พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 9 กันยายน 2567
เย็นนี้มีหลายคนเดินทางมาถึงวัดป่าสุคะโต เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่ชื่อว่า สัญจรภาวนา คือการสัญจรไปภาวนาตามที่ต่าง ๆ ที่จริงการภาวนาก็เป็นการสัญจรอย่างหนึ่ง เป็นการเดินทางภายใน เป็นการเดินทางที่นำพาจิตใจจากเดิมที่มัวหมองหรือหม่นมัว ไปสู่สภาวะที่ใสสว่าง โปร่งเบา อิสระ
หรือจะว่าเป็นการเดินทางจากภาวะที่คลุกเคล้าด้วยสุขและทุกข์ ไปสู่ภาวะที่เหนือสุขเหนือทุกข์ก็ได้ อันนี้เป็นการเดินทางด้านใน เป็นการมองในช่วงกว้าง จากมืดไปสว่าง จากภาวะที่คลุกเคล้าด้วยสุขและทุกข์ไปสู่ภาวะที่เหนือสุขเหนือทุกข์ อันนี้เป็นการมองในภาพกว้าง
แต่การภาวนาโดยตัวมันเองแต่ละขณะ ๆ มันก็ไม่ต่างจากการเดินทางอยู่แล้ว โดยเฉพาะการเจริญสติ หลวงพ่อคำเขียนท่านเคยกล่าวว่า การเจริญสติหรือการทำความรู้สึกตัวไม่ต่างจากการเดินทางด้วยรถทัวร์ ก็คือว่าผ่านอะไรต่ออะไรมากมาย แต่ก็ไม่แวะลง
การเดินทางด้วยรถส่วนตัวมักจะมีการแวะ แวะข้างทาง แวะซื้อของ แวะเที่ยวชมสถานที่ที่สวยงาม แต่เวลาเรานั่งรถทัวร์นี่ผ่านตลอด เป็นการเดินทางที่ไม่ได้แวะที่ไหนเลยจนถึงจุดหมายปลายทาง
การเจริญสติก็เช่นเดียวกัน ต้องผ่านอะไรต่ออะไรมากมาย เช่น ความคิดและอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการเจริญสติ อย่างเวลาเราเดินจงกรม สร้างจังหวะหรือตามลมหายใจนี่แม้เราจะอยู่กับที่ แต่มันจะมีอะไรต่ออะไรผ่านเข้ามาในความรับรู้ของเรา ความคิดนานาชนิด อารมณ์นานาประเภท
แต่ในการเจริญสติเราเรียนรู้ที่จะผ่านอารมณ์เหล่านั้น โดยไม่ข้องแวะ มีความคิดใดที่น่าพอใจไม่น่าพอใจก็ผ่านตลอด ซึ่งก็ไม่ใช่ง่ายเพราะว่าหลายคนพอมีความคิดใดเกิดขึ้นมาในใจ มันก็เหมือนกับว่าใจมันคว้าหมับเลย ไปข้องแวะอยู่กับความคิดนั้น เขาเรียกว่าคิดเป็นวรรคเป็นเวร
แล้วก็คิดจากเรื่องนั้นไปอีกเรื่องหนึ่ง เรียกว่าจิตมันติดตรึงอยู่กับความคิด บางทีคิดไปสิบเรื่องถึงค่อยรู้ตัว เวลามีอารมณ์ใดเกิดขึ้นก็ตาม ดีใจ เสียใจ โกรธ หงุดหงิด แทนที่จะผ่านอารมณ์นั้นไป หรือปล่อยให้อารมณ์นั้นมันผ่าน เปล่านะ ก็เข้าไปข้องแวะกับอารมณ์นั้น ไปจมดิ่งอยู่ในอารมณ์ หรือปล่อยให้อารมณ์นั้นมันแผดเผาใจ บงการการกระทำและคำพูดของเราต่าง ๆ นานา
หลายคนนอนไม่หลับก็เพราะว่าไม่ปล่อยให้ความคิดมันผ่านเลยไป ไปข้องแวะอยู่กับความคิดนั้น เราคิดวนไปวนมา ไม่รู้จักผ่านตลอด
