พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็น วันที่ 24 สิงหาคม 2567
เมื่อวานได้เล่าถึงรายการหนึ่งที่จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ว่าเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว วันเดียวกับการจัดงานบูชาคุณหลวงพ่อคำเขียน แต่ว่างานนี้จัดตอนเย็นถึงค่ำ ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Phra Talks นิมนต์พระ รวมทั้งภิกษุณี และแม่ชีมาพูด แต่ไม่ใช่บรรยายธรรม เพราะงานนี้เขาประกาศเลยว่าไม่มีเทศน์ ไม่มีสอน ไม่มีธรรมาสน์ แต่ให้แต่ละรูปมาพูดเรื่องส่วนตัวว่าทำไมมาบวช และระหว่างที่บวชได้เจออะไรบ้าง
เพื่อให้คนฟังมองพระว่าเป็นมนุษย์คนหนึ่ง รวมทั้งมองว่าพุทธศาสนาเป็นวิถีชีวิต ไม่ใช่เรื่องของพิธีกรรม
เมื่อวานนี้ได้พูดถึงพระ 3 รูป ที่มีประสบการณ์บางอย่างที่น่าสนใจ แต่ในบรรดาพระ ภิกษุณี แม่ชีทั้ง 9 รูปนี้ ไม่มีใครที่จะมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักตอนเป็นฆราวาสมากเท่ากับพระโตน พระโตน ชื่อจริง ๆ คือ พระมหาจักรธร แต่ตอนเป็นฆราวาส ใคร ๆ เรียกว่า โตน โซฟา โซฟา เป็นชื่อวงดนตรี โตนเป็นนักร้อง เป็นนักแต่งเพลง เป็นโปรดิวเซอร์ มีชื่อเสียงในวงการ ในบรรดาพระที่มาพูด ไม่มีใครที่มีชื่อเสียงก่อนบวชเท่ากับท่านจักรธร หรือท่านโตน
และไม่น่าเชื่อ คนที่มีชื่อเสียงในวงการบันเทิงมาบวชพระ แล้วก็บวชได้ค่อนข้างยาว นี่ก็ 8-9 ปีแล้ว แถมมาบวชอยู่วัดกลางกรุงเลยคือวัดบวรนิเวศ ทั้ง 9 รูปที่มาพูด เกือบทั้งหมด วัดอยู่ต่างจังหวัด ชนบท มีท่านจักรธร หรือมหาจักรธร เป็นรูปเดียวที่อยู่กลางกรุงเลย
แถมสนใจภาษาบาลี เรียนภาษาบาลี สอบได้ถึงประโยค 6 เรียกว่าจากคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในโลกสมัยใหม่กลับมาหลงใหลภาษาโบราณซึ่งเต็มไปด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีแบบโบราณ 2600 ปี เพราะภาษาบาลีเป็นภาษาที่ตายแล้ว และมีธรรมเนียมพ่วงติดมากับกระบวนการเรียนการสอน
ท่านโตนบอกว่า มีเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้เกิดความสนใจในเรื่องการศึกษาพุทธศาสนาหรือการเข้าหาธรรมะ คือไปพบพระผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง เป็นระดับหลวงพ่อหลวงตาแล้ว พอท่านรู้ว่าโตนเป็นนักร้อง ท่านก็พูดว่า เหมือนพัดลมเลยนะ พัดลมทำให้คนอื่นเย็น แต่ตัวมันร้อน
