พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2568
คนเราเวลาตกอยู่ในความทุกข์ไม่ว่าถูกครอบงำด้วยอารมณ์ใด ๆ เช่น ความโกรธ ความเศร้า ความเครียด ความกังวล ความวิตก ความเสียใจ คำถามหนึ่งที่อยากจะให้เราได้ลองถามตัวเองเป็นคำถามง่าย ๆ ประโยคเดียวว่า เราจะเลือกสุขหรือจะเลือกทุกข์
ส่วนใหญ่คนเวลาจมอยู่ในความทุกข์ การที่จะถามคำถามแบบนี้นี่มันยาก เพราะว่าตอนนั้นใจมันจมอยู่กับความเศร้า หมกมุ่นอยู่กับเหตุการณ์ที่พบกับความสูญเสีย หรือว่าหมกมุ่นอยู่กับการตอบโต้คนที่ทำให้เราเสียใจ ทำให้เราโกรธ แต่ถ้าลองถามตัวเองว่า เธอจะเลือกสุขหรือจะเลือกทุกข์ มันอาจจะช่วยทำให้ความทุกข์หรืออารมณ์ที่ครอบงำที่มันสะดุดได้
ที่จริงแค่ถามประโยคนี้มันก็ช่วยได้เยอะแล้ว เพราะแสดงว่าตอนนั้นยังไม่จมดิ่งอยู่กับอารมณ์หรือความทุกข์มาก อย่างน้อยก็ยังพอระลึกได้ว่า มีคำถามนี้ที่ควรถามตัวเอง คราวนี้พอเราถามคำถามนี้กับตัวเองมันจะช่วยทำให้ได้สติขึ้นมา และทำให้รู้ว่าตัวเองกำลังทุกข์
คนเราเวลาจมอยู่ในความทุกข์ไม่รู้ตัวว่าตัวเองทุกข์ เป็นผู้ทุกข์ไปเรียบร้อยแล้ว หรือถูกความทุกข์ครอบงำ เป็นผู้โศก เป็นผู้เศร้า เป็นผู้โกรธ ถูกความโศกความโกรธครอบงำ เป็นผู้เครียด เพราะถูกความเครียดครอบงำ เป็นผู้กังวลเพราะถูกความกังวลครอบงำ แต่พอเราถามตัวเองด้วยประโยคสั้น ๆ แบบนี้ มันช่วยทำให้เกิดความรู้ตัวขึ้นมาว่า กำลังทุกข์อยู่ หรือกำลังถูกความทุกข์ครอบงำ
ธรรมชาติของใจเพียงแค่รู้ตัวว่ากำลังทุกข์มันก็ช่วยได้เยอะ เพราะมันจะช่วยทำให้เกิดเห็นความทุกข์ เห็นอารมณ์นั้นว่ากำลังครอบงำจิตในลำดับต่อไป มันเข้าสู่การเห็น แทนที่จะเข้าไปเป็นผู้เป็น แต่ใหม่ ๆ เวลามีความทุกข์ มีความเศร้า มีความโศก มีความโกรธ แม้แต่จะนึกคำถามนี้มันก็นึกไม่ออก
มันเหมือนกับคนที่รู้ว่าเวลาโกรธให้นึกถึงพุทโธ หรือว่าให้นึกถึงคำสอนครูบาอาจารย์ว่า โกรธคือโง่โมโหคือบ้า ตอนที่ไม่โกรธ ตอนที่ไม่โศกไม่เศร้า มันก็เห็นว่าดี น่าจะนึกถึงคำสอนหรือคำแนะนำนี้ แต่พอตกอยู่ในความโกรธความโศกความเศร้าความทุกข์ มันนึกไม่ออกเลย
