พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567
คำว่าโลกกับคำว่าธรรม เป็นคำสองคำที่หลายคนเข้าใจว่ามันตรงข้ามกัน ที่จริงสิ่งที่ตรงข้ามกับธรรมก็คืออธรรม ไม่ใช่โลก แต่คนมักจะเข้าใจว่ามันตรงข้ามกัน แล้วบางทีก็มีการจำกัด กำหนดว่าพระเป็นเรื่องของธรรมะ ส่วนโยมฆราวาสเป็นเรื่องของโลก
บางทีเราพูดว่าชีวิตทางโลกก็หมายถึงชีวิตของฆราวาส ส่วนชีวิตทางธรรมก็หมายถึงพระ ที่จริงมันไม่ได้แยกกันอย่างนั้น
แล้วคนก็ยังเข้าใจว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นเรื่องของธรรม ไม่เกี่ยวกับเรื่องของโลก อันนี้ก็ไม่ใช่อีก เพราะว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนแต่เพียงแค่การพ้นทุกข์ แต่ยังสอนถึงเรื่องการมีความสุขแบบชาวโลก หรือที่เราเรียกว่าเป็นความสุขแบบโลกๆ ก็ได้ เช่น มีคำสอนเกี่ยวกับเรื่องการทำมาหากิน การค้าขาย ค้าขายอย่างไรจึงประสบความสำเร็จ
หรือว่าธรรมะเกี่ยวกับเรื่องการมีอายุยืน แม้กระทั่งคำสอนเกี่ยวกับการลดความอ้วน พระพุทธเจ้าก็สอน อย่างเคยสอนพระเจ้าปเสนทิโกศล เพราะว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลอ้วน น้ำหนักเกิน จะนั่งก็อึดอัด จะเดินก็ลำบาก พระพุทธเจ้าก็เลยสอนให้มีสติอยู่กับการกิน สอนว่าผู้มีสติในเวลากินอาหาร เวทนาย่อมมีน้อย แล้วก็อายุยืน
พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ชอบ แต่กลัวจะลืม หรือกลัวว่าจะเพลินกับการกินอาหาร ก็เลยให้มหาดเล็กคอยท่องภาษิตนี้ทุกครั้งที่เสวยพระกระยาหาร ทำให้พระเจ้าปเสนทิโกศลไม่เพลินกับการกิน แม้อาหารจะอร่อย ปรากฏว่าน้ำหนักก็ลด เดินเหินได้คล่อง ลุกนั่งก็สบาย
ภายหลังก็ไปกราบพระพุทธเจ้า แล้วก็สรรเสริญว่าคำสอนของพระองค์เป็นประโยชน์ทั้งทางโลก โลกนี้คือโลกในปัจจุบัน แล้วก็เป็นประโยชน์ในทางธรรมหมายถึงโลกเบื้องหน้า
เพราะฉะนั้นเรื่องทางโลกมันไม่ได้แยกขาดจากเรื่องทางธรรม แม้จะเป็นฆราวาสหรือคฤหัสถ์ ก็ไม่ใช่แปลว่าจะต้องอยู่กับเรื่องทางโลกล้วนๆ ที่จริงก็สามารถจะปฏิบัติธรรมได้
อย่างที่ท่านอาจารย์พุทธทาสพูดอยู่เสมอว่า การทำงานคือการปฏิบัติธรรม ทำงานในที่นี้ก็หมายถึงเรื่องทางโลก ฉะนั้นเวลาเราทำงาน แม้จะประกอบอาชีพเลี้ยงลูกเลี้ยงหลาน อันนี้ก็เป็นเรื่องทางโลก แต่ก็เป็นการปฏิบัติธรรมได้ เช่น เจริญสติ ทำความรู้สึกตัว หรือว่าทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
อย่างไรก็ตาม มันก็มีความแตกต่างกันระหว่างวิถีทางโลกกับวิถีทางธรรม โดยเฉพาะวิถีทางโลกที่เขานิยมปฏิบัติกัน หรือเป็นความเชื่อ ซึ่งเราก็ควรจะเข้าใจด้วยว่า มันแตกต่างจากวิถีทางธรรมอย่างไร