โตนจึงเกิดได้คิดขึ้นมา เราให้ความสุขแก่ผู้คน แต่ว่าตัวเราทุกข์ จึงหันมาสนใจพุทธศาสนา และบวช บวชแล้วเกิดความหลงใหลในเสน่ห์ของภาษาบาลี บวชได้ 8 พรรษา ปรากฏว่าสอบได้ประโยค 6 เข้าไปแล้ว ทั้งที่ไม่ได้เรียนเป็นเรื่องเป็นราวเท่าไร อาศัยความเพียรและใจรักล้วน ๆ
หายากที่มาบวชเมื่ออายุมากแล้ว ปกติคนที่เรียนภาษาบาลีเขาเรียนตั้งแต่เป็นเณร ตั้งแต่เล็ก สมองยังสดอยู่ แต่ท่านมาบวชเอาตอน 30 กว่าแล้ว แต่เพราะใจรัก และรู้สึกว่าเป็นเรื่องท้าทายด้วย มีคนบอกว่าภาษาบาลียาก ท่านบอกว่าชอบเวลาใครบอกว่าอะไรยาก มันดูท้าทาย จึงเรียน เรียนเอง และขวนขวายหาครูมาช่วยสอน และไปสอบ สอบก็ได้ จนกระทั่งประโยค 6 แล้ว ถือว่าไม่เบาเลย
และปกติคนที่เรียนได้ประโยคสูง ๆ ความรู้มาก มักจะเกิดความทะนงตน หลายคนอดไม่ได้ที่จะไปมองว่าคนที่ไม่รู้ภาษาบาลีหรือไม่ได้ประโยคสูง ๆ อย่างท่านเป็นพวกที่ไม่มีความรู้ แต่ปรากฎว่าท่านยิ่งเรียนมากก็ยิ่งเกิดความเข้าใจว่าทําไมคนอื่นจึงเข้าใจพุทธศาสนาแตกต่างกันไป ท่านไม่ได้ดูถูกดูแคลนคนเหล่านั้นเลย
การเรียนภาษาบาลีทำให้เข้าใจว่าพุทธพจน์มีความหลากหลาย คนที่ศึกษาบางตอน บางข้อ บางด้าน จะมองหรือสรุปไปต่าง ๆ นานา การที่ท่านได้รู้ภาษาบาลีและได้อ่านพระไตรปิฎกด้วยตัวเองที่เป็นภาษาบาลี ทำให้เข้าใจว่าทําไมคนมีทัศนะหรือความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมะแตกต่างกันไป
การที่คนเราศึกษาเรียนรู้สูง ๆ แล้วเกิดความเข้าใจผู้อื่น ถือว่าเป็นเรื่องที่หายาก เพราะส่วนใหญ่จะดูถูกคนที่คิดต่างจากตัว อันนี้เป็นเป็นสิ่งที่น่าคิดมาก เชื่อว่าต่อไปท่านคงจะเป็นอาจารย์สอนภาษาบาลีที่มีลูกศิษย์ลูกหาเยอะ ท่านบอกว่าแต่งเพลงมาเป็นพันเพลงแล้ว ยังรู้สึกว่าสู้เรียนภาษาบาลีไม่ได้ ได้ความรู้เยอะ นี่เป็นมุมมองที่แปลก
อีกคนหนึ่งที่ขึ้นมาพูดบนเวทีเป็นแม่ชีธีรปัญญา (ศิรินาถ) พื้นเพเดิมเป็นสถาปนิก เป็นคนที่เข้าหาพุทธศาสนา ออกบวชด้วยความศรัทธา พระที่ขึ้นมาพูดหลายรูปไม่ได้มีศรัทธาในพุทธศาสนา แต่ว่าชีวิตหันเหผลักให้มาบวช ต่างจากแม่ชีธี ท่านสนใจ เกิดศรัทธาในพุทธศาสนา ไปปฏิบัติธรรมที่สวนโมกข์นานาชาติ