และมันไม่ใช่แค่ความคิดหรืออารมณ์ที่เราเรียกรวม ๆ ว่าธรรมารมณ์ ในการเจริญสติเราก็ต้องผ่าน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่กระทบกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่สังเกตไหมเวลารูปใดมากระทบตา เสียงใดมากระทบหู ใจเราไม่ผ่านนะ ไปข้องแวะอยู่กับเสียง ไปข้องแวะอยู่กับภาพ ไปข้องแวะอยู่กับรส กลิ่น สัมผัส
อะไรที่มันถูกใจหรือให้ความสุข ก็เกิดอาการที่เรียกว่าติดใจ ติดใจนี่หมายถึงว่าติดใจในรสชาติ ติดใจในความเอร็ดอร่อย ในความไพเราะของเสียง คำว่าติดใจ มันก็บอกอยู่แล้วว่ามันไม่ผ่าน
ส่วนรูป รส กลิ่น เสียงใดที่ไม่ถูกใจหรือว่าทำให้เกิดทุกขเวทนาก็เกิดอาการที่เรียกว่า ขัดใจ ขัดใจนี่ก็หมายถึงข้องขัด มันก็เป็นอาการติดยึดแบบหนึ่ง
เหมือนกับเวลาเราเอาอะไรมาขัดประตูอย่างนี้ มันติด ขัดใจก็เป็นอาการที่บ่งบอกว่าใจมันไม่ผ่าน หรือไม่ยอมให้สิ่งนั้นผ่านเลยไป เพราะไปข้องแวะ แล้วก็มีอาการผลักไสไปพร้อม ๆ กัน
อย่างเวลาฟังคำบรรยายอยู่ เกิดมีเสียงคนคุยกัน เสียงโทรศัพท์ดัง หรือว่าเสียงมอเตอร์ไซค์จากข้างนอกดัง ใจก็จะไปยึด ติด เกาะตรงนั้นเลย แทนที่จะปล่อยให้มันผ่านเลยไป บางทีเสียงมันผ่านไปแล้ว เสียงมันหายไปแล้ว แต่ใจก็ยังไปยึดอยู่กับเสียงนั้น นี่เรียกว่าไปยึด ไปเกาะ ไปข้องแวะ
แล้วเกิดอะไรขึ้น เกิดความหงุดหงิด เกิดความไม่พอใจ เกิดความไม่พอใจแล้วเป็นอย่างไร แทนที่ปล่อยให้มันผ่านเลยไป ก็ไปยึดมันเอาไว้ ไปเกาะมันเอาไว้ ไปเหนี่ยวรั้งมันเอาไว้ ไปต่ออายุให้มัน
ฉะนั้นถ้าเราเป็นนักเดินทาง เราก็จะผ่านอารมณ์เหล่านี้ไปได้อย่างราบรื่น ไม่มีการติด ไม่มีการข้อง ไม่มีการขัด ท่านเรียกว่าสักแต่ว่า สักแต่ว่าได้ยิน สักแต่ว่าได้กลิ่น สักแต่ว่าเห็น แต่แล้วมันก็ผ่านเลยไป เกิดอะไรขึ้นกับใจ ใจก็โปร่งโล่งเบาสบาย
บางทีเราเดินทางไปตามที่ต่าง ๆ เราไม่ได้แวะ แวะแค่ตามจุดพักต่าง ๆ เท่านั้น ใจเราก็เหมือนกันชอบแวะอยู่เรื่อย หรือไม่บางทีก็ไปติดอยู่กับอารมณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามา ต้องฝึกเอาไว้ การเดินทางแบบประเภทว่าผ่านตลอด
การเจริญสติ ช่วยทำให้เราสามารถผ่านอารมณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ไปได้ ไม่ว่าจะเป็น รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส หรือว่าความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจ ไม่เกิดการข้องแวะ ไม่เกิดการผลักไส หรือว่าไหลตาม ผลักไสก็ไม่ใช่ ถ้าผลักไสก็จะเกิดอาการข้องขัดขึ้นมา เหมือนกับเวลาที่เราได้ยินเสียงดังแล้วเราไม่พอใจ ใจก็ผลักไสเสียงนั้น แล้วจิตก็ข้องขัดอยู่กับเสียงนั้น
