พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 11 สิงหาคม 2567
เวลาเรามาทำวัตรสวดมนต์หรือว่าฟังธรรม บางครั้งก็มีความตั้งใจว่าจะสวดมนต์อย่างมีสติให้ต่อเนื่อง จะไม่ปล่อยใจฟุ้งลอยไปไหน หรือว่าเวลาฟังธรรมก็ตั้งใจว่าจะฟังอย่างมีสติ ไม่ให้ใจไหลลอยไปอดีตหรือไปเรื่องอนาคต
แต่ทั้ง ๆ ที่ตั้งใจแบบนี้บ่อยครั้งเราก็พบว่ากำลังสวดมนต์อยู่ดี ๆ กำลังฟังธรรมอยู่ดี ๆ ว่าใจไหลหลุดเข้าไปในความคิด แล้วคิดยาวเลยเป็นเรื่อง ไม่ใช่แค่เรื่องเดียว หลายต่อหลายเรื่อง อย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว
กว่าจะรู้ตัวว่ากำลังสวดมนต์อยู่ กำลังฟังธรรมอยู่ ก็ผ่านไป 5 นาที 10 นาทีก็มี หรือคิดไป 7-8 เรื่องแล้วก็มี หลายคนก็สงสัยมันเป็นไปได้อย่างไร ทำไมใจถึงหลุดลอยไปอย่างนั้น อันนี้ธรรมดานะ ธรรมดา ตราบใดที่สติเรายังไม่ปราดเปรียว ว่องไว หรือตราบใดที่เรายังชอบปล่อยใจลอยไปตามความคิด
แต่ถ้าเราเริ่มมาฝึกสติ ฝึกรู้ทันความคิด เราจะเริ่มสังเกตเห็นว่าขณะที่เรากำลังสวดมนต์ กำลังฟังธรรมอยู่นี้ จู่ ๆ มันก็อาจจะมีความคิดหนึ่งผุดขึ้นมา อาจจะเป็นภาพ เป็นภาพสั้น ๆ หรืออาจเป็นแค่ห้วงความคิดชั่วขณะ มันผุดขึ้นมาก็เป็นชั่วขณะเท่านั้นแหละ แต่แล้วจิตก็ไปคว้าหมับเลย ไปคว้าความคิดนั้นเอาไว้ แต่ปรากฏว่าถูกมันหลอกล่อลากพาไป ลากพาออกไปจากสิ่งที่กำลังทำอยู่
จิตที่กำลังรับรู้กับการสวดมนต์ กับการฟังธรรม ตอนนี้มันถูกความคิดลากพาไป พร้อม ๆ กันจิตก็ปรุงแต่งความคิดนั้นเป็นเรื่องเป็นราว อาจจะมีการวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต หรือขุดคุ้ยภาพความทรงจำในอดีตขึ้นมา ขุดคุ้ยและปรุงแต่ง ต่อเติม วิพากษ์วิจารณ์ เสร็จแล้วก็ต่อไปเรื่องอื่น แล้วก็ทำอย่างนี้อย่างเดียวกัน แล้วก็ต่อไปอีกเรื่องหนึ่ง
บางทีก็ไปนึกถึงเหตุการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต แล้วก็ปรุงไปเรื่อย ๆ เรียกว่าจนลืมตัวไปเลย จะว่าไปมันก็เปรียบเหมือนกับปลาที่ว่ายน้ำอยู่ในแม่น้ำ แล้วมันก็เห็นไส้เดือนหรือเห็นแมลงอยู่ในน้ำ มันไม่ทันคิดหน้าคิดหลังเลย มันก็โผเข้าไป แล้วก็ไปฮุบแมลงนั้นโดยหารู้ไม่ว่านั่นคือเหยื่อ เหยื่อที่คนตกปลาเขาเอามาล่อเอาไว้