ซึ่งถือว่าเป็นเพราะชะตากรรมก็ได้ เพราะตกงานเนื่องจากเกิดวิกฤติต้มยํากุ้ง ว่างงาน เพื่อนชวนไป ลองไปเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมที่สวนโมกข์นานาชาติ ถ้าไม่ตกงาน ยังมีความเจริญรุ่งเรืองคงจะไม่ได้มีโอกาสมาเข้าคอร์ส ได้มาสัมผัสธรรมะที่นั่น ครูบาอาจารย์ท่านอธิบายเรื่องปฏิจจสมุปบาท เธอก็เข้าใจชัดเจนเลยในเวลานั้นว่า โอ้ คนเราถ้าไม่รู้จักธรรมะชีวิตก็จมหลงวนอยู่ในวัฏสงสาร เกิดความอยากจะออกจากทุกข์ อยากจะออกจากวัฏสงสาร ก็เลยสนใจการปฏิบัติมากขึ้น ทั้งที่ยังเป็นฆราวาสอยู่
แต่ตอนหลังพอไปได้สัมผัสกับสายปฏิบัติแบบหลวงปู่มั่น ได้ไปกราบหลวงพ่อทูล ที่จังหวัดอุดรธานี เกิดศรัทธาก็เลยบวชเลย จนถึงปัจจุบันนี้ก็ 20 กว่าพรรษาแล้ว แม่ชีบอกว่าตอนที่บวชเนื่องจากเป็นสถาปนิก หลวงพ่อ ครูบาอาจารย์ก็ให้แม่ชีออกแบบศาลา แล้วก็มีงานทำอยู่เรื่อย ๆ เป็นเรื่องเกี่ยวกับสถาปนิก เรื่องการออกแบบ
ตนเองก็รู้สึกขัดใจ ตั้งใจมาบวชเพื่อการพ้นทุกข์ อยากจะมาบวชเพื่อจะได้มีเวลาปฏิบัติธรรม มีเวลาภาวนา แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้มีเวลาภาวนาสักทีเพราะต้องมาทำงานรับใช้หลวงพ่อ ก็อึดอัดขัดเคืองอยู่นาน
จนกระทั่งวันหนึ่งกำลังรดน้ำต้นไม้อยู่ รดน้ำด้วยความรู้สึกว่าเราไม่ได้ปฏิบัติเลย แต่ก็มีกัลยาณมิตรมาพูดเตือนว่าที่รดน้ำนี่ก็ภาวนาได้นะ ก็เลยเข้าใจ ว่าที่จริงภาวนานี้มันไม่ใช่หมายความว่าต้องมานั่งหลับตา ทำอะไรก็ภาวนาได้ ที่เคยคิดว่าตัวเองไม่ได้ภาวนาเลยนี้มันเป็นความเข้าใจที่ผิด ไม่ว่าทำอะไรก็ภาวนาทั้งนั้นได้ทั้งนั้นแหละ
ชีวิตการภาวนาก็เลยเปลี่ยนไปเลย กลายเป็นว่าได้ภาวนาเรียกว่าทั้งวันเลย ซึ่งอันนี้มันก็เป็นท่าทีที่ถูกต้อง เพราะว่าการภาวนาโดยเฉพาะถ้าเป็นการเจริญสติ ทำความรู้สึกตัว มันทำได้ทั้งวัน คนที่ไม่เข้าใจก็ไปคิดว่ามันต้องขึ้นอยู่กับเวลา อยู่กับรูปแบบ ทั้งที่จริง ๆ แล้วทำอะไรก็ภาวนาได้ อย่างที่ท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านเคยพูดว่า การทำงานคือการปฏิบัติธรรม ไม่ว่าทำงานอะไร หรือแม้แต่จะไม่ใช่ทำงาน แค่อาบน้ำ ถูฟัน ล้างหน้า ก็ภาวนาได้ ถ้าทำความรู้สึกตัวให้เกิดขึ้น
