พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 3 พฤศจิกายน 2567
เมื่อเราได้อะไรมา เรามีหน้าที่อย่างหนึ่งต่อสิ่งนั้น ก็คือดูแลรับผิดชอบให้ดี ยิ่งได้สิ่งที่มีค่า เราก็ยิ่งต้องดูแลรับผิดชอบให้เต็มที่ แล้วในบรรดาสิ่งที่เราได้มาหรือมี คงไม่มีอะไรที่มีค่ามากเท่ากับชีวิต เพราะว่าชีวิตสามารถจะนำมาซึ่งความสุข
ซี่งมันไม่ใช่แค่ความสุขที่เป็นความสนุกสนาน แต่รวมถึงความสุขที่ประเสริฐ หรือจะเรียกว่าเป็นประโยชน์สุขสูงสุดที่ไม่ใช่แค่มนุษย์เท่านั้น แต่ว่าสัตว์โลกในวัฏสงสารพึงจะเข้าถึงได้ รวมทั้งใช้ชีวิตในการทำความดี สร้างสรรค์ประโยชน์
ในเมื่อชีวิตนี้มีค่ามากมายขนาดนี้ เราก็ต้องยิ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลชีวิตนี้ให้ดี ชีวิตนี้ก็ประกอบไปด้วยกายกับใจเป็นพื้นฐาน ฉะนั้นเราก็ต้องมีหน้าที่ดูแลทั้งกายและใจ
เราดูแลกายด้วยการเอาอาหารมาหล่อเลี้ยงชีวิต แล้วก็ควรจะเป็นอาหารที่มีคุณภาพบำรุงให้เกิดสุขภาพที่ยั่งยืน รวมทั้งการออกกำลังกาย การพักผ่อนให้พอเพียง แล้วก็ละเว้นสิ่งที่เป็นโทษต่อร่างกายซึ่งหลายอย่างมันก็ดึงดูดใจผู้คน
อย่างเช่นของอร่อยที่กินมาก ๆ แล้วก็ทำให้เกิดโทษ เบาหวาน โรคหัวใจ ไตวาย หรือพยาธิใบไม้ในตับ ยังไม่ต้องพูดถึงบุหรี่ เหล้า ยาเสพติด พวกนี้มันล้วนแต่เป็นโทษเป็นภัยต่อร่างกาย เราจึงพึงมีหน้าที่ที่จะต้องละเว้นห่างไกลจากสิ่งเหล่านี้ แม้แต่ของชอบ ของอร่อย ก็ต้องรู้จักประมาณในการบริโภค อันนี้ก็เป็นธรรมะข้อหนึ่งเลย ความรู้จักประมาณในการบริโภค
แล้วหน้าที่ต่อร่างกายที่จริงก็มีมากมาย รวมทั้งการดูแลรักษาให้ปลอดไกลหรือห่างไกลเชื้อโรค จากสิ่งที่เป็นอันตราย งูเงี้ยวเขี้ยวขอ รถยนต์ที่พุ่งมาเร็วแรง
นอกจากสิ่งเหล่านี้แล้ว ยังมีหน้าที่ดูแลจิตใจด้วย ดูแลจิตใจอย่างน้อย ๆ ก็ไม่ให้ทุกข์ นอกเหนือจากการดูแลจิตใจให้สดชื่น เบิกบาน เป็นกุศล แต่ก่อนอื่นก็ต้องดูแลใจไม่ให้ทุกข์ก่อน ใจจะทุกข์เพราะอะไร เพราะความคิดลบคิดร้าย อารมณ์ที่เป็นอกุศล เช่น ความโกรธ ความเกลียด ความเครียด ความเศร้า ความอิจฉา ความพยาบาท เห็นแก่ตัว
แต่การดูแลใจไม่ให้อารมณ์เหล่านี้มาก่อทุกข์ให้กับจิตใจ ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องหาทางป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้น ถ้ามันไม่เกิดขึ้นก็ดี แต่ว่าจะไม่ให้มันเกิดขึ้นเลยนี้เป็นเรื่องยาก เพราะว่าเราเป็นปุถุชน อารมณ์ที่เป็นลบ ความคิดที่เป็นอกุศลเหล่านี้สามารถจะเกิดขึ้นกับใจเราได้เสมอ เป็นเรื่องที่ห้ามได้ยากหรือห้ามไม่ได้เลย