แต่ถ้าหากว่าเราพยายามนึก อาจจะเหตุการณ์ผ่านไปแล้วถึงค่อยนึกออก โอ้ เราไม่น่าลืมเลย หรืออาจจะว่าตัวเองว่าทำไมไม่ทำอย่างนั้น ทำไมลืมคำสอนคำแนะนำของครูบาอาจารย์ มานึกได้ในตอนที่ความทุกข์ความโศกความเศร้าความโกรธมันจางคลายแล้ว
เช่นเดียวกัน คำถามที่แนะนำให้เราลองถามตัวเองว่า จะเลือกสุขหรือเลือกทุกข์ ตอนที่ฟังก็เออ ดี อยากจะลองทำดูบ้าง แต่พอเวลาถูกอารมณ์ครอบงำ มันนึกไม่ออกเลย จะนึกออกก็ตอนที่อารมณ์มันคลี่คลายแล้ว แต่ก็ไม่เป็นไร
การที่เรารู้ตัวว่าลืม แล้วก็พยายามที่จะนึกถึงมันบ่อย ๆ เวลาเกิดความทุกข์ขึ้นมาในใจ มันจะช่วยทำให้เรานึกหรือระลึกถึงได้เร็วขึ้น จนกระทั่งมันนึกได้ขณะที่กำลังถูกความทุกข์เล่นงาน กำลังถูกอารมณ์ต่าง ๆ ครอบงำ
และพอนึกขึ้นมาได้ แล้วถามตัวเองว่าจะเลือกสุขหรือเลือกทุกข์ ความทุกข์หรืออารมณ์ที่มันครอบงำมันจะสะดุด เพราะว่าเวลามันมาครอบงำเรามันมาเป็นกระแส เป็นกระแสเหมือนกับกระแสน้ำหรือกระแสลม ทันทีที่เราเลิกหมกมุ่นครุ่นคิดถึงมัน แต่ถามตัวเองว่าจะเลือกสุขหรือเลือกทุกข์ ก็ทำให้กระแสแห่งอารมณ์หรือความทุกข์นี่มันสะดุด ทำให้เริ่มจะเกิดความรู้เนื้อรู้ตัว
แล้วพอถามตัวแบบนี้ ก็ทำให้รู้ นี่ฉันกำลังทุกข์อยู่ นี่ฉันกำลังโกรธอยู่ นี่ฉันกำลังเศร้าอยู่ มันคงคล้าย ๆ กับเวลาโกรธแล้วก็นึกขึ้นมาในใจว่า โกรธหนอ เวลาเศร้า นึกขึ้นมาในใจว่า เศร้าหนอ คำที่เราเรียกว่าคำบริกรรมแบบนี้มันมีเป้าหมายเพื่อทำให้เราได้สติว่า กำลังโกรธอยู่ กำลังเศร้าอยู่ กำลังเสียใจอยู่
แต่บางคนก็เอามาเป็นคำบริกรรมชนิดว่า ท่องหรือพากย์ในใจ ก็เรียกว่าทำผิดวัตถุประสงค์ก็ได้ คำที่ว่านี้ถ้าเป็นคำบริกรรม มันก็เป็นคำบริกรรมในแง่ว่า ทักจิตใจเรา นี่เธอกำลังโกรธอยู่นะ นี่เธอกำลังเศร้าอยู่นะ นี่เธอกำลังโมโหอยู่นะ มันก็ทำให้เกิดความรู้เนื้อรู้ตัวขึ้นมาแม้ชั่วขณะ แต่ก็อาจจะมากพอทำให้หลุดจากอารมณ์นั้นได้
