พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 18 กันยายน 2567
หมอคนหนึ่งมีแมวที่เลี้ยงไว้อายุ 10 กว่าปีแล้ว แมวตัวนี้ชอบหาที่หลบมุม บางทีก็หลบอยู่หลังม่าน บางทีก็ไปหลบอยู่ใต้บันได บางทีตู้ใส่โทรทัศน์ แมวตัวนี้ก็ชอบไปหลบอยู่ข้างหลังก็มี พอไปอยู่ในที่เหล่านี้แล้ว จะรู้สึกสบาย ปลอดภัย เหมือนกับว่ามันเป็นที่ปลอดภัยของเขา
แต่ว่ามีจุดหนึ่งที่แมวตัวนี้ชอบไปนั่งเล่น คืออยู่บนพรมกลางห้องนั่งเล่น มันไม่น่าจะเป็นที่หลบภัยอะไรได้เลยเพราะว่ามันเป็นที่โล่ง แต่ว่าแมวตัวนี้รู้สึกว่าเป็นที่ที่ปลอดภัย เวลาอยู่ตรงนั้น มันจะนิ่ง สงบ ผ่อนคลาย ใครจะเข้ามาในบ้าน มันก็ยังนิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ เหมือนกับว่าเป็นจุดที่เขารู้สึกปลอดภัยที่สุด เป็นจุดที่ไม่มีความกลัว สบาย เป็นตัวของตัวเอง
หมอคนนี้แกก็ได้คิดว่า คนเราก็เหมือนกัน ต้องการที่ที่ปลอดภัย ในยามที่มีความวิตกกังวล ในยามที่มีความทุกข์ พออยู่ตรงนั้นแล้วก็จะสบาย บางคนก็เลือกเอาใต้ต้นไม้ใหญ่เป็นจุดที่เรียกว่าจุดพักพิง เวลากลุ้มอกกลุ้มใจ เวลามีความเครียด พอมาอยู่ใต้ต้นไม้นี้แล้วก็สบาย รู้สึกอบอุ่น มั่นใจ ปลอดภัย
แกได้ความคิดว่า เวลาผู้ป่วยมาหา หลายคนเป็นโรคร้าย โรคมะเร็ง แล้วก็เป็นธรรมดา ย่อมมีความกลัว มีความวิตก มีความกังวล มีความเครียด
แล้วนอกจากหมอคนนี้จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องการรักษา การดูแล หรือการเยียวยาทางกายแล้ว ยังเห็นถึงความสำคัญของการเยียวยาจิตใจด้วย วิธีหนึ่งที่หมอแนะนำกับผู้ป่วยหลายคน ให้คนป่วยลองจินตนาการด้วยการหลับตา แล้วนึกถึงสถานที่ที่ตัวเองรู้สึกปลอดภัย
มีผู้ป่วยคนหนึ่งเป็นผู้ชาย เป็นมะเร็งลำไส้ หมอก็แนะนำอย่างนี้ ให้ลองจินตนาการว่าได้ไปอยู่ในที่ที่ปลอดภัย เพราะเชื่อว่าจะช่วยทำให้หายเครียดหายกังวล
คนป่วยก็จินตนาการ แต่ว่าจินตนาการเท่าไหร่ก็ไม่เจอ จินตนาการถึงบ้านของตัว ก็ยังไม่รู้สึกว่ามันเป็นที่ที่ปลอดภัยอบอุ่น ทำให้รู้สึกมั่นคง นึกไปถึงริมน้ำที่ตัวเองชอบตกปลาหรือเดินเล่น มันก็ยังไม่ใช่
นึกไปถึงที่ทำงาน นั่งอยู่หลังโต๊ะที่ตัวเองคุ้นเคย ที่ที่ตัวเองประสบความสำเร็จหลายอย่างในการทำงาน มันก็ยังไม่ใช่ที่ที่ปลอดภัย นึกไปถึงหัวโต๊ะในห้องประชุม เพราะว่าตัวเองเป็นประธานหรือซีอีโอของบริษัท เป็นใหญ่ในที่ประชุมนั้น แต่ก็ยังรู้สึกว่าไม่ใช่ นึกเท่าไหร่ๆ ก็ไม่เจอ แต่หมอก็ให้กำลังใจบอกให้ลองนึกต่อไปดู
