เมื่อหลายปีก่อนเคยไปเยี่ยมผู้ป่วยมะเร็งคนหนึ่งที่โรงพยาบาล อาตมาไม่รู้จักผู้ป่วยคนนี้แต่ไปแบบจิตอาสา เขาเป็นผู้ชายอายุประมาณ 40 กว่า เป็นมะเร็งบริเวณลำคอ ก้อนมะเร็งที่ใหญ่ขึ้นทำให้เขาไม่สามารถจะนั่งตรงๆ ได้ ก็เลยต้องงอตัว เวลาคุยเราก็ต้องก้มลงไปคุย
เขาก็ทำใจได้ดี แต่ว่าเขาไม่สามารถจะอยู่โรงพยาบาลได้นาน เพราะว่าอาการพอดีขึ้นแล้วก็ควรจะไปอยู่บ้าน ระหว่างที่อยู่โรงพยาบาลนี้ พยาบาลก็ดูแลดี แล้วพอจะพาผู้ป่วยกลับไปบ้านก็ใส่ใจว่าเมื่อผู้ป่วยกลับบ้านแล้วใครจะดูแล ปัญหาอยู่ตรงนี้แหละ เพราะว่าเดิมทีมีแฟนสาวช่วยดูแลที่บ้าน แต่ตอนหลังพี่สาวของผู้ป่วยไล่แฟนสาวของผู้ป่วยนี้ออกไปจากบ้าน บอกว่ายังไม่ได้แต่งงานกัน จะมาอยู่ด้วยกันได้ยังไง ผิดศีลข้อ 3 ที่จริงมันไม่ผิดตรงไหนเลย เพราะว่าเขาก็แค่ดูแลกันเฉยๆ ไม่ได้มีอะไรกัน หรือถึงแม้จะมีอะไรกัน ก็ไม่ได้ผิดอะไร เพียงแต่ว่ามันยังไม่ทันได้แต่งงานเท่านั้นเอง ศีลข้อ 3 ไม่ได้หมายความว่าต้องแต่งงานแล้วเท่านั้นถึงจะมีเพศสัมพันธ์กันได้ แต่กรณีนี้มันไม่เกี่ยวกัน มันอยู่ที่แฟนเขาอยากจะดูแลผู้ป่วย
พอพี่สาวไล่แฟนสาวออกไปจากบ้าน ก็มีปัญหาว่าใครจะดูแลผู้ป่วยคนนี้ พยาบาลก็พยายามชักชวนให้พี่สาวมาดูแลน้องชาย แต่พี่สาวปฏิเสธ บอกว่าเขาต้องแก้ปัญหาของเขาเอง แถมยังพูดว่านี่เป็นกรรม เมื่อเป็นกรรมก็ต้องรับผิดชอบกรรมที่ตัวเองทำ ส่วนตัวเธอเองบอกว่าฉันกำลังปฏิบัติธรรมอยู่ ไม่ว่างที่จะมาดูแลน้องชาย คงมองว่าถ้าหากว่ามาดูแลน้องชายก็จะไม่ได้ปฏิบัติธรรม ตอนนั้นพี่สาวก็ปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดหนึ่งก็ไม่ไกลจากโรงพยาบาล พยาบาลชักชวนยังไง ขอร้องยังไง พี่สาวก็ไม่ยอมมาดูแลน้องชาย ยืนกรานอย่างเดียวว่าฉันจะปฏิบัติธรรมของฉัน
ก็น่าคิดนะ การปฏิบัติธรรมในความเข้าใจของพี่สาวคนนี้หมายถึงการอยู่วัด อาจจะรวมถึงการรักษาศีล 8 แล้วก็รวมถึงการปฏิบัติตามรูปแบบ จะตามลมหายใจ หรือว่าจะเดินจงกรมอย่างไรก็แล้วแต่ ไปมองว่าการดูแลน้องชายซึ่งป่วยหนักมันไม่ใช่การปฏิบัติธรรม ที่จริงก็เป็นการปฏิบัติธรรม แต่ว่าตัวพี่สาวนี้เธอมองการปฏิบัติธรรมในมุมที่แคบ ยึดติดอยู่กับรูปแบบ การที่ดูแลน้องชายก็ต้องอาศัยธรรมหลายข้อทีเดียว