พระพุทธเจ้าเคยเปรียบว่า ร่างกายนี้เหมือนกับที่พักริมทาง ที่พักริมทางใครจะมาพักก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ร้าย พระ นักบวช คนขอทาน คนพิการ เศรษฐี ไม่สามารถจะห้ามคนบางประเภทได้ อันนี้พระองค์ตรัสเป็นอุปมาว่าร่างกายนี้ย่อมมีทุกข์ มีเวทนานานาชนิดเกิดขึ้นได้ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา
จิตใจก็เช่นเดียวกัน จิตใจของคนเรามันก็เหมือนกับที่พักริมทาง คนดี คนชั่ว ก็มาอาศัยประโยชน์มาพัก ไม่ว่าจะเป็นผู้ร้าย คนค้ายา นักบวช คนดี คนมีศีล
หมายความว่าจิตใจเราอารมณ์ทุกชนิดสามารถจะเยือนเข้ามาในจิตใจของเราได้ เราไม่สามารถจะห้ามได้ แม้ใจอยากจะห้ามแต่ว่ามันห้ามไม่ได้ ทีนี้พอมันเกิดขึ้นแล้ว เราต้องยอมรับความจริงว่า มันเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้
แต่บางคนจะรู้สึกเป็นทุกข์มากเลย เวลามันมีความคิดลบ ความคิดอกุศลเกิดขึ้นในใจ ความคิดในทางราคะ หรือว่าการคิดลบหลู่ผู้มีพระคุณ บางทีรวมไปถึงความโกรธชนิดที่ว่าอยากจะกำจัดใครบางคนให้สูญหายไปจากโลกนี้
ความคิดพวกนี้มันเกิดขึ้นได้กับคนทุกคน ยิ่งถ้าเรามาภาวนา มาเจริญสติ มาเปิดโอกาสให้ใจ มาเปิดโอกาสมาดูใจก็จะเห็นอารมณ์พวกนี้ แต่ถ้าเกิดว่าเราไม่เข้าใจเราก็จะมีความทุกข์ว่า ทำไมฉันจึงมีความคิดลบ ความคิดเลวร้ายแบบนี้เกิดขึ้นได้ยังไง
อันนี้แสดงว่าไม่เข้าใจธรรมชาติของจิต แล้วก็วางใจไม่ถูกต้อง มันไม่ใช่แค่ความคิดลบเท่านั้น อารมณ์อกุศลด้วย อย่างเช่นความโกรธ ความอิจฉา พยาบาท หลายคนพอมีอารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้น ก็พยายามผลักไส กดข่ม หรือว่าผลักไสให้มันไปไกล ๆ แต่ยิ่งทำเช่นนั้น ยิ่งเท่ากับยุให้มันมารบกวนจิตใจเรามากขึ้น
แต่จะให้มันอยู่ก็ทนไม่ได้ว่า ทำไมคนดีอย่างฉันมันถึงมีอารมณ์เลวร้ายแบบนี้เกิดขึ้นในใจ
การคิดเช่นนั้นมันแสดงว่าไม่เข้าใจธรรมชาติของใจ แล้วก็ไปยึดว่าอารมณ์พวกนี้เป็นเรา มันไม่ใช่เรา แต่พอเราพอไม่เข้าใจ พอขาดสติเข้าไปยึดว่ามันเป็นเรา เสียงลบหลู่ครูบาอาจารย์ พ่อแม่ มันคือเสียงของเรา มันไม่ใช่
