พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 10 สิงหาคม 2567
คนเรามีสัญชาตญาณอย่างหนึ่งนั่นก็คือ ทำก่อนแล้วค่อยคิดทีหลัง อย่างเช่นกลับจากทำวัตร เรากำลังคิดนั่นคิดนี่ สักพักมองมาที่ทางเดิน ปรากฏว่ามีอะไรยาว ๆ ดำมะเมื่อมขวางทางอยู่ ห่างจากเราอาจจะแค่ 2 เมตรเท่านั้น ทันทีที่เห็นและยังไม่ทันมีความคิดเลยว่างู ก็รู้สึกกลัว ใจหาย ตกใจ แล้วก็ชะงัก หรือไม่ก็กระโดดถึงตอนนั้นแหละที่ความคิดว่างู ถึงเกิดขึ้น
อันนี้เป็นประสบการณ์ที่เราอาจจะเคยเจอ ยังไม่ทันคิดหรือไม่ทันรู้เลยว่าเป็นอะไร สะดุ้งเสียแล้ว แล้วถึงค่อยมีความคิดขึ้นมาว่างู หรือถึงจะค่อยรู้ว่ามันคืองู อันนี้เรียกว่า ทำก่อนแล้วค่อยคิด ซึ่งมันก็จำเป็น เพราะว่าถ้ารอให้คิดก่อนแล้วค่อยตัดสินใจว่าจะทำอะไร จะกระโดด หรือจะชะงัก มันก็จะช้าไป อาจจะโดนงูกัดเสียก่อน
ธรรมชาติที่ใช้เวลาเรียกว่าเป็นแสนหรือเป็นล้านปี มันได้ทำให้คนเรามีสัญชาตญาณแบบนี้ เพราะมันจำเป็นต่อความอยู่รอด อย่างตอนนี้เราก็พบว่าเราก็รู้แล้วว่าที่เราทำก่อนแล้วค่อยคิด โดยเฉพาะเวลาเจออะไรที่มันน่ากลัว ก็เพราะว่าเวลาเรามองเห็นอะไร สิ่งที่เราเห็นมันจะส่งสัญญาณจากตา ทางหนึ่งก็ไปที่สมองส่วนที่คิด ส่วนที่ประมวลผล
อีกทางหนึ่งสัญญาณจากตาก็ส่งไปที่สิ่งที่เรียกว่าอมิกดาลา (amygdala) ซึ่งก็อยู่ในสมอง แต่มันเป็นศูนย์ความกลัว และสัญญาณที่มันส่งจากตาไปที่อมิกดาลานี้มันเร็วมาก ในขณะที่สัญญาณที่ส่งไปที่สมองส่วนที่คิดใช้เหตุผลนี้ช้า กว่าจะประมวลผลว่านี่งู มันก็ใช้เวลาก็หลายเสี้ยววินาที แต่ว่ามันช้ากว่าสัญญาณที่ส่งจากตาไปที่อมิกดาลา
อมิกดาลาเป็นศูนย์ความกลัว ทันทีที่มันถูกกระตุ้น มันทำงานทันทีเลย สั่งการไปที่หัวใจ สั่งการไปที่กล้ามเนื้อต่าง ๆ ให้ทำงานโดยที่เรายังไม่ทันจะสั่งการมันเลย ไม่ทันจะตัดสินใจเลย มันทำไปเรียบร้อยแล้ว อย่างเช่นพอเห็นอะไรพาดผ่านถนนดำมะเมื่อมเลย ไม่ต้องรอให้สั่งการว่าให้หยุด หรือให้กระโดด หรือให้หนี ร่างกายเราทำงานเองเลยเพราะว่าความกลัว ศูนย์ความกลัวนี้มันสั่งการ
ฉะนั้น การที่คนเรามีสัญชาตญาณทำก่อนแล้วค่อยคิด มันก็จำเป็นสำหรับความอยู่รอด แต่ว่าพอมาถึงยุคสมัยใหม่นี้ ถ้าคนเราทำก่อนแล้วค่อยคิด มันก็มีปัญหาเพราะว่าสิ่งที่เราทำนี้อาจจะไม่ใช่แค่การหนีจากอันตราย หรือการชะงักเท้า หรือการกระโดด อาจจะหมายถึงการไปคว้าของที่เราชอบ ที่ถูกใจเรา เรียกว่าขโมย หรือมิเช่นนั้นก็ไปด่าคนที่ทำอะไรไม่ถูกใจเรา
