คนเราส่วนใหญ่ตื่นมากกว่าหลับ ถ้าเป็นคนปกติก็ตื่นวันละ 17-18 ชั่วโมง หลับก็ประมาณ 6-7 ชั่วโมง แต่นั่นเป็นเรื่องของร่างกาย ส่วนจิตใจเราหลงมากกว่ารู้ รู้ในที่นี้หมายถึงรู้ตัว แม้ว่าเราจะตื่น 17-18 ชั่วโมง แต่ว่าส่วนใหญ่แล้วอยู่ในความหลงมากกว่า รู้เนื้อรู้ตัวน้อย หลงหมายถึงว่าหลงคิด หรือว่าหลงเข้าไปในความคิด หรือว่าหลงอารมณ์ หลงเข้าไปในอารมณ์ อาการที่ง่าย ๆ ก็คือว่าใจลอย ฟุ้งซ่าน ฝันกลางวัน หงุดหงิด เครียด ว้าวุ่น กระสับกระส่าย พวกนี้เป็นสัญญาณหรืออาการของความหลง แม้ว่ากายจะตื่นแต่ว่าใจหลง
แล้วส่วนใหญ่ไม่ใช่หลงเฉย ๆ หลงซ้อนหลง หลงซ้อนหลงหมายความว่าอย่างไร ก็หมายความว่าหลงแล้วก็ยังไม่รู้ตัวว่าหลง แล้วคนที่เครียดเรียกว่าส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวว่าเครียด คนที่โกรธไม่ค่อยรู้ตัวว่าโกรธ ยิ่งคนที่สติฟั่นเฟือนวิกลจริตคือบ้า แทบจะร้อยทั้งร้อยนี้ไม่ยอมรับ หรือไม่รู้ตัวว่าตัวเองบ้า คล้าย ๆ กับคนที่เมา แล้วบอกว่ากูไม่เมา คนที่ตกอยู่ในความโกรธ หลายคนก็บอกว่าฉันไม่โกรธ ทั้งที่เครียด หน้าดำคร่ำเคร่ง ก็บอกว่าฉันไม่ได้เครียด อันนี้คือหลงซ้อนหลง ก็คือไม่รู้ตัวว่าหลง
หลงซ้อนหลงอีกอย่างก็คือ ไม่รู้ว่าความหลงเป็นยังไง มันก็แปลกอยู่กับความหลงมาตั้งแต่รู้ความ จนโตยังไม่รู้เลยว่าความหลงเป็นอย่างไร แล้วความหลงมันฉลาดทั้งที่ครอบงำใจแต่ว่ามันก็ยังทำให้เราคิดว่าฉันไม่ได้หลง แล้วแถมยังไม่รู้อีกนะว่าความหลงมันเป็นอย่างไร เหมือนกับปลา มันอยู่กับน้ำตั้งแต่เกิดเลยแต่มันไม่เห็นน้ำ หนอนอยู่กับอาจมมาตั้งแต่เกิดแต่มันไม่เห็นอาจม นกก็อยู่กับฟ้ามาตั้งแต่เกิดกลับมองไม่เห็นฟ้า อย่างที่เขาพูดว่า นกไม่เห็นฟ้า ปลาไม่เห็นน้ำ หนอนไม่เห็นอาจม
คนเราอยู่กับความหลงมาทั้งชีวิต แต่นอกจากไม่รู้ว่าหลงแล้ว ยังไม่รู้ว่าความหลงเป็นอย่างไร นี่เรียกว่าหลงซ้อนหลง
หลงซ้อนหลงอีกประการหนึ่งก็คือว่า หลงเชื่อความหลง ความหลงไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความโลภ พอมันครองใจเราแล้ว มันก็สามารถจะบงการให้เราทำตามอำนาจของมันก็ได้ แล้วก็สรรหาเหตุผลมากมายหลอกล่อให้เราเชื่อในเหตุผลของความหลง นอกจากเชื่อมันแล้ว ทำตามมันแล้ว ก็ยังเชื่อในเหตุผลของมันด้วย
