พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568
มีข่าวเล็ก ๆ อยู่ข่าวหนึ่งแต่ก็สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย เขาบอกว่าในอเมริกาคนสูงวัยคืออายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป มีอัตราการหย่าร้างสูงกว่าช่วงก่อน ๆ เรียกว่าสูงเป็นประวัติการณ์
เขาบอกว่าเมื่อ 50 ปีที่แล้ว คนที่อายุ 50 ปีขึ้นไป อัตราการหย่าร้างมีไม่ถึง 1 ใน 10 แต่พอผ่านไป 30 กว่าปี คือเมื่อ 15 ปีที่แล้วอัตราการหย่าร้างของคนอยุ 50 ปีขึ้นไปเพิ่มเป็น 1 ใน 4 หรือ 25 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อ 3 ปีที่แล้วนี่เองอัตราการหย่าร้างของคนอายุ 50 ปีขึ้นไปสูงถึง 36 เปอร์เซ็นต์ หรือมากกว่า 1 ใน 3
และเมื่อเขาลงรายละเอียดมากขึ้น เจาะไปที่ผู้สูงวัยในแต่ละรุ่น เขาพบว่าคนอายุ 65 ปีขึ้นไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว หย่าร้างในอัตราที่สูงเป็นประวัติการณ์
ในแง่หนึ่งก็ชี้ให้เห็นว่า เดี๋ยวนี้การหย่าร้างเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว สมัยรุ่นพ่อรุ่นแม่อาตมา การหย่าร้างเป็นเรื่องใหญ่มาก บ่อยครั้งการหย่าร้างก็ทำให้เกิดข้อครหานินทา เกิดเป็นตราบาป โดยเฉพาะกับผู้หญิงที่หย่าร้าง นอกจากนั้นยังทำให้ใช้ชีวิตลําบากด้วย ถ้าเกิดหย่าก็ไม่รู้ว่าจะอยู่รอดได้อย่างไร เพราะโอกาสในการทำมาหากินของผู้หญิงสมัยก่อนมีน้อยมาก
แต่เดี๋ยวนี้การหย่าร้าง แม้กระทั่งในหมู่คนสูงวัยหรือคนแก่เป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่น่าอับอาย ฉะนั้นใครที่ทนไม่ได้กับชีวิตคู่ก็ไม่จำเป็นต้องทนอยู่และทุกข์ทรมาน
แต่ก่อนอาจจะอยู่เพราะว่าลูก แต่แม้ลูกโตแล้วก็ยังไม่อยากหย่า เพราะว่ากลัวผู้คนจะครหานินทา แต่ว่ายุคนี้กลายเป็นเรื่องธรรมดา หรือว่าเป็นที่ยอมรับมากขึ้นแล้ว มันก็ดีสำหรับคนที่ทนกับชีวิตคู่ไม่ได้ โดยเฉพาะฝ่ายหญิง
และที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือว่า คนที่อายุ 50 ปีขึ้นไป หรือ 65 ปี เมื่อ 15 ปีที่แล้ว เขาจัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า เบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) คือกลุ่มคนที่เกิดมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งแต่ปี 2489 จนถึง 2507 อาตมาก็อยู่ในรุ่นเบบี้บูมเมอร์
ที่เขาใช้ชื่อนี้ เพราะว่ารุ่นนี้เป็นรุ่นที่เกิดกันมากหลังสงครามโลก เรียกว่าเกิดอย่างมากมายเป็นประวัติการณ์ เพราะว่าสงครามสงบแล้ว คนเริ่มกลับมามีชีวิตตามปกติ ก็เลยมีลูกกันมากขึ้น
รุ่นเบบี้บูมเมอร์มีพฤติกรรมหลายอย่างที่น่าสนใจ อย่างเช่น พอแก่ตัว อายุ 50 ปีขึ้นไปเมื่อ 15 ปีที่แล้ว มีอัตราการหย่าร้างสูงกว่าคนรุ่นก่อนมาก
และที่น่าสนใจอีกอย่างคือว่า คนกลุ่มนี้หรือพวกเบบี้บูมเมอร์ ตอนที่อายุยังไม่มากคือ 30-40 ปี ยังมีพฤติกรรมที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อน ๆ ที่อยู่ในวัยเดียวกัน รวมทั้งคนรุ่นหลังที่อยู่ในวัยเดียวกันด้วย เช่น กินเหล้ามาก รวมถึงเสพยาด้วย โดยเฉพาะพวกกัญชา เฮโรอีน และมีพฤติกรรมทางเพศที่อิสระเสรี
เมื่อ 30 ปีก่อน คนหนุ่มสาว คนอายุ 30-40 กินเหล้ามาก สูบบุหรี่มาก เสพยามาก จึงมีการคาดการณ์กันว่า คนหนุ่มสาว หรือคนอายุ 30-40 ในปัจจุบัน จะเสพยามากขึ้น กินเหล้ามากขึ้น
แต่ความจริงกลับไม่เป็นอย่างนั้น เพราะเขาพบว่าคนหนุ่มสาวในปัจจุบัน รวมทั้งอายุ 30-40 ซึ่งเป็นคนรุ่นเจนเอกซ์ เจนวาย (Gen X ,Gen Y) กลับกินเหล้าน้อยกว่าคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ แม้กระทั่งการเสพยา สูบบุหรี่ หรือการมีเพศสัมพันธ์แบบเสรีก็น้อยกว่า อันนี้เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในอเมริกาและยุโรป
แปลว่าอะไร แปลว่ารุ่นเบบี้บูมเมอร์มีพฤติกรรมที่ไม่เหมือนรุ่นอื่นทั้งรุ่นก่อนและรุ่นหลัง ตอนที่เป็นหนุ่ม ตอนที่เป็นสาว กินเหล้าสูบบุหรี่เยอะ พอแก่ตัว นอกจากการกินเหล้า สูบบุหรี่ยังไม่ค่อยลดลงเท่าไรแล้ว ยังหย่าร้างมากขึ้น มากกว่าคนรุ่นก่อน ๆ และคนรุ่นหลัง ๆ แสดงว่า กลุ่มนี้มีพฤติกรรมที่เรียกว่าพิเศษ
ทำไมถึงพิเศษ เพราะว่าคนกลุ่มนี้เติบโตมาในยุคที่มีอิสระเสรีมาก เติบโตมากับเพลงป๊อป หลงใหลเพลงของThe Beatles, เอลวิส (Elvis) และต่อต้านสงคราม เป็นยุคที่เริ่มมีอิสระเสรีในทางเพศ พอเติบโตมาแบบนี้ ก็เลยมีพฤติกรรมที่เรียกว่าใฝ่เสพและรักอิสระมาก
อันนี้เป็นภาพรวม ๆ ของคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ ซึ่งตอนนี้อายุประมาณ 70-80 เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมือนคนรุ่นก่อนและรุ่นหลังจากนั้น ปรากฎการณ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า คนแต่ละรุ่น ๆ มีพฤติกรรมแตกต่างกัน แตกต่างทั้งจากคนรุ่นก่อนและรุ่นหลัง เพราะอะไร เพราะว่าอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมือนกัน อันนี้ไม่ใช่เฉพาะพฤติกรรม รวมถึงทัศนคติ ความคิดความเห็นด้วย
ฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ก็จะเห็นว่า การที่คนแต่ละรุ่นมีทัศนคติและพฤติกรรมไม่เหมือนกันเป็นเรื่องที่ธรรมดามาก คนรุ่นพ่อก็มีพฤติกรรม ความคิดแตกต่างจากคนรุ่นลูก คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ก็มีพฤติกรรมและความนึกคิดแตกต่างจากคนรุ่นเจนวายเจนแซท ทั้งนี้เพราะคนแต่ละรุ่นเกิดมาในโลกที่ต่างกันก็เลยมีทัศนคติ พฤติกรรมที่แตกต่างกันไปด้วย
แต่หลายคนไม่เข้าใจ อยากจะให้คนรุ่นอื่นหรือคนรุ่นหลังคิดเหมือนเราอย่างเช่น พ่อแม่อยากจะให้ลูกคิดเหมือนตัว พอลูกคิดไม่เหมือนตัว มีพฤติกรรมไม่เหมือนตัวก็ไม่พอใจ เกิดความคับแค้นใจ เกิดความอึดอัด
แต่ที่จริงแล้ว ถ้าหากว่ามาพิจารณาให้ดี มันยากที่คนเราจะคิดเหมือนกัน มีพฤติกรรมเหมือนกัน เพราะว่าเกิดมาในโลกที่แตกต่างกัน โลกของยุคเบบี้บูมเมอร์ กับ โลกของยุคเจนวายเจนแซทก็ต่างกัน อันนี้เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะอเมริกา ในเมืองไทยก็เหมือนกัน
ฉะนั้น คนที่เป็นพ่อแม่ในยุคนี้ หรือเป็นปู่ย่าตายายในยุคนี้ ถ้าหากว่าเจอลูกเจอหลานที่คิดไม่เหมือนกัน ให้ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเราเกิดมาในโลกคนละยุค
ขณะเดียวกันเรื่องนี้ก็ชี้ว่า คนเราแม้จะมีโลภ โกรธ หลงเหมือนกัน แต่ก็มีอะไรหลายอย่างที่ไม่เหมือนกัน คนทุกรุ่นมีกิเลสทั้งนั้น แต่กิเลสมากหรือน้อยต่างกัน การแสดงออกก็ต่างกัน การยับยั้งชั่งใจก็ต่างกัน
บ่อยครั้งเรามักพูดว่า คนเรามีกิเลสเหมือนกัน ก็เลยมองว่าใคร ๆ ก็เหมือนกันหมด แต่ที่จริงแล้ว ยังมีอะไรต่างกันอีกเยอะ มีกิเลสเหมือนกันก็จริง แต่ว่าแสดงออกต่างกัน แค่อยู่คนละรุ่น ก็มีพฤติกรรมที่สะท้อนกิเลสแตกต่างกันไป
เพราะฉะนั้น เวลาเรามองคน จึงไม่ควรมองแบบเหมารวม เพราะว่าสิ่งแวดล้อมต่างกัน คนที่อยู่คนละประเทศก็เช่นกัน แม้มีโลภ โกรธ หลงเหมือนกัน แต่ระดับของความโลภ โกรธ หลงนั้นต่างกัน จึงทำให้การแสดงออกแตกต่างกัน
อย่างเมืองไทย การคอร์รัปชันมีเยอะ แต่ว่าในยุโรป การคอร์รัปชันมีน้อย เพราะสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม รวมทั้งการศึกษาและการเมือง ต่างกัน จะบอกว่าคนเรามีกิเลสเหมือนกัน ดังนั้นพฤติกรรมจึงเหมือนกัน ไม่ได้ ต้องมองแบบแยกแยะด้วย.