ไม่ใช่แค่เมตตากรุณา ต้องอาศัยขันติ ต้องอาศัยการเจริญสติ มันเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง อย่างน้อยก็บำเพ็ญธรรมที่ชื่อว่าเมตตากรุณา แต่ว่าพี่สาวคนนี้มองการปฏิบัติธรมนี้แคบมาก ไปๆ มาๆ ก็อาจจะกลายเป็นความเห็นแก่ตัวแบบหนึ่งก็ได้ เพราะว่าไม่อยากจะรับภาระน้องชาย
ปฏิบัติธรรมที่ว่านี้ มันสบายอยู่แล้ว ไม่ต้องรับภาระอะไร และเป็นไปได้ว่าที่เธอปฏิเสธที่จะมาดูแลน้องชายเป็นเพราะเข้าใจว่าดูแลแล้วใจจะไม่สงบ จิตใจจะวุ่นวาย ก็มีหลายคนนะจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติธรรมก็คือเพื่อความสงบ และเพื่อจะได้มีความสงบอย่างที่คิด ก็เลยพยายามปฏิเสธงานการ ปฏิเสธความรับผิดชอบ อย่าว่าแต่การดูแลน้องชาย หรือบางทีแม้กระทั่งดูแลพ่อแม่ก็อาจจะพยายามหลีกเลี่ยง เพราะเห็นว่าจะทำให้ใจไม่สงบ
มีนักปฏิบัติธรรมจำนวนไม่น้อยที่หวงแหนความสงบมาก งานการของส่วนรวมของสำนัก ของวัด ก็พยายามปฏิเสธ เพราะว่าจะทำให้ใจไม่สงบ หรือการออกไปช่วยเหลือผู้อื่น ก็ไม่ยอม เพราะว่าจะทำให้ใจไม่สงบ อันนี้เรียกว่าเป็นการติดสงบ
และเป็นเพราะห่วงหรือหวงความสงบนี้ มันก็ทำให้กลายเป็นคนเห็นแก่ตัวได้ง่าย แม้แต่จะไปดูแลลูกที่บ้านก็ปฏิเสธ เพราะว่ากลัวว่าจิตใจจะไม่สงบ พูดง่ายๆ ก็คือทำงานการอะไรก็ตามจะรังเกียจ เพราะว่าจะทำให้ใจไม่สงบ สุดท้ายก็เลยกลายเป็นคนที่เห็นแก่ตัว หลีกเลี่ยงที่จะรับผิดชอบกิจการ หรืองานการของส่วนรวม
ที่จริงปฏิบัติธรรม ยิ่งปฏิบัติยิ่งมีความเสียสละมากขึ้น เพราะว่าการปฏิบัติธรรม สิ่งที่จะชี้วัดว่าการปฏิบัติธรรมก้าวหน้าหรือไม่ ก็คือความเห็นแก่ตัวน้อยลง อยู่ในอำนาจของกิเลสน้อยลง แต่ว่าถ้าไม่ระวังตัวให้ดีก็จะติดกับดักของนักปฏิบัติธรรม นั่นก็คือการหมกมุ่นอยู่กับเรื่องตัวเอง ซึ่งทำให้กลายเป็นคนเห็นแก่ตัวได้ง่าย ไม่รับผิดชอบส่วนรวม รวมทั้งปฏิเสธหรือพยายามหนีปัญหา มีปัญหาที่บ้านก็หนีมาวัด หรือว่ามีปัญหาที่วัดนี้ก็หนีไปวัดนั้น มันจะมีแบบนี้เยอะทีเดียว คือปฏิบัติธรรมเพื่อหนีปัญหา จะไม่ชอบเวลาที่ไหนมีปัญหา เพราะว่าอะไร เพราะว่าปัญหาทำให้ใจไม่สงบ จนกระทั่งที่ไหนเสียงดังก็อยู่ไม่ได้ จะไปที่อื่นที่มันเงียบๆ เจอเสียงดังนิดเจอเสียงดังหน่อยก็หงุดหงิด กระวนกระวาย กระสับกระส่าย อันนี้เรียกว่าติดสงบ แต่เป็นความสงบที่ต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งแวดล้อม