อย่างเช่นทางโลกเขาสอนกันหรือที่เขาปฏิบัติกันคือว่า ถ้าแรงมาก็แรงไป ใครเขาด่าว่าเรา เราก็ต้องด่าว่ากลับ ใครเขามาแกล้งเรา ก็ต้องตอบโต้กลับ เรียกว่าจองเวร แต่ทางธรรมท่านสอนว่า กับคนที่โกรธเกรี้ยวหรือทำความรุนแรงกับเรา เราพึงใช้ความเมตตา ใครเขาโกรธมา เราก็ไม่โกรธกลับไป แต่ใช้ความไม่โกรธ
อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า พึงเอาชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ อันนี้มันสวนทางกับวิถีทางโลกที่เขาปฏิบัติกัน
บางทีพ่อแม่ก็สอนลูก เวลาลูกถูกแกล้งก็บอกว่า ให้ด่ากลับไปหรือให้สู้กลับไปเลย อันนั้นเป็นวิถีทางโลก แต่ทางธรรมไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่ว่าเขาแรงไป เราจะแรงกลับ เขาด่ามา เราจะด่ากลับ แพ้ไม่ได้ ในทางธรรม เขาจะกราดเกรี้ยวอย่างไร เราก็ไม่ใช้ความรุนแรงตอบโต้
พระพุทธเจ้าตรัสด้วยซ้ำ ผู้ใดโกรธตอบคนที่โกรธอยู่แล้ว ผู้นั้นถือว่าแย่กว่าเลวกว่าคนที่ด่าว่าเรา บางทีท่านก็บอกว่า ถ้าโกรธตอบคนที่โกรธเรา ด่าว่าเรา ก็เท่ากับว่าเราได้ทำลายประโยชน์ทั้ง 2 ประการ ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน อันนี้ก็มีพุทธจริยา แล้วก็คำสอนมากมายที่เตือนไม่ให้เราใช้วิถีทางแบบชาวโลก
ในเรื่องของความสุขก็เหมือนกัน ทางโลกเขาบอกว่า ต้องมีให้เยอะจึงจะมีความสุข หรือว่าสุขเกิดจากการมีการได้ รวมทั้งการเสพ อยากจะมีความสุขก็ต้องมีเงินเยอะๆ หรือว่ามีกินมีใช้มากๆ ต้องกินดื่มเที่ยวเล่นชอป เดี๋ยวนี้เวลาใครอยากจะมีความสุขก็คิดถึงเรื่องการกิน การดื่ม การเล่น เล่นเกมออนไลน์ เล่นการพนัน เล่นหวย เที่ยว แล้วก็ชอป
แต่ว่าทางธรรม ความสุขมันเกิดจากการละ ไม่ใช่การมีการได้ ยิ่งรู้จักละ ละในที่นี้ไม่ใช่แค่สละเงินทอง แต่หมายถึงละความยึดมั่นถือมั่นด้วย ทางโลกนี้ต้องมีให้เยอะ แต่ทางธรรมมีแต่จะสละด้วยการให้ทาน เพื่อให้ใจไม่ยึดติดถือมั่นในทรัพย์ ในสิ่งเสพ เพราะถ้ายิ่งยึดติดถือมั่นเท่าไหร่ก็ยิ่งทุกข์
ในทางโลกเขาก็เน้นเรื่องการเห็นความเห็นแก่ตัว ต้องเอาตัวเองเป็นใหญ่ เขาจะสอนเรื่องความเห็นแก่ตัว ให้เอาเยอะๆ มีมากๆ มากกว่าคนอื่น เด่นกว่าคนอื่น ในทางธรรมท่านเน้นเรื่องการลดตัวตน ความยึดติดถือมั่นในตัวตน มีน้อยเท่าไหร่ก็จะมีความสุขมากเท่านั้น หรือว่าบางทีท่านก็สอนให้นึกถึงผู้อื่น
อย่างอาจารย์พุทธทาส ท่านบอกว่า ศาสนาพุทธ หัวข้อหลักใจความก็คือการรักผู้อื่น แต่จะรักผู้อื่นได้ต้องรู้จักรักตัวเองให้เป็น ซึ่งมันต่างกัน
