พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แสดงธรรมในงานบูชาคุณหลวงพ่อคำเขียนครั้งที่ 10 ที่วัดป่าสุคะโต เช้าวันที่ 23 สิงหาคม 2567
พวกเรามาที่วัดป่าสุคะโตหรือแม้แต่อยู่บ้าน เราตั้งใจทำสิ่งพิเศษเพื่ออะไร ก็เพื่อบูชาคุณของหลวงพ่อคำเขียน ทีนี้การบูชาคุณของเราจะมีความหมายได้ อย่างน้อยเราควรจะตอบตัวเองให้ได้เสียก่อนว่า หลวงพ่อคำเขียนมีบุญคุณอะไรกับเรา ในเมื่อจะบูชาคุณของหลวงพ่อ ก็ต้องรู้ว่าท่านมีบุญคุณอย่างไรกับเรา
หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า หลวงพ่อทำให้ชีวิตของเราดีขึ้นบ้างหรือเปล่า หรือว่าดีขึ้นอย่างไร บางคนอาจจะบอกว่า เมื่อได้รู้จักหลวงพ่อ รู้สึกว่าชีวิตดีขึ้น ที่เคยมีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจก็เบาบาง ที่เคยมีความเครียดหนักอกหนักใจก็ทุเลาลง มีความสบายใจมากขึ้นเมื่อได้อยู่ใกล้ท่าน
ก็ต้องถามต่อไปว่า ตอนที่หลวงพ่อยังอยู่กับเรา เรารู้สึกดีขึ้น แล้วตอนที่ท่านจากเราไป หรือเมื่อท่านจากเราไปแล้ว ท่านไม่ได้อยู่กับเราแล้ว เรารู้สึกดีขึ้นไหม ถ้าเราตอบว่าพอหลวงพ่อไม่อยู่แล้ว รู้สึกเคว้งคว้าง ไม่มีที่พึ่ง ก็แสดงว่า เรายังได้ประโยชน์จากหลวงพ่อน้อย ก็คือมองว่าท่านเป็นที่พึ่งทางใจ ที่พึ่งทางใจนี่ก็ดีนะ แต่ว่ามันจะดีก็เฉพาะตอนที่ท่านยังอยู่กับเรา พอท่านจากไปแล้ว ก็รู้สึกเหมือนกับคนขาดที่พึ่ง เคว้งคว้าง ไม่สามารถที่จะไปต่อ หรือว่าไม่มีหลักในการดำเนินชีวิต
หลวงพ่อคงไม่ต้องการให้เรานับถือท่าน ปฏิบัติกับท่านเหมือนกับว่าเป็นเพียงแค่ที่พึ่งของชีวิต เพราะนั่นจะทำให้เราต้องพึ่งพาท่านไปตลอด แต่ท่านไม่สามารถจะอยู่กับเราไปได้ตลอด อย่างน้อยก็ด้วยสังขารร่างกายที่มีอยู่ เมื่อเรานับถือหลวงพ่อเป็นครูบาอาจารย์ ชีวิตของเราควรจะดีขึ้น
ดีขึ้นในที่นี้ไม่ได้หมายความว่ามีเงินมีทองมากขึ้น มีชื่อเสียง มีความสำเร็จเป็นที่รู้จักกว้างขวางมากขึ้น ดีขึ้นในที่นี้หมายความว่า ชีวิตเรามีความเห็นแก่ตัวน้อยลง มีความรู้สึกตัวมากขึ้น มีความทุกข์เบาบาง ปล่อยวางความทุกข์ออกไปจากใจได้เร็วขึ้น มีความสดชื่นแจ่มใส มีความเอื้อเฟื้อเมตตากรุณาต่อผู้คน ไม่เอาตนเป็นใหญ่
มีหลายคนนะที่ชีวิตไม่ได้ดีขึ้นเท่าไรเลย ไม่ใช่เฉพาะเมื่อหลวงพ่อจากไป แต่แม้กระทั่งตอนที่ท่านมีชีวิตอยู่ ชีวิตก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในด้านของจิตใจ บางคนจะบอกว่า โอ๊ย ชอบฟังธรรมหลวงพ่อ ฟังธรรมะสดๆ จากท่านก็บ่อย ฟังธรรมะจากเทปจากซีดีก็เป็นประจำ แต่การที่ฟังธรรมะบ่อยๆ แม้จะเป็นของหลวงพ่อ ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าชีวิตจะดีขึ้น ถ้าเราไม่เอาธรรมะของท่านมาปฏิบัติ
