พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567
ช่างไม้คนหนึ่ง มีลูกชายอยู่คนเดียวซึ่งกำลังเป็นหนุ่ม เดิมพ่ออยากจะให้ลูกชายสืบทอดอาชีพ คือเป็นช่างไม้ แต่ลูกชายไม่ค่อยสนใจ
ในใจของเด็กหนุ่ม ลูกของเขาอยากจะทำอะไรที่มันมีความหมายมากกว่านี้ ถ้าพูดเป็นสำนวนคนสมัยนี้คือ เป็นพวกที่ชอบแสวงหา
ตอนหลังพ่อก็เลยบอกลูกชาย ให้ไปหาปราชญ์คนหนึ่งซึ่งเขาลือกันว่าฉลาดมาก ฉลาดที่สุดในโลกเลย แต่อยู่ไกล ลูกชายก็สนใจแล้วก็ทำตามคำบอกคือให้ไปหาคำตอบจากปราชญ์คนนี้ว่า เคล็ดลับของความสุขในชีวิตนี้คืออะไร
ชายหนุ่มก็สนใจ อย่างที่ว่าเป็นคนที่ชอบแสวงหา ก็เลยเดินทางดั้นด้นเป็นเดือน เมื่อ 100 ปีก่อน ไม่มีรถยนต์ ชายหนุ่มคนนี้ไม่มีปัญญาจะซื้อม้าหรือว่าซื้อลา เพื่อที่จะใช้เดินทาง ก็ต้องเดินเท้า ดั้นด้นเป็นเดือนกว่าจะถึงสถานที่ที่พ่อได้บอกเอาไว้
ปรากฏว่าเจอปราสาทเก่าแก่ เมื่อชายหนุ่มคนนั้นเดินเข้าไปในปราสาท ก็พบว่า ชายชราซึ่งเป็นปราชญ์ที่พ่อให้ไปหา กำลังสนทนากับคนหลายคนเลย ดูจากเสื้อผ้าแล้วพวกเขามีอาชีพแตกต่างกัน เขาก็รอ กว่าชายชราจะปลอดแขก ก็ 2-3 ชั่วโมงได้
เมื่อแนะนำตัวให้กับชายชรา บอกว่าจะมาหาคำตอบว่า เคล็ดลับของความสุขในชีวิตคืออะไร ชายชราก็บอกว่าตอนนี้ฉันไม่ค่อยมีเวลา ให้เธอไปดูรอบๆ ปราสาทนี้ก่อน อย่างน้อยก็จะได้รู้ ว่าฉันมีความคิด มีรสนิยมอย่างไร
แต่ก่อนจะไป ให้ทำอย่างหนึ่งก็คือ ระหว่างที่ดูสิ่งต่างๆ ในปราสาทนี้ ให้ถือช้อน เป็นช้อนชา ว่าแล้วแกก็เหยาะน้ำมันประมาณ 2-3 หยด ลงไปในช้อน จากนั้นก็บอกว่า ให้เธอถือช้อนนี้ ระวังอย่าให้น้ำมันหก แล้วก็ให้เดินไป ดูรอบ ๆ ปราสาทว่ามีสิ่งสวยงามอะไรบ้าง
ชายหนุ่มก็ยินดี เดินขึ้นบันไดไป สำรวจตรวจตราตามห้องต่าง ๆ เป็นชั่วโมง แล้วกลับมาหาชายชรา
ชายชราถามว่าเห็นอะไรบ้าง ชายหนุ่มบอกว่าไม่เห็นอะไรเลย เพราะว่าระหว่างที่เดินไปตามห้องต่าง ๆ ก็จดจ่ออยู่แต่ที่ช้อน ระวังไม่ให้น้ำมันหก
ชายชราก็บอกว่าถ้าอย่างนั้น ให้ไปใหม่ ไปดูว่ามันมีสิ่งสวยงามอะไรบ้างในปราสาทนี้
แล้วเขาก็มาเล่าว่าได้เห็นผ้าถักเปอร์เซียแขวนอยู่ผนังห้องอาหาร ได้เห็นภาพแกะสลักที่งดงามในห้องสมุด แล้วก็ได้เห็นสวนที่งดงามมากเหมือนกับปรมาจารย์เนรมิตเลย เห็นดอกไม้ พอมองออกไปข้างนอกก็เห็นภูเขา เมฆ ท้องฟ้า
