พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 16 กันยายน 2567
คนเรามีหน้าที่อย่างหนึ่งที่สำคัญต่อชีวิต นั่นก็คือการหลีกหนีจากภัยอันตราย เพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ได้อย่างปกติสุข อันตรายของคนเรามีอยู่ 2 ประเภท
พระพุทธเจ้าตรัสว่าประเภทที่ 1 คือ อันตรายที่เปิดเผย ก็หมายถึงสัตว์ร้าย งูเงี้ยวเขี้ยวขอ ศาสตราวุธ ของแหลม ของมีคม ภัยอันตรายจากธรรมชาติ อาจจะรวมถึงเชื้อโรค สมัยนี้ก็คงจะรวมไปถึงรถยนต์ที่ขับมาด้วยความเร็ว
อันตรายประเภทที่ 2 เรียกว่า อันตรายที่ปกปิด ได้แก่ ความโลภ ความหลง ความโกรธ ความเครียด ความเศร้า ความอิจฉา ความถือตัว พูดง่าย ๆ ก็คืออารมณ์อกุศลที่เกิดขึ้นในใจเรา
อันตรายที่เปิดเผย เรามีสิ่งหนึ่งที่ช่วยทำให้สามารถหลบหลีกหรือหลบเลี่ยงจากมันได้ สิ่งนั้นคือตา ถ้าเรามีตา เวลาเราเข้าป่า เราก็ย่อมเห็นสัตว์ร้าย งูเงี้ยวเขี้ยวขอ หรือแม้แต่พวกตะขาบ แมงป่อง ไม่เดินเหยียบมัน เจอหลุม เจอบ่อ หรือเหวก็สามารถหลบเลี่ยงได้ เพราะเรามีตาที่มองเห็นอันตราย
อันตรายอีกประเภทหนึ่งเป็นภัยที่ปกปิด เราจะหลบหลีกมันได้อย่างไร ธรรมชาติก็ให้ตาของเรามาอีกชนิดหนึ่งเรียกว่าตาใน ก็คือสติ สติทำให้เราเห็นอารมณ์ที่เป็นลบ รวมทั้งความคิดที่เป็นอกุศล ไม่ปล่อยให้มันเข้ามาครอบงำใจหรือไม่หลงเชื่อมัน จนมันลากพาใจของเราไปเจอกับความทุกข์ ความทรมาน
ถ้าเราอยากจะมีชีวิตที่ผาสุก ในด้านหนึ่งเราก็ต้องรักษาตาของเราให้ดี เพื่อจะได้หลบหลีกอันตรายที่เปิดเผยหรืออันตรายจากภายนอก แต่เดี๋ยวนี้อันตรายจากภายนอกนับวันก็จะน้อยลง เราไม่ได้อยู่ป่าแล้ว เราอยู่ในเมือง แล้วก็มีสวัสดิภาพพอสมควร
อันตรายที่เคยเกิดขึ้นกับผู้คนอย่างสมัยก่อน เช่น อันตรายจากสัตว์ป่า สัตว์ร้าย หรือแม้กระทั่งผู้มุ่งร้าย ศัตรูในศึกสงคราม เดี๋ยวนี้มันก็น้อยลง จนมาสมัยนี้จะมีก็แต่รถยนต์นั่นแหละที่ยังเป็นอันตรายที่น่ากลัวซึ่งเราก็ต้องระมัดระวัง
แต่ว่าอันตรายจากภายในหรืออันตรายที่ปกปิด ตอนนี้มันกลายเป็นปัญหาใหญ่ของผู้คน คนทุกวันนี้แม้จะมีสวัสดิภาพในชีวิตพอสมควรหรือมากกว่าแต่ก่อน แต่ความสุขทางใจก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย กลับลดน้อยถอยลง มีความทุกข์มากขึ้น ความโกรธ ความเครียด ความวิตกกังวล ความซึมเศร้า ความรู้สึกเคว้งคว้าง พวกนี้สามารถที่จะทำให้ชีวิตของเรากลายเป็นนรกหรือตายทั้งเป็นได้เลย