การชอบฟังธรรมะของหลวงพ่อนี่ จริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องยาก หลายคนฟังธรรมะของหลวงพ่อเพราะถูกใจ เพราะชอบใจ แต่ว่าพอจะลงมือปฏิบัติ กลับพบว่าไม่ชอบ ฟังธรรมกับนำธรรมะไปปฏิบัตินี่มันต่างกันนะ หลายคนชอบฟังธรรมเพราะว่าธรรมะของหลวงพ่อมันกล่อมใจ สบาย ก็เลยชอบใจ การฟังธรรมะของหลวงพ่อเพราะเห็นว่าชอบใจ ถูกใจนี่ ยังไม่ใช่เป็นเรื่องที่ดีนะ เพราะเกิดธรรมะของท่านบางตอนหรือธรรมะของครูบาอาจารย์บางท่านไม่ถูกใจ ก็ไม่ฟัง
เช่นเดียวกัน พอถึงเวลาปฏิบัติธรรม หลายคนอาจจะพบว่ามันไม่ถูกใจ ทำแล้วเบื่อ ทำแล้วง่วง ไม่เหมือนฟังธรรม มีธรรมะ มีเสียงหลวงพ่อเป็นเครื่องกล่อมใจ แต่พอปฏิบัติธรรมคนเดียว ไม่มีอะไรเป็นเครื่องกล่อมใจ มันมีความเบื่อ มันมีสิ่งรบกวนจิตใจหลายอย่าง
และที่สำคัญก็คือว่า พอเราลงมือปฏิบัติ เรากำลังทวนกระแสความเคยชิน ความเคยชินที่อยากจะใช้เวลาว่างในการทำโน่นทำนี่ ไถโทรศัพท์มือถือ พูดคุยกับคน หาอะไรกิน แต่นี่ต้องมาเดินกลับไปกลับมา หรือไม่ก็นั่งสร้างจังหวะอยู่คนเดียว มันไม่ใช่ความเคยชินของเรา คนเราทำอะไรที่ทวนกระแสกับความเคยชิน มันยากทั้งนั้นแหละ มันจะไม่ใช่เป็นเรื่องที่ถูกใจชอบใจ
แล้วไม่ใช่แค่ทวนกระแสความเคยชินนะ หรือทวนนิสัยความเคยชินเดิมๆ แต่มันยังทวนกิเลสด้วย ไม่ใช่แค่ความอยากเสพ อยากหาอะไรทำ หาอะไรเสพเท่านั้น แต่ว่ารวมถึงความโกรธ ความหงุดหงิด หรือว่ากิเลสที่เราเรียกว่าตัวอัตตา เวลามีความโกรธเกิดขึ้น หรือเวลามีอัตตาครองใจนี่ มันทานยากนะ มันต้านยาก จะให้มาเห็นมารู้ ดูมันเฉยๆ นี่ ยากเหลือเกิน ถ้าไม่ทำตามความโกรธนี่ มันอัดอั้นตันใจเหลือประมาณ อยากจะตะโกนด่า แต่ว่าปฏิบัติธรรม มันไม่ควรทำ ควรจะดูมัน อย่างน้อยๆ ก็ไม่ปล่อยให้การกระทำและคำพูดของเราเป็นไปตามอำนาจความโกรธ
อัตตาก็เหมือนกัน พอมันเกิดขึ้น มันอยากจะโชว์ มันอยากจะแสดงออก เวลามีใครชมเราแล้วเราอยากจะอวด อยากจะโชว์ ถ้าเราบอกตัวเองว่า ก็ดูมันเฉยๆ อย่าไปทำตามอำนาจของมัน มันก็เหมือนกับอัดอั้นตันใจ อยากจะประกาศให้โลกรู้ หรือว่าอยากจะทำตามอำนาจของอัตตา ปรนเปรอมัน สนองมัน