อันนี้รวมไปถึงเวลาเกิดความคัน เกิดทุกขเวทนา ยุงกัด มันเจ็บ มันคัน ใจก็ไปข้องขัดอยู่กับตรงนั้นแหละ บางทีเรียกว่าจ่อมจมเลย ฟังบรรยายแท้ ๆ แต่ว่าไม่ได้ยินเพราะใจไปติดขัดอยู่กับทุกขเวทนา หรือความคันที่เกิดขึ้นตามเนื้อตัว ตามมือบ้าง ตามแขนบ้าง แต่ถ้าเรามีสติที่แก่กล้า แล้วก็มีความรู้สึกตัวอยู่เสมอนี่มันจะหลุด ไม่ใช่ว่าไม่รู้ รู้แต่ว่าวางได้
มันมีบางครั้งที่เราไม่รู้ เราก็เลยไม่ได้มีอาการติดขัดอยู่ที่ความคันที่เกิดขึ้น อย่างเช่นบางคนถูกยุงกัดแท้ ๆ แต่ไม่รู้สึกเพราะว่ากำลังดูโทรศัพท์มือถือ กำลังไถโทรศัพท์ หรือกำลังคุยกับเพื่อน กำลังคุยกับแฟน จิตมันไม่รับรู้เลยว่ามีความคัน ความเจ็บ
หรือเหมือนคนที่เล่นไพ่ทั้งคืน นั่งหลังขดหลังแข็งแต่ไม่รู้สึกปวด ไม่รู้สึกเมื่อยเลย ไม่ใช่เพราะไม่มีความปวดความเมื่อยแต่ว่าใจมันไม่รับรู้ มันก็เลยไม่ไปข้องแวะติดขัดอยู่ตรงนั้น ทำไมใจไม่รับรู้ เพราะใจไปเพลิดเพลินอยู่กับการเล่น หรือว่ากำลังจดจ่ออยู่กับไพ่ที่ถือในมือ
อันนี้เรียกว่าไม่รู้ ไม่รู้ว่ามีความปวด มีความคัน หรือว่าลืมปวด ลืมคันก็ได้ แต่พอรู้เมื่อไหร่ เช่น พอเลิกเล่นไพ่ก็จะรู้สึกปวดเมื่อยขึ้นมา หรือพอเลิกไถโทรศัพท์เมื่อไหร่ก็จะรู้สึกคันแล้วก็หงุดหงิด เพราะว่ามันทำให้เกิดความขัดอกขัดใจขึ้นมา นี่เรียกว่าเราไปข้องแวะมัน ใจก็ผลักไส ในแง่หนึ่งก็ผลักไส แต่ว่าพอผลักไส ก็ไปข้องแวะหรือติดขัดอยู่กับตรงนั้นแหละ
หรือมิเช่นนั้นก็เป็นอารมณ์ที่ให้ความสุข ก็เพลิดเพลิน ไปยึดติด ไหลตาม แล้วก็หมายครอบครองให้นานที่สุด อันนี้คือสิ่งที่เราทำกับรสชาติที่เอร็ดอร่อย เพลงที่เพราะ บางทีผ่านไปแล้วก็ยังนึกถึงด้วยความอาลัย ทั้งที่มันเป็นอดีตไปแล้ว
ฉะนั้นเราต้องรู้จักการเดินทางแบบนี้ เดินทางแบบผ่านตลอด ไม่ว่าจะเจอ สัมผัสกับความคิดอารมณ์ใด ๆ ในใจ หรือว่าอารมณ์ภายนอก รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่มากระทบ ไม่ว่าในระหว่างที่เราทำงาน ในระหว่างที่เรากำลังเดินทาง ในระหว่างที่เรากำลังฟังธรรม ระหว่างที่เราทำกิจต่าง ๆ ก็ผ่านไปได้ บางทีเราก็เรียกว่าปล่อย หรือวาง ไม่ข้องแวะกับมัน
แล้วไม่ใช่เฉพาะสิ่งที่เราเจอระหว่างทาง ระหว่างการภาวนา เช่น ความคิดและอารมณ์ หรือว่าเสียงที่มากระทบหู สิ่งที่เรามุ่งหมายว่าอยากจะไปให้ถึง ซึ่งแม้จะเป็นสิ่งที่ดีงาม เราก็ต้องรู้จักวางมันบ้าง
