พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 18 ตุลาคม 2567
หลายคนเพิ่งมาวัดป่าสุคะโตเป็นครั้งแรก เมื่อมาถึงที่นี่แล้ว ก็ควรจะได้รับประโยชน์จากการมาที่นี่ แม้ว่าบางคนจะมาได้ไม่นาน อยู่ได้แค่ครึ่งวัน หรือไม่ถึงวัน ก็ควรจะได้ประโยชน์บางอย่าง ไม่ใช่เพียงแค่ว่ามาเอาบุญด้วยการมาใส่บาตร ถวายสังฆทาน หรือเอาตัวมาเหยียบย่างในวัดแล้ว เพราะคิดว่าเพียงเท่านี้ก็ได้บุญแล้ว บุญแบบนี้เรายังสัมผัสไม่ได้
แต่ถ้าเกิดว่าเรามาแล้ว จิตใจเราสงบผ่อนคลาย โดยเฉพาะเมื่อได้เดินสัมผัสธรรมชาติ เดินรอบสระ หรือว่าเดินเข้าไปในป่า เพียงเท่านี้ มันก็ให้อะไรบางอย่างแก่เราที่มีคุณค่า
ถ้าเราเอาใจมารับรู้อยู่กับสิ่งที่เราเห็นเฉพาะหน้า ต้นไม้ สระน้ำ หรือว่าดอกไม้ที่บานสะพรั่งอยู่ข้างทาง มันก็ช่วยลดความหนักอกหนักใจของเราไปได้ไม่มากก็น้อย
เพราะว่าก่อนมา บางคนก็หนักอกหนักใจเรื่องงานการ เรื่องครอบครัว แล้วก็อาจจะไม่รู้ว่าการที่ครุ่นคิดถึงเรื่องราวเหล่านั้น มันทำให้หนักอกหนักใจมากขึ้น
บางคนมีความโกรธที่ติดค้างมาจากบ้าน จากที่ทำงาน หรือว่าระหว่างทาง แต่พอมาถึงวัด เปิดใจรับรู้สิ่งที่ปรากฏอยู่ต่อหน้าเราโดยเฉพาะป่า หรือธรรมชาติที่เขียวขจี
โดยไม่รู้ตัว ใจเรามันก็จะวางเรื่องที่แบกเอาไว้ จากบ้าน จากที่ทำงาน เพราะคนเรา จิตใจจะรับรู้ได้อารมณ์เดียว ถ้าจิตใจเรารับรู้ถึงสิ่งที่ปรากฏอยู่เฉพาะหน้าโดยเฉพาะธรรมชาติ ซึ่งมีลักษณะที่ท่านเรียกว่ารมณีย์ มันก็ทำให้ใจวางเรื่องราวต่าง ๆ ที่แบกมาจากบ้าน จากที่ทำงานได้
ยิ่งถ้าหลายคนพอมาแล้ว ตั้งใจว่าเราจะวางเรื่องอื่นไว้ก่อน ทันทีที่ย่างเหยียบเข้ามาที่วัด หรือว่าผ่านประตูวัดเข้ามา ตั้งใจว่า เราจะวางเรื่องราวต่าง ๆ ลง รวมทั้งแผนการที่จะไปเที่ยวโน่นเที่ยวนี่ วางเอาไว้ที่หน้าประตูวัด ใจเราก็จะรับรู้ถึงธรรมชาติ รับรู้ถึงความสงบสงัดของสิ่งแวดล้อม แล้วมันก็จะพลอยทำให้ใจเราโปร่งโล่งเบาสบาย
หลายคนก็ออกปากว่า ที่นี่สงบดีนะ หลายคนอาจจะไม่เคยพบมาก่อนเลยว่า ความสงบเป็นสิ่งที่จิตใจเราต้องการ เพราะว่าตลอดเวลาที่อยู่บ้าน อยู่ที่ทำงาน หรืออยู่ในเมือง มันมีแต่ความว้าวุ่น คิดแต่เรื่องทำมาหาเงิน คิดแต่เรื่องการไขว่คว้าหาตำแหน่ง เลื่อนตำแหน่ง จนกระทั่งไม่รู้เลยว่ามันมีสิ่งหนึ่งที่จิตใจเราโหยหา นั่นคือความสงบ
ซึ่งพอได้มาที่วัด ถ้าปลดเปลื้องเรื่องราวต่าง ๆ ลงจากใจไว้ก่อน มันก็จะรับรู้ถึงความสงบ ทีแรกสงบจากสิ่งแวดล้อม แต่พอเราวางสิ่งต่าง ๆ ลงจากใจ มันก็จะเกิดความเบา เกิดความสงบเย็นในใจ อันนี้เรียกว่าสงบใน เพียงแค่มาวัดไม่กี่ชั่วโมง อย่างน้อยก็ควรจะได้สิ่งนี้ และนี่คือบุญที่สัมผัสได้