ก็มียังมีอีกหลายท่านนะ ทั้งภิกษุณี ทั้งพระ ที่ผู้จัดนิมนต์มาพูด อีกท่านหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ พระครูธรรมรัต เพื่อน ๆ เรียกกันว่าท่านปุ้ย ท่านก็เป็นพระที่ไม่เหมือนใครในบรรดาที่นิมนต์มา ไม่เหมือนตรงที่ว่าท่านเป็นคนประเภทเพอร์เฟคชั่นนิสต์ ทำอะไรต้องถูกต้อง ต้องดีงาม ต้องสมบูรณ์แบบ
เมื่อเป็นพระแล้วท่านก็มีความทุกข์มาก อึดอัดขัดเคืองกับพระรูปนั้นรูปนี้ที่ไม่ค่อยเรียบร้อย ไม่ค่อยปฏิบัติถูกต้องตามพระวินัย อึดอัดขัดเคืองไปทั่ว เพราะว่าเห็นแต่ข้อผิดพลาด แล้วก็ทำให้มาเพ่งโทษตัวเองด้วย พอเพ่งโทษคนอื่นไม่พอ มาเพ่งโทษตัวเองว่าทำอะไรก็ไม่ถูกต้อง คนที่เป็นเพอร์เฟคชั่นนิสต์มักจะมีจุดอ่อนก็ตรงนี้แหละ เห็นแต่ความผิดพลาด หรือ เห็นความผิดพลาดได้ง่าย
งานแม้จะดีแต่ก็ยังไม่พอใจ เพราะมันยังมีความผิดพลาดอยู่ ยังมีข้อบกพร่องอยู่ แม้จะ 99% ก็ยังมี 1% ที่ทำให้ไม่สมบูรณ์แบบ พอมามองตัวเองก็เห็นความผิดพลาด ความไม่สมบูรณ์แบบ ความไม่ถูกต้อง ก็เครียด ก็เลยทุกข์ จนวันหนึ่งก็สติแตกเลยนะ สติแตกขณะที่กำลังซูมประชุม คนเขาตกใจเกิดอะไรขึ้น
การที่ท่านเอาเรื่องนี้มาเล่า ก็ถือว่าท่านก้าวข้ามความเป็นเพอร์เฟคชั่นนิสต์ หรือว่าก้าวข้ามความติดดี เพราะว่าถ้าติดดีมันจะไม่ค่อยอยากจะพูดเรื่องพวกนี้เท่าไหร่ ติดดีมักจะอดไม่ได้ที่จะสร้างภาพให้ดูดี แต่บางคนได้แต่สร้างภาพ แต่บางคนนี่ไม่ใช่แค่สร้างภาพ บางคนก็จดจ้องมองเห็นความผิดพลาดของตัวเอง แล้วก็เลยทำให้เกลียดตัวเอง ไม่มีความพอใจในตัวเอง
ท่านปุ้ยก็คงจะเป็นอย่างนี้ด้วยเหมือนกัน จนกระทั่งเครียด ตอนหลังก็เห็นโทษความติดดี การที่ท่านเอาเรื่องนี้มาเล่าได้ก็แสดงว่าท่านสามารถก้าวข้ามความติดดีมาได้ระดับหนึ่ง เพราะว่าเอาเรื่องที่ไม่ค่อยดีของตัวเองมาพูด ก็ถือว่ายอมรับว่าตัวเองมีความจำกัด มีความบกพร่องก็ยอมรับได้ ไม่ถือเป็นเรื่องที่จะต้องมาเป็นข้อตำหนิเพ่งโทษตัวเอง
มีเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้ท่านได้คิด เลิกตำหนิผู้อื่น ท่านเล่าว่าเคยไปบ่นให้พระหลวงตาฟัง ว่าพระที่โน่นที่นี่ ทำตัวไม่เรียบร้อย มีพฤติกรรมที่แย่ เอาเปรียบชาวบ้านสารพัด ข้อวินัยไม่สนใจ
หลวงตาท่านก็ฟังเป็นชั่วโมงเลย เสร็จแล้วท่านก็พูดสั้นๆ ว่า “ท่านบวชให้นานๆ นะ” พูดแค่นี้แหละ ท่านสะดุดเลยนะ มันหมายความว่าอย่างไร บวชให้นานๆ