จนกระทั่งคนนั้นนึกไปถึงตอนที่เป็นเด็ก แล้วก็อยู่ในอ้อมแขนของแม่ ตอนนั้นแหละที่รู้สึกอบอุ่น มั่นคง สบาย แล้วตอนที่กำลังรู้สึกอบอุ่นสบายสงบอยู่นี้ ก็นึกขึ้นมาได้ว่า แขนที่โอบตัวเองอยู่นี่มันไม่ใช่แขนของแม่ มันเป็นแขนของตัวเอง ก็แปลกใจว่าทำไมจึงรู้สึกสงบ แล้วก็เลยพบว่า แท้ที่จริง สถานที่ที่ปลอดภัยมันก็อยู่ในตัวเรานี่เอง มันอยู่ในใจ
แล้วมันก็อยู่กับเขามานานแล้ว แต่เขาไม่เคยรู้มาก่อนเลย สุดท้ายเขาพบว่า สถานที่ที่ปลอดภัยที่ทำให้เขารู้สึกอบอุ่นมั่นคง ไม่หวาดกลัว ไร้ความวิตกกังวล ก็คือใจที่สงบนั่นเอง เป็นการค้นพบที่สำคัญมาก เพราะว่าในเวลาที่เขามีความวิตกกังวล มีความเครียดเพราะโรคร้าย การกลับมาสู่ความสงบภายใน มันช่วยทำให้เขารู้สึกดีขึ้น
คนเรามักจะคิดว่าสถานที่ที่ปลอดภัยมันอยู่ข้างนอก ที่ที่รู้สึกอบอุ่นมั่นคง มันก็มีส่วนจริง บางคนถ้าได้นึกถึงบ้านที่เคยอยู่กับพ่อแม่ในวัยเด็ก รู้สึกอบอุ่นมั่นคง แล้วถ้าได้ไปอยู่ตรงนั้นจริงๆ ก็จะรู้สึกอย่างนั้น แต่ว่าสิ่งที่มันสำคัญกว่านั้น เพราะมันมีอยู่แล้วในตัวเรา ก็คือความสงบภายใน
อันนี้มันคล้ายๆ กับหรือโยงไปถึงเรื่องที่พระพุทธเจ้าเคยตรัส เป็นนิทานเกี่ยวกับนกมูลไถ นกมูลไถชอบหากินอยู่ตามทุ่งนา โดยเฉพาะบริเวณที่มีรอยไถ ซึ่งแข็งแล้วหรือแห้ง แต่ว่าวันดีคืนดี นกมูลไถตัวนี้ก็ถูกเหยี่ยวจับได้
ตอนที่ลอยอยู่บนฟ้าในกรงเล็บของเหยี่ยว นกมูลไถก็พูดเหมือนกับตัดพ้อหรือว่าสารภาพว่า นี่เป็นเพราะเราไปหากินนอกถิ่นของพ่อ เราจึงตกเป็นเหยื่อของเหยี่ยวตัวนี้
เหยี่ยวตัวนี้มันได้ยิน มันรู้ภาษา มันก็รู้สึกว่านกตัวนี้ไปอยู่ที่ไหนก็ไม่มีทางที่จะรอดพ้นกรงเล็บของมันไปได้ มันเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเองมาก ก็เลยถามนกมูลไถว่า ถิ่นของพ่อเจ้าอยู่ตรงไหน นกมูลไถก็เลยบอกว่าอยู่ในทุ่งนานี่แหละ ถิ่นของพ่อเรา
เหยี่ยวเห็นว่าทุ่งนาไม่มีอะไรที่น่ากลัว ด้วยความมั่นใจในความสามารถของตัว แล้วก็เชื่อว่าไม่ว่า นกมูลไถอยู่ที่ไหน ก็ไม่มีทางที่จะรอดพ้นกรงเล็บของตัวเองได้ ก็เลยร่อนลงที่ทุ่งนา แล้วก็ปล่อยนกมูลไถไว้ตรงนั้น แล้วก็เหินขึ้นฟ้าเพื่อที่จะเตรียมโฉบลงมา
