พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 28 ตุลาคม 2567
ผู้คนส่วนใหญ่เวลาปรารถนาความสุขก็ไม่ค่อยนึกถึงธรรมะเท่าไหร่ จะนึกถึงธรรมะก็ต่อเมื่ออยากจะแก้ทุกข์ อันนี้เป็นเหตุผลที่ว่าผู้คนส่วนใหญ่ต่อเมื่อมีทุกข์แล้วจึงสนใจธรรมะ อยากจะได้ธรรมะเพื่อมาช่วยแก้ทุกข์ มาบำบัดทุกข์
ทำไมเวลาปรารถนาความสุขจึงไม่ค่อยได้นึกถึงธรรมะเท่าไหร่ ก็คงเป็นเพราะว่าเวลานึกถึงความสุข ผู้คนก็นึกถึงการเสพ การกิน การดื่ม การเที่ยว การเล่น หรือมิเช่นนั้นก็สุขจากการมี การได้ มีเงิน ได้โชคลาภ หรือว่าได้ช็อป
มันก็น่าคิด เวลาปรารถนาความสุข มักไม่ค่อยได้นึกถึงธรรมะ อาจจะเป็นเพราะว่าความสุขที่เขานึกถึง เป็นความสุขที่อาศัยการเร้าจิต กระตุ้นกาย
การเสพที่ทำให้คนมีความสุข ให้เราสังเกตดู ล้วนแล้วแต่เป็นการหาสิ่งมากระตุ้นเร้า ไม่กระตุ้นเร้าจิต ก็กระตุ้นเร้ากาย สุขจากอาหารเกิดขึ้นจากอะไร เกิดจากกินอาหารที่มันมีรสชาติกระตุ้นลิ้น หรือว่าฟังเพลงทำไมจึงมีความสุข ก็เพราะว่ามันไปกระตุ้นใจ รวมไปถึงความสุขอย่างอื่น ความสุขทางเพศด้วย มันก็ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่กระตุ้นไม่กายก็ใจ
และยังรวมไปถึงความสุขจากการที่ได้ไปมีประสบการณ์อะไรแปลก ๆ ใหม่ ๆ อาจจะเป็นประสบการณ์จากการได้ท่องเที่ยว เห็นสิ่งแปลกหูแปลกตา ได้กินของอาหารแปลก ๆ พวกนี้ก็เป็นการเร้าจิตกระตุ้นใจทั้งนั้น หรือไม่ก็เร้าจิตกระตุ้นกาย
บางคนก็ชอบผจญภัย การท่องเที่ยวสำหรับหลายคนมันคือการผจญภัย แล้วการผจญภัยนี้บางครั้งก็ไม่ต้องไปเที่ยวที่ไหน ทำไมวัยรุ่นหลายคนจึงมีความสุขกับการเล่นเกม เพราะมันกระตุ้นจิตใจให้เกิดความฮึกเหิม เกิดความตื่นเต้น อยากจะเอาชนะ ยิ่งชนะได้ก็ยิ่งมีความสุข
แต่บางคนรู้สึกว่าความตื่นเต้นจากเกมออนไลน์มันยังไม่พอ ก็ต้องไปแข่งรถซิ่งทำอะไรที่มันผาดโผน เสี่ยงตาย เสี่ยงอันตราย เพราะอะไร เพราะมันเร้าใจ มันกระตุ้นจิตให้เกิดความตื่นเต้น เลือดลมสูบฉีด ฮอร์โมนพลุ่งพล่าน
สำหรับหลายคนนี่คือความสุข ล้วนแต่เป็นความสุขที่เกิดจากการเร้าจิตกระตุ้นกาย แต่ไม่ค่อยได้นึกถึงความสุขจากการประพฤติธรรมเท่าไหร่
อาจจะเป็นเพราะว่าความสุขจากการมีศีลมีธรรมมันดูจืดชืด มันเรียบเกินไป แต่ที่จริงนั่นคือคุณค่าของความสุขอีกชนิดหนึ่ง มันไม่ใช่ความสุขที่เกิดจากสิ่งเร้าจิตกระตุ้นกาย แต่มันคือความสงบใจ รวมทั้งอย่างต่ำ ๆ ก็ทำให้ไม่ต้องเจอกับทุกข์ที่มาสร้างความเดือดเนื้อร้อนใจ
