พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 19 ตุลาคม 2567
หลังจากที่ทอดกฐินเสร็จแล้ว การออกพรรษาในทางปฏิบัติก็จะเริ่มต้นขึ้น การแยกย้ายไปจาริกที่อื่นก็จะเริ่มต้น พระบางรูปก็ได้กำหนดที่จะสึกหาลาเพศออกไป แล้วก็จะเดินทางกลับบ้าน
ส่วนนักปฏิบัติธรรมที่มาจำพรรษาก็เหมือนกัน จากวันนี้ไปก็เริ่มทยอยกันกลับบ้าน เช่นเดียวกับหลายท่านที่มาร่วมงานกฐินตั้งแต่วันสองวันก่อน พรุ่งนี้ก็เริ่มทยอยกันกลับบ้าน
หลายคนก็รู้สึกดีใจที่ได้กลับบ้าน เพราะว่าคนเราทุกคนก็ล้วนแต่มีความผูกพันกับบ้าน แม้ว่าตอนอยู่บ้าน อยากจะออกไปท่องเที่ยวตามที่ต่าง ๆ แต่พอไปแล้ว ความรู้สึกดี ๆ ย่อมเกิดขึ้นเมื่อได้กลับบ้าน
แม้บางคนอาจจะอยากเที่ยวต่อ แต่พอได้กลับบ้านแล้วก็รู้สึกสบายใจ เป็นธรรมชาติของคนเรา เราจะรู้สึกดีเมื่อได้กลับบ้าน
ใจของเราก็เหมือนกัน ถ้าใจของเราไม่ว่าไปเที่ยวไหน ระเหเร่ร่อนที่ใด ย่อมยินดีที่ได้กลับบ้าน
คนส่วนใหญ่ คิดแต่การพาตัวให้ถึงบ้าน แต่ไม่ค่อยได้นึกถึงการพาใจกลับบ้าน
ใจของเรา มีนิสัยชอบเที่ยว แต่ว่าถ้าได้กลับบ้านเมื่อไร เขาก็จะรู้สึกปลอดโปร่ง อบอุ่น
บ้านของเราที่รออยู่ อาจจะที่กรุงเทพฯ หาดใหญ่ ขอนแก่น มันเป็นบ้านที่ก่อด้วยอิฐ สร้างด้วยปูน ก็มีประโยชน์อยู่ แต่ก็อย่าลืมว่าใจของเรา ก็มีบ้านเหมือนกัน ถ้าเรารู้จักพาใจกลับบ้าน เราก็จะมีความสุขได้ง่าย
บ้านของใจอยู่ที่ไหน ในเบื้องต้นก็คือ อยู่กับกาย อยู่กับเนื้อกับตัว เราไม่ค่อยสนใจที่จะพาใจกลับบ้านเท่าใด ปล่อยให้ใจมันกลับเอง ใจคนเราไม่ว่าจะระเหเร่ร่อน ระหกระเหิน หรือท่องเที่ยวอย่างไร ไม่ช้าก็เร็ว ก็จะกลับมาบ้าน กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว แต่ว่าบ่อยครั้ง ก็ระเหเร่ร่อนไปไกลเลย แล้วบางครั้งก็สะบักสะบอมเหนื่อยล้า เพราะว่าไหลไปอดีต ย้อนกลับไปสู่เรื่องราวที่เจ็บปวด หรือว่าความสูญเสียที่เกิดขึ้น
ทุกครั้งที่ใจมันย้อน ถอย กลับไปถึงเรื่องราวในอดีต มันก็พาเอาความเศร้า ความโศก ความโกรธ หรือแม้กระทั่งความแค้น กลับมาทับถมภายในใจของเรา หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า พอใจมันย้อนถอยหลังกลับไปถึงเรื่องราวในอดีต มันก็จะเจอกับเรื่องที่ทำให้เจ็บปวดรวดร้าว
เวลาใจไหลไปถึงเรื่องราวในอนาคต ทั้ง ๆ ที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่ว่ามันก็อดปรุงแต่งไปในทางลบทางร้ายไม่ได้ นึกถึงอนาคตแล้ว เห็นแต่ปัญหา มีแต่เรื่องที่น่ากลัว มีแต่เรื่องที่ทำให้เครียด วิตกกังวล กลุ้มอกกลุ้มใจ
