พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต เทศน์ก่อนฉันเช้า 10 มกราคม 2568
เด็กชายคนหนึ่งแกรู้มาว่า กระดาษหนังสือพิมพ์สามารถจะเช็ดกระจกให้สะอาดได้ แกรู้สึกตื่นเต้นและอยากเห็นว่ามันทำได้จริงหรือเปล่า
วันหนึ่งวันที่แกไม่ต้องไปเรียนหนังสือ ส่วนพ่อแม่ไปทำงาน แกไปเก็บกระดาษหนังสือพิมพ์เก่าๆมาซับน้ำและเช็ดกระจกในบ้าน เช็ดไปรอบบ้านซึ่งก็ใช้เวลานาน เพราะบ้านมีกระจกอยู่หลายบาน พอเช็ดเสร็จก็นั่งชื่นชมผลงาน รู้สึกว่าจริงแฮะ กระดาษหนังสือพิมพ์นั้นสามารถเช็ดกระจกใสให้สะอาดได้ เห็นได้จากผลงานของตัว
ตกเย็นพ่อกลับมาจากที่ทำงาน พอมาเห็นกระจกรอบบ้านก็เรียกเด็กคนนี้มายืนตรงหน้ากระจก แล้วพ่อก็ชี้ให้เห็นร่องรอยตรงมุมกระจก ว่ามันไม่สะอาด มันไม่ใสเลยโดยเฉพาะบริเวณที่มือไม่สามารถจะเช็ดไปถึง
พ่อบอกกับเด็กว่าทีหลังต้องละเอียดรอบคอบกว่านี้ เด็กชายรู้สึกประหลาดใจและผิดหวังมาก เพราะจริงๆแล้วไม่ได้มีใครสั่งให้เด็กคนนี้เช็คกระจกเลย แต่แกอาสาทำเอง เพื่อที่จะพิสูจน์ว่ากระดาษหนังสือพิมพ์นั้นสามารถเช็ดกระจกให้สะอาดได้
และพิสูจน์ว่าเด็กเล็กๆอย่างแกก็สามารถช่วยเหลืองานบ้านได้ ทำให้กระจกรอบบ้านสะอาด แต่กลับถูกตำหนิว่าเธอไม่ละเอียดรอบคอบ สะเพร่า เด็กก็เลยรู้สึกผิดหวังและเสียใจ แทนที่จะได้รับคำชมกลับได้รับคำตำหนิ
ซึ่งได้กลายเป็นประสบการณ์ที่ฝังใจ ในภายหลังพอจะทำอะไรแม้จะอาสาทำดี ก็ไม่แน่ใจว่าจะเกิดผลตามมาอย่างไร ทำดี ปรารถนาดีแต่ก็ยังอาจจะถูกตำหนิได้ ก็เลยกลายเป็นคนที่ไม่ค่อยกล้าทำอะไรเพราะกลัวว่าจะผิดพลาด
เรื่องนี้เป็นประสบการณ์ที่เด็กหลายคนเจอมาจากคำพูดของพ่อแม่ โดยเฉพาะกับพ่อ ทั้งที่จริงพ่อก็ปรารถนาดี แต่พูดไม่เป็น ไม่เข้าใจความรู้สึกของเด็ก แล้วทำไมพ่อจึงพูดอย่างนั้น นั่นเพราะพ่อมองเห็นหรือให้ความสำคัญกับเป้าหมายหรือผลมากกว่าการกระทำ ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็เป็นเช่นนี้ เน้นไปที่ผลมากกว่าการกระทำ
เด็กนักเรียนบางคนเล่นฟุตบอลจนถึงนัดชิงชนะเลิศ แต่กลับแพ้ในนัดชิงได้ที่ 2 กลับมาถึงบ้านถูกพ่อว่าๆ ทำไมได้ที่ 2 คือไปเน้นที่ผล พอไปเน้นที่ผลแล้วจากเรียนหนังสือให้ได้คะแนนดีๆ ก็คิดแต่เพียงว่าทำยังไงจะได้เกรดดีๆ ไม่สนใจการกระทำ บางทีก็เลยไปลอกมาหรือไปทุจริตมา
พ่อของเด็กคนนี้ก็เช่นกัน แทนที่จะให้ความสำคัญกับการกระทำของเด็ก ว่าเด็กมีความตั้งใจ มีความเพียร เด็กมีความปรารถนาดี กลับไปเน้นที่ผล หรือว่าสิ่งที่เด็กได้ทำ ว่ากระจกไม่สะอาด มีร่องรอยที่ไม่ใส ไปเน้นที่ผลมากกว่าการกระทำ
ถ้ามองให้ดีจะพบว่าพ่อเป็นคนที่ชอบมองลบ กระจกใสกลับมองไม่เห็น เห็นแต่รอยหมองมัวซึ่งมีน้อยมาก ทั้งที่กระจกรอบบ้านนั้นใสเป็นส่วนใหญ่ 80-90% หรือบางทีอาจจะเป็น 95% ด้วยแต่พ่อกลับมองไม่เห็น เห็นแต่บริเวณที่หมองมัว