พอสิ่งแวดล้อมเกิดไม่สงบขึ้นมาเพราะมีเสียงดัง จิตใจก็กระสับกระส่ายทันที พูดง่ายๆ ก็คือเกิดความทุกข์ อาการแบบนี้มันเกิดขึ้นกับนักปฏิบัติธรรมจำนวนมากที่ปฏิบัติไปๆ ก็กลายเป็นคนที่อ่อนไหวต่อความไม่สงบกลายเป็นคนที่อ่อนแอไปเลย ชาวบ้าน พ่อค้าแม่ค้าที่เขาอยู่กับเสียงดังๆ เขาไม่ได้ปฏิบัติธรรมสักหน่อย แต่เขาสามารถจะอยู่กับเสียงดังได้ เสียงดังก็ดังไป ใจเขาก็ยังปกติ ทำงานทำการไป แต่นักปฏิบัติธรรมยิ่งปฏิบัติธรรมๆ เจอเสียงดังนิดหน่อยก็หงุดหงิดไม่พอใจแล้ว เพราะฉะนั้นเวลากลับไปบ้านก็เลยกลายเป็นคนที่หงุดหงิดหัวเสียง่าย เพราะว่ามันมีเสียงดังหรือมีการกระทำที่ไม่ค่อยถูกอกถูกใจของลูกบ้าง ของสามีบ้าง ของเพื่อนบ้านบ้าง
ตอนไม่ปฏิบัติธรรมก็เฉยๆ นะ ไม่มีอะไรเท่าไหร่ แต่พอปฏิบัติธรรม เข้าคอร์สติดต่อกันหลายวัน ออกมา กลายเป็นคนที่หงุดหงิดง่าย เวลาลูกคุยก็ว่าลูกว่าลูกพูดดัง หรือเวลากำลังกินข้าวมีเสียงโทรศัพท์ดัง เสียงริงโทนดังก็รำคาญ ทำไมเปิดเสียงริงโทนดังอย่างนั้น เปิดโทรทัศน์ก็หงุดหงิดว่าเสียงดัง หรือว่าบางทีลูกทำอะไรที่ตัวเองเห็นว่าไม่ค่อยถูกระเบียบแบบแผนเท่าไหร่ ก็ว่าลูก ตำหนิลูก มีหลายครอบครัวมาบ่นว่า เวลาแม่กลับจากคอร์ส ลูกๆ เตรียมได้เลย เตรียมงานเข้า เดี๋ยวแม่จะบ่นโน่นบ่นนี่ เรื่องจานชาม หรือข้าวของวางไม่เป็นที่บ้างอะไรบ้าง บางคนก็บอกเวลาพ่อกลับจากคอร์ส ก่อนเข้าคอร์สพ่อก็ได้แต่บ่นว่าลูก แต่พอกลับจากคอร์ส พ่อเทศน์เลย เป็นอย่างนี้ได้ยังไง ก็คงจะเป็นเพราะว่าไปติดความสงบมาก จากวัดที่ว่าสงบ
ที่จริงแล้วความสงบไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานที่ มันอยู่ที่ใจ เจอเสียงดังก็สามารถทำใจให้สงบได้แม้มีเสียงกระทบหู มีภาพกระทบตา เห็นใครเขาทำอะไรที่ไม่ถูกอกถูกใจ ใจก็ยังสงบได้ อันนี้ต่างหากที่เป็นอานิสงส์ของการปฏิบัติธรรม ความสงบที่อาศัยสิ่งแวดล้อม ไม่มีเสียงรบกวน คนที่อยู่แวดล้อมน่ารัก เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ พูดจาไพเราะ หรือว่าอาคารที่พักก็เย็นสบาย