ทางโลกต้องคิดถึงตัวเองเยอะๆ แต่ในทางธรรมต้องนึกถึงคนอื่นให้มาก เพราะสุดท้ายพอเรานึกถึงคนอื่นเยอะๆ ความทุกข์ของเราจะเล็กลงหรือบางทีเราก็ลืมความทุกข์ของเราไปเลย แล้วยิ่งอยากให้ผู้อื่นมีความสุข ช่วยเขา เราก็มีความสุข สละเงินสละเวลาให้เขามีความสุข สุดท้ายเราเองนั่นแหละที่มีความสุข
แต่คนที่เห็นแก่ตัวเยอะๆ นี่หาความสุขได้ยาก แม้จะมีมากก็ไม่เคยพอใจสักที ยังอยากได้มาก ไม่รู้จักพอ แล้วจะมีความสุขได้อย่างไร
ในทางโลกก็แสวงหาชื่อเสียง เดี๋ยวนี้ผู้คนก็หิวแสงกัน อยากจะเด่นอยากจะดัง แล้วก็เรียกร้องอยากจะได้เครดิต อยากจะให้คนยอมรับ สรรเสริญ ยิ่งเดี๋ยวนี้มีโซเชียลมีเดีย ก็อยากจะให้คนกดไลก์เยอะๆ เวลาโพสต์ โพสต์ใส่ขึ้นไปก็อยากจะให้มียอดวิวเยอะๆ ให้มี follower มากๆ เพราะมันรู้สึกว่า ทำให้ตัวเองมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ
เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็อยากเป็นอินฟลูเอนเซอร์กัน ถามคนรุ่นใหม่ จำนวนมากเลยอยากเป็นอินฟลูเอนเซอร์ เพราะรู้สึกว่าดัง แล้วก็รวยเร็ว เป็นอย่างนี้กันทั่วโลก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่
เคยสอบถามบริษัทหนึ่งที่เขาดูแลเกี่ยวข้องกับอินฟลูเอนเซอร์ในเมืองไทย ถามว่ามีจำนวนเท่าไหร่ เขาบอกว่ามีตั้ง 9 ล้านคนในเมืองไทยที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ เขาอยากเป็นกันมากเพราะดัง เวลาทำอะไรก็อยากได้เครดิต อย่างเวลาเราดูหนัง พอหนังจบ เขาจะมีการเอาคนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างหนัง มีรายชื่อตามเยอะแยะไปหมด ใครทำอะไรก็ต้องมีชื่ออยู่ในรายชื่อเครดิตนั้น ถ้าไม่ได้ก็เกิดเรื่องเกิดราว
ในทางธรรมเราจะไม่อ้างเครดิต ขณะที่ทางโลกเขาหิวแสงกัน แต่ในทางธรรมเราไม่แสวงหาชื่อเสียง เวลาทำบุญไม่ต้องลงชื่อก็ได้ แต่ว่าเดี๋ยวนี้เราจะเห็น คนเอาวิธีทางโลกมาใช้กับวิถีทางธรรม
เวลาจะทำบุญ เวลาจะเป็นเจ้าภาพผ้าป่า เจ้าภาพกฐิน ต้องขอมีชื่อ หรือว่าขอการยอมรับ ต้องมีการถ่ายรูปโพสต์ขึ้นเฟซบุ๊ก อย่างโน้นอย่างนี้ อันนี้หลายคนไม่รู้ว่ามันไม่ใช่วิถีทางธรรม วิถีทางธรรมเขามีแต่จะไม่อวด ไม่แสดง ไม่โชว์ เพราะอะไร เพราะว่าต้องการลดตัวตน หรือว่าไม่ให้ตัวกูมันเข้ามามีอำนาจเหนือจิตใจ
แต่คนเดี๋ยวนี้ แม้จะมาอยู่ในวิถีทางธรรม แต่ก็ยังเอาวิถีทางโลกมาใช้โดยไม่รู้ตัว เพราะเห็นใครๆ เขาทำกัน มาปฏิบัติธรรมก็ยังหิวแสง อยากเป็นที่ยอมรับ มีการถ่ายรูปสารพัด ต้องการเครดิต ทำอะไรก็อยากได้เครดิต อันนั้นทางโลกก็ใช่ แต่ทางธรรมไม่ใช่