ก็คงประมาณว่า ถ้าท่านบวชไปนานๆ ก็จะรู้ว่า พฤติกรรมพระแบบนี้ มันธรรมดามาก มีอยู่ไปทั่ว หรือมิฉะนั้นก็เพราะว่า ท่านอยากเตือนว่า เมื่อบวชไปนานๆ ตัวเองอาจจะเผลอไผล เป็นอย่างพระที่ตัวเองเคยกล่าวหาเหมือนกัน พออยู่ไปนานๆ ก็เริ่มเกเรแล้ว เพราะว่าการเป็นพระ พออยู่ไปนานๆ มันไม่ใช่ง่ายๆ พออยู่ไปนานๆ ก็เริ่มเผลอ ที่เคยตำหนิพระรูปนั้นรูปนี้ ตัวเองก็เป็นเอง
หรืออาจจะเป็นเพราะ หลวงตาท่านกำลังจะบอกว่า อย่าไปสนใจคนอื่นเลย ดูแลตัวเองให้ดี แล้วก็ดูแลตัวเอง ให้อยู่ได้นานๆ ก็พอแล้ว อย่าไปมองไปเพ่งโทษคนโน้นคนนี้เลย รักษาตัวให้รอด จะได้บวชนานๆ
คำพูดของหลวงตาทำให้ท่านได้คิด เลิกจ้องจับผิดพระรูปนั้นรูปนี้ เลิกหงุดหงิดกับวงการพระ
งานนี้เขาก็ให้อาตมาพูดปิดท้าย คงเห็นว่าเป็นผู้ที่อายุมาก อายุมากที่สุดนะ ส่วนใหญ่ที่มาพูดนี้ก็ประมาณ 40 หรือ 30 กว่า มีภิกษุณีที่อายุเกือบ 60 แต่ว่าตัวอาตมานี้ 67 พรรษาก็มากกว่าคนอื่นเขาก็เลยให้พูดปิดท้าย ที่จริงเป็นคนรองสุดท้ายมากกว่า เพราะท้ายสุดจริง ๆ คืออาจารย์พุทธทาส
เรื่องอาตมามันก็ไม่มีอะไรหวือหวา ต่างจากพระบางรูปที่ค่อนข้างจะมีเรื่องดราม่าตั้งแต่ก่อนบวช หรือว่าระหว่างบวช อาตมาก็ไม่ค่อยมีอะไรหวือหวา เพียงแต่ว่ามีบางอย่างที่เหมือนกับหลายคนก็คือ มีความรู้สึกต้องต่อสู้กับตัวเองตอนเป็นพระ โดยเฉพาะตอนเป็นพระใหม่ ๆ อาตมาที่มักจะเป็นบ่อย ก็คือเวลาฝันมักจะฝันว่าได้ไปเข้าไปในโรงหนัง ไปดูหนังในโรง
โรงหนังสมัยก่อนมันก็เป็นโรงหนังใหญ่แล้วคนเยอะ เข้าไปดูหนังทั้งที่เป็นพระแล้ว เข้าไปได้ยังไงไม่รู้นะ เพราะว่าพอฝันก็เข้าไปอยู่ในโรงหนังแล้ว แล้วโรงหนังก็มืดด้วย แต่พอฉายหนังเสร็จ ไฟเปิดพรึบ คนออกจากโรงก็ตกใจ ตกใจว่ากลัวว่าจะมีคนเห็นว่ามีพระแอบเข้ามาดูหนังในโรง พอตื่นขึ้นมาพบว่าเป็นความฝันก็โล่งอก เออ โล่งอก เราไม่ได้แอบเข้าไปดูหนังในโรงอย่างที่ฝันเอาไว้
ก็ฝันอย่างนี้หลายครั้งนะ มันเป็นสัญญาณบอกว่าจิตใจยังโหยหาชีวิต ยังโหยหาความสุขแบบฆราวาส เพราะตอนที่เป็นฆราวาสความสุขอย่างหนึ่งก็คือไปดูหนัง แต่พอเป็นพระแล้วก็ดูหนังไม่ได้ มันก็เลยไอ้ความโหยหาความสุขจากการดูหนังก็เลยแสดงออกมาในรูปความฝัน ที่จริงพอเป็นพระแล้วนี้ นอกจากไม่ได้ดูหนังแล้ว มันยังไม่ได้ทำอย่างอื่นอีกหลายอย่าง
