พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 25 สิงหาคม 2567
หลายคนคงทราบว่าหน่วยนาวิกโยธินของสหรัฐเป็นหน่วยที่มีการฝึกฝนอย่างเข้มข้นมาก โดยเฉพาะหน่วยปฏิบัติการพิเศษที่มีชื่อเรียกย่อ ๆ ว่า ซีล มีแต่รายการฝึกอย่างเข้มข้นสมบุกสมบันมาก นอกจากจะมีความสามารถในการใช้อาวุธนานาชนิด มีทักษะการต่อสู้ที่หลากหลายแล้ว ยังได้รับการฝึกให้รู้จักเอาตัวรอดในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ยากลำบาก
มันมีการฝึกอย่างหนึ่งที่เขาเรียกว่า ฝึกไม่ให้จมน้ำ หรือว่าฝึกให้อยู่ในน้ำโดยไม่จม อันนี้มันก็สืบเนื่องมาจากว่า เวลาไปทำงานปฏิบัติการพิเศษอาจจะได้รับบาดเจ็บ แขนขาขยับไม่ได้ แถมยังต้องตกลงไปในน้ำ ทำอย่างไรจะเอาตัวรอดได้ในสถานการณ์ที่ยากลำบากแบบนั้น เขาก็เลยฝึกอย่างที่ว่านี้
ฝึกอยู่ในน้ำโดยไม่ให้จม ทำอย่างไร ก็คือว่าให้คนที่เป็นนาวิกโยธินที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยซีล ให้เอามือไพล่หลัง ถูกมัดข้อมือและข้อเท้าอย่างแน่นหนา แล้วก็ผลัก ครูฝึกจะผลักให้ลงในสระน้ำซึ่งลึกประมาณ 9 ฟุต แล้วก็ให้เวลา 5 นาทีว่าจะอยู่รอดได้ไหม
คนเราธรรมชาติถ้าขาดออกซิเจน พออยู่ในน้ำ 4 นาทีก็มีสิทธิ์ที่จะตายหรือโคม่าได้ หรือกลายเป็นผักไปเลย เพราะว่าสมองขาดออกซิเจนได้ไม่เกิน 4 นาที แต่แบบฝึกหัดนี้ให้เวลา 5 นาที ปรากฏว่าส่วนใหญ่ไม่ผ่านบททดสอบเพราะว่า พอถูกครูฝึกผลักลงไปในสระน้ำนี่ส่วนใหญ่ก็จะพยายามดิ้นรนกระเสือกกระสนเพื่อที่จะให้ตัวลอยอยู่พ้นน้ำ จะได้หายใจ
แต่ปรากฏว่า ยิ่งพยายามกระเสือกกระสนดิ้นรนที่จะลอยตัว หรือพุ่งให้อยู่เหนือน้ำ ยิ่งพยายามเท่าไหร่ก็ยิ่งจม พอจม เริ่มขาดอากาศแล้ว ก็ยิ่งตื่นตระหนก ยิ่งพยายามดิ้นรนที่จะพาตัวให้ลอยอยู่เหนือน้ำให้ได้ แต่ว่ายิ่งทำอย่างนั้นก็ยิ่งจม พอขาดอากาศไปนาน ๆ หลายคนก็ตื่นตระหนก บางคนก็ถึงกับโวยวายเลย ก็ซึ่งทำให้แย่ลงไปเรื่อย ๆ ก็มีบางคนถึงกับสลบไปเลย ต้องรีบเอาตัวขึ้นจากน้ำ รอดตายก็จริงแต่ไม่ผ่าน
แต่คนที่ผ่านซึ่งมีน้อย วิธีการที่เขาใช้ก็คือว่า พอถูกผลักลงไปในสระน้ำ ก็จะยอมทิ้งตัวลงไปจนถึงก้นสระ สักพักก็จะถีบตัวให้มาอยู่เหนือน้ำ เพราะน้ำประมาณ 9 ฟุต ก็เรียกว่าท่วมหัวประมาณสัก 3 ฟุตเท่านั้นแหละ แต่ถ้าหากว่าอยู่ในน้ำในท่ายอง ๆ มันก็เกือบ 2 เท่าตัว แต่พอใช้เท้าถีบ ตัวก็จะค่อย ๆ ขึ้น ลอย จนหัวอยู่เหนือน้ำ นั่นเป็นช่วงที่จะได้หายใจ
