พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 11 กันยายน 2567
เวลาเราเดินไปในป่าหรือแม้แต่เราเดินมาที่หอไตร ถ้าเกิดว่าเห็นงูอยู่ข้างทาง ถ้าเรากลัวงู เราก็จะจับจ้องมองงูตัวนั้นอย่างตาไม่กระพริบเลย จนกว่าจะอยู่ห่างจากงูตัวนั้นในระยะที่ไกลหรือว่าปลอดภัย
หรือว่าเกิดเราเห็นไฟไหม้อยู่ไม่ไกล แล้วลามมาเรื่อยๆ คนที่กลัวไฟ คนที่กลัวทรัพย์สินจะถูกไฟเผาผลาญ ก็จะจับจ้องมองไฟนั้น อาจจะเป็นชั่วโมงๆ หรือทั้งคืนเลย จนกว่าจะแน่ใจว่าไฟมันดับก่อนที่จะมาถึงบ้านเรา หรือว่าลามไปทางอื่น
ความกลัวอาจทำให้เราตื่นตกใจ แต่มันก็มีประโยชน์ หน้าที่ของมันก็คือว่า ทำให้เราจับจ้องมองสิ่งที่เรากลัว เพื่อไม่ให้มันทำอันตรายเรา เพื่อให้เราได้อยู่รอดปลอดภัยหรือห่างจากความทุกข์
แต่เวลาเรากลัวหรือเกลียดใครบางคน เราก็จะทำอย่างเดียวกัน จับจ้องมองเขาตลอดเวลา หากว่าเขาเข้ามาในสถานที่เดียวกับเรา เขาทำอะไร เขาคุยกับใคร เราก็จับจ้องมอง แล้วยิ่งจับจ้องมอง เราก็ยิ่งมีความหงุดหงิด มีความขุ่นมัว แทนที่มันจะช่วยทำให้เราห่างไกลจากความทุกข์ มันกลับทำให้เราทุกข์มากขึ้น
เวลาเรากลัวงู เราก็จะจับจ้องมองงูจนกว่าเราจะปลอดภัย แล้วเราละสายตาไปสนใจอย่างอื่น แต่เวลาเราเกลียดหรือกลัวใครบางคน เราจับจ้องมองไม่กระพริบเลย ยิ่งมองก็ยิ่งทุกข์ ทั้งๆ ที่เราน่าจะทำอะไรอย่างอื่นมากกว่า หรือมีอะไรอย่างอื่นที่ควรทำ
มันยากที่จะละสายตาจากคนที่เรากลัวหรือเกลียดได้ ทั้งที่ยิ่งมอง ยิ่งจดจ้อง ก็ยิ่งทุกข์ ยิ่งหงุดหงิด แต่ว่ามันก็มีอะไรบางอย่างทำให้เราไม่ยอมละสายตา
บางทีไม่ใช่แค่นั้น แม้ว่าจะไม่ได้เห็นคนคนนั้นอยู่ในสายตา แต่ก็ยังเก็บเอาไปคิดต่อ รื้อฟื้นความทรงจำเกี่ยวกับคน ๆ นั้น นึกถึงการกระทำและคำพูดของเขา ยิ่งทำให้เกิดความทุกข์มากขึ้น เกิดความเครียดมากขึ้น บางทีไปฝันเลย กลายเป็นว่าแทนที่ความกลัวจะทำให้เราหนีห่างจากทุกข์ กลับทำให้เราทุกข์หนักเข้าไปอีก อันนี้เรียกว่าผิดวัตถุประสงค์ของความกลัว ใช้ความกลัวผิดวัตถุประสงค์
แล้วเดี๋ยวนี้เรากลัวอะไรสารพัดเลย กลัวความเจ็บป่วย กลัวความล้มเหลว กลัวตกงาน กลัวธุรกิจจะไม่รุ่งหรือว่าจะถอยหลัง กลัวคนต่อว่าด่าทอ สิ่งที่กลัวอาจจะยังไม่เกิดด้วยซ้ำ แต่พอนึกขึ้นมาแล้วก็เกิดทุกข์ กลายเป็นว่าทุกวันนี้คนเราทุกข์เพราะความกลัวและความเกลียด
เดี๋ยวนี้มีอะไรให้เกลียดสารพัดเลย เกลียดนักการเมือง หรือว่าเกลียดความอ้วน เกลียดที่น้ำหนักมันเกิน เกลียดคนที่เขาไม่สนใจเรา หรือว่าเขาไม่เห็นค่าของเรา บางอย่างก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ แต่บางอย่างก็ยังไม่เกิดขึ้นเลย แต่ความกลัวความเกลียดที่ตามมา ทำให้เป็นทุกข์มากเลย
