พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 2 พฤศจิกายน 2567
ชายคนหนึ่งไปหาหมอ แล้วบอกหมอว่า “ผมเป็นอะไรก็ไม่รู้ แตะตรงไหน ก็เจ็บไปหมด”
หมอก็ถามว่า “มันเป็นอย่างไรหรือ” ชายคนนั้นบอกว่า “เวลาผมแตะที่ไหล่ก็เจ็บ แตะที่หน้าผากก็เจ็บ แตะที่ท้องก็เจ็บ แตะตรงไหนก็เจ็บ”
หมอบอก “รู้แล้วล่ะว่าคุณเป็นอะไร นิ้วคุณหัก” ชายคนนั้น ทีแรกแกเข้าใจว่า ไหล่มีปัญหา ท้องมีปัญหา หน้าผากมีปัญหา เพราะแตะตรงนั้นก็เจ็บ แต่ที่จริง นิ้วที่แตะต่างหากที่มันมีปัญหา
นี่เป็นข้อคิดที่ดี ถ้าเรามองไปไกล ๆ มองไปกว้าง ๆ บางคนเวลาเจอใคร คบใคร มีความทุกข์ ก็มักจะโทษว่าคนเหล่านั้นเป็นปัญหา แต่ที่จริงปัญหาอยู่ที่ตัวเขาต่างหาก เป็นธรรมชาติของคนเราเวลาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับใคร แล้วก็มีปัญหา ก็มักจะโทษว่าคนเหล่านั้นคือตัวปัญหา แต่ที่จริงแล้ว ปัญหาอยู่ที่ตัวเขาเอง
เหมือนกับชายคนนี้ แตะไหล่ก็เจ็บ แตะหัวก็เจ็บ แตะท้องก็เจ็บ ก็คิดว่าอวัยวะเหล่านั้นมีปัญหา แต่ที่จริงมือที่แตะ นิ้วที่แตะต่างหากมีปัญหาคือกระดูกหัก
จะว่าไปแล้ว ความทุกข์ใจของผู้คนทั้งหลาย ก็เป็นเพราะเหตุนี้ เป็นเพราะคาดหวัง ว่าเขาควรจะเป็นอย่างโน้น ควรจะทำอย่างนี้ พอเขาไม่เป็นไปอย่างที่หวัง ก็เสียใจ หรือว่าโกรธ
ถ้าใครพูดอะไร หรือทำอะไร เราไม่ถือสา เราจะโกรธได้ไหม เราจะเสียใจได้ไหม มันก็ไม่ได้ แต่ที่เราทุกข์ก็เพราะเราไปถือสาหาความ หรือไปคาดหวัง
เหตุแห่งทุกข์จริงๆ แล้วไม่ได้อยู่ที่การกระทำและคำพูดของเขา แต่มันอยู่ที่ใจของเรา
ตอนที่โจน จันใด ยังเป็นหนุ่ม เขาก็เหมือนกับคนหนุ่มทั่วไป อยากจะแสวงหาอนาคต เขามากรุงเทพฯ พยายามหางานทำ พอไปได้งานที่โรงแรมแห่งหนึ่ง เนื่องจากเขาไม่มีเส้นมีสาย ไม่มีความรู้มาก ก็เลยได้เป็นแค่ลูกน้อง เป็นพนักงานโรงแรม
เจ้านายของเขาเป็นแม่บ้าน โจนบอกว่าเขาไม่เคยเจอคนแบบนี้เลย คือเอาแต่ด่า ๆ ๆ ทำอะไรไม่ถูกใจก็ด่า ทำอะไรไม่ถูกใจก็ว่า
มีวันหนึ่ง แม่บ้านใช้ให้เขาไปขัดลูกบิดประตูห้องพัก ใช้อย่างเดียวไม่พอ ยืนคุมด้วย ระหว่างที่โจนกำลังขัดลูกบิด เกือบจะเสร็จอยู่แล้ว ผู้จัดการก็เดินมาเห็นแล้วก็ว่าโจน เอาบรัสโซมาขัดลูกบิดแบบนี้ได้อย่างไร มันขัดไม่ได้