อย่างเช่นความโลภ มันหลอกให้เราเสพ ทั้งที่สิ่งที่เสพเป็นโทษ บุหรี่ เหล้า หรือว่ายาเสพติด บางทีเราก็รู้ว่ามันไม่ดี แต่ว่าก็พอมันหลอกสรรหาเหตุผลต่าง ๆ มากมาย เราก็เชื่อ อย่างมันบอกว่า เออ ครั้งสุดท้ายแล้วนะ กินเหล้านี้ครั้งสุดท้ายแล้วนะ เราก็เชื่อ ทำตามมัน กินเหล้าจนเมา และถามว่าครั้งสุดท้ายหรือเปล่า ไม่ใช่เลย วันหน้ามันก็บอกอีก ครั้งสุดท้ายแล้ว หรือบางทีก็บอกว่า นิดหน่อยน่า นิดหน่อยน่ะ พอเรากระดกเข้าไปนิดหน่อย เอาแล้วคราวนี้ยั้งไม่อยู่ ไม่ว่าจะเป็นเหล้า หรือว่ายาเสพติด
หรือแม้แต่โทรศัพท์มือถือ Social Media บางทีเราก็รู้สึกว่ามันมากเกินไปแล้วนะ จนเสียงานเสียการ จนเสียสุขภาพ แต่แล้วพอเห็นโทรศัพท์ มันก็เกิดความอยากขึ้นมา เอาหน่อยน่า แค่ 5 นาทีเอง 10 นาที แล้วเราก็เชื่อมัน ปรากฏว่าหมดไปเป็นชั่วโมง ๆ บางทีข้ามคืน เกมก็เหมือนกัน เกมออนไลน์ บางทีเราก็รู้ มันเล่นหนักไปแล้ว ไม่เล่นแล้ว ไม่เอาแล้ว แต่ไม่ทันข้ามวันเลย มันบอกว่านิดหน่อยน่า นิดหน่อยน่า หรือไม่ก็บอกว่าครั้งสุดท้ายแล้ว แล้วเราก็เชื่อมัน ปรากฏว่ามารู้ตัวอีกทีก็สว่างแล้ว ไม่ได้หลับไม่ได้นอนเลย อันนี้เรียกว่าหลงเชื่อความหลง
การพนันก็เหมือนกัน ทั้งที่หมดเนื้อหมดตัว เป็นหนี้เป็นสินมากมายแล้ว ใจหนึ่งอยากเลิก แต่ว่าสุดท้ายก็เลิกไม่ได้ เพราะว่ามันมาหลอกล่อว่านิดหน่อยน่า ครั้งสุดท้ายแล้ว หรือว่าแค่ไม่กี่บาทเอง เล่นแค่ 10 บาทเอง ปรากฏว่าหมดไปเป็นคืน แล้วก็สูญไปหลายหมื่น บางทีเป็นแสน
มันฉลาดมาก หลอกให้เสพ หลอกให้เล่น หรือแม้แต่ช็อป ซื้อจนต้องออกเครดิตการ์ดมาเป็น 10 ใบ แล้วเป็นหนี้มากมายก็ยังซื้อไม่เลิก จนกระทั่งบอกว่าฉันไม่ไหวแล้ว ฉันไม่ซื้อแล้ว แต่พอเห็นโฆษณาสินค้าทางมือถือ โอ๊ย ราคาถูก ทั้งที่ก็มีเยอะแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ รองเท้า เสื้อ กางเกง แต่มันก็จะมีเหตุผลมาหลอกล่อให้เราเชื่อว่าครั้งสุดท้ายแล้ว หรือไม่ก็บอกว่าโห ราคามันถูกมาก ถ้าซื้อครั้งนี้แล้ว ก็ไม่ต้องซื้อไปอีกนานแล้ว หรือไม่มันก็บอกว่าโหย อย่าพลาดโอกาสนี้เลยนะ โอกาสแบบนี้หายาก เอาหน่อยน่ะ แล้วเราก็หลงเชื่อ เสร็จแล้วก็เสียท่ามัน