พอฮุบเหยื่อเข้าไป คราวนี้แหละยาวเลย ถูกพาลากไปไกลเลย แทนที่จะเป็นฝ่ายฮุบเหยื่อ กลับโดนเหยื่อนี้หลอกพาไป ซึ่งที่จริงแล้วมันก็คือกับดักนั่นเอง กับดักของคนตกปลาที่เขาเอาเหยื่อมาล่อ ใจเรานี้ไปฮุบความคิด แล้วก็เลยลืมตัว หมดเนื้อหมดตัวไปกับความคิด คล้าย ๆ กับปลาที่ฮุบเหยื่อเลย ทีแรกก็เห็นว่า เออ เหยื่อ หรือแมลง ไส้เดือนนี้มันคงจะอร่อย รสชาติดี ก็เลยโผเข้าไปฮุบโดยที่ไม่รู้ว่ามันมีเบ็ดซ่อนอยู่ ก็เลยตกเป็นเหยื่อ ตกเป็นเหยื่อของคนที่ตกปลา
เพียงแต่ว่าในกรณีของความคิดที่ใจเผลอเข้าไปฮุบ มันเป็นเหยื่อก็จริง แต่ไม่ใช่เหยื่อของใคร เป็นเหยื่อของกิเลสหรือความหลงก็ว่าได้ ความหลงก็ล่อ หรือกิเลสก็ล่อให้ใจเรานี้ออกจากปัจจุบัน ออกจากความรู้เนื้อรู้ตัว
ใจที่ไม่ได้ฝึกฝนมา ใจที่ยังไม่ฉลาดต่ออุบายของความหลงหรือของกิเลส มันก็จะเผลอฮุบความคิด หรือไปคว้าความคิดเข้าหมับเลย แล้วก็ถูกความคิดหลอกให้คิด ให้ปรุงแต่งไปต่าง ๆ นานาจนหมดเนื้อหมดตัว
แต่ว่าธรรมชาติของใจเรานี้ มันจะไม่ใช่ว่าจะหมดเนื้อหมดตัวนาน สักพักมันก็จะรู้ตัวขึ้นมา รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ รู้ตัวว่ากำลังสวดมนต์อยู่ รู้ตัวว่ากำลังฟังธรรมอยู่ หรือว่าระลึกได้ว่าเมื่อกี้เราตั้งใจว่าเราจะสวดมนต์อย่างมีสติต่อเนื่อง ไม่ให้หลง ไม่ให้ไหล หรือว่าเราตั้งใจจะฟังธรรมให้ต่อเนื่อง แต่ว่ามารู้ตัวก็พลาดไปเสียแล้ว
ก็เหมือนกับเวลาเราเดินจงกรม สร้างจังหวะ เราก็ตั้งใจแบบนั้นแหละว่าเราจะรู้สึกตัวทุกก้าวที่เดิน รู้สึกตัวเมื่อขยับมือ แต่แล้วก็ไม่รู้เผลอหลุดเข้าไปในความคิดเมื่อไหร่ กว่าจะออกมาได้นี่ ก็หลงไปนานเลย
ที่หลุดมาได้จริง ๆ ก็เป็นเพราะอำนาจของสติที่เราทุกคนมีอยู่ เพียงแต่ว่าคนส่วนใหญ่กว่าสติจะทำงาน หรือว่าจะฉุดจิตออกมาจากความหลง หรือกระทุ้งใจให้กลับมารู้สึกตัวได้ มักจะใช้เวลา
แต่พอเราปฏิบัติเจริญสติอยู่บ่อย ๆ เจริญสติอยู่บ่อย ๆ รวมทั้งถูกหลอกบ่อย ๆ ตกเป็นเหยื่อของความหลงบ่อย ๆ เราจะเรียนรู้ได้ดีขึ้น เราจะรู้ทางตัวกิเลสหรือความหลงได้ดีขึ้น แล้วเราก็จะถูกหลอกน้อยลง ตกเป็นเหยื่อของกิเลสหรือความหลงได้น้อยลง หรือว่าไม่นานอย่างที่เคยเป็น
ถึงจุดหนึ่ง พอมันมีความคิดผุดขึ้นมาเหมือนเคย ขณะที่กำลังสวดมนต์ ขณะที่กำลังทำวัตร หรือขณะที่กำลังฟังธรรม จิตพอเห็น มันไม่หลงแล้ว มันไม่ผวาเข้าไปฮุบหรือไปคว้าหมับความคิด เหมือนกับปลาฮุบเหยื่ออย่างที่เคยทำ มันเห็นปุ๊บ มันก็เมินเลย ไม่สนใจ เหมือนกับว่ากำลังทำงานอยู่ มีคนเรียก หันไปมอง แล้วก็กลับมาทำงานต่อ