ความสุขจากการเสพ จากการสัมผัส พอมาเป็นพระแล้วก็ทำไม่ได้หรือทำได้ยาก มันก็เลยเกิดความโหยหาออกมาในความฝันบ้าง ออกมาในความคิดบ้าง แต่ว่าพอจะนึกถึงการสึกนี่มันกลับสะดุดนะ ไม่เคยมีความคิดความอยากที่จะสึกจริง ๆ เลย เพราะว่ายังเข็ดหลาบกับชีวิตฆราวาส เข็ดหลาบว่าชีวิตฆราวาสมันเต็มไปด้วยความทุกข์
แม้ว่าใจหนึ่งก็ยังอยากจะสึกออกไปเป็นฆราวาส เวลาเห็นพระที่มาบวชเช่นบวชภาคฤดูร้อน แล้วพอถึงพอหมดฤดูร้อนเขาจะต้องสึกไป เห็นเขาสึกแล้วเราก็อิจฉาเขา ถามตัวเองว่าทำไมอิจฉา ก็เพราะว่าอยากจะไปมีความสุขแบบเขา อันนี้มันก็แสดงว่าเราจริงๆ ยังโหยหาชีวิตฆราวาสอยู่ แต่พอนึกถึงความทุกข์ที่เคยประสบตอนเป็นฆราวาสมันรู้สึกเข็ดหลาบ ทำให้ไม่มีความอยากที่จะสึกจริง ๆ จัง ๆ เสียที
นึกถึงทีไรไอ้ความอยาก... นึกถึงความทุกข์ตอนเป็นฆราวาสทีไร ความอยากจะสึกมันก็ฝ่อเลย แต่ว่ามีสิ่งหนึ่งที่ช่วยทำให้บวชได้นาน ถึงเวลาจะสึก ทั้งที่ตั้งใจว่าจะบวชแค่ 3 เดือน พอครบ 3 เดือนแล้วก็เกิดอาลัยไม่อยากสึก อันนี้ก็เพราะว่ามันมีความสุขจากการภาวนานี่เป็นตัวหล่อเลี้ยง
คนเรานี้ต้องการความสุขนะ ร่างกายต้องการอาหาร ปัจจัย 4 แต่จิตใจมันต้องการความสุข ถ้ามันไม่ได้ความสุขภายในมาหล่อเลี้ยง มันก็จะโหยหาความสุขจากภายนอก ความสุขจากการเสพ ความสุขจากการสัมผัส แต่เมื่อใดก็ตามที่เราพบความสุขภายใน ความสุขจากสมาธิภาวนา ความสุขจากการเจริญสติ มันก็โหยหาความสุขจากการเสพ จากการสัมผัส หรือกามสุขน้อยลง
แล้วเผอิญโชคดีนะ ก็ได้มาปฏิบัติกับหลวงพ่อเทียน หลวงพ่อคำเขียน ก็ได้ความสุขจากสมาธิภาวนานี้มาช่วยหล่อเลี้ยงจิตใจ ทำให้เกิดความสุขกับชีวิตพระ ยิ่งผสมกับความรู้สึกเข็ดหลาบในความทุกข์ของฆราวาสด้วยแล้วนี้ ก็ทำให้มันไม่มีความอยากจะสึกจริง ๆ จัง ๆ เลย มีแค่ความคิดแต่ไม่ใช่ความอยาก
ก็เลยบวชได้เรื่อย ๆ นะ ครบ 3 เดือนแล้วก็ต่อเป็น 6 เดือน หลายคนเห็นว่า น่าจะบวชต่อไปนาน ๆ นะ บางคนก็บอกว่าบวชตลอดชีวิตเลยก็ยิ่งดี เราก็เห็นดีด้วย ถ้าบวชตลอดชีวิตก็ดีนะ แต่พอมาคิดจริงจัง มันหนาวเลยนะ เวลานึกว่าจะบวชตลอดชีวิต ความรู้สึกมันเหมือนกับติดคุกตลอดชีวิตเลย
คนไม่เคยติดคุกไม่เคยรู้รสชาติ อาตมานี้เคยติดมาแล้ว 3 วัน โอ้ มันทุกข์มากเลย แล้วถ้าติดคุกตลอดชีวิตนี้มันจะทุกข์แค่ไหน พอคิดเรื่องการบวชตลอดชีวิต มันใจมันหนักเลยนะ มันกังวล มันเครียดเลย แต่ว่าพอเรามีสติเราก็ถามตัวเองว่า ตอนนี้มีความสุขอยู่หรือเปล่า วันนี้มีความสุขอยู่ไหม ก็ตอบว่า มีความสุข เท่านี้ก็พอแล้ว