ไม่ต้องมีการอ้างชื่อเอ่ยชื่อก็ได้ ดาราเวลาเขาจะแสดงหนัง เขาจะต้องทำสัญญาเลยว่าชื่อเขาจะต้องปรากฏอยู่ในไตเติ้ล ตัวหนังสือขนาดเท่าไร นานเท่าไหร่ เป็นเรื่องใหญ่มาก ต้องการมีเครดิต แต่ว่าในทางธรรมไม่เอาเลย ถ้าเป็นทางธรรมที่มุ่งลดตัวตน ไม่แสวงหาชื่อเสียงการยอมรับ ไม่สนใจเลยเรตติ้ง ไม่สนใจยอดวิวยอดไลก์ แม้ว่ากิเลสปรารถนาก็ตาม
สิ่งที่แตกต่างอีกประการหนึ่งระหว่างวิธีทางโลกกับวิถีทางธรรมคือ วิถีทางโลกอะไรที่ถูกใจก็ถือว่าดี อะไรที่ไม่ถูกใจก็ถือว่าไม่ดี อะไรที่ถูกใจก็เช่น ได้โชคได้ลาภก็ถือว่าดี กินอาหารอร่อย ถูกใจก็ถือว่าดี ประสบความสำเร็จ อันนี้ก็ถือว่าดี หรือว่ามีความสบายสะดวก ก็ถือว่าดี
แต่ในทางธรรมจะดีหรือแย่มันไม่ได้อยู่ที่ว่ามันถูกใจเราหรือเปล่า แต่มันอยู่ที่ว่าเราเกี่ยวข้องกับมันอย่างไร ได้โชคได้ลาภ แต่ถ้าเกี่ยวข้องกับมันไม่ถูก เกิดหลงเพลิดเพลินยินดีจนลืมเนื้อลืมตัว แบบนี้ก็ไม่ดี กินอาหารอร่อย แต่ว่าเพลินกับการกินจนไม่รู้จักประมาณในการบริโภค แบบนี้ไม่ดี
ประสบความสำเร็จ แต่ว่าเพลินกับความสำเร็จจนประมาท ไม่เรียนรู้ที่จะพัฒนาตนอยู่เสมอ หรือว่าบางทีสำเร็จแล้วก็ไปยกตนข่มท่านผู้อื่น อันนี้ไม่ดี หรือว่าถ้าสบายแล้วก็ประมาท ไม่กระตือรือร้นในการทำความเพียรหรือการฝึกฝนตน อย่างนี้เรียกไม่ดี
ในทางตรงข้าม สิ่งที่ไม่ดีในสายตาชาวโลก เช่น เคราะห์ ความเจ็บความป่วย แต่ถ้าเกี่ยวข้องกับมันอย่างถูกต้อง หรือเกี่ยวข้องกับมันอย่างฉลาด ความเจ็บป่วยก็มาสอนเราว่า อะไรๆ ก็ไม่เที่ยง หรือทำให้เราไม่ประมาทกับชีวิต เร่งทำความดี ยิ่งเจ็บยิ่งป่วยก็ยิ่งต้องทำความเพียรในการปฏิบัติธรรม หรือในการดูแลลูก ดูแลพ่อแม่ อย่างนี้ถือว่าดี
หรือว่าประสบความล้มเหลว ทางโลกเรียกว่าไม่ดี แต่ในทางธรรม ถ้ามันทำให้เกิดการเรียนรู้ว่า เราทำผิดทำพลาดตรงไหน เราก็ปรับปรุงตัวเอง ไม่ใช่แค่ประสบความสำเร็จในทางโลกเท่านั้น แต่มันยังช่วยทำให้ได้เห็นว่าอะไรๆ ก็ไม่เที่ยง เพราะว่าเคยสำเร็จมาก่อน แต่ว่าตอนนี้ก็ล้มเหลวเสียแล้ว
หรือว่าบางทีก็ได้เห็นว่า ตอนที่สำเร็จก็มีคนชื่นชมสรรเสริญ แต่พอล้มเหลวก็มีคนตำหนิหรือว่าตีจาก หลายคนก็เห็นความจริงของโลกจากความล้มเหลว พอเราล้มเหลวแล้ว ใครๆ ก็ตีจากหมดเลย มันชี้ให้เห็นเลยว่า ของพวกนี้ การมีบริษัทบริวาร การมีคนแซ่ซ้องสรรเสริญ มันเป็นของชั่วคราวชั่วครู่
หรือความยากลำบากก็เหมือนกัน ในทางโลกก็ถือว่าไม่ดี แต่ในทางธรรม มันอาจจะเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้เกิดความอดทน หรือว่าเป็นเครื่องฝึกให้รู้จักหาประโยชน์จากความยากลำบาก
อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้มีปัญญาแม้ประสบทุกข์ก็ยังหาสุขพบ อย่างพระจะว่าไปก็มีชีวิตที่ไม่สะดวกสบายเท่าไหร่ แต่ว่าช่วยทำให้ท่านได้เข้าถึงความสุขภายใน ความสุขที่ไม่อิงวัตถุ ถ้าเข้าถึงความสุขจากภายในได้ แม้มีแค่บริขาร 8 จิตใจก็มีความสุขได้ แม้ไม่เกี่ยวข้องกับเพศตรงข้าม หรือการแสวงหาเสพเพศรส แต่ก็ยังมีความสุขได้ เพราะว่าได้เข้าถึงความสุขจากความสงบ ก็อาศัยความลำบากเป็นเครื่องเตือนใจหรือเป็นเครื่องฝึกใจ
ในทางโลก ถ้ามีความสงบ ไม่มีสิ่งรบกวนถือว่าเป็นของดี แต่ถ้ามีสิ่งรบกวน มีเสียงรบกวนเมื่อไหร่ถือว่าไม่ดี แต่ในทางธรรมมันก็ไม่แน่ เพราะว่าสิ่งที่รบกวน เสียงดังเป็นต้น มันจะรบกวนเราก็ต่อเมื่อเราวางใจไม่ถูกต้อง ถ้าหากว่าเราไปมองว่ามันคือเสียงรบกวน เราก็ทุกข์ แต่ถ้าเรามองว่ามันเป็นสิ่งที่มาฝึกใจเรา ก็กลายเป็นประโยชน์
เวลาปฏิบัติธรรม หลายคนเอาความคิดหรือความรู้สึกในทางโลกมาใช้กับการปฏิบัติธรรม มีอารมณ์ที่พอใจเมื่อไหร่ถึงจะเรียกว่าดี อารมณ์ที่พอใจก็เช่น สงบ สบาย ถือว่าดี แต่พอมีความคิดหรือว่ามีอารมณ์ เช่น ความหงุดหงิด ความไม่พอใจ ถือว่าไม่ดี
แต่ในทางธรรมจะดีหรือไม่มันอยู่ที่ว่าเราเกี่ยวข้องกับมันอย่างไร ถ้าเรารู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์ ความคิดที่ออกมาเยอะ ที่เราเรียกว่าความฟุ้งซ่าน หรือว่าความหงุดหงิด มันกลายเป็นดีได้ เพราะว่าเราได้อาศัยสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องฝึกสติ
อันนี้คือเหตุผลที่หลวงพ่อเทียนท่านไม่ให้ไปห้ามความคิด ท่านบอกว่ายิ่งคิดก็ยิ่งรู้ ปล่อยให้มันคิดไปเลย แต่ว่าสำหรับหลายคน พอปล่อยให้มันคิดก็ใจลอย แต่ว่าในการปฏิบัติ การที่มีความคิด มันเป็นแบบฝึกหัดให้สติได้เติบโต เพราะว่าพอหลงแล้ว แค่รู้ว่าหลง ก็ถือว่าดี
หลงมันไม่ใช่จะแย่ถ้าเรารู้ว่าหลงแล้ว มันก็กลายเป็นของดี โกรธไม่ใช่ว่าจะแย่ถ้าโกรธแล้วรู้ว่าโกรธนี่ดี ในทางตรงข้าม สงบแต่ว่าไม่รู้ว่าสงบ กลับเพลิน เคลิ้มคล้อยกับความสงบถือว่าไม่ดี
เวลายุงมากัด แมลงมาตอมเยอะ ในทางโลกถือว่าไม่ดี ต้องกำจัดแมลง กำจัดพวกยุงให้หมดไป แต่ในทางธรรมมันอาจจะดีก็ได้ ถ้ายุงกัดแล้ว เราได้มาดูจิตดูใจ เวลาแมลงมาตอม เห็นอาการของใจเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง เห็นความกังวล เห็นความไม่พอใจไหม ถ้าเห็นถือว่าดี
หรือว่าเวลามันกัดแล้ว เกิดความหงุดหงิด เกิดความไม่พอใจ เกิดความกังวล ถ้าเห็นอารมณ์พวกนี้ ถือว่าดี เพราะว่ามันทำให้สติว่องไว แต่ถ้าเกิดไม่มียุงมารบกวนเลย สบายอยู่ในห้องแอร์ บางทีไม่เห็น ไม่ได้เรียนรู้ เวลามันเกิดความทุกข์ เกิดความหงุดหงิด ไม่รู้ทัน ไม่รู้ทันเพราะอะไร เพราะไม่ค่อยได้ฝึกเวลามันเกิดขึ้นมา