ธรรมชาติให้ตาในแก่เรามาคือสตินั้น ก็ไม่ใช่ว่าจะช่วยเราให้ตลอดรอดฝั่งได้ มันขึ้นอยู่กับสมรรถนะของสติด้วยว่าจะมีมากน้อยเพียงใด ถ้าเราไม่สนใจเสริมสร้างสมรรถนะของสติ มันก็ช่วยให้เรารอดพ้นจากอันตรายที่ปกปิดได้ยาก ก็ย่อมอยู่ร้อนนอนทุกข์ แม้บ้านจะติดแอร์ทั้งหลังแต่จิตใจก็รุ่มร้อน
คนเรามีสติกันทุกคน แต่ว่าสติที่เรารู้จักและใช้อยู่บ่อย ๆ เขาเรียกว่าสติธรรมดา หรือสติสามัญ อันนี้ต่างจากตาใน ตาในก็เป็นสติเหมือนกันแต่ว่าเป็นสติที่เขาเรียกว่าสติปัฏฐานหรือว่าสัมมาสติ
บางคนอาจจะเพิ่งรู้ว่าสตินี้มี 2 ประเภท ส่วนใหญ่รู้จักประเภทเดียวคือสติสามัญ หรือสติธรรมดา ซึ่งเราใช้เป็นประจำในชีวิตประจำวัน ใช้ในการทำมาหากิน ใช้ในการดำรงชีวิต สติที่ว่านี้เป็นสติที่ช่วยทำให้เราระลึกได้ คนละอันกับสัญญาหรือจำได้หมายรู้ มันต่างกัน
สติคือความระลึกได้ ส่วนใหญ่เราระลึกได้ในเรื่องที่มันเป็นอดีต อย่างเช่นถามว่า เมื่อเช้าเรากินข้าวกับอะไร เราจะตอบได้ก็ต้องใช้สติที่ช่วยให้เราระลึกได้ว่า อ๋อ เมื่อเช้านี้เรากินข้าวกับผัดผัก หรือว่ากินข้าวกับพะโล้ กินข้าวกับพะแนงเนื้อก็ว่าไป หรือเมื่อเช้านี้อาจารย์สมใจท่านเทศน์เรื่องอะไร เราจะตอบได้ก็ต้องอาศัยการระลึกนึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเช้านี้ ต้องอาศัยสติ
รวมทั้งถ้าถามว่ากุฏิเราอยู่ที่ไหน ที่พักเราอยู่ที่ไหน เราจะตอบได้ก็แสดงว่าเราใช้สติในการนึกย้อนได้ว่า เรามีที่พักอยู่ตรงไหน หรือเราจำได้ว่าเมื่อสักครู่ก่อนขึ้นหอไตรเราวางรองเท้าไว้ตรงไหน
เราทำมาหากิน เราใช้ความรู้ ความรู้ถ้ามันอยู่ในหัว มันก็ไม่มีประโยชน์ จนกว่าเราจะดึงออกมา เอามาใช้งาน ตัวที่ดึงออกมาใช้งานก็คือสติ เพราะทำให้เราระลึกได้ถึงความรู้ที่เราได้เรียน โดยเฉพาะถ้าเจอข้อความภาษาต่างประเทศ ภาษาอังกฤษ เราจะอ่านรู้เรื่องก็เพราะเราอาศัยสติ จำได้ว่าคำนี้แปลว่าอะไร พอเราจำความหมายได้ว่าคำนี้แปลว่าอะไร เราก็อ่านรู้เรื่อง
นั้นคือเราใช้สติในการดำเนินชีวิต ในการทำงานอยู่ตลอดเวลาก็ว่าได้ ยกเว้นเวลาหลับ แต่สติที่ว่านี้ต่างจากสัมมาสติ เพราะสติที่ว่านั้นหรือสติธรรมดา เป็นการระลึกได้ในสิ่งที่ผ่านไปแล้ว ในความรู้ ในข้อมูลที่เกิดขึ้นที่ได้เรียนรู้มาเมื่อหลายเดือนก่อน หลายวันก่อน เมื่อเช้ากินข้าวกับอะไร เมื่อเช้าอาจารย์สมใจพูดว่าอะไร เป็นเรื่องที่ผ่านไปแล้ว เป็นอดีต เราระลึกได้โดยอาศัยสติที่เรียกว่าสติสามัญ