วันนี้มีความสุขก็พอแล้ว พรุ่งนี้ค่อยไปว่ากันอีกที ยังไม่ต้องคิดถึงพรุ่งนี้ ยังไม่ต้องคิดถึงมะรืนนี้ แค่วันนี้มีความสุขก็พอแล้ว แล้วถ้าพรุ่งนี้มีความสุข ก็อยู่ต่อ อาศัยความสุขแต่ละวัน ๆ เป็นเครื่องหล่อเลี้ยง เรียกว่าเป็นพระแบบอยู่แบบวันต่อวันเลย การเป็นพระแบบอยู่แบบวันต่อวันนี้มันก็ช่วยนะ เพราะว่าเหมือนกับเราเดินทางไกล ถ้าเราเดินให้ดีทีละก้าว ถ้าเราเดินไม่หยุด มันก็ถึงเอง
พอเราตั้งใจว่าแค่บวชวันนี้และมีความสุขก็พอแล้ว อย่าเพิ่งไปสนใจวันพรุ่งนี้ พอทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ แต่ละวัน ๆ ผ่านไป เผลอปุ๊บเดียวมันเป็นเดือนแล้ว เผลออีกทีเป็นปีแล้ว เผลออีกทีเป็น 10 ปีแล้ว ไอ้การเดินทางไกล ใจเราไม่ต้องไปอยู่ที่จุดหมาย แค่เดินให้ดีทีละก้าว ถ้าเดินไม่หยุดมันถึงแน่ ก็พบว่าการที่อยู่กับปัจจุบัน มันช่วยนะ
อีกอย่างหนึ่งก็คือว่ามีตัวช่วยด้วย นอกจากสมาธิภาวนาแล้ว คือเป็นคนที่ชอบอ่านประวัติของคนที่น่าสนใจหลายคน ตอนนั้นตอนที่บวชได้สัก 6-7 พรรษา ได้ข่าวว่า เนลสัน แมนเดลา ออกจากคุก เนลสัน แมนเดลาติดคุก 27 ปี ไม่น้อยเลยนะ เราก็มานั่งคิดว่า เนลสัน แมนเดลาติดคุก 27 ปีได้ ทำไมเราจะทำไม่ได้บ้าง
ก็เลยเอา 27 ปีนี้เป็นเป้าเลยนะ ดูซิว่าเราจะบวชให้ได้ถึง 27 ปีหรือเปล่า แต่ว่าพอบวชไป ๆ มารู้อีกทีก็ อ้าว เราบวชได้ 30 ปีแล้ว บวชได้ 35 ปีแล้ว มากกว่าที่เนลสัน แมนเดลาติดคุกเสียอีก มารู้ตัวอีกทีก็ อ้าว บวชไปแล้ว 40 พรรษา จริง ๆ แล้วการบวชให้ยาวนี้มันไม่ยากนะ ที่ยากคือบวชแล้วประพฤติดี ประพฤติชอบ ถูกศีล ถูกวินัย อันนี้ยากกว่า แต่ว่ามันจะกลายเป็นเรื่องง่าย ถ้าหากว่ามีความสุขเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง
ฉะนั้นถ้าเรามีความสุขเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง การบวชให้ดี บวชให้ถูกศีลถูกธรรม มันก็กลายเป็นเรื่องง่าย แต่ถ้าไม่มีความสุขแล้ว อย่าว่าแต่การบวชให้ดีเลยนะ แม้กระทั่งการบวชไปได้นาน ๆ ก็กลายเป็นเรื่องยากเพราะมันทรมาน ทรมานจากการที่ต้องอดกลั้น อดกลั้นในการหาความสุขมาปรนเปรอตน หรือว่าบางคนก็ยังอดกลั้นไม่ไหว ก็ไปเผลอหาความสุขจากการเสพ จากการสัมผัส มาปรนเปรอตนจนผิดศีล ผิดวินัย ก็เกิดความเดือดเนื้อร้อนใจ ยิ่งยากกว่า
