พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 5 กันยายน 2567
มีพุทธภาษิตที่เราคงคุ้นหู ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นหัวหน้า สำเร็จแล้วที่ใจ
เพราะว่าธรรมทั้งหลายหมายถึงความจริง รวมทั้งความสุขและความทุกข์ด้วย จะสุขหรือทุกข์มันอยู่ที่ใจเป็นสำคัญ แม้ว่ากายจะเจ็บป่วยย่ำแย่ แต่ก็ยังมีความสุขได้ ถ้าใจเราเป็นปกติสุข หรือว่าวางจิตวางใจไว้ดี
มีคุณปู่คนหนึ่ง อายุ 80 กว่า ป่วยเป็นมะเร็ง แล้วพอลามจนถึงระยะท้าย ต้องล้มหมอนนอนเสื่อ แกก็เลือกที่จะไม่ไปโรงพยาบาล เพราะไม่ต้องการยื้อชีวิต แต่เลือกที่จะดูแลรักษาตัวที่บ้าน มีหมอมีพยาบาลมาเยี่ยมที่บ้าน ให้การดูแลแบบประคับประคอง เป็นการดูแลที่ช่วยลดความทุกข์ ความเจ็บป่วย ความไม่สบายกาย ไม่สบายตัว
อยู่ที่บ้าน คุณปู่แกก็ได้อยู่ท่ามกลางลูกหลาน หลานมาคุย มาสนทนา แกก็คุยให้ฟังถึงอาการ รวมทั้งได้สอนเรื่องของความไม่เที่ยงของชีวิต พูดเรื่องความตายให้หลานฟัง
ก็เรียกว่าทำใจพร้อม สำหรับความตายที่จะมาถึง ไม่มีอะไรที่ต้องกังวล และใจก็พร้อมรับความตาย 2-3 วันสุดท้ายก่อนตาย แกก็ยังบอกว่า “ถึงแม้ว่าผมจะไม่ค่อยมีเรี่ยวไม่มีแรง ความคิดก็สับสนอยู่บ้าง แต่ผมก็มีความสุขนะ”
จนกระทั่งสุดท้าย 2-3 ชั่วโมงก่อนตาย แกยังพอรู้สึกตัว แกก็ยังบอกว่า ผมเป็นคนมีความสุขคนหนึ่ง นี่ขนาดร่างกายเต็มไปด้วยทุกขเวทนา เต็มไปด้วยความเจ็บป่วย แต่ว่าคุณปู่คนนี้ แกก็ยังมีความสุข เพราะอะไร เพราะใจ
ใจที่ยอมรับความตายได้ ใจที่ไม่บ่น ไม่โวยวาย ไม่ตีโพยตีพาย ใจที่อิ่มเอมกับชีวิต มีความสุขกับชีวิตที่ผ่านมา เพราะได้ทำความดี ได้ทำสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ
แล้วก็อยู่ท่ามกลางลูกหลาน ทั้งหมดนี้ก็ล้วนแต่ทำให้ใจเป็นสุข พอใจเป็นสุขแล้ว ความเจ็บป่วยทางกายมันก็ทำอะไรไม่ได้ อันนี้เรียกว่าเป็นเพราะใจ
ในทางตรงกันข้าม แม้ว่ากายจะไม่ค่อยเป็นอะไรมาก หรือไม่เป็นอะไรเลย แต่ถ้าเกิดว่าใจเกิดแย่ เกิดติดลบขึ้นมา ก็อาจจะทำให้กายทรุดลงไป
อย่างที่อินเดีย เมื่อ 50-60 ปีก่อน มีพ่อค้าคนหนึ่ง แกก็เปิดร้านขายของร้าน ร้านก็คงจะรก ตามประสาชาวอินเดีย ปรากฏว่าเช้าวันหนึ่ง จู่ ๆ แกก็โดนงูกัดในร้าน แต่หาตัวงูไม่เจอ เห็นแต่เขี้ยว