เสียงที่ได้ยินไม่สามารถจะปลุก หรือว่ากระตุ้นความสนใจ หรือจะมาล่อให้หลงได้อีก เรียกว่าเมินเสียงนั้นไปเลย อาจจะเป็นเสียงคนคุยกัน อาจจะไม่ใช่เสียงเรียกเรา หรือเสียงคุยซึ่งแต่ก่อนนี้ก็รบกวนสมาธิของเรา แต่ตอนนี้เราไม่สนใจแล้ว
หรือบางทีอาจจะเป็นเสียงโทรศัพท์ดัง ซึ่งแต่ก่อนก็ต้องผวาเข้าไป ไปหยิบโทรศัพท์ดูว่าใครโทรมา แต่ตอนนี้ไม่สนใจแล้ว เพราะกำลังทำงานอยู่ กลับมามีสมาธิกับงาน
มันจะมีภาวะที่จิตเมิน เมินความคิด แต่ก่อนไม่เมิน แต่ก่อนจะผวาเข้าไปฮุบเลย เข้าไปคว้าหมับตัวความคิด เพราะว่ามันมีรสชาติ มีเสน่ห์ ชวนให้น่าสนใจ จะเรียกว่ามันมีอาการที่คอยล่อเร้าหรือเย้ายวนเราก็ได้ แต่อุบายของกิเลสหรือตัวหลง ไม่ได้มีแค่หาสิ่งมาล่อเล้าเย้ายวนเราเท่านั้น บางทีก็มีบางสิ่งที่มายั่วยุเรา หรือชวนให้เราเข้าไปต่อกร
อย่างเวลาพรานเขาจะต่อไก่ อยากได้ไก่ป่านี้ มันก็มี 2 วิธี คือเอาไก่ตัวเมียที่ส่งเสียงร้องไพเราะมา เพื่อล่อเราเย้ายวนให้ไก่ป่าตัวผู้เข้ามาหา แต่พอยังไม่ทันถึงตัวเลยก็ติดกับดักเสียแล้ว อันนี้ใช้วิธีเย้ายวน
อีกวิธีหนึ่งก็คือใช้วิธียั่วยุ เอาไก่ตัวผู้มาผูกเอาไว้แล้วก็ให้มันร้อง ไก่เจ้าถิ่นซึ่งเป็นไก่ป่าพอมันรู้ว่ามีไก่ตัวผู้เข้ามาในอาณาเขตของมัน มันจะไม่พอใจ มันจะตรงเข้าไปที่ไก่อาคันตุกะ เพื่ออะไร เพื่อขับไล่ แต่ยังไม่ทันจะถึงตัวเลยก็ถูกจับได้เสียก่อน ติดกับดักเสียก่อน
เจ้าตัวหลงหรือกิเลส ก็ใช้อุบายนี้กับเรา กับใจของเรา จะให้ใจออกจากความรู้สึกตัว ออกจากเนื้อจากตัว นอกจากใช้วิธีเอาสิ่งเย้ายวนมาล่อให้ใจเผลอ เหมือนกับปลาที่เห็นไส้เดือนแมลงอร่อย อยากจะเข้าไปฮุบ แล้วก็กลายเป็นถูกจับ แต่ว่านอกจากวิธีเย้ายวนด้วยสิ่งที่อร่อยแล้วอยากเข้าหา บางครั้งก็ใช้วิธีหาสิ่งยั่วยุ เพื่อให้ใจโผเข้าไปต่อกร ไปผลักไส
อย่างเช่นเสียงดัง เสียงดังนี่มันไม่ใช่เป็นเสียงเย้ายวน ไม่เหมือนเสียงดนตรี เสียงดนตรีพอดังหรือกระทบหูเรา ใจก็จะหลงใหลเข้าหา แต่ว่าบางครั้งมันก็มาด้วยเสียงที่ระคายโสตประสาท เสียงดัง เสียงคนคุยกัน เสียงหมาเห่า เสียงมอเตอร์ไซค์ เสียงก่อสร้าง ใจเราขณะที่กำลังสวดมนต์ กำลังฟังธรรม ขณะที่กำลังตามลมหายใจ เดินจงกรมอยู่ พอเสียงนั้นมากระทบหู เกิดความรู้สึกลบขึ้นมา มันก็อยากจะไปผลักไส อยากจะไปต่อกรกับเสียงเหล่านั้น