เพียงแค่ไม่มีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจเพราะว่าไม่ได้ไปเบียดเบียนใคร ไม่ได้ทำอะไรที่ผิดศีลผิดธรรม มันก็น่าจะถือว่าเป็นความสุขได้ เรียกว่าความปกติสุข
หลายคนไม่รู้หรือไม่ตระหนักว่าการที่ไม่มีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ เป็นความสุขอย่างหนึ่ง จนมารู้ก็ต่อเมื่อเจอเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ อาจผิดศีลผิดธรรมแล้วก็มีคนต่อว่าด่าทอบ้าง หรือว่ามีคนที่จะเอาเรื่องเอาราว มีการแจ้งตำรวจ เพราะว่าลักขโมย เพราะทำร้ายร่างกายเขา ถึงตอนนี้จึงค่อยรู้ว่าการที่ไม่มีเรื่องราวเหล่านี้มันเป็นความสุขอย่างหนึ่งในชีวิต
อันที่จริงคนส่วนใหญ่ก็มีประสบการณ์หรือประสบภาวะเช่นนั้นอยู่แล้ว คือชีวิตนี้ไม่ค่อยมีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นไม่ได้ไปสร้างความทุกข์ไปเบียดเบียนใคร หรืออาจจะเป็นเพราะว่าเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจมันยังมาไม่ถึงตัว
ฉะนั้นถ้าหากว่าเฉลียวใจนึกสักหน่อยว่า การที่ชีวิตเราราบรื่นเป็นปกติสุขนี้ ถือว่าเป็นโชค หรือถือว่าเป็นความสุขอย่างหนึ่ง แต่คนเราก็ไม่ค่อยได้นึกว่านี่คือความสุข อาจจะเป็นเพราะมันจืดชืดเกินไป
เพราะฉะนั้นเวลาอยากจะเพิ่มสุขให้ตน ก็เลยต้องไปขวนขวายหาสิ่งเสพ หาอะไรใหม่ ๆ มาปรนเปรอ อันนี้คือเหตุผลว่าเวลาถึงวันปีใหม่ ใคร ๆ ก็อยากจะมีความสุขในวันปีใหม่ Happy New Year ก็ต้องหาอะไรพิเศษที่จะได้เสพ ได้เที่ยว ต่อเมื่อมีความทุกข์อาจจะเป็นเพราะเจ็บป่วย คนรักตีจาก หรือว่าลูกล้มหายตายจากไป หรือว่าธุรกิจเกิดล้มเหลวล้มละลาย หรือว่าถูกฟ้องร้องมีคดีความ ตอนนี้แหละเรียกว่าเกิดทุกข์ขึ้นแล้ว
พอเกิดทุกข์ขึ้นมาก็เลยนึกถึงธรรมะ ทำไมนึกถึงธรรมะ ก็เพราะพบว่าเงินทองที่มี หรือว่าสิ่งเสพที่เคยให้ความสุข มันไม่สามารถจะดับทุกข์ได้ เวลามีความทุกข์เพราะเจ็บ เพราะป่วย เพราะสูญเสียคนรัก เพราะสูญเสียทรัพย์สิน งานการล้มเหลว มีอุปสรรค การดูหนังฟังเพลงนี้มันไม่ได้ช่วยทำให้หายทุกข์เลย
หรือว่าการไปเที่ยวต่างประเทศหรือเล่นเกมออนไลน์ มันไม่ได้ช่วยทำให้ความทุกข์หายไปเลย ยศศักดิ์ที่คิดว่าจะทำความสุขให้กับตน เวลาได้เป็นผู้จัดการ ได้เป็นผู้อำนวยการ ได้เป็น CEO มีความสุขมาก แต่ความสุขที่ว่านี้มันไม่สามารถจะช่วยดับทุกข์ในใจได้เลยเวลาเจอเหตุร้าย ถึงตอนนี้จึงค่อยมานึกถึงธรรมะ