แกก็ไม่ได้คิดอะไร แกก็ทำงานของตัวเองต่อ จนเที่ยง ก็กลับไปบ้าน ไปกินข้าว ลูกชายมาร่วมโต๊ะกินข้าวด้วย แล้วแกก็คุยกับลูกชายอย่างมีความสุข เพราะลูกชายสอบเข้าโรงเรียนมัธยมที่มีชื่อเสียงได้ วันรุ่งขึ้นจะไปมอบลูกชาย
แกมีความสุขที่จะได้พาลูกชายไปโรงเรียนใหม่
จู่ ๆ ก็มีเพื่อนบ้าน 2-3 คน เข้ามาที่บ้าน แล้วคนหนึ่งก็ถือซากงูมาตัวหนึ่ง เป็นงูเห่า แล้วก็บอกกับพ่อค้าคนนั้นว่า งูตัวที่กัดพี่ชายเมื่อเช้านี้ พวกเราจับได้แล้วในร้าน
พ่อค้าคนนั้น พอเจอซากงูเห่า แกก็หน้าเสียเลย เพราะว่างูเห่านี่ มันกัดใครก็ถึงตาย แกก็อุทานขึ้นมาว่า “อย่างนี้ฉันก็แย่สิ อย่างนี้ฉันก็ตายสิ” อุทานทำนองนี้
แล้วก็เป็นลมเลย กว่าจะพาส่งโรงพยาบาล แกก็หมดลมแล้ว แกไม่ได้ตายเพราะพิษงูเห่า แกตายเพราะหัวใจวาย หัวใจวายเพราะอะไร เพราะตกใจ
ตอนที่ถูกงูกัดนี่ แกไม่รู้ว่าเป็นงูเห่า หรืออาจจะไม่ใช่งูเห่าก็ได้ แกก็ใช้ชีวิตตามปกติได้ แต่พอตอนเที่ยง เพื่อนบ้านเอาซากงูเห่ามา แกก็คงคิดว่าเมื่อเช้านี้ถูกงูเห่ากัด แล้วงูเห่ากัดนี่มันไม่มีใครรอดหรอก
พอนึกถึงความตายขึ้นมา ใจก็เสีย สุดท้ายก็หัวใจวาย อันนี้เรียกว่าไม่ได้ตายเพราะพิษงูเห่า แต่ตายเพราะตกใจ งูเห่ากัดจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ว่าที่แกตายนี่ ตายเพราะหัวใจวาย เพราะความตกใจ
มีนักธุรกิจอีกคนหนึ่ง เป็นคนไทย วันหนึ่งไปตรวจสุขภาพ ก็ไม่ค่อยได้ตรวจสุขภาพเท่าไหร่ พอตรวจเสร็จ หมอบอกว่า คุณหัวใจรั่ว
เขาตกใจมาก เพราะในความคิดของเขา หัวใจรั่วนี่มันก็เหมือนกับว่าหัวใจมันมีรู มีรอยรั่ว พอหัวใจบีบ เลือดมันก็กระฉูดออกมา แบบนี้ฉันก็ตายสิ แกคิดในใจ
กลับไปบ้าน ก็ไม่มีเรี่ยวไม่มีแรง ห่อเหี่ยว ซึมเศร้า กินอะไรไม่ค่อยได้ 2 วันต่อมา ต้องไปโรงพยาบาล เข้าห้อง ICU แล้วก็ไม่ออกมาอีกเลย
ที่จริงหมอตั้งใจจะบอกเขาว่า ลิ้นหัวใจเขารั่ว ลิ้นหัวใจรั่วนี่ยังสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ ออกกำลังกายก็ได้ เพียงแต่ต้องระมัดระวังสักหน่อย แต่หมอพูดยังไม่ครบ แทนที่จะบอกว่าลิ้นหัวใจรั่ว ก็บอกว่าหัวใจรั่ว
แล้วความเข้าใจของเขาก็วาดภาพมโนเอา ว่าหัวใจรั่วนี่ มันถึงตาย ปรากฏว่าตายจริง ๆ เลย ไม่ได้ตายเพราะลิ้นหัวใจรั่ว แต่ตายเพราะใจหรือจิตที่มันปรุงแต่ง