พอใจเราทำอย่างนั้นเข้า มันก็หลุดออกจากปัจจุบันเลย มันก็ลืมเนื้อลืมตัวเลย นี่ก็คือวิธีการที่ตัวหลงจะเข้ามาครอบงำใจเรา 2 วิธี คือ (1) ใช้สิ่งที่เย้ายวน มาชวนให้ใฝ่หา หลงใหล กับ (2) ใช้สิ่งที่เป็นตัวยั่วยุ ให้ใจนี้คอยผลักไส
ลองสังเกตดู เราสูญเสียความรู้สึกตัว ไม่ใช่เพราะมีของอร่อยมาดึงดูดใจ อย่างที่เรียกว่า อิฏฐารมณ์ รูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสที่น่าพอใจเท่านั้น แต่ยังรวมถึง อนิฏฐารมณ์ รูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสที่ไม่น่าพอใจ รวมทั้งเหตุการณ์ที่ติดลบ เช่น เงินหาย ถูกต่อว่าด่าทอ แม้จะผ่านไปเป็นเดือนเป็นปี พอคิดทีไร ใจไหลไปเลย ไม่ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ลืมไปเลยว่ากำลังทำอะไรอยู่ ฟังธรรมก็ไม่ได้ฟังแล้ว
บางทีสิ่งที่เกิดขึ้นที่เป็นอนิฏฐารมณ์ อาจจะไม่ใช่เกิดขึ้นในอดีตก็ได้ อาจจะเกิดขึ้นในปัจจุบันก็ได้ อย่างกำลังฟังธรรมอยู่ มีเสียงคนคุยกันข้างหลัง เรื่องที่คุยไม่เกี่ยวกับเราเลย แต่เราเกิดความไม่พอใจขึ้นมา เพราะเป็นเสียงแทรก เป็นการกระทำของคนที่ไม่มีมารยาท ไม่รู้จักกาลเทศะ พูดง่าย ๆ ก็คือเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง
ตัวความยึดติดในความถูกต้องที่ฝังแน่นในใจเรานี้ ก็จะทำให้เกิดความรู้สึกไม่พอใจพฤติกรรมของคนเหล่านั้นหรือคู่นั้น มันก็จะเกิดอาการหงุดหงิด ไม่พอใจ นึกตำหนิในใจ พอเท่านั้นแหละก็เท่ากับว่าเรานี้ติดกับดักของตัวหลงแล้ว เพราะตัวหลงนี่ต้องการให้เราลืมเนื้อลืมตัว ลืมว่ากำลังทำอะไรอยู่ ซึ่งก็อาจจะทำให้เราสูญเสียประโยชน์ที่จะได้รับจากการอยู่กับปัจจุบันก็ได้
อย่างในสมัยพุทธกาล มีอุบาสิกาท่านหนึ่ง จะเรียกเป็นอุบาสิกาก็ไม่ได้เพราะว่ายังไม่ได้ศรัทธาในพระพุทธเจ้า แต่ศรัทธาในนักบวชนิกายหนึ่งเรียกว่าอาชีวก ชื่อปาฏิกะ
นางก็อยู่ในกรุงสาวัตถี ต่อมาก็ได้ยินกิตติศัพท์ ใคร ๆ ก็พูดถึงพระพุทธเจ้าซึ่งตอนนั้นประทับอยู่ที่เชตวัน ผู้คนก็สรรเสริญว่าธรรมะของพระองค์นี้ลึกซึ้ง นางก็อยากจะไปฟัง แต่ด้วยความที่มีอาจารย์ที่ศรัทธาคือปาฏิกะ ก็เลยขออนุญาตไปฟังธรรมพระพุทธเจ้า ปาฏิกะไม่อนุญาตเพราะไม่ค่อยชอบพระพุทธเจ้าที่ดึงลูกศิษย์ของตนไปศรัทธาในพระพุทธเจ้านี้เยอะแล้ว ทำให้ตัวเองสูญเสียลูกศิษย์ไป
