พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 19 มกราคม 2567
ใครที่ไปประเทศญี่ปุ่นคงจะสังเกตเห็นผู้เฒ่าผู้ชราทำงานอาชีพต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นพ่อครัว แม่ครัว หรือว่าขายของ ขายตั๋วรถไฟ หรือว่าพนักงานเก็บตั๋ว บางทีแม้กระทั่งพนักงานขับรถก็เป็นคนแก่คนชรา แล้วที่เห็นบ่อยคือพนักงานทำความสะอาด เช็ดถูห้องน้ำ
คนแก่เหล่านี้ไม่ใช่อายุแค่ 60 มากกว่านั้น 70-80 แล้วคนเหล่านี้ที่จริงควรจะอยู่บ้าน แต่ว่าก็มาทำงาน เหตุผลนี้ไม่ใช่เพราะอยากได้เงิน หรือค่าจ้าง อันนั้นเป็นเรื่องรอง หรือเป็นผลพลอยได้ เพราะจำนวนไม่น้อยก็พอมีเงินเก็บอยู่ แต่ว่าที่มาทำงานก็เพราะว่า อยากให้ตัวเองรู้สึกว่ามีคุณค่า
การทำงานมันก็มีส่วน มีผลดีไม่ใช่เฉพาะทำให้มีรายได้ คุณค่าสำคัญคือคุณค่าทางใจ ทำงานแล้วก็รู้สึกมีความภาคภูมิใจ รู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่า เพราะว่างานมันเปิดโอกาสให้เราได้ใช้ความสามารถในการสร้างสรรค์ หลายคนทำงานแล้วก็มีความสุขที่เห็นลูกค้ามีรอยยิ้ม หรือรู้สึกว่าตัวเองด้ทำประโยชน์ให้กับสังคม
คนแก่จำนวนไม่น้อยในญี่ปุ่น แล้วก็หลายๆ ประเทศพอเกษียณแล้ว หลังจากไปเที่ยวสักพักจนเต็มอิ่มแล้ว ก็เริ่มรู้สึกว่าชีวิตมันว่างเปล่าเคว้งคว้าง แต่ความรู้สึกแบบนี้อาจจะไม่ค่อยเกิดขึ้นกับคนแก่ในบ้านเรา โดยเฉพาะในชนบทสมัยก่อน
แต่สมัยนี้ก็ไม่แน่ เพราะว่าเขามีอะไรทำอยู่เรื่อยๆ แม้ว่าจะไม่ได้ไปไถนา ไปทำนาสมบุกสมบันอย่างเมื่อก่อน แต่ก็มีงานอื่นทำ ทอผ้า สานกระบุงตะกร้า เลี้ยงหลาน รู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่า มีประโยชน์ เป็นความสุขที่มีความหมายมากกว่าการไปเที่ยว การกิน การดื่ม การเสพ เพราะเป็นความสุขทางใจ
คนจำนวนไม่น้อยตอนที่ทำงานนี่ก็เบื่อ ไม่อยากทำงาน รอคอยวันเสาร์ วันอาทิตย์ หรือเย็นวันศุกร์ เพราะว่าจะได้ไปดูหนัง ฟังเพลง กิน ดื่ม เที่ยวเล่น ชอป แต่พอเกษียณแล้ว ทีแรกก็ดีใจ เพราะจะได้ไปกิน ไปดื่ม ไปเที่ยว ตั้งใจว่าจะไปหลายประเทศให้มันรอบโลกไปเลย
แต่พอได้ไปเที่ยวสักพัก 3 ปีบ้าง 5 ปีบ้างก็รู้สึกเบื่อ กลับมาอยู่บ้านก็รู้สึกเคว้งคว้าง เพราะรู้สึกว่าชีวิตว่างเปล่า เดี๋ยวนี้คนแก่จำนวนมากในเมือง หรือว่าในประเทศที่ร่ำรวยก็จะรู้สึกแบบนี้