แกก็พรรณนาว่าสิ่งสวยงามในปราสาท ไม่ว่าบนผนัง เพดาน หรือว่าสวนที่อยู่นอกปราสาท ที่กำแพงนอกปราสาท เป็นอย่างไรบ้าง
พอพรรณนาเสร็จ ชายชราก็ถามว่า แล้วน้ำมันในช้อน มันหายไปไหน ชายหนุ่มก็มองมาที่ช้อนที่ตัวเองถือ ตกใจ น้ำมันไม่เหลือเลยสักหยด ก็ขอโทษขอโพยใหญ่เลย
ปราชญ์หรือชายชราคนนี้ก็บอกว่า เคล็ดลับแห่งความสุขของชีวิตก็คือว่า ให้รู้จักชื่นชม มองเห็นสิ่งดี ๆ สวยงามที่อยู่รอบตัวเรา หรือที่มีอยู่ในโลกนี้ แต่ก็อย่าให้น้ำมันในช้อนที่เธอถือ มันหล่นหาย
เป็นปริศนา แต่ว่าชายหนุ่มคนนี้พอจะเข้าใจ
แล้วเราเข้าใจว่าอย่างไร จากคำตอบของชายชราคนนี้ที่ว่า เคล็ดลับแห่งความสุขของชีวิตคืออะไร
ถ้าอธิบายก็คือว่า เคล็ดลับแห่งความสุขของชีวิตก็คือ รู้จักชื่นชม เห็นสิ่งดีๆ ที่มีอยู่รอบตัวเรา แต่ก็ให้มีสติด้วย อย่าลืมตัว
ขณะที่เราชื่นชมสิ่งดีๆ ที่มีอยู่รอบตัว เราก็อย่าเพลิน จนลืมไปว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ก็คือมีสติ เพราะถ้าไม่มีสติ มันก็ลืมตัว พอลืมตัว ก็ไม่รู้ว่าทำอะไร ถือช้อนแต่ก็ปล่อยให้น้ำมันในช้อนหกหมด
อุปมาอุปไมย น้ำมันในช้อนคือสติ ส่วนช้อนก็คือใจ ขณะที่เราชื่นชมสิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่รอบตัวเรา ก็อย่าปล่อยให้สติหล่นหายไปจากใจ
พูดอีกอย่างก็คือว่า ขณะที่เรารับรู้โลกภายนอก ก็ให้ดูแลใจของเราให้ดี อย่าให้สติมันหล่นหายไป คือต้องรู้นอก และก็รู้ในด้วย ขณะที่เรารับรู้โลกภายนอก เราก็เห็นสิ่งดี ๆ แต่ว่าก็ดูแลใจของเราให้ดี อย่าให้สติหายไปจากใจของเรา
การที่เราไปรับรู้โลกภายนอก ขณะเดียวกันก็ให้รู้ใจของเราด้วย นี้เป็นเรื่องที่สำคัญ
มีเกร็ดประวัติของท่านเว่ยหลาง ตอนที่ท่านได้รับตำแหน่งสังฆปริณายกองค์ที่ 6 แล้วท่านก็ลี้ภัยมาจนถึงเมืองกวางโจว ที่วัดกวงเสี้ยว ทุกวันนี้ก็ยังอยู่เลย 1,200-1,300 ปีมาแล้ว วัดในเมืองจีนนั้นมีอายุเป็นพัน ๆ ปีก็ยังมีอยู่ ที่เมืองไทยวัดมีอายุแค่ 200 ปียังหายาก แต่วัดในเมืองจีน 1,300 ปี 1,500 ปี เขายังอนุรักษ์ไว้
ก็มีเรื่องเล่าว่า ตอนที่ท่านเว่ยหลางไปถึงวัดกวงเสี้ยว กำลังมีการแสดงธรรมโดยอาจารย์ชื่อดัง คนมาฟังกันเต็มศาลาจนล้นออกมาข้างนอก