บุญที่เกิดขึ้นทันทีที่เราย่างเหยียบมาในวัดนั้น ยังเป็นบุญที่เราสัมผัสไม่ได้ มันเป็นเพียงแค่ความเชื่อ หรือแม้กระทั่งการถวายสังฆทาน การใส่บาตร เราก็เชื่อว่าทำให้ได้บุญ แต่เป็นบุญที่เราสัมผัสไม่ได้ เราก็เชื่อว่ามันเป็นสิ่งที่สะสมไว้ที่จะส่งผลหรือก่ออานิสงส์ให้กับเราในภายภาคหน้า เหมือนกับสะสมคะแนน สะสมคูปอง เอาไปแลก
แต่นั่นมันอนาคต ส่วนบุญที่สัมผัสได้เลยก็คือการที่เราเปิดใจรับรู้ถึงธรรมชาติ รับรู้ถึงสิ่งที่ เรียกว่าเป็นรมณีย์ ซึ่งเป็นคำที่เดี๋ยวนี้เราก็ลืมไปแล้ว หรือเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อน
รมณีย์ คือสถานที่ที่ร่มรื่น ที่ทำให้ใจเราเกิดความสงบสงัด
ทีนี้ถ้าเกิดว่า บางคนตั้งใจว่าจะมาค้างคืน อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนา จะค้างคืนกี่วันก็แล้วแต่ นอกเหนือจากประโยชน์ คือความสงบความผ่อนคลายที่ได้รับแล้ว อย่างหนึ่งที่น่าจะได้ คือความเข้าใจถึงความสำคัญของสติ ซึ่งทุกวันนี้เราเข้าใจกันน้อย
บางคนคิดว่า เราก็มีสติอยู่แล้ว แต่สติที่เรามี มันเป็นสติที่เรียกว่าสามัญมาก สติมี 2 ประเภท
ประเภทแรกคือ สติที่ช่วยทำให้เราระลึกได้ ในสิ่งที่ผ่านมาแล้ว สิ่งที่ผ่านหูผ่านตา หรือประสบการณ์ในอดีต ส่วนใหญ่เรามีสติชนิดนี้กันมาก หรือว่าเรารู้จักแต่สติประเภทนี้ เช่น จำได้ว่าเมื่อเช้ากินข้าวกับอะไร หรือจำได้ว่าเมื่อวานนี้ตอนที่เดินทางมาวัดป่าสุคะโต แวะจอดที่ไหนบ้าง
อันนี้เป็นการระลึกหรือจำได้ในเรื่องราวที่ผ่านมาแล้ว รวมทั้งข้อมูลข่าวสารความรู้ที่เราได้ร่ำเรียนมา หรือผ่านหูผ่านตาเรามา
สติแบบนี้ก็มีประโยชน์เพราะช่วยทำให้เราระลึกได้ถึงคำสอนของครูบาอาจารย์ เช่น เวลาเราโกรธโมโหขึ้นมา ถ้าเรามีสติอยู่บ้าง เราก็จะระลึกได้ถึงคำสอนของครูบาอาจารย์ ท่านสอนว่า โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า หรือจำได้ว่าท่านสอนไว้ว่าโมโหเมื่อไร ให้นึกถึงพุทโธ มาบริกรรมพุทโธ
นั่นคือการระลึกได้ที่เกิดจากสติประเภทแรก ซึ่งจำเป็นเพราะว่าความรู้ที่เรามี คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และครูบาอาจารย์ ซึ่งมันอยู่ในหัวเรา ถ้าเราไม่มีสติ เราก็ไม่สามารถจะดึงออกมา เอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้