มันไม่ใช่การทำแบบท่องเอา ถ้าทำแบบท่องหรือพากย์มันก็อาจจะช่วยในแง่สมถะ แต่ว่ามันไม่ได้ช่วยทำให้เกิดความรู้ตัวจนหลุดจากอารมณ์นั้นได้ ถ้าเราลองถามว่า เออ นี่เราอยากจะเลือกสุขหรือเลือกทุกข์ มันก็อาจจะทำให้เกิดความรู้ตัวขึ้นมาว่ากำลังทุกข์ เพราะธรรมชาติของใจนี่เพียงแค่รู้ว่ากำลังทุกข์ ก็ช่วยทำให้ความทุกข์มันทุเลา รู้ว่ากำลังโกรธอยู่ก็ทำให้ความโกรธมันทุเลา เพราะมันจะนำไปสู่การเห็นความโกรธ
คนที่เวลาโกรธเขาไม่รู้ตัวว่าเขาโกรธ อาจจะรู้เพียงแค่แวบ ๆ เสร็จแล้วก็โดนความโกรธท่วมทับ เวลาเศร้าก็ไม่รู้ตัวว่าตัวเองเศร้า มันอาจจะรู้ตัวแวบ ๆ แล้วก็โดนความเศร้าครอบงำ ความเครียดก็เหมือนกัน แต่ถ้าเกิดเราตั้งใจถามตัวเองว่า อยากจะเลือกสุขหรือเลือกทุกข์ มันก็ทำให้รู้ตัวว่ากำลังทุกข์ เพราะถ้าไม่ทุกข์นี่ไม่ถามคำถามนี้หรอก
แล้วคราวนี้พอเริ่มที่จะหลุดจากความคิด หรือหลุดจากความทุกข์ก่อนที่ความทุกข์มันจะกลับมาท่วมทับใหม่ การถามว่าจะเลือกสุขหรือเลือกทุกข์นี่มันช่วยทำให้เกิดการลงมือ เพราะแน่นอนเราก็ต้องตอบว่าเลือกสุข พอเลือกสุขมันก็นำไปสู่การลงมือ ลงมืออะไร ลงมือทำ
มันต่างจากการถามตัวเองว่าอยากจะสุขหรืออยากทุกข์ เพราะว่าอยากสุขหรืออยากทุกข์นี่มันก็เป็นแค่ความอยาก แต่พอถามว่าเลือกสุขหรือเลือกทุกข์ การเลือก เช่น เลือกสุขมันก็นำไปสู่การลงมือ
ลงมืออะไร ลงมือที่จะทำให้เกิดความสุขขึ้นมาในใจ บางคนอาจจะกลับมาตามลมหายใจ หายใจเข้าลึก ๆ หายใจออกยาว ๆ หรือว่านึกถึงคำพุทโธ หรือว่ากลับมาเคลื่อนไหว เคลื่อนไหวอะไร เคลื่อนไหวมือ พลิกมือไปพลิกมือมา หรือคลึงนิ้ว หรือไม่ก็กลับมารู้กาย กลับมารู้กายว่าตอนนี้ร่างกายเป็นอย่างไร หายใจเข้าตื้นหายใจออกสั้น เพราะว่ากำลังทุกข์กำลังเครียด
แค่รู้ว่าหายใจมันเปลี่ยนไป ลมหายใจมันถี่ มันสั้น มันตื้น หรือรู้ว่ากำลังหน้าดำคร่ำเคร่ง มือกำ ตัวเกร็ง หัวใจเต้นเร็ว แค่นี้ก็ช่วยได้เยอะแล้ว เพราะว่าตอนนั้นจิตวางเรื่องราวที่ทำให้ทุกข์หรือวางเหตุการณ์ที่ทำให้โกรธ เพราะจิตรับรู้ได้เรื่องเดียวอารมณ์เดียว
ถ้าจิตมารับรู้กายว่า มีอะไรเกิดขึ้นกับกาย หรือกายมีอาการอย่างไรในเวลานั้น มันก็ต้องวางเรื่องที่กำลังคิด เรื่องที่ทำให้โกรธ เรื่องที่ทำให้เศร้า