ชีวิตเปรียบเหมือนการเดินทาง การเดินทางย่อมมีจุดหมาย เราจะถึงจุดหมายได้เราต้องเดินด้วยความเพียร แต่ระหว่างที่เราเดินนั้น จะให้ดีเราก็ต้องลืมหรือวางจุดหมายปลายทางไว้ก่อน ให้ใจจดจ่ออยู่กับแต่ละขณะที่เดิน ไม่ว่าจะเดินทางหรือเดินเท้า
มีนักปีนเขาคนหนึ่งชื่อ บรูซ เคิร์คบี้ (Bruce Kirkby) เป็นนักปีนเขาที่จัดเจนมาก พิชิตยอดเขาที่สูงที่สุดมาแล้วทุกทวีป รวมทั้งยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกคือเอเวอเรสต์ (Everest) ใคร ๆ ก็ทึ่งว่าเขาเป็นคนที่มีความสามารถมาก หลายคนก็อยากจะรู้เคล็ดลับความสำเร็จของบรูซ เคิร์คบี้
เขาบอกว่าเวลาปีนเขา ไม่ว่าจะเป็นเขาลูกใดที่ต้องการพิชิต เมื่อถึงเวลาที่จะเดินทางพิชิตเขาลูกนั้น เขาจะวางจุดหมายที่ต้องการพิชิต สนใจแต่ที่พื้นดินใต้ฝ่าเท้า แล้วก็เดินไปทีละก้าว เดินทีละก้าวให้มั่นคง ให้แน่ใจว่าไม่ได้ไปไปเหยียบหลุมหรือตกเข้าไปในหลุม เดินไปเรื่อย ๆ ถ้าเดินไม่หยุดนี่ถึงแน่จุดหมายคือยอดเขา
เขาบอกว่าถ้าใจไปนึกถึงจุดหมายนี่มันจะเครียด เพราะว่าวิตกถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นเพราะทางมันชัน ไกล ใช้เวลานานเป็นเดือน เพราะฉะนั้นการเดินพิชิตยอดเขาที่ดีที่สุดของบรูซ เคิร์คบี้คือลืมจุดหมายที่ต้องการบรรลุ แล้วก็สนใจพื้นดินใต้ฝ่าเท้า แล้วก็เดินไปทีละก้าว ๆ ภาษาธรรมะเรียกว่าอยู่กับปัจจุบัน จุดหมายเป็นเรื่องอนาคต สิ่งสำคัญคืออยู่กับปัจจุบัน ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด
เวลาเราภาวนาก็เหมือนกัน เรามีจุดหมาย หลายคนปรารถนาความสงบ แต่เวลาเราเจริญสติ เวลาเราลงมือภาวนาก็ต้องลืมความสงบที่ต้องการจะบรรลุ ที่จริงถ้าพูดถึงการภาวนาในพุทธศาสนา จุดหมายไม่ใช่แค่ความสงบ โดยเฉพาะถ้าเป็นความสงบที่หมายถึงการที่ไม่มีความคิด
เพราะจริง ๆ การภาวนาในพุทธศาสนาจุดหมายคือ การเห็นแจ้งในสัจธรรม ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต้องมีปัญญา มีปัญญาที่จะพาจิตออกจากความหลง ไม่ใช่ความสงบ แต่ว่าการพ้นจากความหลง
หลง มี 2 อย่างคือ ไม่รู้ความจริงกับไม่รู้ตัว ความหลงที่เราต้องการจะขจัดออกไปคือการไม่รู้ความจริง ไม่เห็นแจ้งในสัจธรรม แต่จะทำอย่างนั้นได้ต้องก้าวข้ามความหลงอีกอันหนึ่งก่อนคือการไม่รู้ตัว จะรู้ตัวได้ก็ต้องมีสติ หรือทำความรู้สึกตัวอยู่บ่อย ๆ
