พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 3 กันยายน 2567
มีหลายคนที่ไม่เคยสนใจพุทธศาสนามาก่อน ตอนหลังก็เกิดความสนใจขึ้นมา ไม่ได้สนใจเพียงแค่หลักธรรมคำสอนหรือว่าความคิดความเชื่อ แต่ว่าสนใจในการฝึกฝนตนด้วย หลายคนก็จะมีคำถามว่า ถ้าจะฝึกฝนตน จะเริ่มต้นอย่างไร
คำตอบก็คือ เริ่มต้นที่ศีล เพราะว่าศีลเป็นพื้นฐานเลยของการดำเนินชีวิต อย่างน้อยๆ ก็เริ่มต้นที่ศีล 5 เป็นเบื้องต้น แต่ว่าไม่ควรจะจำกัดเฉพาะศีล 5 ต้องจับสาระของศีล 5 ให้ได้ว่าหมายถึงการฝึกตนที่กาย วาจา เพื่อการไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น
มีพฤติกรรมบางอย่างที่อาจจะสร้างปัญหาให้กับเจ้าตัว เช่น การติดเกม หรือว่าติดอบายมุขสมัยใหม่ ก็ควรฝึกในการลด การละด้วย ไม่ใช่ว่าไปจดจ่อแต่ศีล 5 ตามประเพณี อันนั้นมันเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำที่เป็นสากล แต่ว่าแต่ละคนก็ยังมีพฤติกรรมบางอย่างที่สร้างปัญหาให้กับตัวเองได้
มีการเสพติดบางอย่างที่ทำให้ตัวเองเป็นทุกข์ บางคนติดช้อปปิ้ง ช้อปออนไลน์จนเป็นหนี้เป็นสินมากมาย หรือว่าติดดูหนัง ดูซีรีย์ จนไม่ได้หลับไม่ได้นอน อันนี้ก็เป็นอบายมุขสมัยใหม่ ซึ่งมันอาจจะไม่ศีล 5 ตามประเพณี ไม่ครอบคลุม
ถ้าเราจับสาระของศีลได้ คือการฝึกกาย วาจา เพื่อไม่ให้เป็นปัญหากับตัวเองและผู้อื่น ก็ควรลดละอบายมุขสมัยใหม่ด้วย บางคนติดบุหรี่ ติดกาแฟอย่างหนัก ถ้าลดละได้ก็จัดว่าเป็นเรื่องของศีล
ศีลนี้ไม่ได้หมายถึงข้อห้ามอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงสิ่งที่พึงปฏิบัติในทางกาย วาจา เช่น การช่วยเหลือเอื้อเฟื้อผู้อื่น ไม่เบียดเบียนคนอื่นดีแล้ว แต่ว่าก็ต้องรู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้อื่น เช่น การให้ทาน การเป็นจิตอาสา อันนี้ก็เป็นเรื่องของศีล ถึงแม้ว่าศีล 5 จะไม่ได้ครอบคลุมไปถึงก็ตาม
บางคนอาจจะเคร่งครัดหรือจริงจังกับตัวเองก็ศีล 8 แต่ก็อย่าลืมเรื่องการใช้กาย วาจาในทางบวก นอกจากการควบคุมกาย วาจาในเรื่องการเสพ ในเรื่องการเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้อื่นแล้ว ก็ต้องใช้ไปในทางบวก เช่น การให้ทาน การช่วยเหลือเอื้อเฟื้อผู้อื่น เป็นต้น นี่เป็นการฝึกฝนตนเบื้องต้นในทางพุทธศาสนาที่ท่านเรียกว่าอยู่ในฝ่ายศีลหรือว่าอธิศีลสิกขา