นั่นก็คือทำไปด้วยอำนาจของอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นโลภะ ราคะ หรือว่าโทสะ เพราะอารมณ์คนเรานี้มันไม่ได้มีแค่ความกลัว มันมีอารมณ์อื่นด้วย ซึ่งมันก็มีประโยชน์ แต่ว่าในหลายกรณีถ้าเกิดปล่อยให้มันนำหน้า และตามไปด้วยการกระทำก่อนที่จะคิด เกิดปัญหาขึ้นมาได้
ที่จริงก่อนที่คนเราจะทำอะไรแล้วค่อยคิดทีหลัง มันมีตัวหนึ่งนำก่อนคืออารมณ์ อารมณ์ที่ว่านี้ที่หลัก ๆ เลย คือความกลัว เช่น เห็นอะไรที่มันขวางทาง ตัวดำ ๆ ยาว ๆ มะเมื่อม ทันทีที่เห็นแล้วก็ยังไม่ทันรู้เลยมันคืออะไร สัญญายังไม่ทันทำงานเลย ความกลัวเกิดขึ้นแล้ว ความใจหาย ความตื่นตกใจเกิดขึ้นแล้ว
อารมณ์ที่ว่านี้ก็ทำให้มีการกระทำตามมา ซึ่งส่วนใหญ่ก็ได้แก่ การถอยหนีหรือการหยุดชะงัก อารมณ์คนเราไม่ได้มีแค่ความกลัว มันมีความโกรธ มีความอยากได้หรือตัณหา ตรงนี้แหละถ้ามันเกิดขึ้นแล้ว เรายังไม่ทันคิดดี คิดให้รอบคอบเลย มันทำเสียก่อน เช่น ไปลักขโมยของเขา ไปคว้าของนั้นมาเพราะว่าหิวอยากกิน หรือว่าไปลวนลามผู้หญิงเพราะเกิดราคะ แบบนี้เกิดเรื่อง
หรือว่าพอเกิดอะไรที่ไม่ถูกใจแล้ว ความโกรธตามมา ก็หลุดปากด่าหรือทำร้ายเขา แล้วค่อยมาคิดได้ ไม่น่าทำเลย ที่จริงแม้กระทั่งความกลัว กลัวแล้วค่อยทำ คือมาคิดตามหลังนี้ถ้ามาใช้กับสมัยนี้มันไม่ได้ เวลาเรากลัวงู ตกใจ แล้วก็สะดุ้ง ชะงักเท้าถอยหนี อันนี้มันได้อยู่ แต่ถ้าเกิดว่านักเรียนกลัวครู ลูกน้องกลัวเจ้านาย แล้วทำอย่างนั้นบ้างมันก็มีปัญหา
ในยุคปัจจุบัน นักเรียนกลัวครูยังไงก็ต้องอยู่ต่อหน้าครู จะหนีก็ไม่ได้ ขืนหนีออกจากโรงเรียนก็ลำบาก ลูกน้องถ้ากลัวเจ้านายแล้วหนีจากที่ทำงานไป ก็อาจจะถูกไล่ออกในเวลาไม่นาน ก็ต้องทน ทนอยู่ด้วยความกลัว แต่ว่าหัวใจก็เต้นเร็ว ความดันก็ขึ้น ความเครียดก็ตามมา ถ้าเกิดแบบนี้มาก ๆ เข้า ยืดเยื้อเรื้อรังก็อาจจะเจ็บป่วยเป็นโรคความดัน เป็นโรคเครียด
อาการพวกนี้มีประโยชน์ หัวใจเต้นเร็ว เลือดสูบฉีดก็ทำให้เราพร้อมจะสู้หรือหนี แต่ว่าในยุคปัจจุบัน การสู้หรือหนีมันใช้ไม่ได้กับนักเรียนที่กลัวครู หรือว่าลูกน้องที่กลัวเจ้านาย กลัวยังไงก็ต้องอยู่ในห้องเรียน หรือว่าอยู่ในที่ทำงาน ต่อหน้าครู ต่อหน้าเจ้านาย
ฉะนั้น พอมันเกิดอารมณ์ขึ้นมาถ้าหากว่าคิดทีหลังแต่ทำก่อนนี่ มีปัญหา หรือปล่อยให้มันครอบงำใจ ก็เกิดปัญหาเหมือนกัน มนุษย์เรามาถึงจุดหนึ่งเราต้องทำหลังคิด ไม่ใช่ทำก่อนแล้วค่อยคิด เราต้องคิดก่อนแล้วค่อยทำ