ตอนนั้นมันก็จะเกิดภาวะปล่อยวาง ไม่ใช่ปล่อยวางเหตุการณ์ที่ทำให้โกรธ คนที่ทำให้เศร้า มันยังปล่อยวางอารมณ์ที่ครอบงำใจด้วย แล้วก็ทำให้เกิดช่องว่างหรือจังหวะที่สติหรือความรู้สึกตัวจะเข้ามาทำงาน
นอกจากการตามลมหายใจ การบริกรรมพุทโธ หรือการมาตามรู้สแกนอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายแล้ว อีกอย่างหนึ่งที่ทำได้ คือ หันมาอยู่กับปัจจุบัน หันมารับรู้สิ่งดี ๆ ที่มีอยู่รอบตัว บางคนเครียดกลัดกลุ้มทั้ง ๆ ที่ยังเป็นเวลาเช้าตรู่ แต่พอเปิดใจมองท้องฟ้าที่เริ่มมีแสงเงินแสงทอง หรือว่าท้องฟ้าที่มีแสงทองฉาบ จิตใจก็รู้สึกเบิกบานขึ้นมาได้เหมือนกัน เพราะว่าธรรมชาติของใจตอบสนองต่อภาพแบบนี้ หรือภาพลำธารที่ไหลเย็นถ้าเกิดว่าอยู่ต่างจังหวัด
หรือแม้อยู่ในเมืองเห็นภาพดอกไม้บนระเบียง หรือว่าดอกไม้ที่อยู่ข้างหน้า พอใจเปิดรับดอกไม้ เห็นดอกไม้บาน เราจะรู้สึกเลยว่า มันมีความรู้สึกเบิกบานขึ้นมาในใจ ถ้าใจเราเปิดรับ หรือว่าเมื่อเห็นรอยยิ้มของลูก รอยยิ้มของหลาน บางคนอยู่ต่อหน้าหลานที่น่ารัก แต่ไม่เห็นเลย เพราะใจไปจมอยู่กับความเครียด ความทุกข์ กังวลอยู่กับเรื่องหนี้สิน หรือว่ากังวลเรื่องการงาน ทั้งที่กำลังอยู่ต่อหน้าหลาน อยู่ต่อหน้าลูก แต่ใจไม่เปิดรับรอยยิ้ม หรือเห็นความสดชื่นของเขาเลย
แต่พอเราเริ่มถามตัวเองว่า เราจะเลือกสุขหรือเลือกทุกข์ ถ้าเราเลือกสุขมันเกิดการลงมือ เกิดการกระทำเพื่อที่จะทำให้จิตใจเกิดความสุขขึ้นมา บางทีของดี ๆ อยู่ข้างหน้าเราแต่ไม่เห็น เพราะเราลืม ลืมอะไร ลืมตัว จมอยู่ในความทุกข์ แต่พอเราตอบคำถามว่า ฉันจะเลือกสุข มันก็นำไปสู่การพยายามทำให้มีความสุขขึ้นมาในใจ กลับมาอยู่กับปัจจุบัน
บางทีได้เห็นน้องหมาน้องแมวอยู่ข้างหน้า จิตใจก็สดชื่น มันวางความทุกข์ มันวางความเศร้า ความกังวลลง อย่างน้อยก็ชั่วคราว แต่ก็เป็นจังหวะที่ทำให้สติ ความรู้สึกตัวเข้ามาทำงาน ทำให้รู้ว่าควรจะทำอย่างอื่นต่อไป ไม่ใช่ว่าจมอยู่กับเหตุการณ์ที่มันผ่านไปแล้ว หรือจมอยู่ในอารมณ์ที่มันเกิดขึ้น