พอทำตรงนี้แล้วก็ควรเขยิบไปสู่การฝึกขั้นต่อไป บางคนอาจจะถามว่าแล้วสวดมนต์ล่ะ จำเป็นไหม สวดมนต์นี้มีประโยชน์ แต่ว่าก็ไม่จำเป็นหรอก ไม่ใช่ว่าพอมาสนใจพุทธศาสนาแล้ว ก็ต้องมาใส่ใจกับเรื่องการสวดมนต์จริงจัง คือส่วนใหญ่เป็นเรื่องพิธีกรรมเสียเยอะ ถ้าจะสวดมนต์ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกจิต ที่เราเรียกว่าสมาธิ
แต่การฝึกจิตที่สำคัญมากก็คือการเจริญสติ เพราะว่าถ้าหากเรารู้จักเจริญสติ มีสติเป็นเครื่องรักษาใจ ก็ช่วยลดความทุกข์ ไม่ว่าความทุกข์จากการดำเนินชีวิต จากการทำงาน หรือแม้กระทั่งจากการช่วยเหลือผู้อื่น รักษาศีลหรือว่าฝึกตนในเรื่องศีล จะให้ดี จะให้การฝึกเป็นไปอย่างยั่งยืน มีศีลที่ถึงพร้อม มันก็ต้องมีสติเป็นตัวรองรับ
เพราะไม่อย่างนั้นก็เผลอ เผลอผิดศีล หรือว่าทำไปด้วยความทุกข์ ช่วยเหลือคนอื่นแต่ว่าตัวเองนี้กลับทุกข์ อันนี้เพราะว่าละเลยเรื่องการฝึกจิต โดยเฉพาะการเจริญสติ
ดังนั้นการเจริญสตินี้มีประโยชน์และข้อดีหลายอย่าง ที่สำคัญก็คือว่า เป็นวิธีการฝึกที่ไม่ได้เรียกร้องอะไรมากมายจากเราเท่าไหร่ ไม่ได้เรียกร้องเวลา ไม่เหมือนกับการสวดมนต์ หรือแม้แต่การนั่งสมาธิ หลายคนก็ต้องจัดเวลาเฉพาะให้สำหรับการสวดมนต์ สำหรับการนั่งสมาธิ จนบางทีก็อ้างว่าไม่มีเวลา ก็เลยไม่ทำ
แต่สำหรับการเจริญสตินี้มันไม่มีข้ออ้างแบบนี้ว่าไม่มีเวลา เพราะว่าเราสามารถจะฝึกสติได้กับทุกอิริยาบถ ทุกกิจกรรม ทุกงานการที่ทำ ตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมา เก็บที่นอนก็ฝึกสติได้ ล้างหน้า ถูฟันก็ฝึกสติได้ กิจวัตรที่ทำในชีวิตประจำวันนี้ ไม่ต้องลดก็ยังได้ ยังทำเหมือนเดิม หากว่าไม่ใช่เป็นไปเพื่อส่งเสริมกิเลส
แต่ว่ากิจวัตรเหล่านี้ก็มาใช้ในการฝึกสติได้ ก็คือทำอย่างมีสติ อาบน้ำก็มีสติ ถูฟันก็ให้มีสติ ล้างจาน กินข้าว ก็มีสติ ใช้ทุกอิริยาบถในการฝึกสติ หรือทำความรู้สึกตัวได้
อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าให้ทำความรู้สึกตัว เวลากิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้ม แม้กระทั่งอุจจาระ ปัสสาวะ ก็ทำความรู้สึกตัว เวลาเดินไปข้างหน้า ถอยไปข้างหลัง แลไปข้างหน้า เหลียวซ้ายแลขวา ห่มจีวร สะพายบาตร ผ้าสังฆาฏิ หรือถ้าเป็นฆราวาสก็ใส่เสื้อ ใส่กางเกง กระโปรง ผ้าถุง ทั้งหมดนี้ก็ฝึกสติได้
เพราะฉะนั้นมันไม่ได้เรียกร้องเวลาพิเศษ แล้วก็ไม่ได้เรียกร้องว่าจะต้องอยู่ในสถานที่พิเศษ เช่น ต้องมาปฏิบัติที่วัด ในที่ที่สงบ หรือในห้องพระ ไม่มีห้องพระ ไม่มีเวลามาวัด ไม่มีเวลาเข้าคอร์ส ก็เจริญสติได้ ที่บ้าน แล้วก็ที่ทำงาน ทำได้ทั้งวัน แล้วก็ไม่เรียกร้องประสบการณ์ด้วย