เพราะฉะนั้น ใจนี่ ถ้าหากว่าปล่อยให้ปรุงแต่งไปต่าง ๆ นานา มันก็สามารถทำร้ายเราได้ ร่างกายไม่เป็นอะไร แต่ถ้าใจเป็นลบ ปรุงแต่งไปในทางลบทางร้าย มันก็สามารถจะฉุดให้กายย่ำแย่ได้ ถึงตายได้เลย ไม่ใช่แค่ป่วย ไม่ใช่แค่ความดันขึ้น ไม่ใช่แค่ปวดหัวปวดท้อง แต่ถึงตายได้
เพราะฉะนั้น ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ เป็นสัจธรรม จะสุขหรือทุกข์ก็อยู่ที่ใจ และความทุกข์ของคนเราทุกวันนี้ ไม่ใช่ทุกข์ทางกาย ส่วนใหญ่ก็ทุกข์ใจ ทุกข์กายอาจจะมีบ้างแต่ว่าไม่หนักเท่ากับทุกข์ใจ
และทุกข์ใจนี่ก็เพราะอะไร เพราะว่าการคิด คิดลบคิดร้าย การปรุงแต่งในทางลบ อันนี้ก็มีส่วนมาก
อย่างหลายคน มาอยู่วัด ไม่เคยมานอนวัด พอกลางค่ำกลางคืน ก็นอนไม่หลับเพราะกลัว กลัวอะไร กลัวสัตว์ร้าย กลัวผี หรือว่ากลัวคนประสงค์ร้าย
ถามว่าสิ่งที่กลัว มีจริงไหม มันไม่มีจริง สัตว์ร้ายก็ไม่มี ผีสางก็ไม่มี คนที่จะประสงค์ร้ายก็ไม่มี แต่เพราะคิดปรุงแต่งไป ก็เลยทำให้นอนไม่หลับ ทำให้กระสับกระส่าย อันนี้เรียกว่าทุกข์เพราะความคิด ไม่ได้ทุกข์เพราะผี ไม่ได้ทุกข์เพราะสัตว์ร้าย
แต่ทุกข์เพราะความคิด ความคิดว่ามีผี ความคิดว่ามีสัตว์ร้าย ความคิดว่ามีคนร้าย
และบางทีเราไม่ได้คิดปรุงแต่งในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว ผ่านไปแล้ว ตอนที่ไม่คิดก็ไม่มีอะไร กินข้าวก็อร่อย คุยกับลูกกับหลานก็เพลิดเพลิน แต่พอคิดไปถึงคนที่เขาต่อว่าด่าทอเราเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว คนที่โกงเงินเราไปเมื่อเดือนที่แล้วปีที่แล้ว พอคิดปุ๊บนี่ เกิดเครียด เกิดทุกข์ เกิดโมโห เกิดหงุดหงิดขึ้นมาทันทีเลย ทั้ง ๆ ที่กำลังกินข้าวที่อร่อย กำลังดูหนังด้วยซ้ำ หรือกำลังคุยกับลูกหลาน
อันนี้เป็นเพราะอะไร เพราะความคิด คิดถึงสิ่งที่ยังไม่เกิด สิ่งที่ไม่รู้ว่ามีจริงหรือเปล่า หรือไปคิดถึงอดีต ก็เลยทำให้เกิดความกลัว ความกังวล ความโกรธ ความคับแค้น ความเศร้า
คนทุกวันนี้ ทุกข์เพราะความคิดมาก พอคิดแล้วมันก็เกิดอารมณ์ที่เป็นลบ แล้วก็จมเข้าไปในอารมณ์นั้น อารมณ์ที่ว่านี้คือ ความโกรธ ความโศก ความเศร้า ความเครียด ความวิตกกังวล
พอมันเกิดขึ้นแล้ว จิตใจก็รุ่มร้อน กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ รวมทั้งความคิดปรุงแต่งเกี่ยวกับสุขภาพของตัวเอง จริง ๆ สุขภาพก็ยังไม่ได้ย่ำแย่อะไร แต่คิดไปแล้ว คิดไปต่าง ๆ นานา ก็เลยทำให้ใจเสีย พอใจเสีย ร่างกาย สุขภาพ ก็พลอยแย่ไปด้วย