หลวงพ่อคำเขียนพูดอยู่เสมอว่า เราต้องรู้จักเปลี่ยนทุกข์ให้เป็นความไม่ทุกข์ เปลี่ยนหลงให้เป็นความไม่หลง เปลี่ยนโกรธให้เป็นความไม่โกรธ เราจะเปลี่ยนได้อย่างไรถ้าหากว่าไม่มีความทุกข์เกิดขึ้น ไม่มีความหลงเกิดขึ้น ไม่มีความโกรธเกิดขึ้น มันคิดเอาไม่ได้ ต้องให้มันเกิด แล้วของพวกนี้อย่างบางทีมีความไม่สะดวกสบาย มันเป็นตัวกระตุ้น เช่น ยุงกัด มดกัด มันก็มีความหงุดหงิด มันทำให้เกิดความโกรธ เกิดความหลง เราก็ได้เรียนรู้
เช่นเดียวกันกับความทุกข์ ในทางโลกถือว่าไม่ชอบ ทางโลกพยายามเลี่ยงทุกข์หนีทุกข์ แต่ในทางธรรม มันไม่ใช่ว่าจะเป็นสิ่งไม่ดีเสมอไป ไม่ใช่อย่างนั้น ถ้ามีทุกข์แล้วรู้ทุกข์ ถือว่าดี
เพราะฉะนั้นอริยสัจ 4 ข้อแรกเลยอย่างที่เรารู้คือ ทุกข์ แต่ว่าหลายคนอาจจะไม่รู้ว่า ควรจะปฏิบัติต่อทุกข์อย่างไร พระพุทธเจ้าสอนว่าให้รู้ทุกข์ เมื่อทุกข์เกิดขึ้นก็ให้รู้ทุกข์ เราจะรู้ทุกข์ได้ก็ต้องมีทุกข์เกิดขึ้น
รู้ทุกข์แล้วเห็นทุกข์ แต่ไม่เป็นทุกข์ ส่วนใหญ่พอมีทุกข์เกิดขึ้นแล้วเกี่ยวข้องไม่ถูก มันก็เลยเป็นทุกข์ไป แต่ว่าถ้าเกี่ยวข้องถูก คือขยันรู้หมั่นรู้ หรือว่าเห็นทุกข์ อันนี้ก็ทำให้เกิดปัญญาขึ้นมาได้
นี้คือวิถีทางธรรมที่เราต้องเข้าใจ เพราะบ่อยครั้งแม้เรามาปฏิบัติธรรม แต่เราเอาวิถีทางโลกมาใช้ แสวงหาสิ่งที่ถูกใจ อะไรที่ทำให้สบายก็ถือว่าดี อะไรที่ทำให้ไม่สบาย ไม่ถูกใจ ถือว่าไม่ดี แต่ว่าในทางธรรมจะดีหรือไม่ มันอยู่ที่ว่าเราเกี่ยวข้องกับมันอย่างไร สุขอาจจะไม่ดีก็ได้ถ้าเกิดหลง ทุกข์อาจจะดีก็ได้ถ้าเกิดรู้ทุกข์ หรือว่ารู้เท่าทันอารมณ์ที่ทำให้เป็นทุกข์
ฉะนั้นเวลาเรามาปฏิบัติธรรม ต้องหมั่นสังเกตว่า เราเอาวิถีทางโลกมาใช้ในการปฏิบัติธรรมหรือเปล่า เพราะถ้าเราเอาวิถีทางโลกมาใช้กับการปฏิบัติธรรม เราก็จะแสวงหาแต่สิ่งที่ถูกใจ สิ่งที่พอใจ สงบดี แต่ถ้าไม่สงบนี่ไม่ดี แต่ที่จริงแล้วไม่สงบมันก็อาจจะดีได้ ถ้าใช้มันให้เป็น
เช่นเดียวกัน คำชมในทางโลกถือว่าดี แต่ในทางธรรมอาจจะไม่ดีก็ได้ถ้ามันทำให้เราประมาท ในทางตรงข้าม คำต่อว่าด่าทออาจจะดีก็ได้ ถ้าเรารู้จักใช้มัน เอามาเป็นเครื่องฝึกใจ ให้ลดละความยึดมั่นถือมั่น ลดละความยึดมั่นในหน้าตา หรือมีสติรู้ทันความไม่พอใจที่เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่างวิถีโลกและวิถีธรรม และถ้าเราเห็นว่าวิถีธรรมมันดี ก็อย่าลืมอย่าเผลอเอาวิถีโลกมาใช้กับวิถีธรรม จนกระทั่งทำให้เสียหลักไป.