แม่บ้านซึ่งยืนคุมอยู่ แทนที่จะแก้ต่างให้โจน ก็กลับต่อว่าโจนซ้ำเลย ทำอย่างนี้ได้อย่างไร ทีแรกโจนก็สะดุด แต่ว่าจู่ ๆ เขาก็พนมมือไหว้ พร้อมกับรอยยิ้มให้กับแม่บ้าน “ขอโทษครับ” “ขอบคุณครับ”
นับแต่นั้นมา เวลาแม่บ้านด่าว่าโจนอย่างไร แกก็จะพนมมือ บอก “ขอบคุณครับ” แล้วก็ยิ้มด้วย จนเป็นที่รู้กันในหมู่พนักงาน
พนักงานโรงแรมหลายคนบอกว่า โจนนี่มันโง่ ปล่อยให้เขาซ้ำเติม หรือบางทีก็หาว่าบ้า ถูกด่าแต่กลับยิ้มแล้วก็ขอบคุณ
ทีแรก โจนก็รู้สึกว่า เอ เขาเสแสร้งหรือเปล่า แต่ตอนหลังเขารู้สึกว่า เขารู้สึกอย่างนั้นจริง ๆ คือนอกจากไม่โกรธแม่บ้านแล้ว ก็ยังขอบคุณ
ขอบคุณที่เตือน ให้เขากลับมาดูตัวเอง ขอบคุณที่เตือน ให้เขากลับมาจัดการกับความโกรธของตัว นับแต่นั้นมาเขาก็ยิ้มให้กับแม่บ้านทุกครั้งที่ถูกด่า และสบายใจที่ทำอย่างนั้น ไม่รู้สึกว่าเสแสร้งเลย
จนกระทั่งผ่านไปเดือนหนึ่ง แม่บ้านอดรนทนไม่ไหวเรียกโจนมาแล้วบอกว่า “ถามจริงๆ เถอะ ทำไมเธอทำอย่างนี้”
โจนบอกว่า “เวลาแม่บ้านด่าผมนี่ ผมไม่โกรธเพราะว่าเป็นเรื่องของแม่บ้าน แม่บ้านอาจจะคุ้นเคย หรือชอบพูดอย่างนั้น ผมก็ขอบคุณด้วย ขอบคุณที่เตือนให้ผมหันกลับมาดูตัวเอง กลับมาใคร่ครวญว่า ไม่มีเหตุผลอะไรที่ผมต้องโกรธเลย เพราะผมไม่ได้ทำผิดอะไร”
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ที่โจนบอกว่าผมไม่โกรธแม่บ้านเลย ปกติเวลาใครด่าว่าเรา แล้วเราโกรธ เรามักจะโทษคนที่ด่าว่าเรา ว่าทำให้เราทุกข์ ทำให้เราไม่พอใจ แต่ที่จริงแล้ว มันอยู่ที่ใจเราด้วย ถ้าใจเราไม่ถือสา ก็ไม่ทุกข์ ไม่โกรธ
อย่างโจน เขาเห็นว่า เป็นความเคยชิน เป็นความคุ้นเคยของแม่บ้านที่พูดอย่างนั้น พอไม่ถือสา พอไม่คาดหวังว่าเขาต้องพูดดี แม่บ้านว่าเขาอย่างไร เขาก็ไม่ทุกข์ แถมยังขอบคุณด้วยที่ทำให้หันมาดูตัวเอง หันมาจัดการกับอารมณ์ของตัว
นี่เป็นตัวอย่างว่า ไม่ใช่ว่าคนเราจะต้องทุกข์เมื่อมีคนด่าว่า ไม่ทุกข์ก็ได้ จะทุกข์หรือไม่ อยู่ที่ใจเราใจ ใจที่ถือสา ใจที่คาดหวัง หรือใจที่ไม่ถือสา ใจที่ไม่คาดหวัง เพราะเห็นว่าเขาก็เป็นอย่างนั้นแหละ
ฉะนั้น ถ้าเราใคร่ครวญดูดี ๆ ความทุกข์ที่เกิดขึ้น เวลาเกี่ยวข้องกับใคร ปัญหา หรือสาเหตุ ไม่ได้อยู่ที่คน ๆ นั้น แต่อยู่ที่ใจเรา