พอหายใจปุ๊บก็จะจมลงไปใหม่ จมลงไปก็ไม่ดิ้นรน ปล่อยให้ตัวจม จนเท้าแตะถึงพื้นก็ถีบตัวขึ้นไปใหม่ หัวก็ขึ้นมาพ้นน้ำได้หายใจเฮือกหนึ่งแล้วก็จมลงไปอีก คนที่ใช้วิธีนี้สามารถจะอยู่ในน้ำได้ถึง 5 นาทีโดยไม่สำลักน้ำ แล้วก็ไม่จมน้ำ
วิธีนี้ไม่ใช่เป็นวิธีเอาตัวรอดสำหรับทหารหรือนาวิกโยธิน แต่มันให้แง่คิดบางอย่าง แง่คิดที่ว่า ยิ่งพยายามจะถีบตัวให้พ้นน้ำ ให้หัวพ้นน้ำนี่ มันก็ยิ่งจม ยิ่งอยากจะหายใจได้เร็ว ๆ ก็ยิ่งขาดอากาศหายใจ แต่ว่าถ้าไม่ดิ้นรนที่จะกระเสือกกระสนให้ตัวเอง หัวพ้นน้ำ ก็มีโอกาสที่จะอยู่ได้นาน อยู่ในน้ำได้นานขึ้น
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ยิ่งอยากได้ก็ยิ่งไม่ได้ แต่พอยอม ยอมได้คือยอมจม ก็กลับมีโอกาสที่จะอยู่รอด ยิ่งอยากหายใจไว ๆ ก็ยิ่งขาดอากาศหายใจ แต่พอยอม ไม่ดิ้นรน เมื่อถูกถีบลงไปในน้ำก็ยอมจม ยอมจมนี่ก็ทำให้มีโอกาสที่จะลอยขึ้นมาหายใจ ยืด ต่ออายุได้ แต่ถ้าไม่ยอมจมมันกลับยิ่งจม นี่มันแปลก ยิ่งไม่อยากจมก็ยิ่งจม แต่ยิ่งยอมจมก็สามารถที่จะลอยขึ้นมาหายใจได้
มันเหมือนกับเวลาเราอยากถึงที่หมายไว ๆ เราก็ยิ่งเร่งสปีดเพื่อให้ถึงที่หมายไว ๆ เรากลับจะถึงช้าลง อาจจะช้าในความรู้สึกว่า เมื่อไหร่จะถึง ๆ แต่บางทีมันช้ากว่าเดิมด้วยในความเป็นจริง เพราะว่าพอเร่งสปีดเข้าไปอาจจะเกิดอุบัติเหตุข้างหน้า อาจจะแหกโค้งชนเสา หรือว่ายางอาจจะแตก ก็กลายเป็นว่ายิ่งอยากถึงที่หมายไว ๆ กลับถึงช้า
เวลาเดินทางไกล เดินเท้าเปล่านี่มันมีหลักเลยว่า อย่ารีบอยากถึง เพราะถ้าอยากถึงไว ๆ มันจะถึงช้าเพราะว่า พออยากถึงไว ๆ ก็รีบจ้ำ ๆ ปรากฏว่าขาเดี้ยง บางทีรองเท้ากัด จนกระทั่งเดินต่อไปไม่ไหวก็มี แต่คนที่เดินสบาย ๆ ใจนี่ไม่อยากจะรีบถึงไว ๆ ปรากฏว่ามันถึงเร็วกว่าคนอื่น
เช่นเดียวกับปีนเขา ปีนเขานี่หลายคนอยากจะถึงไว ๆ คนที่รีบจ้ำ ๆ เพื่อจะให้ไปถึงยอดเขาหรือที่หมายไว ๆ นี่ ส่วนใหญ่แล้วปรากฏว่าถึงช้า เพราะว่าพอจ้ำ ๆ เข้าไปก็เหนื่อย พอเหนื่อยก็พัก ตรงข้ามกับคนที่เดินเรื่อย ๆ เอื่อย ๆ บางทีถูกทิ้งอยู่ข้างหลังไกล ๆ สุดท้ายถึงที่หมายก่อนใคร เพราะว่าพอเดินช้า ๆ ไม่เร่ง ไม่อยากจะรีบถึงก็เลยไม่เหนื่อย แล้วก็ไม่มีความจำเป็นต้องพักเลย