สิ่งที่เราควรทำก็คือว่าก็แค่ดูมันเฉย ๆ แล้วก็ยอมรับว่า มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับใจของเรา ซึ่งที่จริงมันก็ไม่ใช่ใจของเรา เพราะถ้าเป็นใจของเรา เราก็ควบคุมได้ว่าอะไรจะยอมหรืออนุญาตให้อารมณ์ใดเกิดขึ้น อารมณ์ใดไม่อนุญาตให้เกิดขึ้น
เป็นเพราะเราไม่เข้าใจความจริง ก็เลยพยายามที่จะกีดกัน ขับไล่ไสส่งความคิดและอารมณ์บางอย่าง ซึ่งนั่นยิ่งก็ทำให้เกิดความทุกข์มากขึ้นเพราะมันไม่ยอมไป แถมมันยังได้ใจเสียอีก เหมือนกับวัยรุ่นยิ่งห้ามมันก็ยิ่งยุ
แต่สิ่งที่เราควรทำก็คือว่า ยอมรับมัน อนุญาตให้มันเกิดขึ้นได้ อันนี้เป็นเป็นท่าทีที่สำคัญ คือยอมรับมัน อนุญาตให้มันเกิดขึ้นได้
มีผู้หญิงคนหนึ่งแกโกรธผู้ชายคนหนึ่งมากเลย ไปรู้ว่าเขาไปนินทาลับหลัง ไปทำให้เธอเสียหาย โกรธมาก โกรธชนิดที่ไม่ค่อยได้เกิดขึ้นเท่าไหร่ แล้วเธอก็เป็นนักปฏิบัติธรรมก็รู้ว่า โกรธแบบนี้มันไม่ดี ก็พยายามที่จะระงับความโกรธด้วยการเดินจงกรม ก็ไม่หาย ตามลมหายใจให้ใจอยู่กับลมหายใจ มันก็ยังโกรธอยู่
ครูบาอาจารย์บอกว่าลองบริกรรมดูสิ โกรธหนอ โกรธหนอ เวลามันโกรธขึ้นก็โกรธหนอ ก็ไม่หายเลย ยิ่งหงุดหงิด ผิดหวังเข้าไปใหญ่ว่า ทำไมปฏิบัติธรรมไม่ได้ช่วยเลย ครูบาอาจารย์บอกว่าทำแล้วมันจะดี จิตจะสงบ แต่ทำแล้วยังไม่สงบ ก็ยิ่งรู้สึกเป็นทุกข์มาก
แต่พออารมณ์โกรธมันเกิดขึ้นมาก ๆ เธอก็มาถึงจุดหนึ่งเธอก็ยอมแพ้ ก็บอกกับตัวเองว่า เธอจะโกรธก็ได้นะ มันไม่เป็นไรเลยนะถ้าเธอจะโกรธ เพราะว่าใครที่เจอแบบเธอก็ต้องโกรธทั้งนั้นแหละ
ปรากฏว่าความโกรธมันลดลงไปเยอะเลย เหมือนกับไฟที่มันค่อย ๆ ลดความร้อนแรงลง เธอแปลกใจมาก เอ๊ะ มันหายไปได้ยังไง หรือมันลดไปได้อย่างไร ที่มันลดลงไปเพราะอะไร เพราะเธออนุญาตให้มันเกิดขึ้นได้ ยอมให้มันเกิดขึ้น
พอยอมรับ ไม่ผลักไส มันก็ค่อย ๆ ดับไป เพราะว่าอารมณ์พวกนี้มันต้องการเชื้อ ต้องการอาหาร และอาหารหรือเชื้อที่จะเกิดขึ้นได้ก็คือการผลักไสมัน ความรู้สึกลบต่อมัน
การปฏิบัติก่อนหน้านั้นที่เธอทำแล้ว มันไม่ทำให้ความโกรธมันทุเลา เพราะว่ามันมีความรู้สึกลึก ๆ อยากจะให้ความโกรธมันดับ มีความรู้สึกลบต่อความโกรธระหว่างที่ตามลมหายใจ มันก็นึกในใจว่า ความโกรธฉันไม่ชอบเลย ไปได้แล้ว