ไม่มียุง ไม่มีแมลง ความสงบแบบนี้มันเป็นสิ่งที่เปราะบางมาก เพราะว่ามันเป็นของชั่วคราว และบางทีมันทำให้จิตใจเราอ่อนแอ พอไปเจอที่ๆ เสียงดังเข้า เจอที่ๆ มียุงเยอะ หรือไปเจอคนที่เขาไม่ค่อยเรียบร้อยหรือน่ารักเท่าไหร่ ก็จะหงุดหงิด เกิดความคับข้องใจ เกิดความโมโห อันนี้มันไม่ถูก เพราะว่าที่จริงแล้วยิ่งเจอสิ่งเหล่านี้ใจก็ยังสงบ เพราะว่าอะไร เพราะมีธรรม ธรรมะก็เช่นว่ามีสติ เวลาใจกระเพื่อมก็รู้ทัน เวลาความหงุดหงิดเกิดขึ้นก็รู้ทัน ไม่ปล่อยให้มันครองใจ รู้จักปล่อย รู้จักวาง หรือว่ามีธรรมะเห็นว่า เออ มันก็เป็นเช่นนั้นเอง
ทุกอย่างมันก็เป็นอย่างนั้นของมันอยู่ อยู่ที่ว่าเราจะทำใจยอมรับได้แค่ไหน จะหงุดหงิดหรือไม่อยู่ที่ใจเรา ถ้าใจเรารู้สึกลบกับมัน แม้เสียงไม่ดังก็ยังหงุดหงิดได้ ความสงบไม่สงบมันอยู่ที่ใจ อยู่ที่ความคาดหวัง อยู่ที่ว่าใจเรารู้สึกลบ หรือรู้สึกบวกกับสิ่งที่เกิดขึ้น
เราหลายคนที่ไปสังเวชนียสถาน โดยเฉพาะพุทธคยา หลายคนจะสังเกตได้ว่าเสียงดัง ไม่ใช่เพราะคนเอ็ดตะโรกัน แต่เป็นเพราะคนสวดมนต์ คนเป็นพันเป็นหมื่นตลอดวัน แล้วทุกคณะก็พากันสวดมนต์ตามธรรมเนียมของตัว ไม่ว่าจะเป็นพม่า ไทย เขมร ศรีลังกา ทิเบต ก็ดูเหมือนเป็นธรรมเนียมว่า สวดมนต์ต้องให้ดังเข้าไว้ก่อน คิดว่าจะได้บุญมาก เพราะฉะนั้นหลายคณะก็จะมีไมโครโฟน มีลำโพง แต่ก็แปลก คนเป็นร้อยๆ นั่งสมาธิอยู่รอบพระมหาเจดีย์ ทั้งที่เสียงดังแต่ว่าเขานั่งสมาธิอย่างสงบมาก เสียงดังแบบนี้ถ้าเกิดไปเจอตอนที่อยู่บนถนน หรือริมถนน หรืออยู่ในตลาด หลายคนก็คงจะนั่งสมาธิไม่ได้ แต่ทำไมเสียงดังเหมือนกันที่พุทธคยาจึงนั่งสมาธิได้สงบ เพราะใจรู้สึกเป็นบวกกับเสียง
เสียงที่ได้ยินเป็นเสียงแห่งศรัทธา ใจรู้สึกเป็นบวกก็เลยไม่หงุดหงิด ไม่รำคาญ เสียงดังระดับเดซิเบลเท่าๆ กันนี้ถ้าเป็นเสียงในตลาด หรือเสียงรถยนต์ริมถนน ทำไมพอได้ยิน หลายคนจึงหงุดหงิด ทั้งที่มันดังเท่ากัน ก็เพราะใจมันรู้สึกลบกับเสียงที่ว่า ความหงุดหงิดหรือไม่หงุดหงิดจะเกิดขึ้น ไม่ได้อยู่ที่เสียง หรือไม่ได้อยู่ที่ความดังของเสียง อยู่ที่เรารู้สึกบวกหรือรู้สึกลบ