แต่มีสติอีกประเภทหนึ่ง คือสติที่เรียกว่าสัมมาสติ ไม่ใช่ระลึกได้ถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้ว แต่ระลึกได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ในปัจจุบัน สติชนิดนี้ทำให้ใจเราไม่ลอย หลงไป
บางคนเวลาทำวัตรสวดมนต์ แม้กระทั่งเวลาฟังธรรมขณะนี้ ใจก็ลอย คิดโน่นคิดนี่ ห่วงลูกห่วงหลาน ห่วงงานการที่ค้างคาอยู่ เสร็จแล้ว อยู่ ๆ มันก็มีความระลึกได้ขึ้นมาว่า นี่เรากำลังสวดมนต์อยู่นะ เรากำลังฟังธรรมอยู่นะ มันไม่ใช่เป็นคำพูด มันไม่มีคำพูดแบบนี้ แต่ว่ามันคล้าย ๆ เป็นสิ่งที่สะกิดให้ใจเรากลับมาอยู่กับปัจจุบัน กลับมาทำกิจที่กำลังทำในปัจจุบัน
อันนี้คือสติประเภทที่ 2 ที่เรียกว่า สัมมาสติ ซึ่งมีคุณประโยชน์หลายอย่าง มีอานิสงส์มากมาย
เมื่อเรามาวัด อย่างน้อยถ้ามาค้างคืนนั้น ก็ควรจะรู้จักสติใน 2 ความหมายนี้โดยเฉพาะสติประเภทที่ 2 เพราะว่ามันจะช่วยให้เราไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ที่เกิดจากการครุ่นคิด เกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีตบ้าง หรือไปวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องราวที่ยังไม่เกิดขึ้นบ้าง
มาวัดมาค้างคืน อย่างน้อยต้องได้ประโยชน์ตรงนี้ เพราะว่าได้ฟังครูบาอาจารย์พูด หรือว่าอาจจะได้ลงมือปฏิบัติ ถ้ามาวัด ค้างคืนแล้วไม่รู้เลยว่า สติมีคุณค่าอย่างไร โดยเฉพาะสัมมาสติ ก็ยังถือว่าได้ประโยชน์น้อย เพราะว่าครูบาอาจารย์ท่านก็พูดเช้าพูดเย็น
แม้หลวงพ่อคำเขียนจะมรณภาพไปแล้ว แต่ก็ยังได้ฟังคำสอนของท่าน อย่างเมื่อเช้านี้ถ้าเราตั้งใจฟัง เราก็จะรู้ว่าสติก็ดี ความรู้สึกตัวก็ดี สำคัญอย่างไรซึ่งคนส่วนใหญ่มองข้ามไป แม้กระทั่งชาวพุทธโดยทั่ว ๆ ไปสนใจแต่เรื่องบุญ หรืออย่างมากก็นึกถึงเรื่องทาน เรื่องศีล แต่ไม่รู้ว่าสติมันมีความสำคัญอย่างไร
ถ้าไม่สำคัญ พระพุทธเจ้าท่านไม่ถือว่าสติเป็นทางสายเอก โดยเฉพาะสติปัฏฐาน หนทางแห่งความพ้นทุกข์คือ สติปัฏฐาน
หากเกิดว่าเราอยู่นานหลายวัน ได้มีโอกาสปฏิบัติ ไม่ใช่ว่านั่ง ๆ นอน ๆ แต่ว่ามีโอกาสได้ปฏิบัติด้วย เดินจงกรมก็ดี สร้างจังหวะก็ดี เราก็ควรจะได้มากไปกว่านี้ เช่น อย่างน้อยก็รู้ว่าเราอยู่ในความหลงแทบทั้งวันเลย แต่ก่อนไม่รู้ตัวว่าหลง เพราะไปคิดว่าถ้าไม่ใช่เป็นคนคลุ้มคลั่ง หรือว่าเป็นคนเมามาย ไม่ใช่เป็นคนสลบไสล ก็มีสติ แต่สติที่เราคิดว่ามีนั้นมันอ่อนมาก
เพราะถ้าเรามีสติตลอดทั้งวัน เราจะไม่หลงไปทั้งวัน แต่พอเรามาเดินจงกรม สร้างจังหวะ จะรู้เลยว่าเราหลงเยอะเหลือเกิน ทั้ง ๆ ที่ตื่นแท้ ๆ แม้ว่ากายตื่นแต่จิตมันหลง