อันนี้ก็เป็นหลักของชาวเขา เวลาชาวเขาเขาแนะนำคนเดิน คนปีนเขา บอกให้เดินช้า ๆ แต่อย่าพัก แล้วปรากฏว่าพอเดินช้า ๆ มันก็ไม่จำเป็นต้องพักเลย เพราะว่ามันได้พักทุกก้าวอยู่แล้ว แต่ว่าใหม่ ๆ นี่มันจะเดินอย่างนั้นไม่ได้เพราะใจมันอยากถึงที่หมายไว ๆ หรือว่าอยากจะรีบเดินตามความเคยชิน พอรีบเดินเข้าแค่ 100 ก้าวก็เหนื่อยแล้ว พอเหนื่อยก็พัก
ส่วนคนที่เขาไม่รีบนี่เขาเดินไปเรื่อย ๆ แม้ว่าจะถูกทิ้งไว้ข้างท้าย แต่ว่าไป ๆ มา ๆ ก็เดินผ่านคนที่กำลังเหนื่อยแล้วก็พักเหนื่อยอยู่ อันนี้ก็เหมือนกันมันยิ่งอยากถึงที่หมายไว ๆ ก็กลับถึงช้า แต่ยิ่งไม่อยากถึงที่หมายไว ๆ กลับถึงเร็ว
คนที่นอนไม่ค่อยหลับ หลายคนนี่อยากจะนอนให้หลับ แต่ยิ่งอยากนอนให้หลับตามันกลับสว่าง แต่พอเราลองปล่อยวางความอยากลง หลับก็ได้ ไม่หลับก็ได้ นึกในใจแบบนี้ มันหลับไปตอนไหนก็ไม่รู้ ยิ่งอยากหลับก็ยิ่งนอนไม่หลับ แต่ว่าพอไม่อยากหลับมันกลับหลับ เพราะอะไร
เพราะว่ายิ่งอยากหลับแต่พอไม่หลับมันก็ยิ่งเกิดความกังวล เกิดความเครียด เพราะว่าไม่สมอยาก พอความมีความเครียดเกิดขึ้น มีความกังวลเกิดขึ้นก็ทำให้สมองมันตื่น อย่างที่เราทราบพอคนเราเครียดมันมีความกังวลมันก็จะมีฮอร์โมนหลั่งออกมา ทำให้หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็วขึ้น อันนี้เป็นปฏิกิริยาเพื่อความอยู่รอด เอาไว้สู้กับศัตรู หรือเอาไว้หนีอันตราย
แม้กระทั่งในยามที่ไม่มีอันตราย เพียงแค่คิดว่านอนไม่หลับก็จะทำให้ตื่นสาย ไม่มีเรี่ยวแรงทำงาน เกิดความกังวล พอเกิดความกังวล เกิดความเครียด นี่เลย ตามันเริ่มสว่างเลย ในทางตรงข้ามคนที่เขาปล่อยวางความอยากลงได้ หลับก็ได้ไม่หลับก็ได้ พอไม่อยากหลับปรากฏว่ามันก็หลับได้ หลับได้เร็วกว่าคนที่อยากหลับด้วย
ความอยากอาจจะทำให้เราเกิดความกระตือรือร้น แต่ว่าในตัวมันเองก็เป็นอุปสรรคทำให้เราไม่สามารถจะบรรลุถึงสิ่งที่ต้องการได้ อยากได้ความรัก ยิ่งอยากได้เท่าไหร่ก็ยิ่งไม่ได้ เพราะว่าพออยากได้ความรักจากใคร ทีแรกก็เรียกร้อง เรียกร้องความรัก เรียกร้องความใส่ใจจากอีกคนหนึ่ง พอเขาไม่ให้ก็ไม่พอใจ ตอนนี้ก็เริ่มคาดคั้นแล้ว พอไม่ได้อีกก็เริ่มกดดัน
พอทำอย่างนี้เข้า อีกฝ่ายหนึ่งก็เริ่มรู้สึกเอือมระอา ยิ่งอยากถอยห่าง อันนี้ก็เหมือนกันยิ่งอยากได้ความรักก็ยิ่งไม่ได้ เพราะว่ายิ่งอยากได้ความรักก็ยิ่งทำให้อีกฝ่ายเขาเอือมระอา