อันนี้ก็คือเหตุผลว่าทำไมผู้คนจะเข้าหาธรรมะก็ต่อเมื่อมีความทุกข์ ถ้าไม่มีความทุกข์หรือว่าชีวิตปกติสุขก็ไม่สนใจ นึกถึงแต่จะหาความสุขให้มากขึ้น แต่ถ้าเฉลียวใจสักหน่อยว่าความสุขที่ได้มา มันไม่ได้ช่วยทำให้เรามีความพร้อมในการเผชิญกับความทุกข์ในวันข้างหน้าเลย หรือว่าในยามที่ชีวิตปกติราบรื่น
ฉะนั้นถ้าคิดสักหน่อยว่าวันหน้าอาจจะเกิดความผันผวนปรวนแปรในชีวิต เกิดความทุกข์ขึ้นมา ตอนนั้นมีอะไรที่เป็นต้นทุนให้สามารถจะแก้ทุกข์ได้บ้าง หลายคนอาจจะประมาทคิดว่า มีเงิน มีทอง มีความรู้ มีชื่อเสียง มียศศักดิ์ พวกนี้จะช่วยจัดการกับความทุกข์ได้ แต่เอาเข้าจริง ๆ ก็ช่วยไม่ได้ ไม่อย่างนั้นพวกนักการเมืองที่มีอำนาจ มหาเศรษฐี เขาก็ไม่มีความทุกข์สิ แต่ทำไมเขายังมีความทุกข์ เพราะว่าสิ่งที่เขามีที่คิดว่ามันจะให้ความสุขกับเขา จริง ๆ แล้วมันแก้ทุกข์ไม่ได้
เป็นเพราะผู้คนเข้าหาธรรมต่อเมื่อมีความทุกข์ พระพุทธเจ้าจึงเอาทุกข์นี้มาเป็นข้อแรกของอริยสัจ 4 เรียกว่าเพื่อดึงดูดให้คนที่มีความทุกข์หันมาเหลียวมอง แต่ถ้าจะเอาความสุขมาล่อมาดึงดูดใจของคนส่วนใหญ่ ก็คงจะไม่ค่อยได้ผล เพราะเขารู้สึกว่าความสุขจากธรรมะนี้ มันไม่ค่อยมีรสชาติเท่าไหร่ ทั้งที่มันมีรสชาติที่ประเสริฐมาก มันคือสุขเพราะสงบ หรือสุขจากความสงบ ซึ่งตรงข้ามกับสุขเพราะมีสิ่งกระตุ้นจิตเร้าใจหรือกระตุ้นจิตเร้ากาย
ความสุขจากธรรมะนี้ประเสริฐมากแต่ว่ามันไม่ค่อยมีเสน่ห์ในสายตาของผู้คนส่วนใหญ่ ตราบใดที่ชีวิตนี้ยังปกติสุขหรือยังราบรื่น ต่อเมื่อมีความทุกข์นั่นแหละจึงค่อยเหลียวมองแสวงหาธรรมะ แล้วที่จริงก็จะพบว่าเมื่อทุกข์หมดไปหรือทุกข์แก้ได้ มันสุขอย่างยิ่ง ความสุขบางครั้งมันไม่จำเป็นต้องได้เสพอะไรที่แปลกหูแปลกตาหรือเร้าจิตกระตุ้นกาย เพียงแค่ทุกข์หมดไป มันก็สุขอย่างยิ่งแล้ว
ด้วยเหตุนี้ห้องส้วมจึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า ห้องสุขา เพราะอะไร เพราะว่าพอปวดท้องแล้วได้ถ่ายท้อง ได้ปลดเปลื้องของหนักลงไปมันสบาย ฉะนั้นความสุขแบบนี้คนก็ไม่ค่อยได้นึกถึงคือสุขเพราะความทุกข์มันดับไป หรือสุขเพราะปลดเปลื้องความทุกข์ได้
ที่จริงในบทสวด จะมีข้อความหนึ่งที่น่าคิดมากแล้วก็น่าจะพิจารณา คือ การสลัดของหนักทิ้งลงเสียเป็นความสุข บทภารสุตตคาถา ขันธ์ทั้ง 5 เป็นของหนักเน้อ การแบกถือของหนักเป็นความทุกข์อย่างยิ่ง การสลัดของหนักทิ้งลงเสียเป็นความสุข