ระหว่างที่ฟังคำเทศนาของอาจารย์ คนที่อยู่ข้างนอกศาลาก็มีคนหนึ่งบังเอิญเหลือบไปเห็นธงนอกศาลากำลังปลิวไสวเลย ก็เลยชี้ให้เพื่อนดูว่าธงมันไหว เพื่อนดูแล้วบอกว่าไม่ใช่ธงมันไหวหรอก ลมมันไหวต่างหาก คราวนี้ก็โต้เถียงกันเลย
เถียงกันไปเถียงกันมา ปรากฏว่ามีคนมาร่วมวงเถียงกันเยอะขึ้นเรื่อย ๆ จาก 2 เป็น 3 เป็น 4 เป็น 5 ฯลฯ แล้วแบ่งเป็นข้างสองฝักสองฝ่ายเถียงกันว่า ธงไหวหรือลมไหว
ระหว่างที่เถียงกัน ก็เริ่มจะมีอารมณ์ เสียงก็ดังขึ้น ธรรมะที่อาจารย์ในศาลาสอน คนข้างนอกไม่สนใจฟังแล้ว เถียงกันอยู่นั่น จะเอาชนะคะคานกันให้ได้ว่า ตกลงธงไหวหรือลมไหว
จู่ ๆ ก็มีเสียงดังขึ้นมา เป็นเสียงจากท่านเว่ยหลางบอกว่า จิตของพวกท่านต่างหากที่ไหว ปรากฏว่าทุกคนหยุดเลย กำลังเถียงกันคอเป็นเอ็น พอได้ยินเท่านั้น หยุดเลย
เพราะว่าท่านเว่ยหลางเตือนให้มาดูใจ อย่าไปมัวสนใจแต่ว่า ธงไหวหรือลมไหว ให้มาดูใจด้วย ตาเห็นธง อันนี้ก็ดีอยู่ แต่ว่าสติต้องเห็นใจว่ามันกำลังร้อนรุ่ม หรือกำลังกระเพื่อมแค่ไหน มันเป็นหลักการปฏิบัติเลย
เป็นหลักปฏิบัติที่สำคัญของชาวพุทธ ในระดับของทั้งการดู การรับรู้โลกภายนอก แต่ก็ไม่ทิ้งโลกภายใน ขณะที่ตาเราเห็นรูปก็ให้มีสติเห็นใจด้วย
เพราะถ้าเรารับรู้แต่โลกภายนอก แล้วปล่อยจิต ส่งจิตออกนอก เราก็อาจจะปล่อยให้ใจมันถูกอารมณ์ครอบงำ อารมณ์ที่เกิดจากรูปกระทบตา เสียงกระทบหู แล้วใจกระเพื่อม เกิดอารมณ์ เกิดความยินดียินร้าย เกิดความพอใจไม่พอใจ
ถ้าเราไม่รักษาใจ ก็จะถูกอารมณ์เหล่านี้ครอบงำ เหมือนกับชายหนุ่มคนนั้นที่ไปชื่นชมสิ่งสวยงามในปราสาทจนเพลิน แล้วก็ลืมช้อนที่ตัวเองถือในมือ
มันเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะว่าถ้าเราไม่ดูใจของเรา ใจเราก็จะถูกอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดจากการกระทบ มันครอบงำได้ ไม่ใช่เฉพาะความเสียใจ ความโกรธ ความไม่พอใจ ความหงุดหงิด เท่านั้น แม้กระทั่งอารมณ์ที่เป็นบวก เราก็ต้องรู้ทันด้วย
อาจารย์ประสงค์ ปริปุณโณ ท่านเคยเล่าว่าท่านเคยไปงานศพของโยมคนหนึ่ง เจ้าภาพก็ให้ลูกสาวมาต้อนรับท่าน ท่านก็เลยคุยกับเธอซึ่งอายุประมาณ 10 ขวบได้