แต่ใหม่ ๆ แม้ว่าจะตอบแล้วในใจว่าฉันเลือกสุข แต่บางทีใจมันอยากทุกข์ต่อ คนเราแม้เราจะเลือกสุขแล้วแต่ว่าใจมันยังอยากทุกข์ เพราะมันเรียกว่าติดใจในรสชาติของอารมณ์ ของความเศร้าความโศกความเครียด ที่จริงก็ไม่ได้ติดใจหรอกแต่มันอยู่ในการครอบงำของอารมณ์เหล่านี้
อารมณ์พวกนี้ มันก็ไม่ยอมที่จะสลัดหลุดออกไปจากจิตใจเราง่าย ๆ มันก็พยายามต่อสู้ ต่อสู้กับความรู้สึกตัว ต่อสู้กับสติ สติทำให้เราเลือกสุขแต่ว่าความหลงมันทำให้เราอยากทุกข์ต่อไป
มันจะมีการยื้อแย่งกันทั้งที่เราเลือกสุขแล้ว แต่ใจจะมีการเถียงอยู่ข้างใน กูจะเศร้าอย่ามายุ่งกับกู กูจะโกรธอย่ามายุ่งกับกู กูจะเครียดแล้วจะทำไม มันยังมีการเถียงอย่างนี้ในใจ ทั้ง ๆ ที่เราตอบแล้วเลือกแล้วว่า จะเลือกสุข แต่ความหลงมันทำให้เราอยากทุกข์ต่อ
สังเกตดู เวลาโศก เวลาเศร้า เวลาโกรธ ใจเราอีกใจหนึ่งอยากจะทุกข์ต่อไป คนที่กำลังเศร้าเพราะความอกหัก เพราะความสูญเสียคนรัก มีใครมาชวนให้ไปเที่ยวที่ไหน ก็ไม่ยอม อาจจะเถียงขึ้นมาในใจว่า กูจะเศร้าต่อไปอย่ามายุ่งกับกู ไปไกล ๆ
เพราะฉะนั้นแม้เราจะเลือกสุขแล้ว แต่ว่าความทุกข์มันยังไม่ยอมจากไปจากใจเราง่าย ๆ ตัวโกรธ ตัวหลง ตัวโศก ตัวเศร้า ก็จะเถียง กูจะเศร้าแล้วมึงจะทำไม กูจะโกรธอย่ามายุ่งกับกู ถ้าเจอแบบนี้ก็อย่าไปต่อล้อต่อเถียงกับมัน จะเศร้าก็เศร้าไป จะโกรธก็โกรธไป แต่ว่าขอดูอยู่ห่าง ๆ
ถ้าไปเถียงกับมันว่า จะเศร้าได้ยังไง เศร้าแล้วมันทำให้เราแย่ลง หรือว่า เศร้าทำให้คนอื่นก็เป็นห่วง เศร้าไม่ดี โกรธไม่ดี พอเราไปเถียงกับมัน เข้าทางมันเลย มันก็จะเถียงเราต่อ กูจะโกรธ มึงอย่ามายุ่งกับกู ถึงกูจะป่วยเพราะความโกรธกูก็ยอม ขอให้ได้โกรธ หรือว่าขอให้ได้ด่ามัน
บางทีมันถึงขั้นว่า กูจะไปทำร้ายมึง กูจะไปฆ่ามัน ติดคุกกูก็ยอม ขอให้ได้ฆ่า มันก็มีตัวอย่างนี้ที่คอยเถียง ตัวฝ่ายดีก็อาจจะคอยห้ามปราม แต่บางทีก็ไปถกเถียงกับความโกรธ ถ้าเราขืนทำอย่างนั้นก็เข้าทางมัน