เวลาบริกรรมว่า โกรธหนอ โกรธหนอ ลึก ๆ มันก็มีความรู้สึกลบต่อความโกรธ หรือจะพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า มันมีความโกรธ ใส่ความโกรธเข้าไป มันก็คูณ 2 เลย เขาเรียกว่าโกรธซ้อนโกรธ เวลาภาวนามันไม่ได้ทำด้วยใจที่เป็นกลาง ใจที่เป็นกลางก็คือว่า ไม่มีความรู้สึกลบหรือบวกต่อความโกรธ
แต่บ่อยครั้งเวลาภาวนา ไม่ว่าจะเป็นการตามลมหายใจ การเดินจงกรม หรือการสร้างจังหวะ มันมีความคาดหวังลึก ๆ อยากจะให้ความโกรธดับไป เพราะไม่ชอบความโกรธ เพราะรู้สึกลบกับความโกรธ อันนี้เรียกว่าใจไม่เป็นกลาง เป็นเพราะว่ามันมีความรู้สึกลบที่เข้าไปปรุงแต่งความโกรธให้มันรุนแรงมากขึ้น
แต่พอยอมรับมันได้หรือว่าอนุญาตให้มันเกิดขึ้นได้ มันก็ดับไปเลย แล้วไม่ใช่แค่ความโกรธ ความรู้สึกอย่างอื่นด้วย
มีผู้หญิงคนหนึ่งอายุ 50 กว่า เธอเบื่อเซ็งกับชีวิตมาก มันเป็นความรู้สึกแบบซังกะตายเลย เธอแปลกใจว่าเกิดขึ้นได้ยังไง ไปหาหมอเพราะคิดว่าใกล้จะเข้าสู่วัยทองแล้ว ฮอร์โมนอาจจะแปรปรวน เพราะตอนหลังเริ่มมีอาการตื่นตระหนก นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย เกิดอะไรขึ้นกับฉัน ถึงขั้นนอนไม่หลับติดต่อกัน
ไปหาหมอก็ไม่มีอะไร สุดท้ายต้องไปหาจิตแพทย์ จิตแพทย์แนะนำเธอว่ายังไงหลังจากที่เธอเล่าปัญหา จิตแพทย์บอกว่า “ให้ทำตามผมนะ พูดตามผมว่า ฉันอนุญาตให้ตัวเองรู้สึกซังกะตายได้ แม้มันจะเกิดขึ้นเป็น ๆ หาย ๆ ทั้งชีวิต”
เธอไม่ยอมพูด หมอคาดคั้น แล้วก็ย้ำให้พูด พูดดัง ๆ เธอก็พูดออกมาได้ 3 ครั้ง แล้วหมอถามว่าเป็นยังไง เธอบอกว่ารู้สึกปวดท้อง รู้สึกเกร็งที่หน้าอก รู้สึกมันมีอาการฝืนในร่างกาย หมอถาม“แล้วใจเป็นยังไง” เธอบอก “พอใจมาดู มันก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันเลวร้ายอะไรเลย”
หมอก็แนะนำ “ให้ลองวางใจแบบนี้” คือยอมให้มันเกิดขึ้นได้ บอกกับตัวเองเลย “ฉันอนุญาตให้ความรู้สึกซังกะตายนี้ เกิดขึ้นได้” แล้วตอนหลังเธอก็ดีขึ้น ที่ดีขึ้นนี้ไม่ใช่เพราะว่าความรู้สึกซังกะตายหาย ยังอยู่ แต่ว่ายอมรับได้ เธอจึงรู้สึกโล่ง รู้สึกมีชีวิตชีวากว่าเดิม
ความรู้สึกซังกะตายไม่ได้หาย แต่ท่าทีเปลี่ยนไปคือ ยอมรับมันได้ แต่ตอนหลังเธอก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ อันนี้เป็นเคล็ดลับในการที่จะรับมือกับอารมณ์ต่าง ๆ จริง ๆ แล้วพอมันเกิดขึ้น มันไม่ได้ทำให้เราทุกข์ แต่ที่เราทุกข์เพราะไปขับไล่ไสส่งมันบ้าง หรือไปยึดมันบ้าง ไปยึดเอาอารมณ์พวกนี้มาเป็นเรา เป็นของเราบ้าง