แต่ว่าสัมมาสติ เป็นการระลึกได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ในปัจจุบัน สติตรงนี้ทำงาน ก็ตอนที่เราใจลอย ขณะที่กำลังสวดมนต์ ขณะที่กำลังฟังคำบรรยาย สังเกตไหมใจลอยไหลไปไหนไม่รู้ แล้วประเดี๋ยวเดียวก็นึกขึ้นมาได้ว่า นี่เรากำลังสวดมนต์อยู่ เรากำลังฟังธรรมอยู่
สติตัวนี้แหละเขาเรียกว่าความระลึกได้ ระลึกได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ และพร้อม ๆ กับการระลึกได้กำลังทำอะไรอยู่ก็มาเห็นความคิดที่พาใจเราไหลลอยไป พอเห็นความคิดแล้วก็สามารถจะปล่อยใจออกจากความคิด ใจก็กลับมาอยู่กับสิ่งที่กำลังทำในปัจจุบัน
เพราะฉะนั้น สามัญสติทำหน้าที่เป็นทั้งตาใน เห็นความคิดที่พาเราหลง แล้วก็ระลึกได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ในปัจจุบัน ไม่ใช่ระลึกได้หรือจำได้เรื่องที่ผ่านไปแล้ว แต่เป็นเรื่องที่เป็นปัจจุบัน และสำคัญมาก
ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือว่า สติสามัญส่วนใหญ่ก็จะระลึกได้เรื่องนอกตัว เรื่องวางรองเท้าไว้ที่ไหน บ้านพักอยู่ห้องเลขที่เท่าไร บ้านเรามีกี่หลัง มีโทรศัพท์กี่เครื่องติดตัวมา อันนี้เป็นเรื่องความระลึกได้เกี่ยวกับสิ่งนอกตัว ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องทรัพย์สิน การงาน คนที่เรารู้จัก จำได้ว่าระลึกได้ว่าลูกเกิดวันไหน ตอนนี้พ่อรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลใด อันนี้ต้องอาศัยสติที่ทำให้เราจำได้เรื่องหรือสิ่งที่อยู่นอกตัว นี่คือสติธรรมดาสามัญ
แต่สัมมาสตินั้น ทำให้เราระลึกรู้ได้ในเรื่องตัวเอง เรื่องกาย เรื่องใจ อย่างเช่นขณะที่กำลังฟังธรรมอยู่ ใจลอยนึกถึงงาน นึกถึงพ่อแม่ แล้วจู่ ๆ ก็รู้ขึ้นมาเลย ระลึกได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ระลึกว่ากำลังนั่งอยู่ที่หอไตรฟังธรรม อันนี้ก็เรียกว่ารู้กาย ในเวลาเดียวกันก็เห็นหรือรู้ว่าใจเผลอไป ใจไหลไปถึงเรื่องงานการ ใจไหลไปในอดีตหรือลอยอยู่ในอนาคต พะวงกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง
อันนี้เรียกว่าเรารู้ใจ คือรู้อาการของใจที่ไหลลอยหลงไป เป็นการรู้ทั้งใจและรู้ทั้งกาย รู้ว่าใจลอย รู้ว่าใจหลง แล้วก็รู้ว่ากายกำลังทำอะไรอยู่ ซึ่งต่างจากสติธรรมดาสามัญ มันระลึกรู้ได้เรื่องนอกตัวทั้งนั้น