เพราะฉะนั้นจุดหมายของการภาวนาโดยเฉพาะการเจริญสติ มันไม่ใช่ความสงบ แต่มันคือความรู้ตัว หรือการขจัดความหลงเบื้องต้น เพื่อจะนำไปสู่การขจัดความหลงที่สำคัญคือการไม่รู้ความจริงที่เป็นเหตุแห่งทุกข์ ถึงตอนนั้นจะเกิดภาวะที่เราเรียกว่าสงบจากกิเลส
แต่บางคนเวลาภาวนาก็อยากจะให้จิตสงบจากความคิด เพราะคิดว่าถ้าไม่มีความคิดเกิดขึ้นในใจมันก็จะสงบ เพราะฉะนั้นเวลาภาวนาจึงพยายามทำให้ใจไม่คิด ไปพยายามควบคุมความคิด ทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้จิตมันคิด มีการบังคับจิตให้อยู่กับลมหายใจบ้าง มีการบังคับจิตให้อยู่กับเท้าที่เคลื่อนขยับบ้าง
เท่านั้นไม่พอ ยังมีการบริกรรมเพื่อผูกจิตให้ไม่ออกไปเพ่นพ่านที่ไหน อันนี้เพราะอยากให้จิตไม่มีความคิด หรือไม่ออกไปคิดโน่นคิดนี่ อันนี้เป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะว่าจิตนี่ธรรมชาติของมันก็คือคิด ออกไปรับรู้โน่นรับรู้นี่
มีอาจารย์ท่านหนึ่งบอกว่า ความเข้าใจผิดที่สำคัญของนักภาวนาโดยเฉพาะในพุทธศาสนาคือการเข้าใจว่า ภาวนาคือการขจัดความคิด แต่เพราะมันขจัดไม่ได้ ฉะนั้นสิ่งที่ควรทำก็คือ รู้ทันความคิด และอะไรจะทำให้รู้ทันความคิดนั่นคือ สติ
สติเหมือนตาในที่ทำให้เห็นความคิดที่มันผุดขึ้นมา โดยเฉพาะความคิดที่ไม่ได้ตั้งใจ ฉะนั้นถ้าเราตั้งจิตว่า มันจะมีความคิดหรือไม่ หน้าที่เราก็คือรู้ทัน มีความคิดก็รู้ ไม่มีความคิดก็รู้ จิตสงบก็รู้ จิตไม่สงบก็รู้ รู้อย่างเดียว เหมือนกับว่าเป็นผู้เฝ้าดู แต่ไม่ว่าจะมีความคิดใดก็ไม่ไปยึด ไม่ไปเกาะ ไม่ไปเกี่ยว ไม่ไปผลักไส ไม่ไปโรมรันพันตู แค่รู้ซื่อ ๆ
ถ้าตั้งจิตแบบนี้หรือทำความเข้าใจแบบนี้ การภาวนาก็จะไม่ใช่เรื่องยาก เพราะว่าไม่ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับใจก็แค่รู้เฉย ๆ ดีกว่าการไปพยายามบังคับไม่ให้มีความคิด ไม่ให้มีอารมณ์ ใครที่ทำแบบนั้นก็จะทุกข์มากเพราะว่าจิตไม่ยอมอยู่ในอำนาจของเรา ยิ่งอยากจะให้มันหยุดคิด มันก็ยิ่งคิด มีความหงุดหงิด มีความโกรธอยากจะกดข่มมันเอาไว้ มันก็ยิ่งผุดยิ่งโผล่ ยิ่งต่อต้าน ยิ่งทำให้โมโห
หรือยิ่งพยายามทุ่มเทความตั้งใจ สรรพกำลังเพื่อจะเอาชนะมัน ถ้าหากทำแบบนี้ยิ่งทุกข์ สุดท้ายก็จะแพ้ บางทียิ่งทำยิ่งหงุดหงิด ยิ่งโมโหตัวเอง บางคนถึงกับเอารองเท้าแตะฟาดหัวตัวเองเลย ว่าทำไมมันคิดมากเหลือเกิน ทำไมมันคิดมากเหลือเกิน