ท่านเห็นเด็กคนนี้ รู้สึกว่าฉะฉานดี เป็นคนสนใจธรรมะ จึงพูดขึ้นมาว่า “หนูเป็นเด็กฉลาด เดี๋ยวหลวงพ่อจะให้รางวัลหนู” ก็หยิบลูกประคำจากย่าม เด็กเห็นลูกประคำ เด็กก็ร้อง “โอ้โห”
อาจารย์ประสงค์ท่านไว จึงถามว่า “หนูร้อง โอ้โห หนูเห็นอะไร” แทนที่เด็กจะบอกว่า หนูเห็นลูกประคำ เด็กบอกว่า “หนูเห็นข้างในมันดีใจค่ะ”
ท่านถามต่อว่า “แล้วหนูทำอย่างไรกับมัน”
“หนูก็ดูมันเฉยๆ ค่ะ ตอนนี้มันสงบลงแล้ว”
น่าสนใจ ในขณะที่เด็กคนนี้ตามองเห็นลูกประคำ สติก็เห็นความดีใจ อันนี้เรียกว่า รู้ในแล้วก็รู้นอกไปพร้อมกัน เด็กไม่ได้ตอบว่าหนูดีใจ แต่ตอบว่าข้างในมันดีใจ คือเห็นความดีใจ แต่ไม่ใช่เป็นผู้ดีใจ เด็กเข้าใจ รู้จักการเห็นความคิดและอารมณ์
อาจารย์ประสงค์ถามต่อไปว่า หนูทำอย่างไรกับมัน เด็กก็ตอบว่าหนูก็ดูมันเฉยๆ ตอนนี้มันเบาลงแล้ว ความดีใจลดลงแล้ว นี้ก็คือ รู้ซื่อ ๆ ดูเฉย ๆ
ทั้งเรื่องของท่านเว่ยหลาง และเรื่องของเด็กคนนี้ ชี้ให้เห็นว่าเวลารูปกระทบตา เสียงกระทบหู เราต้องไม่ลืมที่จะมีสติดูใจ
เพราะเวลามีการกระทบเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรูปกระทบตา เสียงกระทบหู ธรรมชาติของปุถุชน มันก็จะมีอารมณ์เกิดขึ้น ดีใจเสียใจ ยินดียินร้าย แต่ถ้าเราไม่ดูใจของเรา อารมณ์นี้ก็จะมาครอบงำจิต แล้วมันก็สามารถจะบันดาลให้เราสุขหรือทุกข์ก็ได้ แม้สุขก็อาจจะสุขชั่วคราว
ดังนั้น เวลาเราปฏิบัติ หรือเวลาเราไม่ได้ปฏิบัติก็ตาม ในการดำเนินชีวิตของเรา เราต้องเกี่ยวข้องกับโลกภายนอกมาก อย่างน้อยก็รับรู้ รับรู้ด้วยตาหูจมูกลิ้นกาย แต่อย่าลืมว่า เราก็มีใจ
การรับรู้ของเราแต่ละครั้ง มันส่งผลกระทบต่อใจ แต่ไม่ใช่ว่าสิ่งที่มากระทบ มันจะมีอำนาจมีอิทธิพลเหนือใจเราได้ ถ้าหากว่าเรามีสติ เพราะสติ มันช่วยทำให้เห็นอาการที่เกิดขึ้นกับใจ
ไม่ว่าจะเป็นความคิด หรืออารมณ์ เป็นเพราะเราไม่เห็นมัน อารมณ์ที่เกิดขึ้นจากการกระทบ มันก็เลยครองจิตครองใจเรา เช่น เสียงดัง มากระทบหู ใจกระเพื่อม เกิดความหงุดหงิดขึ้นมา และไม่มีสติเห็นมัน เราก็จะเกิดความหงุดหงิดเข้ามาครองใจ
ฉะนั้น เวลาเรารับรู้อะไรก็ตาม อย่าลืม อย่ารับรู้ด้วยตา ด้วยหู ด้วยจมูก ด้วยลิ้น ด้วยกายอย่างเดียว ให้มีสติไปเห็นอาการของใจที่เกิดขึ้นคือการปฏิบัติ เรียกว่ารู้นอกรู้ใน