ความระลึกได้นั้นมี 2 ประเภท ประเภทแรกต้องอาศัยความตั้งใจ ทบทวน นึกย้อน เช่น ถามว่าเมื่อเช้ากินข้าวกับอะไร เมื่อเช้าอาจารย์สมใจพูดเรื่องอะไร เราจะตอบได้ จะนึกได้ เราต้องตั้งใจนึก
แต่ว่าความระลึกได้บางอย่างมันเกิดขึ้นเอง เช่น ออกมาทำงานแต่เช้า ก็นึกขึ้นมาได้ว่าลืมปิดประตูหน้าต่าง หรือว่าลืมเอาโทรศัพท์มือถือ หรือลืมเอา charger adapter ที่ชาจ์นมือถือติดมาด้วย อันนี้เรียกว่าเป็นการระลึกได้แบบไม่ได้ตั้งใจเลย มันผุดขึ้นมาเอง
หรือว่ากำลังทำงานอยู่ก็นึกขึ้นมาได้ว่า เรามีนัดกับเพื่อนวันนี้ชั่วโมงนี้ นัดจะไปเยี่ยมพ่อของเพื่อนที่โรงพยาบาล นึกขึ้นมาได้ ถามว่ามีใครบอกไหม ไม่มี มันนึกขึ้นมาได้เอง หรือว่ากำลังทำงานอยู่ จู่ ๆ ก็นึกขึ้นมาได้ว่า นี่มันเลยเวลาหลับเวลานอนแล้ว มันต้องหลับแล้วนะ ไม่มีใครบอกแต่มันนึกขึ้นมาได้เอง
สติที่ช่วยให้เราระลึกนึกขึ้นมาได้เอง หรือความสามารถของสติที่นึกขึ้นมาได้แบบนี้ คือสิ่งที่เรามาฝึกกันที่นี่ เดินจงกรม สร้างจังหวะ
ทั้ง ๆ ที่เราควรจะระลึกรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ กำลังเดินจงกรม กำลังสร้างจังหวะ แต่ว่าจู่ ๆ มันก็ไปคิดเรื่องโน้นคิดเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่คิดเรื่องเดียว คิดหลายเรื่องติดต่อยาวกันเป็นลูกโซ่ หรือเป็นขบวนรถไฟ 7-8 เรื่อง หรือ 10 เรื่อง แล้วจู่ ๆ มันนึกขึ้นมาได้ นี่เรากำลังเดินจงกรมอยู่ นี่เรากำลังสร้างจังหวะอยู่นะ
ทันทีที่ระลึกขึ้นมาได้ จิตที่ไหลลอยไปไหนไม่รู้ มันกลับมาเลย กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว กลับมารู้ว่ากายกำลังทำอะไรอยู่ นี่เป็นวิธีการฝึกสติ เป็นการฝึกโดยที่ไม่ต้องไปจ้อง ไม่ต้องไปเพ่ง เวลาครูบาอาจารย์บอกว่า ให้มีสติรู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ รู้ว่ากำลังเดิน กำลังยกมือสร้างจังหวะ ให้รู้ตัว
บางคนไปจ้อง ไปเพ่ง เพื่ออะไร เพื่อไม่ให้ใจมันลอยมันหลง แต่สุดท้ายใจก็ยังลอย ก็ยังหลง พอรู้ว่าใจลอยใจหลง ก็ไปเบรกไปห้ามความคิด ความคิดที่กำลังฟุ้งปรุงกันอย่างเพลิดเพลิน ก็ถูกเบรก หยุดชะงักทันที อันนี้ยังเป็นการทำที่ไม่ถูก เพราะว่า 1) ยังมีการจ้อง การเพ่ง มีการบังคับจิต และ 2) ก็ไม่ปล่อยให้สติทำงานเอง
เพราะถ้าสติทำงาน ใจลอยไป สักพักเดี๋ยวก็รู้เอง รู้ว่าเผลอไปแล้ว รู้ว่าใจลอยแล้ว สติจะพาจิตกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว จะเรียกว่าอย่างละม่อม อย่างแผ่วเบา ส่วนความคิดก็ค่อย ๆ เลือนหายไปช้า ๆ