แต่จะคิดก่อนได้ยังไงถ้าเกิดว่าปล่อยให้อารมณ์มันนำหน้า ฉะนั้นการที่เรามาฝึกถึงแม้จะไม่ได้ฝึกที่วัด ตั้งแต่เด็ก ๆ อยู่ในบ้าน หรือว่าอยู่ในโรงเรียน เราก็ถูกฝึกให้รู้จักควบคุมอารมณ์ ไม่ปล่อยให้อารมณ์เป็นใหญ่ ไม่ใช่ว่ากลัวแล้วจะทำอะไรตามอำนาจของอารมณ์ แล้วค่อยมาคิดทีหลัง หรือว่าโกรธ โกรธแล้วก็ด่าไปก่อน แล้วค่อยมาคิดทีหลัง อันนี้ไม่ได้
สิ่งที่เราฝึกมาเพื่อให้เกิดวัฒนธรรมที่ดี นั่นก็คือให้รู้จักควบคุมอารมณ์ เพื่อที่เราจะไม่ทำก่อนคิด แต่ให้คิดก่อนทำ แต่การควบคุมอารมณ์นี้มันยังไม่ใช่วิธีการเดียวที่ดีหรือที่ควรทำ มนุษย์เรามีความสามารถในการรู้ทันอารมณ์ได้ อารมณ์เกิดขึ้น ไม่ใช่ว่าปล่อยให้มันสั่งให้ร่างกายทำนั่นทำนี่ ไม่ว่าจะเป็นตามอำนาจความกลัว ความโกรธ หรือราคะ แล้วค่อยมานึกเสียใจภายหลัง
เรามีความสามารถที่จะคิดก่อนทำได้ แล้วเราจะคิดก่อนแล้วทำทีหลังได้นี้ ก็เพราะว่ามีความสามารถไม่ใช่แค่ควบคุมอารมณ์ แต่ว่ารู้ทันอารมณ์ด้วย ธรรมชาติให้สติเรามาเพื่อมาควบคุมอารมณ์ ไม่ใช่กดข่มมัน แต่เพื่อรู้ทันมัน
การมาปฏิบัติธรรมจะว่าไปก็คือ การมาฝึกให้เราทวนกระแสสัญชาตญาณ สัญชาตญาณนี้มีแต่จะให้ทำก่อนแล้วค่อยคิด แต่ว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ และการฝึกของมนุษย์ก็คือ ฝึกให้คิดก่อนแล้วค่อยทำ การที่เราจะคิดก่อนทำได้ สตินี้สำคัญมาก จะใช้แต่ขันติอย่างเดียวไม่ได้
ขันติคือความอดทน มีอารมณ์ใดก็อดทนเอาไว้ก่อน อดกลั้นเอาไว้ก่อน มันก็อดกลั้นได้ แต่ว่าจะอดกลั้นได้ดีต้องมีสติเป็นตัวนำ ฉะนั้นถ้าเราสามารถจะฝึกสติให้รวดเร็ว ฉับไว เราก็สามารถทำสิ่งที่สวนทางกับสัญชาตญาณได้ คนเราไม่ใช่ว่าจะต้องทำตามสัญชาตญาณเสมอไป สัญชาตญาณนี้อาจจะมีประโยชน์สมัยเรายังอยู่ในป่าอยู่ในถ้ำ ต้องสู้กับสัตว์ร้ายนานาชนิด อันนี้มีประโยชน์
แต่พอมาถึงยุคใหม่สมัยใหม่แล้ว สัญชาตญาณบางอย่างถ้าปล่อยมันไปตามอำนาจของมันนี้ก็แย่ ไม่ใช่เฉพาะสัญชาตญาณทำก่อนแล้วค่อยคิดทีหลังเท่านั้น สัญชาตญาณบางอย่าง เช่น คนเราจะมีความชอบของหวาน ชอบไขมันมาก อันนี้เป็นสิ่งที่ธรรมชาติปลูกฝังมา เพราะว่าสมัยหลายแสนปีที่แล้ว อาหารที่ให้พลังงานมันเป็นสิ่งที่หายาก อาหารที่ให้พลังงานเราก็ได้แก่ พวกเนื้อ ผลไม้สุก