ไม่ใช่ว่าจะต้องมีประสบการณ์เยอะ ๆ ถึงจะปฏิบัติได้ ไม่เคยทำมาก่อนเลย เป็นมือใหม่หัดขับ ก็ทำได้ แม้กระทั่งเป็นเด็ก เป็นเด็กประถมก็ทำได้ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงเรื่องคุณวุฒิการศึกษา หรือว่าประสบการณ์ในทางปริยัติธรรม แล้วก็ไม่ได้เรียกร้องความทุ่มเทจากเรา
การเจริญสตินี้ไม่ถึงกับต้องทุ่มเทก็ได้ แล้วบางทีการทุ่มเทนั่นแหละที่อาจจะเป็นอุปสรรค เพราะทำให้ปฏิบัติด้วยอาการหน้าดำคร่ำเคร่ง กลายเป็นว่ายิ่งทำยิ่งเครียด ยิ่งทำยิ่งทุกข์ การเจริญสตินี้ไม่ได้เรียกร้องให้เราไปควบคุมบังคับจิตว่าไม่ให้คิด ไม่ให้ฟุ้ง
เพราะการเจริญสตินี้คือการที่เรารู้เท่าทันกับทุกอย่างที่เป็นอาการของกายและใจ รวมทั้งที่เกิดขึ้นกับกายและใจด้วย
กายทำอะไรก็รู้ว่าทำ ไม่ว่าจะเป็นอุจจาระ ปัสสาวะ ใจคิดนึกอะไรก็แค่รู้ แม้จะคิดนึกไปทางอกุศลก็แค่รู้ เพียงแต่รู้แล้วก็ไม่ได้ไหลไปตามอารมณ์เหล่านั้น หรือถึงแม้จะไหล ไหลไปตามความโกรธ ไหลไปตามความโลภ เผลอไปแล้วก็กลับมาเริ่มต้นใหม่ได้
เผลอก็รู้ว่าเผลอ หลงก็รู้ว่าหลง มันไม่ได้เรียกร้องว่าเราจะต้องทำให้ดี แม้ใหม่ๆ นี้มันจะหลงมากกว่ารู้ ก็ไม่ใช่เป็นอุปสรรค กลับเป็นข้อดีด้วยซ้ำ เพราะว่าความหลงมาสอน สอนให้เรารู้ว่าความหลงหน้าตาเป็นยังไง อาการเป็นอย่างไร เหมือนกับเราจะรู้เท่าทันโจรผู้ร้าย เราก็ต้องรู้ก่อนนะว่าโจรผู้ร้ายนี้หน้าตาเป็นอย่างไร หรือว่าจะมาท่าไหน
อย่างคนที่เคยโดนมิจฉาชีพหลอกก็จะรู้แล้วนะ รู้ทันแล้วก็รู้ทางมิจฉาชีพได้เร็ว หลงก็เหมือนกันแม้จะพลาดท่าเสียทีไปกับความหลง ความโกรธ ความเศร้า ความเครียด แต่ว่าพอหลงไปแล้วก็กลับมารู้เนื้อรู้ตัว แล้วก็จะรู้จักความหลงได้ดีขึ้นว่าอาการมันเป็นอย่างไร ความโกรธเป็นอย่างไร ความเกลียดเป็นอย่างไร ความเศร้าเป็นอย่างไร ความทุกข์เป็นอย่างไร มันจะมาไม้ไหนที่จะล่อให้เราหลง หรือหลอกให้เราถลำ ก็มีแต่เจอมันบ่อยๆเท่านั้นแหละถึงจะรู้
เพราะฉะนั้นการเจริญสตินี้มันไม่ได้เรียกร้องความสำเร็จหรือความสมบูรณ์พร้อมจากเรา จะพลาดท่าเสียที จะพลั้งเผลออย่างไร ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย กลับมาเริ่มต้นใหม่ อย่างที่บอก มันไม่ได้เรียกร้องการทุ่มเทจากเรา เพียงแต่ว่าเราทำอะไร เราก็เพิ่มความตั้งใจลงไป
