พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 20 มกราคม 2568
เราคงทราบดีว่า ตอนนี้โลกของเรากำลังร้อนขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งทำให้เกิดความแปรปรวนให้กับธรรมชาติทั่วโลก ไม่ว่าดิน น้ำ อากาศ
และปรากฏการณ์โลกร้อนที่ว่านี้สาเหตุสำคัญคือการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นฝีมือของมนุษย์ ก๊าซเรือนกระจกที่ว่านี้ที่สำคัญคือ คาร์บอนไดออกไซด์ กับ มีเทน
คาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมานี้ไม่ใช่เพราะการหายใจของมนุษย์ อันนั้นเล็กน้อยมาก แต่ส่วนใหญ่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาจากการเผาไหม้โดยใช้น้ำมัน ถ่านหิน หรือว่าไม้ เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนรถยนต์ พาหนะ รวมทั้งการผลิตพลังงาน ยังไม่นับผลที่เกิดจากการเผาไหม้ทำลายป่า
ส่วนมีเทนเกิดจากการที่เรากินเนื้อสัตว์เยอะ จึงต้องปลูก จึงต้องเลี้ยงสัตว์มาก มูลสัตว์โดยเฉพาะวัว ทำให้เกิดก๊าซมีเทน รวมทั้งกองขยะที่มีเกลื่อนไปทั่วโลกทำให้เกิดก๊าซมีเทน พวกนี้กําลังสร้างปัญหาให้กับโลกของเรา และทุกคนต้องได้รับผลกระทบทั่วหน้ากัน
ฉะนั้น ตอนนี้จึงมีการพยายามควบคุม หาทางระงับยับยั้งไม่ให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเกินไป ถ้าลดได้ก็ยิ่งดี เพื่อไม่ให้อุณหภูมิโดยเฉลี่ยทั่วโลกสูงจากเดิมเกิน 1.5 องศา ซึ่งตอนนี้เกือบจะถึงแล้ว บางวัน บางเดือนก็เกิน หรือสูงเกิน 1.5 บางทีไปถึง 2 องศาก็มี แต่โดยเฉลี่ยทั่วโลกทั้งปียังไม่ถึงทีเดียว
มีองค์กรหนึ่งชื่อ อ็อกแฟม (OXFAM) เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ เขาคํานวณว่า ถ้าจะไม่ให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากจนทำให้โลกอุณหภูมิสูงขึ้นถึง 1.5 องศา เราแต่ละคนจะมีโควต้าในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคนละเท่าไร ถึงจะทำให้อุณหภูมิโลกไม่สูงเกิน 1.5 องศาโดยเฉลี่ยทั่วโลก
เขาพบว่าแต่ละคนถ้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ยต่อปี 2.1 ตัน หรือ 2,100 กิโล ก็ช่วยชะลอไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงเกินขีดอันตรายได้
แต่ในความเป็นจริงเป็นอย่างไร พบว่าคนที่รวยที่สุดทั่วโลก ซึ่งมีประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก ปล่อยก๊าซเรือนกระจกปีละ 76 ตัน ส่วนคนที่ยากจนที่สุดในโลก ซึ่งมีประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรโลก ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อปี 0.7 ตัน กว่าจะใช้โควต้าครบต้องปล่อยไปถึง 3 ปี
ตรงข้าม คนรวยที่สุดในโลกซึ่งมี 1 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก ปีหนึ่งใช้ไป 76 ตัน เกินโควต้าไป 30 เท่า หรือพูดอีกอย่างคือว่า ใช้โควต้าหมดภายในเวลา 10 วัน ซึ่งเป็นความแตกต่างที่เห็นกันอย่างชัดเจน คนหนึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือว่าใช้โควต้าหมดภายใน 10 วัน แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นครึ่งหนึ่งของประชากรโลกใช้เวลา 3 ปี กว่าจะใช้โควต้าหมด
อันนี้แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำซึ่งน่าวิตก เพราะว่าหมายความว่าคนที่ร่ำรวยกําลังฉกฉวยโอกาสที่ผู้คนจะมีชีวิตที่สุขสบายหรือปกติสุข เอาอนาคตของประชากรโลกมาใช้ภายในเวลาที่สั้นมาก
เพราะฉะนั้น อ็อกแฟมจึงเรียกร้องว่าต้องมีการควบคุมหรือสร้างเหตุปัจจัยไม่ให้คนรวยปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากมายมหาศาลแบบนี้
วิธีหนึ่งที่เขาแนะนําคือ การเก็บภาษีคนรวย ซึ่งมีการพูดกันมานานแล้ว รวมทั้งเก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย ไม่ใช่แค่โทรศัพท์มือถือ รถยนต์ราคาแพง จะรวมถึงเรือยอร์ช หรือว่ารถราคาหรู ๆ ซุปเปอร์คาร์ด้วย อันนี้เพื่อช่วยชะลอการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในหมู่คนร่ำรวย และเอาเงินภาษีที่ได้ไปช่วยในการสร้างมาตรการเพื่อป้องกันหรือบรรเทาผลกระทบจากโลกร้อน
นี้เป็นเรื่องใหม่ที่คนยังไม่ค่อยรู้กัน และเหตุที่คนรวยเขาปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากและส่งผลกระทบในทางเสียหายกับโลกมากขึ้น หมายความว่าคนรวย ๆ จะต้องแบกรับภาระในการช่วยเหลือฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม
มักจะมีการพูดว่า ไปเรียกร้องคนรวยทำไม เขาก็ทำประโยชน์ให้กับสังคมเหมือนกัน อันนี้ก็มีส่วน แต่ว่าในส่วนหนึ่งเขาก็สร้างภาระให้กับโลก สร้างภาระหรือก่อความเสียหายให้กับธรรมชาติ เพราะฉะนั้นต้องมีภาระเพิ่มขึ้นในการเยียวยา ในการทำให้โลกมีปัญหาน้อยลง
ฉะนั้น การเก็บภาษีก็เป็นวิธีการหนึ่ง ที่จริงควรจะรวมไปถึงภาษีอื่น ๆ ด้วย เพราะว่าทุกวันนี้ชี้ให้เห็นว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นทั่วโลกเชื่อมโยงกับโครงสร้างหรือระบบที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เป็นระบบที่ให้คุณกับคนรวย หรือเอื้อเฟื้อคนรวย แต่ว่าเป็นโทษกับคนจน
คนรวยมีโอกาสมากกว่าในการที่จะถีบตัวให้มีฐานะที่สูงขึ้น เช่น มีโอกาสได้เรียนในสถาบันการศึกษาที่สูง ถ้ายากจนก็ลําบากหน่อย บางคนไม่อาจเข้าเรียนต่อ แม้กระทั่งในระดับมหาวิทยาลัย พอการศึกษาไม่ดี โอกาสที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้นก็ยาก
ตรงข้าม คนร่ำรวยเขามีโอกาสทางการศึกษามากขึ้น มีโอกาสประกอบอาชีพหรือได้อาชีพที่ดีก็ร่ำรวยมากขึ้น พอร่ำรวยมากขึ้น ถ้าใช้ชีวิตสมถะก็ดีไป แต่ว่าคนเราพอร่ำรวยแล้วใช้ชีวิตอย่างฟุ่มเฟือยจึงก่อปัญหากับสิ่งแวดล้อม คือปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น และเมื่อปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นก็ต้องชดเชยหรือชดใช้ด้วยการจ่ายภาษีมากขึ้น
ที่จริงไม่ใช่แค่เฉพาะภาษีรายได้ หรือภาษีการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือย แม้กระทั่งภาษีมรดก ก็จำเป็นต้องจ่ายในอัตราที่มากกว่าคนทั่วไป เพราะว่าตัวเองได้ประโยชน์จากสังคม ได้ประโยชน์จากระบบที่เป็นอยู่
หรือถ้าพูดในแง่ของอ็อกแฟมคือ ฉกฉวยประโยชน์หรือโอกาสที่คนทั่วไปจะมีชีวิตที่สุขสบายเอามาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว เพราะฉะนั้นต้องจ่ายมากขึ้น หรือว่าจะต้องรับภาระในการช่วยเหลือสังคมมากขึ้น
อันนี้คือเหตุผลว่า ทำไมยิ่งรวยมากยิ่งต้องเสียสละ หรือจะต้องช่วยเหลือสังคมมากขึ้น เพราะว่าตัวเองได้ประโยชน์มาก ต้องจ่ายคืนให้มากด้วย
อันนี้เป็นเรื่องที่เราต้องรับรู้กัน โดยเฉพาะที่อ็อกแฟมเขาบอกว่า คนเราทุกวันมีโควต้าในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปีละ 2.1 ตัน
ตอนนี้มีอุปกรณ์ในการที่จะมาพิจารณาว่าแต่ละคน ปี ๆ หนึ่งเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไร แต่ว่าเป็นตัวเลขที่น่าสนใจ เพราะคนที่รับผิดชอบต่อสังคมหรือต่อโลกมากขึ้นต้องพยายามดูแลตัวเอง ดูแลการใช้ชีวิตเพื่อไม่ให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากไปกว่าที่เขากำหนด หรือว่ายิ่งน้อยยิ่งดี เพราะว่านั่นเป็นวิธีการช่วยลดได้อย่างหนึ่ง นอกเหนือจากการปลูกต้นไม้เยอะ ๆ หรือว่าการลดปัญหาขยะ ทิ้งขยะให้น้อยลง เป็นต้น.