ถ้าเรามีธรรมะ มันจะช่วยทำให้ใจเราสามารถที่จะรับมือ หรืออยู่กับเสียงที่ดังได้ เราไม่สามารถจะหรี่เสียงที่ดังกระทบหูเราได้ แต่เราสามารถที่จะหรี่เสียงที่มากระทบใจเราได้ หรือว่าทำใจเราให้เป็นปกติได้ อันนี้คือประโยชน์ของธรรมะที่เราควรจะใส่ใจ
เวลาปฏิบัติธรรม สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่ารู้จักตั้งจิตให้ถูกต้องว่า ปฏิบัติธรรมเพื่ออะไร ถ้าปฏิบัติธรรมเพื่อความสงบต้องระวัง เพราะมันจะไปส่งเสริมกิเลส กิเลสคือความใฝ่ ใฝ่เสพ ใฝ่มี ใฝ่ได้ อยากเสพความสงบ พอไม่มีความสงบให้เสพก็จะหงุดหงิดรำคาญใจ เราปฏิบัติธรรมไม่ใช่เพื่อเสพความสงบ หรือเพื่อสนองความอยากได้อยากมีความสงบ แต่เราปฏิบัติธรรมเพื่อฝึกฝนตน
ดังนั้นถ้าเราปฏิบัติธรรมเพื่อฝึกฝนตน เราจะไม่รังเกียจเสียงดัง เราจะไม่หวาดกลัว หรือหวั่นไหวต่อเสียงตำหนิ คำต่อว่าด่าทอ เพราะเรามองว่าพวกนี้มาสอนธรรมให้กับเรา มาฝึกฝนจิตใจเราให้รู้จักปล่อย รู้จักวาง หรือรู้จักหาประโยชน์จากสิ่งที่มากระทบ นี้ต่างหากที่เป็นประโยชน์ของการปฏิบัติธรรม
หลวงพ่อคำเขียนเคยบอกว่า แม้ถูกด่าว่าก็ยังเห็นสัจธรรมได้ คนที่ปรารถนาความสงบ ทนไม่ได้เลยนะเวลาใครมาด่าว่า เพราะจิตใจรุ่มร้อน แต่คนเราไม่จำเป็นต้องรุ่มร้อนเสมอไปเมื่อเจอคำด่า การปฏิบัติทำให้ใจเราสงบได้ แม้จะมีเสียงด่ากระทบหู เพราะเราได้เห็นสัจธรรม สัจธรรมที่ว่าก็เช่น มันไม่มีใครที่รอดพ้นจากคำนินทาได้ คำต่อว่าด่าทอมันเป็นโลกธรรมที่ไม่มีใครหนีพ้น แล้วที่จริงแล้วจะทุกข์หรือไม่ทุกข์ อยู่ที่ว่าเราไปมองคำต่อว่าด่าทอว่าเป็นอย่างไร ถ้ามองในทางลบมันก็ทุกข์ ถ้ามองในทางบวกมันก็ไม่ทุกข์
อย่างผู้ก่อตั้งเมืองโบราณ คุณเล็ก วิริยะพันธุ์ เคยพูดไว้ วันไหนไม่ถูกตำหนิวันนั้นเป็นอัปมงคล แปลว่าวันไหนถูกตำหนิ วันนั้นเป็นมงคล ธรรมะทำให้เราเห็นอะไรตรงข้ามกับทางโลก ทางโลกเขาชอบคำสรรเสริญ เขารังเกียจคำต่อว่าด่าทอ ทางธรรมทำให้เราเห็นว่า คำต่อว่าด่าทอมีประโยชน์ มันทำให้เราเห็นสัจธรรมความจริงของโลกธรรมว่า มีสรรเสริญก็มีนินทา