ความกลัวความเกลียดมันก็มีประโยชน์ อย่างเช่นเวลาเราเกลียดหรือขยะแขยงกองขี้หมามันอยู่กระจายบนถนน ความเกลียดก็ทำให้เราระมัดระวังที่จะไม่ไปเหยียบมัน ไม่ไปถูกต้องมัน ทั้งหมดนี้เพื่ออะไร เพื่อจะได้ให้เราไม่ทุกข์ จะได้ไม่เครียด แต่ทุกวันนี้ ความกลัวความเกลียดทำให้เราเครียดหนักขึ้น
เพราะว่าสิ่งที่เรากลัวเราเกลียดไม่ใช่แค่สิ่งที่ปรากฏอยู่ต่อหน้าเรา หรือสิ่งที่เป็นอันตรายในทางกายภาพ แต่ว่ามันเป็นสิ่งที่สามารถจะทำให้เกิดความทุกข์ใจได้ เพราะฉะนั้นยิ่งทุกวันนี้ คนเรามีความกลัวความเกลียดมากเท่าไร ก็ยิ่งมีความทุกข์มาก บางทีจนล้มป่วย บางทีจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ
ความโกรธก็เหมือนกัน ความโกรธก็มีประโยชน์ มันทำให้เรามีกำลัง มีเรี่ยวมีแรงในการต่อสู้กับสิ่งที่เราคิดว่าเป็นภัย อันนี้ก็ช่วยทำให้บรรพบุรุษของเราอยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้ ความกลัวก็ดี ความเกลียดก็ดี ความโกรธก็ดี ล้วนแต่มีประโยชน์ที่ทำให้มนุษย์เราสามารถจะอยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้
แต่เดี๋ยวนี้ความกลัว ความเกลียด ความโกรธ มันกลับทำให้ผู้คนล้มป่วย บางทีก็เป็นโรคประสาทเพราะว่ากลัวในสิ่งที่ยังไม่เกิด กลัวตกงาน กลัวเป็นหนี้ กลัวจะเป็นมะเร็ง บางคนป่วยอยู่แล้ว แต่ก็จินตนาการไปว่าอาจจะถึงตายได้เพราะโรคมันจะลาม ทำให้เครียดหนักเข้าไปใหญ่ อันนี้เรากลัวความตาย เลยกลายเป็นว่ายิ่งทุกข์เข้าไปใหญ่ บางทีสุขภาพก็เลยย่ำแย่
อย่างที่เคยเล่า ไปตรวจสุขภาพประจำปี หมอบอกว่าหัวใจรั่ว ตกใจมากเพราะหัวใจรั่วก็หมายความว่า เลือดมันพุ่งออกมาถ้าเกิดว่าหัวใจเต้นแต่ละครั้งแต่ละคราว แบบนี้ก็ตายสิ ความกลัวตายทำให้ชายคนนั้นทรุดเลยนะ ต้องเข้าโรงพยาบาล แล้วตอนหลังก็เข้าห้องไอซียู
ทั้งที่จริงๆ หมอตั้งใจจะบอกว่า แกลิ้นหัวใจรั่ว แต่หมอบอกไม่ครบ แล้วหมอก็คิดว่าคงไม่เป็นไรหัวใจรั่ว แต่คนที่ได้ยินกลัวตาย พอกลัวตาย ร่างกายก็ทรุดเลย อันนี้เรียกว่าผิดวัตถุประสงค์ของความกลัว
ความกลัวมีไว้เพื่อให้เราปลอดภัยจากอันตราย เรากลัวอะไรก็พยายามที่จะหลีกเลี่ยงหนีห่างจากสิ่งนั้น หรือไม่ก็จับจ้องมองจนกว่ามันจะละสายตาจากเราไป อยู่ในระดับที่ปลอดภัย นี่คือหน้าที่ของความกลัว หน้าที่ของความเกลียด หน้าที่ของความโกรธ
แต่พอมาถึงยุคนี้ เหมือนกับว่าเราใช้ความโกรธไม่เป็น ใช้ความกลัวไม่เป็น หรือว่าอาจจะเป็นเพราะตกอยู่ในอำนาจของมันมากเกินไป เราก็เลยทุกข์ เจ็บป่วย หรือถึงกับซึมเศร้าเพราะสิ่งเหล่านี้
มีหลายอย่างในชีวิตของเราที่จริงๆ แล้วมันมีประโยชน์ แต่ว่าเราไม่รู้จักใช้มันให้เป็นประโยชน์ มันเหมือนกับมีรถยนต์ รถยนต์เขามีไว้เพื่อให้เราเดินทางไปถึงที่ต่างๆ อย่างปลอดภัยและรวดเร็ว แต่บางคนก็ใช้รถในทางที่เสี่ยงอันตราย เช่น เอารถมาแข่งกัน