แต่มันเป็นธรรมดา คนเรามักจะมีอารมณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นกับใจ มันไม่ได้มีแต่ความสุข ความดีใจ มันมีความเสียใจ มีความเศร้า แต่ว่าเมื่อมันเกิดขึ้นในใจนี่ ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องทุกข์เสมอไป
มันเกิดขึ้น แต่เรารู้ทันมัน ไม่ถลำเข้าไปในอารมณ์เหล่านั้น ไม่ไปยึดว่ามันเป็นเรา หรือไม่เข้าไปเป็น อันนี้เป็นคำที่หลวงพ่อคำเขียนท่านใช้บ่อย ไม่เข้าไปเป็น คือแค่เห็นเฉย ๆ
เมื่อกองไฟ แม้มันจะเป็นกองใหญ่ แต่ไม่ใช่ว่าพอมีกองไฟกองใหญ่เกิดขึ้นแล้วเราจะร้อน เราจะทุกข์ ถ้าเกิดว่ากองไฟกองใหญ่ แต่เราอยู่ห่างจากมัน เราก็ไม่ทุกข์ หรือถ้าเราไม่โจนเข้าไปในกองไฟ เราก็ไม่ทุกข์
หรือเหมือนกับว่า บนถนน บนทางเท้า มันมีเศษแก้ว เศษตะปู มีหลุมมีบ่อ มีกองขี้หมา มีหิน ไม่ใช่ว่ามีสิ่งนี้แล้ว มันจะต้องทุกข์ ถ้าเรารู้จักหลบหลีก ไม่เดินเตะหิน ไม่เหยียบหลุม ไม่เหยียบพวกเศษแก้ว เศษตะปู หรือไม่เดินตกหลุม เราก็สามารถจะเดินได้ ถึงที่หมายโดยปลอดภัย
กองไฟนี้ก็เหมือนกับอารมณ์ลบที่มันเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นในใจ แต่เราไม่ทุกข์ก็ได้ ถ้าหากว่าไม่ไปเข้าใกล้มัน ไม่โจนเข้าไปในกองไฟ เรียกว่ารู้จักวางระยะห่าง หรือว่าเจอหินก็เดินหลบ ไม่เตะ เจอหนามก็หลบ ไม่เอามือป่ายไปถูก เจอหลุมก็หลบ ไม่เดินตกไปในหลุม
เราทำอย่างนั้นได้กับอารมณ์ เราทำอย่างนั้นกับอารมณ์ได้อย่างไร ถ้าเรามีตาใน มีสติ สติเปรียบเหมือนกับตาใน เพราะทำให้เราเดินหลบหินหลบหนามได้ หรือทำให้เราไม่เดินเข้าไปชน หรือไปถูกกองไฟ
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า มีสติรู้ทันอารมณ์ เห็นอารมณ์แล้วไม่ไปทำอะไรกับมัน แค่ดูมันเฉย ๆ ไม่เข้าไปเป็น ความโกรธเกิดขึ้นได้ ความเครียดเกิดขึ้นได้ ความเศร้าเกิดขึ้นได้ ความวิตกกังวลเกิดขึ้นได้ เพราะเราเป็นปุถุชน
แต่ว่าอารมณ์เหล่านี้ไม่สามารถจะครองใจเราได้ หรือไม่สามารถจะบีบคั้นเผาลนจิตใจเราได้ เพราะเรามีสติเป็นเครื่องรักษาใจ
เหมือนกับเรือ เรือแม้มันจะมีน้ำล้อมรอบ แต่ก็ไม่เกิดอันตราย อันตรายจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อน้ำเข้าไปในเรือ จนเรือจม เรืออับปาง หมายความว่ามีอารมณ์อยู่ในใจ แต่ถ้าเรารักษาใจ ไม่ให้อารมณ์นั้นเข้ามาครอบงำใจ หรือไม่โดดเข้าไปในหลุมอารมณ์ เข้าไปในไฟอารมณ์ มันก็ไม่เกิดความทุกข์ขึ้นมาในใจ