ฉะนั้นเวลามีความทุกข์แล้วเราได้แก้ทุกข์ มันมีความสุขเลย ยังไม่ต้องเจอความสงบอย่างชนิดที่เรียกว่าสงบเพราะพ้นทุกข์ก็ได้ หรือพ้นกิเลส แค่เวลามีความทุกข์แล้วมันเรียกว่าอาจจะเป็นทุกข์ทางโลก ทุกข์ทางกาย แต่ว่าพอเอาความทุกข์นั้นดับไป หายไป ใจมันก็เบาเลย ยิ่งถ้าเข้าถึงความสงบที่เกิดจากการฝึกจิตก็จะพบความสุขอย่างยิ่ง จิตที่ฝึกไว้ดีแล้วนำสุขมาให้
คนไม่ค่อยได้นึกเท่าไหร่ว่าถ้าปรารถนาความสุขอย่างยิ่ง มันก็ต้องฝึกจิต ก็คือธรรมะนั่นเอง อย่างไรก็ตามแม้ธรรมะจะช่วยแก้ทุกข์ ดับทุกข์ แล้วทำให้เกิดสุขได้ แต่ถ้าไม่ระวังก็อาจจะทุกข์เพราะธรรมะ แต่ที่จริงจะว่าไปไม่ได้ทุกข์เพราะธรรมะ แต่ที่ทุกข์เพราะว่าปฏิบัติธรรมหรือประพฤติธรรมไม่ถูกต้อง
อย่างหลายคนที่รักษาศีล 5 อย่างจริงจัง จะว่าไปเขาก็มีความสุขเพราะว่าเขาไม่มีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจจากการผิดศีลผิดธรรม แต่บางคนพอมุ่งมั่นกับการรักษาศีลมาก เวลาเผลอทำอะไรผิดพลาดขึ้นมา อาจจะเหยียบมดสักตัวโดยไม่ได้ตั้งใจจะทุกข์เลย ทุกข์จนประเภทว่ากลุ้มอกกลุ้มใจเลยทีเดียว
เหมือนกับมีแม่ชีคนหนึ่งที่เคร่งศีลมาก วันหนึ่งซักผ้าเห็นมดตายอยู่ในกะละมัง แกเครียดมากเลย ศีลฉันพร่องแล้ว คิดกลัดกลุ้มจนกระทั่งไม่มีความสุขเลย ปรากฏว่าพอตายไม่กี่วันหลังจากนั้น จิตนี้มันนึกถึงเหตุการณ์ที่ว่ารู้สึกเศร้าหมอง อาสันนกรรมเป็นอกุศล ปรากฏว่าไปอบายเลย
การที่เคร่งในศีลนี้ดี แต่ถ้าเคร่งแบบยึดติดถือมั่นมันก็นำมาซึ่งความทุกข์ บางคนตอนเด็ก ๆ ก็ไม่ค่อยสนใจเรื่องศีล แต่พอโตขึ้นก็เห็นคุณค่าของศีล แล้วพอนึกไปถึงวัยเด็กที่เคยยิงนกตกปลา จิตใจเศร้าหมองเลย รู้สึกแย่มาก ทั้ง ๆ ที่มันเป็นอดีต ไม่สามารถรู้จักปลดเปลื้องความรู้สึกผิดที่ได้ทำไปแล้ว สีหน้าหมองคล้ำเลย
อันนี้ก็เรียกว่ารักษาศีลอย่างไม่ถูกต้อง คือไปยึดมั่นถือมั่นมาก ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าไม่ได้ฝึกจิตเอาไว้ด้วย แต่ฝึกจิตก็ไม่แน่เหมือนกัน หลายคนที่ฝึกสมาธิ ฝึกสติ แล้วทุกข์มากเลย บางคนไปเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม ตั้งใจฝึกมากเลย ปรากฏว่าเครียดเพราะความคิดมีความฟุ้งเกิดขึ้น กดข่มความคิดไม่ได้ ความคิดมันรบกวน จนกระทั่งทุบอกตัวเองต่อหน้าผู้คน