ก็พูดทำนองนี้แหละ ถ้าอยากรู้ว่าพูดอะไรบ้างเต็ม ๆ ก็คอยดูคลิปที่เขาจะปล่อยออกมา รวมทั้งคลิปของพระรูปอื่น แม่ชีและภิกษุณี ผู้จัดเขาก็จะปล่อยออกมาในเร็ว ๆ นี้ ก็จะได้ดูเต็ม ๆ เพราะที่พูดมานี้ก็พูดแบบย่อ ๆ แล้วก็ปิดท้ายด้วยเทศน์ของหลวงพ่อพุทธทาส เขาเอาไมโครโฟนที่ท่านเคยใช้ที่สวนโมกข์นี้มาตั้งไว้บนเวที หลายคนบอกว่า เห็นไมโครโฟนแล้วมันให้ความรู้สึกมากเลย เหมือนกับว่าท่านกำลังมาพูด
ที่ท่านพูด มีตอนหนึ่งท่านบอกว่า การได้บวชเป็นโชคดีนะ ที่ทำให้ชีวิตชาติหนึ่งมันมีค่าอย่างที่สุด ผมโชคดีมากเลยที่ได้บวช ถ้าไม่ได้บวช ก็คงจะไม่มีโอกาสได้ทำให้ชีวิตมีคุณค่าอย่างที่ได้บวช
ท่านก็พูดถึงว่าการบวชนี้มันมีคุณค่าต่อท่านอย่างไรบ้าง ทำให้ท่านได้เรียนรู้ในหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่ได้รู้ และทำให้ทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นได้อย่างที่ฆราวาสทำไม่ได้ ก็พูดประมาณ 7 นาที 8 นาที เป็นการปิดท้าย หลายคนบอกว่าเป็นการปิดท้ายที่น่าประทับใจมาก เพราะทำให้เกิดศรัทธาในการทำความดี ถึงแม้จะไม่ได้เป็นพระแต่ว่าก็เกิดศรัทธาในการฝึกฝนตน
งานนี้ก็ต้องเรียกว่าต้องให้เครดิตหลายคน ทีมสวนโมกข์ รวมทั้งพิธีกร พิธีกรนี้คือเม้งนะ เม้งชูใจ แกทำงานหนักมากในการตระเตรียมผู้ที่จะมาขึ้นเวที แล้วก็ตัวเองนี้พอถึงเวลาก็มาเป็นพิธีกรเอง สร้างบรรยากาศให้ผ่อนคลาย แล้วก็ย้ำพระทุกรูปว่า ไม่ต้องเทศน์นะ อย่าเทศน์นะ เอาเรื่องของตัวเองนี้มาพูด เพราะพระเราขึ้นเวทีทีไร ก็อยากจะเทศน์ อยากจะสอน แต่ลืมพูดถึงเรื่องของตัวเองว่าต้องต่อสู้อย่างไร แล้วก็มีจุดอ่อนอย่างไร
ที่จริงทีมงานทั้งคณะเลยนะเขาทำงานหนักมาก แล้วทำให้กิจกรรมนี้คนที่ไปฟังเขาประทับใจกันมาก แต่ว่าเขาไม่ได้ถ่ายทอดสดทางไลฟ์ Facebook Live เพราะฉะนั้นใครที่อยากจะดูว่าอยากจะรู้ว่ารายการนี้เป็นอย่างไรก็ต้องรอคลิปที่เขาจะปล่อยออกมา แต่ก็คงจะความรู้สึกคงจะไม่เหมือนกับตอนที่ได้ไปอยู่ในเหตุการณ์จริง ๆ อันนี้ก็เล่าให้ฟังนะ เพราะว่าเป็นเรื่องที่มีสาระที่ควรจะเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นพระหรือโยมก็ตาม.