ความตั้งใจหมายความว่าความใส่ใจ แต่ก่อนตื่นขึ้นมาล้างหน้า ถูฟัน ก็ปล่อยใจลอย ไม่สนใจว่ากำลังทำอะไรอยู่ แต่ตอนนี้พอเราจะมาฝึกสติ เราก็มาเติมความใส่ใจลงไปในกิจเหล่านั้น แต่ไม่ต้องเติมมากมันจะกลายเป็นเพ่งไป ถ้าเติมมากๆ จะกลายเป็นเคร่ง แค่เติมความใส่ใจ
คือเอาใจนี้มาอยู่กับการล้างหน้า ถูฟัน ให้มากขึ้น ไม่ใช่สักแต่ว่าทำ หรือทำไปตามนิสัย หรือทำไปโดยอัตโนมัติ ใส่ใจ หรือเติมความตั้งใจลงไปหน่อย นั่นเป็นประการแรก
ประการที่ 2 ก็คือว่า เวลาเผลอไป รู้ตัวเมื่อไหร่ก็กลับมา กลับมาอยู่กับสิ่งที่กำลังทำอยู่ ที่จริงใจนี้พอมันเผลอไปสักพัก มันก็จะรู้เอง สติก็จะทำงานเอง ไม่มีใครที่เผลอไปตลอดวัน ไม่มีใครที่ฟุ้งตลอดทั้งวัน คิดเรื่องหนึ่งแล้วต่อไปอีกเรื่องหนึ่ง แล้วต่อไปอีกเรื่องหนึ่ง พอคิดไปถึงเรื่องที่ 10 ก็รู้ตัว แล้วก็รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ อันนี้เป็นธรรมดาของคนที่แม้จะไม่ได้ฝึก
แต่พอเราบอกกับตัวเราเองว่า เมื่อมันฟุ้งไปแล้ว รู้ตัวให้กลับมา ข้อดีคือมันจะทำให้เรารู้ตัวได้เร็วขึ้น แต่ก่อนตอนที่ไม่ได้ฝึก คิดไป 10 เรื่องแล้วถึงค่อยรู้ตัว แต่ตอนหลังพอเติมความตั้งใจลงไป แล้วก็ตั้งใจว่าถ้ารู้ตัวเมื่อไหร่ก็จะกลับมา พอคิดไปได้ 8 เรื่อง รู้ตัวแล้วก็กลับมา
การเจริญสติ ไม่ใช่เป็นการห้ามคิด หรือว่าไม่ใช่เป็นการบังคับจิตไม่ให้ไป แต่มันเป็นการฝึกให้จิตกลับมาบ่อยๆ กลับมาไว ๆ ไปไม่ว่า แต่ให้กลับมาไว ๆ
การปฏิบัติบางอย่างก็จะบังคับจิตไม่ให้ไป ซึ่งก็ทำให้ต้องทุ่มเทกับการจดจ่อใส่ใจ หรือบังคับจิต แต่การเจริญสติไม่เรียกร้องเราอย่างนั้น ปฏิบัติสบาย ๆ แม้จะเติมความใส่ใจลงไป มันก็ยังเผลอ เผลอก็ไม่เป็นไร พอรู้ตัวก็กลับมา
และเพราะกลับมาบ่อยๆ กลับมาบ่อยๆ แบบนี้แหละ มันจึงกลับมาได้เร็ว และเพราะรู้ตัวบ่อย ๆ รู้ตัวบ่อย ๆ ว่าเผลอไป มันจึงรู้ได้เร็วขึ้น ๆ ๆ แม้ไม่อยากรู้ ไม่ตั้งใจรู้ มันก็รู้เอง แล้วมันก็จะรู้ได้เร็วขึ้น ๆ ๆ
เพราะฉะนั้นเวลาเจริญสติเราสามารถเจริญสติได้ทั้งวัน แม้ว่า 90% จะเป็นความหลง ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย หรือจะหลงไป 95% แต่ 5% ที่มีสติ ที่มีความรู้ตัวก็ถือว่าใช้ได้ ทำไปเรื่อย ๆ จาก 5 % มันก็จะขยายเป็น 7 % เป็น 8 % เป็น 10 % แล้วตอนหลังมันจะรู้ตัวมากกว่าหลง
หลวงพ่อคำเขียนท่านใช้คำว่า ความรู้ตัวมันจะมีน้ำหนัก น้ำหนักมันจะเทไปทางความรู้ตัว แต่ก่อนน้ำหนักมันเทไปทางหลง ทำอะไรแป๊บเดียวก็หลงแล้ว แม้กระทั่งทำวัตร ตั้งท่าให้มีสติประเดี๋ยวหลงแล้ว ฟังธรรมก็เหมือนกัน มีสติรู้ตัว หรือว่าติดตามคำบรรยายประเดี๋ยวประด๋าว เดี๋ยวก็หลงแล้ว แม้ตั้งใจว่าจะไม่หลง ก็ยังหลง อันนี้เพราะน้ำหนักมันไปทางนั้น