ไม่ใช่เฉพาะความโลภ ความโกรธก็เหมือนกัน มันสั่งให้เราด่า เราก็ด่าเพราะเราเชื่อมัน มันสั่งให้เราทำร้ายข้าวของของเขา หรือว่าทำร้ายร่างกายเขา เราก็ทำ บางทีใจก็มีเสียงห้ามว่าอย่าทำ อย่าทำ อย่าทำร้ายเขาเลย แต่มันก็จะมีอีกเสียงหนึ่งบอกว่าถ้าไม่ทำมัน เป็นหมาดีกว่า ถ้าไม่ต่อยมัน เป็นหมาดีกว่า หรือบางทีมันก็มีเสียงบอกว่าถึงติดคุก กูก็ยอม ขอให้ได้ตบมัน ขอให้ได้แทงมัน หรือขอให้ได้ฆ่ามัน กูก็ยอมติดคุก
แล้วพอทำไป ถามว่ายอมติดคุกไหม ร้อยทั้งร้อยไม่ยอมติดคุก พยายามหนี พยายามเป่าคดี ไม่เห็นมีใครคนไหนที่ยอมติดคุกเลย ทั้งที่ตอนที่ทำ ถ้าได้ทำมัน กูยอมติดคุก พอทำไปแล้ว ไม่เห็นมีใครยอมเลย หนี พยายามสร้างหลักฐานเท็จหรือพยายามเป่าคดี เพราะอะไร เพราะหลงเชื่อมันไปแล้ว แล้วรู้สึกว่าโอ๊ย กูพลาดไปแล้ว
ทีแรกยอม ยอมติดคุก แต่พอสร่างจากความโกรธ สร่างจากความหลง มันไม่ยอมแล้ว อันนี้เรียกว่าหลงเชื่อความหลง
การที่ไม่รู้ตัวว่าหลง และไม่รู้ว่าความหลงเป็นอย่างไร รวมทั้งหลงเชื่อความหลง มันก็พาทำให้คนเราตกอยู่ในอำนาจของความหลงซ้ำแล้วซ้ำเล่า อาจจะชั่วชีวิตเลยก็ได้ แต่ถ้าเกิดว่าเราเริ่มที่จะเห็นโทษของความหลง แล้วก็อยากจะออกจากความหลง สิ่งหนึ่งที่จะช่วยเราให้ออกจากความหลงได้ง่ายขึ้น ก็คือว่ากลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว กลับมาอยู่กับกาย
เวลาเราจิตถูกครอบงำด้วยความหลง ตอนนั้นใจจมดิ่งอยู่ในความคิดและอารมณ์ต่าง ๆ มากมาย แต่พอเราน้อมจิตมาอยู่กับกาย ที่เรียกว่ามารู้กาย มันก็ช่วยทำให้ออกจากความหลงได้ง่ายขึ้น เพราะว่าพอเราเอาใจมาอยู่กับกาย มารู้เนื้อรู้ตัว ความรู้สึกตัวก็จะเกิดขึ้นได้ง่าย เพราะว่าชั่วขณะนั้นจิตออกจากความหลงแล้ว พอจิตออกจากความหลง มันก็เริ่มรู้จักความหลง
คนที่อยู่กับความหลงมาตลอด และไม่รู้ว่าความหลงเป็นอย่างไร พอได้อยู่กับความรู้สึกตัว ได้รู้จักความรู้สึกตัว มันจะเริ่มรู้จักว่าความหลงเป็นอย่างไร เพราะมันมีการเปรียบเทียบ พอรู้จักความหลงแล้วว่าเป็นอย่างไร เวลาหลงก็จะเริ่มรู้แล้วว่านี่เราหลงแล้วนะ
ยิ่งถ้าเกิดว่าได้สัมผัสกับความรู้สึกตัวบ่อย ๆ นาน ๆ มันก็เหมือนกับคนที่เคยอยู่ในความมืดแล้วไม่รู้จักแสงสว่าง แต่พอเห็นแสงสว่างแล้ว ก็เริ่มรู้จักความมืด รู้ว่าความมืดเป็นอย่างไร หรือเหมือนกับคนที่เคยอยู่กับเสื้อที่มอ ๆ พอมาเห็นเสื้อที่ขาวสะอาด มันมีตัวเปรียบเทียบก็เลยรู้ว่า โอ๊ย เสื้อที่เราคิดว่าสะอาดแล้ว ที่จริงมันยังหมองอยู่ ควรจะขาวกว่านี้ หรือให้มันขาวกว่านี้ได้