อย่างที่พูดไปเมื่อวาน อารมณ์หลายอย่างที่มันเกิดขึ้นในใจ เช่น ความโกรธมันไม่ทำร้ายใจเรา ถ้าไม่ไปยึดอารมณ์นั้น เหมือนกับที่อาจารย์ชยสาโรพูดว่า งูถ้าเราไม่ไปจับมัน มันก็ไม่กัดหรอก ฉันใดก็ฉันนั้น อารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงถ้าไม่เข้าไปยึดมันไว้ มันก็ไม่ทำร้ายใจให้เป็นทุกข์ แต่ที่ทุกข์ก็เพราะไปยึดอารมณ์ต่าง ๆ ว่าเป็นเรา เป็นของเรา หรือมิเช่นนั้นก็ผลักไส
ผลักไสกับการยึดติด มันก็เป็นฝาแฝดกัน เพราะว่ายิ่งผลักไสอารมณ์ใด มันก็ยิ่งยึดติดในอารมณ์นั้น เหมือนกับเวลาสัตว์นี้มันถูกติดกับดัก อาจจะเป็นเชือกรัดขามันเอาไว้ ยิ่งมันยิ่งดิ้นเท่าไหร่ เชือกก็ยิ่งรัดมันแน่น
คนเราก็เหมือนกัน ถ้าเกิดว่าเราเกิดไปพลาดท่า ไปติดแร้ว ติดกับดักที่เขาวางไว้จับสัตว์ แล้วเราพยายามดิ้นเท่าไหร่ ยิ่งดิ้นเท่าไหร่ มันก็ยิ่งรัดขาเราแน่น
สังเกตไหมเวลาเราเจอของเหม็นติดนิ้ว เราไม่ชอบ เราก็พยายามที่จะทำความสะอาดนิ้ว ทำความสะอาดมือให้มันหายเหม็น แต่พอล้างนิ้วล้างมือเสร็จ แล้วทำยังไง ก็เอามือมาดม ไม่ชอบเพราะมันเหม็น แต่ยิ่งไม่ชอบเท่าไหร่ก็ยิ่งเอามาดม
เราไม่ชอบใคร เกลียดใคร ยิ่งจับจ้องมองคนนั้นเป็นพิเศษ จับจ้องมองทุกฝีก้าว ในใจก็บ่นก่นด่า
เสียงที่เราไม่ชอบ ยิ่งไม่ชอบเท่าไหร่ ยิ่งจับจ้องจดจ่อที่เสียงนั้น แม้จะเป็นเสียงเบา ๆ แต่พอไม่ชอบก็ยิ่งจดจ่อ พอจดจ่อก็เป็นทุกข์ เพราะว่าใจก็พยายามผลักไสเสียงนั้น ยิ่งผลักไสก็ยิ่งทุกข์ เพราะยิ่งจดจ่อมากขึ้น
แต่ว่าถ้าหากเรารู้จักมีสติ ไม่ลืมตัว ดูมันเฉย ๆ ยอมให้มันเกิดขึ้นได้ การอนุญาตให้มันเกิดขึ้นได้ หรือยอมให้มันเกิดขึ้นได้ มันก็เป็นอีกด้านของการรู้ซื่อ ๆ
รู้ซื่อ ๆ ก็คือดูด้วยใจที่เป็นกลาง ไม่ผลักไส ไม่ไหลตาม วิธีที่จะรับมือกับอารมณ์เหล่านี้เพื่อไม่ให้มาคุกคามจิตใจให้เป็นทุกข์ ก็คือ แค่รู้ทันมัน ดูมันเฉย ๆ ไม่ไปยึด ไม่ไปผลักไสมัน ก็คือวางใจเป็นกลาง นี่คือวิธีการดูแลใจ
ถ้าเราไปทำสิ่งตรงข้าม คือไปผลักไสมันหรือเข้าไปยึด มันก็เท่ากับเปิดช่องให้อารมณ์พวกนี้เข้ามาเผาลนจิตใจ กรีดแทงจิตใจ หรือว่าบีบคั้นจิตใจ การที่อารมณ์เกิดขึ้นไม่ได้ทำให้เราทุกข์ แต่ทุกข์เพราะว่าเกี่ยวข้องกับมันไม่ถูกต้อง