การที่เรารู้ว่าใจเราหลง มันมีประโยชน์ เพราะอย่างน้อยก็เริ่มมาถูกทางแล้ว อย่างน้อยก็รู้ว่าเราจำเป็นจะต้องรักษาใจให้หลุดจากความหลงให้ได้ และสิ่งที่จะช่วยให้ใจเราหลุดจากความหลง ก็คือสตินี่แหละ
หลายคนพอมาปฏิบัติวันที่ 2 วันที่ 3 ก็รู้ว่านอกจากมันจะหลงเยอะแล้ว มันยังคิดโน่นคิดนี่ ล้วนแต่เป็นการปรุงแต่ง บางทีก็คิดไปในทางลบทางร้าย ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ทันเกิดขึ้นเลย แต่คิดไปแล้ว
แต่ก่อนไม่รู้ตัว ว่าหลงคิด หรือเผลอคิด ทั้ง ๆ ที่บางเรื่อง มันไม่ได้เกิดขึ้นเลย แต่ว่าปรุงแต่งไปเรียบร้อยแล้ว ไปนึกว่าเดี๋ยวคนโน้นเขาจะทำกับเราอย่างโน้น คนนี้เขาจะพูดกับเราอย่างนี้ ทั้ง ๆ ที่มันยังไม่ทันเกิดขึ้นเลย แต่ว่าไปแล้ว
แต่ก่อนไม่รู้ตัวว่า ฝันฟุ้งปรุงแต่งไปอย่างนี้ พอเรามาเจริญสติ มาปฏิบัติ จึงเห็น แค่นี้ก็มีประโยชน์แล้วเพราะว่าทำให้เราไม่ประมาท
แต่ก่อนเราคิดว่าเราเป็นคนดี แต่ว่าพอมาเจริญสติ มาปฏิบัติ ก็เห็นความคิดลบคิดร้าย อิจฉา น้อยอกน้อยใจ บางทีก็ต่อว่าครูบาอาจารย์ แต่ก่อนไม่รู้ตัวคิดว่าเราจิตใจตัวเองขาวสะอาด แต่ที่จริงมันมีความคิด มันมีมุมแบบนี้ไม่ใช่น้อยเลย มันทำให้เรารู้จักอ่อนน้อมถ่อมตัว แล้วก็ระแวดระวัง ไม่ยกตนข่มท่านง่ายๆ
เพราะฉะนั้น ถ้าปฏิบัติไป ก็จะเห็นว่า สติเป็นอย่างนี้เองคือ พอใจมันลอยไปสักพัก คิดไปสัก 7-8 เรื่อง อยู่ดี ๆ มันก็นึกขึ้นมาได้ เกิดความรู้เนื้อรู้ตัวขึ้นมา หรือรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ อันนี้เรียกว่าเริ่มสัมผัสกับสติแล้ว
แต่ก่อน เพียงแต่รู้ว่าสติมี 2 อย่างคือ สามัญสติกับสัมมาสติ แต่ไม่รู้ว่าสัมมาสติ คือความรู้ได้ในสิ่งที่เกิดขึ้นปัจจุบัน จริง ๆ มันเป็นอย่างไร แต่ว่าพอเรามาปฏิบัติเข้า เราก็เห็นว่า ไม่ว่าเวลาเดินจงกรมก็ดี ไม่ว่าเวลาสร้างจังหวะก็ดี ไม่ว่าจะฟังธรรมก็ดี สวดมนต์ก็ดี ใจมันลอย
แล้วมันจะมีตัวหนึ่งที่จะบอกเราว่าเผลอไปแล้ว ให้กลับมา นั่นคือสติ เป็นสัมมาสติ ซึ่งทำให้เรากลับมาอยู่กับปัจจุบันได้
พอเราปฏิบัติไปเรื่อยๆ เราก็จะรู้ว่าทำไมพระพุทธเจ้าจึงบอกว่า บุคคลไม่ควรตามคิด ถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้วด้วยอาลัย และไม่พึงพะวงถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง อย่างที่เราเพิ่งสวดไป เราอาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมพระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ แต่พอเรามาปฏิบัติ เรามาเดินจงกรม เราก็จะรู้ว่าเพราะว่าพอใจเราไหลไปอดีต มันก็จะไปจมอยู่กับเรื่องราวที่เจ็บปวด ความสูญเสีย ความพลัดพราก เกิดความเศร้าโศกเสียใจ