ฉะนั้นจิตเราพอเราเริ่มสัมผัสกับความรู้สึกตัว มันก็จะเริ่มรู้จักกับความหลง แล้วขณะเดียวกันการที่สัมผัสกับความรู้สึกตัวบ่อย ๆ ก็จะเริ่มรู้จักความรู้สึกตัว เวลาที่ไม่รู้สึกตัวเมื่อไหร่ มันก็จะรู้อาการของใจได้เร็วขึ้นว่านี่เราไม่รู้สึกตัวแล้วนะ แล้วสิ่งที่ช่วยทำให้เรารู้สึกตัวได้ง่าย หรือว่าเป็นขั้นแรกของความรู้สึกตัวคือ การกลับมาอยู่กับกาย รู้กาย
ไม่ว่าในยามที่เราโกรธ ในยามที่เรากลัว ในยามที่เราเกิดโลภ เกิดราคะ แทนที่จะปล่อยใจเราจมอยู่ในอารมณ์เหล่านั้น กลับมารู้กาย บางคนก็ใช้วิธีการตามลมหายใจ บางคนก็ใช้วิธีมารู้การเคลื่อนไหวของกาย เช่น ยกมือสร้างจังหวะ เดินจงกรม หรือบางคนก็ใช้วิธีการสแกนร่างกาย เวลามันโกรธ หน้าตาเป็นอย่างไร หน้านิ่วคิ้วขมวดไหม ลมหายใจเป็นอย่างไร ถี่ สั้นไหม หรือว่าหัวใจเต้นเร็วไหม หรือว่ามือเกร็ง กำหมัดแน่น พอมาเห็นกาย มารู้กาย มันก็ช่วยทำให้กลับมารู้ตัว เพราะว่าช่วงนั้นจิตเริ่มออกจากความหลงแล้ว พอจิตออกจากความหลง มันก็จะเริ่มรู้จักความหลงได้ชัดขึ้น
การที่เราจะรู้จักอะไร วิธีหนึ่งก็คือออกจากสิ่งนั้น เช่น คนที่ออกมาอยู่ต่างจังหวัด แค่ชั่วโมงแรกหรือวันแรกเขาจะรู้เลยว่า โอ้โฮ ในเมืองนี้มันวุ่นวายมาก แต่ก่อนอยู่ในเมืองไม่เคยรู้สึกว่ามันวุ่นวายเลย แต่พอมาอยู่ต่างจังหวัดก็รู้เลยว่า โอ้โฮ ในเมืองเช่นกรุงเทพมันวุ่นวายมาก หรือบางคนอาจจะไม่เคยรู้ว่าเมืองไทยเสียงมันดังมาก โดยเฉพาะตามเมืองต่าง ๆ แต่พอไปอยู่เมืองนอกอย่างยุโรป ถึงจะรู้ว่า โอ้โฮ กรุงเทพก็ดี เชียงใหม่ก็ดี กลางค่ำกลางคืนมันดังมากเลย
เคยไปอยู่ปารีส เคยไปอยู่ลอนดอน กลางคืนนี้มันเงียบมาก เราไม่รู้ว่าเมืองไทยนี้มันเสียงดังอึกทึก จนกระทั่งไปอยู่ต่างประเทศ แต่ถ้าไปอยู่อินเดียก็ไม่แน่เพราะว่ามันก็ดังเหมือนกัน แต่ยุโรปนี้สงบมาก เงียบมาก แม้กระทั่งในเมืองใหญ่ ๆ เพราะเขาใส่ใจกับเรื่องมลภาวะทางเสียงโดยเฉพาะในเวลาค่ำคืน
บางคนที่มาวัด ใหม่ ๆ ถึงจะรู้ว่า โอ้โฮ บ้าน ที่ทำงาน มันวุ่นวายมาก รุ่มร้อนมาก แต่ก่อนไม่เคยรู้เลย สิ่งเร้าเยอะเหลือเกินที่บ้าน ที่ทำงาน มารู้ก็ตอนที่ออกจากบ้าน ออกจากที่ทำงานมาอยู่วัด ออกจากสิ่งไหนมันก็จะเห็นสิ่งนั้นชัดขึ้น ก็เหมือนกับนักบินอวกาศ Apollo 8 ซึ่งเป็นยานอวกาศที่เป็นครั้งแรกที่ออกไปโคจรรอบดวงจันทร์ แล้วก็มีนักบินคนหนึ่งถ่ายรูปโลก ภาพที่คนเห็น ไม่ว่าจะเป็นนักบินอวกาศในยานอพอลโล (Apollo หรือว่าชาวโลก ไม่เคยคิดเลยนะว่าโลกมันสวยงามมาก โลกที่เราเห็นไม่เคยคิดว่ามันสวยงามอย่างนั้น