เพราะเหตุนี้พอใจกลับมาบ้าน กลับมาอยู่กับกาย กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว จะรู้สึกโปร่ง แต่ปัญหาคือ ใจอยู่บ้านไม่นาน มันก็ไปอีกแล้ว เราต้องรู้จักชักชวนใจให้กลับบ้านอยู่บ่อย ๆ แล้วกลับมาบ้านก็อยู่นานๆ หน่อย อะไรที่จะพาใจกลับบ้านได้ มันก็คือสติ คือความระลึกได้ ระลึกได้ว่าไหลลอยไปไกลแล้ว กลับมาได้แล้ว
เราทุกคนมีความสามารถที่จะพาใจกลับบ้าน แล้วถ้าเราหาทางพาใจกลับบ้านบ่อย ๆ แล้วก็อยู่บ้านอย่างต่อเนื่อง เราจะมีความสุขได้ง่าย มีความทุกข์ได้น้อยลง
การปฏิบัติ ที่เรามาฝึกกันที่นี่ ก็คือเพื่อฝึกให้ใจรู้จักกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวบ่อย ๆ
ใจเรา เราจะห้ามไม่ให้มันไป หรือว่าไหลไปอดีต ลอยไปอนาคต หรือส่งจิตออกนอก มันยาก การปฏิบัติหลายวิธีการ เขาก็พยายามที่จะควบคุมจิตไม่ให้ไป เช่น บังคับจิตให้มาอยู่ที่ลมหายใจ บังคับจิตให้มาอยู่ที่ท้อง บังคับจิตให้มาอยู่ที่มือ หรือมิฉะนั้นก็ร้อยรัดใจด้วยคำบริกรรมเพื่อไม่ให้มันไป แต่มันก็ไป แต่จะไปอย่างไรก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า พามันกลับมา
เราสังเกตดู เวลาเราทำอะไรก็ตาม อย่างเช่น เมื่อสักครู่เราทำวัตรสวดมนต์ ทั้ง ๆ ที่ปากพูดไป ตาก็จ้องมองไปที่หนังสือ แต่เมื่อใดก็ตามที่เราท่องได้คล่องแคล่ว ใจมันไปแล้ว ไปหาลูก ไปหาพ่อแม่ กลับไปที่ทำงาน แล้วมันก็ไปจากเรื่องนั้น ไปเรื่องนี้ จากเรื่องนี้ไปเรื่องโน้น กระโดดไปเรื่อย ๆ
แต่เราสังเกตไหม มันจะมีจุดหนึ่ง หลังจากที่มันท่องเที่ยว กระโดดโลดเต้นไป 5-6 เรื่อง 7-8 เรื่องแล้ว มันจะระลึกขึ้นมาได้ว่า ตอนนี้กำลังทำอะไรอยู่ หรือตอนนี้อยู่ที่ไหน ตอนนี้อยู่ที่หอไตร ตอนนี้อยู่ที่วัดป่าสุคะโต จากเดิมนึกไปถึงกรุงเทพฯ ไปอยู่ญี่ปุ่นแล้ว หรือไปอยู่ที่ลอนดอนแล้ว
ตอนที่เตลิดไป ลืมไปเลยว่าอยู่ที่สุคะโต อยู่ที่หอไตร แต่จู่ ๆ มันนึกขึ้นมาได้ พอนึกขึ้นมาได้ ใจมันกลับมาเลย กลับมาที่สุคะโต และถ้าสังเกตให้ดี ๆ ใจก็กลับไปอยู่กับเนื้อกับตัว อาการที่ใจกลับมาแบบนี้คือ สิ่งที่เราพยายามทำให้เกิดขึ้นบ่อย ๆ เกิดขึ้นบ่อยๆ มันจะไปไหน เราไม่ว่า แต่ให้มันกลับมาบ่อยๆ
มันจะมีช่วงที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อคือ ตอนที่ใจลอย คิดไปเตลิดเปิดเปิงแล้ว อยู่ดี ๆ มันนึกขึ้นมาได้ว่า อยู่ที่ไหน กำลังทำอะไร ในชั่วขณะปัจจุบัน ตรงนี้ มันเป็นช่วงที่เราควรพยายามทำให้เกิดขึ้นบ่อย ๆ