อันนี้เรียกว่าทุกข์มากจนลืมตัว พระบางรูปก็เอารองเท้าแตะฟาดหัว นี้แสดงว่ายิ่งปฏิบัติ ยิ่งมีความทุกข์ เพราะว่าปฏิบัติไม่ถูก ปฏิบัติด้วยความยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องเอาให้ได้ ยึดติดกับความคาดหวังว่าจะต้องสงบ ต้องไม่มีความคิดฟุ้งซ่านเกิดขึ้น จะเรียกว่าทำด้วยกิเลสก็ได้ ไม่ว่าจะรักษาศีลหรือว่าปฏิบัติเจริญสติ ถ้าทำด้วยความยึดมั่นถือมั่นมันก็ทำให้เกิดทุกข์
ในสมัยพุทธกาล บางท่านเดินจงกรมจนกระทั่งเลือดเปรอะพื้นเป็นทางแนวยาวเลย อย่างพระโสณโกฬิวิสะ เพราะว่าท่านเป็นพวกสุขุมาลชาติ ผิวบาง เดินจงกรมด้วยเท้าเปล่า เท้าแตกก็ยังไม่เลิกเดิน เดินไม่ได้ก็คลานเอา แต่ว่าก็ยังไม่พบความสงบ ยังไม่เห็นความคืบหน้า ก็เลยท้ออยากจะสึก
จนกระทั่งพระพุทธเจ้าต้องมาแนะให้ทำความเพียรแต่พอดี โดยเปรียบพิณ 3 สาย เพราะว่าพระโสณะเคยเล่นพิณ 3 สาย ก็เลยเข้าใจว่า สายพิณถ้ามันขึงตึง ก็ไม่ดังเวลาดีด ถ้าหย่อนไป ดีดไปก็ไม่เพราะ มันต้องขึงพอประมาณ บางคนก็เลยเข้าใจ นี่คือทางสายกลาง มันคือความเพียรแต่พอดี
มีคำที่ใช้สำหรับความเพียรแต่พอดีว่า วิริยสมตา ซึ่งเกิดขึ้นได้ถ้าจิตนี้ไม่คิดจะเอา จะเอาให้ได้ จะเอาให้ได้ ธรรมะแม้จะดีแต่ถ้าปฏิบัติผิดก็เกิดโทษ
เช่นเดียวกับวินัย บางพระบางรูปในสมัยพุทธกาลบวชไปนาน ๆ สักพักบอก “ไม่ไหวแล้ว วินัยสิกขาบทเยอะเหลือเกิน” ท่านก็คงเป็นคนที่ทำอะไรจริงจัง เพราะฉะนั้นมีสิกขาบท 227 ข้อ ก็ต้องปฏิบัติให้ได้ พอปฏิบัติผิดก็โมโห หงุดหงิด เป็นทุกข์ แทนที่จะเอามาเป็นบทเรียน ก็เก็บเอามาคิด จนกระทั่งทูลลาสิกขากับพระพุทธเจ้าว่า บวชไม่ไหวแล้ว ทุกข์เหลือเกิน นี้เป็นอาการของคนที่ตั้งใจมาก
ถ้าคนที่ไม่ได้ตั้งใจมาก หรือว่าเป็นพวกเรียกว่าไม่เอาใจใส่กับพระวินัย เขาไม่ทุกข์หรือไม่คิดจะสึก ไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไรถ้าจะผิดศีล ก็เลยอยู่ไปแบบวัน ๆ หนึ่ง ไม่มีความทุกข์ร้อนอะไร
คนที่ทุกข์ร้อนจนกระทั่งอยากจะสึกเพราะว่าสิกขาบทมีเยอะ มักเป็นกับคนที่ตั้งใจมาก แล้วมาพบว่าเดี๋ยวก็อาบัติข้อนี้ อาบัติข้อนั้น ทำใจไม่ได้ ก็เลยจะทูลขอสึกพระพุทธเจ้าจึงบอกว่า ถ้าให้ปฏิบัติข้อเดียว ทำได้ไหม พระอนุรุทธบอกว่าได้ พระพุทธเจ้าจึงบอกให้รักษาใจ