แต่พอเราฝึกไปเรื่อยๆ ฝึกแบบไม่เอาจริงเอาจัง แต่ว่าทำทั้งวัน ไม่เอาจริงเอาจังแต่ว่าทำเล่น ๆ ไม่ได้บังคับจิตอะไร แต่ว่าทำไปเรื่อย ๆ มันก็จะรู้ตัวได้เร็ว
ต่อไปพอเจริญสติกับกิจวัตรต่าง ๆ ได้ ถึงเวลาทำงาน ถึงเวลาเกี่ยวข้องกับผู้คน มันก็เจริญสติได้ คนมาหา คนมาพูดคุย ก็เจริญสติ หรือว่ามีสติกับการพูดคุยได้ มีสติกับการพูดคุยก็คือว่าตั้งใจฟัง ใจไม่หลงหรือลอยไปทางอื่น
ไม่ใช่ว่าอยู่ต่อหน้าเขาแต่ว่าใจไม่รู้ไปคิดอะไร เราสามารถฟังคนอื่นอย่างมีสติได้ ด้วยการรับรู้ถ้อยคำที่เขาบอกเล่าให้เราได้ยิน ใจมันเผลอไป คิดถึงงาน คิดถึงลูก คิดถึงพ่อแม่ ก็กลับมา กลับมาอยู่กับการฟัง
บางถ้อยคำอาจจะทำให้เราเกิดความไม่พอใจ เราก็รู้ทันอารมณ์นั้น บางประโยคเราอาจจะนึกเถียง นึกแย้ง แต่เราก็ไม่ปล่อยใจให้ไปเถียงอยู่ในใจ กลับมาอยู่กับเขา อยู่กับสิ่งที่เขาพูด นี่เราเรียกว่าฟังด้วยความตั้งใจ บ่อยครั้งเวลาเขาพูดแต่เราไม่ได้ยินนะ เพราะใจเราเถียง
พอใจเราเถียงหรือแก้ตัว เขาพูดอะไรเราไม่ได้ยินแล้ว อันนี้เรียกว่าไม่มีสติ แต่ถ้าหากมีสติ ก็จะรู้ทัน ใจที่มันบ่น ใจที่มันเถียง แล้วก็วางเสียงที่ว่านั้น เพื่อจะได้ฟังเขาด้วยใจเต็มร้อย
ถึงเวลาพูดก็พูดอย่างมีสติ ไม่ใช่พูดเอามัน หรือไม่ปล่อยให้อารมณ์ต่างๆ มาครอบงำการพูด เช่น พูดด้วยความโกรธ พูดด้วยความเกลียด พูดด้วยความหมั่นไส้ อันนี้เรียกว่าไม่มีสติ บางคนเวลาพูด พูดจนฟุ้งเลย ไม่สนใจว่าคนฟังนี้เขาอยากจะฟังเราหรือเปล่า หรือว่าสนใจฟังเราไหม แต่ว่าขอให้ฉันได้พูด แบบนี้มีเยอะ ขอให้ได้พูดแต่ไม่สนใจคนฟัง นี่เขาเรียกว่าพูดอย่างไม่มีสติ แต่ถ้าหากว่าพูดอย่างมีสตินี้ มันก็ฝึกเรา ทั้งในฐานะผู้พูดและผู้ฟัง
เวลาเราฟังธรรมะก็เหมือนกัน ฟังธรรมะก็คือใจก็ตามเสียงบรรยายไปเรื่อยๆ บางช่วงบางตอนอาจจะรู้สึกเบื่อ ก็เลยเผลอไปคิดเรื่องอื่น คิดเรื่องเที่ยว คิดเรื่องวางแผน คิดเรื่องงาน ก็ให้รู้ตัว ให้มีสติแล้วกลับมา กลับมาอยู่กับการฟังคำบรรยาย
บางทีฟังไปแล้วบางข้อความสะดุด ทำให้นึกถึงเหตุการณ์ในอดีต ตอนนั้นผู้บรรยายพูดไปถึงไหนไม่รู้แล้ว เพราะว่าใจนี้หวนกลับไปอดีต อันนี้ก็เรียกว่าไม่มีสติ ให้มีสติกลับมา กลับมาที่เสียงบรรยาย หรือเสียงพูดที่เรากำลังฟังอยู่ ข้อความบางตอนอาจจะทำให้เรากังวลถึงเรื่องงานการที่ค้างคาอยู่ ใจก็ไหลไปแล้ว