รถไม่ได้มีไว้แข่ง แต่พอมาแข่งกัน ก็ทำให้เสี่ยงอันตราย พิกลพิการหรือตาย นี่เรียกว่าใช้รถผิดวัตถุประสงค์ แทนที่จะทำให้เราไปถึงจุดหมายปลายทางอย่างปลอดภัย กลับกลายเป็นว่าตายหรือพิการอย่างไม่ควรจะเกิดขึ้น
โทรศัพท์มือถือก็เหมือนกัน เขามีไว้เพื่อให้เราใช้ประโยชน์ในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ทุ่นเวลา แต่ปรากฏว่าเดี๋ยวนี้ผู้คนหมดเวลาไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่องเพราะโทรศัพท์ บางทีก็สิ้นเนื้อประดาตัวเพราะใช้โทรศัพท์ในการเล่นพนันออนไลน์ หรือถึงไม่เสียเงินแต่ว่าเสียสุขภาพเพราะว่าเล่นเกมเป็นชั่วโมงๆ อันนี้เรียกว่าใช้ผิดวัตถุประสงค์
อะไรก็ตามที่เราใช้ผิดวัตถุประสงค์ ก็มักจะเป็นไปเพื่อส่งเสริมกิเลสหรือว่าเป็นการเพิ่มความทุกข์ ความตายหลายคนก็กลัว แต่ความกลัวตายก็มีประโยชน์ ช่วยทำให้ขวนขวายในการทำความดี หรือว่าทำให้เกิดความไม่ประมาทกับชีวิต ทำให้รู้จักใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ ใช้ชีวิตให้มีคุณค่า
หรือบางคนก็ใช้ความตายเป็นตัวกระตุ้นให้ฝึกจิตฝึกใจ จนไม่กลัวตาย เพราะพร้อมที่จะตายอย่างสงบ อันนี้คือวัตถุประสงค์ของการเจริญมรณสติ ความตายมีประโยชน์ แต่ว่าหลายคนกลับใช้ความตามไปในทางที่ซ้ำเติมเพิ่มทุกข์กับตัวเอง พอคิดถึงความตายของตัว ก็เกิดความรู้สึกหดหู่ห่อเหี่ยว ซึมเศร้า ไม่เป็นอันทำอะไร
จริงๆ สิ่งที่เราคิดว่าทำความทุกข์ให้กับเรา ก็มีประโยชน์ ความล้มเหลวก็ช่วยทำให้เรารู้ว่ามีข้อผิดพลาดตรงไหน จะได้ปรับปรุงตัวเองหรือปรับปรุงการกระทำให้ดีขึ้น พัฒนาขึ้น แต่บางคนก็เอาความล้มเหลวมาทำร้ายตัวเอง ทำให้จิตใจเศร้าโศกหรือซึมเศร้า คับแค้น ทำให้ไม่สามารถไปต่อได้
คนเราถ้าหากว่ากลัวความเจ็บป่วยหรือกลัวความยากจน แล้วใช้ความกลัวนั้นให้เป็นประโยชน์ ก็ทำให้เกิดความขยันหมั่นเพียรเพื่อที่จะหนีความยากจน แล้วเกิดการรู้จักดูแลสุขภาพ ต้องออกกำลังกายทุกวันทั้งๆ ที่ไม่ชอบ แต่เพราะกลัวเจ็บป่วย หรือทั้งๆ ที่อยากจะกินอาหารตามใจปาก แต่กลัวเป็นโรคมะเร็ง กลัวเป็นโรคหัวใจ กลัวเป็นโรคเบาหวาน ก็เลยกินอาหารที่ไม่มีรสจัด ไม่หวานมาก มีเนื้อน้อย ถ้าไม่ใช่เพราะความกลัวก็คงจะไม่ทำอย่างนั้น
แต่บางคนพอกลัวความเจ็บป่วยเข้า ก็ทำให้เกิดความเครียดขึ้นมา บางทีก็กินไม่ได้นอนไม่หลับ ยิ่งถ้าป่วยแล้วก็ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ ที่จริงอย่างที่อาจารย์พุทธทาสว่า ความเจ็บป่วยก็ดีนะ มันทำให้เรารู้ว่าเราควรจะปรับปรุงตัวเองอย่างไร มีประโยชน์ทั้งทางโลกและทางธรรม