ถึงตอนนั้นก็อยากจะทำงานแล้ว แล้วพอได้ทำงานก็มีความสุข หลายคนมักจะไม่รู้ว่างานเป็นบ่อเกิดของความสุข แต่เชื่อว่าการกิน ดื่ม เที่ยว เล่น จะช่วยให้ความสุขกับเราได้
แต่จริงๆ แล้ว พอได้ทำมันก็เบื่อ พยายามสรรหาสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ ก็แล้ว ก็ยังเบื่อ เพราะว่าลึกๆ คนเราสิ่งที่ต้องการ หรือสิ่งที่ช่วยเติมเต็มจิตใจได้คือความรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า มีประโยชน์
คนแก่ที่ญี่ปุ่นก็เหมือนกัน เขาอยู่บ้าน หลายคนแม้ว่าจะอยู่สบาย มีเงินเก็บแต่ก็คิดว่าตัวเองไม่มีคุณค่า เพราะว่าไม่รู้จะทำอะไร ลูกก็ไม่มีหลานให้เลี้ยง หรือบางทีลูกก็ไม่ได้อยู่ด้วยซ้ำ หลายคนมีกินมีใช้แต่รู้สึกอ้างว้างเปล่าเปลี่ยว เพราะว่าลูกก็ไม่อยู่ พ่อแม่อยู่ต่างจังหวัด แต่ลูกอยู่ในเมือง หรือบางทีอยู่ในเมืองด้วยกัน แต่ว่าอยู่คนละบ้าน
การไปทำงานนอกจากช่วยทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า มีประโยชน์แล้วยังทำให้หายเหงาด้วย เพราะว่ามีเพื่อน มีมิตรสหาย ตอนที่ทำงานนี่ก็เบื่อ รำคาญคนโน้นคนนี้ที่เป็นเพื่อนร่วมงาน ทำให้ชีวิตไม่สงบสุข แต่ว่าพอได้ไปอยู่บ้านเพราะเกษียณแล้วอยากมีเพื่อน
การทำงานก็เปิดโอกาสทำให้ได้ไปรู้จักคนมากมาย มีเพื่อน มีสังคม ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่มีความจำเป็นนักสำหรับคนไทยสมัยก่อน เพราะว่าอยู่ในบ้านก็มีมิตรสหาย มีเครือญาติมาสังสรรค์พูดคุย มีสังคมอยู่แล้ว งานก็มีทำตามวัย มิตรสหาย เพื่อนฝูงก็มี
แต่ว่าเดี๋ยวนี้คนแก่ในเมืองแม้จะมีกิน มีใช้ มีความสุขสบาย มีสวัสดิการด้วยซ้ำ แต่ว่าพอไม่มีอะไรก็ไม่รู้สึกมีคุณค่า แล้วก็เหงา หลายคนรู้สึกว่าตัวเองเป็นขยะเลย
เคยไปเจอคนแก่คนหนึ่งที่ประเทศไต้หวัน ตอนนั้นไปดูงานของมูลนิธิฉือจี้ คนไทยไปดูกันเยอะเป็นหมื่นแล้ว มูลนิธิฉือจี้มีชื่อมากด้านการสงเคราะห์ ช่วยเหลือสังคมโดยอาศัยคำสอนทางพุทธศาสนา เขามีโรงพยาบาล โรงเรียนมีชื่อมาก มหาวิทยาลัยก็มีชื่อ มหาวิทยาลัยแพทย์เขามีชื่อมาก เพราะว่าเป็นต้นแบบของความคิดเรื่องการแพทย์ที่มีหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์
นอกจากนั้นเขายังมีสถานีแยกขยะ ตอนที่ไปเมื่อ 10 ปีที่แล้วมี 5000 กว่าสถานีทั่วเกาะไต้หวัน ที่สถานีคนทำงานเป็นอาสาสมัครทั้งนั้น ที่น่าสนใจคือส่วนใหญ่หรือ 99% เป็นคนแก่สูงวัย