นกมูลไถพอถึงทุ่งนา ก็เลือกจุดตรงที่มันมีรอยไถ แล้วก็ยืนอยู่ตรงรอยไถนั้น แล้วก็ตะโกนบอกเหยี่ยวว่า ลงมาเลยๆ เราพร้อมแล้ว ถูกท้าแบบนี้ เหยี่ยวขุ่นเคืองมาก พุ่งตัวลงมาอย่างแรงด้วยความเร็วเพื่อที่จะมาโฉบนกมูลไถ นกมูลไถก็รอจังหวะ พอเหยี่ยวโฉบลงมาใกล้ๆ กับทุ่งนาใกล้กับพื้นดิน มันก็รีบหลบเข้าไปอยู่ใต้รอยไถที่บัดนี้กลายเป็นดินแห้งไปแล้ว
เหยี่ยวไม่ทันเฉลียวใจ พุ่งมาแล้ว ปรากฏว่าเบรกไม่ทัน ตั้งใจว่าจะมาโฉบจับนกมูลไถ แต่พอนกมูลไถหลบ มันหยุดไม่ทัน ตัวของเหยี่ยวเลยกระแทกกับรอยไถ กระแทกดินที่มันแห้ง อกแตกเลย ก็เป็นอันว่านกมูลไถปลอดภัย
พระพุทธเจ้าตรัสเล่านิทานเรื่องนี้ แล้วก็บอกว่า นกมูลไถตัวนี้อยู่รอดปลอดภัยเพราะอยู่ในถิ่นของพ่อฉันใด ภิกษุทั้งหลายก็เช่นกัน จะปลอดภัยจากมาร จะปลอดภัยจากกามคุณทั้ง 5 ได้ ก็เพราะอยู่ในถิ่นของพ่อ
ถิ่นของพ่อนั้นคือสติปัฏฐาน 4 พูดอีกอย่างหนึ่งคือว่า คนเราจะปลอดภัยจากสิ่งล่อเร้าเย้ายวนและความทุกข์ทั้งหลายได้ เมื่ออยู่ในภาวะที่รู้กายรู้ใจ แล้วก็รู้เวทนา รู้ธรรม หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า อยู่ในภาวะที่ใจอยู่กับปัจจุบัน
ถ้าหากว่าใจเรายังคงอยู่ในภาวะที่รู้กายรู้ใจ หรือภาวะที่เราเรียกว่ารู้สึกตัว เมื่อนั้นเราก็อยู่ในที่ที่ปลอดภัย เป็นความปลอดภัยของใจ และถิ่นที่ทำความปลอดภัย ทำความอบอุ่นให้กับใจของเรา มันไม่ใช่ที่ไหนเลย อยู่ในใจของเรานี่แหละ ตราบใดที่ใจเรามีสติ มีความรู้สึกตัว มีความรู้ตัวทั่วพร้อม ใจไม่เผลอส่งออกนอก ใจอยู่กับเนื้อกับตัว อยู่ในภาวะที่รู้กายรู้ใจ
เพราะหากว่าอยู่ในภาวะนี้ มันจะมีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม คนเราเมื่ออยู่ในภาวะที่รู้สึกตัวทั่วพร้อม ความทุกข์ก็เข้ามาเล่นงานไม่ได้ อารมณ์ลบ ความรู้สึกที่เป็นอกุศลก็ไม่สามารถจะครอบงำจิตได้ ไม่ใช่ว่าไม่มี มันมีแต่มันทำอะไรใจไม่ได้ เพราะว่าเมื่อใดก็ตามที่มีความรู้สึกตัว ก็หมายความว่าไม่เปิดช่องให้อารมณ์พวกนี้เข้ามาครอบงำ บีบคั้น เผาลน หรือทิ่มแทงใจได้
ต่อเมื่อใจเราส่งออกนอก หรือว่าเข้าไปอยู่ในความหลง หรือปล่อยให้ความหลงครอบงำ ตรงนั้นแหละเรียกว่าอยู่นอกถิ่นของพ่อแล้ว หรือว่าอยู่นอกถิ่นที่ปลอดภัย เพราะฉะนั้นก็สามารถจะเจอกับอันตราย อันตรายที่ว่านี้ไม่ใช่อันตรายจากภายนอก