สำหรับคนปฏิบัติใหม่ ๆ เมื่อใดก็ตามที่รู้ว่าคิด แล้วก็เห็นความคิด มันสะดุดหยุดกึกเลยเหมือนกับเหยียบเบรก อันนี้แสดงว่าเป็นการจ้อง เป็นการเพ่งอย่างหนึ่งไปแล้ว
ใหม่ ๆ มาปฏิบัติหลายคนจะพยายามบังคับจิตไม่ให้ไป ถ้าไปเมื่อไหร่ก็จะพยายามบังคับจิตให้กลับมา หรือพยายามจ้องว่ามันจะไปเมื่อไหร่ ถ้าไปเมื่อไหร่ก็จะไปเบรกบังคับมัน ฉุดกระชากมัน เป็นการใช้วิธีที่ค่อนข้างจะรุนแรง และสุดท้ายพอทำไปนาน ๆ ก็จะปวดหัว แน่นหน้าอก บางคนนี้จะเครียดมากเลย
จริง ๆ แล้วการเจริญสติที่หลวงพ่อเทียนท่านแนะนำหรือพาทำ ไม่ต้องใช้ความตั้งใจอะไรมาก ปล่อยให้สติทำงาน ไม่ต้องทำงานแทนสติ ทำงานแทนสติคือไปจ้องว่าเมื่อไหร่มันจะไป ไปแล้วก็จะต้องเรียกมันกลับมา มีการบังคับจิต
แต่ที่จริงมันง่ายกว่านั้น คือว่าปล่อยให้มันคิดไป ถ้ามันจะคิด ก็ให้มันคิดไป แต่ไม่หาเรื่องคิดให้กับมัน อนุญาตให้มีความคิดนานาชนิดเกิดขึ้นได้ ไม่ห้าม แต่ก็ไม่ปล่อยใจไหลตามมัน
แต่ถ้าใจมันจะไหลก็ธรรมดา มันไหลไปสักพัก สติก็จะทำงาน มาสะกิดให้ใจรู้ว่า เผลอไปแล้วนะ กลับมาได้แล้ว
ใจนี้พอมันถูกสติสะกิด มันจะกลับมาเลย หรือพอถูกสติมาบอกมันจะกลับมาเองเลย แล้วมันจะวางความคิด ไม่มีการไปเบรก ไปห้าม ไปกดข่มความคิดที่เกิดขึ้น รวมทั้งอารมณ์ด้วย
สิ่งที่เราทำก็คือ ปล่อยให้เกิดความระลึกได้ขึ้นมาเอง ซึ่งหลายคนไม่ชอบ เพราะว่ากว่าจะระลึกได้ขึ้นมาเองก็คิดไปแล้ว 7-8 เรื่อง รู้สึกว่ามันไม่เข้าท่าเท่าไหร่ ไม่ทันใจ อยากจะให้ระลึกได้ไวกว่านั้นหรือคิดฟุ้งน้อยกว่านั้น นี้แหละคือกับดักของนักปฏิบัติที่จะทำให้สุดท้ายเครียด ปวดหัว แน่นหน้าอก
แล้วก็หงุดหงิดที่คุมความคิดไม่ได้ ทำไป ๆ ก็จะท้อว่าไม่ไหวแล้ว มันคิดเยอะเหลือเกิน ฉันไม่เหมาะกับการปฏิบัติแบบนี้หรอก หรือว่าฉันไม่มีความสามารถที่จะมีสติรู้ทันความคิดได้ อันนี้เพราะใจร้อน
หลวงพ่อเทียนท่านสอนว่า ทำเล่น ๆ ไป ไม่ต้องไปบังคับจิต แล้วก็อย่าไปทำงานแทนสติ แต่ให้โอกาสแก่สติในการทำงาน ใหม่ ๆ สติก็ทำงานช้า แต่ถ้าเราเห็นว่าสติทำงานช้า เราไปทำงานแทนสติ สติก็จะไม่โต
เหมือนกับเราสอนให้ลูกล้างจาน ทำความสะอาด กวาดบ้าน แต่พอเห็นลูกทำแล้วช้า จานก็ไม่สะอาด บ้านก็ไม่เรียบร้อย “ไม่ต้อง พ่อทำเอง แม่ทำเอง” มันทำได้เร็ว แล้วผลงานก็ดีด้วย แต่ว่าลูกจะไม่มีทักษะในเรื่องนี้เลย เราต้องให้ลูกได้ฝึก ได้ทำด้วยตัวเอง ให้โอกาสแก่เขาในการทำงาน