สติ ความรู้สึกตัว ช่วยให้เรายับยั้งชั่งใจ ไม่ไปทะเลาะกับมัน มันจะเถียงใส่เรา ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความเศร้า ความท้อแท้ ก็ช่างมัน ดูมัน ขอดูอยู่ห่าง ๆ มันจะโวยวาย ตัวกิเลสมันจะโวยวายอย่างไร ตัวโกรธจะโวยวายอย่างไรก็ช่างมัน อย่าไปเถียงกัน ดูมันอยู่ห่าง ๆ ตราบใดที่ยังมีสติ ความรู้สึกตัว ไม่ไปโรมรันพันตูกับมัน ไม่ไปเถียงมัน เดี๋ยวมันก็เหมือนกับไฟที่ค่อย ๆ มอดลงเพราะไม่มีเชื้อ
แต่ถ้าไปเถียง ไปสู้ ไปโรมรันพันตูกับมัน ก็เท่ากับเป็นการต่ออายุให้มัน แล้วเราก็ต้องรู้ทันกิเลส รู้ทันตัวโกรธ ตัวเครียด ตัวหลง ตัวทุกข์ ว่ามันจะคอยยุ คอยแหย่ คอยเถียง อย่างที่บอก แม้เราจะเลือกสุขแต่ว่าตัวหลงมันอยากจะทุกข์ต่อไป แล้วมันก็จะพยายามที่จะทุกข์
มันจะเกิดการยื้อแย่งกันระหว่างตัวรู้กับตัวหลง ระหว่างกุศลกับตัวอกุศล แต่ว่าก็อย่าไปยื้อแย่งในลักษณะที่จะไปราวีกับมัน ดูมันไป มันจะเถียงก็ช่างมัน หรือพูดอีกอย่างก็คือว่า อนุญาตให้มันโกรธได้ อนุญาตให้มันเศร้าได้ อย่าไปรู้สึกแย่ที่โกรธ ที่โศก ที่เศร้าหรือทุกข์ เพราะเพียงแค่เรารู้ทันมัน แค่ดูมันเฉย ๆ มันก็จะค่อย ๆ สงบลง เหมือนไฟที่พอไม่มีเชื้อก็ค่อย ๆ ดับ
นี่ก็เป็นวิธีที่จะทำให้การเลือกสุขของเรามันมีผล เกิดความสุขขึ้นมาแทนที่ความทุกข์ และเราก็ต้องรู้ว่า จริง ๆ แล้วคนเราเลือกได้ระหว่างสุขกับทุกข์ มันไม่ใช่แค่ความอยาก ความอยากมันเป็นแค่อารมณ์ที่ไม่มีการกระทำ แต่เราเลือกสุขและเลือกทุกข์ด้วยการลงมือ เวลาเราเลือกสุขเราก็เลือกสุขจริง ๆ
มีเด็กไต้หวันคนหนึ่งอายุประมาณ 9-10 ขวบ เป็นมะเร็งที่กระดูกขา ฉายแสงก็แล้ว ฉีดคีโมก็แล้ว ยังไม่ดีขึ้น เด็กก็ปวดแต่เด็กก็สู้ ตอนหลังต้องผ่า เด็กคนนี้ชื่อ โจว ต้ากวน
แกเขียนบันทึกเอาไว้ว่า ใจของเขาเป็นอย่างไร เขาวางใจอย่างไรตอนที่เข้าห้องผ่าตัด เขาบอกว่า ผ่าตัดครั้งแรกพ่อกับแม่ประคองเขาเข้าห้องผ่าตัด แล้วเขาก็เขียนว่า
เด็กชายกังวลเป็นเพื่อนฉัน เด็กหญิงสงบเป็นเพื่อนฉัน ฉันเลือกเด็กหญิงสงบเป็นเพื่อนเข้าห้องผ่าตัด ต่อมาอาการก็หนักขึ้นต้องผ่าตัดครั้งที่ 2 คราวนี้พ่อแม่ต้องอุ้ม อุ้มเข้าห้องผ่าตัด โจว ต้ากวน ก็เขียนว่า
คุณน้าหวาดหวั่นเป็นเพื่อนฉัน คุณอามั่นคงเป็นเพื่อนฉัน ฉันเลือกคุณอามั่นคงเป็นเพื่อนเข้าห้องผ่าตัด ผ่าตัดแล้วก็ไม่ดีขึ้น ครั้งที่ 3 ต้องผ่าอีกครั้ง แล้วแกก็เขียนว่า