แม้เขาจะพูดไม่ดี แต่ถ้าใจเราไม่ถือ เหมือนกับมีคนมาชนเรา ขณะที่เรากำลังเลือกซื้อผลไม้ตรงแผงลอยริมถนน เดินชนเรา จนเราเซเลย เราโกรธ ทันทีที่เราตั้งหลักได้ ก็จะหันหลังหันหน้าไปเพื่อที่จะด่าว่าคนที่มาชนเรา แต่พอเราเห็นว่าเขาเป็นคนตาบอด เราหายโกรธเลย เพราะอะไร เพราะเราไม่ถือสา
อันนี้มันแสดงว่า จะโกรธหรือไม่ ไม่ได้อยู่ว่าใครทำอะไรเรา แต่อยู่ที่ว่าเราถือสาการกระทำและคำพูดของเขาหรือเปล่า หรือว่าเราไปคาดหวังตัวเขา เป็นการคาดหวังอย่างที่เขาไม่ได้เป็นหรือเปล่า
อย่างที่อาจารย์คนหนึ่ง ทุกข์มากเมื่อลูกชายซึ่งเรียนปี 4 คณะแพทย์ มาบอกพ่อว่าจะเลิกเรียนหมอแล้ว เพราะไม่ชอบรักษาคนไข้ ไม่ชอบเลือด ไม่ชอบแผล จะไปเรียนไฟแนนซ์ บริหารธุรกิจ พ่อช็อคเลยเพราะว่าทุ่มเทเพื่อลูกมาก
ลูกสอบเข้าเรียนแพทย์ได้ ก็ดีใจ แถมลูกเรียนดีด้วย ยิ่งภาคภูมิใจ แต่พอลูกบอกว่าจะเลิกเรียนแพทย์ พ่อเสียใจมาก เรียกว่าช็อคเลย นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย แทบไม่เป็นผู้เป็นคนเลย
แต่วันหนึ่ง ขณะที่กำลังพยายามข่มตาให้หลับ ก็นึกถึงพี่ชายที่เป็นแพทย์ใหญ่ แต่ว่าลูกเกิดมาพิการแต่กำเนิด พ่อทุกข์มาก ทุกข์จนต้องกินเหล้าเพื่อดับทุกข์ แต่มันกลับทุกข์มากขึ้น จนกระทั่งตายเพราะเหล้า
เขามาคิดถึงว่า เราโชคดีกว่าพี่ชายเยอะ ลูกเราก็ไม่ได้เจ็บป่วย ไม่ได้เกกมะเหรกเกเร ไม่ได้ติดยา แถมเขารู้ว่าเขาจะเรียนอะไร เขาชอบอะไร คนเป็นพ่อน่าจะดีใจมากกว่า ว่าเขาจะไปได้ดี แล้วทำไมถึงทุกข์ ทุกข์เพราะคาดหวังว่าลูกจะต้องเรียนจบแพทย์
แกก็พบว่าเป็นเพราะเราไปยึดมั่นในความคาดหวังของตัวเอง เป็นการยึดมั่นในตัวกูของกูแบบหนึ่ง พอแกรู้อย่างนี้ แกวางเลย วางความคาดหวัง ไม่หวังแล้ว ปรากฏว่าหายทุกข์เลย หายเครียด กลับมาเป็นผู้เป็นคน
ลูกยังเรียนไฟแนนซ์อย่างที่ตั้งใจ ไม่ได้เปลี่ยนใจ แต่ทำไมพ่อหายทุกข์แล้ว เพราะพ่อไม่คาดหวังลูกว่าจะต้องเรียนแพทย์ สุดท้ายพ่อก็รู้ว่าที่พ่อทุกข์ ไม่ใช่เพราะลูก แต่เพราะตัวเองยึดมั่นในตัวกูของกู ในความคาดหวังของกู