ทางโลกคือว่า มันทำให้เราหันมาปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต พักผ่อนให้พอเพียง ดูแลสุขภาพ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ในทางธรรม ความเจ็บป่วยก็มาเตือนเรา มาสอนให้เราฉลาดในเรื่องสังขารว่ามันไม่เที่ยง หรือฉลาดในเรื่องของสัจธรรมความจริงว่า จริงๆ แล้วร่างกายก็ไม่ใช่ของเรา อาจารย์พุทธทาสท่านบอกว่า ป่วยทุกครั้งก็ให้ฉลาดทุกที ฉลาดในเรื่องของสังขาร ฉลาดในเรื่องของพระไตรลักษณ์
สิ่งที่ทำให้เราทุกข์ ถ้าดูดีๆ มันเป็นเพราะเราเข้าใจความหมายของมันผิด หรือที่อาตมาเรียกว่าใช้ผิดประเภท ใช้ผิดวัตถุประสงค์ ความฟุ้งหรือความหลงมันก็เกิดขึ้นเพื่อสอนให้เรารู้จักว่า ความหลงหน้าตาเป็นอย่างไร อาการเป็นอย่างไร เพื่อที่เราจะไม่หลงเข้าไปในความหลง
เพราะฉะนั้นเวลาภาวนา มันมีความคิด มีอารมณ์อะไรที่ทำให้เราหลง ต่อไปเราก็รู้ว่า มันมาเพื่อสอนให้เรารู้ความหลงเป็นอย่างไร เราจะได้ไม่หลงซ้อนหลง
หลงสอนหลงก็คือว่า ไม่รู้ตัวว่าหลง หรือว่าไม่รู้ว่าความหลงเป็นอย่างไร แต่ถ้าเราหลงแล้วเรารู้ตัวว่าหลง ไม่ว่าจะเป็นรู้ว่าโกรธ รู้ว่าเกลียด รู้ว่ากลัว รู้ว่าทุกข์ รู้ว่าเศร้า อันนี้ถือว่าดี หรือว่ามันเกิดขึ้นจนจับทางมันได้ว่า อาการหรือหน้าตามันเป็นอย่างนี้เอง เหมือนกับเรารู้หรือจับทางพวกมิจฉาชีพได้ จับทางพวกแก๊งคอลเซนเตอร์ได้ เขาก็หลอกเราลำบาก
ฉะนั้นความหลงมันก็มีประโยชน์ แต่ว่าพอใช้มันไม่เป็น หรือไม่เข้าใจว่ามันมาเพื่ออะไร ก็ไปทุกข์กับมัน ทุกข์ที่มันมีความคิดเยอะเหลือเกิน ทุกข์ที่ทำไมมันหลงแบบนี้ หรือบางทีก็ปล่อยให้ความหลงครอบงำใจ
ความเครียดก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติ เวลาภาวนา หลายคนเจอความเครียดก็ทุกข์ หน้าบึ้ง จนบางทีท้อแท้กับการปฏิบัติ อันนี้เพราะไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ที่แท้ของความเครียด ว่าเขาเกิดขึ้นเพื่อบอกเราว่า เราปฏิบัติผิด อาจจะสร้าง 14 จังหวะถูก อาจจะเดินจงกรมได้ถูก แต่ว่าข้างในมันผิด คือวางใจผิด
ปฏิบัติผิดก็คือใจที่คิดแต่จะเอา จิตใจมันไปจ้องไปเพ่ง พยายามควบคุมความคิด หรือว่าพยายามบังคับจิตไม่ให้คิด ยิ่งทำก็ยิ่งเครียด เครียดแล้วก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองกำลังทำผิด อันนี้เรียกว่าไม่รู้จักฟังสัญญาณของความเครียด
ความเครียดเขาส่งสัญญาณมาบอกว่า เราวางใจผิดนะ เราเพ่งมากไป จ้องมากไป หรือว่าพยายามบังคับควบคุมจิตมากไป ก็เลยเครียด บางคนเครียดจนปวดแขนปวดขา หรือบางคนก็ตัวแข็ง บางคนยกมือสร้างจังหวะแล้วค้าง เอาไม่ลง บางคนก็โกรธตัวเอง เอารองเท้าแตะฟาดหัว หรือไม่ก็เอามือทุบอกตัวเอง ทั้งหมดนี้เพราะเครียด