การปฏิบัติธรรมจึงเป็นเรื่องที่หลายคนไม่ค่อยชอบ เป็นเรื่องที่ไม่ถูกใจ พอไม่ชอบ พอไม่ถูกใจ ก็เลยไม่ทำ แต่ที่ฟังธรรมหลวงพ่อก็เพราะว่าชอบใจ ถูกใจ เอาความชอบใจความถูกใจเป็นเกณฑ์ หรือเป็นหลัก เป็นแรงจูงใจในการทำสิ่งต่างๆ ซึ่งยังไม่ใช่เป็นเรื่องที่ดีเรื่องที่ปลอดภัย
เพราะอย่างที่บอก แม้จะชอบฟังธรรม แต่ชีวิตไม่เปลี่ยนเลย ยังโกรธเหมือนเดิม ยังหลงตัวลืมตน ยังข่มคนอื่น หรือว่ายังจู้จี้ขี้บ่น หรือยังเป็นคนที่เครียดเหมือนเดิม อันนี้มีเยอะ เพราะว่าเลือกทำแต่เฉพาะที่ชอบใจหรือถูกใจ อะไรที่ไม่ชอบใจไม่ถูกใจก็ไม่ทำ ทำแต่สิ่งที่ถูกใจ ซึ่งบางครั้งมันเป็นการถูกใจกิเลส
หลายคนนับถือหลวงพ่อ เพราะหลวงพ่อเป็นคนที่มีชื่อเสียง มีลูกศิษย์ลูกหาเยอะ พอนับถือแล้ว หรือพอไปบอกใครๆ ว่าเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อ อัตตามันพองโต อยากจะอวดคนนั้นคนนี้ว่าฉันเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อคำเขียน การทำเช่นนี้มันเป็นการทำเพื่อสนองอัตตา เพื่อปรนเปรออัตตา
แล้วเดี๋ยวนี้จะอวดอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีหลักฐาน เช่นรูปถ่าย บางทีอยากเจอหลวงพ่อ ไม่ได้อยากจะฟังธรรมอะไรเลย หรือไม่ใช่แค่เพราะสงบเย็นเวลาอยู่ใกล้ท่าน แต่อยากถ่ายรูป ได้ไปอวดคนนั้นคนนี้ว่าฉันมีบุญนะ ได้มากราบหลวงพ่อคำเขียน ก็เอารูปถ่ายไปอวด เพื่ออะไร เพื่อสนองอัตตา ปรนเปรออัตตาตัวเอง กลายเป็นสนองกิเลส
แทนที่จะลดกิเลส แทนที่เป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อแล้วกิเลสจะลดลง บางทีกิเลสมันเพิ่มขึ้นนะ เพราะว่าเอาหลวงพ่อมาใช้เพื่อการปรนเปรอกิเลส สนองกิเลส แล้วเดี๋ยวนี้มันก็มีวิธีการที่สนองกิเลสได้ง่าย โดยเฉพาะสนองอัตตา เพราะว่ามันมีเครื่องไม้เครื่องมือ มีช่องทางในการประกาศให้โลกรู้ว่า กูแน่ กูมีดี นอกเหนือจากกูหล่อ กูสวย กูเก่งแล้ว ยังมีว่ากูมีอาจารย์ที่ดีนะ อันนั้นไม่ใช่เป็นการปฏิบัติเพื่อลดละกิเลส
หลวงพ่อจะมีบุญคุณกับเราอย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อชีวิตเราดีขึ้น กิเลสเบาบาง ความทุกข์น้อยลง พบความสงบเย็นภายใน ไม่ไปขวนขวายหาความสุขจากการกิน ดื่ม เที่ยว เล่น ชอป จะดีขึ้นได้ก็ต้องเอาธรรมะของท่านไปปฏิบัติ แล้วท่านก็สอนไว้เยอะ
เราเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อคำเขียนมานาน เราเคยถามตัวเองหรือเปล่าว่า ท่านสอนอะไรเรา หรือธรรมะสำคัญๆ ของท่านคืออะไร แล้วเราเคยคิดที่จะเอาธรรมะที่ท่านสอนมาใช้นำทางชีวิตหรือเปล่า หลายคนรู้จักหลวงพ่อมานาน แต่พอถามว่าท่านสอนอะไร ธรรมะที่สำคัญของท่านคืออะไร ตอบไม่ได้นะ เพราะ 1. ไม่สังเกต 2. ไม่ได้ใคร่ครวญ