สิ่งที่เกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่ก็คือ รู้แต่ข้างนอกแต่ว่าไม่รู้ใน ไม่รู้ว่ามีอารมณ์เกิดขึ้นกับใจ แล้วก็ปล่อยให้อารมณ์นั้นครอบงำใจ
เหมือนกับคนที่เถียงกันว่า ลมไหวหรือธงไหว แต่ไม่ได้สังเกตว่าใจตอนนั้นกำลังโกรธ กำลังโมโห อันนี้เขาเรียกว่า ส่งจิตออกนอก
เปรียบเหมือนกับว่า ไปชื่นชมกับอะไรต่ออะไรมากมายรอบตัว แต่ปล่อยให้น้ำมันในช้อนมันหล่นหมด อย่างที่ว่าน้ำมันจะหมายถึงสติก็ได้ ช้อนก็หมายถึงใจ
แต่หลายคนพอมาปฏิบัติแล้ว ไปทำอีกอย่างหนึ่งคือ มาสนใจแต่ช้อน ไปไหนก็ดูแต่ช้อน ระวังแต่ช้อน จนกระทั่งมองไม่เห็นอะไรที่อยู่รอบตัวเลย
อย่างตอนแรก ชายหนุ่มคนนั้นเดินไปรอบปราสาท แต่ไม่เห็นอะไรเลย เพราะว่ามัวแต่สนใจช้อน ระวังไม่ให้น้ำมันมันหล่นจากช้อน อันนี้ก็เหมือนกับบางคนที่ปฏิบัติ ก็จะเพ่งจ้องดูจิตอย่างเดียวเลย เอาจิตมาเพ่งอยู่ที่เท้า หรือมิฉะนั้นก็ดักจ้องมองจิต ว่ามันจะมีความคิดโผล่มาไหม
ไม่ว่าจะเพ่งที่เท้า หรือว่าจะไปเพ่งที่จิต เพ่งที่เท้าเพื่อไม่ให้จิตส่งออกนอก หรือว่าบังคับจิต เพ่งที่จิต เพื่อไม่ให้มันมีความคิดผุดขึ้นมา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่า ไม่รู้ว่ามีอะไรอยู่ข้างนอก
อย่างเดินรอบสระ หลายคนก็เพ่งที่เท้า หรือว่าจ้องดูจิต เลยไม่ได้ยินเสียงจิ้งหรีด คนที่ไม่ได้ยินเสียงจิ้งหรีด มี 2 อย่าง คือว่าใจลอย คิดไปโน่นไปนี่ อันนี้ก็ส่งจิตออกนอก ก็เลยไม่รับรู้ว่ามันมีเสียงจิ้งหรีดร้องอยู่ใกล้ๆ
หรืออีกประเภทหนึ่ง ก็คือว่า เพ่ง ควบคุมบังคับจิต ก็เลยไม่ได้ยินเสียงจิ้งหรีด หรือไม่รับรู้อะไรเลย ที่อยู่รอบตัว แบบนี้ก็ไม่ถูก มันต้องรู้นอกและรู้ใน
ตอนที่หลวงพ่อคำเขียนท่านปฏิบัติใหม่ๆ ท่านก็ชอบสมถะ ให้จิตแน่นิ่งอยู่กับลมหายใจ แต่ตอนหลังท่านก็เริ่มปฏิบัติแบบหลวงพ่อเทียน
มีวันหนึ่ง ท่านปฏิบัติอยู่ในกุฏิ หลวงพ่อเทียนก็มาหา ท่านยืนอยู่ข้างนอกกุฏิ แล้วก็ถามหลวงพ่อคำเขียนว่า “ทำอะไรอยู่”
หลวงพ่อคำเขียนตอบ “กำลังเจริญสติครับ”
“อยู่ตรงนั้นน่ะ เห็นผมไหม”
หลวงพ่อคำเขียนบอก “ไม่เห็นครับ”
ทำอย่างไรถึงจะเห็น ให้หลวงพ่อคำเขียนมายืนอยู่ที่ตรงประตู คราวนี้หลวงพ่อเทียนถามใหม่ “เห็นผมไหม” หลวงพ่อคำเขียนบอก “เห็นครับ”