เวลาเราภาวนาก็เหมือนกัน หลายคนอยากได้ความสงบ อยากให้ใจไม่คิดอะไร ไม่มีความคิด หรือมีความคิดให้น้อย แต่พอยิ่งอยากสงบกลายเป็นยิ่งไม่สงบเข้าไปใหญ่เลย อันนี้คนที่ภาวนาจะมีประสบการณ์อย่างนี้กันแทบทั้งนั้น
พอยิ่งไม่สงบเข้าก็ยิ่งหงุดหงิด ยิ่งหัวเสีย ยิ่งพยายามกดข่มความคิด ยิ่งพยายามบังคับจิตไม่ให้คิด จิตมันก็ยิ่งพยศ ยิ่งต่อสู้ ยิ่งขัดขืน ความคิดไหนที่ถูกกดข่มมันก็ยิ่งพยายามที่จะต้านทาน ต่อสู้ ก็กลายเป็นว่ายิ่งอยากสงบใจก็ยิ่งไม่สงบ แต่พอไม่อยากสงบหรือว่าไม่สนใจมัน มันจะคิดก็คิดไป มันจะฟุ้งไปก็ฟุ้งไป
หรืออาจจะคิดว่าสงบก็ได้ไม่สงบก็ได้ ไม่ใช่ว่าจะต้องสงบ พอทำใจแบบนี้ มันสงบได้ สงบกว่าเดิม ไม่ใช่ความคิดน้อยลง ความคิดอาจจะยังมีเหมือนเดิม แต่ว่าใจไม่ทุกข์แล้วเพราะมันไม่มีความอยาก
อย่างที่เราสวดทุกเช้าว่า ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นนั่นก็เป็นทุกข์ เวลาไม่สงบแล้วอยากสงบ พอมันไม่สงบอย่างที่อยาก ก็เกิดความหงุดหงิด เกิดความไม่พอใจ นั่นแหละคือสมุทัยที่ทำให้เกิดทุกข์ขึ้นมา แต่พอไม่อยากสงบ หรือว่าไม่ได้กระตือรือร้นที่จะให้มันก็สงบ มันก็สงบลงได้
ธรรมชาติของใจหรือธรรมชาติของชีวิตมันเป็นแบบนี้ ยิ่งอยากได้ก็ยิ่งไม่ได้ คนที่ป่วยถ้ายิ่งอยากหายป่วยมันยิ่งป่วยนานขึ้น หรือว่าอาจจะป่วยหนักกว่าเดิม เพราะอะไร เพราะว่าพออยากหายป่วยแล้วมันไม่หาย ก็เกิดความหงุดหงิด เกิดความกังวล เกิดความเครียด โวยวายตีโพยตีพาย ทำไมมันไม่หายป่วยสักที
บางทีก็อ้างว่าฉันอุตส่าห์ทำบุญมาเยอะ ฉันก็รักษามามาก ดูแลตัวเองมาเยอะ ทำไมยังป่วยอยู่ ตัดพ้อต่อว่าสารพัด ก็อันนี้แหละเป็นตัวการที่ทำให้ป่วยนานขึ้น หรือป่วยหนักขึ้น เพราะว่าพออยากหายป่วยแล้วมันไม่หาย มันก็ยิ่งเกิดความเครียด เกิดความหงุดหงิด ตัวนี้แหละคือตัวซ้ำเติมเพิ่มทุกข์ ความทุกข์ใจมันก็มีส่วนทำให้กายมันแย่ลง
แต่คนที่เขาทำใจได้ ถึงขั้นว่า เออ ตายก็ได้หายก็ดี ปรากฏว่ากลับอาการดีขึ้น บางคนหายเลยก็มี อย่างพระบางรูปป่วย แล้วอาการก็แย่ลงไปเรื่อย ๆ เพื่อนมาถามว่าเป็นยังไง ก็ไม่อยากจะตอบว่าไม่ดีขึ้นเลย รู้สึกเกรงใจที่จะตอบเพื่อนว่าอาการไม่ได้ดีขึ้นแต่ในใจนี่อยากจะหาย อย่างน้อย ๆ ก็ทำให้เพื่อนสบายใจ หรือถ้ารู้สึกดีขึ้นก็ทำให้เพื่อนสบายใจ แต่พอไม่หายก็รู้สึกแย่ อยากจะหายแต่ไม่หาย ก็รู้สึกแย่ลงไปเรื่อย ๆ