ที่จริงธรรมะของหลวงพ่อไม่ได้ถ่ายทอดมาจากการเทศน์ การสอน การพูดเท่านั้นนะ แต่ยังแสดงออกผ่านการกระทำและคำพูดด้วย อย่างที่เรามักจะพูดว่า ทำให้ดู อยู่ให้เห็น เย็นให้สัมผัสได้ ที่ท่านเทศน์ที่ท่านสอนก็เยอะมากนะ เป็นพันๆ กัณฑ์ แต่ว่าเรายังสัมผัสธรรมะของท่านได้ ไม่ใช่ด้วยหูแต่ด้วยตา
จากการที่ท่านทำให้ดู ท่านอยู่ให้เห็น บางเรื่องท่านก็ไม่ค่อยสอนนะ แต่ท่านทำให้ดู ใครมาด่าว่าท่าน ท่านก็สงบนิ่ง สมัยที่ท่านยังไม่ดัง ท่านทำงานช่วยเหลือชาวบ้าน ก็มีคนคิดจะหาประโยชน์ทั้งจากวัดหรือจากโครงการที่ท่านทำ ท่านไม่สนองประโยชน์เขา เขาก็โกรธ มาด่าว่าท่าน ท่านก็สงบนิ่ง แถมยังมีเมตตากับเขาเสียอีก จนกระทั่งเขาหรือคนเหล่านั้นแพ้ภัยตัวเอง
จนกระทั่งท่านดังแล้วนะ มีคนรู้จักเยอะ ก็ยังมีบางคนมาด่าว่าท่าน เคยไปเป็นล่ามให้กับหลวงพ่อคำเขียนที่อเมริกา แล้วได้มีโอกาสแวะวัดไทยแห่งหนึ่ง ก็มีโยมคนหนึ่งของวัดนั้นซึ่งเคยมีชื่อเสียง เป็นนักร้องชื่อดัง แต่ตอนหลังหันมาสนใจธรรมะ แกอ่านหนังสือของหลวงพ่อคำเขียนเล่มหนึ่งแล้วไม่พอใจ ติดใจประโยคทำนองว่า บางครั้งธรรมชาติสอนธรรมะได้ดีกว่าพระพุทธเจ้า แกโกรธมากเลยนะ หาว่าเป็นการลบหลู่พระพุทธเจ้า เปิดช่องให้ศาสนาอื่นมาเล่นงานศาสนาพุทธ บอกหลวงพ่อว่าไม่ถูกนะ
ที่จริงที่หลวงพ่อพูดมันมีความหมายลึกซึ้งนะ เพราะว่าพระอรหันต์หลายท่านก็ไม่ได้บรรลุธรรมจากการฟังธรรมของพระพุทธเจ้า แต่บรรลุธรรมจากการที่ได้สังเกตธรรมชาติ ใคร่ครวญธรรมชาติ เห็นพระไตรลักษณ์จากธรรมชาติ แล้วธรรมชาติที่หลวงพ่อพูดก็ยังหมายถึงธรรมชาติทางใจ ธรรมชาติทางจิตด้วย เช่น ความทุกข์
หลายคนบรรลุธรรมเพราะความทุกข์มันสอน ความทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะสูญเสียคนรัก เพราะความเจ็บความป่วยมันสอน สอนให้เห็นว่าเพราะยึดติดถือมั่นจึงทุกข์ ไม่ใช่เพราะแก่ ไม่ใช่เพราะป่วย ไม่ใช่เพราะสูญเสีย แต่เพราะไปยึดติดร่างกายนี้ ว่าเป็นเรา เป็นของเรา เป็นเพราะไปยึดติดลูกว่าเป็นของเรา ความทุกข์มันสอนให้ปล่อยให้วาง ก็เลยบรรลุธรรม
แต่หลวงพ่อท่านก็ไม่เสียเวลาโต้ตอบกับโยมคนนั้น เขาโกรธมาก ท่านก็ไม่เถียง ทั้งที่ความรู้ทางธรรมของท่านมีเยอะมีสูงกว่าเขา แต่ท่านไม่คิดว่าฉันเป็นอาจารย์กรรมฐาน ถูกพูดแบบนี้มันเสียหน้า ต้องเอาชนะให้ได้ ท่านไม่มีความรู้สึกเสียหน้าเลย ท่านก็ยอม จะให้แก้อย่างไร มันเป็นธรรมะที่สอนใจอาตมาได้ดีเลย