หรือเกิดความโกรธ บางทีก็ไปขุดคุ้ยเรื่องราวของคนที่เขาต่อว่าด่าทอเรา ทรยศหักหลังเรา ทำให้เราโกรธ ทั้ง ๆ ที่ผ่านไปเป็น 10 ปีแล้ว หรือไม่ก็ไปนึกถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ก็นึกไปในทางลบทางร้าย เกิดความวิตกกังวล เกิดความกลัว ทั้ง ๆ ที่มันยังไม่เกิดขึ้นเลย หรืออาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้
เริ่มจะเห็นแล้วว่า ความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจเรา เป็นเพราะว่าใจเราไม่อยู่กับปัจจุบัน ใจเราไหลไปในอดีต ลอยไปในอนาคต สุดท้ายก็จมอยู่ในอารมณ์ ถึงตอนนี้ก็เริ่มรู้แล้วว่าที่เราทุกข์เพราะความคิด เพราะใจไม่อยู่กับปัจจุบัน ตรงนี้แหละจะเริ่มเห็นคุณค่าของสติมากขึ้น ว่าเพราะสติมาทำให้ใจเรากลับมาอยู่กับปัจจุบัน กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว แล้วกลับมาพร้อม ๆ กับการรู้ทันความคิดและอารมณ์ด้วย
การที่เราจะเห็นความคิดเห็นอารมณ์นี้ คนทั่วไปนึกไม่ออกเพราะว่าอยู่กับความคิด อยู่กับอารมณ์ จนไม่เห็นมัน เหมือนกับนกไม่เห็นฟ้า ปลาไม่เห็นน้ำ นกไม่เห็นฟ้าทั้ง ๆ ที่ฟ้าอยู่รอบตัวนก ปลาไม่เห็นน้ำทั้ง ๆ ที่น้ำอยู่รอบตัวปลา เพราะอะไร เพราะว่าเห็นมาตั้งแต่เกิด
คนเราอยู่กับความคิดมาตลอด แต่ไม่เคยเห็นความคิดเลย และไม่นึกว่าจะเห็นได้ แต่พอมาปฏิบัติแล้ว มันก็เห็นความคิด เห็นอารมณ์
ตรงนี้แหละ ที่เป็นสติ ที่จะช่วยทำให้ใจเราหลุดจากอารมณ์ได้ อย่างเช่นพอเราโกรธ สติตัวแรกทำให้เรานึกถึงคำสอนครูบาอาจารย์ โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า หรือ โกรธเมื่อไหร่ ก็ให้กลับมานึกถึงพุทโธ
แต่หลายคน พอโกรธแล้ว มันนึกไม่ออกเลยว่าครูบาอาจารย์สอนอะไร มันนึกไม่ออกเลยว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร ทั้ง ๆ ที่ก่อนจะโกรธ ในภาวะปกติ บอกตัวเองว่า ถ้าฉันโกรธเมื่อไหร่ ฉันจะบริกรรมพุทโธ ฉันจะกลับมาอยู่กับลมหายใจ แต่พอโกรธทีไร มันลืมทุกที
มันนึกไม่ออก หรือถึงจะนึกออก แต่ว่าก็เอาไม่อยู่ ทั้ง ๆ ที่บอกตัวเองว่า โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า แต่มันก็ยังโกรธอยู่ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าโกรธแล้ว กลับมาพุทโธ พุทโธ แต่ก็เอาไม่อยู่ แต่ว่าตัวสัมมาสตินั้นเอาอยู่นะ
