พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 12 สิงหาคม 2567
วันนี้เป็นวันคล้ายวันเกิดของหลวงพ่อคำเขียน พวกเราซึ่งเป็นลูกศิษย์และผู้ที่เคารพนับถือหลวงพ่อก็เลยจัดงานบูชาคุณหลวงพ่อ บูชาคุณด้วยการร่วมกันปลูกป่าที่ภูหลง
ทำไมปลูกป่า ก็เพราะว่าหลวงพ่อท่านเป็นผู้ที่รักป่า ท่านเคยพูดว่า ชีวิตของท่านที่เหลืออยู่ อันนี้ท่านพูดเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วว่า ชีวิตของท่านที่เหลืออยู่ ครึ่งหนึ่งก็จะเจียดให้กับป่า อีกครึ่งหนึ่งก็เจียดให้กับคน
เจียดให้กับคน ก็หมายถึงการช่วยเหลือ สงเคราะห์ชาวบ้าน แต่ก่อนก็เป็นงานด้านสงเคราะห์ความเป็นอยู่ ให้มีอยู่มีกิน ตอนหลังท่านก็มาเน้นเรื่องการเสริมสร้างเผยแผ่ธรรมะเพื่อจะได้แก้ทุกข์ของตน จะได้พบกับสันติสุขภายใน นั่นเป็นเรื่องของคน
แต่เรื่องของป่าที่ท่านบอกว่า ชีวิตท่านที่เหลือครึ่งหนึ่งจะเจียดให้กับป่า ก็หมายถึงการอนุรักษ์ป่า รักษาป่า รวมทั้งการฟื้นฟูป่า ซึ่งก็หมายถึงการปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่ป่าให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่วัดป่าสุคะโตหรือที่วัดป่ามหาวัน รวมทั้งการชักชวนคนให้ช่วยกันอนุรักษ์ธรรมชาติ อนุรักษ์ป่า ด้วยการจัดธรรมยาตรา
อันนี้เมื่อหลวงพ่อท่านเห็นคุณค่าของป่า และท่านก็อุทิศชีวิตนี้ให้กับการรักษาป่าจนมีวัดป่าสุคะโต มีวัดป่ามหาวัน เมื่อท่านจากไป เราก็เลยจัดงานบูชาคุณเหมือนกับเป็นอาจาริยบูชาด้วยการไปช่วยกันปลูกป่า ที่จริงเรื่องปลูกป่านี้ก็ทำมาก่อนที่ท่านจะมรณภาพแล้ว แต่ตอนหลังก็นัดหมายกันว่าวันที่ 12 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดท่าน ก็จะร่วมกันไปทำกิจที่ว่านี้
หลวงพ่อท่านเห็นความสำคัญและความสัมพันธ์ระหว่างธรรมะกับธรรมชาติมาก ท่านเล่าว่าตอนที่ท่านยังไม่ค่อยได้สนใจธรรมะ ท่านก็เหมือนกับชาวนาทั่ว ๆ ไป เห็นต้นไม้ก็นึกอยากจะโค่น ไม่ได้มีความรู้สึกผูกพันอะไร แต่ตอนหลังได้มาปฏิบัติธรรม ได้มาเห็นธรรม ก็เห็นทะลุไปถึงธรรมชาติว่ามันมีความสำคัญมาก
ธรรมะกับธรรมชาติ ไม่ได้แยกจากกัน เมื่อรักธรรมก็พลอยรักธรรมชาติ พลอยรักป่าไปด้วย แล้วท่านก็เลยมาอยู่ป่าเป็นหลัก แม้ว่าจะมีกิจสอนผู้คนตามสถานที่ต่าง ๆ ตามในเมือง เช่น กรุงเทพ หาดใหญ่ ขอนแก่น แต่ว่าพอเสร็จธุระท่านก็กลับมาที่วัดป่าสุคะโต ไม่ใช่แค่มาพัก แต่ดูแลสิงสาราสัตว์ ดูแลต้นไม้ ดูแลป่า