เพราะเนื้อนี้มีโปรตีน มีไขมัน ส่วนผลไม้สุกก็มีน้ำตาล แต่ว่าเนื้อหายาก ผลไม้สุกก็หายาก ธรรมชาติก็เลยปลูกฝังความอยากกินของหวาน ความชอบของมัน ๆ เพราะทำให้เรามีความเพียรในการแสวงหาสิ่งนี้ ซึ่งไม่ใช่ว่าจะหาง่าย ถ้าเราไม่มีความเพียรในการแสวงหาสิ่งนี้ ร่างกายก็จะย่ำแย่
ฉะนั้น ธรรมชาติก็สร้างความชอบให้เราอยากกินของหวาน อยากกินไขมัน อยากกินพวกโปรตีน แม้ว่ามันจะหายากก็ต้องดิ้นรนไปหามา เพราะมันจำเป็น มีประโยชน์ต่อร่างกาย คล้ายเป็นตัวล่อ ให้คนเราดิ้นรนไปหามัน
เหมือนกับธรรมชาติต้องการให้เราแพร่พันธุ์ มันก็เลยล่อให้คนเรา ที่จริงไม่ใช่เฉพาะคนเรา รวมทั้งสัตว์ด้วยมีความพึงพอใจในการมีเพศสัมพันธ์ พอมีเพศสัมพันธ์แล้วมันมีความสุข แต่ว่าข้อเสียคือมันต้องตามมาด้วยการเลี้ยงลูก ต้องสู้รบกับคนอื่นที่ต้องการมาแย่งการมีเพศสัมพันธ์ด้วย แต่เนื่องจากคนเราติดใจในรสชาติของการมีเพศสัมพันธ์ มันก็เลยทำทุกอย่างเพื่อที่จะสนองความต้องการนี้ แม้ว่าจะต้องเหนื่อย จะต้องเจ็บตัว แต่ก็ยอมทำ
ด้วยสัญชาตญาณของมนุษย์เราที่ชอบกินของหวาน ชอบไขมัน ในแง่หนึ่งก็ผลักดันให้เราไปดิ้นรนหามา แม้จะหายากแต่ก็ไม่ละความพยายามเพราะว่าชอบ เพราะว่าอร่อย แต่ว่าสมัยนี้ของหวาน ไขมันมันมีเยอะ หาง่ายมาก แต่เรายังมีความชอบของพวกนี้อยู่ เราก็เลยกินแล้วกินอีก กินแล้วกินอีก ทั้ง ๆ ที่มันมีมากเกินความต้องการของร่างกาย ผลก็คือเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดัน
อันนี้เป็นเพราะสัญชาตญาณของคนเราอยู่ในร่างของคนเราที่มันผิดยุคผิดสมัย มันไม่ใช่สมัยที่เราอยู่ในป่า แต่สมัยที่เรามีอาหารอุดมสมบูรณ์ ถ้าคนเรายอมทำตามสัญชาตญาณที่ว่านี้ก็เสร็จเลย อยากกินของหวาน อยากกินของที่มีไขมัน แล้วเดี๋ยวนี้อาหารที่มีน้ำตาล มีไขมัน มีเยอะมาก ผลก็คือว่าพอเราทำตามสัญชาตญาณแล้ว สุขภาพก็ย่ำแย่
เช่นเดียวกันสัญชาตญาณทำก่อนคิด มันเคยมีประโยชน์ แต่ว่าปัจจุบันนี้มันเป็นโทษแล้ว เราต้องคิดก่อนทำ แล้วจะคิดก่อนทำได้ก็จะต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ หรือรู้ทันอารมณ์ ฉะนั้นการเจริญสติ เป็นการฝึกให้เราสวนทางกับสัญชาตญาณ
สัญชาตญาณนี้ พอมีอารมณ์ปุ๊บก็ทำตามอารมณ์ไปเลย มันช่วยได้ แต่ว่าเดี๋ยวนี้เราจะทำตามอารมณ์ไม่ได้ เราต้องรู้ทัน แล้วก็ใคร่ครวญไม่ปล่อยให้มันมีอำนาจเหนือเรา มนุษย์เรานี้เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ แล้วสิ่งที่เราต้องฝึก คือฝึกให้อยู่เหนือสัญชาตญาณ หรือเอาชนะสัญชาตญาณได้ หรือว่าใช้สัญชาตญาณที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์