“แล้วในห้องเห็นไหม” หลวงพ่อคำเขียนบอก “เห็นครับ”
หลวงพ่อเทียนก็บอกว่า ให้ทำอย่างนั้น เห็นทั้งข้างนอก เห็นทั้งข้างใน
หลวงพ่อคำเขียน ตอนนั้นก็นึกไม่ออกว่าหลวงพ่อเทียนกำลังสอนอะไร ตอนหลังก็เข้าใจแล้วว่า ท่านบอกว่าอย่าไปส่งจิตออกนอก ขณะเดียวกันก็อย่าไปเพ่งเข้าใน
นักปฏิบัติจำนวนมาก จะเอาจิตมาเพ่งดูข้างใน จนกระทั่งไม่รับรู้โลกภายนอก แต่บางคนเนื่องจากไม่ได้ปฏิบัติ ก็เลยสนใจรับรู้แต่โลกภายนอก ไม่รู้ว่าใจคิดอะไร หรือมีความรู้สึกอย่างไร
ดังนั้น ไม่ว่าเราจะปฏิบัติหรือดำเนินชีวิตประจำวัน ก็ให้เราไม่เพียงแต่ ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง แต่ต้องมีสติเห็นใจด้วย ทำอะไร เกี่ยวข้องกับใคร กินอะไร เราต้องรับรู้อย่างถูกต้อง แต่ว่าไม่ลืมใจของเราตอนนั้นว่ามันเป็นอย่างไร
ถ้าเราไปเพ่งแต่ข้างใน เราก็ไม่รับรู้โลกภายนอก แต่ถ้าเรามัวแต่ส่งจิตออกนอก เราก็ไม่เห็นใจ ไม่เห็นอารมณ์ที่เกิดขึ้น แล้วก็ปล่อยให้มันรบกวนจิตใจ
เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปราชญ์คนนั้นบอกว่า เคล็ดลับแห่งความสุขก็คือ การที่รู้จักมองสิ่งต่างๆ นอกตัว สิ่งสวยงาม แต่ก็อย่าลืมช้อนที่ถือในมือ อย่าให้น้ำมันมันหก อันนี้เป็นแง่คิดที่ดีมาก
แต่ถ้าคนที่ไม่ปฏิบัติ บางทีก็เข้าใจยากว่ามันเป็นเคล็ดลับแห่งความสุขได้อย่างไร มันเป็นเคล็ดลับแห่งความสุขก็เพราะว่า มันทำให้เราสามารถจะรับรู้สิ่งดีๆ ที่มีอยู่รอบตัว หรือมีอยู่กับตัวเราได้ ในขณะเดียวกันก็ไม่หลงเพลิน
เช่นเดียวกัน เมื่อเราเจอสิ่งที่แย่ ๆ เสียงดัง อากาศร้อน แต่ว่าถ้าเราดูใจ ดูแลรักษาใจให้ดี มันก็ไม่ทุกข์ เสียงดังกระทบหู แต่ว่าความหงุดหงิดไม่ครองใจ เพราะว่ารักษาใจไว้ได้ หรือเพราะมีสติ รู้ทันความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับใจ
ฉะนั้น เจออะไร ไม่ว่าจะเป็นอิฏฐารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์ มันก็ไม่เผลอ ไม่พลั้ง เจออิฏฐารมณ์คือรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสที่น่าพอใจ ก็ไม่เพลิดเพลินยินดีจนลืมตัว เจออนิฏฐารมณ์ รูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสที่ไม่ถูกใจ ก็ไม่ทุกข์ ยังเป็นปกติอยู่ได้.