วิลเลียม แอนเดอร์ส ซึ่งเป็นคนถ่ายรูปโลกที่กำลังคล้าย ๆ ขึ้นจากขอบฟ้าของดวงจันทร์ เขาบอกว่าอุตส่าห์มาไกลเพื่อที่จะมาสำรวจดวงจันทร์ แต่สิ่งสำคัญที่เราพบก็คือ ได้รู้จักโลกของเรา ต่อเมื่อออกมาจากโลกจริง ๆ ได้รู้จักโลกว่ามันสวยสวยงาม แล้วก็น่าทะนุถนอมมาก ทำให้คนเกิดสำนึกรักโลกขึ้นมาเลย
ฉะนั้น คนเราเมื่อออกจากความหลง มันถึงจะเห็นความหลงชัด แล้วเราจะออกจากความหลงได้ ก็ต้องพาใจกลับมาอยู่กับกายเป็นเบื้องต้นก่อน กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว จึงจะเห็นความหลงได้ชัดขึ้น เพราะตอนนั้นได้ออกมาจากความหลงแล้ว ไม่ว่าความหลงนั้นจะเป็นความโกรธ ความเกลียด ความเครียด ความเศร้า หรือแม้กระทั่งความคิดฟุ้งซ่าน
แล้วการที่เราออกจากความหลง นอกจากเราจะเห็นความหลงชัดแล้ว เรายังรู้จักความรู้สึกตัวได้ดีขึ้น พูดอีกอย่างก็คือว่า พอออกจากความหลงเมื่อไหร่ก็จะรู้สึกตัวเมื่อนั้น ออกจากความหลงเมื่อไหร่ก็รู้สึกตัวเมื่อนั้น แล้วเมื่อรู้สึกตัวเมื่อไหร่ มันก็จะเห็นความหลงชัดขึ้น เพราะฉะนั้น ความหลงกับความรู้สึกตัว จริง ๆ มันก็ไม่ได้แยกกัน ออกจากความหลงก็จะเกิดความรู้สึกตัว และเมื่อมีความรู้สึกตัวก็จะเห็นความหลงชัด มันเหมือนกับความมืดกับแสงสว่าง มันไม่ได้แยกจากกัน การที่เราเห็นแสงสว่าง มันก็ทำให้เรารู้จักความมืดได้ดีขึ้น รู้จักความมืดว่ามันเป็นอย่างไร แล้วยิ่งเราออกจากความมืดมากเท่าไหร่ เราก็รู้จักหรือเห็นคุณค่าของแสงสว่างมากเท่านั้น
เพราะฉะนั้นเวลาเราเจริญสติ ทำความรู้สึกตัว การที่มีความหลงเกิดขึ้นมันก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่แย่ เพราะว่ายิ่งมีความหลงเกิดขึ้นมากเท่าไหร่ เราก็จะรู้จักมันดีมากเท่านั้นเมื่อเรารู้จักพาจิตออกมาอยู่กับเนื้อกับตัว หลวงพ่อเทียนท่านถึงบอกว่าอย่าไปห้ามความคิดนะ ถึงแม้ว่าความคิดจะทำให้หลง หรือหลงคิด เพราะว่ายิ่งคิดก็ยิ่งรู้ รู้ในที่นี้ก็คือรู้ตัว เพราะว่าได้อาศัยความหลงนั่นแหละเป็นเครื่องฝึกให้มีความรู้ตัวมากขึ้น หรือว่าพอเราหลง แล้วเราออกจากความหลงมารู้ตัว มันก็จะเห็นความหลงชัดขึ้น อาการที่เรียกว่าหลงซ้อนหลง มันก็จะน้อยลง