แล้วสิ่งนี้ท่านก็ไม่ได้พูดในคำบรรยาย แต่ท่านทำให้ดูว่าท่านมีความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ถือตัวว่าเป็นอาจารย์ ไม่ถือว่าเป็นพระ หมอนี่เป็นโยม ศีล 5 มันยังไม่ครบเลย มันจะมาสอนกูได้อย่างไร กูมีศีลตั้ง 227 ข้อ แถมเป็นอาจารย์กรรมฐาน รู้ดีกว่ามึงอีก ไม่มีความคิดแบบนั้นในจิตใจของท่านเลย ท่านมีแต่เมตตา เออ โยมจะให้แก้อย่างไร โยมคนนั้นทั้งที่ความรู้ทางธรรมก็ไม่มาก ก็พยายามแก้คำสอนของหลวงพ่อ ท่านก็ไม่ว่าอะไร
จริงๆ ท่านสอนเรา เป็นแบบอย่างให้เราดู ไม่ใช่เฉพาะในตอนมีชีวิตของท่าน ยามที่ท่านตายท่านก็สอนเราเหมือนกัน อย่างที่อาจารย์โนส(พระอาจารย์สุทธิศาสตร์ ปัญญาปทีโป)เล่าไว้เมื่อวานว่า ชีวิตและความตายของหลวงพ่อสอนเราได้เยอะเลย แม้กระทั่งในยามที่ท่านใกล้จะมรณภาพช่วงเวลานั้นเมื่อ 10 ปีที่แล้วเป็นช่วงที่วิกฤตมาก เพราะว่าก้อนมะเร็งที่ลำคอของท่านมันขยายตัว แล้วดันหลอดลมของท่านจนแทบจะปิดเลย
คนเราหายใจลำบาก มันทรมาน แต่ท่านนิ่งมาก ไม่กระสับกระส่ายเลย ไม่มีอาการตื่นตระหนก ท่านก็บอกให้ลูกศิษย์รู้ ลูกศิษย์ก็พยายามที่จะช่วยท่าน ช่วยขยายหลอดลม แต่ทำเท่าไรๆ หลอดลมก็ไม่ขยาย หายใจลำบากมาก จนกระทั่งท่านรู้ว่ามันไม่มีหวังแล้ว ไม่มีประโยชน์แล้ว ท่านยังตั้งสติเขียนข้อความใส่กระดาษว่า “พวกเรา ขอให้หลวงพ่อตาย”
แต่ละคำมีความหมายมาก ท่านเรียกลูกศิษย์ว่า “พวกเรา” เพราะท่านถือว่าเป็นกัลยาณมิตร และเมื่อถึงเวลาที่วิกฤต ท่านก็ขอนะ ขอลูกศิษย์ว่าให้ท่านตายเถอะ ท่านไม่ได้สั่ง แต่ท่านขอ จะเรียกว่าขออนุญาตก็ได้ ลูกศิษย์อนุญาตให้หลวงพ่อตายเถอะ ท่านสุภาพมาก อนุญาตให้หลวงพ่อตาย จะพูดอย่างนี้ได้ ตัวเองต้องอนุญาตให้ตัวเองตายก่อนนะ
คนเราไม่ค่อยยอมที่จะอนุญาตให้ตัวเองตาย ถึงเวลาที่ความตายใกล้เข้ามา ก็ต่อสู้ขัดขืน แต่หลวงพ่อ ก่อนที่ท่านจะขอให้ลูกศิษย์อนุญาตให้ท่านตายนี่ ท่านอนุญาตให้ตัวเองตายก่อนแล้ว หรืออนุญาตให้ร่างกายมันหยุดทำงาน เพราะร่างกายก็ไม่ใช่ของท่าน แต่เมื่อท่านมีหน้าที่ดูแล แล้วมันไปต่อไม่ไหว ก็อนุญาตให้มันหยุดทำงาน
คนเราจะอนุญาตให้ตัวเองตายได้ มันเป็นเรื่องใหญ่ อันนี้น่าจะเป็นบทเรียนให้กับเราว่า เมื่อถึงเวลาที่เราอยู่ในภาวะคับขันแบบนี้ หรือป่วยหนัก อนุญาตให้ตัวเองตายได้ แล้วถ้าอนุญาตให้ตัวเองตายได้ มันสงบมากนะ ถ้าจะทำนอกจากนั้นก็คือ ขอให้คนอื่นอนุญาตให้ตัวเองตายด้วย แต่ต้องอนุญาตให้ตัวเองตายก่อน ยอมรับความตายได้