เคยพูดไปแล้วว่า อันตรายมี 2 ประเภท อันตรายที่ปกปิดกับอันตรายที่เปิดเผย อันตรายที่เปิดเผยก็คืออันตรายจากภายนอก งูเงี้ยวเขี้ยวขอ ศาสตราวุธ ภัยธรรมชาติ ผู้ร้าย เดี๋ยวนี้ก็รวมถึงรถยนต์ที่แล่นมาด้วยความเร็ว เชื้อโรค
แต่ว่าภัยภายในที่ปกปิดก็คือ ความโศก ความโกรธ ความแค้น ความอิจฉา ความน้อยเนื้อต่ำใจ ความโลภ พวกนี้ถ้ามันเข้าถึงใจเราเมื่อไหร่ หรือเข้ามาครอบงำใจเราเมื่อไหร่ ก็เป็นทุกข์เมื่อนั้น แต่ถ้าเราเอาใจมาอยู่ในถิ่นที่ปลอดภัย ก็ไม่มีทางที่ความทุกข์เหล่านั้นจะมาทำร้ายจิตใจของเราได้ ฉะนั้นที่ที่ปลอดภัย มันไม่ใช่แค่อยู่นอกตัวเราเท่านั้น ที่สำคัญคือความรู้สึกตัวภายในใจเรา
คนเราก็ต้องรู้จักหา รู้จักเข้าถึงที่ที่ปลอดภัย ถ้าเรามีที่ปลอดภัยภายนอก อันนี้ก็ถือว่าดี คนสมัยก่อนในบางถิ่นอย่างเช่นในจีน เวลาคลอดลูกก็จะปลูกต้นไม้เอาไว้เป็นต้นกล้า แล้วก็ดูแลต้นไม้นั้นจนโต เพื่อให้เป็นเพื่อนของลูก
พอลูกโตก็ให้ช่วยดูแลต้นไม้ต้นนี้ จนกระทั่งกลายเป็นต้นไม้ใหญ่ ให้เป็นเพื่อน แล้วเวลาเจ้าตัวเกิดความทุกข์ เกิดความเครียด เกิดความวิตกกังวล เกิดความเหนื่อยล้า ก็มานั่งพักใต้ต้นไม้ พิงต้นไม้นี้ เหมือนกับเป็นพี่ เหมือนกับเป็นเพื่อน
มันก็เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้าน ที่รู้จักหาที่ที่ปลอดภัยให้กับลูก เพราะว่าพ่อแม่ก็อยู่ดูแลลูกได้ไม่นาน ถึงแม้พ่อแม่ตายไปแล้ว ก็ยังมีต้นไม้ต้นใหญ่ที่เป็นเพื่อน เป็นผู้ดูแล ให้กำลังใจกับลูก แล้วก็เป็นประเพณี
ชาวบ้านเวลามีความทุกข์อะไร ก็มานั่งมานอนอยู่ใต้ต้นไม้ มันกลายเป็นที่ที่ปลอดภัยสำหรับเขา แม้จะมีครอบครัวแล้ว มีลูกแล้ว ก็ยังไม่ทิ้ง ไม่ลืมบรรยากาศใต้ต้นไม้ ดูแลต้นไม้นั้นเป็นเหมือนพี่ เหมือนเพื่อน จนกระทั่งพอตาย เขาก็จะตัดต้นไม้นั้น มาทำเป็นโลง เรียกว่าอยู่คู่กันไปตั้งแต่เกิดจนตาย
มันก็เป็นแนวคิดเดียวกันที่ว่า ให้คนเรารู้จักมีสถานที่ที่ปลอดภัย อาจจะไม่ใช่ความปลอดภัยทางกาย แต่เป็นความปลอดภัยทางใจ ที่ที่มีความรู้สึกอบอุ่นมั่นคง ปลอดพ้นจากความวิตกกังวล ความกลัว แต่ว่านอกจากสถานที่อย่างนี้แล้ว ต้องไม่ลืมว่าในใจเราก็มีที่ที่ปลอดภัย ที่จะช่วยเราและอยู่กับเราตลอดเวลา คือความรู้สึกตัว