ฉะนั้น ต่อไปพอเรารู้ว่าความหลงมันเป็นอย่างไร ถึงเวลาใจพลัดเข้าไปในความหลง เราก็จะรู้ได้เร็วว่าเรากำลังหลงอยู่นะ เรากำลังโกรธอยู่นะ เรากำลังเครียดอยู่นะ อาการที่เรียกว่าหลงซ้อนหลงคือ ไม่รู้ว่าหลง มันก็จะน้อยลง หรือว่าจะไม่เนิ่นนานเหมือนเมื่อก่อน แล้วพอเรารู้ว่าความหลงเป็นอย่างไร ไม่ว่าความหลงที่ชื่อว่าโกรธ เกลียด หรือว่าโลภ โศกเศร้า พอเรารู้ว่ามันเป็นอย่างไร แล้วมันเกิดขึ้นกับใจเรา หรือมันถูกสิ่งเร้ากระตุ้นให้เกิดขึ้น ใจก็จะไม่ถลำเข้าไปในความหลงนั้น หรือถึงถลำเข้าไปแล้วก็รู้ตัวออกมาเร็วขึ้น ไม่หลงเชื่อความหลงง่าย ๆ ไม่หลงทำตามอำนาจของมัน
อันนี้เป็นขั้นต้น ๆ ของการออกจากทุกข์ เพราะว่าถ้าใจไปจมอยู่ในความหลง มันก็จะยิ่งทุกข์มากขึ้น
ฉะนั้น ความทุกข์ของคนเราทุกวันนี้ มันไม่ได้เป็นเพราะทุกข์กาย แต่เป็นเพราะทุกข์ใจ แล้วที่ทุกข์ใจเพราะความหลงนี่แหละ ทุกข์เพราะคิด หรือทุกข์เพราะไม่รู้ทันความคิด ทุกข์เพราะปล่อยให้อารมณ์ครอบงำ หรือพูดอีกอย่างก็คือปล่อยให้ความหลงมาครอบงำใจ แต่ถ้าเรารู้จักออกจากความหลง การออกจากความทุกข์มันก็จะเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น เป็นไปได้
แล้วเราจะออกจากความหลงได้ อย่างน้อยก็อย่าไปหลงซ้อนหลง เมื่อเวลาหลงก็รู้ว่าหลง แค่นี้ก็ช่วยได้เยอะแล้ว รู้ตัวว่าหลง รู้ว่าหลงมีอาการอย่างไร แล้วก็รู้ทันเวลามันสรรหาเหตุผลมาล่อหลอกเรา เวลามันบอกว่าอีกหน่อยน่า อีกหน่อยน่า อีกนิดน่า เราก็จะไม่เชื่อมันแล้ว หรือเวลามันบอก ครั้งนี้ครั้งสุดท้ายแล้ว เราก็จะไม่เชื่อมันง่าย ๆ หรือเวลาความโกรธ มาบอกว่าถ้าได้ฆ่ามัน ได้ทำร้ายมัน ติดคุกกูก็ยอม เราไม่เชื่อแล้ว ไม่เชื่อว่าจะทำอย่างนั้น หรือยอมตามอำนาจของมัน จะมีเสียงที่ทักท้วงอีกทางหนึ่งว่าเราจะไม่ทำอย่างนั้น เพราะเห็นโทษของมัน แล้วถ้าหากว่าเราทำให้อาการหลงซ้อนหลงมันน้อยลง การออกจากทุกข์ก็จะเป็นเรื่องง่าย เพราะว่าถ้าเรารู้จักรักษาใจไม่ให้หลงซ้อนหลง ถึงเวลามีความหลง ก็ออกจากความหลงได้เร็วขึ้น ออกจากความหลงได้เร็วขึ้นก็ออกจากทุกข์ได้ง่ายขึ้น
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 8 กันยายน 2567