บางครั้ง เวลาเราทุกข์ เราก็มักจะโทษคนนั้นคนนี้ แล้วก็เรียกร้องให้เขาเปลี่ยนพฤติกรรม แต่เรามักจะไม่ได้มองตัวเอง ว่าเป็นเพราะเราไปยึดอะไรบางอย่าง ยึดความคาดหวังของเรา หรือว่าไปถือสาการกระทำของเขา คาดหวังพฤติกรรมของเขา ว่าต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
แล้วมันไม่ใช่แค่คน เหตุการณ์ก็เหมือนกัน บ่อยครั้ง เราทุกข์เมื่อเจอความสูญเสีย แต่จริงๆ ความสูญเสียไม่ได้ทำให้เราทุกข์ ถ้าสิ่งที่สูญเสียไปนั้น เราไม่ได้ยึด ไม่ได้ยึดว่าเป็นเรา เป็นของเรา
ต่อเมื่อยึดว่าเป็นเรา เป็นของเรานั่นแหละ จึงจะเป็นเกิดความทุกข์ขึ้นมา ถ้าสิ่งที่สูญเสียไป เราไม่ได้ยึด ไม่มีความยึดมั่นสำคัญหมาย ว่าเป็นของเรา สูญเสียไปเท่าไหร่ ใจก็ไม่ทุกข์ แปลว่าอะไร เหตุแห่งทุกข์อยู่ที่ใจที่ไปยึดมั่นถือมั่น
แต่เวลาเราเสียใจ เมื่อความสูญเสียเกิดขึ้น เรามักจะโทษเหตุการณ์ หรือโทษคนที่มีส่วนทำให้เกิดความสูญเสีย แต่ที่จริงแล้ว เป็นเพราะใจเราต่างหาก ที่ไปยึดในสิ่งนั้น
มันคล้ายๆ กับชาวบ้านสมัยก่อน หรือแม้สมัยนี้ ไม่ว่าที่ใด เวลาเขาจะจับลิง เขาจะใช้กับดักง่ายๆ คือกะลามะพร้าว แล้วเขาก็จะฝานหัวมะพร้าว แล้วก็เจาะตรงหัวกะลามะพร้าว ให้เป็นรูเล็กๆ พอที่ลิงจะยื่นมือเข้าไปได้ แล้วตรงท้ายกะลา เขาจะร้อยเชือกไว้ แล้วไปผูกกับหลัก
ภายในกะลามะพร้าว เขาก็จะใส่ผลไม้ที่ลิงชอบ เช่น ฝรั่ง เอาที่กึ่งสุกกึ่งดิบ กึ่งสุกเพราะว่ามันจะมีกลิ่น หรือมิเช่นนั้นก็เป็นไข่ต้ม แล้วเอาไปวางไว้ในป่า ลิงมันได้กลิ่น มันเห็นก็จะเอามือล้วงเข้าไปในกะลา แล้วก็จะกำหรือคว้าฝรั่ง หรือไข่ต้มนั้น
แต่พอมันจะดึงมือออกมา ก็ดึงออกมาไม่ได้ เพราะมือมันกำอยู่ รูมันเล็กกว่ามือที่กำ มันก็ดิ้นอยู่อย่างนั่นแหละ ดิ้นอย่างไรก็ดิ้นไม่หลุด เพราะว่ามือมันยังกำอยู่ เป็นอย่างนี้วันสองวัน จนกระทั่งมันหมดแรง พรานก็จะมาจับลิงไป
ถามว่าลิงเสียอิสรภาพเพราะกับดักหรือเปล่า กับดักก็มีส่วน แต่ส่วนสำคัญคือมือที่กำเอาไว้ของลิง กับดักนี้จะไม่มีความหมายเลย ถ้าลิงมันคลายมือออก มันจะมีอิสระ มันจะไม่สูญเสียอิสรภาพถ้ามันไม่กำมือไว้
จะว่าไปลิงมันจะไปโทษกับดักก็ไม่ได้ มันต้องโทษว่าทำไมมันจึงกำมือเอาไว้แน่น ไม่ยอมปล่อย คนเราก็เป็นอย่างนี้ ความทุกข์ของคนเรา โดยเฉพาะความทุกข์ใจ เพราะใจที่มันไปยึดเอาไว้
