึ่งคล้ายๆกับพ่อของวิลเลียม เวลช์ เพียงแค่มาปรากฏตัว คนไข้ก็รู้สึกดีขึ้นแล้ว
ออสเลอร์ยังมีวิธีการพูดคุยกับคนไข้ไม่ว่าผู้ใหญ่หรือเด็ก โดยเฉพาะเด็กซึ่งเป็นผู้ป่วยที่บางทีก็รักษายาก เพราะว่ากลัว กลัวหมอ กลัวเข็ม แต่ออสเลอร์สามารถที่จะคุยให้เด็กสบายใจ พอเด็ก ๆ เจอออสเลอร์ก็ดีใจ ดีใจที่ได้เจอคุณลุงหมอ
อันนี้ก็เรียกว่าเป็นเกร็ดก็ที่ชี้ให้เห็นว่า ใจที่ดี ใจที่สบายก็ทำให้ความเจ็บป่วยบรรเทาเบาบางลง หมอเก่า ๆ อย่างออสเลอร์ หรือเวลช์ เขารู้ดี ถึงแม้ว่าเขาจะมีความรู้ทางการแพทย์เยอะ รู้เรื่องกายวิภาค รู้เรื่องทางการดำเนินโรค แต่เขาก็รู้เหมือนกันว่าจิตใจนี่สำคัญมาก
เพราะฉะนั้นคุณลักษณะของหมอที่ออสเลอร์หรือเวลช์พูดถึงอยู่เสมอคือ การมีเมตตา มีเมตตาไม่ใช่มีแค่ความรู้
ความรู้เป็นเรื่องของสมอง เมตตาเป็นเรื่องของใจ แต่หมอบางคนไม่เข้าใจ อย่างมีผู้ชายคนหนึ่ง เป็นมะเร็ง ต้องไปรับคีโมหรือว่าเคมีบำบัดจากหมอคนหนึ่ง เป็นผู้ชายเหมือนกัน ก็ไปรับค่อนข้างจะบ่อย ทุกครั้งที่รับเคมีบำบัด พอรับเสร็จก็จะคุยกับหมอประมาณ 15 นาที แล้วก็กลับบ้านด้วยความสบายใจ ก็ทำอย่างนี้ทุกครั้ง คือรับเคมีบำบัดเสร็จจากหมอ คุยกับหมอ จนคุ้นเคยกัน
ต่อมาอาการของโรคมันลุกลาม เคมีบำบัดไม่มีประโยชน์แล้ว หมอก็เลยงดให้เคมีบำบัด คนไข้ก็ไม่ว่าอะไร คนไข้ก็ถามว่า “ผมยังจะมาคุยกับหมอได้เหมือนเดิมไหม” หมอตอบว่า “ในเมื่อคุณไม่สามารถรับเคมีบำบัดได้แล้ว คุณก็ไม่จำเป็นต้องมาคุยกับผมก็ได้”
คนไข้เสียใจมาก เหมือนกับว่าความสัมพันธ์หรือมิตรภาพที่มี มันมีเพียงเพราะว่าต้องมารับเคมีบำบัด พอรับเคมีบำบัดไม่ได้ก็จบ หมอไม่อนุญาตให้มาหาหมอเพื่อคุยสนทนากันอีกต่อไป เพราะว่าไม่ได้รับเคมีบำบัดแล้ว
คนไข้เสียใจมาก ว่าทำไมหมอไม่เห็นความสำคัญของความสัมพันธ์ ถึงแม้ว่าไม่ได้รับเคมีบำบัดแต่ว่าอย่างน้อยสนทนากันก็ทำให้จิตใจสบาย ใจที่สบายก็ช่วยเยียวยากายได้ แต่ว่าหมอคนนี้เขาไม่เข้าใจ หมอเข้าใจแต่ว่าหน้าที่ของหมอเป็นเรื่องการดูแลกาย ให้ยาให้การรักษา ถ้าไม่สามารถให้การรักษาทางกายก็หมดหน้าที่
แต่ที่จริงแล้ว หมอยังทำได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ การเยียวยาดูแลช่วยเหลือจิตใจ อาจจะด้วยการพูดคุยกัน เพราะฉะนั้นแม้เคมีบำบัดจะไม่มีประโยชน์แล้ว แต่ว่าการพูดคุยของหมอก็ยังมีประโยชน์กับคนไข้ เยียวยาใจเยียวยากายได้ แต่หมอไม่เข้าใจ หมอก็เลยบอกไม่ต้องมา คนไข้ก็เลยเสียใจ
อันนี้ก็เป็นเพราะการแพทย์สมัยใหม่เขามองว่า กายกับใจมันแยกกัน แต่ว่าหมอเดี๋ยวนี้จำนวนมากก็รู้แล้วว่าเรื่องจิตใจก็สำคัญ บางครั้งแม้จะให้ยาไม่ได้แล้วเพราะว่ามันเกินวิสัยที่จะรักษาทางกายได้ แต่การดูแลช่วยเหลือเยียวยาจิตใจก็ยังทำได้ ยิ่งทำได้จนกระทั่งหมดลมไปเลย
อันนี้เป็นสิ่งที่เรียกว่าหมอมีอิทธิพลต่อคนไข้มาก ถ้าเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างกายกับใจด้วยแล้ว และไม่ใช่หมอกับคนไข้อย่างเดียว ญาติกับคนไข้ หรือครอบครัวกับคนไข้ ก็สามารถจะช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ เมื่อมีความเมตตากรุณามีความเอื้อเฟื้อกัน เพราะมนุษย์เราก็ต้องการสิ่งเหล่านี้ไม่ว่าจะอยู่ในภาวะใดหรือสถานะใด.