ถ้าใจเราไปเพลิดเพลินกับคำสรรเสริญ เราก็ย่อมทุกข์กับคำนินทาว่าร้าย หรืออาจจะมองว่าคำนินทาเป็นเครื่องฝึกสติของเรา เป็นเครื่องขัดเกลาอัตตา คนที่มีอัตตาสูงอย่าว่าแต่คำต่อว่าด่าทอเลย แค่คำตักเตือนก็โมโหแล้วเพราะอัตตาสูง อัตตาหนา สิ่งที่จะชี้ว่าอัตตาเราบางหรือหนาก็ตรงนี้แหละว่า เวลาเจอคำตักเตือน คำต่อว่าด่าทอ มันโกรธ มันคับแค้น อารมณ์มันพลุ่งพล่านหรือเปล่า ถ้าพลุ่งพล่านจนตัวสั่นเลย แสดงว่ายังมีอัตตาสูง แต่ถ้าเกิดว่าเจอแล้วใจสงบได้ ยิ้มได้ อันนี้เรียกว่าอัตตาเบาบาง แต่ถึงแม้อัตตาเรายังหนาอยู่ ก็เป็นเรื่องธรรมดา
ข้อสำคัญคือเมื่อเราปฏิบัติธรรมก็ควรมุ่งที่จะทำให้อัตตาเราเบาบางลง ชนิดที่เรียกว่าใครต่อว่าด่าทอ เราก็ยิ้มได้ ขอบคุณเขาได้ หรือว่าสามารถที่จะเห็นสัจธรรมจากคำต่อว่าด่าทอนั้น อันนี้คือประโยชน์ของการปฏิบัติธรรม
เช่นเดียวกันเวลาเจอคนมีปัญหา เจอคนไม่น่ารักก็ไม่หงุดหงิดไม่รำคาญ ไม่ใช่ว่าเจอคนมีปัญหาก็คิดแต่จะหนีอย่างเดียว หรือคิดแต่จะกำจัดเขาออกไป อันนั้นเป็นวิสัยชาวโลก แต่วิสัยของผู้ปฏิบัติธรรม แม้ว่าเจอคนเหล่านี้ ใจก็ยังไม่ทุกข์ เพราะเห็นว่าเป็นธรรมดา เพราะรู้ว่าที่ไหนๆ มันก็มีคนแบบนี้ทั้งนั้น หนีไม่พ้น
เคยมีหมอจบใหม่มาทำงานที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ทำได้ไม่นานเขาก็หงุดหงิด ไม่ใช่เพราะงานหนักอย่างเดียว แต่เพราะว่ามันมีคล้ายๆ การเมืองในโรงพยาบาล หมอเก่าชอบบ่น ชอบจู้จี้ บางทีหมอใหม่บางคนก็ไม่ค่อยขยันขันแข็ง ชอบอู้งาน ยังไม่นับเสียงบ่นเสียงนินทา
เขาก็ไปเล่าให้ผู้บริหารโรงพยาบาลซึ่งเป็นอาจารย์รุ่นพี่ว่าโรงพยาบาลนี้มันวุ่นวายเหลือเกิน มีแต่ปัญหา ผมไม่อยากอยู่แล้ว ผมจะลาออก หรือไม่ก็ย้ายไปอยู่ที่อื่น ผู้บริหารก็เลยพาไปดู พาไปที่หน้าต่าง แล้วมองลงไปข้างล่าง ข้างล่างนั้นคือสุสาน มีศพ มีหลุมศพเรียงเป็นแถวเลย อันนี้เป็นเมืองนอกนะ แล้วก็บอกเขาว่าที่ที่ไม่มีปัญหาคือข้างล่างนี้แหละคือไม่มีคน ถ้าไม่มีคนเมื่อไหร่ถึงจะสงบ แต่ที่ไหนมีคนนะไม่สงบหรอก เพราะฉะนั้นไม่ว่าวัดไหน สำนักไหนก็ต้องมีปัญหาทั้งนั้นแหละ สิ่งสำคัญคือ ไม่ใช่เราหนีมัน ไม่ใช่เราหนีปัญหา แต่เราเอาปัญหานี้มาเป็นเครื่องฝึก