เพราะฉะนั้น เวลาเรายึดอะไรก็ตาม แล้วสิ่งนั้นมันสูญเสียไป เราจะไปโทษความสูญเสีย หรือคนที่ทำให้สูญเสียก็ไม่ได้ อาจจะไม่ได้ 100% มันอยู่ที่ใจที่ไปยึดด้วย
เช่นเดียวกัน เวลาเราไม่ได้อะไรบางอย่าง การที่ไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่าเราต้องทุกข์ ตราบใดสิ่งที่เราไม่ได้ มันไม่ใช่สิ่งที่เราชอบหรือสิ่งที่เราอยาก เราจะทุกข์ก็ต่อเมื่อสิ่งที่ไม่ได้ คือสิ่งที่เราอยาก อาจจะเป็นเงิน อาจจะเป็นโบนัส อาจจะเป็นตำแหน่ง
การไม่ได้นี่ มันไม่ได้ทำให้เราทุกข์ ถ้าสิ่งที่เราไม่ได้ เราไม่ได้มีความอยาก ต่อเมื่อมีความอยาก แล้วไม่ได้นั่นแหละถึงจะทุกข์ หรืออยากแล้ว แต่ได้น้อย
ฉะนั้นได้มาก ได้น้อย หรือไม่ได้เลย ไม่ได้เป็นเหตุให้เราทุกข์ ตัวการที่ทำให้เราทุกข์ คือความอยากในสิ่งนั้น และความอยากอยู่ที่ไหน อยู่ที่ใจเรา
เพราะฉะนั้น ถ้าเราพิจารณาดูดี ๆ เราจะเห็นว่าเหตุแห่งทุกข์ มันอยู่ที่ใจเรา ใจที่คาดหวังพฤติกรรมของใครบางคน หรือว่าถือสากับการกระทำและคำพูดของเขา หรือใจที่ไปยึดในสิ่งที่มันบังเอิญสูญเสียไป
แต่ที่จริงแล้ว แม้จะสูญเสียบางสิ่งบางอย่างไป หรือเจอการกระทำและคำพูดของใคร ที่ไม่ถูกใจ แล้วเกิดความไม่พอใจขึ้นมา เกิดความโกรธ เกิดความเศร้า เกิดความเสียใจ เราก็ยังมีโอกาสที่จะไม่ทุกข์ได้ ถ้าเราไม่ไปยึดอารมณ์เหล่านั้น
มันมีโอกาสที่ 2 ที่เราจะไม่ทุกข์ แม้ความโกรธ ความหงุดหงิด ความไม่พอใจ ความเสียใจ เกิดขึ้น ถ้าไม่ไปยึดอารมณ์นั้น มันก็ไม่ทุกข์
อาจารย์ชยสาโรท่านพูดดี ท่านบอกว่างูนี่ ถ้าเราไม่จับมัน มันก็ไม่กัด อารมณ์ก็เหมือนกัน ถ้าไม่ไปยึด มันก็ไม่ทุกข์
อันนี้มันเป็นเคล็ดลับหนึ่งที่คนไม่ค่อยสังเกต ไม่ค่อยตระหนักเท่าไหร่ ไม่ใช่ว่าพอความโกรธเกิดขึ้นปุ๊บ เราจะทุกข์ทันที พอความเศร้าเสียใจเกิดขึ้นปุ๊บ เราจะทุกข์ทันที ก็ไม่ใช่ จะทุกข์ก็ต่อเมื่อไปยึดอารมณ์นั้น
แล้วทำไมถึงยึด ทั้ง ๆ ที่มันทำให้ทุกข์ ความโกรธนี่ไปยึดแล้ว มันก็เหมือนกับไปกำถ่านก้อนแดงๆ คือทำให้รุ่มร้อน เปรียบเหมือน การไปยึด ก็เหมือนกับไปกำเศษแก้ว หรือใบมีดโกน ยิ่งกำเท่าไหร่ มันก็ยิ่งบาดมือ ทั้งๆ ที่มันทุกข์ ทำไมจึงไปยึดมัน ก็เพราะไม่รู้ตัว เพราะไม่มีสติ