และก็ไม่เห็นว่าเด็กนั้นมีส่วนดีอย่างไรบ้าง มีความขยัน มีความตั้งใจ ไม่มีใครสั่งก็ยังทำ แต่กลับเห็นแต่ความสะเพร่า ความไม่เรียบร้อย ซึ่งก็มีจริงเพราะนิสัยของเด็กก็ย่อมทำอะไรไม่เรียบร้อย แต่เป็นเพียงจุดด่างจุดเล็กๆในกระจกใส แม้ความใสจะมีมากกว่า แต่ว่าพ่อกลับมองไม่เห็นตรงนี้มองเห็นแต่ส่วนที่เป็นความบกพร่อง สิ่งที่เห็นนั้นเป็นจริงก็จริง แต่ว่าไปเห็นแต่ด้านลบ ด้านบวกมองไม่เห็น
พ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่เป็นแบบนี้ เด็กบางคนสอบได้ 3.9 มารายงานพ่อ พ่อบอกว่าแล้วอีก 0.1 มันหายไปไหน เหมือนเด็กบางคนสอบได้ 98% กลับมาบอกพ่อแม่ พ่อบอกว่าอีก 2% หายไปไหน พ่อเห็นแต่ 2% ที่ขาดแต่ไม่ได้เห็นอีก 98% ที่เด็กเขาทำได้ พอมองเห็นแบบนี้ก็เลยพูดแบบนี้ ซึ่งเป็นการบั่นทอนน้ำใจเด็ก
มีเด็ก 3-4 ขวบอยู่คนหนึ่งกลับมาบ้านทีไร แม่ก็ถามว่าวันนี้ไปมีปัญหากับใครมาหรือเปล่า เพราะเด็กเป็นคนที่ไฮเปอร์ก็มักจะมีเรื่องกับเพื่อนๆ จนคุณครูโทรมาบอกแม่เป็นประจำ แม่ก็ระอามากกลับมาบ้านทีไรแม่ก็จะถามว่า วันนี้หนูไปมีปัญหากับใครมาหรือเปล่า ถามบ่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งครูให้นักเรียนเขียนเรียงความเรื่อง “ความดีที่ฉันภูมิใจ”
ปรากฏว่าเด็กคนนี้เขียนไม่ได้เลย คนอื่นเขียนได้แต่เด็กคนนี้เขียนไม่ได้ ครูก็เลยมารายงานให้แม่รู้ แม่ได้ยินก็ร้องไห้เลย เพราะรู้ว่าต้นตอมาจากแม่ เพราะแม่เอาแต่ถามอยู่ตลอดว่า วันนี้ไปมีปัญหากับใครมาบ้าง ไปมีเรื่องกับใครมาหรือเปล่า ถามทุกวันจนเด็กมีความรู้สึกว่าตัวเองไม่มีดีอะไรเลย พอต้องเขียนเรียงความจึงเขียนไม่ได้เพราะไม่มีดีจะเขียน
ตอนหลังแม่มาเล่าให้อาตมาฟัง เล่าไปก็ร้องไห้ไปว่าตัวเองทำให้ลูกมีความคิดที่ไม่ดีกับตัวเอง อาตมาก็แนะนำว่าทีหลังพอลูกกลับมาบ้านก็ให้ถามว่า “วันนี้ลูกทำดีอะไรมาบ้าง” ให้ถามแบบนี้ทุกวัน เด็กก็จะเริ่มเห็นความดีของตัวเอง
เรียกว่าพ่อแม่บางทีปรารถนาดีแต่มองแต่ข้อตำหนิอยากจะให้เด็กดีขึ้นเรื่อยๆ แต่เห็นแต่ข้อตำหนิ ด้านบวกมองไม่เห็น พอโตขึ้นมาก็เห็นแต่ข้อตำหนิ กลายเป็นคนจู้จี้ขี้บ่น บางทีแต่งงานแล้วก็เห็นแต่ข้อตำหนิของคู่ครอง จนเขาระอา ทำงานก็เห็นแต่ข้อตำหนิ ถึงแม้ว่าข้อที่น่าชื่นชมก็มีแต่ก็มองไม่เห็น
สุดท้ายก็มองไม่เห็นความดีของตัวเองเห็นแต่ข้อไม่ดีของตัวเอง จนรังเกียจตัวเอง ไม่เห็นความดีของตัวเองอย่างนี้ก็มีมาก ซึ่งเริ่มต้นมาจากการที่ถูกพ่อแม่สอนให้มองเห็นแต่ด้านลบของตัวเอง หรือว่าถูกพ่อแม่พูดในทางที่บั่นทอนจิตใจตัวเองจนไม่กล้าทำดี ไม่กล้าทำอะไรเพราะกลัวจะถูกตำหนิหรือเพราะกลัวว่าจะมีข้อบกพร่อง ความดีที่ทำก็มีแต่เริ่มจะมองไม่เห็นแล้ว แบบนี้เรียกว่ามีความทุกข์มาก
หลายคนไม่สามารถจะหลุดจากปมนี้ได้ ก็เลยมีชีวิตและทำงานอย่างความทุกข์ เพราะพ่อแม่ไม่รู้จักมองด้านบวกของลูก หรือไปเน้นที่ผลของการกระทำมากกว่าตัวการกระทำ ว่ามีความเพียร มีความพยายาม มีความตั้งใจมากแค่ไหน ถ้าคอยเชียร์และให้กำลังใจ เด็กก็จะทำดีขึ้นเรื่อยๆและก่อให้เกิดผลที่ดีตามมาในที่สุด.