อันนี้เป็นบทเรียนสำคัญที่คนที่นับถือท่านเป็นอาจารย์ น่าจะใส่ใจในการฝึกเอาไว้ เมื่อถึงเวลาก็อนุญาตให้ตัวเองตายได้ หรือเมื่อถึงเวลาก็อนุญาตให้ร่างกายนี้มันหมดลมได้ ไม่ต่อสู้ ไม่ขัดขืน ไม่พยายามยื้อชีวิต ไม่ใช่เรื่องง่ายนะ แต่ว่าควรจะฝึกและฝึกได้
แล้วจะฝึกอย่างนี้ได้ ต้องอนุญาตให้ตัวเองป่วยก่อน ความเจ็บความป่วยบางคนก็ไม่ชอบนะ แต่ถ้าเราลองอนุญาตให้มันเกิดขึ้น ยอมรับมันได้ ไม่โวยวาย ไม่ตีโพยตีพาย ไม่ถือมันเป็นศัตรู เพราะยิ่งทำอย่างนั้นยิ่งทุกข์ อนุญาตให้ตัวเองป่วยได้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อย่างน้อยถ้าเราเริ่มจากการอนุญาตให้ตัวเองแก่ได้ ถึงเวลามันแก่ แล้วมันก็แก่ตลอดเวลา ผมหงอก หนังเหี่ยว เรี่ยวแรงลดลง ก็อย่าไปโกรธ อย่าไปทุกข์ อย่าไปหงุดหงิด อนุญาตให้ตัวเองแก่ได้ อนุญาตให้ผมหงอกได้ อนุญาตให้ผิวมันเหี่ยวได้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ว่าควรจะฝึก
แล้วถ้ายังคิดว่าการอนุญาตให้ตัวเองแก่ ยังทำได้ยาก ก็ลองฝึกอนุญาตอย่างอื่นไปก่อน เช่น อนุญาตให้คนอื่นนินทาเราได้ อนุญาตให้คนอื่นต่อว่าด่าทอเราได้ ใครจะนินทาเรา ใครจะต่อว่าเรา ก็ไม่สนใจ ไม่พยายามปิดปากเขา ไม่พยายามที่จะเอาชนะเขา หรือไม่พยายามแก้ตัวด้วยซ้ำ คนเรานี่แค่เอาชนะเรื่องนี้ก็ยากแล้ว จะอนุญาตให้ทำเรื่องนี้ก็ยากแล้ว แล้วพออนุญาตให้คนอื่นเขาว่าเราได้ เป็นเรื่องยาก ทำไม่ได้ ก็เลยยากที่จะอนุญาตให้ตัวเองแก่ได้ แล้วพออนุญาตให้ตัวเองแก่ ทำไม่ได้ จะไปอนุญาตให้ตัวเองป่วยนั้นก็ยาก
จะอนุญาตให้คนอื่นเขาต่อว่าด่าทอเราได้ ก็ต้องอนุญาตให้มีเสียงดังมารบกวนโสตประสาทได้ สังเกตไหม เวลามีเสียงดังรบกวนโสตประสาทเรา หรือรบกวนการฟังธรรมของเรา มีเสียงโทรศัพท์ดังในห้องในศาลานี้ เราไม่พอใจ พยายามที่จะไปจัดการกับเสียงหรือต้นเสียงนั้น
ที่หลวงพ่อบอกว่าให้รู้ซื่อๆ รู้เฉยๆ นี่ เอามาทำได้เลยนะ เพราะถ้าเราทำเป็นแล้ว เราก็จะอนุญาตให้มีเสียงดังกระทบหูได้ ต่อไปเราก็จะอนุญาตให้มีเสียงในหัวได้ ในหัวเรามันมีเสียงดังอยู่เรื่อยๆ หลายคนทนไม่ได้ พยายามไปกดข่มมัน พยายามไปปิดเสียงนั้น จัดการกับเสียงนั้น ยิ่งทุกข์เข้าไปใหญ่ อนุญาตให้ความหงุดหงิดเกิดขึ้นในใจได้ อนุญาตให้มีความคิดฟุ้งซ่านเกิดขึ้นในใจได้ อนุญาตให้ความเบื่อเกิดขึ้นได้ อนุญาตให้ความโกรธเกิดขึ้นได้