ใจที่ไม่มีสติ มันก็จะเข้าไปยึดสารพัด แม้กระทั่งไปยึดความโกรธ เหมือนกับคนที่ไปกำถ่านก้อนแดงๆ ไปกำ ไปบีบเศษแก้ว หรือว่าใบมีดโกน ให้มันบาดนิ้ว ก็ยังกำไม่หยุด กำไม่เลิก เพราะอะไร เพราะความไม่รู้ตัว เพราะเขาไม่มีสติ
แต่ถ้ามีสติ มันจะไม่ปล่อยให้ใจเข้าไปกำไปยึดความโกรธ ไปยึดอารมณ์ หรือถึงยึดเอาไว้ พอมีสติก็จะปล่อย
คนที่มีปัญญา เขาก็ไม่ยึดตั้งแต่แรก ปล่อยให้มันเกิดขึ้น แล้วผ่านเลยไป หรือเกิดเผลอไปกำมัน พอรู้ตัวก็ปล่อย
เคยมีคนถามหลวงปู่ดุลย์ อตุโลว่า “หลวงปู่มีโกรธไหม” คนก็ลือว่าท่านเป็นพระอรหันต์ ก็เลยถามคำถามนี้ เพราะคิดว่าท่านจะไม่โกรธ ไม่มีความโกรธ
หลวงปู่ตอบว่า “มี แต่ไม่เอา” มีแต่ไม่เอาจึงไม่ทุกข์ อันนี้ท่านก็พูดแบบถ่อมตัว แต่มันก็แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้มีความโกรธ แต่ไม่ทุกข์ก็ได้ ถ้าใจไม่เอา ไม่ไปยึด คือปล่อยให้มันเกิดและดับไป
เหมือนกับมีไฟกองใหญ่ๆ เราก็ปล่อยให้มันไหม้ไป จนมันดับไป หรือหมดเชื้อ ไม่ไปทำอะไรกับมัน ปล่อยอีกความหมายหนึ่งก็คือ กำไว้แล้ว แล้วคลายทีหลัง ปล่อยทีหลัง
ผู้มีปัญญา ก็ปล่อยตั้งแต่แรก ไม่ไปเอา ไม่ไปกำเอาไว้ แต่คนที่มีสติ อาจจะเผลอกำไป แล้วพอมีสติก็ปล่อย
ฉะนั้น การมีสติ มันช่วย ไม่เพียงแต่ช่วยทำให้เราเห็นอารมณ์ที่เกิดขึ้น แต่ยังช่วยไม่ให้ใจเผลอ หรือหลง เข้าไปยึด หรือโดดเข้าไปในกองเพลิง จะทำอย่างนั้นได้ ต้องมีสติมาช่วย ทำให้เกิดอาการรู้ซื่อๆ ดูเฉยๆ
อารมณ์ก็เช่นกัน ถ้าเราไม่ไปเกี่ยวข้องกับมัน มันก็จะดับไป มาแล้วก็ไป แล้วมันก็จะเกิดขึ้นน้อยลงไป น้อยลงไป ทุกที ไม่เกี่ยวข้องกับมันคือ ไม่ไปยุ่งกับมัน ไม่ไปผลักไสมัน หรือไม่ไปเติมเชื้อให้มัน ก็คือว่าไม่ผลักไส แล้วก็ไม่ไหลตาม หรือไม่ยึดติด
พวกเราที่ใช้ Social Media เช่น Facebook มันจะมีโพสต์หลายโพสต์เลย ไม่ว่าข้อความ ภาพ หรือ คลิปวีดีโอ ถ้าเราไม่เปิดดู ไม่ไปทำอะไรกับมัน มันจะไม่ค่อยโผล่มาให้เราเห็น แต่ถ้าเราไปดูมัน ไปแชร์ กดไลค์มัน ใส่ comment เข้าไป ไปเชื่อมต่อระบบมันเรียกว่า engagement ต่อไปมันจะโผล่มาให้เราเห็นอยู่เรื่อย ๆ