จนกระทั่งวันหนึ่งครูบาอาจารย์มาบอกว่า ไม่ต้องพยายามหายก็ได้ จะตายก็ได้ พอบอกว่าไม่ต้องพยายามหาย คนป่วยนี่โล่งอกเลย ตอนนี้ฉันไม่ต้องพยายามหายก็ได้แล้ว พอความอยากหายมันลดลง ก็ไม่จำเป็นต้องพยายามหายเพื่อให้เพื่อนสบายใจ ปรากฏว่าอาการก็ดีขึ้น ๆ จนกระทั่งหายป่วยไปเลย
อันนี้มันก็มี ชี้ให้เห็นว่ายิ่งอยากหายป่วยก็ยิ่งป่วยหนักหรือป่วยนานขึ้น แต่พอไม่อยากหาย ร่างกายกลับดีขึ้น เพราะว่าใจกับกายมันสัมพันธ์กัน พอไม่อยากหายมันจะป่วยอย่างไรก็ไม่ทุกข์ แต่ถ้าอยากหายแล้วมันไม่หายนี่มันจะทุกข์เลย พอใจทุกข์กายก็แย่
หลวงปู่ขาวท่านจึงบอกว่า เรื่องความอยากหายจากทุกขเวทนานี้อย่าอยากหาย เพราะถ้าอยากหายมันก็จะเป็นตัวสมุทัย คือเป็นตัวเพิ่มทุกข์ให้ แต่คนเราก็ทำใจลำบาก พอป่วยแล้วก็อยากจะหาย แต่พอไม่หายอย่างที่อยากก็ยิ่งทุกข์
แม้กระทั่งความตาย ในยามวิกฤตถ้าหากว่ายิ่งต่อสู้ขัดขืนกับความตายนี่ก็ยังมีโอกาสที่จะตาย แต่พอไม่ต่อสู้ขัดขืนกับความตาย จะตายก็ได้ ปรากฏว่ากลับรอด อย่างผู้หญิงคนหนึ่งขับรถบนทางด่วน เร็วมากเลย พอถึงโค้งปรากฏว่ามันมีรถติดยาวเลย ไม่รู้ว่ามีอะไรข้างหน้า เธอก็พยายามที่จะชะลอ แต่ว่าทำท่าจะชะลอไม่ทัน
ยิ่งกว่านั้นคือว่า มองที่กระจกหลัง ก็มีรถอีกคันหนึ่งตามหลังมา พุ่งอย่างแรง ในขณะที่ตัวเธอชะลอ ก็รู้แน่เลยว่าต้องไปชนกับรถข้างหน้า แถมมีรถข้างหลังมาอัดก๊อปปี้ ความเร็วขนาดนี้รถคงจะพังยับเยิน และตัวเธอก็จะไม่รอด
ตอนนั้นสังเกตว่ามือของตัวเองจับพวงมาลัยไว้อย่างแน่นเลย กำไว้แน่นเลย มันเป็นสัญชาตญาณของคน เวลารู้ว่าจะเกิดเหตุร้ายหรือว่ากำลังจะตายนี่มันจะมีอาการต่อสู้ขัดขืน แต่เธอก็มีสติดีบอกว่า ฉันเครียดมาตลอดชีวิต ถ้าวันนี้จะตายก็ขอให้ตายแบบสบาย ๆ ก็แล้วกัน แล้วคลายมือ ปล่อยมือลง แล้วหลับตา ไม่มีอาการต่อสู้ขัดขืน หรือพยายามดิ้นรนเอาชีวิตรอด แล้วพอรถคันหลังมาชน ขณะที่รถข้างหน้าเธอก็ชนท้ายเขา ประสานงาอย่างแรง หมดสติไปเลย
ปรากฏว่าไม่ตาย มารู้ตัวอีกทีก็ตอนที่ตำรวจพยายามลาก ดึงตัวเธอออกมาจากรถ ออกมาจากรถเห็นซากรถแล้วนี่ไม่เชื่อเลยว่าตัวเองรอดได้อย่างไร ตำรวจก็ไม่เชื่อว่ารอดได้อย่างไร แต่พอเธอเล่านาทีสุดท้ายหรือวินาทีท้าย ๆ ก่อนที่รถจะถูกอัดก๊อปปี้ ตำรวจก็เลยเข้าใจ ตำรวจบอกว่าถ้าคุณเกร็ง กำพวงมาลัยไว้แน่นนี่ คุณก็คงจะไม่รอด เพราะว่าแรงกระแทกอาจจะทำให้คอหักได้