แต่เดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยให้ความสำคัญ หรือเห็นคุณค่าของความรู้สึกตัวเท่าไหร่ เราก็เลยตกเป็นเหยื่อของความหลง ตกเป็นเหยื่อของความกลัว ความวิตกกังวล ความเครียด รวมทั้งความทุกข์จากภายนอก ความทุกข์จากงานการ ความทุกข์จากความสัมพันธ์ หรืออันตรายจากสิ่งภายนอก
ที่จริงไม่ว่าจะเป็นอันตรายจากภายนอกหรืออันตรายจากภายใน ถ้าเรามีความรู้สึกตัว มันก็ทำให้เกิดความมั่นคง สงบ ผ่อนคลาย เหมือนกับแมวตัวที่หมอแกพูดถึง ทั้งๆ ที่อยู่กลางบ้าน แต่ถ้าได้อยู่ตรงจุดที่เขาเรียกว่าเป็นที่ที่เขาปลอดภัยแล้ว แม้คนจะผ่านไปผ่านมาเขาก็ไม่กลัว บางทีมีคนแปลกหน้ามาเขาก็ไม่กลัว เหมือนกับว่าเขาได้ชัยภูมิแล้ว
เราจะเรียกจุดนั้นว่าเป็นชัยภูมิของชีวิตก็ได้ คนเราก็ต้องมีที่ปลอดภัยหรือชัยภูมิ โดยเฉพาะในใจเรา
เมื่อต้นเดือนที่แล้ว มีนักการเมืองคนหนึ่งหาเสียง เพื่อจะเป็นนายก อบจ. ก็มีคำขวัญว่า ทุกลมหายใจคือชัยภูมิ ถ้าฟังดูดีๆ ก็มีความหมายที่ดี เพราะชัยภูมิที่ว่า ไม่ได้หมายถึงจังหวัด มันหมายถึงสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความสงบ แห่งความมั่นคง
พอพูดถึงชัยภูมิ เราก็มักนึกจะนึกถึงชัยภูมิในศึกสงคราม แต่คนเราแม้จะไม่ได้สู้รบตบมือกับใคร แต่ว่าในใจเราก็มีศึกสงครามอยู่ในบางครั้ง กับกิเลส กับความทุกข์ บ่อยครั้งเราก็แพ้ ถูกกิเลสครอบงำ เพราะปล่อยให้ความหลงมันครองใจ แต่ถ้าเรามีชัยภูมิอยู่ข้างในใจ เป็นชัยภูมิที่เปรียบเหมือนกับถิ่นของพ่อ อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสคือความรู้สึกตัว
การที่จิตอยู่ในภาวะของความตื่นรู้ เต็มตื่น เพราะมีสติ เป็นสติที่เรียกว่าสัมมาสติ มันก็ทำให้เรามั่นคง ไม่ว่าจะมีภัยมาคุกคามอย่างไร และหมอคนนั้นพอบอกให้คนไข้จินตนาการถึงที่ที่ปลอดภัย ซึ่งสุดท้ายเขาก็พบว่ามันอยู่กลางใจของเขานี่เอง มันเหมือนกับว่าเขามีชัยภูมิ เพราะฉะนั้นถึงแม้เขาจะร่างกายเจ็บป่วย แต่ใจก็ไม่ได้ทุกข์เท่าไหร่ มีความสงบมั่นคงผ่อนคลาย
พวกเราก็ต้องมีสิ่งนี้อยู่ในใจ ที่จริงก็มีอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องรู้จักค้นพบให้เจอ และเข้าถึงให้ได้ จะเรียกว่าถิ่นของพ่อ จะเรียกว่าที่ที่ปลอดภัย หรือชัยภูมิ ก็แล้วแต่ และการเจริญสติของเรา จะช่วยเบิกทางให้เราได้ค้นพบสิ่งที่เป็นจุดพักพิง หรือจุดที่ปลอดภัย ที่สามารถจะเป็นชัยภูมิให้กับชีวิตจิตใจของเราก็ได้.