พ่อกับแม่ พ่อให้ฉันขี่หลังพ่อเข้าห้องผ่าตัด ทีแรกประคอง แล้วหลังอุ้ม คราวนี้ต้องขี่หลังเลย แสดงว่าอาการหนักแล้ว แกบอกว่า ตอนที่เข้าห้องผ่าตัด คุณความตายเป็นเพื่อนฉัน คุณอยู่รอดเป็นเพื่อนฉัน ฉันเลือกคุณอยู่รอดเป็นเพื่อนเข้าห้องผ่าตัด
ใจแกสู้ แล้วแกรู้ว่ามันเลือกได้ระหว่างหวาดหวั่นกับมั่นคง ระหว่างกังวลกับสงบ พูดง่าย ๆ ก็คือว่า มันเลือกได้ระหว่างสุขหรือทุกข์ แล้วเขาก็เลือกสุข
เพราะฉะนั้นคนเราไม่ว่าจะตกอยู่ในเหตุการณ์ใด เราก็ยังเลือกได้ว่าจะสุขหรือทุกข์ถึงแม้ว่าทุกข์ไปเรียบร้อยแล้ว ทุกข์เพราะเศร้า ทุกข์เพราะโศก ทุกข์เพราะโกรธ ทุกข์เพราะเครียด ทุกข์เพราะกลัว แต่ก็ยังไม่สายที่จะเลือก เลือกอะไร เลือกสุข อย่างน้อยก็ต้องรู้จักถามตัวเองตอนที่กำลังทุกข์ว่า ฉันจะเลือกอะไร จะเลือกสุขหรือจะเลือกทุกข์
ถ้าเลือกสุขก็ต้องลงมือ พาใจกลับมาอยู่กับปัจจุบัน เปิดใจรับรู้สิ่งดี ๆ ที่มีอยู่รอบตัว หรือว่ากลับมาตามลมหายใจ กลับมารับรู้กายแม้ว่ายังโกรธ แม้ว่ากำลังเครียด กลับมารู้ใจที่กำลังมีความโกรธ เผาลน กำลังมีความหนักอกหนักใจ บีบคั้นใจ มีความเกลียดทิ่มแทงใจ แล้วก็ไม่ต้องไปทะเลาะกับอารมณ์เหล่านี้ เพราะอารมณ์เหล่านี้มันก็ชวนทะเลาะอยู่แล้ว ใหม่ ๆ มันก็จะมีการยื้อแย่งต่อสู้กัน เราเลือกสุขแล้วแต่ยังอยากทุกข์
แต่ว่าถ้าเราทำไปเรื่อย ๆ ไม่ไปทะเลาะกับมัน อนุญาตให้มันโกรธได้ อนุญาตให้ความทุกข์เกิดขึ้นได้ ไม่ผลักไสไล่ส่งมัน แค่ดูอยู่ห่าง ๆ มันก็จะล่าถอยไป ใหม่ ๆ ก็มานึกได้ว่า ฉันควรเลือกสุขหลังจากที่เหตุการณ์ผ่านไปแล้ว แต่ต่อไปมันก็จะนึกขึ้นได้กลางวง หรือระหว่างที่กำลังจมในความทุกข์
นั่นแหละก็เปิดช่องให้สติความรู้สึกตัวเข้ามา ทำให้เห็นทำให้รู้ว่ากำลังทุกข์ แล้วก็ลงมือที่จะเติมสุขให้ใจ เติมความรู้สึกตัวให้ใจ และสุดท้ายก็จะสามารถครองจิตครองใจในขณะที่ความทุกข์มันก็ค่อย ๆ ละลายหายไป
อย่าลืม ลองถามตัวเองเวลาเศร้า เวลาโศก เวลาเครียด ว่าฉันจะเลือกสุขหรือจะเลือกทุกข์.