เหมือนกับเรือ เรือมันไม่ได้อับปางเพราะน้ำ เรือไม่ได้ล่มเพราะน้ำ แต่เรือล่มเพราะปล่อยให้น้ำเข้าเรือ ถ้าน้ำอยู่รอบ ๆ เรือก็ไม่เป็นอะไร หรือเหมือนกับหิน ถ้าเราไม่ไปเดินเตะมัน เราก็ไม่เจ็บ หนามถ้าเราไม่เอามือไปแกว่งไปถูกมัน เราก็ไม่เจ็บ
คำถามก็คือทำไมเราไปเดินเตะมัน ทำไมเราเอามือไปถูกหนามแทง เพราะไม่รู้ตัว หรือบางครั้งก็อาจจะเห็น แต่ว่าเกี่ยวข้องกับมันไม่ถูกต้อง ไปผลักไสมัน
ลองฝึกให้ใจนี้ แค่รู้ว่ามีอารมณ์พวกนี้เกิดขึ้น แต่ไม่เข้าไปยึดมัน อะไรก็ตามถ้าไม่ไปยึด สิ่งนั้นก็ทำให้ใจเป็นทุกข์ไม่ได้ แม้จะสูญเสียข้าวของไป แต่ถ้าไม่ยึดว่าของนั้นเป็นของเรา ก็ไม่เสียใจ ไม่เศร้าโศก
อารมณ์ใดก็ตามแม้ไม่ยึดว่าเป็นเรา เป็นของเรา หรือไม่ไปผลักไสมัน มันก็ไม่ทำให้ใจเป็นทุกข์ได้ นี่คือวิธีการดูแลใจสำหรับปุถุชน คือเมื่อมีอารมณ์ที่เป็นลบเกิดขึ้น ก็แค่ดูมันเฉย ๆ ไม่เข้าไปยึดมัน ยิ่งยึดเท่าไหร่ก็มีโอกาสเป็นทุกข์เมื่อนั้น
หลวงพ่อชาท่านก็เคยพูดว่า ทุกข์มีเพราะยึด ทุกข์ยืดเพราะอยาก ทุกข์มากเพราะพลอย ทุกข์น้อยเพราะหยุด ทุกข์หลุดเพราะปล่อย
นอกจากการยึด การผลักไส ยังมีอีกตัวหนึ่งก็คือ ความปรุงแต่ง ปรุงแต่งไปในทางลบ อาหารถ้าหากว่าเราไปให้ค่ากับมันหรือไปมองว่ามันเหม็น เราก็กระอักกระอ่วน พอกินก็รู้สึกกระอักกระอ่วน แต่ที่เรากินอร่อยเพราะอะไร เพราะไปให้ค่ากับมันว่ามันหอม
อย่างเช่นปลาร้าหรือว่ากะปิ คนไทยกินแล้วอร่อยเพราะมันหอม แต่ฝรั่งกินไม่ได้เลยเพราะเขามองว่ามันเหม็น แต่เนยแข็งคนไทยกินไม่ได้เลยเพราะมันเหม็น หรือเพราะคิดว่ามันเหม็น แต่ฝรั่งกลับบอกว่าหอม
เหม็นหรือหอม มันก็เป็นการปรุงแต่งของจิต ถ้าเราปรุงว่ามันเหม็น กินก็ไม่อร่อย แถมอาจจะถึงกับอ้วกเลยก็ได้ แต่พอมองว่ามันหอม กินได้กินดี เสื้อผ้าเดี๋ยวนี้กางเกงยีนส์มันก็จะมีการตัดให้ขาดให้วิ่นโดยเฉพาะตรงหัวเข่า สมัยก่อนเขาก็มองว่ามันซกมก ใส่แล้ว ดูไม่สุภาพเลย แต่สมัยนี้กลับมองว่าเป็นความเท่ ล้ำยุค แหวกแนว ใส่แล้วรู้สึกมีความสุข
จะสุขหรือทุกข์มันก็อยู่ที่ว่าเรามองสิ่งนั้นอย่างไร หรือเราปรุงแต่งมันอย่างไร ถ้าเราปรุงแต่งในทางบวก เราก็มีความสุขที่ได้ใส่ รู้สึกเท่ ถ้าเราปรุงแต่งไปในทางลบ เราก็รู้สึกอับอายเมื่อได้ใส่ หรือเห็นคนอื่นใส่ยังงั้น เราก็รู้สึกว่าเขาแต่งตัวไม่เรียบร้อย