ใหม่ ๆ ช้า ใหม่ ๆ จะไม่มีคุณภาพเท่าไหร่ แต่ระยะยาวแล้วจะดีถ้าเราให้เขาทำบ่อย ๆ ให้โอกาสแก่สติในการระลึกรู้ แล้วก็เห็นรู้ทันความคิดและอารมณ์ แต่ใหม่ ๆ นี้จะรู้ทันความคิด มันยังไม่ได้ ก็ให้มารู้กายก่อน รู้ว่ากายทำอะไร มือขยับ เท้าเขยื้อน รู้เบา ๆ แต่รู้ประเดี๋ยวเดียวใจก็ไปแล้ว ไปไม่เป็นไร สิ่งสำคัญอยู่ที่กลับมา
หลวงพ่อคำเขียนท่านบอกว่า มันเก่งตรงที่กลับมาไว ๆ ส่วนใหญ่เราไปดูตรงที่การไป ไม่อยากให้มันไปก็เลยบังคับมัน แต่จริง ๆ แล้วให้กลับมาเน้นที่การกลับมา มันไปกี่ครั้งไม่เป็นไร ให้กลับมา ไว ๆ ไปไม่ว่าให้กลับมาเร็ว ๆ แต่ใหม่ ๆ มันก็จะกลับมาช้า ไม่เป็นไร ให้มันทำเรื่อย ๆ
สิ่งสำคัญก็คือทำบ่อย ๆ ทำเรื่อย ๆ ใหม่ ๆ เหมือนเราเขียน ก ไก่ ข ไข่ เราก็เขียนไม่เป็นตัว แต่พอเราเขียนร้อยครั้งพันครั้ง มันก็เริ่มเป็นตัว แล้วก็เริ่มสวยงาม หัวใจอยู่ตรงนี้คือ ทำบ่อย ๆ ให้โอกาสสติเขาได้ทำงานอยู่เรื่อย ๆ และทำบ่อย ๆ นี้เราก็ต้องเน้นด้วยว่าเอาปริมาณไว้ก่อน อย่าเพิ่งเอาคุณภาพ
ตอนที่เราเขียนตัว ก ข ครูให้เราเขียนเยอะ ๆ ครูก็ไม่ว่า ตัว ก ของเราจะโย้เย้ยังไง เพราะครูเชื่อว่าถ้าเราเขียนบ่อย ๆ มันก็จะเป็นตัวเอง เพราะฉะนั้นท่านก็จะสอนว่าให้เขียนเยอะ ๆ ไว้ก่อน
การเจริญสติก็เหมือนกัน ให้ทำบ่อย ๆ ทำเยอะ ๆ เอาปริมาณไว้ก่อน คุณภาพเอาไว้ที่หลัง คุณภาพ หมายความว่า กลับมาเร็ว ๆ รู้ทันได้ไว หรือว่าจิตสงบได้เร็ว แต่อย่าเพิ่งไปดูที่ตรงนี้
ฉะนั้นมันจะฟุ้งอย่างไร จะฟุ้งเยอะแค่ไหน คิดเยอะยังไง ก็ไม่เป็นไร ขอให้ทำไปเรื่อย ๆ ทำบ่อย ๆ ทำเยอะ ๆ
และที่สำคัญก็คือ อนุญาตให้ใจฟุ้งได้ อนุญาตให้ใจมีความคิดได้ อนุญาตไม่พอนะ ให้โอกาสแก่สติได้ทำงานบ่อย ๆ
สติอาจจะทำงานช้า งุ่มง่าม แต่ถ้าให้โอกาสสติทำงานไปเรื่อย ๆ สติก็จะทำงานได้ดี ได้เร็ว แล้วก็จะเป็นที่พึ่งของเรา
ต่อไปมีความคิด มีอารมณ์อะไรที่เกิดขึ้นในใจ มันก็จะมารบกวนจิตใจเราได้ยาก มันจะครอบงำจิตใจเราได้ลำบาก หรือว่ามันจะพาใจของเราไปจมกับความทุกข์ได้ยาก เพราะสติของเราทำงานดี ช่วยระลึกได้
และเป็นตาในที่ทำให้พาใจออกจากความทุกข์เหล่านั้น ไม่หลงเชื่ออารมณ์เหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความโศก ความเศร้า ความเครียด มันมีแต่ว่ามันทำอะไรใจไม่ได้ เพราะมีสติเป็นตาใน เป็นเครื่องรักษาใจ.