แต่นางมีความตั้งใจ ก็เลยบอกว่า ในเมื่ออาจารย์ไม่อนุญาตให้เราไปฟังธรรมจากพระตถาคต ก็ไม่เป็นไร เราก็จะไม่ไปฟังธรรม แต่เราจะนิมนต์พระองค์เสด็จมาที่บ้านเรา แล้วก็นิมนต์มาฉันภัตตาหาร จะได้มีโอกาสฟังธรรมจากพระองค์ ก็เลยให้ลูกชายไปนิมนต์พระพุทธเจ้าให้มาที่บ้านของนาง แต่ลูกชายของนางก่อนที่จะไปนิมนต์ก็ไปบอกปาฏิกะ
ปาฏิกะก็ไม่ได้ห้าม บอกนางว่าจะนิมนต์ก็ได้ แต่ว่าอย่าบอกทางให้พระพุทธเจ้าทราบว่าบ้านที่นิมนต์อยู่ที่ไหน ปาฏิกะคิดว่าถ้าหากพระพุทธเจ้าเสด็จมาไม่ถูก อาหารที่นางจะถวายก็จะตกเป็นของตนเอง เรียกว่าเห็นแก่กิน
พระพุทธเจ้าก็รับนิมนต์ ถึงวันได้เวลาก็เสด็จมา แม้เจ้าภาพจะไม่ได้บอกทาง แต่พระองค์ก็สามารถจะเสด็จมาถึงบ้านของนางได้อย่างถูกต้องโดยไม่ยาก ก่อนหน้านั้นปาฏิกะก็แอบมาที่บ้านของนางโดยที่ไม่บอก แล้วไปซุ่มซ่อนอยู่ในห้องที่ติด ๆ กับที่พระพุทธเจ้าจะฉันภัตตาหาร เพราะกะว่าถ้าเกิดว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาไม่ถูก อาหารทั้งหมดก็จะเป็นของตน
สุดท้ายปรากฏว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาถูก ถึงเวลาพระพุทธเจ้าก็ฉันภัตตาหาร เสร็จแล้วก็แสดงธรรม ขณะที่แสดงธรรม นางเจ้าของบ้านก็เกิดศรัทธา เกิดความซาบซึ้งมาก เพราะข้อธรรมของพระองค์นี้ลึกซึ้ง ฟังไปก็สาธุไป ฟังไปก็สาธุไป
ปาฏิกะซ่อนอยู่ในห้องหลังห้องที่ติดกัน ได้ยินเสียงสาธุของนางก็ไม่พอใจ ถึงขั้นอดรนทนไม่ได้ ออกมาจากห้อง แล้วก็ตะโกนด่าพระพุทธเจ้า แล้วก็ด่านางด้วย ด่าอย่างรุนแรงเลย “อีกาลกิณี ขอให้มึงฉิบหายเถอะ มึงจะเคารพพระโคดมก็เป็นเรื่องของมึง กูไม่สนแล้ว” ว่าแล้วก็ลงจากบ้านของนางเลย
พระพุทธเจ้าแม้จะถูกปาฏิกะบริภาษ พระองค์ก็แสดงธรรมต่อ แต่นางถูกด่านี่ปรากฏว่าจิตใจรุ่มร้อนมาก ปาฏิกะออกจากบ้านไปแล้ว แต่นางก็ยังโมโห ครุ่นคิดถึงคำพูดที่รุนแรงของปาฏิกะ พระพุทธเจ้าทรงมีญาณหยั่งรู้ จึงบอกนางว่าอย่าไปสนใจคำพูดของคนที่มีความโกรธเลย ให้มาใส่ใจกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ดีกว่า