ตรงนั้นแหละเป็นช่วงที่มันเกิดความระลึกได้ ด้วยสัมมาสติ และเกิดขึ้นไล่เลี่ยกัน ก็คือ เกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา ส่วนความคิดที่ บางครั้งคิดอย่างเมามัน คิดอย่างเพลิดเพลิน มันก็จะค่อย ๆ เลือนหายไป ให้เราสังเกตภาวะแบบนี้เอาไว้ มันเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเอง ไม่ได้จงใจ
การระลึกบางอย่าง โดยเฉพาะระลึกเรื่องราวในอดีต หรือสิ่งที่ได้เรียนรู้มา บ่อยครั้ง เราต้องจงใจ หรือตั้งใจ เช่น ถามว่า เมื่อตอนกลางวันเรากินอะไรบ้าง ขนมหวานที่เราชอบถูกใจเรา ได้แก่อะไรบ้าง หรือเมื่อเช้านี้หลวงพ่อคำเขียนท่านได้สอนเรื่องอะไร จากเทปที่เราได้ฟัง จะระลึกนึกขึ้นมาได้ ต้องตั้งใจ
แต่การระลึกว่า เราอยู่ที่ไหนตอนนี้ หลังจากที่ใจลอยขณะที่สวดมนต์ หรือขณะที่กำลังฟังบรรยาย ความระลึกได้ที่ว่า ว่ากำลังทำอะไรอยู่ หรือว่าอยู่ที่ไหน มันเกิดขึ้นเอง
และสิ่งที่เราพยายามทำให้เกิดขึ้นบ่อย ๆ ก็คือ ความระลึกได้ที่ว่านี้ แต่มันเป็นการระลึกได้ที่เกิดขึ้นเอง เราไม่สามารถจะสั่ง หรือว่าใช้ความตั้งใจได้
มันก็มีความระลึกได้หลายอย่างที่เกิดขึ้นเอง โดยที่ไม่ได้ตั้งใจ เช่น ออกไปทำงานแต่เช้าแล้ว ก็นึกขึ้นมาได้ ว่าไม่ได้ปิดประตูหน้าต่างห้องนอน หรือนึกขึ้นมาได้ ว่าไม่ได้ปิดแก๊ส หรือนึกขึ้นมาได้ ว่าลืมเอาเอกสารที่สำคัญติดมาด้วย ถามว่ามันนึกขึ้นมาได้อย่างไร ไม่รู้ มันนึกขึ้นมาได้เอง
แต่การนึกที่ว่านี้ มันเป็นการนึกเรื่องนอกตัว ระลึกถึงของที่ลืม ระลึกถึงประตูหน้าต่างที่ไม่ได้ปิด แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือ ระลึกได้ในเรื่องตัวเอง คือระลึกได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ระลึกได้ว่ากำลังฟังบรรยาย กำลังสวดมนต์ หรือกำลังสร้างจังหวะ การระลึกนึกขึ้นมาได้นี้ มันทำให้เกิดการกลับมาของใจ ใจที่ไหลไปอดีต ลอยไปอนาคตก็จะกลับมาสู่ปัจจุบัน กลับมาสู่เนื้อสู่ตัว เรียกว่าเกิดความรู้เนื้อรู้ตัว
เราต้องฝึก หรือต้องช่วยให้ใจเรากลับมา จริง ๆ ใจก็อยากกลับมาอยู่แล้ว แต่ว่าด้วยความหลงเพลินในเรื่องที่กำลังคิด บางเรื่องก็สุข เรียกว่าเพลินในสุข แต่บางเรื่องก็ทุกข์แต่ก็มีรสชาติที่ทำให้เพลิน หรือจม
รสชาติของความทุกข์ มันก็มีอยู่ หลายคนเวลาเศร้า ก็อยากจะเศร้าต่อไป เวลาเศร้า อกหัก เพลงอะไรที่เราชอบฟัง เพลงเศร้า ทำไมคนเศร้าชอบฟังเพลงเศร้า เพราะความเศร้ามีรสชาติ
ทำไมคนโกรธจึงหมกมุ่นครุ่นคิดกับเรื่องที่โหมไฟโกรธ ไฟโทสะ ให้รุนแรงขึ้น บางทีโกรธคนหนึ่งไม่พอ ก็ขุดเรื่องราวของพี่น้องของเขา ที่ชวนให้โกรธเพิ่มขึ้นมาอีก คนเราเวลาโกรธใคร มันจะจมอยู่กับเรื่องไม่ดีของคนนั้น ที่ทำให้โกรธหนักขึ้น เวลาเกลียดใคร มันก็จะจมอยู่กับความเกลียดนั้น หรือเรื่องราวของคน ๆ นั้นที่มันเติมความเกลียดให้รุนแรงขึ้น