เพราะเวลาใดที่หลวงพ่อไม่อยู่ ป่าก็มักจะถูกคนคุกคาม สัตว์ก็ถูกรังแก พอท่านกลับมา ท่านก็ต้องมาช่วยปกป้องทั้งป่า ทั้งสิงสาราสัตว์ รวมทั้งตรงไหนที่มีปัญหา ป่ากลายเป็นเสื่อมโทรมไปเพราะโดนไฟไหม้ ท่านก็ปลูกต้นไม้เข้าไปเสริม
ท่านบอกว่างานที่ท่านทำเกี่ยวกับป่านี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะต้องการรับผิดชอบกับป่า เป็นการรับผิดชอบต่อส่วนรวมเพราะป่ามีคุณค่า อีกส่วนหนึ่งเพราะท่านเห็นคุณค่าของป่า ท่านบอกว่าป่านี้มันเป็นที่ที่เหมาะสมสำหรับการทำกิจอย่างหนึ่งที่ทำได้ยาก นั่นคือการศึกษาธรรม การปฏิบัติธรรม
การศึกษาธรรม การปฏิบัติธรรม ถ้าทำในป่าจะได้ผลสำเร็จดีกว่าทำในเมือง ทำในชุมชน แล้วที่จริงแม้กระทั่งเวลามีปัญหาชีวิตขึ้นมา ท่านก็พบว่าคำตอบของชีวิตที่สำคัญ ๆ ก็ตัวท่านเองก็ได้จากการมาอยู่ป่า ป่าได้ให้คำตอบเกี่ยวกับปัญหาชีวิตหลายอย่าง
สำหรับท่าน ท่านบอกว่าคำตอบเกี่ยวกับปัญหาชีวิตหลายอย่าง ท่านไม่ใช่ว่าได้มาจากการอยู่ในกุฏิ แต่ว่าเดินในป่า แล้วก็ไปอยู่ท่ามกลางต้นไม้ธรรมชาติ ก็ทำให้พบคำตอบเกี่ยวกับปัญหาชีวิตหลายอย่าง ซึ่งเป็นคำตอบที่ลุ่มลึกและถูกต้องด้วย แล้วท่านก็เห็นว่าการที่มีป่า มันเป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้คนมาก ใครที่มีปัญหาชีวิต เวลามาอยู่ป่าก็จะเห็นอะไรชัดเจนกว่าอยู่ที่บ้าน
เวลามีความกังวลอะไรขึ้นมา พอมาอยู่ป่าสัก 3 วัน 7 วัน ความกังวลวิตกลดน้อยลง ก็จะเห็นคำตอบหรือเห็นอะไรชัดเจนขึ้น ท่านเปรียบเหมือนกับน้ำ ถ้าน้ำอยู่นิ่ง ๆ มันก็จะใส เราก็สามารถจะเห็นเงาในน้ำ เห็นหอย เห็นปู เห็นปลาในน้ำได้ ปัญหาชีวิตที่สร้างความหนักอกหนักใจ พอได้มาอยู่ป่า แค่มาอยู่ป่าก็สามารถจะพบคำตอบได้ เพราะว่าความกังวลความวิตกที่มันเคยเคลือบคลุมจิตใจ มันก็คลี่คลาย เหมือนน้ำที่เริ่มใสเพราะว่านิ่ง ก็จะเห็นอะไรได้ชัดเจน
ยิ่งถ้าอาศัยป่านี้เป็นที่เจริญสติ ปฏิบัติธรรม เป็นสถานที่สำหรับการเข้ามาดูกายดูใจซึ่งเป็นเหมือนตำรา ท่านเคยเปรียบเทียบว่าการปฏิบัติธรรมก็คือการศึกษาตำราจากกายและใจ สติเป็นนักศึกษา กายและใจเป็นตำรา ก็จะทำให้ได้ความรู้ เป็นความรู้ที่ไม่ได้เกิดจากการคิดเอา แต่เป็นความรู้ที่เกิดจากการเห็น ความจริง หรือ สัจธรรม ที่มันแสดงออกที่กายกับใจ
ไม่ใช่ว่าจะต้องเห็นจากความสงบ ความปีติ ความปราโมทย์ แม้กระทั่งเวลาที่ใจมันมีความขุ่นมัว มีความเครียด มีความวิตก มีความโกรธ ถ้าหากว่าใช้สติมาดูอารมณ์เหล่านี้ หรือดูกายและใจ มันก็ได้ความรู้ ความรู้หรือสัจธรรมที่อารมณ์อกุศลมันแสดงให้เราเห็น เช่น ความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน
แต่ก่อนก็เผลอคิดว่าความโกรธเป็นเรา ความเศร้าเป็นเรา ความปวดเป็นเรา แต่พอเอาสติมาดู ก็พบว่าความปวดก็ไม่ใช่เรา ความโกรธก็ไม่ใช่เรา ความเจ็บความปวดก็ไม่ใช่เรา
หรือแม้กระทั่งความพิการอย่างที่อาจารย์สมใจ(วัดป่าสุคะโต)ได้พูดเมื่อเช้า อาจารย์กำพลซึ่งพิการมา 16 ปี ตั้งแต่คอลงมา แล้วมีความทุกข์มาก ไม่ใช่ทุกข์ทางกายอย่างเดียว ทุกข์ทางใจด้วย แต่พอได้เจริญสติ มีสติมาดูกายดูใจ แล้วก็พบความจริงว่าที่จริงแล้ว ที่ว่าพิการมันคือกายพิการ ใจไม่ได้พิการด้วย ไม่มีกูที่พิการ มีแต่กายที่พิการ แต่ว่าไปหลงคิดว่าหรือหลงสำคัญมั่นหมายว่ากูพิการ ใจก็เลยทุกข์
แต่พอเห็นความจริงว่าที่จริงแล้วความพิการเป็นของใจ ไม่ใช่เราพิการ ความพิการไม่ใช่เรา ความพิการไม่ใช่ของเรา จิตก็ออกจากความทุกข์เลย มันเป็นความจริงที่เห็นได้จากกายที่พิการ และเราก็ยังสามารถจะเห็นได้จากความเจ็บ ความปวด ความโกรธ ความเครียด หรือความทุกข์ อันนี้คือสิ่งที่สามารถจะปรากฏแก่ใจของเราได้ชัดเจน เมื่อเราอยู่ท่ามกลางธรรมชาติหรืออยู่ท่ามกลางป่า
ฉะนั้นการมีป่า การรักษาป่าไว้ มันก็ช่วยส่งเสริมให้คนเราไม่เพียงแต่มีโอกาสเห็นคำตอบของปัญหาชีวิตเท่านั้น แต่ยังสามารถจะเห็นสัจธรรมความจริงของกายและใจ ซึ่งช่วยทำให้ออกจากทุกข์ที่เคยเกาะกุมจิตใจได้ ความทุกข์มี แต่ว่าตัวผู้ทุกข์ไม่มี มีความทุกข์ แต่ไม่มีกูผู้ทุกข์
อันนี้คือสิ่งที่เราสามารถจะเห็นได้จากการเจริญสติ จากการทำกรรมฐาน โดยเฉพาะวิปัสสนากรรมฐานซึ่งเห็นได้ง่าย เมื่อเราได้ปฏิบัติท่ามกลางธรรมชาติ ที่จริงเวลาเราไปปลูกป่า ปลูกต้นไม้ มันไม่เพียงแต่สร้างสิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูลต่อการปฏิบัติธรรม ต่อการทำกรรมฐานเท่านั้น การที่เราปลูกต้นไม้ ก็เป็นการปฏิบัติธรรมในตัว เป็นการเจริญสติควบคู่กันไปด้วย
ฉะนั้นถ้าเราวางใจเป็น เราก็ไม่ได้ปลูกแต่ต้นไม้ แต่เรายังปลูกสติในใจเราด้วย พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า เราไม่ได้ปลูกต้นแค่ต้นไม้ที่เราถือในมือ แต่ว่ายังปลูกต้นไม้ที่มันอยู่ในใจเราด้วย ฉะนั้นถ้าหากว่าเราปลูกป่าเป็นหรือปลูกต้นไม้เป็น มันก็เป็นการปลูกสติ
แล้วที่จริงแล้ว การฝึกสติหรือการฝึกจิต มันก็ไม่ต่างจากการปลูกต้นไม้หรือบำรุงต้นไม้ ในแง่ที่ว่าเวลาเราปลูกต้นไม้ เราไม่สามารถจะคาดหวังให้ต้นไม้เป็นไปดั่งใจเราได้ ไม่เหมือนกับเวลาเราต่อตู้ ต่อเก้าอี้หรือโต๊ะ เราสามารถจะต่อให้เป็นไปดั่งใจเราได้ถ้าเกิดว่าเรามีความสามารถในการประกอบ ถ้าเราวางแผนดี นึกภาพในใจว่าจะต่อตู้หรือว่าเก้าอี้อย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็นไปอย่างที่เราคาดหวังถ้าเรามีฝีมือ