ฉะนั้น การมีสติเห็นมัน รู้ว่ามันมีอยู่ และรู้แบบรู้ซื่อ ๆ มันจะช่วยรักษาใจเราได้ แม้กายจะป่วย แต่ว่าใจก็ไม่ถูกความวิตกกังวล ความห่อเหี่ยว ความซึมเศร้า เล่นงานได้
แต่ว่าบางครั้ง สติเราก็ไม่ไวพอ หรือไม่มีแรงต้านทานอารมณ์ อารมณ์พวกนี้มีแรงดึงดูด มันสามารถจะดูดใจเราให้เข้าไปจมอยู่ในอารมณ์นั้น สติไม่สามารถจะยั้งเอาไว้ได้ แต่ว่าวิธีหนึ่งที่เราจะรับมือกับอารมณ์นั้นได้คือว่า สืบสาวว่าอารมณ์นั้นเกิดจากอะไร
อารมณ์มักจะเกิดจากความคิด เราคิดถึงเงินทองที่สูญหายไป คนรักที่จากไป เราก็เศร้า เราก็อาลัย เราคิดถึงคนที่เขาด่าทอกลั่นแกล้งเรา เราก็โกรธ เราคิดถึงงานการที่ยังเคลียร์ไม่เสร็จ ค้างคาอยู่มาก เราก็กังวล เราคิดถึงหนี้สิน เราก็หนักอกหนักใจ อารมณ์ส่วนใหญ่มันเกิดขึ้นจากความคิด
เพราะฉะนั้น ถึงแม้เราจะมีสติไม่ทัน ไม่พอที่จะรู้ทันอารมณ์ แต่ถ้าเกิดเรารู้ตัวว่า เผลอคิดไปแล้ว แล้วเกิดอารมณ์ตามมา เราก็เปลี่ยนจากการรู้ทันอารมณ์ มาเป็นรู้ทันความคิด เห็นความคิด มันพาเราไปไหนแล้ว เห็นความคิดมันปรุงแต่งให้เกิดความกลัว เกิดความวิตกกังวล
รู้ทันอารมณ์อาจจะยาก หรืออย่างน้อย ยากกว่ารู้ทันความคิด พอเรารู้ทันความคิด เห็นความคิดมันปรุงแต่ง ความคิดมันก็เหมือนกับอารมณ์ มันทนต่อการถูกรู้ถูกเห็นไม่ได้ มันกลัวการถูกรู้ถูกเห็น หรือมันกลัวสติ ถ้าสติมารู้มาเห็นเมื่อไหร่ มันก็จะสะดุด มันก็จะหยุด ก็จะชะงัก
สติเราอาจจะไม่แรงพอ ไม่เข้มแข็งพอที่จะรู้ทันอารมณ์ แต่ว่าสติเราสามารถจะรู้ทันความคิดได้ง่ายกว่า พอเรารู้ตัวว่าเผลอคิดไปโน่น พอเรารู้ตัว ความคิดมันก็จะหยุด อารมณ์ก็จะค่อย ๆ เลือนหายไป
ฉะนั้น การรู้ทันความคิด มันช่วยทำให้เราสามารถจะจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้ เราไม่ได้ห้าม เราไม่ได้กดข่มอารมณ์ เพียงแต่เราทำให้เชื้อไฟที่ปรุงแต่งอารมณ์มันหายไป
อารมณ์มันก็ต้องการความคิดปรุงแต่ง เหมือนกับไฟที่ต้องการออกซิเจน วิธีที่จะดับไฟก็คือ ทำให้ออกซิเจนมันหายไป หมดไป ไฟก็ดับ อันนี้เป็นวิธีที่เขาใช้ดับไฟกองใหญ่ ๆ
เพราะฉะนั้น ถึงแม้เราจะไม่รู้ทันอารมณ์ แต่อย่างน้อย ก็ให้มาดูว่า อารมณ์มันเกิดจากความคิดอะไร แล้วก็รู้ทันความคิดนั้น