นี่ก็คือบทเรียนหนึ่งที่หลวงพ่อสอน แต่ท่านไม่ได้ใช้คำนี้ ท่านใช้อย่างที่อาจารย์ตุ้มบอก “ไม่เป็นไร อะไรก็ได้ ช่างหัวมันเถอะ” อันนี้ไม่ใช่ใช้กับเฉพาะคนหรือเสียงที่มากระทบหูเรานะ แต่ควรใช้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในใจ ในหัวของเราด้วย ยอมให้มันเกิดขึ้นได้ อนุญาตให้มันเกิดขึ้นได้ เพราะว่าใจก็เหมือนกับศาลาหลังนี้ ใครจะมาใช้ ใครจะมาพัก ใครจะมานั่ง ใครจะมาอาศัยก็ได้ จะเป็นคนรวย จะเป็นคนจน จะเป็นคนติดยา จะเป็นพระ ก็สามารถจะมานั่งบนศาลานี้ได้ เพราะมันไม่ใช่ของเรา เราจะไปสั่งให้คนนี้ห้ามใช้ คนโน้นใช้ได้ ไม่ได้ ศาลานี้หรือถ้าพูดให้ชัดคือที่พักริมทาง มันไม่ใช่ของเรา
เพราะฉะนั้นใครจะมาพัก ใครจะมาใช้ประโยชน์ เราก็ยอมรับ ก็แค่ดูเฉยๆ ใจมันไม่ใช่ของเรา เพราะฉะนั้น อะไรเกิดขึ้นก็ยอมให้มันแสดงตัวออกมา เราก็แค่ดูมัน อันนี้เรียกว่ารู้ซื่อๆ ไม่ไปขับไล่ ไม่ไปไสส่ง
แล้วยิ่งดีกว่าก็นั้นคือว่า หาประโยชน์จากสิ่งที่เกิดขึ้น จะเป็นความโกรธ ความหลง ความทุกข์ ความหงุดหงิดก็มีประโยชน์ หลวงพ่อบอกว่ามันเป็นปัจจัยให้เกิดความรู้สึกตัว อุปกรณ์สอนให้เกิดสติที่รวดเร็วฉับไว ถ้าเรารู้จักอนุญาตให้สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นได้ในใจเรา ต่อไปมีอะไรเกิดขึ้นรอบตัวเรา เราก็อนุญาตให้มันเกิดขึ้นได้ ไม่คาดหวังว่าต้องเป็นอย่างอื่น ยอมรับได้ ที่ไม่ดีก็แก้ไขกันไป
แต่ว่าขณะที่มันเกิดขึ้นก็ยอมรับว่ามันเกิดขึ้นแล้ว ป่วยการที่จะโวยวายตีโพยตีพาย ต่อไปเมื่อถึงเวลาแก่ก็ยอมรับได้ อนุญาตให้มันเกิดขึ้นได้ ถึงเวลาเจ็บป่วยก็ยอมรับได้ อนุญาตให้มันเกิดขึ้นได้กับกายนี้ แต่ใจไม่ทุกข์ด้วย และนั่นแหละ ถึงเวลาที่เราจะตาย เราก็อนุญาตให้ความตายเกิดขึ้นกับเรา หรืออนุญาตให้ร่างกายนี้มันหมดลมได้ ความตายจะไม่ใช่เรื่องน่ากลัว
ถ้าเรานับถือหลวงพ่อเป็นครูบาอาจารย์ จำเป็นมากที่เราจะต้องประพฤติและปฏิบัติตามคำสอนของท่าน ประพฤติธรรม ปฏิบัติธรรมตามรอยท่าน ไม่ใช่เอาท่านเป็นแค่ที่พึ่งทางใจ ซึ่งตอนนี้ก็ไม่อาจจะเป็นที่พึ่งทางใจเราได้เท่าไรแล้ว แต่ท่านจะเป็นแสงสว่างนำทางชีวิตของเราได้
ที่จริงท่านไม่ใช่แสงสว่างนำทางชีวิตนะ ท่านเดินนำทางเราไปเลย หน้าที่ของเราก็คือเดินตามท่าน ประพฤติธรรมและปฏิบัติธรรมตามรอยท่าน นี่แหละที่เรียกว่าเป็นการบูชาคุณหลวงพ่ออย่างแท้จริง.