คือเวลาต้องอาบัติ โมโหตัวเอง โทษตัวเอง ก็รักษาใจให้เห็นความหงุดหงิด ความไม่พอใจ แล้วก็ปล่อยวาง ตั้งใจใหม่ ไม่มัวแต่ปล่อยให้ความโกรธ ความหงุดหงิดมาทิ่มแทงใจ รักษาใจให้ปกติ มีความโลภ มีความหลง ก็อย่าให้มันครองใจ มีความเผลอกลับมารู้เนื้อรู้ตัว การที่จะผิดสิกขาบทมันก็เกิดขึ้นได้น้อย หรือถึงผิดก็มาเริ่มต้นกันใหม่ ปรากฏว่าในที่สุดท่านก็บรรลุผลอรหัตตผล
มีหลายท่านในสมัยพุทธกาล ตั้งใจปฏิบัติมาก บวชเพื่อความพ้นทุกข์ บางท่านบวชมา 25 ปี อย่างพระสัปปทาส รู้สึกแย่กับตัวเองมากเพราะว่ามีความฟุ้งซ่าน มีกามราคะ ร้อนผ้าเหลืองแต่ว่าสึกไม่ได้ ทำยังไง คิดฆ่าตัวตายดีกว่า
ท่านตั้งใจบวชมาก แต่สุดท้ายมีความคิดจะฆ่าตัวตาย อยู่เป็นพระไม่ไหวแล้ว ไปเอามีดจะมาเชือดคอตัวเองแล้ว บางตำราบอกว่าลงมือแล้วด้วย แต่ว่าตอนที่เกิดทุกขเวทนา เกิดได้สติ มาพิจารณาเห็นว่าตัวเองนั้นศีลก็ไม่ได้บกพร่องอะไร ตลอดที่บวชมา 25 ปี สิกขาบทก็ไม่ได้ละเลย
พอได้มาใคร่ครวญ ศีลของเราก็ไม่ได้มัวหมองอะไร เกิดปีติขึ้นมา ก็ได้สติ ท่านว่าเกิดโยนิโสมนสิการ เห็นสังขารว่าเป็นทุกข์ แล้วจิตหลุดพ้นเลย ปรากฏว่าได้บรรลุอรหัตตผลขณะที่เตรียมตัวจะฆ่าตัวตาย หรือว่าบางตำราบอกว่าลงมือแล้วด้วย
อันนี้ก็เป็นตัวอย่าง คนที่ปฏิบัติธรรมเพื่อหวังจะแก้ทุกข์ ไป ๆ มา ๆ กลับมีทุกข์มากขึ้น ทุกข์กว่าคนที่ไม่ได้ปฏิบัติเสียอีก แต่ยังดีที่กลับได้สติ เปลี่ยนความคิดได้ทัน จะเป็นเพราะมีคำแนะนำจากพระพุทธเจ้า หรือว่าเกิดโยนิโสมนสิการ
นี้คือชี้ให้เห็นเลยว่า ธรรมะนี้แม้จะแก้ทุกข์ได้ แต่ถ้าหากว่าปฏิบัติไม่ถูก มันก็ทำให้ทุกข์มากขึ้น ถึงขั้นอยากจะฆ่าตัวตายก็มี ถึงขั้นอยากจะสึกหาลาเพศ บอกไม่ไหวแล้ว หรือบางทีก็ถูกอกุศลจิตอกุศลธรรมฉุดลงอบายก็มี
ทั้งหมดนี้ก็เพราะความยึดมั่นถือมั่นในธรรมะ หรือพูดอย่างง่าย ๆ คือประพฤติธรรมไม่ถูกต้อง มีคำพูดว่า “ธรรมที่ประพฤติดีแล้ว นำสุขมาให้” ความหมายตรงข้ามกับ “ธรรมที่ประพฤติไม่ถูกต้อง นำทุกข์มาให้” อันนี้ก็เป็นข้อที่ควรระวัง ถึงแม้ว่าธรรมะนี้จะช่วยแก้ทุกข์ได้ แต่ถ้าปฏิบัติไม่ถูกต้องมันก็เพิ่มทุกข์เหลือประมาณเลยทีเดียว
ก็เหมือนกับการทำอะไรก็ตามแม้จะดี แต่ต้องทำให้ถูกต้อง ถ้าทำไม่ถูกต้องอาจจะเกิดผลเสียได้ เหมือนกับขับรถ รถพาเราไปถึงเป้าหมาย แต่ถ้าขับไม่ถูกต้องมันก็อันตรายมาก อาจจะทำร้ายชีวิตคน หรือว่าทำให้ตัวเองเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตได้
เพราะฉะนั้นธรรมะแม้ว่าจะพาให้เกิดสุข แล้วก็ช่วยแก้ทุกข์ ก็ต้องตระหนักว่าต้องทำให้ถูกต้อง ถ้าทำไม่ถูกต้อง มันเกิดความเสียหายมาก.