โพสต์ที่มีเนื้อหาทำนองเดียวกัน จะโผล่มาเรื่อยๆ เพราะอัลกอริทึม (algorithm) ของ Facebook ที่มันวางขั้นตอนของระบบของมันไว้ จากการที่เราไปเอนเกจ (engage) ไปเชื่อมต่อกับมัน ไม่ว่าจะเป็นภาพ ไม่ว่าจะเป็นข้อความ มันจะโผล่มาเรื่อย ๆ
ระบบอัลกอริทึมของ Facebook ไวมากเลย แค่เราไปดู หรือว่าไปกดไลค์ ไปเติมคอมเม้นท์ (comment) ไปแชร์นี่ รับประกันเลยว่ามันจะโผล่มาเรื่อย ๆ เพราะว่ามีการเกี่ยวข้องกับมันเรียกว่า engagement
ทำอย่างไรจะไม่ให้มันโผล่มา ก็ไม่ต้องไปเอนเกจกับมัน ไม่ไปเชื่อมต่อกับมัน คือไม่ต้องไปยุ่ง แล้วมันก็จะไม่โผล่มา หรือโผล่มาครั้งสองครั้ง พอเราไม่เอนเกจกับมัน ไม่ยุ่งกับมัน มันก็ไม่โผล่
อารมณ์ก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่ไปเอนเกจกับมัน ไม่ไปยุ่งกับมัน มาแล้วก็ดู ก็แค่รู้เฉยๆ เรียกว่า รู้ซื่อ ๆ ไม่ผลักไส ไม่ไปไหลตาม มันก็จะค่อยๆ หายไป
เช่นเดียวกับเสียงในหัว ที่มารบกวนเรา เดี๋ยวนี้ คนแต่ละคน ก็มีเสียงรบกวนในหัวต่างๆ กัน เสียงสวดมนต์ เสียงเพลง บางทีก็มีเสียงก่นด่า เสียงตำหนิครูบาอาจารย์ เสียงเหล่านี้ถ้าเราไม่ไปเอนเกจกับมัน คือไม่ไปยุ่งกับมัน ไม่ผลักไส แล้วก็ไม่เคลิ้มคล้อยไปกับมัน เดี๋ยวมันก็จะหายไปเอง
ดังนั้น วิธีการที่จะรับมือกับอารมณ์พวกนี้ ก็คือแค่ รู้ซื่อๆ ดูเฉยๆ ไม่ไปยุ่งกับมัน แต่จะไม่ยุ่งกับมันได้ ต้องมีสติ ต้องมีความรู้สึกตัว เพราะถ้าไม่มีสติ มันก็จะเผลอ ไปผลักไสบ้างล่ะ ไปกดข่มบ้างล่ะ หรือไม่ก็ไหลไปตามอำนาจของมัน ปล่อยให้มันครองอกของใจของเรา
ฉะนั้น เคล็ดลับในการที่จะรับมือกับอารมณ์เหล่านี้ ก็คือ แค่ปล่อยวางมัน ไม่ยุ่งกับมัน อันนี้คือโอกาสสุดท้ายที่เราจะไม่ทุกข์
แต่ถ้าเราทำได้คือ ตอนที่เกี่ยวข้องกับผู้คน สิ่งของ ถ้าเราไม่ยึดตั้งแต่แรก เมื่อมันผันผวนปรวนแปรไป อารมณ์ไม่ว่าจะเป็นเศร้า เสียใจ โกรธ ก็ไม่เกิด น้อยเนื้อต่ำใจ ก็ไม่เกิด แต่ถึงแม้มันเกิด ก็ยังมีโอกาสที่เราจะไม่ทุกข์ ถ้าเราไม่ไปเอนเกจกับมัน ไม่ไปยุ่งกับมัน
ดูมันเฉยๆ อย่างที่ว่า รู้ซื่อๆ หรือที่ท่านเรียกว่า วางมัน ปล่อยมัน แล้วมันก็จะดับไปเอง
ฉะนั้น การมีสติ มันช่วยตรงนี้แหละ ช่วยทำให้เราสามารถจะรับรู้อารมณ์เหล่านี้ แบบ รู้เฉยๆ รู้แล้วปล่อย รู้แล้ววาง หรือไม่ไปเอนเกจกับมัน.