ความกลัวมีประโยชน์ คนที่ไม่มีความกลัวนี่จะลำบาก บางคนอมิกดาลานี้เกิดเสียเพราะแคลเซียมไปเกาะมาก มีโรคบางอย่างมาทำให้อมิกดาลาเสีย ไม่มีความกลัวเลย แล้วก็ไม่รู้ด้วยว่าคนที่กลัวนี้หน้าตายังไง ให้ดูภาพคนที่กำลังกรีดร้อง เจ้าตัวพอเห็นภาพนี้ ถามว่า “เขากำลังทำอะไรกัน” ไม่รู้เลยว่าการกรีดร้องนี้หมายถึงความกลัว แล้วคนเราพอไม่กลัว ก็จะประมาท ข้ามถนนแล้วไม่กลัวรถชน อย่างนี้ก็อันตรายมาก
ความเจ็บปวดก็เหมือนกัน ความเจ็บปวดก็มีประโยชน์ คนที่ไม่มีความเจ็บปวดเลยทั้งชีวิตนี้อายุสั้น เพราะว่าลิ้นกุดบ้าง เพราะว่ามีแผลเหวอะหวะบ้าง มีแผลแม้เล็กน้อย ถ้าเรามีความรู้สึกเจ็บปวด เราก็จะระมัดระวังไม่ให้มีอะไรมากระทบกับแผล เวลามีหนูมาแทะแผลนั้นตอนที่หลับ ก็รู้สึกตัวตื่นไล่หนูออกไปได้ แผลมันก็จะหายเร็ว แต่พอไม่มีความเจ็บปวด ก็ใช้ร่างกายส่วนที่มีแผลนั้นอย่างไม่บันยะบันยัง ก็แย่เลย
หรือบางทีโดนน้ำร้อนลวกก็ไม่รู้สึก ปล่อยให้มันลวกหนักขึ้นจนกระทั่งบวมเลย พองเลย หรือโดนอะไรทิ่มแล้ว ก็ยังไม่รู้จักยับยั้ง ทิ้งน้ำหนักลงไปให้มันทิ่มหนักขึ้น โรคแผลมันก็ลามเหวอะหวะ สุดท้ายก็ตาย
เพราะฉะนั้นสิ่งที่ธรรมชาติให้เรามามันมีประโยชน์ รวมถึงสัญชาตญาณด้วย แต่ว่าเราก็ต้องรู้จักควบคุมมัน แล้วการที่คนเรามีความสามารถในการฝึกนี้ ซึ่งก็รวมถึงความสามารถในการฝึกสัญชาตญาณจนอยู่เหนือความกลัว ความโกรธ ความเจ็บ ความปวดได้
อาจารย์พุทธทาสท่านเล่าว่า สมัยที่ท่านยังหนุ่ม ก่อสร้างกุฏิท่านก็ลงมือทำเอง ฉะนั้นการใช้ค้อนตอกตะปูเป็นเรื่องที่ท่านทำเป็นอาจิณ แต่ก็มีบางครั้งตอกตะปู เกิดค้อนตอกผิด แทนที่ค้อนจะไปถูกตะปู ก็ไปถูกนิ้วที่จับตะปู พอค้อนไปโดนนิ้ว ก็เจ็บ เจ็บแล้วเป็นยังไง ก็ร้อง บางทีก็สะบัดมือ สะบัดนิ้ว
แต่ท่านตั้งใจฝึกว่าเวลาค้อนโดนนิ้ว จะไม่สะบัดนิ้ว สะบัดมือ แล้วก็จะไม่ร้องด้วย ฝึกกระทั่งว่านิ้วนี้นิ่งได้ มือนี้นิ่งได้ แม้ว่าจะถูกค้อนทุบเอาที่นิ้ว ยิ่งกว่านั้นท่านฝึกกระทั่งว่าไม่ร้องด้วยแต่จะยิ้ม ค้อนนี้ถูกนิ้วทีไรยิ้ม
การที่คนเราร้องมันเป็นสัญชาตญาณ เพราะมันช่วยบรรเทาความเจ็บปวดได้ เหมือนกับเวลาเราปวดแล้วเราร้องไห้ อันนี้มันก็ช่วยบรรเทาความปวดได้ แต่ว่าคนเราก็สามารถจะฝึกไปอีกทางหนึ่งได้ คือว่าปวดแล้วไม่ร้อง เอาค้อนตอกตะปู ตอกผิดไปถูกนิ้ว ไม่สะบัดนิ้ว ไม่สะบัดมือ แล้วก็ยังหัวเราะได้ ยังยิ้มได้