ถามว่าโกรธ ทุกข์ไหม เกลียด ทุกข์ไหม เศร้า ทุกข์ไหม ล้วนทุกข์ แต่มันหลุดออกมาได้ยากเพราะมันมีรสชาติ ใจเหมือนกับถูกกรีดด้วยความเกลียด ถูกเผาด้วยความโกรธ ถูกบีบคั้นด้วยความเศร้า แต่มันออกมาไม่ได้ เพราะว่าความหลงมันครอบอยู่
ฉะนั้น เราต้องช่วยพาใจให้กลับมาสู่ปัจจุบัน กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว กลับมารับรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ เราต้องช่วยเขา เพราะไม่อย่างนั้นใจก็จะจมดิ่งอยู่ในความทุกข์ จมอยู่ในกองเพลิงแห่งความโกรธ หรือว่าซ้ำเติมกรีดแทงตัวเองด้วยความเกลียด ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
จะช่วยใจอย่างไร ก็ต้องเสริมสร้างสติ เพิ่มพลังให้กับสติ เพราะสติจะเป็นกัลยาณมิตรที่สำคัญ ที่จะพาใจกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว กลับมาอยู่กับปัจจุบันได้
การปฏิบัติที่เราทำ ก็คือ ฝึกให้ขยันในการพาจิตกลับมา
การปฏิบัติของหลวงพ่อเทียน เราไม่ได้วัดความก้าวหน้าตรงที่ว่าใจไม่ไป ไม่เผลอ บางคนอาจจะวัดความก้าวหน้าของตัวเองว่า ใจไม่เผลอ ตามลมหายใจ 1 ชั่วโมง หรือ 1 นาที เผลอไม่กี่ครั้งเอง
แต่ว่า การปฏิบัติของหลวงพ่อเทียน ไม่ได้วัดตรงที่ว่าเผลอมาก หรือเผลอน้อย ไปบ่อยไปถี่แค่ไหน แต่สำคัญคือว่า กลับมาเร็วไหม กลับมาเร็วหรือเปล่า ไปไม่ว่า กลับมาเร็วๆ หรือกลับมาไวๆ
หลวงพ่อคำเขียนท่านเคยบอกว่า การปฏิบัติ มันเก่งตรงที่กลับมา อย่าไปวัดตรงที่ว่ามันไปหรือไม่ บางคนไปดูที่ตรงนั้น แล้วก็เลยเสียใจกลุ้มใจ ว่าทำไมมันคิดมากเหลือเกิน คิดมากไม่เป็นไร สำคัญอยู่ที่ว่า คิดแล้วกลับมาเร็วไหม
บางคน ชั่วโมงเดียว คิดแค่เรื่องเดียว แต่ว่าคิดยาวเลย ยาวเป็น 5 นาที 10 นาที 20 นาที กว่าจะกลับมา แต่บางคนคิดเป็น 20 เรื่อง ใน 1 ชั่วโมง แต่ว่าแต่ละเรื่อง ไปประเดี๋ยวเดียว ก็กลับมาแล้ว คิดไปเรื่องที่ 2 เดี๋ยวเดียว กลับมาแล้ว แม้จะคิด 20 เรื่อง แต่ว่าแต่ละเรื่องกลับมาเร็ว ตอนนี้ถือว่ามีความก้าวหน้า
ฉะนั้น พยายามฝึกใจให้กลับมา หรือช่วยใจให้กลับมา ด้วยการเติม เสริมสติ เพื่อดึงจิตออกจากความหลง ไม่ว่ามันจะจมอยู่กับเรื่องราวที่ชวนให้เพลิดเพลินยินดี หรือว่าเรื่องราวที่เผารนกรีดแทงจิตใจ