เพราะการปฏิบัติธรรมอย่างที่บอกไว้แล้วคือเป็นไปเพื่อการฝึกฝนตน แต่ถ้าเราคิดว่าปฏิบัติธรรมเพื่อหาความสงบ มันจะไปสนองความใฝ่เสพ ความสงบก็คือสิ่งที่เราอยากจะเสพ อยากจะมี อยากจะเอา แต่ถ้าเราเห็นว่าการปฏิบัติธรรมก็คือเพื่อฝึกฝนตน มันจะไปส่งเสริมความใฝ่ทำ คนเราถ้าใฝ่เสพนี้มันทุกข์ง่าย แต่ถ้าใฝ่ทำ จิตใจจะมีความเจริญ คุณภาพก็จะงอกงาม แล้วถ้าเราฝึกฝนตนบ่อยๆ ไม่ใช่จะเป็นการไปจัดการกับคนอื่น ไม่ใช่ด้วยการหนีที่ที่มีปัญหา แต่ด้วยการที่รู้จักอยู่กับมันด้วยใจที่ไม่ทุกข์ เจออะไรก็ไม่หวั่นไหวใจไม่กระเพื่อม เพราะว่ามีสติ เพราะมีปัญญา คือเข้าใจสัจธรรมความจริง เพราะรู้สึกตัวได้
ถึงเวลาเราเจอปัญหาหนักๆ ที่ไม่มีใครหนีพ้น เช่น ความสูญเสีย ความแก่ ความเจ็บ ความป่วย เราก็อยู่กับมันได้ด้วยใจที่ไม่ทุกข์ เพราะว่าเราฝึกมาแล้ว คนที่คิดแต่จะหนีปัญหา คิดแต่จะหวังความสงบความสบาย จะไม่มีทางพบสิ่งเหล่านี้ได้เลย เพราะว่าเราต้องเจอกับความพลัดพรากสูญเสียอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นของรักหรือคนรัก ต้องเจอกับคำต่อว่าด่าทอ ต้องเจอกับโลกธรรมฝ่ายลบ มีลาภก็เสื่อมลาภ มียศก็เสื่อมยศ มีสรรเสริญก็มีนินทา มีสุขก็มีทุกข์ แล้วต้องเจอความเจ็บความป่วย แต่ถ้าเรารู้จักฝึกใจในการรับมือกับปัญหาต่างๆ เจออะไรใจก็ไม่กระเพื่อม ไม่หวั่นไหว
อย่างที่ในบทสวดมงคลสูตร มงคลสูตร 4 ข้อสุดท้ายสำคัญมาก จิตของผู้ใดอันโลกธรรมถูกต้องแล้วย่อมไม่หวั่นไหว ไม่เศร้าโศกด้วยกิเลสเป็นจิตเกษมศานต์ อันนี้คือจุดหมายของเราชาวพุทธเลย ก็คือว่าเมื่อเจอโลกธรรมฝ่ายลบ คำต่อว่าด่าทอ ความสูญเสีย ความเจ็บป่วย ความล้มเหลว แต่ก็ไม่หวั่นไหว ใจไม่กระเพื่อม ไม่ใช่เพราะไม่มีปัญหา ไม่ใช่เพราะว่ารอบตัวมันสมบูรณ์แบบเลิศเลอเพอร์เฟค ถึงแม้มันจะเต็มไปด้วยปัญหาแต่ใจก็สงบได้ สงบแบบนี้ต่างหากที่เราควรจะคำนึง ไม่ใช่สงบเพราะสิ่งแวดล้อม แต่สงบเพราะสามารถจะทำใจให้เป็นปกติได้ ไม่ว่าจะเจออะไรมากระทบก็ตาม
เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเรามุ่งหวังแต่ความสงบ ต้องระวังนะว่าเราจะตกกับดักของนักปฏิบัติธรรม ซึ่งสามารถทำให้เรากลายเป็นคนเห็นแก่ตัว ทำให้กลายเป็นคนเอาแต่หนีปัญหา เอาแต่แสวงหาความสบาย สุดท้ายพอเจอความเจ็บความป่วย ความพลัดพรากสูญเสีย รวมทั้งความตายก็ปรากฏว่าทุกข์ทรมานมาก นับว่าเสียประโยชน์ อุตส่าห์ปฏิบัติธรรมมาตั้งนานแต่ว่าพอเจอสิ่งเหล่านี้แล้วไปไม่รอด
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 10 กันยายน 2567