ฉะนั้นที่เรามาเจริญสตินี้ ถึงที่สุดก็คือเป็นการสวนทางกับสัญชาตญาณ แล้วเราจะพบว่ามนุษย์เรามีความสามารถในการรับรู้ รู้ทันอารมณ์ได้ไวมาก ธรรมชาตินี้มันสร้างอารมณ์ให้เกิดขึ้นทันทีเลย ไม่พูดพล่ามทำเพลง เช่น เห็นอะไรยาว ๆ นอนขวางถนน ก็กลัวทันทีเลย แต่ว่าสติของเรานี้สามารถจะมาได้เร็ว กลัวปุ๊บรู้ปั๊บเลย กลัวปุ๊บรู้ทันปั๊บเลย
ปวดก็เหมือนกัน ปวดปุ๊บนี่ก็มีสติรู้ทันความปวด แล้วพอรู้ทัน มันไม่ปรุง มันไม่ปรุงตัวกูผู้ปวดขึ้นมา ปกติคนเรานี้เวลากลัว พอไม่มีสติ หรือพอไม่ได้ฝึกสติ มันจะปรุงเลย มีตัวกูเป็นผู้กลัวขึ้นมา มีตัวกูเป็นผู้ปวดขึ้นมา
เช่นเดียวกัน เวลามีใครพูดไม่ดีกับเรา ทันทีที่เสียงมากระทบหู มันปรุงเลยมีตัวกูขึ้นมารับคำด่า รู้สึกเจ็บ รู้สึกปวด เหมือนกับว่ามีของแหลมมาทิ่มตัว เพียงแต่ว่าไอ้เสียงนี้ เสียงด่านี้ มันไม่ใช่ของแหลม แต่พอมีตัวกูออกรับ มันก็เจ็บ ก็โกรธ เขาเรียกว่าป้า เขาเรียกว่าลุง หรือเขาด่าว่าเอาสัตว์สารพัดมาประเคนใส่เรา เอาตัวกูเข้ารับก็โมโห
มันปรุงตัวกูได้เร็วมาก แต่ว่าสติของเราก็สามารถจะเร็วกว่านั้นได้ หรือเร็วเท่า ๆ กัน จนกระทั่งแม้มีการกระทบ เสียงกระทบหู หรือว่ามีของแหลมมาทิ่มกาย มีค้อนมาถูกนิ้ว เกิดความเจ็บขึ้นมา แต่ว่าไม่ปรุงตัวกูขึ้นมาเป็นผู้เจ็บ ตรงข้ามคือเห็นความเจ็บ เห็นความโกรธ เห็นความกลัว
อันนี้มันน่าอัศจรรย์มาก บ่อยครั้งเราอยู่กับความคิด จนกระทั่งปล่อยให้ความคิดเป็นนาย ไม่ใช่แค่อารมณ์เท่านั้น ความคิดด้วย พอมีความคิดเกิดขึ้นก็ไม่รู้ทัน ปล่อยให้ความคิดมันสั่งเราให้ทำนั่นทำนี่ เช่นเดียวกันพอมีอารมณ์ ก็ปล่อยให้อารมณ์เข้ามาครอบงำสั่งให้กายทำโน่น หรือว่าคำพูดออกมาในทางที่ด่าว่าด่าทอผู้คนเป็นการตอบโต้ แต่สติของเรานี้มันไว ไวพอ ๆ กันที่ทำให้ไม่พูด ไม่ทำอย่างนั้น
ฉะนั้นในการที่คนเรานี้ไม่ใช่แค่คิดก่อนทำเท่านั้น เรายังสามารถจะรู้ รู้ทันอารมณ์ก่อนที่จะคิดด้วย แล้วพอเรารู้ทันอารมณ์ก่อนที่จะคิด การที่จะตัดสินใจทำอะไร มันก็จะเป็นไปในทางที่ถูกต้อง ไม่ทำให้เกิดความทุกข์ ความเสียใจในภายหลัง
หลวงพ่อจรัญท่านบอกว่า มี 2 อย่างที่ทำให้คนเราต้องเสียใจในภายหลัง คือ (1) ทำโดยไม่ทันคิด หรือ (2) ได้แต่คิด แต่ไม่ทันได้ทำ เพราะว่าถูกอารมณ์พาไป แล้วคนเราทำโดยที่รู้จักคิดก่อน หรือว่าคิดอะไรก็ไม่ได้คิดเฉย ๆ แต่ว่าลงมือทำด้วยอำนาจของสติ มันก็ไม่มีอะไรให้ต้องเสียใจ.