แต่นี่คุณปล่อยวาง แรงกระแทกที่เกิดจากการอัดก๊อปปี้ของรถมันก็เลยไม่ทำให้คอเธอหัก ก็กลายเป็นว่าพอพร้อมตายกลับไม่ตาย พอไม่ต่อสู้ขัดขืนกับความตายกลับไม่ตาย แต่หลายคนนี่ตายเพราะอะไร เพราะต้องการต่อสู้ขัดขืนกับความตาย อยากจะรอด ทำใจไม่ได้ที่ต้องตาย ก็ปรากฏว่ากลับตาย แต่ว่าพอพร้อมจะตายกลับรอด
ธรรมชาติของชีวิตคนเราก็เป็นอย่างนี้ ยิ่งอยากได้ ยิ่งไม่ได้ แต่พอไม่อยากได้มันก็กลับได้ขึ้นมา ที่จริงเหตุการณ์ทั้งหมดที่พูดมานี่สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งเลยคือ ใจที่สงบ
ใจที่สงบไม่ดิ้นรน ไม่หงุดหงิดเมื่อไม่สมหวัง อย่างคนที่เขาถูกผลักลงไปในสระว่ายน้ำ มือถูกมัดเท้าก็ถูกมัด หลายคนพอจมลงไปในน้ำมันตกใจ สัญชาตญาณเอาตัวรอดมันทำให้พยายามที่จะดิ้นรนกระเสือกกระสนให้ตัวเองนี่ หัวพ้นน้ำให้ได้ แต่การพยายามแบบนั้นมันกลับทำให้ตัวเองจมลงเร็วขึ้น แต่คนที่จะปล่อยตัวให้จมลงไปถึงก้นสระ แล้วถีบตัวเองขึ้นมาจนคอจนหัวพ้นน้ำนี่ อันนี้มันต้องมีสติ
สติทำให้ใจนิ่ง ทำให้ความอยากที่จะดิ้นรนเอาตัวรอดมันเพลา เบาบางลง เพราะถ้าหากว่ายังปล่อยให้ความอยากเอาตัวรอดมาครองใจ พอเจอปัญหาแบบนี้มันจะตื่นตระหนกตกใจได้ง่าย พอตื่นตกใจนี่ก็ไม่นิ่งแล้ว ก็เกิดการดิ้น พอเกิดการดิ้นก็ยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง การที่ใจเราจะนิ่งได้นี่มันต้องมีสติ
ก็เหมือนกับผู้หญิงคนที่เขาปล่อยมือจากพวงมาลัยตอนที่รถใกล้จะถูกอัดก๊อปปี้ เขาก็นิ่ง ที่เขานิ่งได้เพราะเขามีสติ ความนิ่งมันทำให้ไม่ปล่อยใจไปทำตามความอยาก หรือปล่อยใจให้ความตื่นตระหนกครอบงำ และความตื่นตระหนกนี่มันก็มาพร้อมกับความอยาก อยากได้อะไรแล้วไม่ได้นี่มันก็จะเกิดอาการตื่นตระหนก เกิดอาการหงุดหงิด
และสิ่งที่ทำก็ยิ่งทำให้เกิดผลเสียกับตัวเอง อยากจะหลับแต่นอนไม่หลับ ก็ยิ่งหงุดหงิด เกิดความตระหนก กังวลเล็ก ๆ ซึ่งก็ทำให้นอนไม่หลับ แต่ถ้าเกิดว่าเราสามารถทำใจไว้ให้นิ่งได้มันก็จะหลับได้ แต่ใจจะนิ่งได้มันต้องไม่มีความอยาก หรือปล่อยวางความอยาก จะปล่อยวางความอยากได้มันก็ต้องมีสติ
เราฝึกได้ เวลาเรามาเจริญสติแทนที่เราจะปล่อยให้ความอยากมันครอบงำใจ ความอยากที่ว่าคืออยากสงบ เราลองฝึกว่า เออ มันไม่สงบก็ไม่สงบ สงบก็รู้ ไม่สงบก็รู้ หรือว่าอะไรก็ได้ ฝึกแบบนี้นี่มันก็ทำให้ความอยากครองใจเราน้อยลง มันทำให้ใจเรานิ่งขึ้น แล้วพอใจเรานิ่งขึ้นแล้ว ความทุกข์มันก็จะเบาบาง ปัญหาต่าง ๆ ก็จะแก้ได้เมื่อเรามีสติและมีปัญญา.