แต่ต้นไม้มันไม่ใช่อย่างนั้น มันไม่ได้อยู่ที่ความตั้งใจของเราล้วน ๆ อย่างเดียว มันไม่ได้เป็นไปดั่งใจเรา เวลาเราปลูกต้นไม้ เราก็ทำได้อย่างมากก็คือ การรดน้ำ พรวนดิน ให้ปุ๋ย หรือว่าบังแดด ที่เหลือเป็นเรื่องของต้นไม้ ซึ่งเขาจะเติบโตอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์ของต้นไม้นั้น และขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยต่าง ๆ มากมาย ไม่สามารถจะควบคุมบังคับบัญชาตามใจเราได้
เราปลูกกุหลาบ อยากจะให้กุหลาบไม่มีหนาม กุหลาบก็ยังมีหนามอยู่นั่นแหละถ้าหากว่าเป็นพันธุ์ที่มีหนาม เราอยากให้ดอกมันเป็นสีม่วง แต่ว่าสีของมันยังไงก็ออกมาเป็นสีชมพูบ้าง สีขาวบ้าง สีแดงบ้าง ถ้าพันธุ์มันเป็นอย่างนั้น
ไม่เหมือนกับต่อเก้าอี้ ต่อโต๊ะ ต่อเฟอร์นิเจอร์ ถ้าเรามีอุปกรณ์พร้อม มีความสามารถ จะต่อให้เป็นแบบหลุยส์ก็ได้ จะให้เป็นแบบโมเดิร์น หรือโพสต์โมเดิร์นก็ได้ อยู่ที่การออกแบบของเรา อยู่ที่จินตนาการของเรา อยู่ที่เราเป็นตัวตั้ง
แต่เวลาเราปลูกต้นไม้ มันอยู่ที่ต้นไม้ เราไม่สามารถจะปลูกต้นไม้ออกมาเป๊ะ ๆ อย่างที่เราต้องการ ไม่เหมือนกับเราต่อโต๊ะ ต่อเก้าอี้ ต่อตู้ จะให้มันสูงให้มันต่ำอย่างไรก็ได้ ออกมาเป๊ะเลยอย่างที่เราวางแผนเอาไว้ โต๊ะ เก้าอี้ ตู้ เป็นอย่างนั้น แต่ว่าต้นไม้เราไม่สามารถจะบังคับให้มันเป็นไปดั่งใจแบบชนิดเป๊ะ ๆ เลยได้ แล้วต้องอาศัยการรอคอยด้วย
เฟอร์นิเจอร์ชนิดใด เราเร่งจะเสร็จให้เร็วหรือช้าอยู่ที่เรา ถ้าเราขยัน เราก็ทำให้เสร็จเร็ว หรือถ้าเรามีลูกมือเยอะมันก็เสร็จเร็ว แต่ต้นไม้มันไม่ได้อยู่ที่ความปรารถนาของเรา อยากให้ออกดอกเร็ว ๆ อยากให้ออกผลเร็ว ๆ นั่นเป็นความคิดของเรา ต้นไม้อาจจะไม่ร่วมมือด้วยก็ได้ มันอยู่ที่เหตุปัจจัยที่เราสร้าง อยู่ที่ดินฟ้าอากาศ อยู่ที่ชนิดพันธุ์
อยากให้ทุเรียนออกมาเยอะ ๆ เร็ว ๆ หรือว่าตอนที่เริ่มลงมือปลูกก็อยากให้มันโตเร็ว ๆ เราก็ทำได้อย่างมาก คือ ใส่ปุ๋ย รดน้ำ พรวนดิน แต่มันจะโตเร็ว ออกดอกออกผลเร็วหรือไม่ อยู่ที่ต้นไม้ ไม่ได้อยู่ที่เรา
การฝึกจิตก็เหมือนกัน การฝึกจิต จิตนี้ไม่ใช่ว่าจะอยู่ในอำนาจของเรา เวลาเราฝึกจิต เราอยากให้จิตสงบ ไม่คิดอะไร เราทำได้ไหม มันทำไม่ได้ เวลาเราทำวัตรสวดมนต์ อยากให้จิตนิ่ง ไม่คิดอะไรเลย อยู่กับการทำวัตร อยู่กับการสวดมนต์ หรือแม้แต่เวลาฟังธรรม ก็อยากให้จิตมีสมาธิกับการฟังธรรม เราคิดได้ เราปรารถนาได้ แต่ว่าใจไม่ได้อยู่ในอำนาจของเรา แต่เราสามารถจะกล่อมเกลาได้ ด้วยการฝึกบ่อย ๆ ด้วยการปฏิบัติบ่อย ๆ