เสียงถ้าหากว่าไปมองว่าเป็นเสียงดัง เราก็รู้สึกหงุดหงิด แต่ถ้ามองว่าเป็นเสียงเพลง มันก็เพลิน อย่างบางคนนั่งสมาธิได้ยินเสียงเลื่อยยนต์ ทีแรกรู้สึกหงุดหงิดมากเลย แต่ตอนหลังไปมองว่ามันเป็นเสียงเพลง เป็นเสียงเพลงแบบเฮฟวี่ ปรากฏว่าใจนี้เพลินเลย ที่เคยหงุดหงิด หายเลย กลายเป็นเพลิน
เสียงก็เสียงเดิม แต่ทำไมความรู้สึกเปลี่ยนไป อันนี้เพราะว่าตอนแรกปรุงแต่งมัน หรือให้ค่าให้ความหมายว่าเป็นเสียงที่รบกวน แต่ตอนหลังไปให้ค่าให้ความหมายว่าเป็นเสียงเพลง ความรู้สึกก็เปลี่ยนไป จากทุกข์ก็กลายเป็นสุข จากหงุดหงิดก็กลายเป็นเพลิน
เช่นเดียวกันคำตำหนิ บางคนฟังแล้วโมโหเพราะมองว่ามันเป็นเรื่องลบ บางคนก็มองว่าเป็นอัปมงคล แต่บางคนมองว่าเป็นของดี อย่างเศรษฐีคนหนึ่งถึงกับพูดว่า วันไหนไม่ถูกตำหนิ วันนั้นเป็นอัปมงคล
เรื่องมงคลหรือไม่มงคล ก็เป็นเรื่องการให้ค่า ไม่ต่างจากคนที่ขับรถสีดำ ทั้งที่มีคนบอกว่าสีดำ มันไม่ใช่เป็นสีมงคลสำหรับเขา แต่เขาขับได้สบายเพราะอะไร เพราะเขาติดป้ายว่ารถคันนี้สีแดง ก็เลยรู้สึกขับรถได้สบาย และสีแดงคือสีมงคลสำหรับเขา
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเจอ หรือสิ่งที่ประสบกับเรา มันจะทำให้เราสุขหรือทุกข์ มันไม่ได้อยู่ที่สิ่งนั้นเท่าไรเลย แต่มันอยู่ที่ใจเราว่าไปให้ค่ากับมันอย่างไร และนี่คือสิ่งที่เราควรจะรู้ทันเวลาใจมันปรุงแต่งให้ค่า โดยเฉพาะการให้ค่าในทางลบ
ฉะนั้นถ้าเรารู้ว่าจิตปรุงแต่งในทางลบ เราก็ลองเปลี่ยนให้มันเป็นกลาง ๆ ดู หรือเปลี่ยนให้มันเป็นบวก อย่างคนที่เขามองได้ยินเสียงเลื่อยยนต์แล้วเขารู้สึกแย่ รู้สึกหงุดหงิดในทีแรก เพราะว่าไปให้ค่าว่าเป็นเสียงที่ไม่ดี เสียงรบกวน รบกวนการนั่งสมาธิ แต่พอไปให้ค่าให้ความหมายว่าเป็นเสียงเพลง เสียงนั้นไม่รบกวนจิตใจเขาอีกต่อไปเลย
จะว่าไปแล้ว สุขหรือทุกข์มันอยู่ที่ใจเราแท้ ๆ ไม่ได้อยู่ที่สิ่งที่มากระทบกับเรา ไม่ได้อยู่ที่คนที่เกี่ยวข้องกับเรา ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเรา แต่มันอยู่ที่ว่าเรามองมันอย่างไร เรารู้สึกกับมันอย่างไร เรามีท่าทีกับมันอย่างไร
และนี่คือสิ่งที่เราควรจะรู้ได้จากการที่เรามาเจริญสติ แล้วก็เห็นว่าอะไรคือเหตุแห่งทุกข์ที่แท้จริง ซึ่งที่สุดแล้ว เหตุแห่งทุกข์ก็อยู่ที่ใจเรา ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ การที่จะแก้ทุกข์มันก็ไม่ใช่เรื่องยาก โดยเฉพาะความทุกข์ใจ.