เพราะสัมมาสติทำให้เห็นความโกรธ มันทำให้เห็นความโกรธ ทำให้รู้ทันความโกรธ และทำให้จิตหลุดจากความโกรธได้ เพราะความโกรธมันอยู่ได้เพราะความหลง มันอยู่ได้เพราะมีตัวหลงเป็นเชื้อ เช่นเดียวกับไฟ มันอยู่ได้เพราะออกซิเจน ถ้าไม่มีออกซิเจน ไฟก็ดับ
ความโกรธมันอยู่ได้ เพราะมีตัวหลงมาหล่อเลี้ยง แต่ถ้าตัวหลงมันหมดไป เพราะมีความรู้สึกตัว ความโกรธก็หายไป และที่รู้สึกตัวได้เพราะอะไร เพราะมีสติ มันเป็นสิ่งที่เกื้อกูลกัน
บางทีเราโกรธ อยู่ดี ๆ เราเห็นความโกรธขึ้นมา เหมือนกับเวลาเราใจลอยในขณะที่สวดมนต์ ขณะที่กำลังฟังธรรม อยู่ ๆ มันเห็นความคิดโผล่ขึ้นมา พอเห็นความคิด จิตกลับมาเลยนะ มันไม่ได้กลับมาเอง สติเป็นตัวพากลับมา สติทำให้เห็นความโกรธ ทำให้เห็นความคิด แล้วพาจิตกลับมา
สัมมาสติจึงสำคัญ เพราะเวลาเกิดความทุกข์ขึ้นมา เรารู้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี แต่เราเอาไม่อยู่ อย่างที่มีคำพูดท้ายรถบรรทุกสิบล้อว่า ดีชั่วรู้หมด แต่อดใจไม่ได้ รู้ว่าบุหรี่ไม่ดี แต่หักห้ามใจไม่ได้ รู้ว่าเล่นเกมออนไลน์ไม่ดี แต่ก็หักห้ามใจไม่ได้ เพราะสติมันอ่อน สติไม่รู้ทัน ไม่มีกำลังมากพอ
แต่ถ้าเกิดว่าสติ โดยเฉพาะสัมมาสติมีกำลัง มันก็ทำให้สามารถยกจิต หรือพาจิต หลุดออกมาจากความอยาก การเสพติดที่ว่าได้ อันนี้รวมถึงความโกรธ รวมถึงความเศร้าเสียใจ ความหดหู่
มีผู้ชายคนหนึ่ง แกเครียดมาก ธุรกิจล้มเหลว มีปัญหาสารพัด แล้วก็คิดถึงการฆ่าตัวตาย เพราะรู้สึกว่าชีวิตไม่มีทางออกแล้ว
เช้าตรู่วันหนึ่งแกจะโดดลงมาจากตึก ไปที่ระเบียงแล้ว พอจะโดดลงไป มองลงไปข้างล่าง ก็เห็นคนขี่มอเตอร์ไซค์ 2 คน กำลังคุยกันอยู่ข้างล่าง ตรงจุดที่แกจะตกลงไปพอดี ถ้าโดดลงไปก็ตกลงไปถูกหนุ่มที่ขี่มอเตอร์ไซค์ อาจจะเป็นพวกวินมอเตอร์ไซค์ก็ได้
ตอนนั้น แกนึกขึ้นมาได้ ถึงคำสอนของแม่ว่า จะทำอะไร อย่าให้คนอื่นเขาลำบาก พอนึกขึ้นมาได้ แกก็เลยขยับจุดที่จะโดด
ตอนที่ขยับ เผอิญเหม่อมองไปที่ท้องฟ้าไกล ๆ เห็นแสงเงินแสงทอง พอเห็นแสงเงินแสงทอง มันได้สติเลยตอนนั้น ความหดหู่เหมือนกับโดนแสงทองขับไล่ออกไป เปิดโอกาสให้สติเข้ามาทำงาน
เกิดความรู้สึกตัวขึ้นมาทันทีเลยว่า นี่เรากำลังทำอะไร ตอนนั้นมันลืมตัว จิตใจมันหดหู่ เศร้า รู้สึกว่าชีวิตไม่มีทางออก คิดจะฆ่าตัวตาย แต่ว่าการที่เกิดสติขึ้นมา จากการที่เห็นแสงเงินแสงทอง ทำให้รู้ตัว ก็เลยเปลี่ยนใจไม่โดด
ถ้าเกิดว่าแกไม่ขยับจุด ก็คงไม่เห็นแสงเงินแสงทองแล้วเกิดสติขึ้นมา แต่ที่แกขยับจุด เพราะอะไร เพราะแกระลึกได้ถึงคำสอนของแม่ การระลึกได้ถึงคำสอนของแม่ มันเป็นเพราะสติ เป็นสามัญสติ แต่ว่าพอเห็นแสงเงินแสงทอง แล้วเกิดได้สติขึ้นมา รู้ตัวว่ากำลังจะทำอะไร อันนี้คือสัมมาสติ