ถามว่าเครียดเพราะอะไร เพราะมันฟุ้ง ที่จริงฟุ้งนี่เขามาเพื่อสอนเราให้รู้จักว่า ความหลงมันเป็นอย่างไร เช่นเดียวกับความเครียดก็มาสอนเราว่า ให้วางใจให้ถูก ทำสบายๆ อย่าไปจ้อง อย่าไปเพ่ง แล้วก็ไม่ใช่เผลอ หลายสิ่งหลายอย่างที่เราคิดว่าทำให้เราทุกข์ ที่จริงแล้วเป็นเพราะเราไม่เข้าใจความหมายของสิ่งเหล่านั้น ว่ามาเพื่อที่จะสอนเรา มาเพื่อที่จะช่วยเราให้ทุกข์น้อยลง
แม้กระทั่งความทุกข์ก็เหมือนกัน ความทุกข์ก็มีประโยชน์ คนที่มองเห็นประโยชน์ของความทุกข์ก็จะขอบคุณความทุกข์ อย่างที่อาจารย์กำพลบอกว่า ขอบคุณความทุกข์ เพราะความทุกข์ทำให้เห็นทางออกจากทุกข์ แต่จะเห็นทางออกจากทุกข์ได้ ก็ต้องเห็นความทุกข์ก่อน ไม่เป็นผู้ทุกข์ ความทุกข์มาเพื่อสอนเราให้ฉลาด มาเพื่อสอนให้เรารู้ว่าเป็นเพราะเรามีความยึดติดถือมั่น
อย่างนางกีสาโคตมีทุกข์เพราะว่าเสียลูก ที่จริงไม่ใช่ทุกข์เพราะเสียลูก แต่ทุกข์เพราะไปยึดติดในลูก จนกระทั่งได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า จึงรู้ว่าที่ทุกข์ไม่ใช่เพราะเสียลูก แต่เป็นเพราะยึดติดในลูก พอเห็นตรงนี้ก็วางเลย จิตก็หลุดพ้นจากความทุกข์ เกิดปัญญาเป็นพระโสดาบัน อันนี้เรียกว่าสามารถถอดรหัสหรือจับสัญญาณที่ถูกของความทุกข์ได้ จะเรียกว่าใช้ความทุกข์ให้เป็นประโยชน์ก็ได้
เพราะอย่างนี้ความทุกข์จึงเป็นสัจธรรมข้อแรกในอริยสัจ 4 ก่อนที่จะไปถึงนิโรธได้ ต้องผ่านทุกข์ก่อน แต่ว่าถ้าใช้ทุกข์ไม่เป็นหรือไม่เห็นทุกข์ ไม่เข้าใจว่าทุกข์มีไว้เพื่ออะไร ก็อาจจะยิ่งไกลจากนิโรธ เหมือนกับคนที่ทุกข์มากๆ แล้วไปหาเหล้า ไปหายาเสพติด ก็เรียกว่ายิ่งห่างไกลจากนิโรธ กลับทุกข์หนักขึ้น อันนี้เพราะว่าจมอยู่ในทุกข์ แต่ไม่เห็นทุกข์
ทุกข์มีไว้เพื่อการกำหนดรู้ กำหนดรู้คือรู้ทั่วถึง รู้ว่าทุกข์เป็นอย่างไร หรืออย่างน้อยเมื่อทุกข์ก็รู้ตัวว่าทุกข์ แต่คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ พอทุกข์เกิดขึ้นก็เป็นทุกข์เลย พอเป็นทุกข์ก็จมอยู่ในทุกข์ แทนที่ทุกข์มันจะช่วยทำให้เห็นทางออกจากทุกข์ กลับทำให้จมอยู่ในทุกข์มากขึ้น อันนี้เพราะว่าใช้ทุกข์ไม่ถูกต้อง เหมือนกับเราใช้ของผิดประเภท
เพราะฉะนั้นลองมองดูให้ดี สิ่งที่เราคิดว่ามันทำให้เราทุกข์ ที่จริงเขามาเพื่อให้เราทุกข์น้อยลง ความกลัวงูเกิดขึ้นเพื่อให้เราปลอดภัยจากงู หรือว่าหลีกเลี่ยงให้ห่างไกลจากงู ก็คือปลอดภัยนั่นเอง แต่พอเราใช้ความกลัวไม่เป็น เราก็เลยทุกข์เพราะความกลัว ทุกข์เพราะความเกลียด ทุกข์เพราะความโกรธ
เพราะฉะนั้นตั้งสติให้ดี แล้วลองดูว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา ที่เราคิดว่ามันทำให้เราทุกข์ ที่จริงเขามาบอกเราถึงวิธีออกจากทุกข์ หรือมาช่วยทำให้เราทุกข์น้อยลงด้วยซ้ำ.