ก็เหมือนกับต้นไม้ เราสามารถจะกระตุ้นให้เขาโตเร็ว ๆ ได้ ถ้าเรารดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย แล้วก็อาจจะใส่ตัวช่วยบ้าง แต่ว่าถ้าเร่งเกินไปมันก็ตายได้เหมือนกัน ใจเราก็เหมือนกัน เราจะไปเร่งให้มันเกิดการบรรลุธรรมเร็ว ๆ มันไม่ได้
อย่างพระโสณโกฬิวิสะ ท่านมาบวชแล้วก็ต้องการปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ ก็ทำความเพียรแบบเรียกว่าแทบไม่ได้หลับไม่ได้นอนเลย เดินจงกรมเป็นหลัก แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่บรรลุธรรมหรือเห็นความก้าวหน้า ขนาดว่าเท้าแตกเพราะว่าท่านเป็นประเภทสุขุมาลชาติ ผิวบอบบาง เดินจงกรมนาน ๆ เท้าแตก เลือดนี่ติดพื้นเป็นทางเลย เดินจงกรมไม่ได้ก็คลานเอา คลานศอก คลานเข่า ก็ยังไม่บรรลุธรรม
อันนี้ก็เป็นเพราะว่ามันไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเร่งของเรา ถึงแม้จะเร่งอย่างไร แต่ถ้าหากว่าใจไม่อยู่ในสภาวะที่สมดุล เช่น คิดจะเอา จะเอาให้ได้ ทำด้วยอาการหน้าดำคร่ำเคร่ง มันกลับผลตรงข้าม ก็คือยิ่งเนิ่นช้า ถ้าปลูกต้นไม้ก็เหมือนกัน ไปเร่งมาก ๆ เข้า ต้นไม้บางทียิ่งโตช้า ออกดอกออกผลช้า
หลายคนเวลาปฏิบัติธรรมไม่ได้นึกว่าตัวเองนี้กำลังปลูกต้นไม้ นึกว่าตัวเองกำลังสร้างบ้าน หรือว่าต่อเก้าอี้ ต่อตู้ คือคิดว่าตัวเองเป็นช่างไม้ ช่างไม้สามารถที่จะต่ออะไรต่ออะไรได้ตามความต้องการ สามารถจะบงการให้เป็นไปดั่งใจ จะให้ตู้ใหญ่ ตู้เล็ก ตู้สูง เก้าอี้หลุยส์ หรือว่าเก้าอี้สมัยใหม่ ทำได้หมด ขอให้มีความสามารถและจินตนาการ อยู่ที่ตัวเรา
หลายคนปฏิบัติธรรมทำกับจิตแบบนั้น เหมือนกับไม้ที่จะต่อให้เป็นรูปร่างอะไรก็ได้ แต่เราต้องเปลี่ยนใหม่ว่าเวลาเราฝึกจิต ให้เราคิดว่าเหมือนกับเรากำลังปลูกต้นไม้ เราไม่สามารถจะบังคับให้ต้นไม้เป็นไปตามความปรารถนาของเราได้ เราทำได้ก็เพียงแค่ว่าบำรุง ดูแล รดน้ำ ใส่ปุ๋ย พรวนดิน เท่านั้นเอง ส่วนเขาจะเติบโตอย่างไรมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับความตั้งใจของเราอย่างเดียว มันขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยหลายอย่าง
การฝึกจิต แม้จะเพียรขนาดไหน แต่ถ้าเพียรด้วยการวางใจที่ผิด เช่น ไปมุ่งบังคับจิต จะเอาให้ได้ จะเอาให้ได้ ไม่ให้คิด จะกดข่มจิตไม่ให้คิด ก็กลับกลายเป็นเนิ่นช้า เพราะจิตก็ยิ่งอาละวาด ยิ่งพยศ มันเหมือนม้าป่า ยิ่งบังคับมัน มันก็ยิ่งพยศ บางทีเราก็ต้องใช้วิธีที่นุ่มนวลหรือว่าใช้วิธีที่ค่อย ๆ กล่อม ค่อย ๆ เกลา