เพราะว่าพอเกิดสัมมาสติขึ้นมา ความหดหู่ ความรู้สึกท้อแท้ หมดหวังในชีวิต ชีวิตไม่มีทางออก มันละลายหายไปเลย เพราะว่าความรู้เนื้อรู้ตัวมันเกิดขึ้นมา จากการที่มีสัมมาสติ โดยมีแสงเงินแสงทองเป็นตัวช่วย
เพราะฉะนั้น ถ้าคนเราไม่มีสัมมาสติ หรือสติประเภทที่ 2 บางทีเราตกอยู่ในอำนาจของความโกรธ ความกลัว ความท้อแท้ ความหดหู่ จนกระทั่งทำในสิ่งที่ไม่สมควรทำได้
ถ้าเกิดว่า เราเจริญสัมมาสติไปเรื่อย ๆ ต่อไปเราก็จะเห็นว่า การเป็นชาวพุทธของเราไม่ได้มีความหมายเพียงแค่ว่า ให้ทาน รักษาศีล แต่มันมีความหมายรวมไปถึงการปฏิบัติ จนกระทั่งทำให้จิตใจเราเกิดความมั่นคง
ต่อไปเราก็จะรู้ว่า จุดมุ่งหมายของชีวิตเรา ก็คือการที่เราสามารถจะมีจิตใจที่มั่นคงได้ แม้ว่าจะมีโลกธรรมมากระทบ ไม่ว่าจะเป็นโลกธรรมฝ่ายบวกหรือฝ่ายลบ
เวลาเจอโลกธรรมฝ่ายบวก ได้ลาภ ได้ยศ ได้คำชม ได้คำสรรเสริญ จิตใจก็ไม่เคลิบเคลิ้มหวั่นไหวไหลหลง ไม่กระเพื่อม เวลาเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกต่อว่าด่าทอ สูญเสียของรัก สิ่งรัก จิตใจก็ไม่เศร้าโศก เราจะรู้เลยว่า อันนี้คือสภาวะของจิตที่พึงปรารถนา และนี่คือสภาวะของชีวิต ที่เราควรไปให้ถึง
อย่างที่เราเพิ่งสวดเมื่อสักครู่ มงคลสูตร 38 มีตอนท้ายบอกว่า จิตของผู้ใด เมื่อโลกธรรมถูกต้องแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว ไม่เศร้าโศก ไร้ธุลีกิเลส เป็นจิตเกษมสานต์
พูดง่ายๆ ก็คือว่า ไม่ว่ามีอะไรมากระทบ บวกหรือลบ จิตก็ไม่หวั่นไหว ใจก็ไม่กระเพื่อม เป็นปกติอยู่ได้ ตรงนี้แหละที่จะทำให้เราเห็นคุณค่าของสติมากขึ้น เห็นคุณค่าของปัญญามากขึ้น เพราะว่าเมื่อมีสติ จิตเราจึงจะเป็นปกติ เมื่อมีปัญญา เราจึงเข้าใจว่า มันไม่มีอะไรที่ยึดมั่นถือมั่นได้
ได้กับเสียเป็นของคู่กัน เจอกับจากเป็นของคู่กัน พบกับพรากเป็นของคู่กัน ใครชม เราก็ไม่ปลื้ม เมื่อเราไม่ปลื้มเวลาคนชม เวลาใครด่า เราก็ไม่หวั่นไหว ไม่โกรธ
เราจะเห็นว่า จุดมุ่งหมายของชีวิต ควรจะไปให้ถึงจุดนี้ และนี่คือประโยชน์ที่เราจะได้จากการเป็นชาวพุทธ เพราะฉะนั้นเวลามาที่วัดป่าสุคะโต ให้ลองนึกถึงประโยชน์ที่เราควรจะได้
และถ้าเราสามารถได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติในขณะที่มาสุคะโต ก็จะช่วยทำให้เราได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเป็นชาวพุทธ ไม่ใช่แค่มาทำบุญให้ทานเท่านั้น.