การคิดเรื่องที่ชวนให้เพลิน ความสำเร็จ ความสุข ในอดีต อย่างที่เขาเรียกว่า วันวานอันหวานชื่น มันก็ไม่ใช่เรื่องดี เพราะว่าคนที่จมอยู่กับวันวานอันหวานชื่น จะไม่ค่อยมีความสุขกับปัจจุบันเท่าไหร่ จะไม่ค่อยยอมรับกับความจริงในปัจจุบันเท่าไหร่
คนที่ประสบความสำเร็จ เป็นนักกีฬาเหรียญทอง ตั้งแต่อายุ 18-19 หรือคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต เป็นดารา ไปที่ไหนใครก็รู้จัก ขอลายเซ็น แต่ตอนนี้อายุ 40 อายุ 50 ไม่ค่อยมีคนรู้จักแล้ว งานก็ไม่ค่อยมี เพราะใครๆ ว่าแก่ไปแล้ว
คนเหล่านี้ พอเขาคิดถึงเรื่องราวในอดีต เขาก็จะมีความสุข เพราะมันคือวันวานอันหวานชื่น แต่ว่ามันจะทำให้เขายอมรับความจริงในปัจจุบันไม่ได้ ไม่สามารถที่จะอยู่กับความจริงในปัจจุบัน และก้าวต่อไปได้
เช่นเดียวกัน ถ้าไปจมอยู่กับวันคืนอันขื่นขม มันก็ทุกข์ แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่จะช่วยได้คือ พาจิตกลับมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวที่น่ายินดี วันวานอันหวานชื่น หรือว่าพาจิตออกมา จากเรื่องราวที่น่าทุกข์ระทม วันคืนอันขื่นขม กลับมาบ่อยๆ การเจริญสติ มันมีหลักก็ตรงนี้
เพราะฉะนั้น แม้เราจะกลับบ้าน หลังจากบวชมา 3 เดือน หรือว่าหลังจากปฏิบัติมา 3 วัน อย่าลืม ฝึกจิตให้กลับมา อยู่กับเนื้อกับตัวบ่อยๆ ให้กลับมาอยู่กับปัจจุบัน อยู่เรื่อยๆ ฝึกอย่างไร ก็ฝึกจากชีวิตประจำวันนี้แหละ
ชีวิตประจำวันของเรา ตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมา เราเก็บที่นอน ก็ให้ทำด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว ทำอย่างมีสติ ลุกจากที่นอน ไปล้างหน้าถูฟัน ก็ทำด้วยความรู้สึกตัว มีสติ
มันก็มีหลักง่ายๆ ตัวอยู่ไหน ใจอยู่นั่น
ตัวอยู่ห้องนอน ใจก็อยู่ห้องนอน ไม่ใช่ตัวอยู่ห้องนอน แต่ใจไปอยู่ที่ทำงาน ตัวอยู่ในห้องน้ำ ใจก็อยู่ที่ห้องน้ำ ไม่ใช่ใจไปอยู่ที่ห้องครัว คิดว่าจะทำอะไรให้ลูกกิน ถูฟัน อาบน้ำ แต่งเนื้อแต่งตัว ก็ฝึกสติ ให้ใจอยู่กับสิ่งนั้น
แต่ใหม่ๆ มันไม่อยู่หรอก มันจะไป อาบน้ำ ตัวอาบ แต่ใจไม่รู้อยู่ไหน ถูฟัน ก็ถูไป แต่ว่าใจไม่รู้อยู่ไหน มันจะไปตะพึดตะพือ ไม่เป็นไร ขอให้พาใจกลับมา ใหม่ๆ มันจะไม่ค่อยกลับนะ เพราะว่าสติอ่อน ทำเสร็จแล้วจึงค่อยนึกได้ว่า นี่เราเผลอไปตลอดเลย อาบน้ำเสร็จจึงค่อยนึกขึ้นมาได้ว่า เราอาบน้ำด้วยความหลงแท้ๆ ใจไม่รู้อยู่ไหน ใหม่ๆมันจะเป็นอย่างนั้น คือกว่ามันจะรู้ตัว กว่าจะกลับมานี่ ก็ทำอะไรเสร็จสรรพเรียบร้อยแล้ว
เหมือนกับบางคน กว่าจะรู้เนื้อรู้ตัว ใจกลับมาอยู่ที่หอไตร ก็สวดมนต์ไปเรียบร้อยแล้ว ตลอด 30 นาทีนี้ ไม่รู้ไปอยู่ไหน เป็นธรรมดา แต่ว่าให้เราตั้งใจไว้ว่า เราจะระลึกขึ้นมาได้อยู่เรื่อยๆ แล้วก็พาใจกลับมา อยู่กับปัจจุบัน