แต่ถ้าหากว่าเราไม่ได้ฝึกสติมา แม้กระทั่งการรู้ทันความคิดก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น ท่านสอนให้มารู้กายก่อน มารู้กายก่อน
รู้กายคือ รู้ว่ากายเคลื่อนไหว รู้ว่ากายทำอะไร รู้กายมันง่ายกว่าการรู้ความคิด หรือว่ารู้จิต เพราะฉะนั้นคนที่อยากจะรู้ทันความคิด ไม่อยากให้ความคิดมันมารบกวนจิตใจ ไม่ใช่แค่อยากรู้ทัน แล้วมันจะรู้ทันได้ มันก็ต้องมาฝึกให้มีสติรู้กายก่อน
การเจริญสติ เขาถึงสอนให้มารู้กายก่อน คือว่าเดินจงกรม ก็รู้ว่ากายเคลื่อนไหว หรือว่าเท้าเขยื้อนขยับ ยกมือสร้างจังหวะ ก็รู้ว่ามือเขยื้อนขยับ ซึ่งเราก็สามารถจะเอาไปใช้กับกิจวัตรในชีวิตประจำวันได้ ล้างหน้า ถูฟัน กินข้าว ซักผ้า กวาดบ้าน ทำครัว พวกนี้มันมีกายเคลื่อนไหวทั้งนั้นแหละ
เวลาทำกิจวัตรเหล่านี้ ก็ให้ใจอยู่กับกาย รู้ว่ากายทำอะไร แต่แน่นอนใจจะเผลอคิดโน่นคิดนี่ เวลามันไปคิดนั่นคิดนี่ ก็ให้รู้ทันความคิด แล้วก็พาใจกลับมาอยู่กับกาย
ถ้าเรารู้กายได้บ่อย ๆ ต่อไปมันก็จะรู้ใจได้เร็ว รู้ใจคือรู้ทันความคิด รู้ทันอารมณ์ รู้ว่ากำลังเผลอคิดเรื่องนี้ หรือรู้ว่ากำลังมีอารมณ์นี้เกิดขึ้น
ทีนี้พอเรารู้กาย แล้วมารู้ใจ ต่อไปเราก็จะรู้เวทนา รู้เวทนาคือ รู้ทันความเจ็บ ความปวด ความเมื่อย ปกติเวลาเจ็บเวลาปวดเราไม่ได้รู้ เราเป็น แม้กระทั่งเวลาคัน ยุงกัดแล้วคัน ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เห็นความคัน แต่ว่าเป็นผู้คันเข้าไปแล้ว อันนี้เรียกว่าเข้าไปเป็น
สติทำให้เห็น ไม่เข้าไปเป็น เห็นความคัน เห็นความปวด ความเมื่อย แต่ไม่เป็นผู้ปวด ไม่เป็นผู้เมื่อย ซึ่งอันนี้ส่วนใหญ่มันจะยากกว่าเห็นความโกรธ ไม่เป็นผู้โกรธ เห็นความเศร้า ไม่เป็นผู้เศร้า อันนี้มันยังง่ายกว่าเห็นความปวดความเมื่อย แต่ไม่เป็นผู้ปวดผู้เมื่อย
แล้วถ้าเราเห็นดี ๆ ไม่เข้าไปปรุงแต่ง ไม่เข้าไปจดจ่อกับความปวด ไม่ไปกดข่มมัน เราก็จะพบว่า กายปวด แต่ใจไม่ได้ทุกข์ด้วย ตรงนี้แหละ ที่จะช่วยทำให้จิตอยู่เหนือความปวดความเมื่อย เรียกว่ากายป่วยใจไม่ป่วย
สติช่วยเราได้มากเลย เวลาร่างกายเราเจ็บป่วย หรือเวลามีเหตุร้ายเกิดขึ้นกับทรัพย์สมบัติของเรา กับงานการของเรา แต่ว่าใจไม่ทุกข์ ถึงเวลาที่กายมันทุกข์ แต่ใจก็ไม่ได้ทุกข์ตามไปด้วย
ฉะนั้นการเจริญสติจึงสำคัญมาก มันเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยรักษาใจให้ไม่ทุกข์ แม้ว่ากายจะทุกข์ก็ตาม.