นางได้สติเลยนะ ได้สติเลย จิตนี้ก็น้อมกลับมา จิตก็วางคำต่อว่าด่าทอของปาฏิกะ แล้วก็น้อมกลับมาที่การแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า จิตที่พอเปิดรับฟังธรรมของพระพุทธเจ้าอย่างต่อเนื่อง ปรากฏว่าไม่นานเลยก็บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน
นี่ถ้าเกิดว่านางยังใส่ใจกับคำพูดของปาฏิกะ นอกจากจิตใจจะรุ่มร้อน เกิดความโกรธ แล้วยังพลาดโอกาสที่จะได้ฟังธรรมอันลึกซึ้งจากพระพุทธเจ้า จนกระทั่งได้บรรลุธรรม
การที่ใจเรานี่ไม่ชอบสิ่งใด แล้วถ้าขาดสติ มันก็จะไปจมอยู่กับสิ่งนั้นด้วยอาการที่ผลักไส ลืมไปเลยนะว่ากำลังทำอะไรอยู่ในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าซึ่งเตือนให้เรามีสติ แต่ถ้าเราเจริญสติด้วยตัวของเราเอง สตินั้นก็จะดึงจิตของเราให้กลับมาใส่ใจอยู่กับสิ่งที่กำลังทำในปัจจุบัน ไม่ตกเป็นเหยื่อของกิเลสหรือความหลง
และวิธีการปฏิบัติก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการที่เรียนรู้จากความหลงบ่อย ๆ หลงเพราะเจอสิ่งที่เย้ายวนใจ หรือหลงเพราะว่าเจอสิ่งที่ยั่วยุ ไม่ว่าจะหลงเพราะว่าหลงใหลหรือว่าผลักไสก็ตาม ถ้าเราหมั่นฝึกอยู่เสมอ มันจะรู้ทันได้ไว รู้ทันได้ไว แล้วกลับมาได้เร็ว กลับมาอยู่กับปัจจุบัน
มันไม่ได้มีทางลัด จะใช้วิธีบังคับจิตไม่ให้ความคิดฟุ้งซ่านเกิดขึ้น หรือจะไปบังคับสิ่งแวดล้อมให้มีแต่สิ่งดี ๆ มันก็ไม่ใช่ เพราะแม้จะมีสิ่งดีเกิดขึ้นกับเรา แต่ถ้าเราเกิดหลงใหลในความเย้ายวนของมัน เราก็ขาดสติเหมือนกัน
แต่ถ้าเรารู้จักที่จะวางใจเป็นกลางต่อสิ่งต่าง ๆ เจอสิ่งเย้ายวน ก็ไม่ใส่ใจ เมินมัน เจอสิ่งที่มายั่วยุ ก็ไม่ใส่ใจ รู้จักเมิน ใจเราก็จะอยู่กับปัจจุบันได้ต่อเนื่อง มีสมาธิ
สติช่วยให้เราเมินสิ่งที่เย้ายวนหรือสิ่งที่ยั่วยุ ทำให้ใจตั้งมั่นอยู่กับปัจจุบัน แต่ว่าใหม่ ๆ มันก็คงจะไม่เมินหรอก ก็คงจะหลงใหล หรือไม่ก็ผลักไส กว่าจะรู้ว่าโดนกิเลสหลอกก็พลาดท่าเสียทีซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ว่าการพลาดท่าเสียที หรือการหลงติดในกับดักของกิเลสแต่ละครั้ง จะสอนเราให้รู้จัก รู้ทาง รู้จักอุบายของกิเลส แล้วก็ไม่หลงเชื่อมันง่าย ๆ กลับมารู้สึกตัวได้ไวขึ้น
เพราะฉะนั้นเวลาใจมันหลง มันลอย ก็อย่าไปโมโห อย่าไปหงุดหงิดตัวเอง ถือว่าเรากำลังเก็บเกี่ยวบทเรียน เพื่อฝึกสติให้รวดเร็ว ปราดเปรียว.