ฉะนั้นเวลาใจมันคิดโน่นคิดนี่ ก็จะไปกดข่มมันไม่ได้ ก็แค่เห็นมัน ดูมัน ยอมรับมัน อนุญาตให้มันเกิดขึ้นได้ ไม่ว่ามันจะเป็นความคิดฟุ้งซ่าน ไม่ว่าจะเกิดความหงุดหงิด เกิดความรำคาญ มันเกิดขึ้นเพราะมันมีเหตุมีปัจจัย และเหตุปัจจัยนั้นไม่ได้อยู่ที่อำนาจของเรา
จะสั่งให้จิตโกรธตอนนี้ มันก็ไม่ยอมโกรธ จะสั่งให้จิตเกลียดหรือเศร้าตอนนี้ มันก็ไม่เกลียด ไม่เศร้า จนกว่าเราจะปั่นมัน สร้างเหตุสร้างปัจจัย หรือ built ที่เขาเรียกว่าบิวท์ ถ้าเราบิวท์เป็นบิวท์ถูก มันก็โกรธได้ เกลียดได้
อย่างเช่นนึกถึงคนที่เราโกรธ นึกถึงคนที่เราเกลียด นี่เรียกว่าบิวท์ แต่อยู่ดี ๆ จะสั่งให้จิตโกรธ จะสั่งให้จิตเศร้า มันสั่งไม่ได้ จะสั่งให้จิตสงบก็สั่งไม่ได้ แต่ว่าเราสามารถจะค่อย ๆ กล่อมเกลาให้จิตเขาสงบ เช่น เอาจิตมาอยู่กับลมหายใจ เอาจิตมาอยู่กับกาย เอาจิตมาอยู่กับมือที่เคลื่อนไหวไปมา แม้กระนั้นมันก็ยังแวบไปโน่นแวบไปนี่ แต่เราจะหักหาญเขาไม่ได้ ก็ต้องค่อย ๆ เกลี้ยกล่อม ค่อย ๆ เรียก ค่อย ๆ ชวน
ฉะนั้นการที่เราเจริญสติ จะได้ผลบางทีก็ต้องใช้วิธีที่นุ่มนวล หลวงพ่อเทียนท่านแนะนำอาตมา แล้วก็หลายคนตอนที่มาปฏิบัติใหม่ ๆ ว่า ให้ทำเล่น ๆ อย่าไปเอาจริงเอาจังกับมัน แต่ทำทั้งวัน
ท่านใช้คำพูดว่าทำเล่น ๆ แต่ทำจริง ๆ ทำเล่น ๆก็คือว่าอย่าไปหวังผล อย่าไปบังคับ อย่าไปหักหาญจะเอาให้ได้ จะเอาให้ได้ อันนั้นไม่ใช่การทำเล่น ๆ แต่ว่าให้ทำจริง ๆ คือทำทั้งวัน ทำทั้งวันก็หมายความว่าเผลอก็ไม่เป็นไร แต่ว่ารู้ตัวเมื่อไหร่กลับมา บางทีทำทั้งวันแต่จริง ๆ เผลอทั้งวัน ก็ธรรมดา ไม่ต้องหงุดหงิดเสียใจ สวดมนต์ทำวัตรเผลอไปสัก 50% หรือ 70% ไม่เป็นไร ก็ทำไปเรื่อย ๆ
พอทำไปเรื่อย ๆ มันก็จะดีขึ้นเรื่อย ๆ บางทีก็ต้องให้กำลังใจ ต้องรู้จักปลุกปลอบ บางทีก็มีการข่มบ้าง ขู่บ้าง แต่ว่าทั้งหมดนี้มันก็ต้องยอมรับความจริงว่าจิตไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา จะบังคับให้เป็นไปดั่งใจเรา หรือจะบงการให้เป็นไปตามความต้องการของเราไม่ได้
สิ่งที่เราทำได้คือทำความเพียร และวางจิตวางใจให้ถูกต้อง คือวางจิตให้เป็นกลาง ๆ ไม่เผลอ ไม่เพ่ง เผลอก็ไม่ใช่ ไปเพ่งก็ไม่ถูก ไปกดข่มก็ไม่ใช่ หรือว่าจะไหลตามมันก็ไม่ถูก ถ้าวางใจเป็นกลาง ๆ ได้ แล้วก็เติมด้วยความเพียร มันก็มีโอกาสที่ต้นไม้แห่งสติหรือต้นไม้แห่งธรรมจะเจริญงอกงามในใจเราได้ จะใช้วิธีอื่นนี้มันไม่ได้ มันผิดธรรมชาติ.