ใหม่ ๆ ทำเสร็จแล้วถึงค่อยรู้ว่าเผลอไป แต่ว่าอย่าท้อ ทำไปเรื่อยๆ ใหม่ๆ อย่าเพิ่งเอาคุณภาพ เอาปริมาณไว้ก่อน
เหมือนกับเราเริ่มเขียน ก ไก่ ข ไข่ ตอนเป็นเด็กอนุบาล จะให้เขียนตัวบรรจงทีแรกเลยไม่ได้ เขียนไปสัก 1,000 ครั้ง มันจึงเริ่มเป็นตัว แล้วก็เริ่มบรรจงแล้ว
ลองสังเกตดู ทั้งวัน แม้เราบอกว่า เราจะพยายามรู้เนื้อรู้ตัว ไม่ว่าทำอะไร กินข้าว อาบน้ำ ถูฟัน แต่งตัว แต่ว่ามันไม่ค่อยรู้เนื้อรู้ตัวหรอก
แต่ถ้าทำบ่อย ๆ โดยเรากำหนดเลยว่า ในวัน ๆ หนึ่ง เราจะกำหนดสัก 5 กิจกรรม 5 อย่าง ที่เราจะพยายามรู้เนื้อรู้ตัว เช่น 1 ตอนเก็บที่นอน 2 ตอนอาบน้ำ 3 ตอนแต่งตัว 4 ตอนล้างจาน 5 ตอนกวาดบ้าน
เขียนเน้นไฮไลท์ขึ้นมาเลย 5 อย่างที่เราจะตั้งใจ ก่อนจะทำสิ่งนั้น กำหนดสักหน่อยว่า เราจะพยายามรู้เนื้อรู้ตัว แต่แน่นอน พอทำไปแล้ว ไม่ถึง 5 วินาที หรือ 10 วินาที ไปซะแล้ว ไม่เป็นไร ไปไม่ว่า ให้กลับมาไว
แต่ใหม่ๆ มันไม่กลับมาไวหรอก มันกลับมาช้า แต่ถ้าทำทุกวัน ทำทุกวัน มันจะกลับมาเร็ว ทำไปปีหนึ่งจะเห็นความเปลี่ยนแปลง บางทีต้องรอให้ถึงปี ถึงจะเห็นความเปลี่ยนแปลง แต่ก็ไม่เห็นเสียหายเพราะว่าดีกว่าไม่ทำอะไรเลย
นี่เป็นวิธีฝึก พาใจกลับบ้าน ในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่ใช่มาเดินจงกรม ถ้าไม่ใช่มาสร้างจังหวะ มาเข้าคอร์ส เดินทั้งวัน ยกมือสร้างจังหวะทั้งวัน ถ้าเราไม่มีโอกาสทำอย่างนั้น ก็ทำจากชีวิตประจำวัน
จะให้ทำอย่างมีสติทุกกิจกรรมเลย อาจจะยาก แต่ถ้าเราลองเลือกมาสัก 5 อย่าง แล้วพยายามทำให้ได้ แม้จะทำเสร็จถึงค่อยรู้ตัว ก็ไม่เป็นไร แต่ว่าพอเราตั้งใจ มันจะรู้สึกตัวได้เร็วขึ้น จิตที่เคยลอยไปลอยมา มันจะกลับมาไวขึ้น ไวขึ้น แล้วก็จะรู้เนื้อรู้ตัวได้เร็วขึ้น แล้วความรู้ตัวก็จะต่อเนื่อง
ความรู้สึกตัว ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ลี้ลับ มันอยู่กับเรา เกิดกับเราอยู่แล้ว แต่เราไม่สังเกต เพราะมันเกิดขึ้นประเดี๋ยวประด๋าว แต่พอเราฝึกแบบนี้ ความรู้สึกตัวมันจะต่อเนื่อง แล้วเราจะรู้เลยว่า พอรู้สึกตัวแล้ว ใจมันโปร่งโล่งเบาสบาย
และจิตจะมีนิสัยใหม่ คือมีนิสัยที่กลับบ้านไว กลับบ้านเร็ว ไม่จมอยู่ในความหลง ไม่จมอยู่ในอารมณ์ เพราะฉะนั้น ก็ทำให้หลุดจากความทุกข์ได้เร็ว หลุดจากความโกรธ ความโศก ความเศร้า ความเกลียด ได้เร็ว และจะเกิดความโปร่งเบา ถึงตอนนั้น การที่จิตกลับบ้าน มันจะเป็นอัตโนมัติ เป็นนิสัย ซึ่งจะมีคุณกับเรามาก.