มีสติก็คือให้รู้ว่าใจเผลอไปแล้วให้กลับมา สติจะเป็นตัวพาใจกลับมา จิตเรามันจะกลับไปกลับมาแบบนี้แหละไป ๆ มา ๆ แบบนี้ระหว่างที่ฟังคำบรรยาย มันก็ยากที่จะติดตามคำบรรยายได้ต่อเนื่องตลอดครึ่งชั่วโมง หรือ 1 ชั่วโมง จะเผลอคิดไปโน่นคิดไปนี่ เป็นธรรมดา ก็ให้พาจิตกลับมา อันนี้เป็นการฟังอย่างมีสติหรือเป็นการฝึกสติระหว่างการฟัง
บางครั้งการบรรยายทำให้เราสะดุดอยู่กับบางข้อความบางคำ ขลุกอยู่ตรงนั้นแหละ ผู้บรรยายบรรยายไปไกลแล้ว เจ้าตัวก็ยังขลุกอยู่กับข้อความเมื่อ 4-5 นาทีที่แล้ว อันนี้เขาเรียกว่าลืมตัว ถ้าเราฟังอย่างมีสติก็ต้องวางประเด็นเหล่านั้นก่อน แล้วก็ตามคำบรรยายไป แต่ก็ไม่ลืมตัว
เหมือนกับเวลาเราทำงาน ทำงานใจเราก็อยู่กับงาน มันจะวอกแวกเพราะเสียงเพลง หรือเสียงรบกวนจากข้างนอก ก็รู้ แล้วกลับมา จิตใจจดจ่ออยู่กับการทำงาน แต่ก็ไม่ลืมตัว ไม่ใช่ว่าทำงานจนลืมเวล่ำเวลา ลืมหลับลืมนอน ลืมเวลานัดหมาย ลืมทำวัตร อันนั้นไม่ใช่
การทำงานอย่างมีสติคือ มีสติอยู่กับงาน แต่ก็ไม่ลืมเนื้อลืมตัว อ่านหนังสือก็เหมือนกัน อ่านหนังสือนี้ก็ไม่ใช่จมอยู่กับข้อความหรือความคิด จนลืมเวล่ำเวลา แต่หลายคนพออ่านหนังสือแล้ว อ่านไม่ได้ใจความ เพราะว่าใจมันลอย ตาอยู่กับหนังสือแต่ใจไม่รู้อยู่ไหน เป็นเยอะ นี้เรียกว่าไม่มีสติ
ถ้าไม่ใจลอยหลุดไปจากหนังสือที่อ่าน มันก็ไปจมอยู่กับความคิด หรือข้อความในหนังสือจนลืมเวล่ำเวลา ก็ไม่ต่างจากดูหนังหรือเล่นเกม ลืมตัว สมาธิมี มีสมาธิกับการดูหนัง เล่นเกม หรือว่าเล่นพนัน แต่ว่ามันลืมตัว อันนั้นก็ไม่ใช่ มีสมาธิแต่ไม่มีสติ มีสมาธิกับงานก็ควรจะมีสติไปด้วยกัน
เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าการเจริญสติเราสามารถจะทำได้กับทุกเรื่องเลย แล้วมันช่วยทำให้เรารู้ตัวดีขึ้น ต่อไปก็ไม่ใช่แค่รู้กาย ก็รู้ใจด้วย รู้ใจนี้ก็รวมถึงความคิด หรืออารมณ์อกุศลมาครอบงำ ไม่ปล่อยให้มันครองใจ
ต่อไปสิ่งเร้าภายนอก รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่เคยกระตุ้นให้โกรธ ให้ทุกข์ ให้เศร้า มันก็มีอิทธิพลต่อจิตใจเราน้อยลง เราก็เป็นอิสระจากมันมากขึ้นเพราะมีความรู้เนื้อรู้ตัว อันนี้ช่วยทำให้เกิดความสงบเย็นในจิตใจ ทำงานทำการอะไรก็ทำได้ดี ทำโดยไม่ทุกข์
เพราะฉะนั้นจึงบอกว่าการเจริญสติเป็นการปฏิบัติที่คนถือตัวว่าเป็นชาวพุทธ หรือหันมาสนใจพระพุทธศาสนาควรจะใส่ใจ.