คนเหล่านี้เกษียณแล้ว หลายคนก็มีตำแหน่งที่ดีๆ มาก่อนในสมัยที่ทำงานเป็นผู้จัดการ เป็นวิศวกร เป็นสถาปนิก เป็นหมอ แต่ว่าพอเกษียณแล้ว ทีแรกก็คิดว่าจะได้อยู่สบาย มีความสุข กินดื่มเที่ยวเล่นชอป แต่ว่ามันไม่เป็นอย่างนั้น
มีคุณลุงคนหนึ่งแกบอก พอได้มาเป็นจิตอาสาที่สถานีแยกขยะแห่งหนึ่งในไต้หวัน เขาบอกว่า ผมคือขยะคืนชีพ ก่อนหน้าที่จะมาเป็นจิตอาสา รู้สึกไม่มีคุณค่าเลยเป็นขยะ มีกินมีใช้ก็จริง สุขสบายด้วย แต่รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่าเพราะไม่ได้ทำอะไรเลย ดูหนังดูโทรทัศน์ทั้งวันก็เบื่อ
แกก็เลยอาสามาเป็นจิตอาสาที่สถานีแยกขยะของฉือจี้ งานก็ไม่ใช่สบาย ลำบากกว่าสมัยตัวเองเป็นผู้จัดการธนาคาร เพราะสมัยนั้นผู้จัดการอยู่ห้องแอร์ เก้าอี้นั่งสบาย แต่เป็นอาสาสมัครฉือจี้ที่สถานีแยกขยะไม่ติดแอร์ มีแต่พัดลม แล้วก็ต้องนั่งยองๆ ไม่ได้นั่งสบาย ฉีกกระดาษออกเป็นแผ่นๆ บ้าง หรือไม่ก็แยกหัวจุกของขวดน้ำที่ทิ้งแล้วเพื่อไปรีไซเคิล บางทีแกะเอาทองแดงจากสายไฟเพื่อไปรีไซเคิล เอาเงินไปสนับสนุนสถานีโทรทัศน์คุณธรรม
ลำบากกาย แต่ว่าใจมีความสุข เพราะว่าได้กลายเป็นขยะคืนชีพไปแล้ว คือว่ากลายเป็นคนที่มีชีวิตชีวา เพราะว่าได้ทำงาน แต่ว่าการที่คนแก่มาทำงานที่นี่ มันก็เป็นภาพสะท้อนของสังคมคนแก่จำนวนมากที่เริ่มถูกทอดทิ้งอยู่คนเดียว ลูกก็ไม่สนใจ หรือไปอยู่ที่อื่น
หลายคนพอเหงาก็เลยต้องหางานทำแต่ว่าพอแก่มากๆ เข้าทำงานไม่ไหว ตอนนี้แหละจะลำบากแล้ว ต้องอยู่คนเดียวที่บ้าน แล้วเดี๋ยวนี้มักเกิดปัญหาคือ อยู่โดดเดี่ยว แล้วก็ตายแบบโดดเดี่ยว คนแก่ในญี่ปุ่น 8-9 ล้านคนปรากฏว่าตายอย่างโดดเดี่ยวประมาณปีละ 70,000 คน ตายคนเดียว ลูกหลานไม่อยู่ แล้วไม่มีใครอยู่ด้วย ก็เป็นศพอยู่หลายวันกว่าจะมีคนพบ
นี่ก็เป็นอีกด้านหนึ่งของความเจริญที่คนไทยเราใฝ่หา แต่เราไม่รู้ว่ามันมีอีกด้านหนึ่งที่ไม่ค่อยอยากจะให้เกิดขึ้นเท่าไหร่ แต่ว่าถ้าหากว่าสังคมของคนเรามุ่งไปสูการพัฒนาแบบญี่ปุ่น สุดท้ายก็จะมีปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้นคือ พออายุมากก็อยู่อย่างโดดเดี่ยว แล้วก็ตายแบบโดดเดี่ยว เรียกว่าตายเหงา
เดี๋ยวนี้คนไทยที่มีอายุมากก็เลือกจะประสบกับภาวะเช่นนี้ ก็ต้องรู้ทันว่าข้างหน้าจะเจออะไร แล้วก็เตรียมตัวเตรียมใจไว้ จะได้ไม่ต้องไปทุกข์เมื่อมันมาหรือเกิดขึ้นกับตัวเอง.