ที่จริงความคิดเยอะมันไม่ใช่ปัญหา ปัญหาคือไม่อยากให้มันคิด ความอยากให้มันหยุดคิดตรงนี้แหละคือเหตุแห่งทุกข์ มันคิดเยอะแต่ว่าไม่ไปสนใจ คิดก็คิดไป แค่รู้เฉย ๆ มันจะไม่ทุกข์ แต่พอใจรู้สึกลบต่อความคิด อยากจะให้ความคิดหมดไป และพยายามที่จะกดข่ม บังคับจิตไม่ให้คิด ตรงนี้แหละคือสมุทัยคือเหตุแห่งทุกข์ อย่าไปโทษความฟุ้งซ่านว่าทำให้เราทุกข์ในการปฏิบัติ
ที่ทำให้เราทุกข์จริง ๆ คือ ความอยากให้มันหาย อยากจะให้มันไม่ผุดไม่โผล่ขึ้นมา เพราะฉะนั้นแทนที่จะไปบังคับจิตไม่ให้คิด เอาชนะความคิด ก็ปรับใจเสียใหม่ แค่รู้ มีความคิดอะไรเกิดขึ้นก็รู้ รู้โดยที่ไม่ไปผลักไส แล้วก็ไม่ไหลตาม อันนี้ท่านเรียกว่า รู้ซื่อ ๆ มันจะคิดมากหรือน้อยก็เป็นเรื่องของมัน
มันก็เหมือนกับอยู่กรุงเทพฯ น้ำท่วมก็เป็นเรื่องธรรมดา สมัยก่อนเขาก็ไม่ทุกข์ร้อนอะไร แต่พอเราไปพยายามบังคับควบคุมน้ำไม่ให้มันท่วมกรุงเทพฯ พอมันท่วมขึ้นมาก็เลยหงุดหงิดหัวเสีย ที่จริงแต่ก่อนเขาไม่ได้เรียกว่าน้ำท่วม เขาเรียกว่าน้ำหลาก ตอนหลังเราไปเรียกว่าน้ำท่วม ก็ยิ่งทำให้รู้สึกเป็นทุกข์ แต่พอเราเปลี่ยนชื่อเป็นน้ำรอการระบายนี่รู้สึกดีขึ้นเลย
เหมือนความคิด ความคิดนี่ถ้าเราตั้งชื่อว่าความคิดฟุ้งซ่าน เราจะทุกข์มากเลยเวลามันเกิดขึ้น แต่พอเราเรียกชื่อมันใหม่ว่าความคิดที่รอการเห็นการรู้ มันจะไม่ทุกข์เลย มันจะกลายเป็นเรื่องท้าทายว่า เออ มันเกิดขึ้นแล้วเราเห็นมันได้ไวขึ้นไหม
มันจะเกิดขึ้นกี่ครั้ง จะเกิดขึ้นมากเท่าไหร่เราจะไม่ทุกข์ร้อนเลย เพราะมันจะกลายเป็นเรื่องท้าทายว่า เออ เราจะเห็นมันได้เร็ว มันไม่ใช่ความคิดฟุ้งซ่านอีกแล้ว มันคือความคิดที่รอการเห็นจากเรา หรือเห็นจากสติ
ฉะนั้นปรับใจเสียใหม่ เวลาภาวนาประการแรกก็คือว่า ลืม หรือวางจุดมุ่งหมายไว้ก่อน ให้อยู่กับปัจจุบัน แล้วยิ่งจุดมุ่งหมายคือความสงบนี่ ก็ให้เข้าใจเสียใหม่ว่าไม่ใช่ความสงบจากความคิดหรือสงบเพราะไม่คิด แต่มองว่าสงบเพราะรู้ทัน ถึงตอนนี้เราก็จะฝึกใจให้รู้ทันเร็วขึ้น ๆ ๆ
มันจะมีความคิดมากหรือน้อย ไม่เป็นไร เราก็จะรู้ทันอย่างเดียว วิธีนี้ที่ทำให้เราสามารถจะผ่านอะไรต่ออะไรที่เกิดขึ้นในใจได้ แม้กระทั่งทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เราก็จะผ่านมันได้ ไม่ข้องแวะ ไม่ติดขัดหรือขัดอกขัดใจเมื่อมันมีความคัน ความปวด ความเมื่อย
รวมทั้งเวลามี รูป รส กลิ่น เสียง มากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ผ่านมันได้ ใจก็โปร่งสบาย ไม่ใช่ว่าไม่มีเสียงดัง แต่ว่าเสียงดังทำอะไรใจไม่ได้เพราะไม่มีการผลักไส ตรงนี้แหละที่ทำให้สงบ สงบเพราะรู้ซื่อ ๆ สงบเพราะรู้แล้วก็วาง รู้แล้วก็ปล่อย.